สัมผัสตัวตนความคิด “อนันต์ชัย ไชยเดช” เจ้าของฉายา “ทนายกระดูกเหล็ก” ผู้ทำคดี 6 โจ๋รุมทำร้ายชายพิการ...เถิดเหล่าชนพาลจงรับรู้ นี่คือคู่ต่อสู้ที่คุณๆ ไม่คู่ควร ด้วยประการทั้งปวง!!
สืบเนื่องจากเหตุการณ์หนุ่มวัยรุ่น 6 คน รุมทำร้ายชายพิการขายขนมปัง ย่านโชคชัย 4 จนเสียชีวิต และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดกว้างขวาง ถึงความอยุติธรรมทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น อันสร้างความหวาดหวั่นแก่ประจักษ์พยาน เกรงจะถูกทำร้าย หากให้การ!
แต่มีชายผู้หนึ่งซึ่งดูคล้ายไม่หวาดหวั่น เกรงกลัวภยันตรายใด เขาอาจแปลกหน้าสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ในแวดวงนักว่าความตามกฎหมาย เขาผู้นี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ผ่านฉายานามน่าเกรงขาม ด้วยเหตุผลที่ไม่ครั่นคร้ามงอมือให้กับใคร... “ทนายกระดูกเหล็ก” หรือ “แจ๊กผู้อาสาฉีกหน้ากากยักษ์ขี้ฉ้อ”
“อนันต์ชัย ไชยเดช” คือใครคนนั้นที่เรากำลังกล่าวถึง ท่ามกลางเสียงอื้ออึงเซ็งแซ่จากกระแสของผู้คนที่ชื่นชมและเรียกร้องอยากเห็นความเป็นธรรม
จากเหตุการณ์ในวัยเยาว์ที่ได้เห็นความยุติธรรมถูกฉีกทึ้งไปต่อหน้า ทำให้เด็กน้อยจากจังหวัดสงขลาที่ฝันใฝ่ในด้านการประพันธ์ หันเหชีวิต ปรับจูนเข็มทิศเพื่อพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ร่ำเรียนกฎหมาย ก่อนจบออกมาทำงานว่าความในฐานะทนายตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี จนปัจจุบัน ผ่านโมงยามวิกฤตหน้าสิ่วหน้าขวานในการยืนประจันหน้า รักษาตัวบทกฎหมาย และความเป็นธรรม...
กำเนิด “แจ๊กผู้อาสาฉีกหน้ากากยักษ์ขี้ฉ้อ”
เพราะแค้นใจในความอยุติธรรม
“ผมเป็นคนอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ชอบเขียนบทประพันธ์ เขียนนวนิยาย เขียนกาพย์ ฉันท์ โคลง กลอน มาตั้งแต่เด็ก นิสัยออกแนวโรแมนติก มีความฝันในตอนนั้นอยากจะเป็นนักนิเทศศาสตร์ ไม่ได้บู๊หรือดุดัน”
ทนายชื่อดังเล่าถึงชีวิตและความคิดความฝันในวัยเยาว์ ก่อนการโดนโกงความเป็นธรรม จะเป็นปัจจัยชักนำให้ก้าวสู่เส้นทางทนายผู้ดุดัน จนใครๆ ต่างก็กล่าวขวัญว่า "ถ้าคดีติดมือเขาแล้วไม่รอด ต่อให้เป็นลูกนายกฯ ก็ไม่กลัว"
“เหตุที่ทำให้มาเป็นทนาย เพราะช่วงที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย คุณแม่ท่านโดนโกงที่ดิน 100 กว่าไร่ ก็มีการฟ้องร้องคดีกันที่ศาล แล้วแพ้...เนื่องจากทนายกินทั้งสองฝ่าย”
เหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลให้เด็กที่อ่อนนุ่มช่างจินตนาการ แปรเปลี่ยนเป็นมุ่งมองหาความเป็นธรรม เดินทางมาเรียนทนายความด้วยความหวังจะสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น
“มาเรียนทั้งๆ ที่ไม่ชอบ ตอนนั้นพอเรียนจบมัธยมก็ขึ้นมาเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2523 ใช้ระยะเวลา 3 ปีครึ่งจบ รุ่นที่ 10 แล้วก็ไปเรียนต่อเนติบัณทิตไทย (นบท.) จากสำนักงานอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ 39 อีกปีครึ่ง
“แล้วก็เริ่มอาชีพทนายความ โดยที่ไม่ได้สอบผู้พิพากษาอัยการ ทั้งๆ ที่ถ้าสอบแล้วมีโอกาสได้เป็น จะมีทั้งเกียรติ งานที่มั่นคง ไปไหนใครก็เคารพ ท่านผู้พิพากษา ท่านอัยการ เงินเดือนก็มีกินมีใช้”
ซึ่งแตกต่างจากการเป็นทนายความ ที่คนสมัยนั้นกระทั่งสมัยนี้เองก็ตามมองไม่ดี แต่ก็เลือกเส้นทางนี้ เลือกแม้กระทั่งรู้ว่าหนทางข้างหน้า ทนายความจบใหม่ แถมมาจากบ้านนอกขอกนาอย่างเขาต้องลำบากและดิ้นรนปากกัดตีนถีบสุดชีวิต
“เพราะตั้งใจตั้งแต่แรกตอนที่เรียนว่าจะเป็นทนาย และจะเป็นทนายให้ดีที่สุด ตอนนั้นก็ลำบาก เพราะสมัยก่อน อย่างแรกเลย เวลาไปสมัครงาน เขาไม่ค่อยรับ เราเด็กบ้านนอก เป็นทนายจบรามคำแหง ไปหาสมัครสำนักงานไหนเขาก็ไม่เอา อย่างที่สอง เป็นทนายความจบใหม่ หรือที่เขาเรียกกันว่า “ทนายหน้าอ่อน” ค่าว่าจ้างก็ไม่เยอะ คดีดังๆ ใหญ่ๆ ก็ไม่ถึงเรา
“ก็จะมีแต่คดีเล็กๆ อย่างคดีเช็ค คดีจัดการมรดก ตกเดือนละคดี มันไม่ได้จบแล้วเงินดี มีความมั่นคง ค่าว่าความ มากสุดก็หลักหมื่น แตกต่างจากทนายที่มีอายุการว่าความนานๆ สมมติ 20 ปี เขาได้เงินหลักแสน เราก็ไส้แห้ง ณ ตอนนั้น ทำสำนักงานที่โน่นที่นั่นที เพราะเรื่องค่าการดำรงชีวิต”
ทนายชื่อดังเผยด้วยรอยยิ้ม เพราะแม้จะต้องพบเจอความยากลำบาก แต่ก็ยังนับเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ทำให้ได้เรียนรู้และฝึกปรือ ได้วิชาดีๆ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
“คือก็ถือเป็นโชคดี เพราะทำให้เราได้มีโอกาสฝึกหลายสำนักงาน ทั้งทนายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ทนายสันติภาพ คล้อยพัสสุวรรณ ทนายศุภผล อมรรัตน์ และอีกราวๆ 3-4 คน ทำให้เราเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน และความชำนาญของแต่ละท่านทางด้านกฎหมายแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อาจารย์บางคนเก่งแพ่ง บางคนเก่งอาญา บางคนเก่งกฎหมายพิเศษ ฉะนั้น การที่เราเรียนจากหลายๆ สำนัก ทำให้เราได้กำไรเกี่ยวกับเรื่องประสบการณ์ ทำให้เรามีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายพอสมควร
“ก็ศึกษาอยู่กับอาจารย์เหล่านั้นประมาณ 6 ปี ช่วงปี 2534 ก็เปิดสำนักงานแรกที่สายใต้ใหม่ ที่คลองบางกอกน้อย ใช้ชื่อ “สำนักงานกฎหมายไชยเดช” แต่ไม่ใช่ของเรา เป็นของอาจารย์สุภาพล อมรรัตน์ เปิดราวๆ 5 ปี แต่คดีใหญ่ๆ เราก็ยังไม่ได้ทำ ก็มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเลี้ยงปากท้องเรา จึงตัดสินใจออกมาตั้งสำนักงานของตัวเอง วันที่ตัดสินใจมาทำเอง ก็คิดว่าเราจะอยู่อย่างไร อยู่ได้หรือเปล่า เพราะลูกความก็ไม่มี พูดง่ายๆ ว่าเสี่ยง ไปตายเอาดาบหน้า”
ท่ามกลางความถูกต้องที่ยังดำรงไว้ ในขณะที่เงินตราก็สำคัญไม่น้อยและสามารถโน้มน้าวใจให้เปลี่ยนแปลงได้ ทว่าสิ่งเดียวและคติเดียวที่ยึดมั่นให้สำนักงานทนายความกฎหมาย อนันตชัย ไชยเดช (ชื่อเดิม) ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัว ในปี 2539 จนกลายเป็นที่โจษขานพูดถึง คือคดีปลอมแปลงใบหุ้นของธนาคารทหารไทย (มหาชน) จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2544
นั่นก็คือ "ทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะไม่ถูกใจ”
“เราต้องอย่าเห็นว่าเงินเป็นใหญ่ แต่เห็นเรื่องของหน้าที่ของเราเกี่ยวกับวิชาชีพ จรรยาบรรณเป็นใหญ่ คือหัวใจสำคัญของการเป็นทนาย ความซื่อสัตย์สุจริต เราต้องมีหลักของการเป็นทนายความ เราอย่ากินสองฝ่าย ถ้าเราอด เราอย่าอดอย่างหมา เราต้องอดอย่างเสือ เสือย่อมไม่กินเนื้อเสือ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นอย่างไรก็ตาม จะมีความจำเป็นในชีวิต เรื่องเงิน ไม่ว่าคนจะจ้างเราอย่างไรให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่เอา เราต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง ถึงแม้จะไม่ถูกใจใครก็ตาม ก็ไม่เป็นไร
“ถึงแม้ว่าจะกลัว ยอมรับว่าตอนแรกเราก็กลัว เพราะตอนนั้น ดร.วีรศักดิ์ อาภารักษ์ ฟ้อง ดร.ทนง พิทยะ กับพวก ซึ่งขณะนั้น ดร.ทนง ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พอฟ้องเสร็จในคดีนี้ เหตุที่มันดังก็เพราะว่า ดร.วีรศักดิ์ ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์หัวเกรียนมาทำร้ายก่อนวันขึ้นศาลเพียงวันเดียว เลยไปร้องความเป็นธรรมกับ ผบ.ตร.ในสมัยนั้น
“แต่เราก็นึกถึงตอนที่เราเคยโดนกระทำจากความไม่ยุติธรรมด้วย ไม่อย่างนั้นเราก็เหมือนกับคนคนนั้นที่ทำให้เรา ทนายจึงมักถูกมองว่าเป็นคนขี้โกง คนชั่ว คนเลว แต่สำหรับเรา เรามีอุดมการณ์ เรามีอุดมคติมาแต่ไหนแต่ไร ดังนั้น เมื่อเขาเล็งเห็นความสามารถเรา เขาให้เราทำ เราก็ต้องทำ เราก็รู้จากข่าว จากการบอกเล่า ว่ามีทนายหลายคนต้องเสียชีวิต โดนยิงตาย แต่เพราะอาชีพเราต้องรักษาความยุติธรรม เราก็ทำ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะไม่ถูกใจ”
นั่นนับเป็นคดีแรกที่แจ้งเกิดให้กับทนายผู้นี้ ถึงขั้นได้รับฉายาว่า “แจ๊กผู้อาสาฉีกหน้ากากยักษ์ขี้ฉ้อ” จากหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2544 และนับตั้งแต่นั้นมา การว่าความที่ดุดันชนิดบู๊ล้างผลาญ กัดไม่ปล่อย ไม่กลัวอิทธิพล ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี จนถึงวันนี้ หลากหลายคดีต่อคดีดังอันกินพื้นที่หน้าหนึ่งของกระดาษหนังสือพิมพ์ ต่างเข้ามาพาดชื่อ “อนันตชัย ไชยเดช” ที่มีความหมายว่า ชัยชนะไม่มีที่สิ้นสุด ร้องเรียนความเป็นธรรมทุกประเภท ไม่ว่าอาญาเอาผิด หรือแพ่งพาณิชย์เรียกค่าเสียหาย
ปี พ.ศ.2544 เป็นทนายความให้กับกลุ่มผู้ค้าหูฉลามย่านเยาวราช ฟ้องร้องดำเนินคดีกับองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่านานาชาติ (ไวด์เอด) จนปรากกฎภาพข่าวโด่งดังไปทั่วโลก
ปี พ.ศ.2547 เป็นทนายความให้กับนายวีระ ลิมปะพันธ์ นายกสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรรมการของสมาคมฯ ที่กล่าวหาว่ายักยอกทรัพย์
ปี พ.ศ. 2548-2549 เป็นทนายความให้นางสาวชุติมา นัยนา (เอ้) อดีตนางสาวไทยและดารา นักแสดง ฟ้องร้องดำเนินคดีกับนิตยสารกอซซิปสตาร์ที่กล่าวหาว่านางสาวชุติมา นัยนา เป็นแม่เล้า
ปี พ.ศ. 2549 เป็นทนายความให้กับนางสาวสกาวใจ พูลสวัสดิ์ (อ๋อม) ดารา นักแสดง ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัท เอ็นบีดี เฮลท์แคร์ จำกัด ในข้อหาละเมิด หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีที่บริษัทแอบอ้างว่านางสาวสกาวใจ เป็นตัวแทนงานโฆษณาของบริษัท
จนถูกข่มขู่และโดนประทุษร้าย ในคดีระหว่างปี พ.ศ. 2549-2555 เป็นทนายความให้กับพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจปราบปรามผู้มีอิทธิพลเกี่ยวกับสถานบริการและแหล่งอบายมุข ฟ้องร้องดำเนินคดีกับ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) และนายไพรจิตร ธรรมโรจน์พินิจ (ปอ ประตูน้ำ) ฯลฯ ซึ่งภายในปี พ.ศ. 2551 หลังมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้มีอิทธิพล วันที่ 3 เมษายน จึงถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลใช้มีดสปาร์ตาฟันศีรษะที่บริเวณศาลอาญา อันเป็นผลมาจากการว่าความและดำเนินคดีในชั้นศาลโดยไม่เกรงกลัวต่อผู้มีอิทธิพล ซึ่งปรากฏภาพข่าวตามสื่อมวลชนทุกแขนง จนหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับลงวันที่ 23 เมษายน 2551 ได้ให้คำชมเชยเป็นฉายาว่า “ทนายกระดูกเหล็ก”
“ทนายกระดูกเหล็ก” ไม่กลัวเกรงภัยพาล
เพราะเราเป็นทนายชน ไม่ใช่ทนายถอย
“ถ้าเราเป็นทนายความแล้วเรากลัวซะแล้ว ลูกความก็ตายหมด เราต้องอยู่ข้างหน้า เราต้องคุ้มครองลูกความเราที่อยู่ข้างหลัง เรากลัวไม่ได้ โดยอาชีพเรากลัวไม่ได้เลย ถ้าเรากลัว ใครจะมาจ้าง แล้วลูกความจะไปทางไหน
“โหย! ทนายขี้ขลาดฉิบหายใช่ไหม ทนายมันต้องเอา ต้องถึงลูกถึงคน”
ทนายความรุ่นใหญ่กล่าวถึงเหตุผลที่แม้จะเคยผ่านการข่มขู่มานับไม่ถ้วน เฉียดความเป็นความตายด้วยบาดแผลที่เย็บกว่า 8 เข็มบริเวณศีรษะและยังส่งผลให้นิ้วก้อยของมือข้างซ้ายพิการมา ณ เวลานี้ กระนั้นก็ยังคงว่าความและสู้คดีด้วยอุดมการณ์ความมุ่งมั่นเฉกเช่นเดิม
“คือมันไม่มีความกลัวอยู่ในสายเลือด เราทนายชน ไม่ใช่ทนายถอย ชนลูกเดียว ไม่กลัวใคร ถึงแม้จะเป็นอย่างไร เราก็ไม่กลัว สโลแกนของเรา ถ้าใครเป็นลูกความเรา ลูกความจะต้องอยู่ข้างหลัง เราจะต้องอยู่ทัพหน้า เพราะฉะนั้นมีอะไรเกิดขึ้นเราต้องรับก่อน แล้วก็ไม่กินสองฝ่าย ไม่เป็นทนายสองหน้า เราจะต้องคุ้มครองลูกความให้ได้ นี่คือสโลแกนของเรา เพราะฉะนั้น เราก็จะสู้กันแบบเต็มตัว เมื่อก่อน เวลาว่าความ จะทะเลาะกันในศาลประจำ จนกระทั่งศาลต้องห้ามทัพ
“แม้ว่าหลังจากที่ถูกทำร้ายร่างกายแล้ว เราก็รู้สึกว่าการที่เราเป็นทนายฮาร์ดคอร์ หรือเป็นทนายที่ลุยแล้วไม่ถ่อย รู้สึกว่าเราจะทำให้ครอบครัวเดือดร้อน เพราะว่าเราเป็นเสาหลักของบ้าน ถ้าเราตายไป แล้วใครจะดูแลลูกเรา บังเอิญว่าลูกเราป่วยด้วย ลูกสาวเป็นเบาหวาน ฉีดยาตลอดชีวิตวันละ 3 เข็ม ส่วนลูกชายเป็นออทิสติก เพราะฉะนั้น เขาสองคนยังเป็นเด็ก อายุคนหนึ่งก็ 18 อีกคน 16 ถ้าเราเป็นอะไรไปไม่ใช่เราตายคนเดียว ลูกเรา ครอบครัวเราก็ตายด้วย เราจึงหันมาดูตัวเองว่าการที่เราเป็นทนายฮาร์ดคอร์แล้วดุดัน และเป็นคนที่ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร มันสมควรที่จะทำต่อไหม เป็นต่อไหม
“เราไปหาคำตอบให้ตัวเอง บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ก็ไปบวช ไปปฏิบัติธรรม บวชอยู่ในถ้ำ ที่วัดพระโพธิสัตว์ จ.สระบุรี เดินจงกรม นั่งสมาธิ ตื่นตั้งแต่ตี 1 เดิน 3 ชั่วโมง นั่ง 3 ชั่วโมง สลับกระทั่งถึง 6 โมงเย็นของทุกวัน หนึ่งทุ่มจำวัด ทำอย่างนี้กระทั่งเรารู้สัจธรรมของชีวิตว่า ชีวิตเรานี่ก็ต้องดูคนที่อยู่ข้างหลังด้วย ไม่ใช่ว่าเรามีตัวเราคนเดียว เราก็เลยลดดีกรีของความห้าวลง แล้วก็เปลี่ยนชื่อใส่ตัวการันต์เป็น “อนันต์ชัย” มีความหมายว่าเจริญ ไม่มีที่สิ้นสุด
“แต่เวลาว่าความก็ยังเหมือนเดิม เพียงสุภาพขึ้นแล้วก็นุ่มนวลขึ้น”
เปลี่ยนจากแข็งให้เป็นอ่อน จากชนแหลก ไม่กลัว ไม่แคร์ ไม่สนหน้าอินหน้าพรหม มาว่าด้วยวาทะที่คมบาด ละเอียด และรอบคอบมากขึ้น ให้คู่กรณีเกรงกลัว
“คือเราไม่ทำตัวเองให้เป็นตัวความซะเอง ข้าคือจำเลย ข้าคือโจทย์ เราแค่ตัวแทน ฉะนั้น หน้าที่ก็คือหน้าที่ ไม่เอาตัวความมาเป็นตัวเรา ถ้าเอามา ผลก็จะออกมาอย่างที่เราโดนทำร้าย มันก็เป็นเหรียญสองด้าน อาชีพทนายเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว สมมติเราว่าความให้จำเลย จำเลยเกลียดโจทย์ เราจะไปเกลียดด้วย ก็ไม่ใช่ ทำอย่างนั้นไม่ได้ แล้วฝ่ายโจทย์ตรงข้าม ถ้าเขาไม่ชอบ เราก็ต้องปล่อยเขาไป เราก็ต้องวางตัวเป็นกลาง
“การไปบวช ก็ทำให้เราได้ข้อคิดมาเยอะมาก ตอนแรกก็มีหลงๆ ตอนที่เป็นทนายให้ท่านเสรี เราดังมาก หลงตัวเองมาก คิดว่าเราแน่ เราเก่ง เราสุดยอด เราก็เหิมเกริม หลงในลาภยศ ขื่อเสียง แต่จริงๆ คืออาชีพทนายความเป็นอาชีพที่ตั้งอยู่บนความขัดแย้งของคนสองฝ่าย มีคนชอบก็มีคนเกลียด เราตั้งอยู่กับความขัดแย้งของเขาสองคน ฉะนั้น ลำบาก เราก็ต้องวางตัวให้ดี”
ในระหว่างที่เจ้าตัวเว้นวรรค เมื่อถามถึงการอาฆาตมาดร้ายถึงผู้ที่เคยกระทำและข่มขู่ว่าไม่หลงเหลือแล้วในวันนี้ บนชั้นจัดวางเกียรติบัตร มีรูปถ่ายการรับรางวัลพ่อตัวอย่าง ปี พ.ศ. 2554 รางวัลพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ พลอากาศเอกกำธร สินธวานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ที่บ่งบอกยืนยันปณิธานความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ที่ต้องแบ่งระหว่างหน้าที่พ่อหัวหน้าครอบครัวและผู้ผดุงความเป็นธรรมของทนายรุ่นใหญ่ผู้นี้อย่างชัดเจน
“เขาก็ถามเราว่าเราเป็นอย่างนี้ แล้วเราเลี้ยงลูกอย่างไร เราก็บอกไม่ถูก อาชีพทนายมันไม่มีความสุขหรอก”
ทนายที่เป็นผู้พิทักษ์ทั้งสองฐานะกล่าว ก่อนจะว่าต่อ
“แต่ในส่วนของการเป็นทนายความมันเลิกอาชีพนี้ไม่ได้หรอก แม้แต่ตอนแรกก็ไม่ได้มาจากความชอบ แต่เป็นเพราะเราอยากจะทวงคืนความยุติธรรม แต่สุดท้ายมันก็แปรเปลี่ยนให้เราเป็นอีกแบบ เรามาเป็นแล้วเราเห็นว่า ความไม่เป็นธรรมเยอะมาก ความยุติธรรมแทบไม่มี ถึงมีก็มีน้อย ความยุติธรรมอยู่ที่ว่าคุณเป็นคนของใครอย่างนั้นหรือเปล่าในสังคมไทย
“หรือถ้าคุณมีเงิน มีพวก คุณก็อยู่ในสังคมนี้ได้อย่างสบายบรื๋อ แต่ถ้าคุณไม่มีเงิน ไม่มีพวก ก็เสร็จ
“ก็ภูมิใจที่เหตุการณ์ล่าสุดครั้งนี้ ทำให้คนมองอาชีพทนายในทางที่ดีขึ้น จากที่มองทนายว่าไม่ดีอย่างเดียว ทนายทำผิดให้เป็นถูก แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด มันเป็นเรื่องของแต่ละคนว่ามีจิตสำนึกหรือไม่ ทนายโกงลูกความ ทนายเอาเปรียบ ทนายรับเงินจากฝ่ายตรงข้ามแล้วว่าความให้อ่อน ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่กระแสทนายดีขึ้นตามนิยามความหมาย
“ฉะนั้น นอกจากเราจะว่าความเพื่อเอามาเลี้ยงร่างกาย เลี้ยงครอบครัวแล้ว ส่วนหนึ่งเราต้องช่วยคนที่เขาลำบากด้วย ใครที่ไม่มีเงิน ใครที่ทุกข์ เราช่วยว่าความให้ฟรี ก็มีพอสมควร เพราะคนเขาขาดที่พึ่งแล้วเขามองว่าเราทนายทำให้แต่คนรวยๆ เขาคิดอย่างนั้น ถ้าไม่มีเงินก็ไม่ทำให้ ในสายตาของคน เราจึงต้องนอกจากเอาวิชาชีพมาเลี้ยงตัว เราก็ต้องช่วยเหลือสังคมด้วย
“เพราะอาชีพทนาย อย่าลืมว่าก็คือการดำรงรักษาความยุติธรรม”
มีคนรัก ย่อมมีคนเกลียด
แต่คนกล้า ย่อมยังต้องมี
“คือถ้าไม่มีทนายแบบเราเสียบ้าง ความเป็นธรรมมันก็ไม่มี ไม่ใช่ว่าเราดี เก่ง ไม่ใช่ แต่ว่ามันควรจะมีบ้าง”
ทนายชื่อดังบอกเล่าถึงทิศทางในอนาคตของอาชีพทนาย ที่แม้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่กระนั้น สิ่งสำคัญในความคิดของเขา คือทุกคนต้องลุกขึ้นมายืนอยู่บนฐานความยุติธรรม
“ทนายก็คือคน มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ส่วนหนึ่งเนื่องจากเศรษฐกิจด้วย แต่ที่สำคัญอยู่ที่สันดาน ไม่ใช่สันดอนนะ นิสัยยังเปลี่ยนกันได้ แต่สันดานเปลี่ยนไปไม่ได้ คุณรู้สำนึกผิด ก็รู้จักขอโทษอภัยได้ แต่สันดานคนมันอยู่ในใจ ลึก มันขุดไม่ได้ มันไม่สามารถให้อภัยได้ มันก็ติดตัวไปตลอดชีวิต
“แต่ถ้าคุณทำในสิ่งที่ถูกต้อง อดีตเป็นอย่างไร อดีตดี อนาคตก็ดี ตัวชี้วัดอนาคตก็จะเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ถูกใจ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามคุณทำเรื่องถูกใจ ไม่ถูกต้อง อดีตมันจะทำลายอนาคตของคุณอยู่แล้ว อาชีพทนายความก็ขึ้นอยู่กับแต่ละตัวบุคคล
“ทนาย ใครก็เป็นได้ แต่จะเป็นให้ดีและมีความสามารถ อยู่ที่เฉพาะบุคคล เพราะเป็นอาชีพที่มันต้องละเว้นจากวจีกรรม 4 พูดโกหก เพ้อเจ้อ ส่อเสียด คำหยาบ มีครบ คือถ้าไม่หลอกล่อเค้นความจริง ก็ไม่ชนะ ถ้าไม่ส่อเสียดเวลาว่าความให้พยานไขว้เขวบอกความจริงก็เหมือนกัน บางทีก็ต้องขู่บ้าง ใช้คำหยาบบ้าง มันต้องใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการว่าความ มันเป็นอาชีพที่ใช้สมองอย่างเดียว แถมสมองได้สองด้านเลย โกงก็ได้ ไม่โกงก็ได้”
“ทนายไม่น้อยที่มีคนเกลียด มากกว่าคนรัก คนจะรักอยู่ที่เรา”
คงจะจริงดังว่า เพราะตลอดระยะเวลากว่าครึ่งชีวิตที่ว่าความ แต่ละยุคสมัยชื่อเสียงของทนายกระดูกเหล็กก็ยังคงไม่ถูกหลงและลืม เสื่อมสลายตามกาลเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ถึงสื่อโลกออนไลน์ คนรุ่นใหม่ยังกล่าวขวัญถึง แถมยังปลุกประกายกระแสด้านบวกให้กับสังคมในเรื่องของความถูกต้องที่ยังคงมีอยู่จริงบนผืนแผ่นดินประเทศไทย
“ก็ยังย้ำคำเดิม เราทำอย่างไร อนาคตมันก็มาอย่างนั้น อดีตสร้างอนาคตของเราเอง อดีตที่เราสร้างมา ถ้าอดีตเราดี อนาคตเราก็จะดี เราเป็นทนาย มีคนเกลียดอยู่แล้ว แต่คนรักจะเยอะกว่าหรือเปล่าอยู่ที่เรา ก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่ล่าสุด มีคนที่กล่าวถึงการทำงานของเรา เขาไม่ดูถูก ที่บอกไม่ใช่เพราะว่าอยากดัง ไม่ต้องมีป้ายไฟ (ยิ้ม) แต่เราต้องมีใครสักคนที่ลุกขึ้นมาบ้าง ขึ้นมาเป็นต้นแบบตามนิยามความหมายอาชีพทนายความ
“เคยเกือบตายแต่ไม่ตาย ก็ถือว่าคุ้มที่ทำให้ความถูกต้องยังคงเกิดขึ้นอยู่ในบ้านเมืองเรา และเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทำให้อาชีพวงการทนายความจะถูกมองดีขึ้น ทำให้คนที่ก้าวเข้ามารุ่นใหม่ๆ มีคนดีที่จริงใจเพิ่มมากขึ้น”
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร
สืบเนื่องจากเหตุการณ์หนุ่มวัยรุ่น 6 คน รุมทำร้ายชายพิการขายขนมปัง ย่านโชคชัย 4 จนเสียชีวิต และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดกว้างขวาง ถึงความอยุติธรรมทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น อันสร้างความหวาดหวั่นแก่ประจักษ์พยาน เกรงจะถูกทำร้าย หากให้การ!
แต่มีชายผู้หนึ่งซึ่งดูคล้ายไม่หวาดหวั่น เกรงกลัวภยันตรายใด เขาอาจแปลกหน้าสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ในแวดวงนักว่าความตามกฎหมาย เขาผู้นี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ผ่านฉายานามน่าเกรงขาม ด้วยเหตุผลที่ไม่ครั่นคร้ามงอมือให้กับใคร... “ทนายกระดูกเหล็ก” หรือ “แจ๊กผู้อาสาฉีกหน้ากากยักษ์ขี้ฉ้อ”
“อนันต์ชัย ไชยเดช” คือใครคนนั้นที่เรากำลังกล่าวถึง ท่ามกลางเสียงอื้ออึงเซ็งแซ่จากกระแสของผู้คนที่ชื่นชมและเรียกร้องอยากเห็นความเป็นธรรม
จากเหตุการณ์ในวัยเยาว์ที่ได้เห็นความยุติธรรมถูกฉีกทึ้งไปต่อหน้า ทำให้เด็กน้อยจากจังหวัดสงขลาที่ฝันใฝ่ในด้านการประพันธ์ หันเหชีวิต ปรับจูนเข็มทิศเพื่อพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ร่ำเรียนกฎหมาย ก่อนจบออกมาทำงานว่าความในฐานะทนายตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี จนปัจจุบัน ผ่านโมงยามวิกฤตหน้าสิ่วหน้าขวานในการยืนประจันหน้า รักษาตัวบทกฎหมาย และความเป็นธรรม...
กำเนิด “แจ๊กผู้อาสาฉีกหน้ากากยักษ์ขี้ฉ้อ”
เพราะแค้นใจในความอยุติธรรม
“ผมเป็นคนอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ชอบเขียนบทประพันธ์ เขียนนวนิยาย เขียนกาพย์ ฉันท์ โคลง กลอน มาตั้งแต่เด็ก นิสัยออกแนวโรแมนติก มีความฝันในตอนนั้นอยากจะเป็นนักนิเทศศาสตร์ ไม่ได้บู๊หรือดุดัน”
ทนายชื่อดังเล่าถึงชีวิตและความคิดความฝันในวัยเยาว์ ก่อนการโดนโกงความเป็นธรรม จะเป็นปัจจัยชักนำให้ก้าวสู่เส้นทางทนายผู้ดุดัน จนใครๆ ต่างก็กล่าวขวัญว่า "ถ้าคดีติดมือเขาแล้วไม่รอด ต่อให้เป็นลูกนายกฯ ก็ไม่กลัว"
“เหตุที่ทำให้มาเป็นทนาย เพราะช่วงที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย คุณแม่ท่านโดนโกงที่ดิน 100 กว่าไร่ ก็มีการฟ้องร้องคดีกันที่ศาล แล้วแพ้...เนื่องจากทนายกินทั้งสองฝ่าย”
เหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลให้เด็กที่อ่อนนุ่มช่างจินตนาการ แปรเปลี่ยนเป็นมุ่งมองหาความเป็นธรรม เดินทางมาเรียนทนายความด้วยความหวังจะสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น
“มาเรียนทั้งๆ ที่ไม่ชอบ ตอนนั้นพอเรียนจบมัธยมก็ขึ้นมาเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2523 ใช้ระยะเวลา 3 ปีครึ่งจบ รุ่นที่ 10 แล้วก็ไปเรียนต่อเนติบัณทิตไทย (นบท.) จากสำนักงานอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ 39 อีกปีครึ่ง
“แล้วก็เริ่มอาชีพทนายความ โดยที่ไม่ได้สอบผู้พิพากษาอัยการ ทั้งๆ ที่ถ้าสอบแล้วมีโอกาสได้เป็น จะมีทั้งเกียรติ งานที่มั่นคง ไปไหนใครก็เคารพ ท่านผู้พิพากษา ท่านอัยการ เงินเดือนก็มีกินมีใช้”
ซึ่งแตกต่างจากการเป็นทนายความ ที่คนสมัยนั้นกระทั่งสมัยนี้เองก็ตามมองไม่ดี แต่ก็เลือกเส้นทางนี้ เลือกแม้กระทั่งรู้ว่าหนทางข้างหน้า ทนายความจบใหม่ แถมมาจากบ้านนอกขอกนาอย่างเขาต้องลำบากและดิ้นรนปากกัดตีนถีบสุดชีวิต
“เพราะตั้งใจตั้งแต่แรกตอนที่เรียนว่าจะเป็นทนาย และจะเป็นทนายให้ดีที่สุด ตอนนั้นก็ลำบาก เพราะสมัยก่อน อย่างแรกเลย เวลาไปสมัครงาน เขาไม่ค่อยรับ เราเด็กบ้านนอก เป็นทนายจบรามคำแหง ไปหาสมัครสำนักงานไหนเขาก็ไม่เอา อย่างที่สอง เป็นทนายความจบใหม่ หรือที่เขาเรียกกันว่า “ทนายหน้าอ่อน” ค่าว่าจ้างก็ไม่เยอะ คดีดังๆ ใหญ่ๆ ก็ไม่ถึงเรา
“ก็จะมีแต่คดีเล็กๆ อย่างคดีเช็ค คดีจัดการมรดก ตกเดือนละคดี มันไม่ได้จบแล้วเงินดี มีความมั่นคง ค่าว่าความ มากสุดก็หลักหมื่น แตกต่างจากทนายที่มีอายุการว่าความนานๆ สมมติ 20 ปี เขาได้เงินหลักแสน เราก็ไส้แห้ง ณ ตอนนั้น ทำสำนักงานที่โน่นที่นั่นที เพราะเรื่องค่าการดำรงชีวิต”
ทนายชื่อดังเผยด้วยรอยยิ้ม เพราะแม้จะต้องพบเจอความยากลำบาก แต่ก็ยังนับเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ทำให้ได้เรียนรู้และฝึกปรือ ได้วิชาดีๆ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
“คือก็ถือเป็นโชคดี เพราะทำให้เราได้มีโอกาสฝึกหลายสำนักงาน ทั้งทนายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ทนายสันติภาพ คล้อยพัสสุวรรณ ทนายศุภผล อมรรัตน์ และอีกราวๆ 3-4 คน ทำให้เราเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน และความชำนาญของแต่ละท่านทางด้านกฎหมายแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อาจารย์บางคนเก่งแพ่ง บางคนเก่งอาญา บางคนเก่งกฎหมายพิเศษ ฉะนั้น การที่เราเรียนจากหลายๆ สำนัก ทำให้เราได้กำไรเกี่ยวกับเรื่องประสบการณ์ ทำให้เรามีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายพอสมควร
“ก็ศึกษาอยู่กับอาจารย์เหล่านั้นประมาณ 6 ปี ช่วงปี 2534 ก็เปิดสำนักงานแรกที่สายใต้ใหม่ ที่คลองบางกอกน้อย ใช้ชื่อ “สำนักงานกฎหมายไชยเดช” แต่ไม่ใช่ของเรา เป็นของอาจารย์สุภาพล อมรรัตน์ เปิดราวๆ 5 ปี แต่คดีใหญ่ๆ เราก็ยังไม่ได้ทำ ก็มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเลี้ยงปากท้องเรา จึงตัดสินใจออกมาตั้งสำนักงานของตัวเอง วันที่ตัดสินใจมาทำเอง ก็คิดว่าเราจะอยู่อย่างไร อยู่ได้หรือเปล่า เพราะลูกความก็ไม่มี พูดง่ายๆ ว่าเสี่ยง ไปตายเอาดาบหน้า”
ท่ามกลางความถูกต้องที่ยังดำรงไว้ ในขณะที่เงินตราก็สำคัญไม่น้อยและสามารถโน้มน้าวใจให้เปลี่ยนแปลงได้ ทว่าสิ่งเดียวและคติเดียวที่ยึดมั่นให้สำนักงานทนายความกฎหมาย อนันตชัย ไชยเดช (ชื่อเดิม) ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัว ในปี 2539 จนกลายเป็นที่โจษขานพูดถึง คือคดีปลอมแปลงใบหุ้นของธนาคารทหารไทย (มหาชน) จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2544
นั่นก็คือ "ทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะไม่ถูกใจ”
“เราต้องอย่าเห็นว่าเงินเป็นใหญ่ แต่เห็นเรื่องของหน้าที่ของเราเกี่ยวกับวิชาชีพ จรรยาบรรณเป็นใหญ่ คือหัวใจสำคัญของการเป็นทนาย ความซื่อสัตย์สุจริต เราต้องมีหลักของการเป็นทนายความ เราอย่ากินสองฝ่าย ถ้าเราอด เราอย่าอดอย่างหมา เราต้องอดอย่างเสือ เสือย่อมไม่กินเนื้อเสือ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นอย่างไรก็ตาม จะมีความจำเป็นในชีวิต เรื่องเงิน ไม่ว่าคนจะจ้างเราอย่างไรให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่เอา เราต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง ถึงแม้จะไม่ถูกใจใครก็ตาม ก็ไม่เป็นไร
“ถึงแม้ว่าจะกลัว ยอมรับว่าตอนแรกเราก็กลัว เพราะตอนนั้น ดร.วีรศักดิ์ อาภารักษ์ ฟ้อง ดร.ทนง พิทยะ กับพวก ซึ่งขณะนั้น ดร.ทนง ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พอฟ้องเสร็จในคดีนี้ เหตุที่มันดังก็เพราะว่า ดร.วีรศักดิ์ ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์หัวเกรียนมาทำร้ายก่อนวันขึ้นศาลเพียงวันเดียว เลยไปร้องความเป็นธรรมกับ ผบ.ตร.ในสมัยนั้น
“แต่เราก็นึกถึงตอนที่เราเคยโดนกระทำจากความไม่ยุติธรรมด้วย ไม่อย่างนั้นเราก็เหมือนกับคนคนนั้นที่ทำให้เรา ทนายจึงมักถูกมองว่าเป็นคนขี้โกง คนชั่ว คนเลว แต่สำหรับเรา เรามีอุดมการณ์ เรามีอุดมคติมาแต่ไหนแต่ไร ดังนั้น เมื่อเขาเล็งเห็นความสามารถเรา เขาให้เราทำ เราก็ต้องทำ เราก็รู้จากข่าว จากการบอกเล่า ว่ามีทนายหลายคนต้องเสียชีวิต โดนยิงตาย แต่เพราะอาชีพเราต้องรักษาความยุติธรรม เราก็ทำ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะไม่ถูกใจ”
นั่นนับเป็นคดีแรกที่แจ้งเกิดให้กับทนายผู้นี้ ถึงขั้นได้รับฉายาว่า “แจ๊กผู้อาสาฉีกหน้ากากยักษ์ขี้ฉ้อ” จากหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2544 และนับตั้งแต่นั้นมา การว่าความที่ดุดันชนิดบู๊ล้างผลาญ กัดไม่ปล่อย ไม่กลัวอิทธิพล ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี จนถึงวันนี้ หลากหลายคดีต่อคดีดังอันกินพื้นที่หน้าหนึ่งของกระดาษหนังสือพิมพ์ ต่างเข้ามาพาดชื่อ “อนันตชัย ไชยเดช” ที่มีความหมายว่า ชัยชนะไม่มีที่สิ้นสุด ร้องเรียนความเป็นธรรมทุกประเภท ไม่ว่าอาญาเอาผิด หรือแพ่งพาณิชย์เรียกค่าเสียหาย
ปี พ.ศ.2544 เป็นทนายความให้กับกลุ่มผู้ค้าหูฉลามย่านเยาวราช ฟ้องร้องดำเนินคดีกับองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่านานาชาติ (ไวด์เอด) จนปรากกฎภาพข่าวโด่งดังไปทั่วโลก
ปี พ.ศ.2547 เป็นทนายความให้กับนายวีระ ลิมปะพันธ์ นายกสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรรมการของสมาคมฯ ที่กล่าวหาว่ายักยอกทรัพย์
ปี พ.ศ. 2548-2549 เป็นทนายความให้นางสาวชุติมา นัยนา (เอ้) อดีตนางสาวไทยและดารา นักแสดง ฟ้องร้องดำเนินคดีกับนิตยสารกอซซิปสตาร์ที่กล่าวหาว่านางสาวชุติมา นัยนา เป็นแม่เล้า
ปี พ.ศ. 2549 เป็นทนายความให้กับนางสาวสกาวใจ พูลสวัสดิ์ (อ๋อม) ดารา นักแสดง ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัท เอ็นบีดี เฮลท์แคร์ จำกัด ในข้อหาละเมิด หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีที่บริษัทแอบอ้างว่านางสาวสกาวใจ เป็นตัวแทนงานโฆษณาของบริษัท
จนถูกข่มขู่และโดนประทุษร้าย ในคดีระหว่างปี พ.ศ. 2549-2555 เป็นทนายความให้กับพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจปราบปรามผู้มีอิทธิพลเกี่ยวกับสถานบริการและแหล่งอบายมุข ฟ้องร้องดำเนินคดีกับ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) และนายไพรจิตร ธรรมโรจน์พินิจ (ปอ ประตูน้ำ) ฯลฯ ซึ่งภายในปี พ.ศ. 2551 หลังมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้มีอิทธิพล วันที่ 3 เมษายน จึงถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลใช้มีดสปาร์ตาฟันศีรษะที่บริเวณศาลอาญา อันเป็นผลมาจากการว่าความและดำเนินคดีในชั้นศาลโดยไม่เกรงกลัวต่อผู้มีอิทธิพล ซึ่งปรากฏภาพข่าวตามสื่อมวลชนทุกแขนง จนหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับลงวันที่ 23 เมษายน 2551 ได้ให้คำชมเชยเป็นฉายาว่า “ทนายกระดูกเหล็ก”
“ทนายกระดูกเหล็ก” ไม่กลัวเกรงภัยพาล
เพราะเราเป็นทนายชน ไม่ใช่ทนายถอย
“ถ้าเราเป็นทนายความแล้วเรากลัวซะแล้ว ลูกความก็ตายหมด เราต้องอยู่ข้างหน้า เราต้องคุ้มครองลูกความเราที่อยู่ข้างหลัง เรากลัวไม่ได้ โดยอาชีพเรากลัวไม่ได้เลย ถ้าเรากลัว ใครจะมาจ้าง แล้วลูกความจะไปทางไหน
“โหย! ทนายขี้ขลาดฉิบหายใช่ไหม ทนายมันต้องเอา ต้องถึงลูกถึงคน”
ทนายความรุ่นใหญ่กล่าวถึงเหตุผลที่แม้จะเคยผ่านการข่มขู่มานับไม่ถ้วน เฉียดความเป็นความตายด้วยบาดแผลที่เย็บกว่า 8 เข็มบริเวณศีรษะและยังส่งผลให้นิ้วก้อยของมือข้างซ้ายพิการมา ณ เวลานี้ กระนั้นก็ยังคงว่าความและสู้คดีด้วยอุดมการณ์ความมุ่งมั่นเฉกเช่นเดิม
“คือมันไม่มีความกลัวอยู่ในสายเลือด เราทนายชน ไม่ใช่ทนายถอย ชนลูกเดียว ไม่กลัวใคร ถึงแม้จะเป็นอย่างไร เราก็ไม่กลัว สโลแกนของเรา ถ้าใครเป็นลูกความเรา ลูกความจะต้องอยู่ข้างหลัง เราจะต้องอยู่ทัพหน้า เพราะฉะนั้นมีอะไรเกิดขึ้นเราต้องรับก่อน แล้วก็ไม่กินสองฝ่าย ไม่เป็นทนายสองหน้า เราจะต้องคุ้มครองลูกความให้ได้ นี่คือสโลแกนของเรา เพราะฉะนั้น เราก็จะสู้กันแบบเต็มตัว เมื่อก่อน เวลาว่าความ จะทะเลาะกันในศาลประจำ จนกระทั่งศาลต้องห้ามทัพ
“แม้ว่าหลังจากที่ถูกทำร้ายร่างกายแล้ว เราก็รู้สึกว่าการที่เราเป็นทนายฮาร์ดคอร์ หรือเป็นทนายที่ลุยแล้วไม่ถ่อย รู้สึกว่าเราจะทำให้ครอบครัวเดือดร้อน เพราะว่าเราเป็นเสาหลักของบ้าน ถ้าเราตายไป แล้วใครจะดูแลลูกเรา บังเอิญว่าลูกเราป่วยด้วย ลูกสาวเป็นเบาหวาน ฉีดยาตลอดชีวิตวันละ 3 เข็ม ส่วนลูกชายเป็นออทิสติก เพราะฉะนั้น เขาสองคนยังเป็นเด็ก อายุคนหนึ่งก็ 18 อีกคน 16 ถ้าเราเป็นอะไรไปไม่ใช่เราตายคนเดียว ลูกเรา ครอบครัวเราก็ตายด้วย เราจึงหันมาดูตัวเองว่าการที่เราเป็นทนายฮาร์ดคอร์แล้วดุดัน และเป็นคนที่ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร มันสมควรที่จะทำต่อไหม เป็นต่อไหม
“เราไปหาคำตอบให้ตัวเอง บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ก็ไปบวช ไปปฏิบัติธรรม บวชอยู่ในถ้ำ ที่วัดพระโพธิสัตว์ จ.สระบุรี เดินจงกรม นั่งสมาธิ ตื่นตั้งแต่ตี 1 เดิน 3 ชั่วโมง นั่ง 3 ชั่วโมง สลับกระทั่งถึง 6 โมงเย็นของทุกวัน หนึ่งทุ่มจำวัด ทำอย่างนี้กระทั่งเรารู้สัจธรรมของชีวิตว่า ชีวิตเรานี่ก็ต้องดูคนที่อยู่ข้างหลังด้วย ไม่ใช่ว่าเรามีตัวเราคนเดียว เราก็เลยลดดีกรีของความห้าวลง แล้วก็เปลี่ยนชื่อใส่ตัวการันต์เป็น “อนันต์ชัย” มีความหมายว่าเจริญ ไม่มีที่สิ้นสุด
“แต่เวลาว่าความก็ยังเหมือนเดิม เพียงสุภาพขึ้นแล้วก็นุ่มนวลขึ้น”
เปลี่ยนจากแข็งให้เป็นอ่อน จากชนแหลก ไม่กลัว ไม่แคร์ ไม่สนหน้าอินหน้าพรหม มาว่าด้วยวาทะที่คมบาด ละเอียด และรอบคอบมากขึ้น ให้คู่กรณีเกรงกลัว
“คือเราไม่ทำตัวเองให้เป็นตัวความซะเอง ข้าคือจำเลย ข้าคือโจทย์ เราแค่ตัวแทน ฉะนั้น หน้าที่ก็คือหน้าที่ ไม่เอาตัวความมาเป็นตัวเรา ถ้าเอามา ผลก็จะออกมาอย่างที่เราโดนทำร้าย มันก็เป็นเหรียญสองด้าน อาชีพทนายเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว สมมติเราว่าความให้จำเลย จำเลยเกลียดโจทย์ เราจะไปเกลียดด้วย ก็ไม่ใช่ ทำอย่างนั้นไม่ได้ แล้วฝ่ายโจทย์ตรงข้าม ถ้าเขาไม่ชอบ เราก็ต้องปล่อยเขาไป เราก็ต้องวางตัวเป็นกลาง
“การไปบวช ก็ทำให้เราได้ข้อคิดมาเยอะมาก ตอนแรกก็มีหลงๆ ตอนที่เป็นทนายให้ท่านเสรี เราดังมาก หลงตัวเองมาก คิดว่าเราแน่ เราเก่ง เราสุดยอด เราก็เหิมเกริม หลงในลาภยศ ขื่อเสียง แต่จริงๆ คืออาชีพทนายความเป็นอาชีพที่ตั้งอยู่บนความขัดแย้งของคนสองฝ่าย มีคนชอบก็มีคนเกลียด เราตั้งอยู่กับความขัดแย้งของเขาสองคน ฉะนั้น ลำบาก เราก็ต้องวางตัวให้ดี”
ในระหว่างที่เจ้าตัวเว้นวรรค เมื่อถามถึงการอาฆาตมาดร้ายถึงผู้ที่เคยกระทำและข่มขู่ว่าไม่หลงเหลือแล้วในวันนี้ บนชั้นจัดวางเกียรติบัตร มีรูปถ่ายการรับรางวัลพ่อตัวอย่าง ปี พ.ศ. 2554 รางวัลพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ พลอากาศเอกกำธร สินธวานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ที่บ่งบอกยืนยันปณิธานความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ที่ต้องแบ่งระหว่างหน้าที่พ่อหัวหน้าครอบครัวและผู้ผดุงความเป็นธรรมของทนายรุ่นใหญ่ผู้นี้อย่างชัดเจน
“เขาก็ถามเราว่าเราเป็นอย่างนี้ แล้วเราเลี้ยงลูกอย่างไร เราก็บอกไม่ถูก อาชีพทนายมันไม่มีความสุขหรอก”
ทนายที่เป็นผู้พิทักษ์ทั้งสองฐานะกล่าว ก่อนจะว่าต่อ
“แต่ในส่วนของการเป็นทนายความมันเลิกอาชีพนี้ไม่ได้หรอก แม้แต่ตอนแรกก็ไม่ได้มาจากความชอบ แต่เป็นเพราะเราอยากจะทวงคืนความยุติธรรม แต่สุดท้ายมันก็แปรเปลี่ยนให้เราเป็นอีกแบบ เรามาเป็นแล้วเราเห็นว่า ความไม่เป็นธรรมเยอะมาก ความยุติธรรมแทบไม่มี ถึงมีก็มีน้อย ความยุติธรรมอยู่ที่ว่าคุณเป็นคนของใครอย่างนั้นหรือเปล่าในสังคมไทย
“หรือถ้าคุณมีเงิน มีพวก คุณก็อยู่ในสังคมนี้ได้อย่างสบายบรื๋อ แต่ถ้าคุณไม่มีเงิน ไม่มีพวก ก็เสร็จ
“ก็ภูมิใจที่เหตุการณ์ล่าสุดครั้งนี้ ทำให้คนมองอาชีพทนายในทางที่ดีขึ้น จากที่มองทนายว่าไม่ดีอย่างเดียว ทนายทำผิดให้เป็นถูก แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด มันเป็นเรื่องของแต่ละคนว่ามีจิตสำนึกหรือไม่ ทนายโกงลูกความ ทนายเอาเปรียบ ทนายรับเงินจากฝ่ายตรงข้ามแล้วว่าความให้อ่อน ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่กระแสทนายดีขึ้นตามนิยามความหมาย
“ฉะนั้น นอกจากเราจะว่าความเพื่อเอามาเลี้ยงร่างกาย เลี้ยงครอบครัวแล้ว ส่วนหนึ่งเราต้องช่วยคนที่เขาลำบากด้วย ใครที่ไม่มีเงิน ใครที่ทุกข์ เราช่วยว่าความให้ฟรี ก็มีพอสมควร เพราะคนเขาขาดที่พึ่งแล้วเขามองว่าเราทนายทำให้แต่คนรวยๆ เขาคิดอย่างนั้น ถ้าไม่มีเงินก็ไม่ทำให้ ในสายตาของคน เราจึงต้องนอกจากเอาวิชาชีพมาเลี้ยงตัว เราก็ต้องช่วยเหลือสังคมด้วย
“เพราะอาชีพทนาย อย่าลืมว่าก็คือการดำรงรักษาความยุติธรรม”
มีคนรัก ย่อมมีคนเกลียด
แต่คนกล้า ย่อมยังต้องมี
“คือถ้าไม่มีทนายแบบเราเสียบ้าง ความเป็นธรรมมันก็ไม่มี ไม่ใช่ว่าเราดี เก่ง ไม่ใช่ แต่ว่ามันควรจะมีบ้าง”
ทนายชื่อดังบอกเล่าถึงทิศทางในอนาคตของอาชีพทนาย ที่แม้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่กระนั้น สิ่งสำคัญในความคิดของเขา คือทุกคนต้องลุกขึ้นมายืนอยู่บนฐานความยุติธรรม
“ทนายก็คือคน มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ส่วนหนึ่งเนื่องจากเศรษฐกิจด้วย แต่ที่สำคัญอยู่ที่สันดาน ไม่ใช่สันดอนนะ นิสัยยังเปลี่ยนกันได้ แต่สันดานเปลี่ยนไปไม่ได้ คุณรู้สำนึกผิด ก็รู้จักขอโทษอภัยได้ แต่สันดานคนมันอยู่ในใจ ลึก มันขุดไม่ได้ มันไม่สามารถให้อภัยได้ มันก็ติดตัวไปตลอดชีวิต
“แต่ถ้าคุณทำในสิ่งที่ถูกต้อง อดีตเป็นอย่างไร อดีตดี อนาคตก็ดี ตัวชี้วัดอนาคตก็จะเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ถูกใจ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามคุณทำเรื่องถูกใจ ไม่ถูกต้อง อดีตมันจะทำลายอนาคตของคุณอยู่แล้ว อาชีพทนายความก็ขึ้นอยู่กับแต่ละตัวบุคคล
“ทนาย ใครก็เป็นได้ แต่จะเป็นให้ดีและมีความสามารถ อยู่ที่เฉพาะบุคคล เพราะเป็นอาชีพที่มันต้องละเว้นจากวจีกรรม 4 พูดโกหก เพ้อเจ้อ ส่อเสียด คำหยาบ มีครบ คือถ้าไม่หลอกล่อเค้นความจริง ก็ไม่ชนะ ถ้าไม่ส่อเสียดเวลาว่าความให้พยานไขว้เขวบอกความจริงก็เหมือนกัน บางทีก็ต้องขู่บ้าง ใช้คำหยาบบ้าง มันต้องใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการว่าความ มันเป็นอาชีพที่ใช้สมองอย่างเดียว แถมสมองได้สองด้านเลย โกงก็ได้ ไม่โกงก็ได้”
“ทนายไม่น้อยที่มีคนเกลียด มากกว่าคนรัก คนจะรักอยู่ที่เรา”
คงจะจริงดังว่า เพราะตลอดระยะเวลากว่าครึ่งชีวิตที่ว่าความ แต่ละยุคสมัยชื่อเสียงของทนายกระดูกเหล็กก็ยังคงไม่ถูกหลงและลืม เสื่อมสลายตามกาลเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ถึงสื่อโลกออนไลน์ คนรุ่นใหม่ยังกล่าวขวัญถึง แถมยังปลุกประกายกระแสด้านบวกให้กับสังคมในเรื่องของความถูกต้องที่ยังคงมีอยู่จริงบนผืนแผ่นดินประเทศไทย
“ก็ยังย้ำคำเดิม เราทำอย่างไร อนาคตมันก็มาอย่างนั้น อดีตสร้างอนาคตของเราเอง อดีตที่เราสร้างมา ถ้าอดีตเราดี อนาคตเราก็จะดี เราเป็นทนาย มีคนเกลียดอยู่แล้ว แต่คนรักจะเยอะกว่าหรือเปล่าอยู่ที่เรา ก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่ล่าสุด มีคนที่กล่าวถึงการทำงานของเรา เขาไม่ดูถูก ที่บอกไม่ใช่เพราะว่าอยากดัง ไม่ต้องมีป้ายไฟ (ยิ้ม) แต่เราต้องมีใครสักคนที่ลุกขึ้นมาบ้าง ขึ้นมาเป็นต้นแบบตามนิยามความหมายอาชีพทนายความ
“เคยเกือบตายแต่ไม่ตาย ก็ถือว่าคุ้มที่ทำให้ความถูกต้องยังคงเกิดขึ้นอยู่ในบ้านเมืองเรา และเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทำให้อาชีพวงการทนายความจะถูกมองดีขึ้น ทำให้คนที่ก้าวเข้ามารุ่นใหม่ๆ มีคนดีที่จริงใจเพิ่มมากขึ้น”
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร