วานนี้ (8 พ.ค.) เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องทะเลไทย และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพ ปลานกแก้วที่ถูกวางแผงในร้านอาหาร (ภาพหาดราไวย์ เกาะภูเก็ต พ.ค.59) พร้อมระบุข้อความว่า
"ช่วยแนวปะการัง อย่าซื้อกินปลานกแก้ว ปลากนกแก้วช่วยควบคุมปริมาณสาหร่าย สำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะช่วงที่ปะการังอาจจะฟอกขาวเพราะโลกร้อน" เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุ
เพื่อนธรณ์หลายคนส่งภาพปลานกแก้วจากที่ต่างๆ มาให้ดู ผมจึงขอเน้นย้ำอีกครั้ง
1. ปลานกแก้วสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศแนวปะการัง ทั้งเป็นผู้ควบคุมปริมาณสาหร่าย เพิ่มทรายให้แนวปะการัง ฯลฯ
2. ปริมาณปลานกแก้วลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะแนวปะการังฝั่งอันดามัน เนื่องจากถูกจับมาขาย
3. เราเคยร่วมกันรณรงค์ จนห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ร่วมมือกันลงนามเลิกจำหน่ายปลานกแก้วในห้างเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีขายตามตลาด เช่น ตลาดไท หาดราไวย์ (มีขายเป็นประจำ)
4. กฎหมายคุ้มครองเฉพาะการห้ามจับในแนวปะการังและในเขตอุทยาน แต่ไม่สามารถเอาผิดหากมีการจำหน่าย และคงเป็นไปได้ยากที่จะผลักดันให้ปลานกแก้วเป็นสัตว์คุ้มครอง
5. แนวปะการังกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อปะการังฟอกขาว หากไม่มีปลานกแก้ว โอกาสฟื้นตัวเป็นไปได้ยาก
จึงขอให้พวกเราคนรักทะเลร่วมกัน อย่าซื้ออย่ากินปลานกแก้วโดยเด็ดขาด แจ้งเจ้าหน้าที่หากมีการจับในเขตอุทยานหรือแนวปะการังภูเก็ต กระบี่ พังงา ฯลฯ
ช่วยกันเผยแพร่นะครับ
สำหรับ ปลานกแก้ว หรือ Parrotfish เป็นปลาทะเลกระดูกแข็งในวงศ์ Scaridae ในอันดับปลากะพง (Perciformes) เป็นปลาที่มีขนาดโตเต็มที่มีประมาณ 30-70 เซนติเมตร มีลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับปลาในวงศ์ปลานกขุนทอง (Labridae) อาศัยอยู่ตามแนวปะการังเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในน่านน้ำไทยพบได้ในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน พบมากกว่า 20 ชนิด เป็นปลาที่มีฟันแหลมคมคล้ายๆ จะงอยของนกแก้วอันเป็นที่มาของชื่อเรียก ทั้งนี้ปลานกแก้วเป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม คนจึงนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม รวมถึงรับประทานเป็นอาหาร