พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง ในวันสงกรานต์ของทุกปี กรุงเทพมหานครจะอัญเชิญจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ออกแห่ไปรอบเมือง แล้วนำมาประดิษฐานที่ปะรำพิธีกลางสนามหลวง ให้ประชาชนได้สรงน้ำและบูชา
ขณะเดียวกัน อีกหลายจังหวัดก็จัดขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ให้ประชาชนสรงน้ำอีกเช่นกัน ทั้งยังไม่ใช่องค์จำลองไปด้วย เพราะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามฝีมือช่างของเมืองนั้น
อีกทั้งยังมีพระพุทธสิหิงค์ของจังหวัดตรังถูกขโมยไปตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ และมีข่าวในขณะนี้ว่า ผู้ราชการจังหวัดตรังและเจ้าอาวาสวัดที่ถูกขโมยไปกำลังติดตามทวงคืนจากอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยท่านหนึ่ง
ทำให้เกิดสงสัยกันว่า ทำไมมีพระพุทธสิงหิงค์หลายองค์นัก องค์ไหนเป็นองค์จริงกันแน่ และองค์ของจังหวัดตรังที่หายไป อยู่กับใคร? และจะยอมคืนให้วัดหรือไม่?
เรื่องราวของพระพุทธสิหิงส์นั้น แต่โบราณก็มีเล่าไว้หลายสำนวน เรื่องหนึ่ง พระโพธิรังสี พระภิกษุแห่งล้านนา ได้แต่งเป็นภาษาบาลีไว้ก่อนปี พ.ศ.๑๙๘๕ หรือเกือบ ๖๐๐ ปีมาแล้ว ในชื่อ “นิทานพระพุทธสิหิงส์” ซึ่ง ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร ได้แปลเป็นภาษาไทย และกรมศิลปากรจัดพิมพ์ในเทศกาลสงกรานต์เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ เล่าไว้ว่า
ในปี พ.ศ.๗๐๐ มีพระราชา ๓ องค์ และพระอรหันต์อีก ๒๐ องค์ของลังกา ได้มาประชุมปราศรัยกัน พระราชาได้ตรัสถามขึ้นว่า มีพระคุณเจ้าองค์ใดเคยเห็นพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงพระชนม์ชีพอยู่บ้าง พระอรหันต์ทั้ง ๒๐ ต่างปฏิเสธ
ในที่ประชุมนั้นมีนาคตนหนึ่งอยู่ด้วย นาคตนนั้นว่าเคยเห็นพระพุทธเจ้า แล้วเนรมิตรูปของตนเป็นพระพุทธองค์นั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์แก้ว ๗ ประการ ให้พระราชาทั้ง ๓ ได้ทอดพระเนตร พระราชาจึงตรัสเรียกช่างหล่อที่ฝีมือดีเยี่ยม ให้ใช้ขี้ผึ้งปั้นเป็นพระพุทธรูปมีลักษณะเหมือนที่นาคเนรมิต แล้วหล่อเป็นพระพุทธรูปขึ้น จึงถือได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะเหมือนพระพุทธเจ้ามากที่สุด
ระหว่างนั้นพระราชาองค์หนึ่งเห็นช่างคนหนึ่งทำไม่ถูกพระทัย จึงตวัดหางกระเบนที่ทรงถือถูกนิ้วมือช่างคนนั้น เป็นเหตุให้เมื่อหล่อเสร็จ นิ้วพระหัตถ์ของพระพุทธรูปนิ้วหนึ่งมีตำหนิ พระราชาทั้ง ๓ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงปรึกษากันว่าจะสกัดเอานิ้วนั้นออก แล้วทำขึ้นใหม่ แต่พระอรหันต์ทั้ง ๒๐ องค์ท้วงว่า ภายภาคหน้าพระพุทธรูปองค์นี้จะไปอยู่ชมพูทวีป แล้วทวนน้ำขึ้นไปถึงต้นกำเนิดลำน้ำ พระราชาองค์หนึ่งในประเทศนั้นซึ่งเพียบพร้อมด้วยศรัทธา จะปฏิบัติบำรุงตัดนิ้วพระพุทธรูปแล้วปั้นขึ้นใหม่เอง พระราชาทั้ง ๓ และมหาชนที่ได้ยินคำพยากรณ์ของ ๒๐ อรหันต์จึงคล้อยตาม ช่วยกันขัดพระพุทธรูปจนดูงดงาม มีลักษณะท่าทางเหมือนราชสีห์ จึงเรียกชื่อว่า “พระพุทธสิหิงส์”
ถึงตอนนี้ พระโพธิรังสีได้บรรยายถึงความยิ่งใหญ่อลังการว่า
“ครั้งนั้น เทวดา อสูร ครุฑ มนุษย์ นาค คนธรรพ์ สุบรรณ กินนร ถือดอกไม้ของหอม พวงมาลัย ธงชัย ธงปฏาก เป็นต้น งามวิจิตรต่างๆ นานา มาบูชาพระพุทธรูปนั้น ใช่แต่เท่านั้น เทวดาจำนวนตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป จนถึงแสนโกฏมากมาย เนรมิตกายเล็กเท่าอณูปรมาณู เนรมิตสายตาให้ยาวออกไป จากหมื่นจักรวาลมาเป็นจักรวาลเดียวกัน ตั้งแถวเรียงกันตามลำดับ ระหว่างเทวดามียักษ์ ระหว่างยักษ์มีคนธรรพ์ ระหว่างคนธรรพ์มีกินรี ระหว่างกินรีมีกิมบุรุษ ระหว่างกิมบุรุษมีฉัตร ระหว่างฉัตรมีจามรทองคำ ระหว่างจามรทองคำมีธงชัย ระหว่างธงชัยมีธงปฏาก ส่งเสียงบันลือลั่นเป็นเสียงเดียวกัน ต่างมาประชุมเพื่อคอยดูปาฏิหาริย์แห่งพระพุทธ พื้นโลกทั้งสิ้นประหนึ่งว่าจะถล่มทลายด้วยเสียงสาธุการ และเสียงดนตรีของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
นิทานได้เล่าต่อไปอีกว่า จากนั้นนานถึง พ.ศ.๑๕๐๐ มีธรรมิกราชองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า “ไสยรงค์” ซึ่งแปลว่า “พระร่วงองค์ประเสริฐ” ครองสมบัติในกรุงสุโขทัย มีอาณาเขตตามลำน้ำคงขึ้นไปทางเหนือจนถึงแม่น้ำน่าน ส่วนทางใต้เลยอยุธยาลงไปถึงนครศรีธรรมราช
วันหนึ่งพระร่วงได้เสด็จได้เสด็จไปยังชายทะเลจนถึงนครศรีธรรมราช พระเจ้าศรีธรรมราชมาต้อนรับ และทูลให้ทรงทราบว่าในมหาสมุทรอันเวิ้งว้างนั้นยังมีเมืองต่างๆ อยู่ รวมทั้งเกาะสิงหล พระร่วงเจ้าทรงทราบว่าที่เกาะสิงหลนั้นพระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก จะเดินทางไปเกาะสิงหลได้หรือไม่ พระเจ้าศรีธรรมราชทูลว่า ช้าง ม้า รถไปไม่ได้ต้องใช้สำเภา และที่เกาะสิงหลนั้นยังมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งมีฤทธิ์มาก อินทร์ พรหม เทวดา อสูร มนุษย์ มีพระอรหันต์เป็นต้น ช่วยกันสร้างเสร็จในวันเดียว และมีเทพเจ้า ๔ องค์ คือ สุมนเทพ รามเทพ ลักษณะเทพ และกามเทพ ผู้มีฤทธิ์รักษาพระพุทธรูปนั้น
พระร่วงจึงทูลขอให้พระเจ้าศรีธรรมราชช่วยหาทางขู่พระราชาสิงหล ขอพระพุทธรูปองค์ที่มีนามว่าสิหิงส์นั้นมาให้ได้ เพื่อจะได้ไว้บูชา พระเจ้าศรีธรรมราชจึงจัดสำเภาส่งทูตไปเกาะสิงหล ถวายสาส์นว่าพระร่วงเจ้าผู้มีฤทธิ์และกำลังเข้มแข็ง มีพระราชประสงค์จะผูกสัมพันธไมตรีและขอพระพุทธสิหิงส์ไปบูชา พระราชาสิงหลรับสาส์นด้วยความยินดีและนำไปปรึกษาเสนาอำมาตย์ ทุกคนต่างรู้เรื่องราวที่เล่ากันมาเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของพระอรหันต์ ๒๐ องค์แล้ว จึงพร้อมใจกันยินดียกให้
พระราชาสิงหลทรงจัดพิธีบูชาพระพุทธสิหิงส์ ๗ วัน ๗ คืนแล้วมอบให้ทูตเมืองศรีธรรมราชมา แต่เมื่อสำเภาแล่นมากลางทางได้กระทบหินโสโครกอับปาง คนในเรือจมน้ำตายหมด แต่พระพุทธสิหิงส์กลับประทับนั่งลอยน้ำได้ แล้วบ่ายพระพักตร์มาถึงเมืองศรีธรรมราชได้เอง
เมื่อพระพุทธสิหิงส์มาโดยปาฏิหาริย์ พระเจ้าศรีธรรมราชจึงจัดพิธีบูชา ๗ วัน ๗ คืน และแจ้งข่าวไปให้พระร่วงซึ่งตั้งทัพคอยอยู่นอกเมืองศรีธรรมราชให้ทรงทราบ พระพุทธสิหิงส์ได้สำแดงปาฏิหาริย์อีกครั้ง เมื่อพระอินทร์และเทวดาทั้งหลายโปรยเครื่องเครื่องสักการะทิพย์ตกลงมาเหมือนสายฝน พระพุทธสิหิงส์ก็ลอยขึ้นสู่อากาศ ประดิษฐานอยู่ในท้องฟ้าและเปล่งรัศมี ๖ ประการไปทั่วทิศ พระร่วงเจ้าทรงเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท พร้อมด้วยอุปราช ยุพราช หมู่อำมาตย์ และทหารที่ถือเครื่องบูชา อาราธนาให้พระพุทธสิหิงส์เสด็จลงมา แล้วอัญเชิญไปยังกรุงสุโขทัย
พระพุทธสิหิงส์ประดิษฐานอยู่ที่กรุงสุโขทัยมาหลายรัชกาล จนถึงสมัยพระมหาธรรมราชา กรุงสุโขทัยตกอยู่ในสภาพอ่อนแอ พระเจ้าอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยาเข้ายึดไว้ได้ แล้วให้ขุนหลวงพะงั่วไปครอง แต่ก็ทรงเมตตาให้พระมหาธรรมราชามาครองเมืองพิษณุโลก พระมหาธรรมราชาจึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงส์ลงมาพิษณุโลกด้วย จนเมื่อทิวงคต พระเจ้าอู่ทองจึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงส์ลงมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา
ต่อมามีพระราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า “ญาณดิส” ครองเมืองกำแพงเพชร ใคร่ได้พระพุทธสิหิงส์ไปบูชา จึงส่งแม่หลวงผู้เป็นพระราชมารดา ซึ่งประกอบไปด้วยเบญจกัลยาณี มีความงาม ๕ ประการ ไปกรุงศรีอยุธยา เพื่อจะใช้มารยาหญิงเล้าโลมผูกพระทัยพระเจ้าอู่ทอง
เบญจกัลยาณี หรือความงาม ๕ ประการของอิสตรี ก็คือ
ผมงาม
เนื้องาม หมายถึงริมฝีปาก ขอบตา เหงือก เนื้อใต้เล็บ มีสีแดง
กระดูกงาม หมายถึงฟันขาวสะอาด
ผิวงาม หมายถึงผิวนวล ถ้าผิวดำก็เหมือนดอกบัวเขียว ถ้าผิวขาวก็เหมือนดอกกรรณิการ์
๕. วัยงาม หมายถึงจะมีบุตรเท่าไรก็ยังดูเป็นสาวรุ่น
พระเจ้าอู่ทองทอดพระเนตรเห็นแม่หลวงก็มีพระทัยรักใคร่ร่วมรสสามัคคีกัน แม่หลวงได้โอกาสจึงทูลขอพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สักองค์หนึ่งเพื่อส่งไปให้ชาวกำแพงเพชรกราบไหว้บูชา พระเจ้าอู่ทองกำลังทรงพระเสน่หากำเริบ จึงตรัสว่า
“เลือกเอาตามชอบเถิดแม่คุณ”
นางจึงถือเครื่องสักการะตรงไปหอพระ แต่ไม่รู้จักพระพุทธสิหิงส์ จึงบอกกับคนที่เฝ้าว่า พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระพุทธรูปให้องค์หนึ่งควรจะเอาองค์ไหนดี และนางไม่ใช่มีแค่เบญจกัลยาณีเท่านั้น ยังเป็นนักติดสินบนด้วย ฉะนั้นจึงไม่แค่ถาม ยังส่งทองให้ ๑ ชั่งหรือ ๘๐ บาท คนเฝ้าหอพระจึงตาลุก ชี้พระพุทธสิหิงส์ให้ทันที
แม่หลวงเตรียมเรือไว้ ๓ ลำรับกันเป็นทอดๆ ส่งพระพุทธสิหิงส์ไปให้ลูกชาย พระพุทธสิหิงส์ถูกอัญเชิญไป ๓ วันแล้วพระเจ้าอู่ทองจึงเพิ่งทราบว่าพระพุทธรูปที่นางเอาไปคือพระพุทธสิหิงส์ จึงรับสั่งให้คนติดตามทันที แต่ก็ไม่ทันแล้ว แม่หลวงก็แก้ตัวว่าไม่รู้ว่าองค์ที่เอาไปเป็นพระพุทธสิหิงส์ ไหนๆ ก็เอาไปแล้ว จะให้เขาเอาเป็นแบบหล่อจำลองไว้แล้วส่งองค์จริงคืนมา พระเจ้าอู่ทองทรงสดับคำหวานของนางก็คลายพระพิโรธ ตรัสว่า
“ดีแล้ว แม่คุณ”
พระพุทธสิหิงส์จึงตกไปอยู่เมืองกำแพงเพชร
ครั้งนั้น พระภิกษุรูปหนึ่งของเมืองกำแพงเพชร ได้ปั้นพระพุทธสิหิงส์ด้วยขี้ผึ้งแล้วนำไปเมืองเชียงราย อวดแก่เจ้ามหาพรหม ผู้ครองนคร เจ้ามหาพรหมเกิดต้องใจพระพุทธสิหิงส์ขึ้นมาอีกราย จึงส่งสาส์นไปทูลพระเจ้ากลีมหาราช เจ้านครเชียงใหม่ผู้เป็นพระเชษฐา ขอกำลังทหารไปชิงพระพุทธสิหิงส์มา ซึ่งพระเจ้ากลีก็มอบทหารมาให้ ๘๐,๐๐๐ คน
พระโพธิรังสีบรรยายตอนนี้ไว้ว่า
“ครั้นแล้ว ราชามหาพรหมองค์ประเสริฐแกล้วกล้า พร้อมบูรณ์ด้วยด้วยกำลังทหารกล้า มีกำลังทหารห้อมล้อม คือทหาร ๕ เหล่า ได้แก่ ทหารช้าง ทหารม้า ทหารรถ ทหารราบ และทหารเรือ ยกไปทางบกทางน้ำ ต้นไม้ต้นหญ้าแหลกลาญ เสียงม้าเสียงช้างเสียงรถเสียงพลเดินเท้าทำให้อากาศคับแคบ พื้นแผ่นดินประหนึ่งว่าจะแตกทำลาย พระองค์เสด็จไปไม่นานนักก็ถึงเมืองกำแพงเพชร พักกองทัพอยู่ในทำเลที่เหมาะ ครั้นแล้วทรงส่งทูตไปทันที แจ้งว่าเราชื่อมหาพรหม มาถึงที่นี่แล้ว ถ้าท่านใคร่จะรบจงออกมาต่อสู้กับเรา ถ้าไม่อยากรบก็จงมอบเศวตฉัตรให้แก่เรา อย่าปรารถนาความทุกข์ยืดเยื้อเลย”
พระราชาญาณดิสนั้นไม่ธรรมดา ขนาดส่งแม่ไปล้วงคองูเห่าเอาพระพุทธสิหิงส์มาจากพระเจ้าอู่ทองยังทำสำเร็จมาแล้ว เมื่อกองทัพมหาพรหมมาจ่ออยู่หน้าเมือง แม้จะมีรี้พลเป็นแสน แต่พระราชาญาณดิสก็ทรงพระสรวล แล้วส่งสาส์นตอบไปว่า
“ดีแล้ว เจ้ามหาพรหมพระราชาองค์ประเสริฐเสด็จมาไกล ใคร่จะทูลถามว่า พระองค์เสด็จมาสู่ทางไกลโดยประสงค์จะเจรจาด้วยเรื่องใด หรือด้วยเหตุใด หรือโดยเพระทัยว่าจะมีใครคิดร้ายกระนั้นหรือ อนึ่ง ขึ้นชื่อว่าพรหมแล้วถือว่าเป็นบิดาของสัตว์โลกทั้งปวง ดังนั้นหม่อมฉันจึงเป็นบุตรของพระองค์ และพระองค์เป็นพระบิดาของหม่อมฉัน ธรรมดาว่าผู้เป็นบิดาของสัตว์โลก ย่อมอนุเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลบุตรทั้งหลาย หม่อมฉันขอยกเว้นบุตร ภรรยา แว่นแคว้น และตัวหม่อมฉันเอง นอกนั้นขอน้อมเกล้าถวาย โปรดอย่าทรงกระทำความพินาศให้แก่หม่อมฉันเลย”
เจ้ามหาพรหมเจอลูกอ้อนแบบนี้เข้าก็เลยหมดทางจะขู่เข็นคุกคาม เกิดความชื่นชมยินดี ตอบกลับมาว่า ต่อไปนี้เราทั้งสองจะเป็นบิดาเป็นบุตรกัน และไม่ได้หวังทรัพย์สินอย่างอื่น ลูกจงมอบพระพุทธสิหิงส์แก่พ่อเถิด พ่อได้พระพุทธสิหิงส์แล้วก็จะกลับไป
พระราชาเมืองกำแพงเพชรได้ฟังคำเป็นไมตรีเช่นนี้ จึงเสด็จออกไปเฝ้ามหาพรหม ทูลว่าถ้าจะเอาพรพุทธสิหิงส์ไปก็จะถึงกาลพินาศแน่ เพราะพระมารดาเป็นผู้ทูลขอมาจากพระเจ้าอู่ทอง สัญญาว่าจำลองเสร็จแล้วจะส่งคืน ทั้งยังแย้มๆให้รู้ว่าพระมารดาของตนเป็นอะไรกับพระเจ้าอู่ทอง ฉะนั้นตนก็เป็นสมบัติของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาด้วย จึงขอให้มหาพรหมไปคอยอยู่ที่เมืองตาก ตนจำลองพระพุทธสิหิงส์เสร็จแล้วจะส่งไปให้ มหาพรหมเลยจำต้องยกพลเป็นแสนไปคอยพระพุทธสิหิงส์ที่เมืองตาก ซึ่งพระราชาญาณดิสก็ส่งไปให้ตามสัญญา
มหาพรหมอาราธนาพระพุทธสิหิงส์ขึ้นเสลี่ยงทองคำนำไปเฝ้าพระเชษฐาที่เชียงใหม่ แล้วทูลขอไปเชียงรายก่อนเพื่อเอาไปจำลองอีก เสร็จแล้วจะส่งกลับมาถวาย ซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่ก็ทรงอนุญาต
เจ้ามหาพรหมนำพระพุทธสิหิงส์ไปทำพิธีฉลองที่หัวเกาะดอนแท่น กลางลำน้ำโขง หน้าเมืองเชียงแสน แล้วอัญเชิญมาตัดพระหัตถ์ ซ่อมนิ้วที่มีตำหนิให้สมบูรณ์ แล้วหล่อด้วยทองคำ ประดิษฐานทั้งองค์เก่าองค์ใหม่ไว้เคียงคู่กัน แล้วเปล่งอุทานตรัสว่า
“โอ สัตว์โลกผู้อุดมด้วยบุญ โอ สัตว์โลกผู้อุดมด้วยบารมีที่สะสมไว้ สัตว์โลกเช่นเราปรารถนาวัตถุใดๆ ก็สำเร็จตามปรารถนา พระพุทธรูปมีนามว่าพระพุทธสิหิงส์มาหาเรา พระราชาทั้งหลายในชมพูทวีปไม่มีบุญเหมือนเรา เราคิดอย่างนี้ทุกวันทุกคืน บัดนี้ความปรารถนาของเรานั้นถึงที่สุดแล้ว”
เหตุการณ์นี้จึงถือได้ว่า พระพุทธสิหิงส์ได้ทวนน้ำขึ้นไปถึงต้นแม่น้ำ และมีพระราชาผู้ศรัทธาตัดนิ้วทำใหม่ให้บริสุทธิ์สมตามคำพยากรณ์ ประดิษฐานอยู่ ณ เชียงราย
เมื่อพระเจ้ากลีมหาราชสวรรคต พระเจ้าสิริราชบุตร หรือ พระเจ้าแสนเมืองมา ขึ้นครองนครเชียงใหม่ เจ้ามหาพรหมได้ยกกำลังมาจะชิงเมืองจากหลาน แต่ก็ชิงไม่ได้ต้องยกทัพกลับไปเชียงราย พระเจ้าสิริราชบุตรจึงคิดจะชำระแค้นพระเจ้าอาบ้าง แต่ก็ไม่ได้ยกทัพไปในทันที ใช้อุบายให้สินบนคนของเจ้ามหาพรหม ทั้งทหาร เสนาบดี และยุให้กินแหนงแคลงใจกัน เมื่อบ่มได้ที่แล้วจึงยกทัพไปยึดเมืองเชียงราย จับเจ้ามหาพรหมได้โดยง่าย อัญเชิญพระพุทธสิหิงส์กับพระพุทธรูปทองคำมาไว้เมืองเชียงใหม่
ต่อจากรัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา โอรสที่มีนามว่า “วิไชยดิส” ได้ขึ้นครองราชย์ มีพระยศยิ่งใหญ่กว่าพระราชบิดา ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “พระเจ้าตื๊อนามหาราช” หรือเรียกกันว่า “พระเจ้าสามฝั่งแถน” ซึ่งพระโพธิรังสีได้เขียนนิทานเรื่องพระพุทธสิหิงส์ขึ้นในรัชกาลนี้ จึงจบลงที่พระพุทธสิหิงส์ประดิษฐานอยู่ที่เชียงใหม่ ซึ่งตกราว พ.ศ.๑๙๘๕
พระพุทธสิหิงส์ประดิษฐานอยู่ที่เชียงใหม่จนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับคำให้การของชาวกรุงเก่า ได้บันทึกไว้ว่า
“ต่อมา พระนารายณ์ทรงดำริว่า กุมมามัง เจ้าเมืองเชียงใหม่มีพระราชบุตรองค์หนึ่ง ชื่อโภริสังสา ๆ เป็นคนกล้าหาญในการทำสงคราม ชำนาญในการขี่ช้างขี่ม้าเป็นต้น ประชาชนสรรเสริญว่าเป็นคนมีบุญมาก กับได้ทรงทราบว่า พระเจ้าเชียงใหม่มีพระพุทธรูปวิเศษ ๓ องค์ ซึ่งตำนานพระพุทธรูป ๓ องค์นั้นกล่าวว่า
เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันปรินิพพานล่วงไปแล้ว พระมหาอุปคุตเถรเจ้าได้มาที่เมืองเชียงใหม่ ดำริจักใคร่สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่ง จึงตั้งบวงสรวงเชื้อเชิญเทวดาและพญานาคทั้งปวงมา แล้วขอให้เทวดาและนาคที่มีอายุยืนทันพระพุทธองค์ นฤมิตพระรูปสมเด็จพระผู้มีพระภาค
ครั้นเทวดาและนาคนฤมิตให้ดูแล้ว พระผู้เป็นเจ้าก็เอานวโลหะทั้งปวงมาหล่อเป็นพระพุทธรูป เทวดาและนาคก็ช่วยกันทำให้มีพระรูปละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่
อีกพระองค์หนึ่ง ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าเชียงใหม่ให้หล่อขึ้นแล้วเอาแก้วมณีที่มีอานุภาพมาฝังพระเนตร ถวายพระนามว่า พระพุทธสิหิงส์ ด้วยอำนาจแก้วมณีวิเศษที่ฝังเป็นพระเนตรนั้น พระพุทธสิหิงส์จึงทำปาฏิหาริย์เหาะเหินเดินอากาศได้
อีกพระองค์หนึ่ง ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าเชียงใหม่ให้แกะเป็นพระนาคปรกด้วยไม้จันทน์แดงทั้งแท่ง
พระนารายณ์ได้ทรงทราบเกียรติยศของโภริสังสาและพระพุทธรูปปฏิมากรทั้ง ๓ องค์ดังกล่าวมานี้ ก็มีพระราชประสงค์ใคร่จะทำสงคราม และใคร่จะได้พระพุทธปฏิมากรไว้สักการบูชา จึงให้จัดทัพบกทัพเรือ...”
จะเห็นว่าพงศาวดารนี้ระบุว่า พระพุทธสิหิงส์เป็นพระพุทธรูปที่พระเจ้าเชียงใหม่ให้หล่อขึ้น ซึ่งก็ตรงตามพุทธลักษณะที่เป็นศิลปะล้านนา ไม่ใช่ศิลปะของลังกา ซึ่งนักวิชาการทางโบราณคดีก็เชื่อกันว่าพระพุทธสิหิงส์ไม่ได้มาจากลังกา และลังกาก็ไม่มีตำนานพระพุทธสิหิงส์ ส่วนใครจะเป็นผู้สร้างพระพุทธสหิงส์และสร้างมาตั้งแต่เมื่อใด ถ้าคลำไปก็คงเป็นเรื่องปวดหัวแน่ เพราะพระพุทธสิหิงส์เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ อายุอย่างน้อยก็ใกล้พันปี คงหาหลักฐานยืนยันได้ยาก ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เคยเถียงกันมาแล้ว จะรู้แน่ก็ต้องถามพญานาคนั่นแหละ
เอาเป็นว่าพระนารายณ์มหาราชทรงยกทัพไปล้อมเชียงใหม่ขอให้ส่งพระพุทธสิหิงส์กับพระพุทธปฏิมากรที่แกะสลักด้วยไม้จันทน์แดงออกมาถวาย เพื่อเชียงใหม่กับกรุงศรีอยุธยาจะได้เป็นทองแผ่นเดียวกัน แต่พระเจ้าโพธิสารผู้ครองเมืองเชียงใหม่กลับตอบมาว่า
“เราไม่ยอมให้ เรายอมถวายชีวิตแก่พระปฏิมาทั้ง ๒ องค์”
ซึ่งก็สมปรารถนา พระเจ้าโพธิสารถูกอาวุธถึงพิราลัยในที่รบ สมเด็จพระนารายณ์ทรงตั้งเจ้าวงศ์ โอรสของพระเจ้าโพธิสารขึ้นครองเมืองแทน ขุนนางข้าราชการก็คงไว้ตามเดิม แล้วอัญเชิญพระพุทธสิหิงส์กับพระพุทธปฏิมากรที่สลักจากไม้จันทน์แดงกลับกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธสิหิงส์ประดิษฐานอยู่ที่วัดสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ.๒๒๐๕ จนถึง พ.ศ.๒๓๑๐ กรุงแตก กองทัพเชียงใหม่ที่เข้าร่วมกับกองทัพพม่าจึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงส์กลับไปเชียงใหม่
ใน พ.ศ.๒๓๓๘ สมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้ยกทัพขึ้นไปช่วยเจ้าเมืองเชียงใหม่ที่ถูกพม่าล้อม ตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป ตอนกลับเลยอัญเชิญพระพุทธสิหิงส์ลงมาด้วย และขอพระราชทานนำไปประดิษฐานไว้ที่พระราชวังบวร โดยทรงอุทิศพระราชมณเฑียรองค์หนึ่งถวาย พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งพุทไธสวรรค์”
เมื่อกรมพระราชวังบวรสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่าพระราชวังบวรว่างอยู่ไม่มีผู้ดูแล จึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงส์ไปไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวจึงโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอัญเชิญกลับมาไว้ที่พระราชวังบวรตามเดิม ทรงดำริที่จะนำไปเป็นประธานในโบสถ์พระแก้ววังหน้าที่กรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างไว้ แต่ขณะที่ซ่อมแซมสถานที่โดยเขียนภาพตำนานพระพุทธสิหิงส์ที่ที่ผนังโบสถ์นั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระพุทธสิหิงส์จึงยังคงประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ตลอดมา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงโปรดลักษณะที่งดงามของพระพุทธสิหิงส์มาก นอกจากเสด็จมาประทับในพระราชวังบวรอยู่เนืองๆ แล้ว ยังโปรดให้หล่อพระพุทธสิหิงส์จำลองอีก ๑ องค์ ประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารวัดราชประดิษฐ์ กับอีก ๑ องค์ประดิษฐานที่ซุ้มองค์พระปฐมเจดีย์ ทั้งยังจำลองด้วยทองคำเป็นองค์เล็กๆ ประดิษฐานไว้ที่พุทธมณเฑียรในพระบรมมหาราชวังด้วย
แม้ทุกวันนี้ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ในพระราชวังบวรจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร พระพุทธสิหิงส์ก็ยังคงประดิษฐานอยู่ที่นั่น และเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะตามเวลาเปิดพิพิธภัณฑ์
เป็นที่น่าสังเกตว่า พระพุทธสิหิงส์ในพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ จะแตกต่างจากพระพุทธสิหิงส์องค์อื่นๆ ตรงที่พระหัตถ์ทั้ง ๒ ซ้อนกันอยู่บนตักในท่วงท่าสมาธิ แต่พระพุทธสิหิงส์ของเชียงใหม่ ของนครศรีธรรมราช หรือพระพุทธสิหิงส์ของวัดโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร ที่สร้างขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา จะมีลักษณะต่างออกไปเป็นท่านั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์อยู่ในท่วงท่าสัมผัสธรณี แสดงปางมารวิชัย แต่กระนั้นพระพุทธสิหิงส์ทุกองค์รวมทั้งพระพุทธสิหิงส์ของจังหวัดตรังที่ถูกขโมยหายไป ต่างก็อ้างตำนานเดียวกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในลังกา เมื่อประมาณ พ.ศ.๗๐๐
เรื่องนี้น่าเชื่อถือที่ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ กรมศิลปากร ได้สรุปไว้ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับ “พระพุทธสิหิงส์ จริง ทุกองค์ ไม่มี ปลอม” แต่ไม่ได้มาจากลังกา ว่า
“อย่างไรก็ดี เรื่องพระพุทธสิหิงส์องค์ไหนเป็นองค์จริง ก็ไม่ใช่ประเด็นที่จะกล่าวถึงในที่นี้ ทั้งนี้เพราะย่อมเป็นที่ทราบกันดีของนักวิชาการทางศิลปะว่า พระพุทธสิหิงส์ที่เชียงใหม่สร้างขึ้นที่ล้านนา พระพุทธสิหิงส์นครศรีธรรมราชสร้างขึ้นที่ภาคใต้ พระพุทธสิหิงส์ที่กรุงเทพฯ สร้างขึ้นที่สุโขทัย และถูกนำไปประดิษฐานที่เชียงใหม่
ไม่มีพระพุทธสิหิงส์องค์ใดที่กราบไหว้กันในประเทศไทย จะได้สร้างขึ้นที่เกาะลังกา”