ถ้าเอ่ยชื่อ “วังบูรพา” วัยรุ่นยุคนี้อย่างเก่งก็แค่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ไม่ได้ให้ความสนใจเหมือนวัยรุ่นยุคเมื่อ ๕๐ กว่าปีก่อน ที่มีแหล่งชุมนุมอยู่แห่งเดียว คือวังบูรพา ศูนย์การค้าแห่งแรกของกรุงเทพฯ และเป็นต้นกำเนิดของตำนาน “โก๋หลังวัง”
ย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ ๖ วังบูรพาก็ถูกกล่าวขานกันว่าเป็นวังที่ไม่เคยหลับ มีการจัดงานรื่นเริงสังสรรค์เป็นประจำ เป็นที่ชุมนุมของบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทันสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็เสด็จฯมางานเต้นรำของวังบูรพาเป็นประจำ
เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่ของวังบูรพาเป็นวังที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รักษาพระนครด้านตะวันออก ซึ่งหน้าวังเป็นที่ตั้งของป้อมมหาไชย อยู่ริมคูเมืองด้านนอก และมีเจ้านายประทับอยู่ที่วังแห่งนี้สืบต่อกันมาหลายพระองค์
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดให้ใช้พื้นที่นี้สร้างวังขึ้นใหม่ในปี ๒๔๑๘ พระราชทานแก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระเจ้าน้องยาเธอองค์เล็กร่วมพระราชชนนี โดยมีนายโจอาคิโน กราสซี สถาปนิกชาวอิตาเลียน เป็นผู้ออกแบบตามความนิยมในยุคนั้น เป็นศิลปะแบบตะวันตก พระราชทานนามว่า “วังบูรพาภิรมย์” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นวังด้านตะวันออกเช่นเดิม
เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ทรงนิยมความสนุกสนานและทันสมัย จึงทรงจัดงานรื่นเริงสังสรรค์ที่วังบูรพาภิรมย์เป็นประจำ มีทั้งดนตรีไทยที่ทรงโปรดและงานตามสไตล์ตะวันตก ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงควงคู่พระคู่หมั้น หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี ซึ่งทรงสถาปนาเป็นพระวรกัญญาปทาน เสด็จไปร่วมงานทำบุญวันประสูติครบ ๖๐ พรรษาของ “ท่านอา” สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์ฯ ที่วังบูรพาภิรมย์ ทรงถอดฉลองพระองค์คลุมพระองค์วัลลภาฯ ซึ่งเป็นภาพใหม่ของราชสำนักสยามที่ให้เกียรติสตรีตามแบบอย่างตะวันตก
เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชเสด็จทิวงคตในเดือนมิถุนายน ๒๔๗๑ วังบูรพาภิรมย์ก็ร่วงโรยลง
ขอเล่าเสียหน่อยว่า ในตอนก่อนที่วังบูรพาภิรมย์จะเป็นวังร้างนั้น มีเด็กชายท่าทางคล่องแคล่วคนหนึ่งอยู่ในวัง ท่านหญิงท่านชายเรียกใช้สอยกันเป็นประจำว่า “จิ๋ว ๆ ” ตอนนี้คนทั่วไปรู้จักกันในนาม “พ่อใหญ่จิ๋ว”
เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ “โก๋หลังวัง”
ในช่วงปี ๒๔๗๘-๒๔๘๔ ทายาทวังบูรพาได้ให้เช่าเป็นที่ตั้งของโรงเรียนภาณุทัต สอนด้านการเรือน และหลังสงครามโลกก็เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนพาณิชยการพระนครอีกระยะหนึ่ง ในระยะที่เป็นวังร้าง ผู้เขียนเคยนั่งรถเมล์ผ่านหน้าวังบูรพาเป็นประจำ และเหลียวมองดูทุกครั้งที่ผ่าน ยังจำได้ถึงความสง่างามแม้จะถูกทิ้งร้าง
จุดเด่นอีกอย่างของวังบูรพาก็คือสิงโตหินคู่หนึ่งที่หมอบอยู่หน้าวังดูน่าเกรงขาม ได้ข่าวว่าขณะนี้ถูกย้ายไปหมอบอยู่ที่หน้าตึกกองบัญชาการกองทัพบก
พื้นที่ของวังบูรพาได้กลับมาสู่ความรุ่งเรืองไม่หลับอีกครั้ง เมื่อ บัณฑูรย์ องค์วิศิษฐ์ นักธุรกิจบันเทิงคนสำคัญแห่งยุค ในวัย ๓๕ ผู้ซึ่งเพิ่งปลุกศาลาเฉลิมไทยที่ถูกทิ้งร้างตั้งแต่สร้างเสร็จยังไม่ทันเปิด ให้เป็นโรงละครติดลมได้สำเร็จ แต่เกิดเบื่อหน่ายกับการมีหุ้นส่วน จึงขายหุ้นทิ้งให้กับพิสิฐ ตันสัจจา และอยากจะทำความฝันเมื่อตอนอายุ ๒๐ ให้เป็นความจริง จะสร้างศูนย์การค้าแหล่งช็อปปิ้งที่มีโรงหนังโรงละครอยู่ในนั้นพร้อมสรรพ แม้ยังไม่เต็มตามฝันที่จะให้มีทั้งโรงแรมและสวนสนุกอยู่ด้วยก็ตาม บัณฑูรย์ได้เล็งมาที่พื้นที่ ๑๕ ไร่ของวังบูรพาภิรมย์ที่ถูกทิ้งร้างเช่นเดียวกับศาลาเฉลิมไทย และเปิดการเจรจากับเจ้าของกองมรดกทั้ง ๗ ขอซื้อวังบูรพามาได้ในปี ๒๔๙๕ ด้วยราคา ๑๒ ล้านบาท โดยมีโมเดลของศูนย์การค้าพร้อมโรงภาพยนตร์ ๓ โรง ที่เขาออกแบบและมานะใช้ “ไม้แท่งไอติม” มาต่อด้วยมือตัวเอง จนเป็นศูนย์การค้าทั้งศูนย์ไปโชว์
เมื่อเจรจาสำเร็จแล้ว บัณฑูรย์จึงดึงโอสถ โกศิน เพื่อนสนิท เข้ามาเป็นผู้จัดซอยแยกพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ และขายพื้นที่สำหรับโรงภาพยนตร์โรงหนึ่งให้คนอื่นไปสร้าง ซึ่งก็คือโรงภาพยนตร์แกรนด์ เหลือของตัวเองไว้เพียง ๒ โรง
บัณฑูรย์ลงมือสร้างโรงภาพยนตร์คิงส์ เป็นโรงแรก เชิญ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ คนสำคัญแห่งยุคมาเป็นประธานบริษัทคิงส์ เซ็นสัญญากับบริษัทเมโทรโกลด์วินเมเยอร์ ให้ป้อนหนังเข้าฉาย ขึ้นตราสิงโตไว้หน้าโรงพร้อมตัวอักษร “The Home of MGM Pictures” กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรรอบปฐมฤกษ์เรื่อง “สาวน้อยร้อยชั่ง” นำแสดงโดยดาราสาวสุดฮิต เอสเธอร์ วิลเลี่ยม
จากนั้นก็เชิญ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คนดังคู่กับพล.ต.อ.เผ่า มาเป็นประธานบริษัทควีนส์ สร้างโรงที่ ๒ ขึ้นด้านหลังโรงภาพยนตร์คิงส์ ทำพิธีเปิดในวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๙๗ จุดเด่นอย่างหนึ่งของโรงภาพยนตร์ควีนส์ก็คือ พนักงานขายตั๋ว เดินตั๋ว เฝ้าประตู ล้วนแต่ใช้ผู้หญิงทั้งนั้น
ศูนย์การค้าวังบูรพานับเป็นศูนย์การค้าทันสมัยของยุคใหม่ ต่อจากย่านการค้าและความบันเทิงของยุคเก่า คือ บางลำพู ต่อมาในปี ๒๔๙๙ ห้างเซ็นทรัล ซึ่งเป็นห้างขายนิตยสาร หนังสือ และเสื้อผ้าจากต่างประเทศ ที่ปากซอยโอเรียลเตล ถนนเจริญกรุง ก็มาเปิดสาขาแรกเป็นห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่วังบูรพาด้วย มีสินค้ามากมายหลายประเภท โดยมากเป็นของแปลกใหม่ที่สั่งมาจากต่างประเทศ และเป็นห้างแรกที่ติดราคาสินค้าไว้ตายตัว ไม่มีการต่อรองกันได้เหมือนร้านค้าปลีก และยังมีร้าน “ไอสครีมบูรพา” มาเปิดที่หน้าโรงภาพยนตร์คิงส์ ซึ่งในยุคนั้นไอสครีมไม่ใช่ของที่หากินได้ง่ายเหมือนในยุคนี้ และถือเป็นของใหม่ วังบูรพาจึงเป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่นคนทันสมัย จนเข้าขั้นแออัดไม่มีที่จอดรถ ห้างเซ็นทรัลจึงนำระบบใหม่มาใช้ มีลิฟท์นำรถขึ้นไปจอดชั้นบน เพราะไม่อาจสร้างทางขึ้นใหม่ได้ ปัจจุบันลิฟท์นี้ก็ยังใช้อยู่
ส่วนคำว่า “โก๋หลังวัง” ไม่เกี่ยวกับวังบูรพาโดยตรง แต่เป็นแก๊งวัยรุ่นกลุ่ม พัน หลังวัง ที่มี “เอลวิสเมืองไทย” วิสูตร ตุงครัตน์ รวมอยู่ด้วย ตอนนั้นเรียกวัยรุ่นประเภทนี้ว่า “จิ๊กโก๋” มั่วสุมกันอยู่ที่ร้านกาแฟชื่อ “ขนส่ง” ในเวิ้งข้างศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งอยู่ด้านหลังของวังบูรพาออกไป เลยเรียกกันว่า “โก๋หลังวัง”
ต่อมาในปี ๒๕๐๗ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เริ่มพัฒนาที่ดิน ๖๓ ไร่ของมหาวิทยาลัยด้านถนนพระราม ๑ ตรงข้ามวังสระปทุม จากถนนพญาไทไปจนจดถนนอังรีดูนังต์ ซึ่งเป็นชุมชนแออัดที่ถูกไฟไหม้ ให้เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ มีร้านค้ามากมายซึ่งหลายแห่งได้ย้ายหรือขยายสาขามาจากย่านอื่นรวมทั้งจากวังบูรพาด้วย และยังมีโรงภาพยนตร์ ๓ โรงเช่นเดียวกับวังบูรพา โดยโรงภาพยนตร์สยามเริ่มเปิดก่อนในปลายปี ๒๕๐๙ ตามมาด้วยโรงภาพยนตร์ลิโด้และสกาลาในปีต่อมาตามลำดับ และยังมีโรงโบว์ลิ่งของทันสมัยในยุคนั้น ย่านสยามสแควร์จึงกลายเป็นแหล่งชุมนุมแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ ทอดทิ้งให้ย่านวังบูรพาหลุดไปจากกงล้อของยุคสมัย
ปัจจุบันศูนย์การค้าวังบูรพาก็ยังเปิดค้าขายอยู่ และเป็นเขตติดต่อกับแหล่งการค้าที่สำคัญ ทั้งสำเพ็ง สะพานหัน พาหุรัต คลองถม แต่ก็เปลี่ยนแปลงไปมากจนเกือบไม่เหลือร่องรอยอดีตที่เคยรุ่งเรือง โรงภาพยนตร์คิงส์และโรงภาพยนตร์แกรนด์ถูกทะลุให้ติดกัน เปลี่ยนเป็นห้างสรรพสินค้าเมอรี่คิงส์ แต่ก็เพิ่งปิดสาขานี้ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ และเปลี่ยนมาเป็นเมก้า พลาซ่า ห้างสรรพสินค้าเหมือนเดิม ส่วนควีนส์ รื้อจอ รื้อเก้าอี้ดูหนังออก กลายเป็นที่จอดรถ ห้างเซ็นทรัลปิดสาขาแรกไปในปี ๒๕๕๑ มี “ไชน่าเวิร์ลด์” มาแทน แต่เข้าไปเจอแต่อินตะระเดียขายทั้งนั้น ส่วนที่ยังยืนหยัดอยู่ได้เหมือนเดิมกลับเป็นร้านขายหนังสือ ทั้ง ผดุงศึกษา แพร่พิทยา รวมสาส์น โอเดียนสโตร์ ยังอยู่ครบ รวมทั้งภัตตาคาร ส.บ.ล. หรือสมบูรณ์ลาภ ที่เปิดมาตั้งแต่ยุครุ่งเรือง กับร้านอาหารกวางตุ้งเล็กๆขายก๋วยเตี๋ยวราดหน้าเนื้อ เกี๊ยว บะหมี่เป็ดตุ๋น ตรงข้ามโรงภาพยนตร์ควีนส์ ที่มีแฟนประทับใจรสชาติอยู่ไม่น้อย ยังคงรสเดิมจนถึงปัจจุบัน
ผู้เขียนซึ่งเป็นคนรุ่นพี่โก๋หลังวัง ยังแวะเวียนไปเยี่ยมวังบูรพาเป็นประจำ หาหนังสืออ่านและติดใจเกี๊ยวเป็ดตุ๋นมาตั้งแต่เปิดโรงหนังควีนส์ ทั้งยังได้ของแถม เดินดูบรรยากาศวังบูรพาแล้วก็ทำให้ปลงได้ ทุกอย่างย่อมล้วนอนิจจัง รุ่งได้เสื่อมได้แบบนี้แหละโยม