xs
xsm
sm
md
lg

“คนบ้า” ที่น่าขอบคุณ! อรรถพันธ์ สิริคุ้มครองกุล อดีตเซียนหุ้นผู้ทำคุณให้ผืนป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีตนักข่าวสายหุ้นและที่ปรึกษาการลงทุนในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีรายได้หกเจ็ดหลักต่อเดือน เมื่อปัญหาสุขภาพมาเยือนเพราะโหมงานหนัก ทำให้ “อรรถพันธ์ สิริคุ้มครองกุล” หมุนเข็มทิศชีวิตใหม่ พร้อมเริ่มต้นบนทางสายนักอนุรักษ์ป่า เป็น “คนบ้ากลางผืนป่า” ผู้ทำสิ่งที่มีคุณค่าและควรค่าที่จะเป็นกรณีศึกษาของคนทั้งประเทศ

ก่อนหน้านี้ ในแวดวงธุรกิจการลงทุนในประเทศไทย น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักเขาผู้นี้ “วัลลภ สิริคุ้มครองกุล” หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านหุ้นและการลงทุน กับประสบการณ์ที่อุ่นดองข้องเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ มายาวนานกว่า 20 ปี แต่นับจากวันที่ “ร่างพัง” ไม่เป็นท่า บวกกับสายตาในการมองโลกที่เปลี่ยนไปจากการได้ไปปฏิบัติธรรมและย่ำดินเดินป่าที่บ้านเกิดจังหวัดเลย นำไปสู่การพลิกเปลี่ยนเส้นทางชีวิตชนิดที่กล่าวได้ว่าคนละเส้นทาง

จากที่คิดว่าจะกลับไปอยู่บ้านเพื่อพยาบาลฟื้นฟูตัวเองจากความป่วยไข้ “วัลลภ” หรือ “อรรถพันธ์” ในกาลต่อมา ได้เดินสู่วิถีแห่งอนุรักษ์ธรรมชาติ ร่วมสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนหวงแหนป่าและอยู่ร่วมกับป่าอย่างเห็นคุณค่า สุดท้ายนำพาสู่การก่อเกิด “ป่าชุมชนบ้านบุ่งกุ่ม” อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย จนกลายเป็นกรณีศึกษาที่นักอนุรักษ์ป่าและธรรมชาติรวมถึงสถานศึกษาหลายแห่ง เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา
เงินตรา หรือสุขภาพ? เลือกเอา!

“เราอยู่กับสภาพแวดล้อมต่างจังหวัดมาตั้งแต่เด็กๆ เกิดและเติบโตที่นี่ ได้เดินภูเขา ได้เห็นป่าไม้ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของป่ามาตลอด จนมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ก็ทิ้งต่างจังหวัดมาตั้งแต่ปี 2531”

ตามวิถีค่านิยมสังคมยุคนั้นผลักดันให้คนชนบทก้าวสู่เมืองใหญ่ ด้วยใจหวังว่าทางเบื้องหน้า จะมีอนาคตศิวิไลรออยู่ บ้างสู้ชีวิตแลกเงินตรา บ้างเรียนหนังสือหนังหาเพื่อขยับฐานะ

“ผมเรียนเอกภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ชีวิตในตอนนั้นก็เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย และส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เข้ามาทำงานเป็นนักข่าวได้ ก็เนื่องจากเราไปทำงานอยู่โรงงานของคนจีน แล้วเขามีที่พักให้พักเสร็จสรรพ เป็นโกดังหลังบ้าน อยู่ที่นั่น เขาก็มีหนังสือพิมพ์ให้อ่านทุกวัน ก็เลยรู้สึกชอบ ฝันอยากจะเป็นนักข่าว อยากเขียนหนังสือ อยากทำงานหนังสือ

“พอเรียนใกล้จบ ผมได้ไปทำงานที่บริษัทซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ช่วงหนึ่ง ก็ได้เรียน C.P.Consumer ทำให้เรามีความรู้เรื่องการตลาด ตำแหน่งที่ทำ ก็ขยับค่อนข้างเร็ว แต่ด้วยใจรักอยากจะทำงานสื่อ พอจบปริญญาตรี บังเอิญเห็นประกาศรับสมัครนักข่าวของ “ไทยไฟแนนเชียล” ก็เลยลองไปสมัครดู แม้เราจะจบสายไม่ตรง แต่นักข่าวสายหุ้นตอนนั้นต้องมีแปลข่าวจากต่างประเทศ ก็เลยลอง และก็ได้ทำที่นั้นในยุคสมัยของพี่สุนันท์ ศรีจันทรา”

ตอนนั้นคือปี 2536...
“ก็ทำเรื่องข่าวกองทุน ตอนนั้นน่าจะเป็นนักข่าวกองทุนคนแรกๆ ของเมืองไทย เพราะว่ากองทุนเพิ่งได้ใบอนุญาตในปี 2535 ก็ทำข่าวมาเรื่อยๆ ย้ายไปหลายฉบับหลายแห่ง เขาก็มอบหน้าที่ให้ดูเรื่องเศรษฐกิจการลุงทุนเป็นหลัก ก่อนจะขยับมาทำสื่อทีวีและวิทยุ และด้วยประสบการณ์ที่มีมากขึ้น ก็ได้มีโอกาสทำงานเกี่ยวข้องกับการเมืองนิดหน่อย และเคยไปนั่งเป็นประธานที่ปรึกษาการลงทุนบริษัท ต้นธาร คอร์เปอเรชั่น ของคุณณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ ทำอยู่ระยะหนึ่ง แต่ก็อยู่ในแวดวงข่าว ชีวิตก็อยู่อย่างนั้น อยู่กับการลงทุนเป็นหลัก ไม่มีเรื่องต้นม้งต้นไม้มาเกี่ยวข้อง จะมีก็แค่บางจังหวะที่ไปช่วยงานของ ดร.พิจิตต รัตตกุล (อดีตผู้ว่าฯ กทม.) ด้านรณรงค์เรื่องควันพิษ พวกนี้ก็เป็นกิจกรรมทางสังคมที่ทำอยู่เนืองๆ แต่หลักๆ จะอยู่วงการหุ้นมากกว่า”

ใน พ.ศ.นั้น ชื่อ “วัลลภ สิริคุ้มครองกุล” ค่อนข้างขึ้นหม้อในยุทธจักรนักลงทุน

“ก็คิดอย่างเดียวว่าทำยังไงให้คนวางแผนการเงิน เอาเงินไปต่อเงิน แนวคิดก็เป็นแบบนี้ แบบทุนนิยม เราต้องมีเงินเยอะๆ แล้วเอาเงินไปซื้อความสุข เรามีเงินเยอะเราก็มีความสะดวกสบาย เราก็มีความสุข คนที่อยู่วงการหุ้นส่วนใหญ่จะพูดเรื่องเงิน คือเมื่อก่อนคนจะคิดกันอย่างเดียวว่า คนเราเมื่อเกษียณแล้วอยากสบาย ต้องมีเงินเยอะๆ อย่างต่ำต้อง 10-20 ล้านบาท

“ต่อมาในปี 2550-51 ก็เริ่มก่อตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเอง ชื่อ “สมาร์ทฟัน” ผลิตหนังสือเกี่ยวกับการลงทุน ก็ยังเป็นเรื่องการเงิน ได้รับการตอบรับดี จึงขยายไปซื้อเวลาของคลื่นวิทยุ 90.5 จัดรายการ “มายด์มันนี่” พูดเรื่องการลงทุนเป็นหลัก

“เราก็ทำงานๆ แสวงหาเงินมาตลอด”
อดีตนักข่าวหนุ่ม พ่วงตำแหน่งที่ปรึกษาการลงทุน เล่าความหลัง...ตั้งแต่ย่ำรุ่ง ต้องวิ่งไปทำงานข่าวควบคู่ไปกับเคลียร์งานในส่วนที่ปรึกษา ตกบ่ายเข้าไปสำนักพิมพ์ สะสางคอลัมน์ และพบปะลูกค้า

“เพราะเราทำสำนักงานเล็กๆ ทำเองทั้งหมด ตอนนั้นบางวันไม่ได้นอนก็มี เพราะต้องเร่งทำงาน ปิดต้นฉบับให้ทัน ตอนกลางคืนก็ดูการลงทุนในหลักทรัพย์ ดูหุ้นอะไรต่างๆ เป็นอย่างนี้ทุกวันไม่มีวันหยุด เพราะความคิดเราตอนนั้นอย่างที่บอก ต้องการสะสมเพื่อบั้นปลายเกษียณ ทีนี้ร่างกายมันก็เริ่มรับไม่ไหว เพราะเราใช้ร่างกายแลกกับเงินในอนาคตที่เราอยากจะได้ ก็ป่วย ไม่สบายหนักมาก หนักถึงขั้นแทบจะทรงตัวเองไม่ได้เลย สมองตื้อไปหมดเลย เขียนหนังสือก็ไม่ออก เจอคอมพิวเตอร์ เปิดขึ้นมาอ้วกทันที ทั้งๆ ที่เป็นคนที่วิ่งมินิมาราธอน 10 กิโลเมตร นี่ชอบมากเป็นชีวิตจิตใจ แต่การออกกำลังกาย ก็ช่วยไม่ได้ เพราะความเครียดเป็นบ่อเกิดแห่งโรค มันอยู่ข้างใน

ทั้งที่อายุอานามเพิ่งจะเพียงหลักเลข 3 กลางๆ เท่านั้น...
“ไปหาหมอ หมอก็บอกว่าต้องหยุด เราก็บอกว่าหยุดไม่ได้ ยังมีงานค้างอยู่เยอะ ตอนนั้นก็พยายามจะต่อสู้ ทั้งๆ ที่ร่างกายไม่ไหว หมอให้กินยานอนหลับ ไม่รู้ว่าหลับไปนานขนาดไหน ตื่นขึ้นมาก็ดีขึ้นหน่อย แต่ก็ทำงานไม่ได้ ช่วงนั้นต้องหยุดงานทุกอย่าง ก็เป็นเรื้อรังยาวอยู่อย่างนั้นประมาณสองปี เงินสะสม 7 หลัก ก็หมด แถมเป็นหนี้ เพราะระยะที่เราไม่สบาย เราไม่สามารถที่จะทำงานออกไปได้ ขณะเดียวกัน การดูแลรักษาร่างกายมันก็ค่อนข้างเยอะ ทำให้มีรายจ่ายทุกวัน แล้วรายจ่ายในกรุงเทพฯ ก็สูง เพื่อนสนิทที่รู้จัก เห็นสถานการณ์เราเป็นอย่างนั้น ก็แนะนำให้ไปเปลี่ยนชื่อ จากวัลลภ มาเป็น อรรถพันธุ์ แต่ก็ยังไม่หาย เพราะเรามันมีความอยากอยู่ คือมีความสุขกับอนาคต มากกว่าจะมีความสุขกับปัจจุบัน เรามองเรื่องอนาคตว่าเราได้สิ่งนี้แล้ว เราน่าจะมีความสุข มีรถเราก็เปลี่ยนรถ เราก็คิดว่ามันเป็นความสุข นั่นคือมีความสุข”

ซึ่งจริงๆ ก็หาใช่ความสุขไม่ อาการป่วยยังคงไม่ทรงก็ทรุด ไม่ทรุดก็ทรง ในวงเวียนเช่นนี้ กระทั่งได้ไปปฏิบัติธรรม

“เพื่อนแนะนำว่าถ้าเปลี่ยนชื่อแล้วยังไม่ได้ผล ก็ให้มาลองปฏิบัติธรรม เราก็เลยไปปฏิบัติธรรม ที่จังหวัดลำพูน วันสองวันแรกร้อนรนมาก ร้อนจนหลวงพ่อท่านสังเกตรู้อาการเรา ท่านกล่าวว่าคนบางคนก็อยากหนีกลับไปแล้ว เพราะงานก็ไม่ออก เซ็นสัญญากับลูกค้าไว้เต็มไปหมด รวมมูลค่านับเป็นล้านในช่วงนั้น คิดวนเวียน แต่พอเข้าวันที่สามที่สี่ เริ่มนิ่งขึ้น เพราะอยู่ตรงนั้น เราไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ ก็มีโอกาสคิดทบทวนหวนย้อนถึงอะไรต่างๆ

“อยู่จนครบสิบวัน เราก็ได้ความคิดขึ้นมาว่า คนเราทำไมถึงต้องแสวงหาอะไรมากมาย ความสุขที่เราเคยถูกปลูกฝังตั้งแต่เรียน ด้วยความที่เราอยู่กับนักลงทุนมาตลอด เขาก็บอกว่ามีเงินเยอะๆ แล้วเอามาซื้อความสุข จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ ความสุขของเรามันอยู่ที่เราพอใจเมื่อไหร่ เราก็มีความสุขแล้ว เราไม่ต้องไปคาดคิดกับอนาคต เพราะเราไม่รู้เลยว่าเราได้สิ่งนั้นแล้ว เราจะมีความสุขหรือเปล่า เหมือนหลายครั้ง เราได้รถมาคันหนึ่ง เป็นรถรุ่นใหม่ของปีนี้ ปีต่อไป เราเห็นรุ่นใหม่ เราก็อยากได้ มันมีแต่ความอยาก เมื่อเราจะตอบสนองความอยากของตัวเอง เราก็ต้องหาเงิน หาเงินเยอะๆ

“เงินมันเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่ซื้อความสะดวกสบาย สิ่งหนึ่งที่ยึดและปฏิบัติมาตลอดคือไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปซื้อความสุขอยู่ 4-5 วัน เหมือนที่คนทำงานชอบกล่าวกัน “ไปชาร์ตตัวเอง” แล้วก็กลับมาทุกข์อยู่กับงานในออฟฟิศ ก็เลยมานั่งนึก ความสุขจริงๆ คือการพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ เราพอใจเมื่อไหร่ ก็มีความสุขแล้ว”

“คนบ้า” กลางผืนป่า
ฟื้นฟูเยียวยาป่าเพื่อชีวิต

เมื่อคิดได้ดังนั้น หลังจากปฏิบัติธรรม อาการป่วยดูเหมือนทุเลาเบาลงบ้าง แสงสว่างทางความคิดวูบหนึ่งวิ่งเข้ามาในหัว ถ้าอยากหายป่วยไข้ ก็มีแต่ต้องกลับไปฟื้นฟูอยู่บ้านเกิด

“ตอนนั้นคิดแค่ว่าไปพักฟื้น 3-4 เดือน แล้วจะกลับมาทำงานใหม่ ยังไม่ได้คิดถึงขั้นว่าจะอยู่ถาวร แค่ไปฟื้นฟูร่างกาย แต่พอไปอยู่จริงๆ เราแบกกล้วยเครือเดียวแทบจะไม่ไหว เพราะข้างในเราอ่อนแอมาก ที่บ้านผม แม่ปลูกผักปลูกพืชขาย พอกลับไป ก็ได้ช่วยคุณแม่ ร่างกายก็ดูจะดีขึ้นเรื่อยๆ จากแต่ก่อนน้ำหนักตกวูบ ผอม ตัวคล้ำไปหมดเลย เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าพฤติกรรมการอยู่การกินมันมีผลต่อร่างกายเรา ก็เริ่มมีความคิดว่าจะปรับวิถีชีวิของตัวเอง แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ จนจังหวะที่ใกล้จะครบกำหนดกลับ แม่ไม่สบาย เราก็เลยคิดขึ้นมาจากการได้เห็นอะไรหลายสิ่งหลายอย่าง ได้เห็นความไม่แน่นอนของชีวิต และการที่เราอยู่ตรงนี้ เราจะได้ดูแลแม่ด้วย”

ในขณะที่ยังคลุมเครือ ไม่รู้จะเอาอย่างไรกับชีวิต คืนวันในป่าบ้านทุ่ง นอกจากจะค่อยๆ เยียวยาอาการเจ็บป่วย กลิ่นอายของแมกไม้ธรรมชาติยังชี้ชวนให้หวนระลึกนึกถึงถึงวัยเยาว์ และพาให้ค้นพบ

“ตอนนั้น ไปซื้อที่ทาง ซื้อไร่ เพราะตัดสินใจแล้วว่าจะอยู่ บังเอิญมีรุ่นน้องที่จากบ้านไปอยู่กรุงเทพฯ แล้วกลับไปอยู่บ้าน ก็เลยชวนกันไปประมาณว่า รำลึกความหลัง สถานที่เที่ยวเล่นของเราตอนเด็กๆ ภูเขาลูกนี้ เราเคยขึ้นไปกัน เราไม่เคยไปกันมานานมากแล้ว ก็ชวนกันขึ้นไปดู ไปเที่ยวเล่น นั่นก็ทำให้ได้ไปเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แทบไม่เหลือเค้าตอนเรายังเด็ก”

น้ำป่าที่เคยไหลทั้งปี เหือดแห้งหายไป
สีเขียวของภูเขาถูกแทนที่ด้วยสีน้ำตาลของดินและตอไม้

“ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก ทีนี้ก็เลยตัดสินใจขึ้นไปสำรวจข้างบนเลย ขึ้นเขาไปสำรวจกับน้องๆ 2-3 คน พอไปก็พบว่าข้างบนมีการบุกรุกที่ค่อนข้างมาก ก็เลยคิดพูดคุยกับน้องๆ ว่าปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ได้แล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งผลักให้เราลุกขึ้นมาทำก็คือ เราเริ่มจะปล่อยวางแล้ว เรารู้สึกว่าสามารถที่จะแบ่งปันได้ แล้วเคยไปฟังพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านได้บอกเอาไว้ว่า คนเราถ้าเราไปอยู่ในจุดๆ นั้น เราทำอะไรก็ได้ให้กับตัวเองแล้วไม่ไปกระทบสังคม กระทบคนอื่น เราสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง มันก็โอเคแล้ว แต่คุณค่าที่สำคัญที่สุดคือการให้สิ่งที่เป็นคุณค่ากับคนอื่น

“ก็มีการพูดคุย นั่งคิดกันว่าเราไม่ได้มีเงินทองมากมาย สิ่งที่เราทำได้ในชุมชนของเราก็คือการดูแล อันดับแรกเลยคือเรื่องป่า พอคุยกันเสร็จก็รวบรวมน้องๆ มาปลูกฝังแนวคิด จากคนสองคนคุยกัน ขึ้นไปสำรวจป่า โดยที่ห่างจากหมู่บ้านกันมาแต่ละคนก็ 10-20 ปี หลงทางอยู่หลายวัน กว่าจะสำรวจแนวเขตพื้นที่ป่าครบทั้งหมด และเห็นว่ามันมีปัญหาค่อนข้างที่จะเยอะ เพราะป่าทางอำเภอด่านซ้าย ช่วงปี 2545 มีพื้นที่ป่าอยู่ประมาณ 5 แสน 2 หมื่นไร่ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา เหลือพื้นที่ป่าเหลือไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ หายไปหมด ยาวไปถึงเพชรบูรณ์ สภาพไม่ได้แตกต่าง ทำให้หมู่บ้านใกล้เคียงบุกรุกผืนป่าของหมู่บ้านบุ่งกุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นป่าใหญ่ประมาณสี่พันไร่ แต่มีพื้นที่ทำกินจริงๆ ประมาณสี่ร้อยกว่าไร่ จากร้อยกว่าครอบครัว เฉลี่ยประมาณสี่ไร่ต่อครอบครัว”

จึงเกิดการรวมตัวของกลุ่มจิตอาสาต่อสู้ธำรงป่ากันขึ้นมา...
“ตอนแรกชาวบ้านส่วนหนึ่งก็คิดว่าบ้า คือเราไม่ได้ทำงานทำการทำงานอะไรกันเลย ไปเดินป่ากันอย่างเดียว ตรวจป่ากันอย่างเดียว บางคนก็ไปนอนเฝ้าป่า เขาบอกว่าเรียนจบปริญญาตรี ปริญญาโท ทำงานดีๆ คือเมื่อก่อนเรากลับไป คนเขาจะเห็นภาพลักษณ์เราอีกภาพหนึ่ง แต่วันนี้เรากลับไป เราบอกว่าเราอยากจะเป็นชาวไร่ ชาวนาธรรมดา อยากทำมาหากินง่ายๆ คนก็ไม่เข้าใจ แม้แต่คนที่บ้านก็ไม่เข้าใจ คือที่บ้าน เขาก็อยากจะให้เราทำงานมีเงินทอง มีเหมือนกับคนอื่นเขา เป็นปกติของพ่อแม่ที่อยากจะให้ลูกมีชีวิตดีๆ แต่สิ่งที่เราผ่านมา เราได้เห็นอะไรมามากแล้ว และเราก็พบว่าความสุขที่แท้จริงมันไม่ใช่ความสุขที่เราต้องมีเงินทองมากมาย ไม่ได้อยู่ที่หน้าที่การงานที่มันใหญ่โต ความสุขก็คือเราพอใจ เราวางได้เมื่อไหร่ เราก็พบความสุขของเรา คนเราไม่ได้ต้องแสวงหาอะไรเยอะ กินง่ายๆ อยู่ง่ายๆ เราก็อยู่ได้

“ก็มีปรามาสว่าคงทำได้ไม่นานหรอก เดี๋ยวก็เลิก ช่วงนั้นก็แอบน้อยใจ มีท้อเหมือนกัน เพราะการที่เราจะเดินไปติดต่อประสานงาน มันต้องใช้ทุนส่วนตัวทั้งนั้นเลย เขาบอกว่าบ้า เอาเงินไปใช้ไม่เห็นผล ไม่รู้ว่าทำไปแล้วมันจะได้อะไร หรือทำป่าแล้วจะดียังไง ในอดีตเขามองว่ากรมป่าไม้ที่ดูแลป่า ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์ รู้แต่ว่าห้ามตัดๆ แต่ไม่ได้ประโยชน์ แต่สิ่งที่เราคิดก็คือว่าถ้ามีป่าวันนี้ มันจะมีสิ่งดีๆ กลับคืนมามากมาย เราต้องทำให้เขาเห็น ให้เขายอมรับให้ได้ว่ามันมีป่าแล้วมันมีผลอะไรบ้าง

“ช่วงนั้นก็ปลุกระดม (หัวเราะ) คือนำน้องๆ มานั่งคุย พูดถึงปัญหาของป่า ก็ได้คนรุ่นใหม่เพิ่มเข้ามา พอกระตุ้นคนได้จำนวนหนึ่งแล้ว ก็ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้เรื่องของป่าทุกทางทุกอย่าง เฟซบุ๊กก็ทำ “ด่านซ้ายไทยเลย” เน้นเรื่องวัฒนธรรมการอยู่การกิน เว็บเพจก็ทำ “ที่นี้ด่านซ้าย” นำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกอันก็เป็นเพจ “ป่าชุมชน บ้านบุ่งกุ่ม” เน้นเรื่องป่า สภาพแวดล้อม ป่าเขา ต้นน้ำ 3 ตัวนี้ก็จะเคลื่อนไหวในทิศทางที่เอื้อกับชุมชน เรื่องวัฒนธรรม เรายืนยันในวัฒนธรรมของเราที่ดีงามอยู่แล้ว เรามีความภูมิใจในวัฒนธรรมของเรา วิถีของเรา แต่เราก็พยายามสร้างให้มีความภูมิใจในทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีอยู่ด้วย ตรงนี้ก็พยายามปลูกฝังกัน แต่มันก็จะมีการคัดง้างกับกลุ่มทุนหรือกลุ่มผู้มีอิทธิพลอะไรต่างๆ ด้วย

“มีกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่เมื่อเราตัดสินใจสู้ เราก็จะสู้ให้เต็มที่ ถามว่ากลัวไหม มันก้าวข้ามความกลัวแล้วล่ะ ถ้าปล่อยไว้ ชุมชนของเราก็จะย่อยยับไปหมด เราคุยกันว่าในอีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้าจะไม่มีคนมาตัดต้นไม้ในป่าเรา มันมีอยู่สองกรณี หนึ่ง ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ป่าไม้มันก็จะหมด แล้วอีก 5-10 ปีก็จะไม่มีใครมาตัดไม้อีก สอง ถ้าเราเข็มแข็งขึ้นมา อีก 5-10 ปีข้างหน้า ก็จะไม่มีใครกล้าเข้ามาตัดไม้ เราจะเลือกเอาตรงไปไหน เราเลือกเอาการดูแล เราบอกว่าเราอยากให้มีผืนป่าไว้ในชุมชนของเรา เพราะอย่างน้อยที่สุด ชุมชนของเราเสียสละพื้นที่ทำกินของตัวเอง เพื่อให้กลายเป็นป่า นั่นคือสิ่งที่เป็นความภูมิใจของคนในชุมชนเรา เราเสียสละพื้นที่ให้มีป่าถึง 4 พันไร่ แต่พื้นที่ทำกินของคนในชุมชนน้อยมาก เทียบกับหมู่บ้านอื่นๆ ถ้าเราดูและติดตามข่าวอะไรต่างๆ ทางอำเภออื่นหรือพื้นที่อื่นเขาเรียกร้องสิทธิ์พื้นที่ทำกินของตัวเอง แต่ในชุมชนของเรา เราเรียกร้องสิทธิ์ในการมีป่า เราอยากมีป่า เพราะป่าคือห่วงโซ่หลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร ขณะที่คนในชุมชนส่วนหนึ่งก็คิดว่า การดูแลป่า เป็นการได้สนองงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่า เกี่ยวกับน้ำ เมื่อเราดูแลก็เหมือนเราสนองงานพระองค์ท่าน นั่นคือสิ่งที่เราภูมิใจมากที่สุด”

แม้จะเสี่ยงอันตรายก็ไม่หวั่น
ยังมุ่งมั่นแน่วแน่ไม่แปรเปลี่ยน

“ถามว่ามันเสี่ยงไหม มันก็เสี่ยง แต่ถึงที่สุด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น มันคือความถูกต้อง เราก็จะทำต่อไป ให้เป็นประโยชน์ คือไม่กลัวแล้ว ทุกวัน ทุกคนกล้ามาก ไปตรวจป่าที่ไหน เราก็เปิดเผย เราต้องการมีผืนป่าของตัวเอง เราไม่ต้องการให้ใครเข้ามาบุกรุกพื้นที่ในชุมชนของเราแล้วสิ่งที่เราทำมันเป็นตัวที่ชี้นำการทำงานของเรา

“วันนี้ ถ้าเราไปดูโครงสร้างของการบุกรุกของป่า ชาวบ้านจะอยู่กรอบนอก นายทุนจะอยู่ตรงกลางหมดเลย นายทุนเขาใช้ชาวบ้านเป็นกลไก”
นักอนุรักษ์ผืนป่ากล่าวเสริม ก่อนอธิบายขั้นตอนการดูแลรักษาป่า

“ปี 2550 เราได้ทำ MOU ขึ้นมา ระบุไว้ชัดเจนว่า 1 ผู้ที่บุกรุก ให้ถอยออกไป 2 ผู้นำของ 3 หมู่บ้านที่ทำ MOUจะต้องร่วมกันเป็นพยานและนำผู้กระทำการบุกลงป่ามาดำเนินคดี แต่ปรากฏว่าผ่านมา ปี 2551 เราก็เริ่มปลูกป่าเป็นแนวกันชนเสร็จเรียบร้อย คิดว่าทุกอย่างมันจะจบ แต่มันไม่จบ มันไม่จบตรงที่ว่าหมู่บ้านอื่นพยายามบุกรุกเหมือนเดิม ด้วยตัวผู้บุกรกก็มาเป็นผู้นำการเมืองในท้องถิ่นบ้างอะไรบ้าง ก็ใช้กระบวนการตรงนั้นเข้ามาบุกรุก เพราะต้องเป็นนายหน้าขายที่ดินให้กับนายทุนอยู่บ้าง พวกอะไรต่างๆ ก็มาบุกรุก

“วิธีของเราจึงใช้องค์ความรู้ของบรรพบุรุษผสมผสานกับองค์ความรู้ใหม่ พยายามสร้างผืนป่าแบบยั่งยืน คือพัฒนาให้เอื้อกันและกัน ให้คนสามารถอยู่ป่าได้ ให้ป่าสามารถที่จะเอื้อกับชุมชนของเรา ดังนั้น การพัฒนาก็จะควบคู่กัน ป่าก็ฟื้นตัว ขณะที่ชุมชนเราก็เปลี่ยนแนวคิดว่าจะทำอย่างไรในการใช้พื้นที่ที่จำกัด สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าขึ้นมาได้ ตรงนี้ก็ทำควบคู่ไป เริ่มทำตั้งแต่โครงการเศรษฐกิจพอเพียง ทำสินค้าที่เป็นแบรนด์เนมของตัวเอง เมื่อมีกิน เขาก็ไม่คิดจะไปบุกรุก เพราะป่ามีประโยชน์ ทุกคนก็จะต้องดูไม่ให้ใครเข้าไปทำลาย

“ในป่า เราก็จัดโครงสร้างขึ้นมา เพราะป่ามีความหลากหลาย โซนไหนอนุรักษ์แบบยั่งยืน โซนไหนเป็นการสร้างป่าสร้างรายได้ ส่วนไหนเป็นพื้นที่ใช้สอย คือไม่ให้เข้มถึงขั้นอึดอัด เราก็จัดเอาไว้ คือทุกคนไม่ได้เรียนวนศาสตร์ แต่เราเอามาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เราไปศึกษาดูว่ามีไม้พันธุ์ไหนที่เคยมีแล้วมันหายไป เราก็นำกลับเข้ามา การเติบโตมันจะง่าย ทำให้เราจัดการได้

“ส่วนการฟื้นฟูป่า ก็ทำสองรูปแบบ อย่างแรกคือฟื้นตัวโดยธรรมขาติ ปล่อยมัน เดี๋ยวมันก็ขึ้นเอง ส่วนพื้นที่ที่ถูกบุกรุก ต้องฟื้นตัวอย่างมีการจัดการ ก็ให้ทางผู้บุกรุกที่เขายังมีปัญหา ยังหาที่สร้างรายได้ไม่ได้ ร่วมกันสร้างป่าสร้างรายได้ คือปลูกป่าให้เรา แต่คุณสามารถปลูกพืชบางชนิดเสริมได้ เช่น ปลูกกาแฟ ปลูกสมุนไพร เขาก็สามารถเก็บผลผลิตตรงนั้น ก็พยายามคิดหาแนวทางออกให้มันยั่งยืน รวมทั้งต้องคิดวางแผนการตลาดให้เขาด้วย

“อย่างเรื่องของการทำลูกประคบ เราก็ต้องวางแผนว่าเราจะเอาไปวางขายที่ไหน ทำการตลาดอย่างไร การเกษตรจะวางแผนการตลาดอย่างไร ต่อยอดให้กับชาวบ้าน สร้างอาชีพ เมื่อเขามีอาชีพ ก็ทำให้คนไม่เคลื่อนย้ายเขามาสู่ด้านสังคมเมือง

“หลังจากนั้นก็พยายามต่อสู้เรื่องการจดทะเบียนเป็นป่าชุมชน”
หนุ่มใหญ่นักอนุรักษ์เว้นวรรคหายใจ...นึกถึงเส้นทางการต่อสู้ที่ใช้ระยะเวลาหลายปี กว่าจะจัดการและวางระบบจนสามารถเรียกได้ว่าเป็นป่าของ “เรา” ชาวชุมชนบุ่งกุ่มอย่างแท้จริง

“ในป่าชุมชนก็มีปัญหา เพราะระบบของข้าราชการกับระบบของป่าไม้ค่อนข้างที่จะเยอะ แล้วยื่นจดทะเบียนป่าชุมชนไปก็มีปัญหา ติดค้างอยู่ตรงนั้น เรื่องไม่ขึ้นไปข้างบนสักที เราก็เคลื่อนไหวตลอด พยายามประสานงานที่โน่นที่นี่ แต่ก็ไม่คืบหน้า ติดปัญหาอยู่นานมาก เปลี่ยนนายอำเภอไปสองสามคนแล้ว

“ถึงที่สุดก็พาจิตอาสาเข้าไปที่กรมป่าไม้ในกรุงเทพฯ ขอพบท่านอธิบดี นั่งรอเลย ยังไงวันนี้ก็ต้องขอพบให้ได้ นั่งอยู่ประมาณ 7-8 คน สุดท้ายก็ได้ประชุมร่วมกับหลายฝ่าย ตอนนั้นท่านก็ประสานงานให้ ก็เลยทราบข้อเท็จจริงและอะไรหลายอย่างจนตัวท่านถึงกับได้เดินทางไปดูพื้นที่ของเราที่ยื่นเสนอ หลังจากนั้นก็ได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการเมื่อเดินกันยายนปีที่ผ่านมา

“เราเปลี่ยนแปลงให้เขามีความภูมิใจ นี่คือป่าของเรา นี่คือป่าที่ทุกคนมีส่วนร่วม ถ้าเรามองดูคนในประเทศไทย 70 ล้านกว่าคน มีสักกี่คนที่จะบอกว่านี่เป็นป่าของเรา คือไม่มีใครกล้าที่จะพูดว่านี่คือป่าของเรา แม้ว่าจะมีป่าชุมชนอยู่มากมายในประเทศไทย ป่าชุมชนเหล่านั้นเกิดขึ้นจากภาครัฐไปสั่งหรือจับกรอบให้ทำ แต่ของเราเสียสละที่ทำกินตัวเองให้เป็นผืนป่า ถามดูว่ามีกี่ที่ในประเทศไทยที่เสียสละที่ทำกินของตัวเอง จนมีพื้นป่าอยู่ 4,000 ไร่ ไม่มี ลองไปสำรวจดูได้เลย นี่เอาที่ดินทำกินของผมไปเป็นผืนป่า ไม่มีเลย

“ชาวบ้านที่นี่พร้อมใจกันทั้งหมู่บ้าน ไม่ทำไร่ เพื่อจะมีป่าเป็นของตัวเอง ดังนั้นผมบอกว่านี่เป็นชุมชนที่กล้าพูดว่านี่คือป่าของเรา คนในชุมชนมีส่วนร่วม ขณะเดียวกัน เราก็พัฒนาชุมชนไปด้วย ในชุมชนเราก็มีโครงการเศรษฐกิจพอเพียง นำพระราชดำรัสของในหลวงท่านมาปฏิบัติ ตอนนี้ก็กำลังจะก่อสร้างศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนขึ้นมา เพราะสิ่งที่เราคิดขึ้นมาคือหนึ่งต้องมีกินซะก่อน เมื่อมีกินแล้ว เขาก็จะไม่ไปแสวงหาอะไรที่มันมากมาย เราก็พยายามบอกโครงการต่างๆ เหล่านี้ ให้เข้ามาในชุมชนของเรา

“นอกจากนั้นก็มีการเริ่มให้คนกลับไปใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม คือเลี้ยงเป็ด ไก่ ปลูกผัก สิ่งนี้เราก็นำเข้าไป ศูนย์เรียนรู้ที่เราสร้างขึ้นมามีหน้าที่สองอย่าง หนึ่ง รวบรวมองค์ความรู้ในชุมชนที่มีอยู่ ภูมิปัญญาเรื่องสมุนไพร เรื่องวิถีชุมชน เรื่องอะไรต่างๆ เหล่านี้ นำมาเก็บเอาไว้ สอง เอาความรู้ใหม่ๆ เพื่อไปถ่ายทอดประยุกต์ใช้จริงในชีวิต ผลผลิตบางส่วนของป่า เราเอามาสอนให้แปรรูป พัฒนาขึ้นมาได้ ถ้าเขาอยากจะเห็นตัวเลข เราก็บอกว่าคิดดูสิ เรามีป่าอยู่ เราเก็บเห็ดได้เท่าไหร่ หน่อไม้ได้เท่าไหร่ แม้แต่ผลไม้ป่าที่เขาเก็บมา เราบอกว่าได้เท่านั้นเท่านี้ ก็สอนเขา แต่ถ้าสมมุติว่าเราตัดต้นไม้ต้นหนึ่ง เอามาเผาถ่านขาย อย่างมากก็ 7-8 ร้อยบาทต่อต้นหนึ่ง แต่ถ้าเราเก็บลูกของมันเอามาขาย กิโลกรัมหนึ่ง 60-80 บาท ปีหนึ่งก็หลายพันบาท แล้วมันได้ทั้งปีทุกปี มันไม่ได้รอบเดียวแล้วจบ

“เราต้องทำให้เขาเห็นภาพ อย่างหน่อไม้ ที่ผ่านมาไม่มีใครมาจัดการแปรรูปเป็นหน่อไม้สูญญากาศ เราก็ช่วยหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เขา หนึ่ง การดูแลรักษามันจะยาวนาน สองไม่มีเรื่องสารตะกั่ว เพราะไม่ใช่หน่อไม้อัดบีบ เราก็บอกว่าตรงนี้มันก็จะมีมูลค่าของมันแล้ว มูลค่าที่จะทำรายได้ หรืออย่างตอนนี้เรามีกลุ่มสมุนไพร เราก็ส่งเสริมให้เขาปลูก จะปลูกเสริมในป่าหรือปลูกเสริมในพื้นที่ส่วนตัวเขาก็ได้ แต่ให้ยึดหลักอย่างหนึ่งว่าอย่าไปทำร้ายต้นไม้ ตัดต้นไม้ เพราะต้นไม้มันเอื้อเรา มันมีมูลค่ามหาศาล ถ้าเรามีป่า เราก็มีกิน เรามียา มีอาหาร มีไม้ใช้สอย เรามีครอบทุกสิ่งอย่าง ที่สำคัญเรามีอากาศที่บริสุทธิ์และมีสุขภาพที่ดี สิ่งเหล่านี้ทุกคนต้องการ คนต่างถิ่นเขาไม่มีโอกาสที่จะอยู่ได้ในลักษณะนี้ เราก็เริ่มเปลี่ยนแนวคิด จากกลุ่มหนึ่งไปอีกกลุ่มหนึ่ง จากเด็กสู่เยาวชนในชุมชน ไปบวชป่า เด็กตัวเล็กๆ ไปถามได้เลย อย่างที่รายการทีวีไปถาม เอาเงินให้แลกกับตัดต้นไม้ ตัดไหม เด็กก็บอกว่าไม่ตัด เพราะจะเอาไว้ให้ลูกหลาน ขนาดเด็กยังบอกว่าเอาไว้ให้ลูกหลาน คิดดู ก็เป็นทิศทางว่าเราเริ่มปลูกฝังได้แล้ว”

ป่าอยู่ คนยัง
อนาคตอยู่ในมือเรา

“การพัฒนาป่า ต้องมองยาว ไกล และกว้าง เราวางไว้ว่าภายในสิบปีหลังจากได้รับใบอนุญาตป่าชุมชน เราอยากเห็นอะไรบ้างเกิดขึ้นในป่าของเรา และต่อไปจะเป็นอย่างไร มันจะเกิดการพัฒนาอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกัน เรามองที่มันกว้างขึ้น ให้มันยั่งยืนขึ้น โดยมีโครงหลักที่ว่าเป็นเรื่องของการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ให้เอื้อซึ่งกันและกัน ดังนั้น ไม่ว่าเราจะพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ เราต้องไปมองที่โครงหลักของเราไว้ ก็คือการไม่ทำลายป่าธรรมชาติที่เรามีอยู่ ป่านี้มันจะมีผลต่อชุมชนอย่างไร มีผลต่อสังคมสิ่งแวดล้อม ประเทศของเราอย่างไร เราก็อธิบายให้เขาเข้าใจ จะได้ไปในทิศทางที่ถูก”
หนุ่มนักอนุรักษ์ เผยถึงทิศทางข้างหน้าที่จะทำให้ป่ายั่งยืนถาวร

“ตรงนี้ที่เราทำมา มันเป็นแค่การเริ่มต้น สิ่งที่เราต่อสู้มาทั้งหมด เรานับแค่ 1 ต่อไปในป่าชุมชนบ้านบุ่งกุ่มจะเป็นปอดที่ใหญ่ที่สุด และเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับนักเรียนในท้องถิ่นหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายมหาวิทยาลัยเริ่มเข้ามาศึกษาดูงาน เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยสงฆ์ ตรงนี้ก็จะกลายเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ที่เขาสามารถจะไปเห็นสภาพแวดล้อมที่จริงมากกว่าที่จะต้องไปดูในตำราและฟังจากการอธิบาย รวมไปถึงจะกลายเป็นแหล่งที่นักวิจัยได้มาวิจัย คนก็จะสนใจในการเล็งเห็นความสำคัญของผืนป่า

“ที่สำคัญมันเหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ที่สามารถบ่มเพาะแง่มุมความคิดเราด้วยได้ เพราะชีวิตหลังจากเข้ามาอยู่ตรงนี้ ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วความสำเร็จชีวิตของคนเรา มันมีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป บางคนความสำเร็จคือการหาเงินให้ได้เยอะๆ บางคนมีหน้าที่การงานดีๆ มีหน้ามีตาในสังคม นั่นคือความสำเร็จของเขา แต่ในกลุ่มของเรา คือเราอยากจะเห็นผืนป่า เห็นแล้วมันมีความสุข ขึ้นไปป่าแล้วสบายใจ เหมือนเราไม่ต้องมาแบกภาระ เราทำงานอยู่กรุงเทพฯ แบกเยอะมาก แต่มันไม่ใช่เป็นคำตอบที่เราต้องการ คือถ้าคนยังไม่สบายจนถึงที่สุด เขาจะไม่หยุดแสวงหาเลย เขาถึงบอกว่ามีเงินทองมากมายกับมีสุขภาพที่ดี จะเลือกเอาตัวไหน มีเงินแล้วไม่สามารถที่จะเอาเงินพาตัวเองไปไหนได้ ก็เท่านั้น

“สมัยเป็นนักข่าว ผมเคยสัมภาษณ์นักธุรกิจเป็นร้อยๆ ท่าน ถามว่าบั้นปลายชีวิตอยากทำอะไร ท่านบอกว่าอยากจะไปอยู่บ้านสวน เลี้ยงหลาน ปั่นจักรยาน ก็ยังมานั่งนึกอยู่ว่าทำไมต้องรอขนาดนั้น วันนี้ถ้าลำพังที่เขาจะทำกระท่อมสักหลัง สามารถทำได้เป็นสิบๆ หลัง แต่ทำไมต้องรอเวลา ต้องรอเกษียณ รออายุ 60-70 ปี ตอนนั้นร่างกายอาจจะไม่พร้อมแล้วก็ได้

“แต่เราก็เข้าใจความรู้สึกว่าเขาก็อยากจะทำในลักษณะนั้น ถ้าเรามองโลกยุคใหม่คนยุคใหม่ กระแสเรื่องการไปอยู่ชนบทแรงมาก แต่ไม่มีใครกล้าตัดสินใจ ไม่มีใครกล้าจะไปอยู่ เพราะถ้าเขาไปแล้ว เขาไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ทำอย่างไรบ้าง มีหลายคนไปแล้วประสบความสำเร็จ เปลี่ยนกระแส เปลี่ยนทิศตัวเอง แต่คนส่วนใหญ่อยาก แต่ยังไม่กล้าตัดสินใจ บางคนก็บอกว่ามีภาระเยอะเหลือเกิน บ้านก็ต้องส่ง รถก็ต้องผ่อน มันก็เลยทำให้เขาไม่กล้าตัดสินใจ

“แต่ในส่วนตัวของเรา ผมไม่มีครอบครัวด้วย เราตัดสินใจ เรากล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะโดนคนดูถูก ไปเรียนมาเยอะแยะ ทำไมมาอยู่ต่างจังหวัด ดูเป็นคนบ้าในสายตาชาวบ้าน แต่ตอนนี้ หน่วยงานต่างๆ ก็ต้องวิ่งมาหาคนบ้าอย่างเรานี่ล่ะ และเป็นความโชคดีที่จิตอาสาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ คิดในทิศทางเดียวกัน ใช้เทคโนโลยีเป็น แต่มีแนวคิดอยากใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย

“เรากินสิ่งที่เราปลูก เรามีเงิน 100 บาท เราสามารถจะอยู่ได้ ลงไปข้างล่างก็มีผัก เข้าไปเล้าก็มีไก่ มีไข่กิน ลงไปที่แม่น้ำก็มีปลากิน ขึ้นป่าก็มีเห็ด มีหน่อไม้ มีผักหวาน มันก็อยู่ได้ ไม่ต้องไปดิ้นรนอะไรมากมาย ที่เราดิ้นรนกันมากๆ มันเป็นการบริโภคส่วนเกิน ด้วยความที่ตัวเองยังมีความอยากได้อยากมี

“จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ตัวของเราทั้งหมดเลย เราทำอะไร เราก็จะได้สิ่งนั้น มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเราอยากจะเป็นอย่างไรในอนาคต ปัจจุบันที่เราทำ มันจะสะท้อนกลับเข้ามาเอง”








เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ศิวกร เสนสอน และเพจเฟซบุ๊ก ป่าชุมชน บ้านบุ่งกุ่ง

กำลังโหลดความคิดเห็น