xs
xsm
sm
md
lg

ส่องความลับของ “เทียนไข”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ว่าปัจจุบันจะมีไฟฟ้าใช้กันแล้ว แต่เทียนไขก็ยังมีบทบาทในชีวิตและสังคม เพราะความผูกพันนั้นฝังรากลึกอยู่ในความรู้สึกนึกคิดในเชิงสัญลักษณ์ ที่ปรากฏผ่านวัฒนธรรมของหลายชนชาติ ดังเช่นในเทศกาลเข้าพรรษาของศาสนาพุทธบ้านเรา

ท่ามกลางความแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทำให้การส่งทอดความหมายของเทียนขาดพร่องอยู่บ้าง จึงเกิดข้อสังเกตและข้อสงสัยหลายอย่าง ซึ่งไม่เพียงเกี่ยวข้องกับบทบาทในเชิงสัญลักษณ์ หากรวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพของคนเราด้วย มาร่วมเจาะลึกความลับของเทียนไขให้ถึงระดับอณูกันเถอะ

“เทียน” มีความเป็นมาอย่างไร
ประวัติของเทียนมีหลายแหล่ง บ้างว่าเริ่มต้นเมื่อ 2,200 ปีก่อนในประเทศจีน เทียนสมัยนั้นทำจากไขปลาวาฬ บ้างก็ว่าทางยุโรปมีเทียนใช้มาแต่ยุคโบราณเหมือนกัน ทำจากไขมันพืช ไขมันสัตว์และขี้ผึ้ง โดยใช้แก่นของพืชเป็นไส้เทียน เช่น ต้นกก

เมื่อเทียบไขมันสัตว์กับขี้ผึ้งแล้ว ขี้ผึ้งมีคุณภาพดีกว่ามาก เผาไหม้สะอาดกว่า เกิดควันน้อยกว่า กลิ่นดีกว่า เทียนขี้ผึ้งจึงมีราคาแพง มีใช้แต่ในบ้านเศรษฐี หรือในพิธีทางศาสนาในโบสถ์คริสต์ เปลวไฟสูงมากๆ ก็ทำให้เกิดเขม่ามากไปด้วย จึงต้องคอยตัดไส้ไม่ให้ยาวมาก

ต่อมาใน ค.ศ. 1848 เจมส์ ยัง นักเคมีชาวสก็อต กลั่นไขพาราฟินได้จากถ่านหิน พาราฟินที่ได้นั้นเผาไหม้ดี ไม่มีกลิ่น ราคาถูก ใช้ผลิตเทียนได้คราวละมาก เทียนจากพาราฟินจึงเริ่มเป็นที่นิยม

สำหรับประเทศไทย น่าจะมีการใช้เทียนมาตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย เพราะมีการถวายเทียนเข้าพรรษาจัดเป็นพิธีใหญ่ในสมัยนั้นแล้ว

ทำไมในพิธีทางศาสนาพุทธ ต้องจุดเทียน 2 เล่ม
เวลาจุดเทียนไหว้พระ เทียนจะมาเป็นคู่เสมอ พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม ได้กล่าวถึงเรื่องการจุดเทียน 2 เล่ม ไว้ในหนังสือ “ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม” ว่า

“เทียนเป็นเครื่องหมายของการบูชาพระธรรม จะเห็นว่า การบูชาด้วยเทียนนี้ ใช้เทียน 2 เล่ม ทำไมใช้เทียน 2 เล่ม พระพุทธศาสนานั้นแยกเป็น 2 ส่วน คือ ธรรม กับ วินัย เราเรียกว่า พระธรรมวินัย เป็นชื่อแท้ของพระพุทธศาสนา

ธรรม กับ วินัย รวมกันทำให้เป็นพระพุทธศาสนาอยู่ได้ ถ้ามีแต่ธรรม ไม่มีวินัย ธรรมก็ดำรงอยู่ไม่นาน มีแต่วินัย ไม่มีธรรม วินัยก็ไม่รู้จะสื่อไปถึงอะไร

วินัยเป็นเครื่องสื่อถึงธรรม ขยายความหน่อยว่า วินัยมาช่วยสื่อให้ถึงธรรม โดยเป็นเครื่องฝึกคน เพื่อจะนำคนให้ถึงธรรม เป็นเครื่องมือของธรรมในการจัดสรร และจัดการสังคมของมนุษย์ และธรรมจะปรากฏเป็นประโยชน์แก่หมู่มนุษย์ ถึงขั้นที่มนุษย์จัดการให้เป็นไปได้ ก็ด้วยอาศัยวินัยที่เป็นสมมติ เป็นรูปแบบ

ธรรมเป็นของจริงในธรรมชาติ เป็นเนื้อหาสาระที่ต้องการ วินัยเป็นรูปแบบ เป็นการจัดตั้งวางระบบแบบแผนในสังคม ในหมู่ชน เพื่อให้มนุษย์เข้าถึงธรรม เป็นไปตามธรรมในทางที่จะได้ประโยชน์จากธรรม ทำให้ความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ปรากฏผลออกมาแก่หมู่มนุษย์

รวมแล้วก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของพระพุทธศาสนา 2 อย่าง คือ ธรรม กับ วินัย ด้วยเหตุนี้ เราจึงใช้เทียน 2 เล่ม เป็นสัญลักษณ์ของ พระธรรม กับ พระวินัย

ทีนี้ เทียนนั้นจุดแล้วให้ความสว่าง ก็เหมือนกับธรรม รวมทั้งวินัยที่เป็นเหมือนดวงประทีปส่องสว่าง ทำให้คนมองเห็น คือทำให้เกิดปัญญา มีความรู้เข้าใจ แล้วรู้จักดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง พัฒนาคุณความดีอะไรต่างๆ ตลอดจนลุถึงสัจธรรม นี้เป็นความหมายของเทียน ที่ใช้บูชาพระธรรม”

ตักบาตรเทียนก็มีด้วยหรือ?
ในช่วงเข้าพรรษาซึ่งเป็นหน้าฝน พระวินัยบัญญัติให้พระสงฆ์อยู่จำวัด เพื่อจะได้ไม่ออกไปจาริกแล้วเหยียบย่ำไร่นาและสัตว์ต่างๆ ที่ออกหากิน ขณะเดียวกัน การจำพรรษายังเป็นโอกาสของพระสงฆ์-สามเณร ในการศึกษาพระธรรมวินัยจากครูบาอาจารย์ด้วย ซึ่งต้องใช้เทียนส่องสว่างในยามค่ำคืน ชาวบ้านเห็นความจำเป็นนี้จึงนำเทียนมาถวาย

การถวายเทียนในช่วงเข้าพรรษา จึงกลายมาเป็นประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชนไทยตั้งแต่ครั้งอดีต ที่วัดวาอารามต่างๆยังไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยมีพิธีที่แตกต่างกันไปในแต่ละถิ่น เช่น ภาคอีสานนิยมจัดทำเทียนขนาดใหญ่ เรียกว่า เทียนพรรษา แกะสลักอย่างงดงาม แล้วแห่แหนเป็นขบวนรื่นเริงสวยงามไปถวายพระที่วัด

ขณะที่บางแห่งนิยมใส่บาตรเทียน หรือธูปเทียนดอกไม้ เช่น ประเพณีใส่บาตรเทียนของชาวอำเภอเวียงสา ณ วัดบุญยืน (พระอารามหลวง) ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี หลังเข้าพรรษา 1 วัน เป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 215 ปี ส่วนที่นครศรีธรรมราชมีประเพณีตักบาตรธูปเทียนถวายพระสงฆ์จากวัดต่างๆ ที่ไปชุมนุมพร้อมกันที่วัดมหาธาตุ หลังจากตักบาตรธูปเทียนแล้ว ชาวบ้านจะจัดธูปเทียนบูชาเจดีย์ บูชาวิหาร บูชาพระพุทธรูป บูชาบัวอัฐิ อธิษฐานปักไว้ที่ฐานเจดีย์ ฐานวิหาร ฐานพระพุทธรูป เพื่ออุทิศส่วนกุศลและบูชาศาสนสถาน

ประเทศตะวันตกมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับเทียนไหม
“เทียน” นอกจากจะให้แสงสว่าง ช่วยขับไล่ความมืด ยังเป็นสัญลักษณ์ของอะไรหลายอย่าง เช่น การบูชา ความหวัง กำลังใจ ความรัก การระลึกถึง การผ่อนคลาย เป็นต้น จึงมีการใช้เทียนในโอกาสต่างๆกันทั่วโลก เช่น ในพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ ใช้เทียนในการประกอบพิธีเช่นเดียวกับศาสนาพุทธ

นอกจากนี้ ยังนิยมจุดเทียนเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส วันเกิด หรือเทียนบนเค้กแต่งงาน อย่างที่คนไทยก็รับวัฒนธรรมนี้มาด้วย รวมทั้งมีการจุดเทียนชีวิตคู่ในพิธีแต่งงานที่โบสถ์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของบ่าวสาว ว่าแต่ละคนเกิดมามีชีวิตของตัวเอง (ถือเทียนคนละเล่ม) เมื่อมาแต่งงานกันก็มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ร่วมกันเป็นครอบครัว (นำเทียนของตัวเองไปจุดเทียนชีวิตคู่ ในพิธีจึงมีเทียนทั้งหมด 3 เล่ม)

อีกหนึ่งพิธีการจุดเทียน ซึ่งเริ่มแพร่ไปในหลายประเทศ ได้แก่ การจุดเทียนแสดงความอาลัยผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็ก ซึ่งเชื่อว่าแสงเทียนจะช่วยส่องทางให้แก่ดวงวิญญาณเหล่านั้น โดย องค์กรเดอะคอมแพสชั่นเนทเฟรนด์ (The Compassionate Friends) ในสหรัฐอเมริกา ได้กำหนด วันจุดเทียนทั่วโลก (Worldwide Candle Lighting Day) ในวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนธันวาคมของทุกปี เวลาหนึ่งทุ่มตามเวลาท้องถิ่น เริ่มมาตั้งแต่ปี 1997 เพื่อไว้อาลัยแก่เด็กๆ ที่เสียชีวิตจากการเจ็บป่วยและเหตุการณ์ต่างๆทั่วโลก และเชิญชวนคนทุกชาติทุกศาสนาร่วมกันจุดเทียนด้วย

“เทียน” ยังคงสร้างบทบาทใหม่ของตัวเองในวิถีชีวิตของคนยุคใหม่อยู่เสมอ แล้วแต่ว่าจะมีการนำไปใช้เพื่อประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ใดบ้าง เช่นที่คนไทยสมัยก่อนใช้เทียนอบขนมให้หอมกรุ่น แต่ยุคสมัยนี้นิยมทำเป็นเทียนแฟนตาซีประดับเพื่อความสวยงาม หรือเทียนหอมเพื่อให้กลิ่นสร้างความผ่อนคลาย เป็นต้น

เทียนไขที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทำมาจากอะไร..ทำไมเผาไหม้ช้า
ส่วนประกอบหลักๆ ของเทียนไขคือ เนื้อเทียน กับไส้เทียน เพียงแค่นี้แต่ก็มีรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่แฝงอยู่มากมาย

ไส้เทียน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญมาก ทำจากเส้นด้าย (ฝ้ายหรือป่าน) ฟั่นเป็นเกลียว ทำหน้าที่เป็นแหล่งเชื้อเพลิงและตัวดูดซับขี้ผึ้งเหลวหรือพาราฟินเหลวให้ขึ้นไปตามตัวไส้เทียน เพื่อให้เกิดการเผาไหม้อย่างต่อเนื่อง ไส้เทียนต้องชุบสารป้องกันไฟ เพื่อไม่ให้ถูกเผาไหม้เร็วเกินไป และต้องเคลือบสารติดไฟง่ายเพื่อให้จุดไฟติดด้วย

เนื้อเทียน ทำจากพาราฟิน หรือขี้ผึ้ง พาราฟินเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากกระบวนการแยกน้ำมันดิบ หรือก๊าซธรรมชาติ ในพาราฟินมีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนหลายชนิด ชาวบ้านมักเรียกว่าขี้ผึ้งน้ำมันหรือขี้ผึ้งถ้วย ตามรูปร่างที่มีจำหน่ายในท้องตลาด

ส่วนขี้ผึ้ง คือ ไขที่ผึ้งขับออกมา เพื่อนำไปใช้สร้างและซ่อมแซมรังผึ้ง ขี้ผึ้งเป็นของผสมของสารต่างๆ เช่น สารไฮโดรคาร์บอน สารโมโนเอสเทอร์ สารไดเอสเทอร์ และอื่นๆอีกหลายชนิด เนื้อขี้ผึ้งมีความเหนียวและอ่อนตัวได้ง่ายเมื่อได้รับความร้อนไม่มากนัก นำมาเปลี่ยนรูปร่างได้ง่าย เมื่อใช้ในการฟั่นเทียน ก็เพียงแค่คลึงก้อนขี้ผึ้งรอบไส้ เวลาจุดเทียนขี้ผึ้ง จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ จากขี้ผึ้งด้วย

แต่ขี้ผึ้งในธรรมชาติมีน้อยลงเรื่อยๆ ราคาก็สูงมาก จึงต้องนำพาราฟินมาหลอมและหล่อเป็นเทียน ที่ต้องใช้วิธีหล่อเพราะขี้ผึ้งพาราฟินแข็งและเปราะ ไม่สามารถนำมาฟั่นด้วยมือได้ เทียนสำหรับแกะสลักลวดลายจึงต้องผสมขี้ผึ้งธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความเหนียว

เมื่อเราจุดเทียน ไส้เทียนจะลุกไหม้ ความร้อนของเปลวไฟทำให้เนื้อเทียนไขบริเวณโคนไส้เทียนเกิดการหลอมเหลว และถูกดูดซับเข้าไปในตัวไส้เทียน บางส่วนที่ถูกดูดซับจะระเหยกลายเป็นไอ เนื่องจากความร้อนจากเปลวไฟ และบางส่วนจะถูกเผาไหม้ไปพร้อมกับไส้เทียน เปลวเทียนที่เกิดขึ้นเป็นการเผาไหม้ของเนื้อเทียน ไม่ได้เกิดจากการเผาไหม้ของไส้เทียนโดยตรง

จริงหรือที่ว่ากันว่า “เทียนไข” อันตรายต่อสุขภาพ
ในความเรืองไสวของเปลวไฟ ที่นอกจากจะช่วยส่องสว่าง ขับไล่ความมืด และยังประโยชน์ด้านจิตใจนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังพบ “อันตราย” แฝงอยู่ในเทียนไขด้วย มีรายงานของผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซาท์คาโรไลนา สหรัฐอมเริกา ว่า เทียนพาราฟินจะปล่อยควันพิษ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดและหอบหืด ขณะที่ควันเทียนที่ทำจากไขพืชจากถั่วเหลืองไม่พบสารพิษนี้

ควันพิษที่ปล่อยออกมานี้ พบสารเคมีหลายชนิด เช่น โทลูอีนและเบนซีน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเผาไหม้ในอุณหภูมิที่ไม่สูงพอ ทำให้โมเลกุลอันตรายซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งถูกปล่อยออกมา หากจุดเทียนจำนวนมากในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี เช่น ในห้องน้ำ บนโต๊ะอาหาร เป็นประจำทุกวันนานหลายปี จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

ส่วนไส้เทียนที่ส่วนใหญ่ทำจากด้ายฟั่นเป็นเกลียว มีคำเตือนเกี่ยวกับสารผสมในไส้เทียนว่า อาจจะมีสารพิษเจือปนอยู่หลังการฟอกสีด้ายดิบ และมีตะกั่วที่ใส่มาเพื่อให้ไส้เทียนคงรูปและตั้งตรงอยู่ได้เวลาที่เนื้อเทียนละลายหลังการจุดไฟ เมื่อไส้เทียนที่มีตะกั่วผสมอยู่เผาไหม้ จะปล่อยสารตะกั่วออกมาในอากาศ การใช้ตะกั่วกับไส้เทียนเพิ่งจะมีในช่วง 40 ปีที่ผ่านมานี้เอง ในปี ค.ศ. 1974 สมาคมเทียนนานาชาติของสหรัฐอเมริกา (National Candle Association หรือ NCA) จึงได้เรียกร้องและมีการลงนามในสัญญา ให้บริษัทที่ผลิตเทียนยกเลิกการใช้ตะกั่วในไส้เทียน

ดังนั้น บริษัทผลิตเทียนจึงต้องหาสิ่งอื่นมาทดแทน เช่น ใช้กระดาษหรือถักไส้เทียนเป็นเปีย แต่ส่วนมากจะเปลี่ยนไปใช้สังกะสีแทนตะกั่ว ซึ่งแม้จะไม่มีความเป็นพิษมากเท่า แต่การหายใจเอาควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของสังกะสีในปริมาณมากๆ ก็ทำให้เกิดโรคไข้ควันโลหะ (Metal Fume Fever) คือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ และอาจมีสีผมและผิวหนังเปลี่ยนไป นอกจากนี้ ยังพบการใช้ดีบุกผสมในไส้เทียนแทน ดีบุกอาจจะไม่มีความเป็นพิษ แต่ทั้งในสังกะสีและดีบุกมีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่เล็กน้อย และการตรวจสอบก็ทำได้ยาก

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดน่าเชื่อถือพอที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่า ไส้เทียนนั้นใช้สารโลหะใดเป็นตัวผสม และการวิจัยทั้งหลายก็ยังไม่ยืนยันถึงความเป็นพิษของส่วนผสมต่างๆ อย่างแน่ชัด แต่ข้อมูลทั้งหมดนี้ก็ช่วยเตือนให้เห็นอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ใช้เทียนอย่างไรให้ปลอดภัย
มีข่าวบ่อยครั้งที่เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากการจุดเทียน และยังเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตและศึกษาอันตรายจากเทียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ผู้ใช้ก็ควรระมัดระวังในเรื่องนี้

สมาคมเทียนแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Candle Association) ได้เสนอกฎเหล็กการใช้เทียนให้ปลอดภัย ดังนี้

• จุดเทียนแล้วต้องระวังให้อยู่ในสายตา ก่อนเข้านอน ต้องดับเทียนให้เรียบร้อย
• ไม่ตั้งเทียนบนอะไรก็ตามที่ติดไฟได้ วางให้ห่างเฟอร์นิเจอร์ ผ้า เตียง พรม หนังสือ กระดาษ หรือของแต่งบ้านที่ติดไฟง่าย เป็นต้น
• ตั้งเทียนให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
• ตัดไส้เทียนให้เหลือยาว ¼ นิ้วก่อนจุด ถ้าไส้เทียนยาวหรือคดงอ จะทำให้เผาไหม้ไม่ดี
• ต้องตั้งบนเชิงเทียนที่ออกแบบมาสำหรับใส่เทียนโดยเฉพาะเสมอ เพื่อให้เทียนตั้งมั่นคงและรองรับน้ำตาเทียนได้
• วางเชิงเทียนบนพื้นเรียบและทนความร้อน
• เชิงเทียนควรสะอาด ไม่มีไส้เทียน เศษไม้ขีดไฟ หรืออื่นๆ หรือกระทั่งน้ำตาเทียนเก่าที่แห้งค้างอยู่
• อย่าวางใกล้ทางลม ช่องหน้าต่าง พัดลมเพดาน เพราะทำให้เทียนหมดเร็ว แต่เผาไหม้ไม่สม่ำเสมอ และลมอาจพัดปลิววัสดุไหม้ไฟง่ายมาโดนเปลวไฟ
• จุดเทียนในห้องที่อากาศถ่ายเท อย่าจุดในที่แคบอับลม
• อย่าจุดเทียนจนเทียนหมด ถ้าเนื้อเทียนเหลือน้อยเกือบหมดแท่งให้ดับเลย ปลอดภัยที่สุดคือ เหลือครึ่งนิ้วถ้าอยู่ในภาชนะรองรับน้ำตาเทียน หรือสองนิ้วถ้าไม่มีภาชนะรองรับ
• ไม่ควรจับหรือเคลื่อนย้ายเทียนที่จุดอยู่ เพราะน้ำตาเทียนร้อน จะโดนลวกได้
• ไม่ควรใช้มีดหรือของแหลมคมแคะแงะน้ำตาเทียนออกจากภาชนะแก้วที่ใส่ เพราะจะทำให้เกิดรอยขีดข่วน เนื้อแก้วจะไม่แข็งแรงทนทาน แตกง่าย
• ถ้าจุดเทียนหลายเล่ม ให้วางห่างกันอย่างน้อยสามนิ้ว จะได้ไม่ส่งความร้อนถึงกันแล้วเทียนละลาย หรือเกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์
• ใช้ที่ดับเทียน ไม่ควรเป่า เพราะน้ำตาเทียนจะกระเด็นใส่
• อย่าใช้น้ำดับเทียน น้ำทำให้น้ำตาเทียนกระเด็น และอาจทำให้ภาชนะใส่ที่เป็นแก้วแตก
• ระวังเป็นพิเศษถ้าใช้เทียนตอนไฟดับ ควรใช้ไฟฉายดีกว่า
• ถ้าเทียนเกิดควันบ่อยๆ หรือเปลวไฟสูง ควรดับทิ้ง เพราะเกิดการเผาไหม้ไม่ดี
• อย่าใช้เทียนแทนไฟฟ้าส่องสว่าง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 187 กรกฎาคม 2559 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น