xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าเชียงใหม่สั่งประหารคนถือคริสต์! เชื่อคำสอนพระเจ้า มากกว่าคำสั่งเจ้าเมือง!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
คงจะยากที่จะหาประเทศใดในโลกที่เปิดเสรีในการนับถือศาสนาได้เท่าประเทศไทย นอกจากรัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นองค์อุปถัมภ์ทุกศาสนาแล้ว จิตใจของคนที่นับถือศาสนาพุทธอันเป็นศาสนาประจำชาติ ยังเปิดกว้างไม่มีความรู้สึกกีดกันศาสนาอื่นใดทั้งสิ้น แม้แต่คนในบ้านไปแต่งงานรับเอาคนต่างศาสนามาอยู่ร่วมหลังคาเดียวกัน ก็ยังอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

แต่ตอนต้นรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ได้เกิดเรื่องที่ทำให้คนตะวันตกที่กำลังแผ่อิทธิพลเข้ามาในเอเชีย เข้าใจผิดคิดว่าเมืองไทยเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาคริสต์ เพราะเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้สั่งประหารคนนับถือศาสนาคริสต์ไป ๒ คน และยังประกาศต่อหน้าข้าหลวงจากกรุงเทพฯและคณะมิชชันนารีอเมริกันว่า จะประหารทุกคนที่ไม่นับถือศาสนาพุทธ และจะเนรเทศใครก็ตามที่นำศาสนาอื่นมาเผยแพร่ในเชียงใหม่

เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อมิชชันนารีคนหนึ่ง คือ ดร.แดเนียล แมคกิลวารี หนึ่งในคณะของหมอบรัดเล ซึ่งเป็นที่สนิทสนมกับเจ้านายและขุนนางไทยเกือบทุกคน หมอแดเนียลพักอยู่ที่บ้านหมอบรัดเล ที่ปากคลองบางกอกใหญ่ ต่อมาก็ได้แต่งงานกับโซเฟีย ลูกสาวของหมอบรัดเล

บ้านของหมอบรัดเลอยู่ใกล้กับคุ้มที่พักของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นประเทศราชของไทย ต้องนำเครื่องราชบรรณาการมาส่งทุก ๓ ปี และทุกครั้งที่มาก็ไปเยี่ยมไปคุยที่บ้านหมอบรัดเลเสมอ แม้ในวันแต่งงานของ ดร.แดเนียล พระเจ้ากาวิโลรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ก็เสด็จไปในงานด้วย

พระเจ้ากาวิโลรสสนใจการแพทย์สมัยใหม่ของมิชชันนารี และเจ้าหลวงยังยอมรับการฉีดยาและปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษกับพระองค์เอง ส่วนหมอแดเนียลก็สนใจที่จะไปขยายอาณาจักรพระผู้เป็นเจ้าขึ้นที่เชียงใหม่ ความต้องการของทั้ง ๒ ฝ่ายจึงตรงกัน เมื่อหมอแดเนียลนำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ แล้ว พระเจ้ากาวิโลรสก็ประทานอนุญาตให้หมอแดเนียลไปปฏิบัติภารกิจที่เชียงใหม่ ๓ ประการ คือ รักษาโรค ตั้งโรงเรียนแบบตะวันตก และเผยแพร่ศาสนา โดยมีกงสุลอเมริกันและขุนนางหลายท่านเป็นสักขีพยาน

อย่างไรก็ตาม ในตอนเข้าเฝ้ากราบทูลเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงย้ำกับหมอแดเนียลไว้ว่า ปฏิบัติการใดที่เชียงใหม่ ย่อมขึ้นอยู่กับความยินยอมของพระเจ้ากาวิโลรส เพราะมีอิสระในการปกครองอย่างเต็มอำนาจ

ในวันที่ ๓ มกราคม ๒๔๑๐ ดร. แดเนียลและภรรยาจึงออกเดินทางด้วยเรือ ทวนสายน้ำขึ้นสู่เชียงใหม่ด้วยความยากลำบาก ตอนท้ายก็ต้องอาศัยช้างเป็นพาหนะ ใช้เวลารอนแรมร่วม ๓ เดือนจึงถึง แต่เผอิญพระเจ้ากาวิโลรสไม่อยู่ไปต่างเมือง อีกแรมเดือนกว่าจะกลับ ดร.แดเนียลจึงเข้ารายงานตัวต่อเจ้าอินทวิไชยยานนท์ ราชบุตรเขย ผู้เป็นอุปราชที่รักษาการแทน

ไม่มีการต้อนรับเป็นพิเศษใดๆจากนครเชียงใหม่ สองผัวเมียต้องอาศัยศาลาริมทางเป็นที่อาศัย ต่อเติมกั้นฝาขึ้นมา ๓ ด้าน เปิดด้านหน้าโล่งไว้ คนเชียงใหม่ที่รู้ข่าวและไม่เคยเห็นฝรั่งมาก่อน ก็แห่มาดูเห็นเป็นของประหลาด รูปร่างหน้าตา อาหารการกิน ตลอดจนวิธีกินโดยใช้ช้อนส้อม ก็ไม่เหมือนคนเชียงใหม่ หมอแดเนียลตัวสูงใหญ่ ไว้หนวดเครารุงรังเหมือนคนอินเดียที่ชาวเชียงใหม่เรียกกันว่า “กุลวา” เลยเรียกหมอแดเนียลว่า “กุลวาขาว”

หมอแดเนียลอาศัยที่คนเชียงใหม่แห่กันมาดู“กุลวาขาว”นี้ สร้างความนิยมโดยยิ้มแย้มแจ่มใสทักทาย เพราะพอพูดไทยได้บ้าง ขณะเดียวกันก็ช่วยรักษาโรคที่เป็นกันมากอยู่ในเวลานั้น คือ ไข้มาลาเลีย ไข้ทรพิษ และคอหอยพอก ยาที่“กุลวาขาว” แจกจ่ายไปให้ ปรากฏว่าได้ผลดีกว่ายาหม้อที่กินกันอยู่ คนเลยแห่มาหากันมาก หมอแดเนียลอาศัยโอกาสนี้เผยแพร่เกียรติคุณพระผู้เป็นเจ้าไปด้วย

ต่อมาพระเจ้ากาวิโลรสก็ให้เช่าที่ดินริมแม่น้ำปิงและให้ไม้สักมาสร้างบ้าน กิจการของ ดร.แดเนียลก็ขยายกว้างขึ้น มีครอบครัวของหมอวิลสันมาสมทบอีก การสอนศาสนาก็เริ่มเห็นผล ในปี พ.ศ.๒๔๑๒ สามารถเกลี้ยกล่อมคนเชียงใหม่มาเข้ารีตได้มากพอควร ในจำนวนนี้คนหนึ่งเป็นหัวหน้ากองดูแลสัตว์เลี้ยงของพระเจ้ากาวิโลรส อีกคนหนึ่งเป็นพระภิกษุระดับเจ้าอาวาสเสียด้วย

ตอนนี้เหตุการณ์เริ่มตึงเครียด พวกที่เคร่งในพุทธศาสนาเริ่มหวาดระแวงพฤติกรรมของหมอสอนศาสนา ที่เอาเรื่องยาและการรักษาโรคมาล่อ หลายคนเริ่มตีตัวออกห่าง พระเจ้ากาวิโลรสจึงมีหนังสือไปยังกรุงเทพฯ ขอให้สั่งถอนพวกมิชชันนารีกลับไป เพราะตั้งแต่พวกนี้มาทำให้เทวดาพิโรธ เกิดข้าวยากหมากแพงข้าวแห้งตาย
ไม่แต่แค่นี้ ต่อมาพระเจ้ากาวิโลรสก็สั่งประหารหนานชัย และน้อยสัญญา คนที่เคยนับถือศาสนาพุทธและบวชเรียนมาแล้ว แต่เปลี่ยนไปเข้ารีตถือคริสต์

เรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีการเกณฑ์แรงงานไปขุดเหมืองฝายทดน้ำเข้านาตามบัญชาของพระเจ้ากาวิโลรส หนานชัยและน้อยสัญญาก็ถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานในครั้งนี้ด้วย แต่ทั้งสองกลับไม่ยอมทำงานในวันอาทิตย์เหมือนคนอื่นๆ อ้างว่าวันอาทิตย์เป็นวันหยุดของศาสนาคริสต์ (วันซะบาโต)

“เราไม่อาจล่วงละเมิดบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าได้” สองสาวกของพระเจ้าอ้าง
พระเจ้ากาวิโลรสจึงให้ไปคุมตัวมาแล้วถามว่า

“วันอาทิตย์เจ้ากินข้าวหรือเปล่า”

สองคนนั้นรับว่าต้องกินเหมือนทุกวัน เจ้าหลวงจึงสั่งว่า

“ถ้าเช่นนั้น เจ้าก็ต้องทำงานเหมือนวันอื่นๆ เหมือนคนอื่นๆ”

แต่ทั้งหนานชัยและน้อยสัญญาก็ยืนยันว่าไม่อาจขัดคำบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าได้ พระเจ้ากาวิโลรสจึงให้นำตัวทั้งสองคนไปประหารเสีย ในฐานะขัดคำสั่งของเจ้าผู้ครองนคร

แต่บันทึกของ ดร. แดเนียล ซึ่งต่อมาได้ตีพิมพ์เป็นอัตชีวประวัติของตัวเอง ได้กล่าวไว้ว่า ทั้ง ๒ คนก็ไปทำงานตามหมายเกณฑ์ไม่ได้บิดพลิ้ว แต่ที่ถูกนำตัวไปทรมานและทุบตีจนตายก็เพื่อขู่ไม่ให้คนอื่นเอาเป็นตัวอย่างที่หันไปถือศาสนาคริสต์ ทำให้คนรับใช้ของมิชชันนารีพากันเผ่นหนีหายไปหมดด้วย

หมอแดเนียลได้แอบฝากจดหมายไปกับพ่อค้าพม่า ถึงหมอบรัดเลพ่อตา มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“พวกเราอาจได้รับอันตรายร้ายแรงเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าท่านไม่ได้ข่าวคราวจากเราอีก ก็หมายความว่าเราได้ไปสวรรค์กันหมดแล้ว” และว่า “ขณะนี้เราได้สูญเสียสมาชิกของคริสตจักรไปสองคนแล้ว และคนอื่นๆก็ถูกหมายหัว อะไรจะเกิดขึ้นอีกเราไม่สามารถคาดคะเนได้”

ทันทีที่ได้รับจดหมาย หมอบรัดเลก็รีบถือหนังสือไปหาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริวงศ์ ผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ ๕ สมเด็จเจ้าพระยาฯยอมรับว่า “เจ้านครเชียงใหม่คนนี้เป็นคนอารมณ์ร้าย จิตใจโอนเอนไปมายากจะเข้าถึง” จึงแต่งตั้งข้าหลวงขึ้นไปตรวจราชการที่เชียงใหม่โดยด่วน พร้อมกับให้มิชชันนารี ๒ คน คือ สาธุคุณ แม็คโดแนลด์ กับ สาธุคุณ ยอร์ช ร่วมเดินทางไปด้วย

ข้าหลวงจากราชสำนักและมิชชันนารีไปถึงเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๑๒ ได้มีพิธีต้อนรับในคุ้มหลวงอย่างเอิกเกริก และเมื่ออารักษ์อ่านพระราชสาสน์เกี่ยวกับเรื่องมิชชันนารีจบลงแล้ว พระเจ้ากาวิโลรสก็กล่าวอย่างไม่ค่อยสนใจว่า

“ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร พวกหมอสอนศาสนาได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อยู่หรือไปได้ตามแต่จะตัดสินใจเอาเอง”

สาธุคุณแม็คโดแนลด์ได้ถือโอกาสพูดถึงเรื่องมิชชันนารีถูกคุกคามจนบรรดาคนรับใช้หายตัวไปอย่างลึกลับ ทำเอาเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่อารมณ์เสียขึ้นมาทันที ตอบด้วยเสียงกระด้างว่า

“เราไม่จำเป็นต้องลักพาตัวใครไปซ่อน อย่าว่าแต่คนรับใช้สี่ห้าคนของพวกท่านเลย เรามีอำนาจที่จะประหารใครก็ได้ที่หลบเลี่ยงหน้าที่ราชการ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกท่าน”

ตรัสแล้วพระเจ้ากาวิโลรสก็ทำท่าจะลุกขึ้น เป็นสัญญาณว่าเสร็จสิ้นพิธี แต่ถ้าปล่อยให้จบแค่นี้ ผู้ตรวจราชการจากกรุงเทพฯก็จะคิดว่าเรื่องทั้งหมดไม่มีอะไรผิดปกติ เพียงแต่พวกบาทหลวงโวยวายตีโพยตีพายกันไปเอง ดร.แมคกิลวารีจึงต้องเสี่ยงลุกขึ้นยืนยันว่า เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นทุกคนในที่นี้ต่างก็รู้อยู่แก่ใจว่าความจริงเป็นอย่างไร สองคนที่ถูกประหารไม่ได้บิดพลิ้วราชการ ที่ถูกประหารนั้นเป็นการข่มขู่ไม่ให้คนอื่นหันมานับถือศาสนาคริสต์

เจ้านครเชียงใหม่ฟังหมอแมคกิลวารีพูดด้วยอุณหภูมิของอารมณ์พลุ่งขึ้นจนเกินระงับ ประกาศก้องสวนขึ้นทันควันว่า

“ใช่แล้ว ไอ้สองคนนั่นต้องตายเพราะไปเข้ารีต ใครก็ตามที่ไม่นับถือศาสนาพุทธเราจะถือว่ามันกบฏต่อแผ่นดิน และจะประหารมันทุกคน เราจะไม่ขัดขวางการรักษาโรคของพวกท่าน แต่ถ้ายังขืนเผยแพร่ศาสนาต่อไป เราจะเนรเทศให้หมด”

คำประกาศของพระเจ้ากาวิโลรสที่ออกมาจากความในใจ ทำให้ข้าหลวงจากกรุงเทพฯ และบรรดามิชชันนารีลงความเห็นกันว่า สถานการณ์ในเมืองเชียงใหม่อันตรายเกินกว่าที่หมอสอนศาสนาจะอยู่ต่อไปได้ แต่หมอแมคกิวารีกลับคิดว่า พระเจ้าวิกาโลรสคงไม่กล้าทำอะไรให้เป็นเรื่องใหญ่กระทบกระเทือนไปถึงราชสำนัก โดยเฉพาะกำหนดที่จะต้องไปถวายเครื่องราชบรรณาการก็ใกล้เข้ามาแล้ว จึงตัดสินใจไปขอเข้าเฝ้าพระเจ้ากาวิโลรสเป็นการส่วนตัวในวันรุ่งขึ้น

เป็นไปตามที่หมอแมคกิลวารีคาดเดา พระเจ้ากาวิโลรสคงไปนอนคิดทั้งคืนจึงยอมให้พบ หมอแมคกิลวารีพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์และขออยู่ต่อไป จนกว่าพระเจ้ากาวิโลรสกลับจากกรุงเทพฯจึงค่อยว่ากันใหม่ ซึ่งเป็นเวลาอีก ๕-๖ เดือน

มร.เจ.เอ็ม.ฮุค กงสุลอเมริกัน ได้ปรึกษาหารือเรื่องนี้กับผู้สำเร็จราชการ เขามีความเห็นว่า

“เจ้ากาวิโลรสนั้นเสมือนเสือในป่าที่ไม่มีใครควบคุมได้ แต่ถ้ามาอยู่ในเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

ฉะนั้น เมื่อพระเจ้ากาวิโลรสนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามกำหนด สมเด็จเจ้าพระยาฯจึงตัดสินใจแก้ปัญหานี้ให้เด็ดขาด ประกาศแต่งตั้งเจ้าอินทวิไชยยานนท์ ราชบุตรเขยผู้เป็นอุปราช ขึ้นครองนครเชียงใหม่แทนเจ้ากาวิโรรส (เจ้าอินทวิไชยยานนท์ คือที่มาของชื่อ “ดอยอินทนนท์” ซึ่งมีสถูปบรรจุอัฐิของท่านอยู่บนยอดดอยนี้)

ไม่ต้องสงสัยว่าพระเจ้ากาวิโลรสผู้ชรา จะต้องเจ็บช้ำขุ่นเคืองอย่างหนักในการถูก “กุลวาขาว” เผด็จศึกในครั้งนี้ ถึงกับเส้นโลหิตในสมองแตก เป็นอัมพาตไปครึ่งองค์ ต้องรอนแรมกลับเชียงใหม่อย่างทุลักทุเล

ในช่วงเดินทางตอนท้ายที่ต้องใช้ช้าง เจ้าหลวงก็ทนแรงกระแทกกระเทือนไม่ไหว ต้องเปลี่ยนมาเป็นเสลี่ยงหามขึ้นเขาลงห้วยจนมาถึงริมแม่น้ำปิง เจ้าหลวงซึ่งอ่อนเพลียทั้งร่างกายและจิตใจเต็มทีรับสั่งถามว่าถึงไหนแล้ว และเมื่อได้รับคำตอบว่าถึงลำพูน พระองค์ก็สั่งให้รีบพาข้ามฝั่งไปยังอาณาเขตแห่งแว่นแคว้นของพระองค์โดยเร็วที่สุด

เมื่อข้ามไปถึงเขตแดนเชียงใหม่ ขบวนก็หยุดพักเพื่อให้ทรงพักผ่อน ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังคุ้มหลวงที่ห่างไปอีกไม่กี่กิโลเมตร ซึ่งพระเจ้ากาวิโลรสก็ทรงพักผ่อนไปตลอดกาล ทรงสิ้นพระชนม์ชีพ ณ ที่นั่น ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๑๓
ดร.แดเนียล แมคกิลวารี
โบสถ์คริสตจักรหลังแรกที่เชียงใหม่ ริมแม่น้ำปิง
กำลังโหลดความคิดเห็น