xs
xsm
sm
md
lg

ปรมาจารย์มวยปล้ำทุกสถาบัน! “น้าติง” ตำนานนักพากย์ฝีปากเอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“น้าติง” ชื่อนี้คือตำนานในวงการกีฬามวยปล้ำ จากอาจารย์ภาควิชาพละศึกษา สาธิตมัธยมจุฬาฯ ควบฐานะนักพากย์ฝีปากเอกที่ยืนหยัดคู่กับมวยซดหมัดมาตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี

สำหรับคนชอบกีฬามวยปล้ำ ย่อมรู้จักมักคุ้นกับคำเรียกขาน “น้าติง” ที่ไม่เพียงเป็นเสน่ห์หรือสีสันอันแพรวพรายในวงการนักพากย์มวยปล้ำ หากแต่เขายังเป็นฟันเฟืองตัวสำคัญที่จุดกระแสความนิยมในมวยประเภทนี้ฟูเฟื่องเรืองรุ่งในบ้านเรา ขณะที่ความนิยมในตัวเขา-น้าติง” เคยฮอตพอๆ กับดาราระดับซูเปอร์สตาร์ จดหมายหลายร้อยหลายพันฉบับจากแฟนคลับมวยปล้ำส่งถึงรายการที่พากย์อยู่ในยุคนั้น ไม่ขาดสาย

“น้าติง” เป็นฉายานามในวงการ
ขณะที่ “สุวัฒน์ กลิ่นเกษร” คือชื่อจริงสกุลจริงตามบัตรประชาชน
แต่ไม่ว่าอย่างไร เขาคือคนคนเดียวกัน ที่พากย์มวยปล้ำได้เอร็ดอร่อยมากที่สุดคนหนึ่ง
ถึงขนาดที่ฝรั่งยังอึ้ง เพราะทึ่งในหลักฐานว่า ที่มวยปล้ำฮิตได้ในบ้านเรา
ส่วนหนึ่งก็เพราะลีลาการพากย์ของเขาคนนี้...

ปฐมบทนักพากย์
จากครูพละฯ สู่โฆษกฝีปากเอก

“เป็นคนกรุงเทพฯ ครับ เกิดแถวถนนตก ตรงเชิงสะพานกรุงเทพ คุณพ่อทำงานเป็นพนักงานโรงงานยาสูบ ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน เรียนหนังสือที่โรงเรียนเทศบาลวัดลาดบัวขาว จบประถมก็ไปเข้าชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม สมัยนั้นก็วุฒิ มส.5 เทียบตอนนี้ ก็ม.6แล้วก็มาเข้าเรียนต่อที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาพละศึกษา”

ยอดนักพากย์เล่ากล่าวประวัติตัวเองอย่างย่นย่อและราบเรียบตามลำดับขั้น

“ก็เรียนจนจบปริญญาตรี จากนั้นทางคณะเขาก็จ้างให้เรามาเป็นอาจารย์ต่อเลย ซึ่งนานๆ จะมีลักษณะอย่างกรณีเราสักครั้งหนึ่ง เพราะว่าเราไม่ได้เก่งประเภทเกียรตินิยมอันดับ1 กีฬาเราก็ไม่ได้จัดจ้านมากฝีมือ เพียงแต่ตอนเรียน เราจะชอบเป็นพิธีกร เป็นโฆษกประจำคณะ คือเจอไมโครโฟนไม่ได้ เขาจะให้เราทันที อย่างไปเราเป็นนักกีฬา ไปแข่งกีฬา เล่นๆ ไปเขาก็จะเรียกออก ไม่ใช่ว่าเล่นไม่ดี แต่ออกมานั่งพากย์ข้างสนามดีกว่า (หัวเราะ)

“ไม่ค่อยมีใครเกรงใจถามว่าเราอยากเล่นหรือไม่อยากเล่น แต่ว่าเราก็ติดทีมทุกครั้ง เพราะว่าอย่างน้อยก็เป็นพิธีกร เป็นโฆษกประจำทีม แล้วเราก็ไม่ได้โกรธไม่ได้อะไร เราก็ออกจะชอบเพราะได้ไปเที่ยว คือเวลาเขาไปแข่ง เขาก็ต้องคัดตัว แต่เราไม่ต้องคัด ยังไงก็ติดแน่ๆ เราก็อยู่อย่างนั้น”

โดยที่ไม่คาดคิดฝันว่าจะได้เป็นทั้งอาจารย์ในสาขาที่ศึกษาร่ำเรียนมา และนักพากย์มวยปล้ำที่เป็นขวัญของคนทั่วประเทศ

“แต่ด้วยความที่ตอนเรียน ช่วงที่เราไปฝึกสอน เราได้พาโรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตรงเสาชิงช้า เข้าชิงวอลเลย์บอลในกีฬากรุงเทพฯ (ชื่อเรียกในสมัยช่วงราวปี พ.ศ. 2520) เข้าชิง ทั้งๆ ที่โรงเรียนเบญจมราชาลัยในสมัยนั้นแทบไม่เคยส่งกีฬาเข้าแข่งขันเลย ไปแข่งกรมพละ แพ้เกมส์ 0 เลย เขาเสิร์ฟมือเดียวเลย แล้วนักเรียนนักกีฬาของเขาก็เป็นนักกีฬาที่ไม่มีพื้นฐาน เราต้องไปปูใหม่ตั้งแต่แรก

“โดยมีเวลาแค่ 3 เดือน เทอมเดียว เด็กจากไม่เป็นก็อันเดอร์เป็นร้อยๆ แล้วก็มีลูกวอลเลย์บอลอยู่ 4 ลูก เราก็ใช้กระดาษโฆษณาแขวนแล้วก็กระโดดตบเอา ใช้พวกลูกยางผูกขากระโดดขึ้นบันได เลียนแบบหนังญี่ปุ่น คือสมัยก่อนจะมีหนังกีฬาญี่ปุ่นออกมาเยอะ เช่นเรื่อง ยอดหญิงวอลเลย์บอล คูมิโกะ ยูโดก็มี ซันชีโร่ มีนาโอยา นารุโตะ ก็ชอบดู ดูผ่านทางโทรทัศน์ แล้วก็เอามาเป็นแบบฝึก บังเอิญประจวบเหมาะกับว่าทางคณะครุศาสตร์ ภาควิชาพละ เขาก็ปูพื้นบานเราค่อนข้างดีด้วย หมายความว่าเขาก็จะสอนบอกขั้นตอนการสอนดีมาก อาจารย์ต่างๆ เขาก็ถ่ายทอดให้เรา เราก็จำมาแล้วก็เอาไปสอนขณะที่เราเป็นนิสิตฝึกสอน จากนั้นก็ไปดูคู่ต่อสู้เป็นรายๆ สมมุติว่าจะแข่งกับโรงเรียนอย่างชิโนรสวิทยาลัย เขารับลูกเสิร์ฟไม่ดี เราก็ไปฝึกลูกเสิร์ฟอย่างเดียว แล้วเด็กก็จะตั้งใจมาก ก็พาทีมเข้าชิงชนะเลิศ

“ก็สร้างชื่อเสียง เราก็เลยได้เป็นอาจารย์พละยอดเยี่ยมกรุงเทพมหานคร ในฐานะคุณครูของโรงเรียนเบญจมราชาลัย ทั้งๆ ที่เราเป็นนิสิตฝึกสอน และทางมหา'ลัยก็มอบรางวัลนิสัตฝึกสอนดีเด่นอีกหนึ่งรางวัล อาจารย์ศาสตราจารย์ รำไพร สุจริตกุล ก็เลยชวนให้เข้ามาฝึกสอนที่โรงเรียนสาธิตมัธยมจุฬาฯ สอนที่คณะครุศาสตร์ จนกระทั่งปัจจุบัน 38 ปี แล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521หลังเรียนจบ”

ยอดนักพากย์เผยเส้นทางสู่การเป็นครูบาอาจารย์ทางสายพละที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของใบเบิกทางการเป็นนักพากย์เลื่องชื่อลือชาด้านความสนุกสนาน

“คือพอเรามาเป็นอาจารย์เขาก็จะรู้ว่า เราเนี่ยจะเป็นพิธีกรได้ เป็นโฆษกได้ พอมาทำงานตรงนี้ปุ๊บ เขาก็ให้เราไปประกาศหน้าเสาธง ให้ทำกิจกรรมแคมป์ไฟของค่ายลูกเสือ-เนตรนารี จากนั้นก็ขยับเป็นวิทยากรในการอบรมบุคคลากรใหม่ อาจารย์ใหม่ คือเจ้าหน้าที่ทุกคนจะรู้จักเรา ในวัยอย่างนี้ ใกล้ๆ กัน เพราะทุกคนต้องผ่านมือเรา เราก็จะอบรม เพราะการเป็นวิทยากรของเราจะนันทนาการ เล่นเกม ไม่เครียด เวลาวิชาการเยอะแล้วก็ทีเรา เอามาโบกมือขึ้นนั่ง เราจะมีเรื่องเล่า มีเกมเล่น กิจกรรมที่เขาชอบ คนอื่นจะเป็นอธรรม (หัวเราะ) แต่เราจะเป็นฝ่ายธรรมะ ทุกคนก็จะชอบ พอเห็นหน้าเราแล้วทุกคนก็รู้ว่าไม่ง่วงแน่นอน”

ชีวิตก็ดำเนินต่อเนื่องอย่างนั้นราวๆ 6 ปี พอเข้าสู่ พ.ศ.2527 ชื่อเสียงด้านสันทนาการจากในรั้วจามจุรีก็กระฉ่อนดังออกไปสู่โสตประสาทผู้คนภายนอก

“คุณแดง-สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ท่านเป็นศิษย์เก่าคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ท่านคงเห็นและรู้จักเรา ก็เลยเชิญให้ไปพากย์ เพราะว่าช่วงนั้นช่อง7 ได้ถ่ายทอดสดกีฬาแห่งชาติ ก็ได้รับเชิญไปพากย์ที่พิษณุโลกครั้งแรก ตอนนั้นพากย์มวย พากย์ฟุตบอล พากย์วอลเล่ย์บอล ว่ายน้ำ พากย์แทบทุกอย่างและได้ทุกอย่าง เพราะด้วยความที่เราเรียนพละศึกษา แต่ที่ดังๆ เลยคือวอลเลย์บอล ถึงขนาดคนที่ดูทีวีอยู่บ้าน ต้องเดินทางมาดูที่สนาม เพราะว่าสมัยก่อนการพากย์ติดแบบแพทเทิร์น เขาจะมีกระดาษเขียนว่า สวัสดีครับท่านผู้ชม ขอนำท่านผู้ชมมาพบกับการแข่งขันฟุตบอลที่สนามศุภชลาศัยเป็นการเจอกันระหว่างทีมชาติไทยเจอกับทีมชาติสิงคโปร์ วันนี้ทีมชาติไทยอยู่ในชุด...อะไรก็ว่าไป คืมมันจะเป็นแพทเทิร์นอย่างนั้น แต่เราไป เราก็จะออกแบบของตัวเอง เช่นนักวอลเล่ย์บอลชื่อ ลำยอง หอมกลิ่น เราก็จะไปหาประวัติของเขาว่าสูงเท่าไหร่ หนักเท่าไหร่ อายุเท่าไหร่ ติดทีมชาติมากี่ครั้ง ชอบกินข้าวกับอะไร มันก็จะไปตามปาก

“โอ้โห...ลำยองนี้ตบหนัก เพราะว่าชอบกินแกงเขียวหวานไก่ เราก็จะมีแถม คนดูก็ชอบใจกัน”

“แต่ทางช่องไม่แฮปปี้ด้วยเท่าไหร่”
นักพากย์รุ่นใหญ่กล่าวถึงความหลังที่ความเป็นตัวตนยังคงถูกบดบังและไม่สามารถฉาดฉายแววได้อย่างเต็มที่

“ก็ต้องปรับให้ช่อง แต่พอเผลอ เราก็แยบลงไปเหมือนกัน (หัวเราะ) ก็ดำเนินชีวิตควบคู่สองทาง ทั้งการเป็นครูและนักพากย์สมัครเล่น ไม่ได้เป็นตัวจริงอยู่อย่างนี้ประมาณ 4 ปี เพราะว่าทางช่อง 7 ตอนนั้นเขาจะโด่งดังมากในเรื่องกีฬา ยุคแต่ก่อนก็จะมี มานิตย์ ควรขจร ท่านก็พากย์เป็นมือหนึ่ง เราเข้าไป สักครู่ก็จะมีจักรพันธุ์ ยมจินดา เก่งมาก ก็เข้ามา จากนั้นก็มีพี่โย่งเข้ามา (เอกชัย นพจินดา) เราก็เฟดตัวออกมา บังเอิญอาจารย์อุดม จันโอภาส และอาจารย์ชุมพล รอดคำดี ท่านเป็นอาจารย์จุฬาฯ ท่านก็เห็นว่าเรา น่าจะไปได้ไกล ก็เอาไปฝากที่ช่อง 3

“ก็เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมา ตอนนั้นถ้าใครดูช่อง 3 ต้องสุวัฒน์ กลิ่นเกษร เพราะนอกจากเราจะใส่สีสันบ้างผสมแบบแพทเทิร์นรายงานข้อมูล หลักๆ เราก็จะพากย์กีฬาต่อสู้ ก็มีมวยชกโลก กีฬาอเมริกันฟุตบอล บาสเก็ตบอล NBA เราเป็นคนแรกที่พากย์ของบ้านเรา คนก็รู้จัก แล้วบังเอิญคุณอัมพร มาลีนนท์ ท่านก็ซื้อมวยปล้ำหญิงอเมริกามาฉายทางช่อง 3 ฉายกลางคืน 16 ตอน ตอนนั้นมี ศุภพร มาพึ่งพงศ์ อยู่ด้วย ก็พากย์ด้วยกันกับพี่เขา

“พากย์ไป 4-5 ปี บิ๊กจ๊ะ (สาธิต กรีกุล) เขาก็เข้ามา เราก็เฟดย้ายอีก เพาะเราชอบดูมวยปล้ำทางวิดีโอ พี่ศุภพร พากย์ ของวีดีโอสแควร์ แล้ววันหนึ่ง พี่เขาโทรศัพท์มาหาถามว่าบอกสนใจจะพากย์มวยปล้ำทางวิดีโอไหม เราก็สนใจซิ เขาก็บอกว่างั้นไปพากย์กับ VDO World”

เส้นทางสายมวยปล้ำกับครูหนุ่มที่พ่วงตำแหน่งนักพากย์ จึงได้เดินทางมาพบปะกันเป็นครั้งแรก ก่อนจะกลายมาเป็นตำนานกระทั่งจนถึงทุกวันนี้

กำเนิด "น้าติง"
ยอดนักพากย์มวยปล้ำ

“ถามว่าทำไมเขาถึงติดต่อแนะนำมาที่เรา ก็อาจจะเพราะเขาเห็นว่าเราเคยพากย์มวยปล้ำของช่อง 3 แล้วก็เห็นสไตล์การพากย์ เราไม้รู้หรอกว่าเขาเห็นแววเราอย่างไร เพียงแต่ว่า VDO World เขาไปซื้อมวยปล้ำมาชุดหนึ่งของสมาคม AWA แล้วพี่ศุภพรแกพากย์อยู่ วิดีโอสแควร์ มันไปไม่ได้ เขาก็เลยเสนอเรา เราก็เลยไปพากย์ ไปพากย์อยู่พักหนึ่งก็ต้องหยุด เพราะบริษัทเจ๊ง (หัวเราะ)”

ไม่ใช่เพราะเรานะ”
นักพากย์ชื่อดังรีบเอ่ยถึงจังหวะเส้นทางชีวิตบนสังเวยผืนผ้าใบมวยปล้ำที่ต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง ด้วยเงื่อนไขปัจจัยภายนอก

“เพราะคอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามา เขาเป็นบริษัทครอบครัว พี่น้องเขาก็มีความรู้สึกว่าอยากทำธุรกิจคอมพิวเตอร์ แต่ก่อนตอนนั้นก็เป็นของแอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์แบบโบราณเลย เพราะเพิ่งจะเข้ามาในเมืองไทย เขาก็เปลี่ยน ยอมรื้อพวกเครื่องเทปธุรกิจที่ทำเพื่อที่จะขายคอมพิวเตอร์ เราก็ออกมาพัก แต่ช่วงออกมาก็ยังไปพากย์ช่อง 11 บ้าง ช่องโน้นช่องนี้บ้าง และก็ได้รับการติดต่อจากช่อง ททบ. 5 ใหม่มาอ่านข่าวกีฬา ก็อ่านข่าวกีฬาอยู่ช่อง ททบ.5 แล้วก็ออกมา เป็นฟรีแลนซ์ รับงานอิสระ

“ทีนี้เราจะไปไหนทันทีไม่ได้ เพราะเราก็เป็นอาจารย์สอนหนังสือ จะไปได้เฉพาะช่วงเย็น เราก็จะมีขอบเขตที่จำกัดของเรา แต่ว่าเราก็ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักพากย์ ทีวีพูล นักพากย์อะไรสม่ำเสมอ แต่ว่าเราจะไปบ่อย ก็ติดงานราชการ เราสอน ก็ไม่ยอมออก จนกระทั่งวันหนึ่งพี่ศุภพร ก็บอกว่าให้เราไปพากย์มวยปล้ำกับเขาไหม ดีใจมาก เพราะว่าเขาก็เป็นไอดอลเรา แล้วเราก็จะได้พากย์กับเขา คู่กัน

“เหตุผลเพราะว่าพี่ศุภพรเขาไปพากย์กับอีกบริษัทหนึ่งชื่อ ITV เป็นวีดีโอ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ITV ที่เป็นช่องโทรทัศน์แต่อย่างใด เป็นบริษัทที่แยกออกมาจากวีดีโอสแควร์ แล้วเขาก็เอาลิขสิทธิ์มวยปล้ำไป วีดีโอสแควร์ ก็ไม่มีคนพากย์ พี่ศุภพร แยกออกไป บริษัทก็ตั้งอยู่ข้างๆ กันเลย ติดกันเลย ย่านสะพานควาย แล้วพอตกเย็น ทางวิดีโอสแควร์ก็มาด่าๆ ฝั่ง ITV ก็ด่าๆ เพราะวิดีโอสแควร์เขาเสียหายมาก จนเรามาพากย์ เขาก็ฟ้องกัน เขาก็เอาเรามาพากย์คู่กับพี่ศุภพร แล้วสุดท้าย ITV ก็แพ้คดี วิดีโอสแควร์ได้ไป เราก็ไม่ได้พากย์เพราะว่าทางวิดีโอสแควร์เขามีคนพากย์อยู่แล้ว ชื่อคุณ ศุภฤกษ์ ยุกตะทัต เขาก็พากย์ไป เราก็เช่าวิดีโอมาดู เขาก็พากย์ดี แต่เราก็ยังพากย์ทั่วไปบ้าง เพราะว่ามันก็รับงานได้ไม่เต็ม ก็รับได้เท่าที่เราว่าง แล้วก็มันยังไม่บูม

ในระหว่างที่คาบลูกคาบดอก นอกจากกระแสที่ยังคงตัว ชื่อของสุวัฒน์ กลิ่นเกษร ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ไม่นานต่อมายังเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ต้องพบเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้เป็นอันต้องถูกเหวี่ยงหล่นเชือกสังเวียน

“คือการทำงานกับพี่ศุภพร ก็สมูทกันดี พี่เขาก็ชอบ คุยกันเฮฮา แต่เราก็จะเป็นปากสอง คนดูเขาก็พอจำเราได้ ก็มีสนใจว่าไอ้นี่มันใคร เราก็พยายามนำเสนอเหมือนกัน ผม สุวัฒน์ กลิ่นเกษร จนกระทั่งวันหนึ่ง ทางวิดีโอสแควร์เขาฟ้องร้องกับทางไอทีวี ไอทีวีก็เจ๊ง วิดีโอสแควร์ก็ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เราก็หลุดออกจากมวยปล้ำไปอีก

“ความฝันเราก็หายไปอีก เราดูวิดีโอสแควร์ประจำมาก เราก็ฝันอยากเป็นส่วนหนึ่งกับเขา” นักพากย์ชื่อดังย้ำถึงความรู้สึกในห้วงขณะนั้น ที่การหลุดพากย์เสียงอีกครั้งอีกคราจะมีเปอร์เซ็นต์ได้กลับคืนขึ้นปล้ำใส่เสียงกีฬามวยปล้ำ
จนกระทั่งต่อมาวันหนึ่ง...
“อาจารย์ที่สอนที่จุฬาฯ ด้วยกัน แต่ตอนนี้เขาเป็น ดร.แล้ว เขาชื่อ สมยศ ชิดมงคล เขามาบอกว่าวิดีโอสแควร์ กำลังหานักพากย์มวยปล้ำ ได้ยินอย่างนั้นก็รีบไปหาเบอร์โทรศัพท์จากร้านวีดีโอเลย พอโทรไปหาเฮียมาโนชที่เป็นเจ้าของ เฮียแกรับสาย แล้วรับสายเสร็จปั๊บบอกชื่อเรา สุวัฒน์ กลิ่นเกษร ครับ พากย์มวยปล้ำช่อง 3

“เขาก็บอกผมเลยว่ากำลังหาคุณอยู่เลย”
“เหตุผลที่เขาประกาศรับคนเพิ่ม ก็เพราะคุณศุภฤกษ์ ที่พากย์มวยปล้ำตอนนั้น เขามีอาชีพหลักทำไร่กระเทียม แล้วเขาต้องนั่งเครื่องบินมากรุงเทพฯ ทุกวันศุกร์ เพื่อที่จะได้มาพากย์ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ก่อนจะบินกลับในตอนเย็น แกใจรักทางด้านนี้มาก แต่บังเอิญวันหนึ่งน้ำท่วมไร่กระเทียม เขาก็ติดปัญหาตรงนั้นก็เลยมาได้บ้างไม่ได้บ้าง งานมันก็โหลด แล้วมันไกล เขาก็เลยประกาศหาคนสนใจที่จะพากย์มวยปล้ำ เราก็เลยได้ไปพากย์

“ตอนนั้นก็พากย์มวยปล้ำญี่ปุ่นก่อน เพราะว่าอเมริกา พี่ศุภฤกษ์ ยังพากย์อยู่ แต่หลังๆ หนักเข้า แกทนพิษบาดแผลไม่ไหว เราก็รับหน้าที่ตรงนั้นไป ก็กลายเป็นเราพากย์ทั้งหมดเลย ทั้ง WWE,NWA,AWA, WCCW ที่เคยอยู่ที่มวยปล้ำ VDO World ก็มาอยู่กับเรา มวยปล้ำญี่ปุ่นก็เรา พากย์ทุกคืนๆ ย้ายบ้านไปอยู่สะพานควายเลยตอนนั้น ไปซื้อคอนโดอยู่ ก็เดินไปพากย์ทุกวันๆ เราก็เริ่มสนุกกับการพากย์ เริ่มรู้จักโน่นนี่นั่นมากขึ้น เราก็เลยใส่ลูกเล่นเราเต็มที่ เพราะว่ามันเป็นของเราหมดแล้ว คนก็มาถามว่าไอ้นักพากย์มวยปล้ำคนนี้ชื่ออะไร

ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในแวดวงการนักพากย์ก็ว่าได้ นอกจากจะมีแฟนๆ เขียนจดหมายทักทายถามไถ่เรื่องราว ยังรวมไปถึงอยากรู้จักถึงชื่อเสียงเรียงนามและตัวตนใบหน้าของนักพากย์เจ้าของเสียงผู้นี้

“เขาก็ส่งจดหมายกันมาที่วิดีโอสแควร์ แรกๆ อาทิตย์หนึ่งก็ประมาณ 30-40 ฉบับ เราก็หยิบมาตอบบ้างในช่วงรายการ อาทิตย์ต่อมาก็เพิ่มเป็น 80-90-100 ฉบับ มากันเยอะมากจนไม่ไหวต้องทำช่วงรายการตอบจดหมายแยกต่างหาก แต่ตอนนั้นที่เราทำรายการตอบจดหมาย เราก็ยังไม่เปิดเผยชื่อหรือใบหน้า เพราะเราก็อายที่จะใช้ชื่อ สุวัฒน์ กลิ่นเกษร เนื่องจากเราเป็นอาจารย์ด้วย มันก็จะสวนทางกับงานพากย์ที่เราค่อนข้างจะกวนๆ วัยรุ่นๆ ทะเล้นนิดๆ เปิดไฟหน้า ไฟท้าย ก็เลยตัดสินใจใช้นามแฝง

“ตอนนั้นก็คิดว่าทางพากย์การ์ตูนเขามีน้าต๋อย เซมเบ้ (นิรันดร์ บุญยรัตพันธุ์) แล้วเราก็ชื่นชอบตัวละครมวยปล้ำตัวหนึ่งที่ชื่อสติง (สตีฟ บอร์เดน) เราก็เลยใช้ชื่อว่าน้าติงแล้วกัน ชื่อมันก็แปลกๆ แต่ก่อนแปลกมากนะ น้าติง ติงต๊อง ติงอะไร (หัวเราะ) น้าติงก็เลยถือกำเนิดเกิดขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้น”

ซึ่งตรงกับช่วงราวที่ยุคบ้านเมืองเราเปลี่ยนจากการดูหนังและภาพยนตร์จากม้วนเทปวิดีโอสู่การเป็นเคเบิ้ล กระแสมวยปล้ำก็ขจรขจาย...

บทเรียนในเชิงหมัด
ที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น

“แล้วพอดีมันก็เกิดเปลี่ยนยุคมีเคเบิ้ล ตอนนั้นชื่อ ICB เขาก็ซื้อมวยปล้ำค่าย WCW มาฉายออกอากาศ เราก็ได้รับเลือกเข้าไปพากย์ พากย์ไปไอซีบีเขาก็เปลี่ยนไปร่วมกับทาง UTV ณ ตอนนั้น กลายมาเป็น UBC เราก็พากย์มาเรื่อยๆ จดหมายก็เยอะขึ้นๆ เป็น 1,000 ฉบับต่อสัปดาห์เข้ามาร่วมรายการ เราก็มีการแจกเสื้อ แจกของที่ระลึก กระแสมวยปล้ำก็บูมมากๆ จนกระทั่งคนดูทนไม่ไหว อยากรู้จักว่าเราหน้าตาเป็นอย่างไร ไอ้น้าติงเนี่ย (หัวเราะ)

“เพราะช่วงหลังที่ทำรายการตอบจดหมาย เราเบลอหน้าดำๆ บ้าง ไม่ให้เห็น ทำหน้าตาบิดเบี้ยวบ้าง ยังไม่มีการเปิดเผย คนก็ยิ่งกระหน่ำมา”

“เคยเห็นคนเขาบ้าคลั่ง AF ในสมัยนี้กันไหม สมัยนั้น น้าติงนี้มาก่อนอีกนะ”
นักพากย์ชื่อดังอธิบายให้เห็นภาพ พร้อมกับขยับเสียงหัวเราะ

คือถึงขนาดมีคนมานั่งเฝ้าหน้าลิฟท์ที่ตึก เพื่อรอดูเราพากย์ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่คิดว่าตัวเองดังหรืออย่างไร ไม่คิดว่าตัวเองจะดังขนาดนั้น จนมีบริษัทแห่งหนึ่งเขาซื้อซีดีเพลงเปิดตัวของนักมวยปล้ำมารวมทำดู และจัดมีตติ้งมวยปล้ำครั้งแรก เขาก็ให้เราไปเป็นแขกรับเชิญ แจกลายเซ็นต์ เราก็ถามว่าคนจะเยอะหรือ เขาก็บอกว่าไม่รู้เหมือนกัน ขอให้มา 100 คนก็หรูแล้ว

“แต่ผลสรุป มาเต็มเลย เรานั่งเผลอหลับไปแป๊บเดียวช่วงก่อนเริ่มงาน พอตื่นมาบ่ายสอง คนเต็ม เข้าแถวขอลายเซ็นต์กับขอถ่ายรูป พอกลับบ้านก็บอกภรรยาว่าเราอย่างกับดาราเลย ตอนนั้นถึงได้เริ่มรู้สึกว่าทำไมคนอยากเห็นหน้า คนอยากขอลายเซ็นต์”

“ดัง” ที่ว่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่เมืองไทยที่หากจะเอ่ยจัดงานมวยปล้ำค่ายไหนหรืองานอะไรต้องมีเขาหนึ่งเดียวผู้นี้ร่วมด้วย เจ้าของต้นตำรับเมืองนอกต่างประเทศก็ยังต้องเรียกรับเชิญนักพากย์น้าติงคนนี้ร่วมรายการ

“คือหลังจากนั้นก็ทางฝรั่งต่างประเทศ เขามาทำรีเสิร์ชว่าเขาจะทำมวยปล้ำดีไหม รีเสิร์ชออกมาคือ มวยปล้ำที่ต่างประเทศดัง เพราะมันดีที่ตัวของชนิดกีฬาอยู่แล้ว แต่ของบ้านเราเมืองไทยเพราะน้าติง เขาก็ถามว่าน้าติงคือใคร เขามาเห็นก็ตกใจว่าทำไมมันดังเพราะเรา เขาก็เลยให้เราโปรโมท งานนั้นคนดูก็เยอะมาก เขาก็ประสบความสำเร็จ ครั้งที่ 2 บ้านเราเป็นคนจัดเอง ทางบริษัทอาร์เอสเป็นผู้จัด เขาก็ดึงตัวเราไป ก็สำเร็จ

“คือทุกอย่างบูมหมดเลยสำหรับมวยปล้ำ เกิดเป็นสินค้าเสื้อผ้า ตุ๊กตากันมากมาย ขายดิบขายดี เด็กๆ ทุกคนต้องดูหมด แล้วก็ต้องเป็นน้าติงเท่านั้น”

และด้วยชื่อเสียงที่เข้ามาอย่างล้นหลาม นอกจากการพากย์เสียงกีฬามวยปล้ำ ชื่อของน้าติงยังปรากฏให้ได้ยินยลรับฟังในศาสตร์แขนงการ์ตูนและภาพยนตร์อีกด้วย แม้ว่าจะไม่มากมายเพราะด้วยเวลาที่ทำงานควบคู่ทั้งสองอย่างก็แบ่งเวลาให้ไม่เพียงพอ ทำให้ส่งผลไปยังการพากย์การ์ตูนหรือภาพยนตร์ที่ต้องมีคนอื่นประกอบด้วย ไม่รู้สึกใช่ในเส้นทางสายนี้

...แต่จนกระทั่งวันเวลานี้ ที่ชื่อของน้าติง ได้กลายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของช่วงชีวิตวันวัยเยาว์ของใครหลายๆ คน จากรุ่นสู่รุ่น ที่หากใครเอ่ยกล่าวถึงกีฬามวยปล้ำแขนงนี้ ไล่เรียงตั้งแต่ บรูโน ซามมาร์ติโน ที่ปล้ำกันจิรงจัง ไม่ได้แสดงบท ต่อมามี ฮองค์ โฮแกน ตีคู่มากับ “สติง” (สตีฟ บอร์เด็น) แล้วก็ เดอะฮิตแมน เบรต ฮาร์ต , ชอว์น ไมเคิลส์ มาจนถึงสโตนโคลด์ เจ้าพ่อตัวแทนคนอเมริกันที่ต่อสู้แทนนายจ้าง นายทุนหน้าเลือด เดอะร็อค ก็จะเป็นพวกนักมวยปล้ำรุ่นใหม่ แดเนียล ไบรอัน, ทริปเปิ้ลเอช, ดิอันเดอร์เทคเกอร์ จนปัจจุบันนี้ยุคของตัวเอกชื่อดัง โรแมน เรนส์ รวมถึง “ดีน แอมโบรส”

“คือตลอดระยะเวลาที่เราเติบโตร่วมกันมา มวยปล้ำจริงๆ ไม่ได้ดูแค่มัน มันก็มีข้อคิดให้ เพราะมันมีสคริปต์ มันให้ข้อคิดว่าถ้าคุณทำดี ไม่ว่าคุณจะตกต่ำอย่างไร คุณเป็นคนดี คุณก็จะได้รับการสนับสนุน ได้รับเสียงเชียร์ แต่ถ้าคุณโกงเขา เพื่อให้ได้แชมป์ ได้ชัยชนะอะไร แต่ไม่มีใครชอบคุณเลย

“อย่างกรณีที่ฮองค์ โฮแกน พอมาเป็นอธรรม คนก็ไม่ชอบนะ เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ได้แค่เรื่องที่นอกเหนือชีวิตจริง เพียงแต่ว่ามันการปล้ำมันโอเวอร์ ท่าทางมันโอเวอร์เพื่อที่จะให้ดูออกว่าใครเลว ใครดี เท่านั้น จะแบ่งแยกออกชัดเจน แล้วก็เพื่อให้คนที่มาดูมีความรู้สึกผ่อนคลาย

“เรามาทำงานนี้ เราก็จะใช้ตรรกะอย่างนี้ ฉะนั้นมันก็แบ่งแยกให้เห็น บางทีคนเลวมันดีกว่าคนที่ทำตัวดีแต่ลึกๆ เป็นคนเลวก็ได้ มันมีหลากหลาย ชีวิตคุณก็อยู่อย่างหลอกลวงตัวเอง หลอกลวงชาวบ้าน

“แต่ถึงยังไง ท้ายที่สุด ผมก็ต้องขอบคุณแฟนๆ ที่ให้การสนับสนุนครับ ขอบคุณผู้หลักผู้ใหญ่ทุกท่านที่เอ่ยมาที่ให้โอกาส ขอบคุณภรรยาและลูกที่ให้เราได้ทำในสิ่งที่เราชอบและรัก”

เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : วชิร สายจำปา

กำลังโหลดความคิดเห็น