xs
xsm
sm
md
lg

พระราชนิพนธ์คารมรัก ร.๖ ถึง ๑๐๐ ปีก็ยังไม่ตกยุค มาเป็นเนื้อร้องเพลงฮิตติดอันดับ!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

 “พระมหาธีรราชเจ้า”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา “พระมหาธีรราชเจ้า” ก็เนื่องมาจากผลงานทางวรรณกรรมที่ทรงพระราชนิพนธ์ออกมามากมาย และหลายประเภท ทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร้อยแก้วหลายรส ทั้งแนวธรรมะ ตลกขบขัน แนวปลุกใจให้รักชาติ และแนวประวัติศาสตร์

งานที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้มากอีกอย่างก็คือบทละคร และโปรดการแสดงละครด้วยพระองค์เอง แต่ไม่เคยทรงเลือกรับบทพระเอกเลย โดยมากจะทรงแสดงในบทที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นบทตลกที่ทำให้ผู้ดูขบขัน อย่างเช่นในเรื่อง “พระร่วง” ทรงแสดงเป็น “นายมั่นปืนยาว” ในเรื่อง “กุศโลบาย” ทรงเป็น “คาดิแนล” ในเรื่อง “วิวาห์พระสมุทร” เป็น “นาวาโทไลออน” เป็นต้น

จุดเด่นอีกอย่างในพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องรักๆใคร่ๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น ทรงใช้สำนวนที่ได้รับความนิยมว่าเป็นวรรณกรรมอันล้ำค่า โดยเฉพาะในตอนสำคัญของเรื่องที่เกี่ยวกับบทสวาทของตัวละคร บทโต้ตอบระหว่างหญิงชายในการแสดงความรัก หรือบทขับลำนำในลีลาอันกล่าวถึงธรรมชาติแห่งเพศก็ดี ผู้อ่านจะได้อรรถรสที่ซาบซึ้งแสนหวาน ซึ่งเป็นภาษาของกวีผู้เลิศด้วยพระปรีชาสามารถอย่างน่าพิศวง

พระราชนิพนธ์คารมรักเหล่านี้ นอกจากประทับใจคนอ่านแล้ว ผู้ประพันธ์เพลงในยุคต่อมาหลายท่าน ยังได้นำมาเป็นเนื้อเพลงไทยสากลหลายต่อหลายเพลง ซึ่งล้วนแต่เป็นเพลงที่ฮิตติดอันดับความนิยมอย่างสูง ในความซาบซึ้งคารมรักของเนื้อเพลง

จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) เคยรวบรวมคารมรักเหล่านี้ลงในหนังสือ “วชิราวุธานุสรณ์” เมื่อปี ๒๕๐๖ มาครั้งหนึ่งแล้ว จึงขอนำบทพระราชนิพนธ์ที่ล้ำค่าบางตอน มาย้อนระลึกความประทับใจกันอีกครั้ง

จากบทละครเรื่อง “ท้าวแสนปม” ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อเดือนมีนาคม ๒๔๕๖ กว่าร้อยปีมาแล้ว พระชินเสน พระเอกของเรื่อง ได้แปลงองค์เป็นท้าวแสนปม แฝงกายเข้าไปพำนักอยู่กับตาเฒ่าคนเฝ้าสวนหลวง จนได้พบปะนางอุษา นางเอก และถวายมะเขือที่จารึกคารมรักเป็นปริศนาไว้ว่า

๐ ในลักษณ์นั้นว่านิจจาเอ๋ย
กระไรเลยหัวอกหมกไหม้
อกผ่าวราวสุมรุมไฟ
ทำไฉนจะพ้นไฟราญ
เสียแรงเกิดมาเป็นนักรบ
เผ่าพงศ์ทรงภพมหาศาล
สู้กรากกรำลำบากยากนาน
ยอมเป็นปมเป็นปานเปรอะไป
ได้เห็นแก้วประเสริฐเลิศชม
จะนิยมก้อนกรวดกระไรได้
เคยพบสาวฟ้าสุราลัย
หรือจะใฝ่ในชาวปัถพิน
โอ้แก้วแวววับช่างจับจิต
จะใคร่ปลิดปลดมาดังถวิล
โอ้เอื้อมสุดหล้าดังฟ้าดิน
จะได้สมดังจินต์ฉันใด ฯ

นางอุษาก็เขียนตอบมาในพลูจีบ ประทานให้เจ้าของมะเขือว่า

๐ ในลักษณ์นั้นว่าน่าประหลาด
เป็นเชื้อชาตินักรบเก่งกล้า
เหตุไฉนย่อท้อรอรา
ฤาจะกล้าแต่เพียงวาที
เห็นแก้วแวววับที่จับจิต
ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้เต็มที่
เมื่อไม่เอื้อมจะได้อย่างไรมี
อันมณีหรือจะโลดไปถึงมือ
อันของสูงแม้ปองต้องจิต
ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ
ไม่ใช่ของตลาดที่อาจซื้อ
ฤาแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม
ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง
คงชวดพวงบุปผชาติสะอาดหอม
ดูแต่ภุมรินเที่ยวบินตอม
จึ่งได้ดอมอบกลิ่นสุมาลี ฯ

พระชินแสนผู้คลั่งรักอย่างล้นหัวใจ จึงดอดเข้าไปแฝงตัวอยู่ในสวน ก็ได้ยินนางระบายอารมณ์รักออกมาว่า

๐ โอ้ว่าดวงใจอยู่ไกลลิบ
เหลือจะหยิบมาชมภิรมย์สันติ์
เหมือนดวงดาววาววาวอยู่ไกลครัน
ชิดสวรรค์สุดเอื้อมมาเชยชม
เสียแรงชื่ออุษานารี
ไยไม่มีเทวามาอุ้มสม
ปล่อยให้นั่งฟูมฟกอกตรม
ร้อนระบมอนาถจะขาดใจ
รสใดไม่เหมือนรสรัก
หวานนักหวานใดจะเปรียบได้
แต่มิได้เชยชมสมใจ
ชมใดไม่เทียบเปรียบปาน
อ้าองค์เทวาสุรารักษ์
ทรงฤทธิ์สิทธิศักดิ์มหาศาล
ช่วยดลใจให้ชู้คู่ชีวาน
เซียวซ่านรักบ้างอย่างข้านี้ ฯ

คนรุ่นก่อนจะจำเพลงเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี เพราะฮิตติดอันดับอยู่นาน

จากละครเรื่อง “เวนิสวานิช” ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๕๙ ทรงแปลมาจากบทประพันธ์ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ หัวใจของเรื่องนี้เป็นเล่ห์ของพ่อค้ายิว แต่ก็มีบทคารมรักจับใจ ซึ่งกลายมาเป็นเนื้อร้องเพลงไทยสากลฮิตติดอันดับเช่นกัน คือ

๐ ความเอยความรัก
เริ่มสมัครชั้นต้นนั้นหนไหน
เริ่มเพาะเหมาะกลางหว่างหัวใจ
หรือเริ่มในสมองตรองจนดี
แรกจะเกิดเป็นไฉนใครรู้บ้าง
อย่าอำพรางตอบสำนวนให้ควรที่
ใครถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงระตี
ผู้ใดมีคำตอบขอบใจเอย ฯ
๐ ตอบเอยตอบถ้อย
เกิดเมื่อเห็นน้องน้อยอย่าสงสัย
ตาประสบตารักสมัครไซร้
เหมือนหนึ่งให้อาหารสำราญครัน
แต่ถ้าแม้สายใจไม่สมัคร
เหมือนฆ่ารักเสียแต่เกิดย่อมอาสัญ
ได้แต่ชวนเพื่อนยามาด้วยกัน
ร้องรำพันสงสารรักหนักหนาเอย ฯ

นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์เป็นกลอนสุภาษิต ซึ่งเป็นบทเกี้ยวพาราศีที่สนุกและขบขัน ทั้งไพเราะในคำประพันธ์ ซึ่งก็เป็นเนื้อเพลงฮิตติดอันดับในเวลาต่อมาเช่นกัน คือ

(หญิง) เป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก
(ชาย)เป็นผู้ชายยิ่งยากกว่าหลายเท่า
(หญิง)หญิงต้องเจียมกายามาแต่เยาว์
(ชาย)ชายต้องเฝ้าวิงวอนให้หล่อนรัก
(หญิง)หญิงถึงรักต้องแกล้งแสร้งทำเฉย
(ชาย)หวังให้ชายอยากเชยยิ่งขึ้นหนัก
(ชาย-หญิง)ต่างคนต่างรักกันน่าขันนัก
ที่แท้ต่างสมัครจะรักกัน
(หญิง)วิสัยหญิงย่อมอาย
(ชาย)ยั่วชายชิด
(หญิง)หญิงย่อมดัดจริต
(ชาย)จิตชายสั่น
(ชาย-หญิง)ถ้าแม้รักจริงแล้วไม่แคล้วกัน
เสน่ห์พันผูกสนิทชิดชมเอย ฯ

คารมรักเหล่านี้ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อยังทรงครองความเป็นโสด เมื่อพระองค์มีความรัก คารมรักจากพระราชหฤทัยในยามเมื่อเผชิญกับอารมณ์และอำนาจแห่งความรัก ซึ่งเป็นเรื่องจริงของชีวิต ยิ่งไพเราะอ่อนหวานประทับใจยิ่งกว่า

รักแรกของ ร.๖ เกิดขึ้นในปี ๒๔๖๓ ทรงประกาศหมั้นกับ ม.จ.วรรณวิมล วรวรรณ พระธิดากรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พร้อมกับได้พระราชทานพระนามให้ใหม่ว่า หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี

ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “ศกุนตลา” ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ตอนความรักสดชื่นนี้ มีตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

๐ นาฏกะ กลอนนี้ฉันมีจิต
ขออุทิศแด่มิ่งมารศรี
ผู้ยอดเสน่หานารี
วัลลภาเทวีคู่ชีวัน
ขอให้หล่อนรับพลีไมตรีสมาน
เป็นพยานความรักสมัครมั่น
เปรียบเหมือนแหวน แทนรักทุษยันต์
ให้จอมขวัญศกุน-ตลาไซร้
แต่ผิดกันตัวฉันไม่ลืมหล่อน
จนสาครเหือดแห้งไม่แรงไหล
จนตะวันเดือนดับลับโลกไป
จะรักจอด ยอดใจ จนวันตาย ฯ

รักต่อมาของพระมหาธีรราชเจ้า ก็คือพระน้องนางต่างพระมารดาของหม่อมเจ้าหญิงวรวรรณวิมล คือ “ท่านหญิงติ๋ว” หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ พระชันษา ๒๑ พรรษา และพร้อมๆกับที่ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าวรรณวิมลขึ้นเป็นพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานพระนามใหม่ให้หม่อมเจ้าวรรณพิมลเป็น “หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ” ด้วย และต่อมาทรงสถาปนาขึ้นเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ

ในพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งทรงฉายคู่ในลักษณะสอดพระกรคล้องกับท่านหญิงติ๋วนั้น ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานว่า

“ให้แม่ติ๋วยอดชีวิตของโต ด้วยความรักยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันที่ได้ชื่นใจมากที่สุดครั้งแรกในชีวิต คือวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๓
แต่พี่ผู้คิดถึง
ราม ร.”

ทรงระบายความในพระราชหฤทัยเป็นบทกลอนอันซาบซึ้งถึงท่านหญิงติ๋วไว้ว่า

๐ นั่งคำนึงถึงน้องผู้ต้องจิต
แม่มิ่งมิตรยอดรักลักษมี
ความรักรุกทุกทิวาและราตรี
บ่ได้มีสร่างรักสักเวลา
ในกลางวันสุริยันแจ่มกระจ่าง
เป็นหน้าน้องฟ่องกลางหว่างเวหา
ยามราตรีพี่พินิจพิศนภา
ก็เห็นหน้าโฉมตรูอยู่แทนจันทร์
ถึงยามนอนพี่นอนถอนใจใหญ่
แว่วเสียงใสแว่วขยับขึ้นรับขวัญ
เห็นรูปนางข้างเตียงเคียงหมอนนั้น
หายโศกศัลย์นอนยิ้มกระหยิ่มใจ
เมื่อลมโชยโรยกลิ่นผกากรอง
มาถูกต้องนาสาพาฝันใฝ่
ถึงยามเมื่อประโลมโฉมอุไร
หอมชื่นใจยอดมิ่งยิ่งมาลี
นึกถึงตาวนิดาเมื่อแลจับ
นึกถึงโอษฐ์ยิ้มรับสำรวลพี่
นึกถึงแก้มนางแฉล้มราวสุรีย์
นึกถึงองค์ราวสำลีที่นิ่มนวล
เมื่อยามกอดยอดชีวิตติดอุรา
ชื่นนาสาสูดดอมกลิ่นหอมหวน
จุมพิตโอษฐ์ราวโภช-นาชวน
ให้ลิ้มรสเสน่ห์ยวนเย้ากมล
เมื่อไรจูบลูบประโลมโฉมเฉลา
ก็ยิ่งเร้าให้ตระกองน้องอีกหน
ยิ่งเห็นยิ่งงามมากยิ่งอยากยล
ยิ่งได้เชยนิรมลยิ่งอยากเชย
ชมกลางวันมิทันจะสิ้นสรรพ
ตะวันลับล่วงทิวานิจจาเอ๋ย
ชมกลางคืนมิทันชื่นอุราเชย
เวลาเลยล่วงดึกนึกขัดใจ
ถึงวันยาวเท่ากับเดือนจึงเลื่อนลี้
ถึงเดือนยาวเท่ากับปีหนึ่งนี้ได้
ถึงปียาวเท่ากับร้อยฉนำไซร้
ก็ยังไม่นานพอเพื่อกรอรัก
ตลอดชาติมิขอคลาดเสน่ห์น้อง
ขอประคองเคียงคู่ผู้สมศักดิ์
ขอจุมพิตชิดอุรายุพาพักตร์
ขอจูบกอดยอดรักรื่นฤดี
ขอเอนเอียงองค์แอบอยู่แนบข้าง
ขอเชยคางพิศพักตร์ลักษมี
ขอแนบเนื้อนิ่มนวลยอดยวนยี
ขอสดับวาทีที่จับใจ
รักสมรย้อนคะนึงแสนซึ้งจิต
ที่คิดผิดมาแต่ก่อนถอนใจใหญ่
แม้นมิมัวหลงเลยเชยอื่นไป
ก็คงได้ชื่นอุรามานานวัน
ต่อแต่นี้ขออย่ามีจิตสงสัย
ไม่ขอไกลโฉมตรูผู้จอมขวัญ
ขอเอารักผูกรักสมัครกัน
จนกระทั่งชีวันพี่บรรลัย ฯ

บทพระราชนิพนธ์ในด้านคารมรักของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้รับการถวายพระราชสมัญญา “พระมหาธีรราชเจ้า” นี้ นับเป็นเพชรเม็ดงาม และเป็นสมบัติอันล้ำค่าของวงวรรณกรรมไทยตลอดมา
ร.๖ ทรงแสดงในบท “นายมั่นปืนยาว”
ซ้าย ร.๖ กับ ม.จ.วัลลภาเทวี ขวา ม.จ.ลักษมีลาวัณ กับเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ในละครเรื่อง “โพงพาง”
กำลังโหลดความคิดเห็น