ในคราวที่พระเจ้าลูกยาเธอรุ่นใหญ่ ๔ พระองค์ คือ พระองค์เจ้ารพีพัฒน์ศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์, พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี, พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมหลวงจันทบุรีนฤนาท และพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริที่จะส่งพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ไปศึกษาในทวีปยุโรป ด้วยความห่วงใยตามประสาพ่อที่มีต่อลูก จึงทรงมีพระบรมราโชวาทพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ ให้ยึดมั่นเป็นแนวทางระหว่างทรงศึกษา ซึ่งข้อความในพระบรมราโชวาทนี้นับว่ามีคุณค่ามหาศาล แม้ทุกวันนี้ก็ยังทันสมัย สมควรที่จะยึดเป็นแนวทางแก่คนทั่วไป โดยเฉพาะมหาเศรษฐีที่ให้ลูกแต่เงิน
พระบรมราโชวาทในสมเด็จพระปิยมหาราชที่พระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘ มีข้อความว่า
“ขอจดหมายคำสั่งตามความประสงค์ให้แก่ลูก บรรดาซึ่งจะให้ออกไปเรียนหนังสือในประเทยุโรป จงประพฤติตามโอวาทที่จะกล่าวต่อไปนี้
๑. การซึ่งจะให้ออกไปเรียนครั้งนี้ มีความประสงค์มุ่งหมายจะให้ได้วิชาความรู้อย่างเดียว ไม่มุ่งหมายจะให้เป็นเกียรติยศชื่อเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดในชั้นซึ่งยังเป็นผู้เรียนวิชานี้อยู่เลย เพราะฉะนั้นที่จะให้ไปครั้งนี้อย่าไว้ยศว่าเป็นเจ้า ให้ถือเอาบรรดาศักดิ์เสมอลูกผู้มีตระกูลในกรุงสยาม คืออย่าให้ใช้ฮิสรอแยล ไฮเนสปรินซ์นำหน้าชื่อ ให้ใช้ชื่อแต่เดิมของตัวเฉยๆ เมื่อผู้อื่นเขาจะเติมหน้าชื่อหรือจะเติมท้ายชื่อตามธรรมเนียมอังกฤษเป็นมิสเตอร์ หรือเอสไควร์ก็ตามทีเถิด อย่าคัดค้านเขาเลย แต่ไม่ต้องใช้คำว่านายตามอย่างไทยในภาษาอังกฤษบ่อยๆ เพราะว่าเป็นภาษาไทยซึ่งจะทำให้เป็นที่ฟังขัดๆหูไป
ขออธิบายความประสงค์ข้อนี้ให้ชัดว่า เหตุใดจึงไม่ให้ไปเป็นยศเจ้าเหมือนอาของตัวที่เคยไปก่อน ความประสงค์ข้อนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะไม่มีความเมตตากรุณา หรือจะปิดบังซ่อนเร้นไม่ให้รู้ว่าเป็นลูกอย่างนั้นเลย พ่อคงรับว่าเป็นลูก และมีความเมตตากรุณาตามธรรมดาที่บิดาจะกรุณาต่อบุตร แต่เห็นว่าซึ่งจะเป็นยศเจ้าไปนั้นไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่ตัวนัก ด้วยธรรมดาเจ้านายฝ่ายเขามีน้อย เจ้านายฝ่ายเรามีมาก ข้างฝ่ายเขามีน้อยตัวก็ยกย่องทำนุบำรุงกันใหญ่โตมากกว่าเรา ฝ่ายเราจะไปมียศเสมออยู่กับเขา แต่ความบริบูรณ์และยศศักดิ์ไม่เต็มที่เหมือนอย่างเขา ก็จะเป็นที่น้อยหน้าและเห็นเป็นเจ้านายเมืองไทยเลวไป และถ้าเป็นเจ้านายแล้วต้องรักษายศศักดิ์ในกิจการทั้งปวงที่จะทำทุกอย่างเป็นเครื่องล่อตาล่อหูคนทั้งปวงที่จะให้พอใจดูพอใจฟัง จะทำอันใดก็ต้องระวังตัวไปทุกอย่าง ที่สุดจนจะซื้อจะจ่ายอันใดก็แพงกว่าคนสามัญ เพราะเขาถือว่ามั่งมี เป็นการเปลืองทรัพย์ในที่ไม่ควรจะเปลือง เพราะเหตุว่าถึงจะเป็นเจ้าก็ดีเป็นไพร่ก็ดี เมื่ออยู่ในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเมืองของตัว ก็ไม่มีอำนาจที่จะทำฤทธิ์เดชอันใดไปผิดกับคนสามัญได้ จะมีประโยชน์อยู่นิดหนึ่งแต่เพียงเข้าที่ประชุมสูงๆได้เท่ากับเป็นเจ้านั่นเอง หรืออย่าให้คนใช้สอยอวดอ้างว่าเป็นเจ้านายอันใด จงประพฤติให้ถูกตามคำสั่งนี้
๒. เงินที่จะใช้สอยในการเล่าเรียนกินอยู่นุ่งห่มทั้งปวงนั้น จะใช้เงินพระคลังข้างที่ คือเงินที่เป็นส่วนสิทธิ์ขาดแต่ตัวพ่อเอง ไม่ใช่เงินที่สำหรับจ่ายราชการแผ่นดิน เงินรายได้นี้ฝากไว้ที่แบงก์ซึ่งจะได้มีคำสั่งให้ราชทูตจ่ายเป็นเงินสำหรับเรียนวิชาชั้นต้น ๕ ปีๆ ละ ๓๒๐ ปอนด์ เงิน ๑,๖๐๐ ปอนด์ สำหรับเรียนวิชาชั้นหลังอีก ๕ ปีๆ ละ ๔๐๐ ปอนด์ เงิน ๒,๐๐๐ ปอนด์ รวมเป็นคนละ ๓,๖๐๐ ปอนด์ จะได้รู้วิชาเสร็จสิ้นอย่างช้าใน ๑๐ ปี แต่เงินนี้ฝากไว้ในแบงก์จะมีดอกเบี้ยมากขึ้น เหลือการเล่าเรียนแล้วจะได้ใช้ประโยชน์ตัวเองตามใจชอบ เป็นส่วนยกให้ เงินส่วนของใครจะลงชื่อเป็นของผู้นั้นฝากเอง แต่ในกำหนดยังไม่ถึงอายุ ๒๑ ปีเต็มจะเรียกเอาเงินใช้สอยเองมิได้ จะตั้งผู้จัดการแทนไว้ที่นอกให้เป็นผู้ช่วยจัดการไป เงินฝากไว้ไว้แห่งใด เท่าใด และผู้ใดเป็นผู้จัดการ จะได้ทำหนังสือมอบให้อีกฉบับหนึ่ง สำหรับไปทวงเอาในเวลาที่ต้องการได้
การซึ่งใช้เงินพระคลังข้างที่ ไม่ใช้เงินแผ่นดินอย่างเช่นเคยจ่ายให้เจ้านายและบุตรข้าราชการไปเล่าเรียนแต่ก่อนนั้น เพราะเห็นว่ามีลูกมากด้วยกัน การซึ่งให้มีโอกาสและให้ทุนทรัพย์ซึ่งจะได้เล่าเรียนวิชานี้ เป็นทรัพย์มรดกอันประเสริฐดีกว่าทรัพย์สินเงินทองอื่นๆ ด้วยเป็นของติดตัวอยู่ได้ไม่มีอันตรายที่จะเสื่อมสูญ ลูกคนใดมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี หรือไม่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี ก็จะส่งไปเรียนวิชาทุกคนตลอดโอกาสที่จะเป็นไปได้ เสมือนได้แบ่งทรัพย์มรดกให้ลูกเสมอๆกันทุกคน ก็ถ้าจะใช้เงินแผ่นดินสำหรับให้ไปเล่าเรียนแก่ผู้ไม่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด กลับมาไม่ได้ทำราชการคุ้มกับเงินแผ่นดินที่ลงไป ก็จะเป็นที่ติเตียนของคนบางจำพวกว่ามีลูกมากเกินไป จนต้องใช้เงินแผ่นดินเป็นค่าเล่าเรียนมากเหลือเกิน แล้วซ้ำไม่เลือกเฟ้นเอาแต่ที่เฉลียวฉลาดจะได้ราชการ คนโง่คนเง่าก็เอาไปเรียนให้เปลืองเงิน เพราะค่าที่เป็นลูกของพ่อไม่อยากจะให้มีมลทินที่พูดติเตียนเกี่ยวข้องกับความปรารถนา ซึ่งจะสงเคราะห์แก่ลูกให้ทั่วถึงโดยเที่ยงธรรมนี้จึงมิได้ใช้เงินแผ่นดิน
อีกประการหนึ่งเล่า ถึงว่าเงินพระคลังข้างที่นั้นเองก็เป็นเงินส่วนหนึ่งในแผ่นดินเหมือนกัน เว้นแต่เป็นส่วนที่ยกให้แก่พ่อใช้สอยการในตัว มีการทำกุศลแลสงเคราะห์บุตรภรรยาเป็นต้น เห็นว่าการสงเคราะห์ด้วยการเล่าเรียนดังนี้เป็นการดีกว่าอย่างอื่นๆ จึงได้เอาเงินรายนี้ใช้เป็นการมีคุณต่อแผ่นดิน ที่ไม่ต้องแบ่งเงินแผ่นดินมาใช้เป็นค่าเล่าเรียนขึ้นอีกส่วนหนึ่ง และพ้นจากคำคัดค้านต่างๆ เพราะเหตุที่พ่อเอาเงินส่วนที่พ่อจะใช้เองนั้นออกให้ค่าเล่าเรียน ด้วยเงินรายนี้ไม่มีผู้ใดที่จะแทรกแซงว่าควรใช้อย่างนั้นไม่ควรใช้อย่างนั้นเลย
๓. จงรู้สึกตัวเป็นนิจเถิด ว่าเกิดมาเป็นเจ้านายมียศบรรดาศักดิ์มากจริงอยู่ แต่ไม่เป็นการจำเป็นเลยว่าผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้น จะต้องใช้ราชการอันเป็นช่องที่จะหาเกียรติยศชื่อเสียงและทรัพย์สมบัติ ถ้าจะว่าตามการซึ่งเป็นมาแต่ก่อน เจ้านายซึ่งจะหาช่องทำราชการได้ยากกว่าลูกขุนนาง เพราะเหตุที่เป็นผู้มีวาสนาบรรดาศักดิ์มาก จะรับราชการในตำแหน่งต่ำๆ ซึ่งเป็นกระไดคั่นแรก คือเป็นนายรองหุ้มแพรมหาดเล็กเป็นต้น ก็ไม่ได้เสียแล้ว จะไปตั้งแต่งให้ว่าการใหญ่โตสมแก่ยศศักดิ์ เมื่อไม่มีวิชาความรู้และสติปัญญาพอที่จะทำการในตำแหน่งนั้นไปได้ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเจ้านายจะได้เป็นผู้ได้ทำราชการมีชื่อเสียงดี ก็อาศัยได้แต่สติปัญญาความรู้และความเพียรของตัว เพราะฉะนั้นจงอุสาหะเล่าเรียนโดยความเพียรอย่างยิ่ง เพื่อจะได้มีโอกาสที่จะทำการให้เป็นคุณแก่บ้านเมืองของตัวและโลกที่ตัวได้มาเกิด ถ้าจะถือว่าเกิดมาเป็นเจ้านายแล้วนิ่งๆอยู่จนตลอดชีวิก็เป็นสบายดังนั้น จะไม่ผิดอันใดกับสัตว์ดิรัจฉานอย่างเลวนัก สัตว์เดรัจฉานมันเกิดมากินๆนอนๆแล้วก็ตาย แต่สัตว์บางอย่างมีหนัง มีเขาเป็นกระดูกเป็นประโยชน์ได้บ้าง แต่ถ้าคนประพฤติอย่างสัตว์เดรัจฉานแล้ว จะไม่มีประโยชน์อันใดยิ่งกว่าสัตว์ดิรัจฉานให้จงได้ จึงจะนับว่าเป็นการได้สนองคุณพ่อ ซึ่งได้คิดทำนุบำรุงเพื่อจะให้ดีตั้งแต่เกิดมา
๔. อย่าได้ถือว่าตัวเป็นลูกเจ้าแผ่นดิน พ่อมีอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในบ้านเมือง ถึงจะเกะกะไม่กลัวเกรงข่มเหงผู้ใด เขาก็คงจะมีความเกรงใจพ่อ ไม่ต่อสู้หรือไม่อาจฟ้องร้องว่ากล่าว การซึ่งเชื่อใจดังนั้นเป็นการผิดแท้ทีเดียว เพราะความปรารถนาของพ่อไม่อยากจะให้ลูกมีอำนาจที่จะเกะกะอย่างนั้นเลย เพราะรู้เป็นแน่ว่า เมื่อรักลูกเกินไปปล่อยให้ไม่กลัวใครและประพฤติชั่วดังนั้น จะเป็นโทษแก่ตัวลูกนั้นเองทั้งในปัจจุบันอนาคต เพราะฉะนั้น จงรู้เถิดว่าถ้าเมื่อได้ทำความผิดเมื่อใดจะได้รับโทษโดยทันที การที่มีพ่อเป็นเจ้าแผ่นดินนั้น จะไม่เป็นการช่วยเหลืออุดหนุนแก้ไขอันใดเลย อีกประการหนึ่ง ชีวิตสังขารมนุษย์ไม่ยั่งยืนยืดยาวเหมือนเหล็กเหมือนศิลา ถึงโดยว่าจะมีพ่ออยู่ในขณะหนึ่ง ก็คงจะมีเวลาที่ไม่มีได้ขณะหนึ่งเป็นแน่แท้ ถ้าประพฤติความชั่วเสียแต่ในเวลามีพ่ออยู่แล้ว โดยจะปิดบังซ่อนเร้นอยู่ได้ด้วยอย่างหนึ่งอย่างใด เวลาไม่มีพ่อ ความชั่วนั้นคงจะปรากฏเป็นโทษติดตัวเหมือนเงาตามหลังอยู่ไม่ขาด เพราะฉะนั้นจงเป็นคนอ่อนน้อม ว่าง่ายสอนง่าย อย่าให้มีทิฐิมานะไปในทางที่ผิด จงประพฤติตัวหันมาทางที่ชอบที่ถูกอยู่เสมอเป็นนิจเถิด จงละเว้นทางที่ชั่วซึ่งรู้ได้เองหรือมีผู้ตักเตือนแนะนำให้รู้แล้ว อย่าให้ล่วงให้เป็นไปได้เลยเป็นอันขาด
๕. เงินทองที่จะใช้สอยในค่ากินอยู่นุ่งห่มหรือใช้สอยเบ็ดเสร็จทั้งปวง จงเขม็ดแขม่ใช้แต่เพียงพอที่จะอนุญาตให้ใช้ อย่าทำใจโตมือโตสุรุ่ยสุร่ายโดยถือว่าตัวเป็นเจ้านายมั่งมีมาก หรือถือว่าพ่อเป็นเจ้าแผ่นดินมีเงินทองถมไป ขอบอกเสียให้รู้แต่ต้นมือว่า ผู้ใดไปเป็นหนี้มาจะไม่ยอมใช้หนี้ให้เลย หรือถ้าเป็นการจำเป็นจะต้องใช้ จะไม่ให้เปล่าโดยไม่มีโทษแก่ตัวเลย พึงรู้เถิดว่าต้องใช้หนี้เมื่อใดก็จะต้องรับโทษเมื่อนั้นพร้อมกัน อย่าเชื่อถ้อยคำผู้ใดหรืออย่าหมายใจว่าโดยจะใช้สุรุ่ยสุร่ายไปเหมือนอย่างเช่นคนเขาไปแต่ก่อนๆ แต่พ่อเขาเป็นขุนนางเขายังใช้กันได้ไม่ว่าไรกัน ถ้าคิดดังนั้นเป็นผิดแท้ทีเดียว พ่อรักลูกจริง แต่ไม่รักลูกอย่างนั้นเลย เพราะรู้เป็นแน่ว่าถ้าจะรักอย่างนั้น ตามใจอย่างนั้น จะไม่เป็นการมีคุณอันใดแก่ตัวลูกผู้ได้รับความรักนั้นเลย เพราะจะเป็นผู้ไม่ได้รับวิชาที่ปรารถนาจะให้ได้ จะไปได้แต่วิชาที่จะทำให้เสียชื่อเสียงและได้รับความร้อนใจอยู่เป็นนิจ จงนึกไว้เสมอว่า เงินทองที่แลเห็นมากๆไม่ได้เป็นของหามาได้โดยง่ายเหมือนเวลาที่จ่ายไปง่ายนั้นเลย เงินที่ส่วนตัวได้รับเบี้ยหวัดหรือเงินกลางปีอยู่เสมอนั้น ก็ด้วยอาศัยเป็นลูกพ่อ ส่วนเงินที่พ่อได้หรือลูกได้เพราะพ่อนั้น ก็เพราะอาศัยที่พ่อเป็นผู้นำนุบำรุงรักษาบ้านเมือง และราษฎรเจ้าของทรัพย์นั้นก็เฉลี่ยเรี่ยไรกันมาให้ เพื่อจะให้เป็นกำลังที่จะหาความสุขคุ้มค่าที่เหน็ดเหนื่อยที่ต้องรับการในตำแหน่งสูง คือเป็นผู้รักษาความสุขของเขาทั้งปวง เงินนั้นไม่ควรจะมาจำหน่ายในการที่ไม่เป็นประโยชน์ไม่เป็นเรื่อง และเป็นการไม่มีคุณกลับให้โทษแก่ตัว ต้องใช้แต่ในการจำเป็นที่จะต้องใช้ ซึ่งจะเป็นการมีคุณประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นในทางชอบธรรม ซึ่งจะเอาไปกอบโกยใช้หนี้ให้แก่ลูกผู้ทำความชั่วจนเสียทรัพย์ไปนั้น สมควรอยู่หรือ เพราะฉะนั้นจึงต้องว่าไม่ยอมที่จะใช้หนี้ให้ โดยว่าจะต้องใช้ให้ก็ต้องมีโทษเป็นประกัน มั่นใจว่าจะไม่ต้องใช้อีก เพราะจะเข็ดหลาบในโทษที่ทำนั้นจึงจะยอมให้ใช้ได้ ใช้ให้เพราะจะไม่ให้ทรัพย์ผู้อื่นสูญเสียเท่านั้น ไม่ใช้ให้โดยความรักใคร่อย่างบิดาบุตรเมื่อมีความยินดีต่อความประพฤติของบุตรนั้นเลย เพราะฉะนั้นจงจำไว้ตั้งใจอยู่ให้เสมอว่า ตัวเป็นคนจนมีเงินใช้เฉพาะแต่ที่จะรักษาความสุขของตัวพอสมควรเท่านั้น ไม่มั่งมีเหมือนใครๆอื่น และไม่เหมือนกับผู้ดีฝรั่งเลย ผู้ดีฝรั่งเขามั่งมีสืบตระกูลกันมาด้วยได้ดอกเบี้ยค่าเช่าต่างๆ ตัวเองเป็นผู้ได้เงินจากราษฎรเลี้ยง พอสมควรที่จะเลี้ยงชีวิตและรักษาเกียรติยศเท่านั้น อย่าไปอวดมั่งอวดมีทำเทียบเทียมเขาให้ฟุ้งซ่านไปเป็นอันขาด
อีกอย่างหนึ่ง จะนึกเอาเองว่าถึงโดยเป็นหนี้สินลงอย่างไร พ่อจะไม่ใช้หรือจะให้ใช้ก็กลัวต้องทำโทษ คิดว่าเงินทองของตัวที่ได้ปีหนึ่งๆ มีอยู่ทั้งเบี้ยหวัดและเงินกลางปี เวลาออกไปเรียนไม่ได้ใช้เงินรายนี้เก็บรวมอยู่เปล่าๆ จะเอาเงินรายนี้ใช้หนี้เสีย ต่อไปก็คงได้ทุกปี ซึ่งจะคิดอย่างนี้แล้วและจับจ่ายเงินทองจนต้องเป็นหนี้กลับเข้ามานั้น ก็เป็นการไม่ถูกเหมือนกัน เพราะว่าผลประโยชน์อันใดที่จะได้อยู่เวลามีพ่อกับเวลาไม่มีพ่อนั้น จะถือเอาเป็นแน่ว่าจะคงที่อยู่นั้นไม่ได้ และยิ่งเป็นผู้ใหญ่ขึ้นก็จะมีบ้านเรือน บุตร ภรรยามากขึ้น คงต้องใช้มากขึ้น เงินที่จะได้นั้นบางทีก็จะไม่พอ จะเชื่อว่าวิชาที่ตัวไปเรียนจะเป็นเหตุให้ได้ทำราชการ ได้ผลประโยชน์ทันใช้หนี้ ก็เชื่อไม่ได้ เพราะเหตุที่ตัวเป็นเจ้านาย ถ้าบางทีจะเป็นเวลาเกิดเหตุขัดข้องเพราะเป็นเจ้านายนั้นก็จะทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าจะหันไปข้างทำมาหากินซึ่งเป็นการยากที่จะทำ เพราะเป็นเจ้านายเหมือนกัน คือไปรับจ้างเขาเป็นเสมียนไม่ได้เป็นต้น เมื่อทุนรอนที่มีเอาไปใช้หนี้เสียหมดแล้ว จะเอาอันใดเป็นทุนรอนทำมาหากินเล่า เพราะฉะนั้นจึงว่าถ้าจะคิดใช้อย่างเช่นนี้ ซึ่งตัวจะคิดเห็นว่าเป็นอันไม่ต้องกวนพ่อแล้วนั้น ก็ยังเป็นการเสียประโยชน์ภายหน้ามาก ไม่ควรจะก่อให้มีให้เป็นขึ้น
๖. วิชาทีจะออกไปเรียนนั้น ก็คงต้องเรียนภาษาและหนังสือในสามภาษา คืออังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ให้ได้แม่นยำชัดเจนคล่องแคล่ว จนถึงแต่งหนังสือได้สองภาษาเป็นอย่างน้อย เป็นวิชาหนังสืออย่างหนึ่งกับวิชาเลข ให้เรียนรู้คิดใช้ได้ในการต่างๆอีกอย่างหนึ่งนี้เป็นต้น วิชาสองอย่างที่จำเป็นจะต้องเรียนให้รู้ให้ได้จริงๆเป็นชั้นต้น แต่วิชาอื่นๆที่จะเรียนต่อไปให้เป็นวิชาชำนาญวิเศษในกิจการข้างวิชานั้น จะตัดสินเป็นแน่นอนว่าให้เรียนสิ่งใดในเวลานี้ก็ยังไม่ควร จะต้องไว้เป็นคำสั่งต่อภายหลัง เมื่อรู้วิชาชั้นต้นพอสมควรแล้ว แต่บัดนี้จะขอตักเตือนอย่างหนึ่งก่อนว่า ซึ่งให้ออกไปเรียนภาษาวิชาการในประเทศยุโรปนั้น ใช่ว่าจะต้องการเอามาใช้แต่เฉพาะภาษาฝรั่งหรืออย่างฝรั่งนั้นอย่างเดียว ภาษาไทยและหนังสือไทยซึ่งเป็นภาษาของตัวหนังสือของตัว คงจะต้องใช้อยู่เป็นนิจ จงเข้าใจว่าภาษาต่างประเทศนั้นเป็นแต่พื้นของความรู้ เพราะวิชาความรู้ในหนังสือไทยที่มีผู้แต่งไว้นั้นเป็นแต่ของเก่าๆมีน้อย เพราะไม่ได้สมาคมกับชาติอื่นช้านาน เหมือนวิชาการในประเทศยุโรปที่ได้สอบสวนซึ่งกันและกันจนเจริญรุ่งเรืองมากแล้วนั้น ฝ่ายหนังสือไทยจึงไม่พอที่จะเล่าเรียน จึงต้องไปเรียนภาษาอื่นเพื่อจะได้เรียนวิชาให้กว้างขวางออก แล้วเอากลับมาใช้เป็นภาษาไทยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะทิ้งภาษาของตัวให้ลืมถ้อยคำที่จะพูดให้สมควรเสีย หรือจะลืมวิธีเขียนหนังสือไทยที่ตัวได้ฝึกหัดแล้วเสียนั้นไม่ได้เลย ถ้ารู้แต่ภาษาต่างประเทศ ไม่รู้เขียนอ่านแปลงเป็นภาษาไทยได้ ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด ถ้าอย่างนั้นจ้างฝรั่งมาใช้เท่าไรๆก็ได้ ที่ต้องนั้นต้องให้กลับแปลภาษาต่างประเทศลงเป็นภาษาไทยได้ จึงจะนับว่าเป็นประโยชน์ อย่าตื่นตัวเองว่าได้ไปร่ำเรียนภาษาฝรั่งแล้วลืมภาษาไทย กลับเห็นเป็นการเก๋การกี๋อย่างเช่นนักเรียนบางคนมักจะเห็นผิดไปดังนั้น แต่ที่จริงเป็นการเสียที่ควรจะติเตียนแท้ทีเดียว เพราะเหตุฉะนั้นในเวลาที่ออกไปเรียนวิชาอยู่ ขอบังคับให้ว่าให้เขียนหนังสือถึงพ่อทุกคน อย่างน้อยเดือนละฉบับ เมื่อเวลายังเขียนหนังสืออังกฤษไม่ได้ก็เขียนมาเป็นหนังสือไทย ถ้าเขียนหนังสืออังกฤษหรือภาษาหนึ่งภาษาใดได้ให้เขียนภาษาอื่นนั้นมาฉบับหนึ่ง ให้เขียนคำแปลเป็นหนังสือไทยอีกฉบับหนึ่ง ติดกันอย่าให้ขาด เพราะเหตุที่ลูกยังเป็นเด็กไม่ได้เรียนภาษาไทยแน่นอนมั่นคง ก็ให้อาศัยไต่ถามครูไทยที่ออกไปอยู่ด้วย หรือค้นดูตามหนังสือภาษาไทยซึ่งได้จัดออกไปให้ด้วย คงจะพอหาถ้อยคำที่จะให้แปลออกเป็นภาษไทยได้ แต่หนังสือไทยที่จะเป็นกำลังช่วยอย่างนี้ยังมีน้อยจริง เมื่อเขียนเข้ามาคำใดผิดจะติเตียนออกไปแล้วจงจำไว้ใช้ให้ถูกต่อไปภายหน้า อย่าให้มีความกลัวความกระดากว่าจะผิด ให้ทำตามที่เต็มความอุสาหะความแน่ใจว่าเป็นถูกแล้ว เมื่อผิดก็แก้ไปไม่เสียหายอันใด
๗. จงรู้ว่าการเล่าเรียนของลูกทั้งปวงนั้น อาของเจ้า กรมหมื่นเทววงศวโรปกระการ ได้รับปฏิญาณต่อพ่อว่า จะตั้งใจอุตสาหะเป็นธุระในการเล่าเรียนของลูกทั้งปวง ทั้งในปัจจุบันและภายหน้า พ่อได้มีความไว้วางใจมอบธุระสิทธิ์ขาดแก่กรมหมื่นเทววงศวโรประการเป็นธุระทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อมีธุระขัดข้องประการใดให้มีหนังสือมาถึงกรมหมื่นเทววงศฯ ก็จะรู้ตลอดถึงพ่อ และกรมหมื่นเทววงศฯนั้นคงเอาธุระทำนุบำรุงทุกสิ่งทุกอย่างให้สำเร็จตลอดไปได้ ส่วนที่ในประเทศยุโรปนั้น ถ้าไปอยู่ในประเทศใดที่มีราชทูตของเราอยู่ ราชทูตคงจะเอาเป็นธุระดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อมีความขัดข้องลำบากประการใดจงชี้แจงความให้ท่านราชทูตทราบ คงจะจัดการได้ตลอดไป เมื่อไปอยู่ในโรงเรียนแห่งใดจงประพฤติการให้เรียบร้อยตามแบบอย่างซึ่งเขาตั้งลงไว้ อย่าเกะกะวุ่นวาย เชื่อตัวเชื่อฤทธิ์ไปต่างๆ จงอุตส่าห์พากเพียรเรียนวิชาให้รู้มาได้ช่วยกำลังพ่อ เป็นที่ชื่นชมยินดีสมกับที่มีความรักนั้นเถิดฯ
นี่ก็เป็นความรักของพ่อคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจล้นฟ้า แต่ก็ปรารถนาที่จะให้ลูกเป็นคนดีอย่างคนธรรมดาสามัญทั่วไป ซึ่งยังทันสมัยจนถึงวันนี้สำหรับการรักลูกให้ถูกทาง