xs
xsm
sm
md
lg

ยักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์วัดแจ้ง ไปมาหากันไม่ต้องข้ามแม่น้ำ!! ถ้ามนุษย์ไม่ขุดเจ้าพระยาให้เปลี่ยนทาง!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

แผนที่แม่น้ำเจ้าพระยาและการขุดทางลัด เขียนโดยลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์
เกือบจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ถ้าจะบอกว่า แต่ก่อนนี้ตรงท่าเตียน หน้าวัดโพธิ์กับพระปรางค์วัดอรุณฯ ไม่มีแม่น้ำขวางกั้น เป็นแผ่นดินผืนเดียวเชื่อมถึงกัน ยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์ถ้าสร้างในตอนนั้น ก็เดินไปมาหากันได้โดยไม่ต้องข้ามน้ำ แต่มนุษย์ซะอย่าง

“แม่น้ำต้องหลีกทาง ภูเขายังโค้งคำนับ”

สมัยนี้ภูเขาถูกย่อยลงเป็นหินก้อนเล็กๆ จนหายไปเป็นลูกๆ และแม่น้ำต้องหลีกทางมาเกือบ ๕๐๐ ปีแล้ว

แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นชีวิตของภาคกลาง นอกจากจะเอื้อความชุ่มฉ่ำให้ภาคการเกษตรแล้ว ยังเป็นน้ำกินน้ำใช้ของคนในภาคนี้ ถ้าไม่มีแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯก็คงไม่เป็นมหานครติดอันดับโลกอย่างในวันนี้แน่

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แม่น้ำเจ้าพระยาก็มีความสำคัญอย่างมากต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตของประเทศ สินค้าตั้งแต่ภาคเหนือสุด จะถูกรวบรวมมาสู่กรุงศรีอยุธยา เพื่อลงสำเภาส่งไปขายต่างประเทศ ขณะเดียวกัน สินค้าที่มาจากต่างประเทศโดยสำเภา ก็จะกระจายจากกรุงศรีอยุธยาไปทั่วประเทศ

พ่อค้าชาวยุโรปที่เข้ามาในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ได้บันทึกไว้ว่า กรุงศรีอยุธยาได้ส่งสำเภาไปค้าต่างประเทศถึงปีละ ๑๐๐ กว่าลำ และทุกปีจะมีสำเภาจีนเข้ามาค้าขายกว่า ๑,๐๐๐ ลำ

ด้วยเหตุนี้กรุงศรีอยุธยาจึงมั่งคั่งโอ่อ่าสง่างามที่สุดในภาคตะวันออกไกล

แต่แม่น้ำเจ้าพระยาจากปากอ่าวจนถึงกรุงศรีอยุธยา คดเคี้ยวเป็นอย่างมาก ต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๑๕ วัน โดยเฉพาะตอนช่วงบางกอก ซึ่งแม่น้ำสายเดิมเมื่อไหลมาถึงปากคลองบางกอกน้อย ตรงสถานีรถไฟธนบุรีในปัจจุบัน ก็จะเลี้ยวขวาไปทางตะวันตก พอถึงวัดขี้เหล็กหรือวัดสุวรรณคีรี ก็จะเลี้ยวซ้าย ผ่านคลองบางระมาด คลองตลิ่งชัน วัดคูหาสวรรค์ วัดอินทาราม ตลาดพลู ไปตามแนวคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวง พอถึงวัดกัลยาณ์ ก็เลี้ยวขวาลงใต้

เฉพาะช่วงตรงปากคลองบางกอกน้อยมาถึงปากคลองบางกอกใหญ่นี้ ต้องใช้เวลาเดินทางไปตามลำน้ำคดถึง ๑ วันเต็ม นักเดินทางบางกลุ่มจึงนิยมแวะหุงข้าวเช้าที่ปากคลองบางกอกใหญ่ แล้วปล่อยพรรคพวกออกล่าสัตว์ในย่านนี้ หาเสบียงมาเป็นกับข้าวมื้อเย็น แล้วไปพบกันที่ปากคลองบางกอกน้อย บางทีลืมหม้อข้าวไว้ในตอนเช้า ตกเย็นเดินไปเอามาหุงยังทันหิว

พงศาวดารกล่าวว่า ในปีมะโรง จุลศักราช ๘๘๔ (พ.ศ.๒๐๖๕) สมเด็จพระชัยราชาธิราช จึงโปรดให้ขุดคลองลัดบางกอก จากปากคลองบางกอกน้อย ไปทะลุตรงปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งย่นระยะการเดินทางในช่วงนี้ได้วันเต็มๆ

ต่อมาในปีจอ จุลศักราช ๙๐๐ (พ.ศ.๒๐๘๑) ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักพรรดิโปรดให้ขุดคลองลัดเชื่อมแม่น้ำขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ที่ปากคลองบางกรวยตรงวัดชลอ มาทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมตรงโค้งหน้าวัดขี้เหล็ก ซึ่งส่วนนี้ปัจจุบันก็ยังเป็นคลองเหมือนเดิม เรียกกันว่าคลองบางกรวย ย่นระยะการเดินทางไม่ต้องอ้อมตามแม่น้ำไปทางสามเสน

ในปีชวด จุลศักราช ๙๗๐ (พ.ศ.๒๑๕๑) แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ได้ขุดคลองลัดอีกแห่งที่ท้ายสามโคก ตั้งแต่ปากคลองพร้าว มาทะลุตรงโค้งปากคลองหลวงเชียงราก เรียกว่าคลองลัดเกร็ดใหญ่ ปัจจุบันคลองนี้ก็คือแม่น้ำเจ้าพระยา

ในปีชวด จุลศักราช ๙๙๘ (พ.ศ.๒๑๗๙) ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ได้ขุดคลองลัดที่ใต้วัดท้ายเมือง ไปออกหน้าวัดเขมาภิรตาราม ตรงปากคลองบางกรวย ทุกวันนี้คลองนี้ก็กลายเป็นแม่น้ำไปแล้วเช่นกัน

ในปีขาล จุลศักราช ๑๐๘๕ (พ.ศ.๒๒๖๕) แผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ กษัตริย์ลำดับที่ ๓๐ ของกรุงศรีอยุธยา ได้ขุดคลองลัดเกร็ดน้อย จากวัดปากอ่าว หรือวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหารในปัจจุบัน ลงมาบรรจบตรงโค้งซึ่งเป็นด่านตรวจเรือสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่เป็นบ้านเกร็ดตระการ หัวเกาะเกร็ดในปัจจุบัน เกิดเป็นเกาะเกร็ดขึ้น

อีกแห่งที่แม่น้ำเจ้าพระยาถูกขุดให้เปลี่ยนทาง ก็คือ คลองลัดโพธิ์ อยู่ในพื้นที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นคลองเก่าแก่ กล่าวกันว่าขุดขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเช่นกัน เพื่อย่นระยะการเสด็จประพาสไปทรงเบ็ดที่ปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นกีฬาที่ทรงโปรด แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเห็นว่าคลองลัดโพธิ์ทำให้น้ำเค็มขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ เป็นผลเสียแก่เรือกสวนไร่นา จึงดำรัสให้เกณฑ์ข้าราชการไปขนอิฐจากกรุงศรีอยุธยามาถมปากคลองด้านใต้ ไม่ให้น้ำทะเลลัดขึ้นมาได้ ทำให้คลองลัดโพธิ์ตื้นเขินไป

คลองลัดโพธิ์เป็นคลองลัดในแนวเหนือ-ใต้ มีความยาวแค่ ๖๐๐ เมตร แต่แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงนี้ จากปากคลองถึงท้ายคลอง จะไหลวกอ้อมไปเป็นระยะทางถึง ๑๘ กิโลเมตร มีลักษณะเหมือนกระเพาะหมู ซึ่งเป็นที่ตั้งของตำบลบางกระเจ้า

ในปี ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันศึกษาปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ ขุดลอกและสร้างประตูน้ำ ปิดเมื่อเวลาน้ำทะเลขึ้น และเปิดเมื่อเวลาน้ำทะเลลง เพื่อระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น ไม่ต้องไหลอ้อมไปถึง ๑๘ กิโลเมตร
กรมชลประทานจึงสนองพระราชดำริปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ซึ่งมีสภาพตื้นเขิน มีความกว้างเพียง ๑๐-๑๕ เมตร ขยายให้สามารถรับปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้น เป็นทางลัดของน้ำไหลลงสู่ทะเลได้สะดวก ช่วยลดระยะทางการไหลของแม่น้ำจาก ๑๘ กิโลเมตร ให้เหลือเพียง ๖๐๐ เมตร รวมทั้งลดเวลาการเดินทางของน้ำจาก ๕ ชั่วโมงให้เหลือเพียง ๑๐ นาที ทำให้ช่วยลดผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากสภาวะน้ำเหนือไหลหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อมาในปี ๒๕๔๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งเพิ่มเติมว่า คลองลัดโพธิ์มีพลังน้ำมหาศาล น่าจะใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองทำประโยชน์อย่างอื่นด้วยได้ กรมชลประทานจึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาและผลิตกังหันพลังน้ำติดตั้งในประตูระบายน้ำ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีก ทั้งยังนำชุดผลิตกระแสไฟฟ้าแบบนี้ไปติดไว้ตามประตูน้ำอีกหลายแห่งทั่วประเทศ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกสิทธิบัตรเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังจลน์แบบนี้ในพระปรมาภิไธยแล้วเมื่อปี ๒๕๕๓

บรรดาคลองลัดที่ขุดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ นอกจากจะทำให้การเดินทางสะดวกไม่อ้อมแล้ว น้ำก็เดินสะดวกด้วย เซาะตลิ่งให้กว้างออกไปทุกทีจนกลายเป็นแม่น้ำ นอกจากช่วงคลองลัดจากวัดชลอมาถึงวัดขี้เหล็ก ที่ขุดในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ยังคงเป็นสภาพคลองอยู่เหมือนเดิม เพราะเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองขุดคลองลัดจากหน้าเมืองนนท์มาวัดเขมาฯ สายน้ำเดินตรงมาทางที่ขุดใหม่นี้สะดวกกว่า จึงไม่ได้ผ่านเซาะให้คลองลัดที่บางกรวยกว้างขึ้น

เมื่อน้ำเปลี่ยนทางไปเดินตามคลองลัด แม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมก็ตื้นเขินกลายเป็นคลองไป อย่างคลองบางกอกน้อย คลองแม่น้ำอ้อม และคลองบางหลวงเชียงราก แม้แต่แม่น้ำอ้อมเกร็ดน้อย ที่บางบัวทอง ทุกวันนี้ก็ตื้นเขินขึ้นทุกที คงกลายสภาพเป็นคลองไปในไม่ช้า

อย่างไรก็ตาม จะสังเกตเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ขุด ยังมีขนาดแคบกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมตามธรรมชาติอยู่ดี อย่างเช่นแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงจากปากคลองบางกอกน้อยมาปากคลองบางหลวง ก็ยังแคบกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ตอนเหนือและใต้ลงไป ถ้าไม่สร้างเขื่อนกันไว้ก็คงเซาะกว้างเท่ากันแน่ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ส่วนที่เซาะใหม่เป็นแม่น้ำนี้ยังเซาะไม่หมด เหลือเป็นเกาะเล็กๆ อยู่หน้าวัดอรุณราชวราราม มีภาพถ่ายสมัยเก่าเป็นหลักฐาน

การขุดแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงนี้ เมื่อกระแสน้ำเซาะคลองลัดให้กว้างขึ้น ขณะเดียวกับที่แม่น้ำสายเดิมก็ยังไม่ตื้นเขินอย่างทุกวันนี้ ทำให้เห็นภาพชัดว่าชุมชนเดิมที่ริมฝั่งแม่น้ำ ได้กลายสภาพไปอยู่บนเกาะ และคำว่า “บางกอก” ก็อาจจะมาจาก “บางเกาะ” หมายถึงบางที่อยู่บนเกาะไม่เกี่ยวกับบางที่มีต้นมะกอก แต่นี่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานหนึ่งของนักประวัติศาสตร์ ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดมายืนยัน เช่นเดียวกับที่ว่า “บางกอก” มาจากภาษามลายูซึ่งเป็นภาษาของนักเดินเรือสมัยนั้น จากคำว่า “bankok” ซึ่งแปลว่าคดเคี้ยว เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงนี้คดจนเดินไปเอาหม้อข้าวมาหุงทันหิว

ส่วนคำว่า “เจ้าพระยา” นั้น เพิ่งจะมาปรากฏในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวตะวันตกที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เรียกกันว่า “แม่น้ำ” เฉยๆ คงจะเรียกตามคนไทย เลยเข้าใจว่า “แม่น้ำ” เป็นชื่อของแม่น้ำนี้ ส่วนชื่อ “เจ้าพระยา” ปรากฏอยู่ในแผนที่ของนายแพทย์แองเจิลเบิร์ท แคมเฟอร์ ชาวเยอรมันที่เข้ามากับคณะทูตฮอลันดา เรียกตำบลหนึ่งที่อยู่ปากแม่น้ำทางด้านตะวันออกว่า “บางเจ้าพระยา” เข้าใจกันว่าเป็นชื่อของตำบลหนึ่งในเมืองสมุทรปราการ เลยเรียกกันว่าแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกับแม่น้ำแม่กลอง ที่ปากอ่าวอยู่ที่ตำบลแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีนที่ปากอ่าวอยู่ตำบลท่าจีน

แม่น้ำยังเปลี่ยนทางได้ ภูเขาหายไปเป็นลูกๆ มนุษย์เราเลยลำพองใจว่าเอาชนะธรรมชาติได้ ตอนนี้ธรรมชาติเลยตอบโต้ให้บ้าง ภูเขาน้ำแข็งละลาย ทะเลจะขยายขึ้นท่วมฝั่ง พายุแรงขึ้น น้ำท่วมแผ่นดินถล่มมากขึ้น เลยทำให้ตื่นตกใจว่าโลกกำลังถึงวาระนับถอยหลังแล้ว รณรงค์ลดโลกร้อนกันเป็นการใหญ่ ประสานเสียงกันทั่วโลก แต่คนที่ขานรับก็เห็นมีแต่คนที่ไม่ได้ทำทั้งนั้น ตัวการใหญ่ยังตักตวงกันไม่หยุด

ลดความเห็นแก่ตัวลง โลกก็จะเย็นลงเองนั่นแหละ
แผนที่แสดงเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมและการขุด
เกาะกลางแม่น้ำหน้าพระปรางค์วัดอรุณในสมัย ร.๕
คลองลัดโพธิ์เดิม
คลองลัดโพธิ์ใหม่
 ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น