xs
xsm
sm
md
lg

“ข้อควรคิดถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป” โดย สนธิ ลิ้มทองกุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เรียบเรียงจากการบรรยายพิเศษของ สนธิ ลิ้มทองกุล ที่มหาวิทยาลัยรังสิต

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้บรรยายพิเศษในงานประชุมบุคลากรของมหาวิทยาลัยรังสิต ถึงทศวรรษที่ 4 ของมหาวิทยาลัย กับการปฏิรูปการเรียนการสอน ทั้งนี้ คุณสนธิ ได้ทำการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ข้อควรคิดถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป” อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่คุณสนธิพูดในวันนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พึงรับฟัง และทำความเข้าใจกับเรื่องราวเพียงสำหรับนักศึกษาและคณาจารย์ของสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต แต่เพียงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องราวที่สังคมไทยที่กำลังต้องการที่จะก้าวข้ามปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัวพลเมืองทุกคนในขณะนี้ น่าจะรับฟังและตระหนักคิดไปพร้อม ๆ กัน

คุณสนธิ กล่าวเกริ่นนำด้วยคำถามที่ว่า “เคยสงสัยกันว่า ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?” “ซึ่งปัญหาที่เขาพูดถึงในจุดนี้เป็นคำถามที่นับวันแต่ละคนในสังคมไทยจะเฝ้าถามตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ และแน่นอนว่า คำถามดังกล่าวนั้นเคียงคู่มากับการยอมรับถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนวัฒนธรรม ซึ่งนับวันดูเหมือนจะยังไม่มีกระบวนการแก้ปัญหาอย่างถูกจุด

คำถามดังกล่าวที่ว่ามาข้างต้น ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่เหมือนจะตอบง่าย แต่จริง ๆ แล้วยังไม่มีใครที่จะสามารถเรียงร้อยเรื่องราวทั้งหมดได้ในภาพรวม ตลอดจนอรรถาธิบายแบบตรงเป้าตรงประเด็น “สิ่งที่น่าสนใจที่คุณสนธิได้ตั้งหลักคิดขึ้นมาสั้น ๆ แต่ได้ใจความและถือเป็นหลักสัจจะที่สอดคล้องกับสังคมไทยเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ กระบวนการเอาหลักธรรมมาหาคำตอบ

ทั้งนี้ คุณสนธิ ได้เริ่มต้นในการบรรยาย ด้วยการระบุถึงเรื่องว่าตนเองนั้นเป็นลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัว ที่ได้รับหลักคิดในการค้นหาคำตอบในแต่ละเรื่องราวจากอาจารย์ผู้เป็นอริยะสงฆ์ โดยให้ยึดหลักสองประการด้วยกัน หนึ่งคือ ต้องเอาธรรมนำหน้า และสอง ต้องตั้งพุทโธอยู่ตลอดเวลา

คุณสนธิ กล่าวว่า หลวงตากับตนตั้งแต่ครั้งที่โดนลอบสังหารด้วยลูกปืน 200 นัด ในวันที่ 17 เมษายน และได้มีชีวิตรอดมา เหมือนเกิดใหม่ หลวงตาได้บอกว่า เมื่อเริ่มชีวิตใหม่ ให้คำนึงเสมอว่า ชีวิตคนเรานั้นต้องยึดหลักธรรม และต้องมีพุทโธทุกขณะทุกลมหายใจ วันนี้ตนจึงจะพูดเรื่องประเทศไทยโดยใช้ธรรมมาพูด

เรื่องเอาธรรมนำหน้านั้น คุณสนธิขยายความถึงเรื่องนี้ด้วยประโยคสั้น ๆ แต่เข้าใจได้ง่ายว่า เหตุที่ต้องเอาธรรมนำหน้า เพราะไม่มีอะไรเอาชนะธรรมได้ ธรรมคือความถูกต้อง ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่แก้ไม่ได้ด้วยธรรม ส่วนพุทโธนั้น หลวงตามหาบัว บอกว่า ชีวิตต้องมีพุทโธทุกขณะทุกลมหายใจ นั่นก็หมายถึงว่า ในการพิจารณาปัญหาอะไรนั้น ยึดหลักความถูกต้องด้วยหลักธรรม และพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ด้วยสติและความรอบคอบนั่นเอง

การตอบคำถามสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น คุณสนธิ กล่าวถึงการหยิบยกสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” และ “อิทัปปัจจยตา” ขึ้นมา ทั้งนี้ ปฏิจจสมุปบาท เป็นขั้นตอนของการเกิด - มีอยู่ - ดับไป เป็นเรื่องของการมีเหตุมีปัจจัยวนเวียนกันเป็นขั้นตอน สังคมไทยปัจจุบันนั้น มองกันแต่ “Real-Time” นั่นก็คือ สนใจแต่เฉพาะ “ณ ขณะในปัจจุบัน” และก็ตัดสินใจไปตามนั้น แต่จริง ๆ แล้ว “ปฏิจจสมุปบาท” นั้นเป็นเรื่องของ “ห้วงเวลา” ไม่ใช่แค่ขณะใดขณะหนึ่ง และพอตัดสินใจด้วย Real-Time ก็ทำให้ละเลยที่จะดูเรื่องที่มาที่ไปว่ามันมีปัจจัยอย่างไรจึงเกิดเหตุ สำหรับการหาคำตอบอะไรบางอย่าง “ปฏิจจสมุปบาท” เป็นขั้นตอน เป็นกระบวนการ โดยที่ภาพรวมนั้น “อิทัปปัจจยตา” คือ กฎแห่งจักรวาล คือ หลักของการมีเหตุที่ส่งผลนั่นเอง เป็นเรื่องของเพราะ “มีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น”

คุณสนธิได้กล่าวถึงภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสำหรับสถานการณ์โลกในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โดยกล่าวถึง สิ่งที่เกิดขึ้น 4 ประการ ที่เรียกว่า “กติกาใหม่ของโลก” นั่นก็คือ

หนึ่ง การก้าวข้ามและการผสมผสานวัฒนธรรม
สอง ความหลากหลาย ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก
สาม เครือข่าย ซึ่งก็มีทั้งเพื่อทำประโยชน์ และหาประโยชน์
สี่ การพึ่งพากันและกัน


ทั้งนี้ คุณสนธิ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ไม่ได้นำมาจากหนังสือหรือตำราที่ไหน ไม่ได้อ้างอิงจากนักวิชาการ หรือสถาบันการศึกษาใดในประเทศไทย หรือในต่างประเทศ แต่เป็นการสังเคราะห์จากประสบการณ์อันยาวนานที่ได้มาจากการพบปะสัมผัสผู้คน การอ่านหนังสือ การวิเคราะห์วิจัย การศึกษาธรรม แล้วก็ตกผลึกเป็นองค์ความรู้ ซึ่งเมื่อนำประสบการณ์ทั้งหมดผ่านกระบวนการจนเป็นองค์ความรู้ที่เมื่อนำมาผสมผสานกับหลักธรรมแล้ว สิ่งนี้จะไม่ตกยุค หยิบยกขึ้นมาเมื่อไรก็ทันสมัยเมื่อนั้น

“สังเกตไหมว่า เดี๋ยวนี้เราเห็นอะไรบ้างในโลกนี้ ใครจะไปนึกว่าวันนี้ มหาวิทยาลัยรังสิต จะมีนักศึกษานานาชาติมาเรียนเยอะแยะไปหมด ใครจะไปนึกว่ามีคนจีนมาจากแผ่นดินใหญ่มาขโมยอาชีพคนไทยขายผัก ขายผลไม้ อยู่ที่ตลาดไท ใครจะนึกว่าเดินเข้าไปในร้านผัดไทย คนที่ผัดไทยให้เรากิน คือ คนพม่า ใครจะไปนึกว่าคนที่มาทำงานในบ้านเราเป็นไทยใหญ่ ใครจะะนึกว่าเจ้าของกิจการที่มาลงทุนในหลาย ๆ สาขา ไม่ใช่คนไทย”

คุณสนธิ กล่าวว่า เนื้อหาที่พูดมาข้างต้นนี้ ก็คือ เรื่องที่ตนพูดถึงสิ่งที่เรียกกว่า “Cross-cultural” หรือ “การก้าวข้ามและผสมผสานวัฒนธรรม” นั่นเอง นอกจากนี้ คุณสนธิ ยังกล่าวด้วยถึงเรื่องที่ตนเองจำได้ถึงสมัยเด็ก ๆ ที่ชอบไปเดินถนนคอนแวนต์ และบอกว่า ให้ลองไปดูถนนคอนแวนต์ในวันนี้ก็จะเห็นฝรั่ง เห็นแขก เห็นจีน เห็นต่างชาติเต็มไปหมด เราจะเห็นชาวอิตาเลียนมาเป็นเจ้าของอาหารร้านอิตาลี เราเห็นเชฟชาวต่างชาติจากประเทศนั้นประเทศนี้ มาเปิดกิจการโน่นกิจการนี่ในพื้นที่ประเทศไทย และอาจจะเกิดขึ้นในใจกลางของสังคมไทยอย่างแถวถนนข้าวสารที่อยู่ในเขตเมืองเก่าของเรานี่แหละ ทั้งหมดนี้ก็คือการก้าวข้ามและการผสมผสานวัฒนธรรมต่าง ๆ

สำหรับเรื่องนี้ ให้ระวังถึงประเด็นของการสร้างอิทธิพลโดยตะวันตก ผ่านการก้าวข้ามวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่เราจะต้องใส่ใจในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อำนาจในรูปแบบที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Soft Power ที่ชาติตะวันตกเพื่อต้องการที่จะสร้างอิทธิพลในเชิงครอบงำเหนือประเทศอื่นผ่านทางวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผ่านหนังฮอลลีวูด หรือผ่านเรื่องราวในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นวัฒนธรรมอาหารฟาสต์ฟูดเป็นต้น

“ยกตัวอย่างเช่น เรานึกภาพอาหารแดกด่วน แมคโดนัลด์ เคนตักกีฟรายด์ชิกเกน เบอร์เกอร์คิง วัฒนธรรมทางตะวันตกที่แทรกซึมเข้ามา จนกระทั่งเด็กของเราเดี๋ยวนี้ ให้กินขนมจีนน้ำยาปูไม่อยากกิน แต่บอกแม่ว่า หนูขอเคนตักกีฟรายด์ชิกเกนได้ไหม เด็กสมัยนี้ไม่รู้จักปลาบู่ทอง ไม่รู้จักศรีธนญชัย ไม่รู้จักตัวละครต่าง ๆ ในนิทานพื้นบ้านไทยกันแล้ว เด็กสมัยนี้รู้จักแต่เอลซ่า รู้จักแต่โอลาฟ*” (*หมายเหตุ – เป็นตัวละครในการ์ตูนฝรั่งเรื่อง Frozen)

ต่อมา เมื่อเกิดสิ่งที่เรียกว่า การก้าวข้ามและการผสมผสานวัฒนธรรมต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ความหลากหลาย” และความหลากหลายนี่เอง เป็นอะไรบางอย่างที่มันอยู่กับเรา โดยบางครั้งเราอาจไม่รู้ตัว

“สมัยผมหนุ่ม ๆ แม่ผมเปิดร้านขายกาแฟ ขายของโชวห่วยด้วย ผมยังเด็ก ๆ อยู่ เรียนอยู่อัสสัมชัญศรีราชา พอกลับมาบ้านที คนมาซื้อสบู่ ผมจำได้ สบู่มีอยู่ 4 ยี่ห้อ ลักซ์ คาเมย์ นกแก้ว สบู่กรด เดี๋ยวนี้คุณลองสั่งลูกหลานคุณดูสิ ว่า เฮ้ย ไอ้หนู เอ็งไปซื้อสบู่มาก้อนหนึ่ง มันจะตวาดแว้ดเลย ลุง...สบู่อะไร สบู่ดับกลิ่นเต่า สบู่สำหรับคนผิวมัน สบู่สำหรับคนผิวแห้ง สบู่ทำให้ผิวขาว สบู่หอม สบู่ออแกนิกส์ สบู่โน่นสบู่นี่ จำได้ไหมสมัยเราหนุ่ม ๆ โตโยต้ามีกี่รุ่น โตโยต้า มีแค่ โตโยต้าคราวน์ โตโยต้าโคโรนา และโตโยต้าโคโรลา มีอยู่แค่นี้ วันนี้ใครไล่รุ่นของโตโยต้าที่ขายในประเทศไทยให้ผมได้ ผมจะให้รางวัล มันเยอะแยะไปหมด แค่คัมรีรุ่นเดียวก็แยกย่อยไปเยอะ มีรุ่นสปอร์ต มีรุ่นไฮบริด มีรุ่นนู่นนี่ นี่แค่คัมรี่ ยังไม่นับรุ่นอื่น ๆ ของโตโยต้านะ นี่คืออะไร นี่คือ Diversity หรือ ความหลากหลาย ที่มันส่วนหนึ่งของสังคมโลกไปแล้ว”

เมื่อมีความหลากหลายแล้ว สิ่งที่ตามความหลากหลายมา ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “เครือข่าย” หรือ Networking เมื่อพูดถึงเครือข่าย ก็จะต้องบอกว่า เครือข่ายนั้นมีอยู่สองฝั่ง มีทั้งสร้างความเจริญและมีทั้งฝั่งที่ไปสู่ความเสื่อม ทั้งนี้ เมื่อเครือข่ายเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือจะเกิดในสองแนวทาง แนวทางแรกคือ เครือข่ายเพื่อทำประโยชน์ กับอีกแนวทางหนึ่งก็คือ เครือข่ายเพื่อหาประโยชน์

เครือข่ายเพื่อทำประโยชน์ อย่างเช่น เครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัย เครือข่ายหมอ หรือเครือข่ายอะไรก็ตามที่ช่วยกันพัฒนาสายงาน หรือพัฒนาความรู้ความสนใจร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ยกตัวอย่าง มีนายแพทย์คนหนึ่งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อหมอในต่างประเทศ หรือในพื้นที่อื่นติดต่อไป ถามว่า โรคแบบนี้ ผมเจอมาแบบนี้ คุณคิดว่าจะแก้อย่างไร ก็ปรึกษาหารือกันไป หรือแม้แต่เครือข่ายหมอทางอเมริกาติดต่อมาทางหมอในเมืองไทย บอกว่าที่ประเทศของเขามีคนเอเชียที่เข้ามาอาศัยป่วยขึ้นมา แล้วมีการตรวจเจอโรคแบบนี้ ผมไม่เคยเห็น คุณบอกผมหน่อยได้ไหมว่ามันเป็นอย่างไร ตัวอย่างที่ยกมานี้ คือเครือข่ายทำประโยชน์

“แต่เครือข่ายอีกฝั่ง หนึ่ง คือเครือข่ายหาประโยชน์ ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องนี้ ก็ต้องเท้าความแบบพูดจาตรงไปตรงมา ที่ต้องเอ่ยถึงกลุ่มเครือข่ายลักษณะ เช่น วปอ. หรือวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งปัจจุบันคือเครือข่ายลักษณะเช่นนี้ได้พัฒนารูปไปสู่กลุ่มเครือข่ายหาประโยชน์ดังที่กล่าวถึง”

สำหรับเรื่องนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อสมัยก่อน จุดเริ่มต้นนั้น วปอ. เป็นที่เรียนของข้าราชการ เพื่อเรียนเรื่องความมั่นคงของชาติ เรียนว่า ประวัติศาสตร์ชาติเป็นอย่างไร เรียนว่าควรจะเตรียมตัวอย่างไร แต่ต่อมาในช่วงหลัง ยุคที่โลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ที่ระบบทุนนิยมสยายปีกครอบคลุมไปทั่ว สำหรับเมืองไทยแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า อิทธิพลของทุน ได้เริ่มเข้ามาในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในยุคนั้นเอง ก็เลยมีการปรับบทบาทของกลุ่มเครือข่าย ดังเช่น วปอ. มีการเปิดหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน หรือ ปรอ. ขึ้นในปี พ.ศ. 2532 โดยเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเอกชนและเจ้าของกิจการเข้าไปเรียนด้วย กลายเป็นการสร้างเครือข่ายเชื่อมสัมพันธ์กันในหมู่ข้าราชการระดับบริหารกับนักธุรกิจขึ้นมา

“ในทุกวันนี้ เครือข่ายถูกสร้างขึ้นมาเต็มไปหมด ตลาดหลักทรัพย์ ก็สร้างหลักสูตรขึ้นมา บยส. กระบวนการยุติธรรมก็สร้างหลักสูตรขึ้นมา คนโน้นสร้างหลักสูตร คนนี้สร้างหลักสูตร เพียงเพื่อคำพูดคำเดียว คือ เพื่อให้เกิดเครือข่าย แต่เอาเข้าจริงกลับเป็นว่า หลายแห่งกลายเป็นเครือข่ายเพื่อหาประโยชน์ประมาณว่า ...เฮ้ย ไอ้นี่มันรุ่นผม เดี๋ยวผมพูดให้ ไม่มีปัญหาอะไร พรรคพวกกัน เดี๋ยวช่วย นี่คือเครือข่ายหาประโยชน์ เหมือนเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปก็มีผลอยู่ 2 ทาง เราใช้เทคโนโลยีเพื่อทำประโยชน์ กับเราใช้เทคโนโลยีเพื่อหาประโยชน์ สองทางนี้คือได้ทั้งความเจริญและความเสื่อม”

ท้ายสุด ข้อที่ 4 ก็คือ “การพึ่งพาซึ่งกันและกัน” หรือภาษาอังกฤษว่า Interdependence ทั้ง 1 2 3 และ 4 คือ การพึ่งพาซึ่งกันและกันนี้นำไปสู่กติกาโลกใหม่ขึ้นมา New Set of Rules นี้ ถ้าใช้ทำประโยชน์ ก็มีประโยชน์ แต่กลายเป็นว่า กติกาตรงนี้ ไม่ได้ถูกโครงสร้างใหญ่ทางสังคมนำไปใช้ประโยชน์ หากแต่ถูกคนเฉพาะกลุ่ม คือ กลุ่มทุน ไม่ว่าจะเป็น ทุนจีน ทุนอินเดีย ทุนฝรั่ง ทุนไทย แต่ละกลุ่มเอากติกาตรงนี้มาใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเฉพาะกลุ่มของตัวเอง

“แล้วคนที่เสริมสร้างความมั่งคั่งให้กับกลุ่มพวกนี้คือใครหล่ะ ใคร นั่งอยู่นี่ หน้าสลอนเลย เป็นหนี้เป็นสินเขาไปหมดเลย ใช่ไหม เอ้า ถึงเวลาแล้ว ชอปปิ้ง ถึงเวลาแล้ว ซื้อของ 15,000 บาท เอา 15,000 บาท ไปลดภาษีได้ คนได้ก็คือนายทุนทั้งนั้น คนซวยก็คือคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ถูกหลอกให้ไปจับจ่าย เฮ้ย มันลดภาษีได้ นี่คือลักษณะเครือข่ายเพื่อหาประโยชน์” คุณสนธิ กล่าวตบท้ายว่า สิ่งที่พูดมาข้างต้นนี้ เกิดขึ้นในประเทศไทยมาทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

“เมื่อกี้ผมเจออาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผมอยากจะบอกกับอาจารย์เอนก และใคร ๆ ในคณะรัฐศาสตร์ว่า ให้ไปดูดี ๆ รัฐธรรมนูญทุกรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมา รัฐบาลทุกรัฐบาลที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่เขาเรียกสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือรัฐบาลชุดประชาธิปไตยเต็มใบ สมัย พล.อ.ชาติชาย ไล่มาเรื่อย หรือยุคของ รสช. ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ยุคไหนก็ตาม หรือจนมาถึงยุคของ คสช. ที่กำลังร่างอยู่นี้ ไม่ว่า นายกฯ จะมาอย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญจะสร้างโดยคุณมีชัย จะร่างโดยคุณบวรศักดิ์ จะร่างโดยคุณวิษณุ เครืองาม หรือร่างโดยใคร สำหรับผมแล้วไม่มีความหมาย เพราะนั่นคือกรอบที่สร้างเอาไว้ ซึ่งกรอบเปลี่ยนไปเรื่อย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหน ชุด พล.อ.ชาติชาย รัฐบาลชุด พล.อ.ชวลิต รัฐบาลชุด พล.อ.เปรม รัฐบาลชุดเผด็จการ และรัฐบาลชุด คสช. จะอยู่ต่ออีก 5 ปี สำหรับผมแล้วไม่มีความหมาย” และ คุณสนธิ ก็กล่าวต่อไปว่า ที่พูดมาเช่นนั้นว่าไม่ว่ายุคไหนรัฐบาลไหนสำหรับตัวเขาไม่มีความหมาย นั่นก็เพราะว่าสาระในกรอบนั้นคือ การถูกผูกขาดโดยทุน”

มากล่าวถึง “ทุนที่ผูกขาด” ก็คือ การพูดถึงสิ่งที่มีบทบาทกำหนดทิศทางเดินของประเทศไทยในอนาคตข้างหน้า กำหนดอยู่ ณ ปัจจุบัน และกำหนดมาแล้วในอดีต คุณสนธิ ย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีวันเปลี่ยน

“คนที่ขึ้นมาเป็นนายกฯ คนที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ชอบพูดอยู่คล้าย ๆ กันว่า ผมทำงานเพื่อคนไทย 60 ล้านคน แต่ข้อเท็จจริงที่อยู่เบื้องหลัง ก็คือ การทำงานตามนโยบายของทุน”

คุณสนธิ อธิบายโดยหยิบยกเหตุการณ์เกี่ยวกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงการเกษตรที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ว่า ถ้าไม่ใช่นโยบายของทุน แล้วจะมีการเผาป่าบนภูเขาหัวโล้นหรือไม่ จะไม่มีคำถามว่า เผาเพื่ออะไร แล้วก็ตอบว่า เพื่อปลูกข้าวโพด เมื่อถามต่อว่า ใครอยู่เบื้องหลังการเผาล่ะ ก็ทุนจ้างให้เผาป่า ปลูกข้าวโพดให้ใคร ปลูกข้าวโพดให้กับบริษัทที่จะรับซื้อข้าวโพดเพื่อไปทำอาหารสัตว์

“ผมก็ไม่เคยเห็นว่ารัฐบาลชุดไหน ไม่ว่าจะรัฐธรรมนูญชุดใด จะสามารถหยุดยั้งการเผาป่าบนภูเขาได้ มันเหมือนกันหมด ภูเขาที่น่าน ภูเขาที่เชียงราย ที่เชียงใหม่ ก็ยังถูกเผาเหมือนเดิม เพื่อให้คนไปปลูกข้าวโพด และคนรับซื้อก็คือกลุ่มทุนที่เอาข้าวโพดที่ซื้อมานี้ เอาไปทำอาหารสัตว์ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ชัดเลยว่า สิ่งที่เราเจออยู่ทุกวันนี้ เราเจอนัยของคำว่าค้าขายเสรี"

นัยของความหมายของคำว่า “ค้าขายเสรี” นี่เองที่เป็นสิ่งที่เราต้องมาทำความเข้าใจ โดยคุณสนธิได้กล่าวเตือนถึงความน่ากลัวของสิ่งที่เรียว่า Free Trade หรือการค้าเสรีนี้ว่า เป็นเรื่องอันตรายมากสำหรับประเทศไทยหากมีผู้บริหารบ้านเมืองที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มทุน

“free Trade นี่น่ากลัวมาก เสรีจริง ๆ วันนี้เมืองไทยมีการแข่งขันโดยเสรีไหม ท่านตอบผมสิ ...มี ...แข่งขันกันเสรีระหว่างกลุ่มทุนเท่านั้นเอง เพื่อดูว่าใครจะสามารถฉกฉวยโอกาสแล้วสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตัวเองได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การให้เช่าที่ดิน 99 ปี การให้สัมปทานเหมืองทองคำ ส่วนประเด็นเรื่องการสร้างกติกา กฎกติกา กฎหมายในเรื่องการผูกขาด คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กลับเอาเก็บเข้าลิ้นชัก บอกว่า กลุ่มธุรกิจไม่ค่อยสบายใจกับกฎหมายนี้ ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นตัวแทนของทุน แล้วผูกขาด ถามว่าประชาชนที่นั่งอยู่ในประเทศนี้จะมีอนาคตได้อย่างไร แล้วคุณจะอยู่ไปอีก 5 ปี อีก 5 ปีต่อไปข้างหน้า เป็นข้าทาสเขาทั้งนั้นล่ะ เป็นขี้ข้าเขาทั้งนั้น”

“รองนายกฯ สมคิด คิดโครงการบ้าน 1.5 ล้านบาท บอกให้แบงก์รัฐปล่อยกู้ คนเฮไปกู้ โอ้โห หาได้ที่ไหนบ้านราคา 1.5 ล้านบาท ...หาไม่ได้ มีคนไป 3,000 คน แต่กู้ได้ 300 คน เป็นเพราะอะไร เกิดอะไรกับอีก 2,700 คน กู้ไม่ได้”


สำหรับปรากฏการณ์การแห่ไปกู้ของคนจำนวนมาก แต่กลับได้อนุมัติเพียงจำนวนนิดเดียว นั่นก็เพราะว่า หนี้ครัวเรือนสูง การที่เป็นเช่นนี้ก็แปลว่าประเทศไทยภายใต้กติกาโลกใหม่ที่กล่าวมาข้างต้น 4 ประการนั้น โดนทุนมารุมขย้ำเอาประโยชน์ไปหมด

“เอาไปหมดทุกอย่าง พวกคุณรู้อยู่ พอเงินเดือนคุณออกมา สิ้นเดือนปั๊บ คุณจ่ายอะไรบ้าง หนี้สินทั้งนั้น ต้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันที่ผ่านมา เราไม่เคยอยู่ในสังคมที่มีคนมาบอกเรา ว่าผมจะช่วยคุณลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในชีวิตคุณอย่างไร ...ไม่มี เคยมีใครพูดไหม ...ไม่มี ....มีแต่บอกว่า ผมจะให้เงินคุณเพิ่ม แล้วคุณช่วยเอาไปจับจ่ายใช้สอยหน่อย เพื่อให้การซื้อขายในประเทศมันขับเคลื่อน คนจะได้ลงทุนเพิ่ม”

กลายเป็นว่า การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล การแก้ไขปัญหาปากท้องต่างๆ สุดท้ายไปสุดทางที่การตอบสนองกลุ่มทุนใช่หรือไม่

“คุณรู้ไหมว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงเมืองเดียวในโลกนี้ ที่มีห้างสรรพสินค้าที่เยอะที่สุดในโลก ลองดูสิ ทุกมุมเมืองมีแต่ห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นมา เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่น่าประหลาดใจว่าทำไมหนี้สินครัวเรือนทำไมสูงขนาดนี้” และจากนั้นคุณสนธิก็ตบท้ายด้วยประโยคเชิงตั้งคำถามผู้ฟังว่า “จำคำพูดคนโบราณได้ไหม ในสมัยที่เรายังเด็กๆ อยู่ ประโยคที่ว่า มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท ประโยคนี้เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว”

เป็นที่น่าตกใจสำหรับประเทศไทยในยุคเปลี่ยนผ่านสู่กติกาของโลกใหม่นี้ก็คือ การขับเคลื่อนของรัฐบาลและกระบวนการต่าง ๆ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงตามหลัก 4 ประการ ได้แก่ การก้าวข้ามวัฒนธรรม ความหลากหลาย เครือข่าย และการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทั้งหมดนี้ ต่างเคลื่อนไปตามความต้องการของกลุ่มทุนเป็นสำคัญ รัฐบาลเดินแนวทางตามเส้นทางผลประโยชน์ของกลุ่มทุน มอบพื้นที่ส่วนใหญ่ให้กับการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน โดยมีฐานรองรับคือประชาชนคนส่วนใหญ่

“มองไปที่ธนาคารต่าง ๆ ในประเทศเรา ดอกเบี้ยเงินฝาก 2 เปอร์เซ็นต์ ใช่ไหมตอนนี้ ถามว่าเงินกู้กี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าคุณกู้ได้ 8 เปอร์เซ็นต์ คุณเก่งมากเลยนะ คุณต้องมี 9 - 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเขารับเงินฝากมา 2 เปอร์เซ็นต์ แล้วปล่อยกู้คุณ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนต่าง 8 เปอร์เซ็นต์ ขอโทษนะผมขอพูดหยาบนิดหนึ่ง คุณว่ามันกำไรฉิบหายไหม ด้วยเหตุนี้ กลุ่มทุนธนาคารถึงกำไรเอาๆ ทุกปี บนต้นทุนของพวกคุณ”

สำหรับกรณีดังกล่าว คุณสนธิตั้งคำถามไว้ค่อนข้างน่าสนใจว่า หากถ้าเปรียบเทียบกับทุนใหญ่ ก็ต้องลองไปสืบค้นว่า กลุ่มทุนใหญ่ ถ้าไปกู้แบงก์จะกู้ได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์ “กู้ได้ก็ ผมว่าสัก 4 เปอร์เซ็นต์ แต่เทียบกับพวกคุณคนธรรมดาทั่วไป ต้องมี 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่แต่เพียงเท่านั้น นอกจากนี้คำถามต่อมาที่จะต้องถามด้วยว่า เขาจะให้คุณกู้หรือเปล่าด้วยนะ”

ข้อสรุปสำหรับกรณีเปรียบเทียบข้างต้นของเรื่องที่เวลาคนธรรมดาอย่างเราเงินขาดมือ กับทุนใหญ่เงินขาดมือ ก็คือ ทุนยิ่งใหญ่ ยิ่งได้เปรียบ

“แต่ละคนที่นั่งอยู่ในนี้มีลูกมีเต้าทั้งนั้น หลายคนลูกเริ่มโตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันแล้ว หลายคนกำลังอยู่ในขั้นประถม อนุบาล บางคนอยู่มัธยม บางคนอยู่มหาวิทยาลัย ถามตัวเองว่าโอกาสของลูกของฉันในอนาคตจะมีโอกาสลืมตาอ้าปาก จมูกพ้นน้ำได้บ้างไหม ที่มันสามารถที่จะทำการค้าขายด้วยตัวเองได้ไหม ...เรื่องของเรื่องคือ มันเป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่จะต้องตอบว่า มันเป็นเรื่องยาก ถ้าตราบใดสังคมไทยยังเป็นอย่างนี้”

คุณสนธิ กล่าวว่า มีตัวอย่างเรื่องของทุนกับการเอาเปรียบอยู่อีกตัวอย่าง “เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้อำนวยการสำนักข่าวอิศรา ผมรู้จักเขาในนามชื่อเล่น ชื่อ เก๊ เขาดูบิลโทรศัพท์เขา เขาบอก AIS คิดเงินผิด คิดเกินที่เขาจะต้องจ่าย เขาทำหนังสือร้องเรียนไปที่ กสทช. ซึ่ง กสทช. ก็น่ารักมาก ตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว บอกว่า เออใช่ AIS คิดเกินค่าเวลาของคุณเก๊ แล้วก็บังคับให้ AIS คืนเงินที่คิดเกินไป ดูเหมือนจะจบใช่ไหม แต่คิดให้ลึกลงไปสิ แล้วคนที่ใช้โทรศัพท์อีก 20 กว่าล้านคนล่ะ ขอโทษนะ กสทช. ไม่สนใจเลยเหรอ ว่าเขาอาจจะโดนพวกนี้คิดเกินอีกบ้างไหม ในสัดส่วนขนาดไหน ถ้า กสทช. ทำงานเพื่อประชาชน มันต้องรื้อหมดเลยใช่ไหม ต้องไปตรวจสอบทั้งระบบว่า พวก AIS, true, DTAC ต่าง ๆ เหล่านี้คิดเงินประชาชนผิดไปบ้างไหน ถ้าผิด คิดผิดไปมากน้อยแค่ไหน และก็ต้องคืนเงินประชาชนไป แต่เรื่องนี้ไม่เกิด เพราะทุนมันอุดปากใช่ไหม เหตุผลที่ใช้ไม่ได้ ก็คือ ที่บอกว่า ก็ไม่มีใครร้องเรียนมา ใครร้องเรียนมาก็จัดการให้ ผมก็นึกในใจ แล้วกูมี กสทช. อย่างมึงเอาไว้ให้หนักไข่กูทำไม นี่คือประเทศไทย”

ในสังคมที่รัฐบาลภายใต้กติกาโลกใหม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพล ก็คือ กลุ่มทุนใหญ่จะรังแกคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทุนใหญ่ได้เปรียบในเรื่องกองเงินในลิ้นชัก เส้นสายเครือข่ายที่มีอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้กติการนี้ คือ “ทุนใหญ่จะรวบหมดทุกอย่าง” ไม่เหลือช่องทางให้กับชาวบ้านธรรมดาได้มีโอกาสก้าวเป็นรายใหม่ในก่อร่างสร้างหลักฐานทางธุรกิจ

“ทุนนี่รังแกคุณขนาดไหน นึกภาพยักษ์ใหญ่อย่างปตท.มียอดขายล้านล้านบาท 2 ล้านล้านบาท แต่ขายข้าวเหนียวหมูปิ้งแข่งกับลุงแข่งกับป้า แล้วประเทศไทยจะมีอนาคตได้อย่างไร เดี๋ยวนี้เซเว่น-อีเลฟเว่น ขายซาลาเปา ขายข้าวไข่เจียว ขายข้าวกะเพรา ขายทุกอย่าง แล้วลุงป้าน้าอาที่ขายวันหนึ่ง ๆ กว่าจะได้สัก 1,000 บาท หรือ 1,500 บาท หักค่าใช้จ่ายแล้ว หักค่าเก๋าเจี๊ยะที่ต้องให้เทศกิจแล้ว เหลือแค่กลับบ้านวันละประมาณ 500 บาท คิดแล้วเดือนนึงก็ 15,000 บาท เอาส่งลูกเรียนหนังสือ จ่ายค่าเช่า จ่ายค่าน้ำค่าไฟ แล้วต้องออกมาขายต่อ ห้ามป่วย ห้ามไม่สบาย เพราะเป็นคนหาเช้ากินค่ำ หยุดไปไม่มีรายได้”

การก่อร่างสร้างธุรกิจของคนรุ่นใหม่ยิ่งยากขึ้นทุกวัน เพราะเรากำลังต่อสู้กับทุนที่ใหญ่มหึมา เต็มไปด้วยอิทธิพลและเครือข่าย ที่สำคัญคือมีทัศนคติในการดำเนินธุรกิจคือจะเอาหมด ในอนาคตในยุคของคนรุ่นลูกหลานยิ่งเป็นเรื่องยากมหาศาลยิ่งกว่าทุกวันนี้อีก

“ถ้าลูกคุณมาบอกว่า พ่อ ๆ ผมอยากจะเปิดร้าน พ่อหาเงินให้หน่อยได้ไหม นึกดูเอาที่ว่ามาทั้งหมดข้างต้นนี้ จะกู้ทีก็ยาก ถ้าโชคดีกู้ได้ก็ต้องมีรายจ่ายเยอะมาก เป็นทุนเล็กต้องดูแลตัวเอง ค่าเซ้งเป็นแสน เป็นล้าน เปิดแล้วก็ต้องไปแข่งกับยักษ์ใหญ่ที่มันกำลังทำธุรกิจเหมือนกับลูกคุณ แล้วตอบหน่อยสิว่า ลูกคุณจะอยู่ได้อย่างไร”

คุณสนธิ ตบท้ายสำหรับคำถามข้างต้นว่า สิ่งที่กล่าวมานี้ ก็คือ ความพิกลพิการของสังคม อันเนื่องมาแต่การบริหารงานของรัฐบาลภายใต้การเปลี่ยนแปลงสู่กติกาโลกใหม่ ตั้งแต่เรื่องของการก้าวข้ามวัฒนธรรม การมีความหลากหลาย การสร้างเครือข่าย และการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ที่ทั้งหมดนี้ เอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มน้อยที่เป็นกลุ่มทุนมากกว่าคนส่วนใหญ่ กลุ่มทุนเอาประโยชน์ในส่วนที่มากกว่า เหลือส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อยให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

“สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับพวกเรา ก็คือ รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่มีใครปกป้องประชาชนจากทุน การปกป้องประชาชนไม่ใช่ว่าเป็นการไปทำลายทุน ให้ทุนยังคงอยู่ แต่ทุนต้องไม่รังแกตัวเล็กตัวน้อย สังคมไทยมันต้องเป็นสังคมที่ win-win ทุกคน ไอ้คนนี้ไม่เคย win เลย ต้องให้มัน win บ้าง ส่วนไอ้คนที่ win มาก ๆ ถึงเวลาที่คุณต้อง win น้อยลงบ้างแล้ว สรุปคือต้องแบ่งสรรให้ทุกคน win-win ต้องไม่ใช่ให้ข้างบน win อยู่ฝ่ายเดียว แล้วข้างล่างคอยเป็นฐานให้ข้างบน win เป็นฐานซ้อน ๆ กันลงไปข้างล่างอีกเป็นชั้น ๆ”

คุณสนธิ กล่าวว่า ทุกวันนี้ พอรัฐบาลเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนกับคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่เท่าเทียมกัน ระบบโครงสร้างการเงินของประเทศไม่ได้วางไว้เพื่อตอบสนองคนส่วนใหญ่ แต่กลับไปสร้างความสะดวกสบายที่มากกว่าให้กับกลุ่มทุน เมื่อเป็นเช่นนี้ พอประชาชนหมดที่พึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ประชาชนที่เงินขาดมือต้องหันไปหากลุ่มทุนเงินกู้นอกระบบ

“ผมเคยคุยกับอาจารย์ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ แกบอกว่า คุณสนธิ คุณรู้ไหม รัฐบาลบอกว่าให้แก้ปัญหาเงินนอกระบบ แต่ไปแก้ผิดกลุ่ม ไปแก้ที่ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด ทั้งนี้คนบ้านนอกได้ทุน ได้เงินมาจากหลายแหล่ง เงิน ธ.ก.ส. ก็ได้ เงินกองทุนหมู่บ้านก็ได้ เงิน SML ก็ได้ แต่คนที่ลำบากที่สุดที่รัฐบาลไม่เคยสนใจเลย ก็คือคนที่มันทำงานโรงงานแถวอ้อมน้อย คนชั้นแรงงานที่เข้ามาทำงานตามโรงงานต่างๆ ในเขตรอบเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ต่าง ๆ นี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นที่สมุทรปราการ ไม่ว่าจะเป็นที่ปทุมธานี ไม่ว่าจะเป็นที่ขอนแก่น เรื่องกลายเป็นว่า ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ผู้จัดการฝ่ายการเงิน จะจับมือกันแล้วปล่อยเงินกู้ลูกน้อง ร้อยละ 10 ร้อยละ 20 ต่อเดือน แล้วก็ยึดบัตร ATM ไว้ พอเงินเดือนออก ก็ไปกดมา แล้วก็หักเงินไป อาจารย์ณรงค์ บอกว่า สนธิรู้ไหม ไอ้พวกคนที่อยู่ในโรงงานนี่มีเป็นล้านคน ถ้าจะแก้ปัญหาเงินนอกระบบ ต้องแก้ตรงนี้ ทีนี้ คำถามว่า ทำไมถึงไม่แก้ ที่ไม่แก้ก็เพราะว่าเราไม่เคยมีข้อมูลพวกนี้ รัฐบาลไม่สนใจที่จะแก้ แล้วที่สำคัญที่สุด ธนาคารนี่ตัวดี เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังของผู้จัดการฝ่ายบุคคล ผู้จัดการฝ่ายการเงิน ในการปล่อยเงินกู้ให้คนในโรงงาน ก็มันเป็นอย่างนี้เสียเอง แล้วประเทศไทยจะเดินหน้าไปได้อย่างไร”

ภาพรวมที่อธิบายมาทั้งหมดถึงประเทศไทยภายใต้การเปลี่ยนผ่านสู่กติกาโลกใหม่นี้ ขาดเสียไม่ได้เลยที่จะต้องเอ่ยถึง “โครงการประชารัฐ” ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าอยู่

“เรามาพูดกันอย่างเปิดอกเลย ไม่ต้องปิดบังกัน ท่านคิดว่าคนรวย พอมันรวยแล้วมันจะช่วยคนจนไหม พูดกันตรง ๆ เลย ท่านจะให้เสือกินมังสวิรัติ มันเป็นไปได้ไหม โครงการประชารัฐคือการเอาลูกเจ้าสัวลงไปช่วยคนข้างล่าง คุณว่าลูกเจ้าสัวมันลงไปที่ภูเก็ต ไปเห็นธุรกิจอันหนึ่งของคนที่กำลังเริ่มต้นไปได้ดี คุณว่ามันไม่ขอร่วมด้วยเหรอ คุณว่าอย่างไร มันต้องขอร่วมด้วย โครงการประชารัฐคือการผ่องถ่ายการผูกขาดรุ่นเตี่ยลงมาสู่รุ่นลูกให้มันผูกขาดต่อไป คุณเชื่อผมไหมล่ะ”

คุณสนธิได้อธิบายสัจธรรมในการดำเนินธุรกิจที่ว่า เมื่อใดก็ตาม คนรวยเข้าหุ้นกับคุณ ขอให้คุณเชื่อขนมกินได้เลยว่า ในที่สุดแล้วมันจะเป็นเจ้าของคุณ ไม่มีหรอกที่จะเป็นหุ้นส่วนให้เจริญเติบโตต่อไปด้วยกัน “ไม่มีวันที่จะยอมให้โตไปด้วยกัน เหมือนกับกลุ่มธุรกิจกลุ่มหนึ่งที่ อาจารย์เสรี วงษ์มณฑา วันนั้นออกมาพูด แก้ตัวให้ธุรกิจกลุ่มนั้น ว่าธุรกิจต้องลดต้นทุน ต้องทำตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อความถูก เพื่อต้นทุนถูก ก็ใช่สิ ก็คุณใหญ่ คุณทำได้นี่ แต่คุณทำแล้วมันกระทบกระเทือนคนที่เหลืออีกเท่าไร” คุณสนธิ กล่าวว่า ตนไม่เคยเชื่อว่า คนรวยจะช่วยคนจริง ไม่เคยเชื่อว่าคนรวยไม่ต้องการอะไรแล้ว

“ผมเข็ดกับคนที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร มาแล้ว คนที่พูดว่า ผมรวยแล้ว ผมไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว ใช่สิ ...ไม่ต้องการอะไรแต่ต้องการทั้งหมดใช่ไหม”

ไม่เพียงแต่กลุ่มทุนใหญ่ในประเทศเท่านั้น แต่ภายใต้การกติกาโลกใหม่ยังมีกลุ่มทุนข้ามชาติ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน มีการรุกเข้ามาของกลุ่มทุนใหญ่จากจีนในหลาย ๆ ส่วนของประเทศ

“ใครเคยไปเชียงรายล่าสุดบ้าง ได้ออกไปนอกเมืองบ้างไหม ไปแถวเชียงแสนบ้างไหม เห็นไหมว่าที่ดินคนจีนทั้งนั้น คนจีนที่มาจากเมืองจีน ปลูก เหมือนกรณีเหมืองทองคำ ปลูกกล้วยหอมทอง แล้วก็ใช้สารเคมี จนกระทั่งคนที่อยู่รอบ ๆ ไร่กล้วยหอมทอง ล้มหายตายจาก ไม่สบายกันไปหมด เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ยอมทำอะไร ปรากฏว่า คนจีนมา ซื้อที่ดิน สร้างโรงงาน คนจีนจะทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไร ก็ไม่สามารถจัดการกันได้ นี่ขนาด พ.ร.บ. ยังไม่ออกนะว่าให้คนมีสิทธิที่จะได้ที่ 99 ปี แล้วถ้าวันหนึ่งเรายกที่ดินให้มัน 99 ปี อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย”

คุณสนธิ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ มันไม่ใช่เพียงแต่เป็นปัญหาของการลดความมั่งคั่งเท่านั้น จริงอยู่ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถูกถ่างออกให้กว้างค่อนข้างมาก แต่ใช่ว่าจะแก้ไม่ได้ เรื่องของเรื่องคือต้องแก้ให้ถูกจุด โดยเฉพาะในเรื่องของความแตกต่างในเรื่องปัญญาและการรับองค์ความรู้ของคน

“มันห่างกันเหลือเกิน แต่เมื่อใดก็ตามคุณลดช่องว่างระหว่างปัญญาของคน 95 เปอร์เซ็นต์ กับคนอีก 5 เปอร์เซ็นต์ ให้มันแคบลงได้ นั่นล่ะ เมืองไทยถึงจะมีอนาคต แต่ไม่เคยมีใครสนใจเรื่องพวกนี้ และนี่คือ ต้นเหตุของการที่คนมันรวย มันก็รวยจริง ๆ คนจนมันก็จนจริง ๆ เรามีรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับแล้ว วันนี้เรายังนั่งทะเลาะกันเรื่องเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ เรายังมานั่งทะเลาะกันว่าใครจะเป็นนายกฯ เรายังมานั่งทะเลาะกันโน่นนี่ ผิดประเด็นหมด ทำไมเราไม่นั่งทะเลาะกันเรื่องทุนผูกขาด ไม่ทะเลาะกันว่าเราจะทำอย่างไรให้คน 95 เปอร์เซ็นต์ เขามีองค์ความรู้มากขึ้น ทำไมไม่ทะเลาะกันว่าให้ลูกหลานเรามีโอกาสลืมตาอ้าปาก จมูกเหนือน้ำ ได้เกิดขึ้นมา ทำไมไม่ทะเลาะกันว่า ทำอย่างไรถึงจะให้ลูกหลานพวกเรามีชีวิตอย่างมีคุณภาพในราคาที่มีเหตุผล นั่นคือคุณภาพชีวิต”

ถึงเวลาแล้ว ถ้าเราจะเดินหน้าต่อไป ประเทศไทยต้องกล้าคิดกล้าทำ ต้องเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เอากลุ่มทุนเป็นตัวตั้ง และนอกจากนี้ เราต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้เรากำลังเผชิญอยู่กับระบบที่ส่งเสริมให้ข้าราชการมีอำนาจซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควร สิ่งที่จะต้องทำคือทำให้ข้าราชการทำงานอยู่ภายใต้ระบบ อยู่ในกรอบโครงสร้างที่ถูกจำกัดอำนาจ

“ผมเคยพูดนอกวง ท่านรู้ไหม ไอ้คนที่เป็นใหญ่ได้ คนพวกนี้เป็นได้เพราะอะไรรู้ไหม มีใครนึกออกบ้าง เพราะคนพวกนี้เป็นยอดฝีมือในด้านการสอพลอ ถ้าคุณสอพลอไม่เก่งคุณขึ้นเป็นใหญ่ไม่ได้ ในเมืองไทย ถ้าคุณไม่ใช่ยอดฝีมือในการสอพลอ ไม่มีทางได้ดี คุณต้องเอาใจนาย คุณต้องรู้ว่านายต้องการอะไร เพราะฉะนั้นคุณจะเห็นว่าหัวต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการ คือยอดฝีมือแห่งการสอพลอ”

สำหรับคำถามที่ว่า กลุ่มทุนใหญ่รังแกชาวบ้าน ปัญหานี้เกิดขึ้นในสังคมอื่นในโลกไหม? คุณสนธิ อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า กลุ่มทุนในทางตะวันตก ยุโรป อเมริกา ทำเหมือนกับกลุ่มทุนในเมืองไทยไหม การพยายามจะเอาเปรียบของกลุ่มทุนใหญ่ในแต่ละสังคมทั่วโลกนั้นไม่ต่างกัน แต่ต่างกันที่ในโลกตะวันตกนั้น ระบบตรวจสอบผ่านสื่อมวลชนของเขาเข้มแข็ง

การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ของทางตะวันตกเขาสูงกว่าทางตะวันออก รวมถึงเมืองไทยในสัดส่วนที่ต่างกันมาก นอกจากนี้ คุณสนธิ กล่าวว่า กลุ่มทุนทางตะวันตกนั้น จะดีจะชั่วมันมีจริยธรรมอยู่ในตัวมันเอง มันมีสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรมทางธุรกิจ หรือ ethics แต่ที่สำคัญที่สุดนั้น ก็คือ สื่อมวลชนทางตะวันตกนั้นเข้มแข็ง สื่อเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่รายงานความชั่วร้ายของกลุ่มทุนเพื่อขัดขวางและระงับยั้งยังการเอาเปรียบของกลุ่มทุนใหญ่ที่มีต่อประชาชน สื่อทำหน้าที่นี้อย่างเข็มแข็ง ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ

“จำได้ไหมบริษัทน้ำมันของอังกฤษ British Petroleum ไปทำให้อ่าวเม็กซิโก น้ำมันรั่ว ใช้เวลาเกือบสิบปีกว่าจะล้างได้ วันนี้เนื่องจากโดนสื่อมวลชนกระทุ้ง ในที่สุดรัฐบาล take action บริษัทน้ำมันต้องจ่ายเงินชดเชยเป็นยอดเงินจำนวน 2 ล้านล้านบาท เงินก้อนนี้เอามาจ่ายให้ผู้ประกอบการตามชายฝั่งที่เดือดร้อนจากน้ำมัน ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ปตท.ทำน้ำมันรั่วที่ระยอง เกิดอะไรขึ้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว”

การตรวจสอบของสื่อถือเป็นเรื่องสำคัญ ในฝั่งตะวันตก อย่างน้อยที่สุด ยังมีกลุ่มสื่อมวลชนซึ่งมีจุดยืนที่จะคัดค้านหากมีเรื่องที่ไม่ถูกต้อง พร้อมที่จะตรวจสอบและคัดค้านหากกลุ่มทุนใหญ่ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือรังแกประชาชนคนธรรมดาทั่วไป และที่สำคัญสังคมตะวันตกยังเป็นสังคมที่ concern ว่า ใครที่ไม่มีจริยธรรม เขาไม่อยากคบด้วย สื่อมวลชนเมืองไทยวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นทาสกลุ่มทุน ส่วนสื่อมวลชนที่ยึดหลักการก็อยู่ยากเพราะขาดการสนับสนุน

ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในยุคเปลี่ยนผ่านสู่กติกาโลกใหม่นั้น ไม่ใช่เพียงแต่แง่มุมของการที่จะต้องปรับโครงสร้างทางการเมือง หรือทางเศรษฐกิจแต่เพียงเท่านั้น แต่ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่เกี่ยวกับแง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมต่อความรวย - ความจน ตลอดจนทัศนคติของเราต่อเรื่องภูมิปัญญาและองค์ความรู้อีกด้วย

“เมื่อหลายสิบปีก่อน เรายังไม่มีอินเทอร์เน็ต เราไม่มี WhatsApp เราไม่มี Line เราไม่มี WeChat เราไม่มีออนไลน์ เราจะส่งเอกสารชิ้นหนึ่งไปที่อเมริกา เราส่งไปทางแฟกซ์ 10 แผ่นเราใช้เวลา 5 นาทีอย่างเร็ว อย่างเร็วแล้วนะ สัญญาณไม่ขัดข้องนะ วันนี้เอกสาร 10 แผ่นคุณส่งผ่านไลน์แค่ 5 วินาที เท่ากับความเร็วมัน 1 ต่อ 60 หมายความว่า 30 ปีที่แล้ว ใช้เวลา 5 นาทีในการทำเรื่อง ๆ หนึ่ง แต่มาวันนี้ในเวลา 5 นาที ทำเรื่องได้ 60 เรื่อง ถามท่านผู้มีเกียรติว่าความเร็วแบบนี้ สังคมไทยมันเตรียมตัวรับได้หรือเปล่า ผมยังรับแทบไม่ได้เลย ขนาดผมนี่ เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ผมคิดว่า ดร.อาทิตย์ที่ก็น่าจะสนใจเรื่องนี้ ก็อาจจะรับแทบไม่ทันเหมือนกัน อาจจะมีคนบางสาขาอาชีพที่รับได้หรือปรับตัวทันกับความเร็วที่ว่านั้น แต่ถ้ามองไปทั้งหมด ผมคิดว่า คนที่รับได้มีไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 95 เปอร์เซ็นต์ คือคนที่รับไม่ทันกับสปีดที่เปลี่ยนแปลง นี่คือปัญหาใหญ่ของประเทศไทย สังคมไทยไม่พร้อมที่จะรับความเร็วขนาดนั้น”

ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วก่อนกลับพระองค์ท่านทรงเยือนฮอลลีวูด นักข่าวถามพระเจ้าอยู่หัวว่ารู้สึกอย่างไรกับประเทศอเมริกา พระเจ้าอยู่หัวบอกว่าอย่างไรรู้ไหม เป็นประเทศที่ดี แต่พวกคุณช้าลงหน่อยได้ไหม ท่านตระหนักถึงปัญหานี้มาก่อนใคร ๆ

การปรับตัวของสังคมไทยต่อเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเราตามไม่ทันนั้น เราต้องตั้งคำถามต่อเนื่องว่า เราจำเป็นต้องวิ่งไล่ตามความเปลี่ยนแปลงนั้นหรือ หรือว่า เราจะหาอัตราเร่งที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยของเรา


“ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ชื่อคุณสายัณห์ เล็กอุทัย เป็นนักปรัชญา จบวิชาสถาปัตย์จากจุฬาฯ แล้วไปเรียนต่อทางภาพยนตร์ที่ UCLA สายัณห์ เล็กอุทัย เสียชีวิตไปแล้ว ผมมีชื่อเล่นที่เพื่อนเรียกว่าโต มีอยู่ครั้งหนึ่งในสมัยที่ผมร่ำรวยมาก ยิ่งใหญ่มาก มีกิจการข้ามโลกข้ามประเทศ สายัณห์มาหาแล้วมาตบไหล่ผม บอก เฮ้ยไอ้โต มึงถอยสักก้าว ฟ้าจะสดใส ผมไม่เคยคิดความหมายที่สายัณห์พูดคืออะไร ผมมาเข้าใจในช่วงหลัง ๆ นี่เอง”

แต่คนไทยมองว่าความช้าเป็นความเชย แต่แท้ที่จริงแล้ว ความช้ากลับเป็นความลับที่สำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตในโลกยุคนี้ คนที่รู้จักที่จะช้าเป็นในโลกที่เร็วตลอดเวลา และคนที่รู้จักว่าเมื่อไรจะต้องช้า เมื่อไรจะต้องเร็ว คนที่จับจังหวะที่ถูกต้องเหมาะสมกับตัวเองได้ คือคนที่จะเป็นผู้ชนะตลอดไป

“ผมจะบอกว่า ผู้ที่จับจังหวะได้ รู้จักที่จะช้าได้ อย่างน้อยชนะใจตัวเอง ตอนนี้เรามีมายาภาพของความเร็วครอบงำทุกอย่างในประเทศไทยหมด ทุกอย่างต้องเป็น real time ทุกอย่างต้องดูได้ทันสมัย แต่ที่มาที่ไปของเรื่องราวกลับไม่สนใจ ทั้งที่โดยหลักธรรมชั้นสูง ปฏิจจสมุปบาท กับ อิทัปปัจจยตา กว่าจะมาเป็นตรงนี้มันมีที่มา เมื่อมันมีที่มาตรงนี้เราก็มาดูเหตุของมันตรงนั้น ผมมาเข้าใจเรื่องนี้หลังจากโดนยิง เหมือนเกิดใหม่ เออ ใช่ ทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ คนที่ทำอะไรช้า หรือบอกว่าใจเย็นๆ จะถูกมองว่าเป็นคนคร่ำครึ จริงๆ แล้ว คำว่าพอเพียง ยังหมายความได้ถึงการมีสติ และรู้จักช้าบ้างในเวลาที่จะควรจะช้า รู้จักเร็วในเวลาที่ต้องเร็ว การช้าลงให้เป็นในบางเรื่อง จะมีองค์ประกอบของการมีสติมากขึ้น การใช้ปัญญาแก้ปัญหา คือแก่นของหลักธรรมที่แท้จริง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทันสมัยตลอดเวลา ”

ทุกวันนี้ถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป ต้องรู้จักที่จะอย่าได้เข้าไปในวัฏจักรของความชั่วร้ายของทุน แต่ละคนต้องช่วยกันที่จะร่วมมือต่อสู้และหาทางที่จะป้องกัน อย่างน้อยก็ต้องรู้จักหัดปัดเป่ากิเลสของความอยากได้ - อยากมี - อยากเป็น ในส่วนของแต่ละคนเอง คงเป็นเรื่องยากที่แต่ละคนจะไปเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ เพราะไม่มีอำนาจอะไร ทั้งหมดที่เล่ามาถึงสถานการณ์ของประเทศในการก้าวเข้าสู่ยุคของกติกาโลกใหม่นั้น ก็เพื่อจะให้ตระหนักว่า ณ จุดนี้ เราอยู่ในสถานการณ์ไหน แล้วทางออกของเราเป็นอย่างไรได้บ้าง โดยเน้นที่จะต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ยึดตามหลักธรรม และหลักแห่งความพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ตั้ง เพื่อให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงของโลกนี้อย่างมีจังหวะและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกติกาโลกใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น