xs
xsm
sm
md
lg

“วิกรม” ปัดครอบครอง “นกเงือกสีน้ำตาล” สัตว์ป่าคุ้มครอง ด้านหมอนักอนุรักษ์ยังกังขา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGR Online - วิกรม กรมดิษฐ์ แจงข้อกล่าวหาครอบครองนกเงือกสีน้ำตาล สัตว์ป่าสงวน หลังถูกวิจารณ์หนักโพสต์ภาพนกเงือกเกาะบนเก้าอี้ อ้างเป็นนกที่บ้านน้องชายริมเขาใหญ่ คนงานเห็นบาดเจ็บจึงเก็บมาดูแล เผยที่ไร่มีนกเงือกเข้ามาอาศัยเป็นร้อยตัว ยันไม่เคยครอบครอง “หมอหม่อง” นักอนุรักษ์ยังกังขา โต้นกเงือกสีน้ำตาลในภาพอาศัยอยู่ในป่าทึบ ไม่ใช่ชายป่าที่อ้าง

จากกรณีเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. เฟซบุ๊กเพจคนอนุรักษ์โพสต์ข้อความท้วงติงกรณี นายวิกรม กรมดิษฐ์ นักธุรกิจชื่อดัง ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน โดยระบุว่า หลายวันก่อนเฟซบุ๊กเพจ Vikrom Kromadit วิกรม กรมดิษฐ์ ของ นายวิกรม ได้เผยแพร่ภาพ นกเงือกสีน้ำตาล ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหายาก เกาะอยู่บนเก้าอี้ที่ตัวเองนั่ง โดยระบุว่า

“หลายวันก่อน เพจ Vikrom Kromadit วิกรม กรมดิษฐ์ ได้โพสภาพ คุณวิกรม กรมดิษฐ์ กับนกเงือกสีน้ำตาล ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นและสอบถาม ว่า คุณวิกรม ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองหายากนี้ได้อย่างไร ต่อมาทางเพจได้ลบภาพนี้ออกไป แต่ก็ไม่มีการชี้แจง หรือแสดงหลักฐานการครอบครองให้คนได้หายสงสัย

ซึ่ง คุณวิกรม อาจครอบครองโดยถูกกฎหมายก็ได้....แต่ยังไม่แสดงหลักฐานให้สาธารณชนเห็นเท่านั้น

การเลี้ยงสัตว์ป่าหายาก สวยงาม กลายเป็นสิ่งแสดงรสนิยมของคนบางกลุ่ม หลายกรณีพบว่า การได้มาของสัตว์ป่าเหล่านี้ไม่ชัดเจน และหมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย ขณะที่หน่วยงานราชการก็ “เกรงใจ” ที่จะทำการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง บางคนก็ว่าดีกว่าตกอยู่ในมือของคนไม่รักสัตว์อยู่กับคนรวย ๆ จะมีได้มีอาหารกิน มีที่อยู่ดี ๆ หรือดีกว่าอยู่ในป่าที่ไม่ปลอดภัยอาจถูกล่าอยู่ไม่ได้ สู้เอาเลี้ยงไว้แบบนี้ดีกว่าไม่สูญพันธุ์

โดยหารู้ไม่ว่า ค่านิยมแบบนี้แหละที่ทำให้เกิดขบวนการล่าสัตว์ป่าหายาก สวยงามเพื่อมาขายให้กับคนที่มีค่านิยมแบบนี้ ยิ่งคนที่มีค่านิยมแบบนี้มีฐานะ ก็ยิ่งทำให้สัตว์ป่ามีราคาแพงขึ้น และทำให้สัตว์ป่าถูกล่ามากยิ่งขึ้น” เพจคนอนุรักษ์ระบุ

โพสต์จากเพจคนอนุรักษ์ เมื่อ 12 มิ.ย. 2559


ล่าสุด เมื่อค่ำวานนี้ (13 มิ.ย.) นายวิกรม ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ตนเองเพิ่งเดินทางกลับจากพม่าเมื่อคืนนี้ และเห็นมีคนเข้ามาต่อว่าและแก้ต่างให้ตนมากมาย ตนจึงขอชี้แจงว่า นกตัวดังกล่าวเป็นนกที่น้องชายของตนช่วยเลี้ยงดูอยู่ เนื่องจากบ้านของน้องชายติดอยู่กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ วันหนึ่งมีคนงานพบนกตัวนี้ที่ข้างไร่ ไม่สามารถบินได้ จึงนำมาเลี้ยงดู จนทุกวันนี้ไม่ยอมไปไหน และยืนยันว่า ตนเองไม่เคยครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองใด ๆ ทั้งสิ้น

“ช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปประเทศจีน และพม่า บ่อยมาก เพิ่งกลับจากพม่าเมื่อคืนนี้เอง กะว่ามีเวลาจะมาตอบเรื่องนก เพราะเห็นมีผู้คนสนใจเพิ่มขึ้น มีทั้งต่อว่าและช่วยผมแก้ต่างมากมาย ขอขอบคุณทุกคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ นานา แสดงว่า สังคมเราตื่นตัวต่อความถูกต้องของกฎหมายและสังคมโดยไม่มีข้อยกเว้น

ผมขอชี้แจงว่า นกที่อยู่ในภาพนั้นเป็นนกที่น้องชายช่วยเลี้ยงดูอยู่ เนื่องจากบ้านที่น้องอยู่ติดกับอุทยานเขาใหญ่ ซึ่งมีวันหนึ่งคนงานพบนกตัวนี้ที่ข้างไร่ ไม่สามารถบินได้ ไม่ทราบว่ามันมาจากใหน คิดว่าคงเป็นนกของใครสักคนหนึ่งที่มีบ้านอยู่ในแถบนั้น น้องสงสารเลยเอามาเลี้ยง เพราะหากปล่อยไปก็เชื่อว่าจะถูกสัตว์ป่าหรือคนฆ่าตาย จนทุกวันนี้มันไม่ยอมไปไหนเลย คงคิดว่าเป็นคนในไร่ไปแล้ว ที่ไร่นั้นมีช้างป่า กระทิง กวาง เก้ง หมูป่า นกเงือกต่าง ๆ เป็ดป่า ล้วนมาที่ไร่ โดยเฉพาะนกเงือกอาศัยในไร่เกือบร้อยตัว เนื่องจากเราไม่เคยทำร้ายและมีอาหารจากต้นไม้ที่ปลูกใหม่เกือบ 10 ปี จนกลายเป็นเขตป่ากันชนระหว่างอุทยานกับชาวบ้าน จากเดิมที่นี่เป็นไร่ข้าวโพดไม่มีอะไรเลย วันนี้มีสารพัดสัตว์ป่าเข้ามายึดไร่เราเป็นแหล่งอาหารและที่อาศัยไปแล้ว

ผมจึงขอเรียนว่า ผมไม่เคยครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองใด ๆ ทั้งสิ้น ช่วงนี้ผมเดินทางมาก จึงเพิ่งได้มา post ข้อความวันนี้ อาจทำให้หลายคนมีคำถามมากมากเยอะแยะ แต่หากใครสงสัยหรืออยากไปดูนกป่า หรือสัตว์ป่าต่าง ๆ ก็เชิญแวะไปดูไร่ที่เขาใหญ่ได้ หากมีอะไรเพิ่มเติมก็เชิญส่งข้อความมาที่ Facebook นี้ได้ครับ”




อย่างไรก็ตาม คำชี้แจงดังกล่าวก็ยังดูไม่ชัดเจนตามทัศนะของนักอนุรักษ์บางส่วน อย่างเช่น นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ “หมอหม่อง” อาจารย์แพทย์แห่งโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณหมอนักอนุรักษ์ผู้มีชื่อเสียงที่ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า นกเงือกสีน้ำตาลไม่ใช่นกที่อาศัยอยู่ตามชายป่า แต่อยู่ในป่าทึบ ทั้งยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ดังนั้น หากพลัดหลงมาก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน คนทั่วไปมิสามารถครอบครองได้

“หลังจากดูอย่างละเอียดแล้ว ต้องขออภัยครับนกเงือกสีน้ำตาล ในภาพ น่าจะเป็นตัวเมียของ Austen's brown Hornbill ที่พบที่เขาใหญ่มากกว่า เพราะปากสีอ่อนมาก (มันจะคล้ายกับตัวผู้ของ Tickell's Brown Hornbill) อย่างไรก็ตาม นกเงือกสีน้ำตาล ไม่ใช่นกที่จะมาอาศัยตามชายป่า มันอยู่ในป่าทึบ ที่มี closed canopy ที่ระดับความสูงกว่า 700 เมตร และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง หากพบพลัดหลงมา ต้องแจ้ง จนท. กรมอุทยาน คนทั่วไปนำมาครอบครองไม่ได้ครับ

ผมเกรงว่า การที่คนมีชื่อเสียง โชว์การเลี้ยงสัตว์ป่าคุ้มครองแบบนี้ จะยิ่งทำให้ส่งเสริมกระแส การอยากมีสัตว์ป่าคุ้มครองในครอบครองบ้าง ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกในปัจจุบัน” นพ.รังสฤษฎ์ ระบุ
นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง (ภาพจากเฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit)


สำหรับนกเงือกสีน้ำตาลนั้น ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ประกอบด้วย สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด นก 952 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด แมลง 20 ชนิด ปลา 14 ชนิด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ 12 ชนิด ทั้งนี้ นกเงือกสีน้ำตาล (Anorrhinus tickelli หรือ Ptilolaemus tickelli) และนกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (Anorrhinus austeni หรือ Ptilolaemus austeni) เป็นนก 2 พันธุ์ในนก 952 ชนิด ที่ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยอยู่ในลำดับที่ 319 และ 320

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ระบุว่า “ห้ามครอบครองสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่สัตว์ที่ครอบครองเป็นสัตว์ที่มาจากการเพาะพันธุ์ที่ไม่ถูกต้อง จะต้องโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” (อ้างอิง : สัตว์ป่าคุ้มครอง)

- กรมอุทยานฯ รับเอาผิดไม่ได้ เหตุไม่ได้กักขังหน่วงเหนี่ยว

นางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์กับ สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี ยอมรับว่าไม่สามารถแจ้งความดำเนินคดีเอาผิด เรื่องการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะข้อความที่บอกว่านกตัวนี้มาเอง อาจสื่อได้ว่าเป็นการเจตนาไม่ครอบครอง เพราะไม่ได้นำใส่กรงกักขังหน่วงเหนี่ยว แม้ระหว่างที่นกตัวนี้อยู่ที่บ้านไม่แจ้งครอบครอง ก็ไม่มีความผิด เพราะพิสูจน์ได้ยาก และเจ้าหน้าที่เองก็จะตกที่นั่งลำบากเจอข้อหาฟ้องกลับจากคู่ความได้ว่าไปกลั่นแกล้งได้ ส่วนที่มีคำถามว่าทำไมกรมอุทยานฯ ถึงไม่ไปเอานกเงือกสีน้ำตาลคืน จากบ้านนายวิกรม ตอนนี้เชื่อว่านกเงือกสีน้ำตาล คงไม่อยู่แล้ว เพราะเจ้าของบ้านก็คงไม่เก็บนกไว้ เพราะจะเจอเรื่องของการครอบครอง ดังนั้นใครที่เจอหรือพบเห็นนกเงือกตัวนี้ ก็ให้แจ้งกรมอุทยานฯ ทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น