“วิกรม กรมดิษฐ” วางแลนด์แบงก์ 10-20 ปีข้างหน้ากลุ่มอมตะปักหมุดลงทุนพัฒนานิคมฯ ที่เวียดนามอีก 10 ปีข้างหน้ามีที่ดินพร้อมพัฒนาถึง 4 หมื่นไร่ ขณะที่พม่ามีพื้นที่ในเมืองทิกิหลายพันไร่รอกฎเกณฑ์เขตเศรษฐกิจพิเศษให้ชัดเจนจะพัฒนาได้ทันที มั่นใจทุกพื้นที่ศักยภาพและโอกาสลงทุนสูง
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) เปิดเผยว่า หลังจากที่กลุ่มอมตะได้เปิดดำเนินงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เบียนหัว เวียดนามปีนี้มาครบรอบ 20 ปี อมตะยังมองการพัฒนานิคมฯ ไปที่พม่า ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่ในเมืองทิกิหลายพันไร่ที่พร้อมจะพัฒนาขึ้นใหม่นอกเหนือจากไทยและเวียดนาม เนื่องจากมองว่าโอกาสของการลงทุนเพื่อรองรับลูกค้าที่ต้องการขยายตลาดไปทางอินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือสหภาพยุโรป (อียู) ก็สามารถใช้พม่าเป็นฐานการผลิตได้ ขณะเดียวกันพม่ายังมีค่าแรงงาน วัตถุดิบ และทรัพยากรธรรมชาติที่พร้อมจะรองรับกระแสการลงทุนได้ในอนาคต
“แผนธุรกิจจะเน้นเข้าลงทุนนิคมฯ ในประเทศเวียดนาม และพม่า เพื่อเป็นที่ดินสะสมในมือหรือแลนด์แบงก์สำหรับการลงทุนของอมตะในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เพราะเป็นประเทศที่มีโอกาสมากกว่าไทย ทั้งด้านค่าแรงที่ต่ำกว่า ราคาวัตถุดิบต่ำกว่าไทย และทรัพยากรธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์” นายวิกรมกล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพม่าจะมีความคืบหน้าในอีก 1 ปีข้างหน้า หลังรอให้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษในพม่ามีความชัดเจน เบื้องต้นได้คุยรัฐบาลพม่าไว้บ้างแล้วแต่ต้องรอรัฐบาลใหม่ และเชื่อว่าจะได้รับความสนใจเพราะ พื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดชายแดนไทย-พม่า ใกล้กับพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 170-180 กิโลเมตร ซึ่งจะนับว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมในต่างประเทศที่ใกล้กับกรุงเทพมหานครมากที่สุด
สำหรับการลงทุนพัฒนานิคมฯ ที่เวียดนาม กลุ่มอมตะยังคงมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่องหลังจากได้เข้าไปลงทุนพัฒนาพื้นที่นิคมฯ เบียนหัวมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว โดยเวียดนามอยู่ในพื้นที่ใกล้กับตลาดทางด้านตะวันออกไกล ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน อเมริกา ประกอบกับเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับไทยและพม่า หลังล่าสุดเวียดนามได้ลงนามเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ รวมถึงยังได้ลงนามข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) กับอียู ซึ่งการลงทุนในเวียดนามของอมตะ ล่าสุดได้เจรจาเพื่อเข้าพัฒนาพื้นที่นิคมฯ เพิ่มเติมในอมตะ ซิตี้ ลองถั่นทางตอนใต้ของเวียดนาม และอมตะ ซิตี้ ฮาลอง ทางตอนเหนือของเวียดนาม ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ที่จะพัฒนาเพิ่มเป็นกว่า 6.5 พันเฮกตาร์ (4.06 หมื่นไร่) ในช่วง 10 ปีข้างหน้า จากราว 550 เฮกตาร์ (8 พันไร่) หรือมากกว่า 10 เท่า