ปัจจุบัน การสัญจรไปมาในกรุงเทพฯ เรามีพาหนะให้เลือกใช้หลายอย่าง ตั้งแต่รถไฟฟ้าที่วิ่งลอยฟ้าหรือมุดลงใต้ดิน จนถึงรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ซอกแซกไปทุกซอยทั่วกรุง แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มียานพาหนะชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า “รถเจ๊ก” ครองความเป็นเจ้าถนนแต่เพียงผู้เดียว ช่วยให้การเดินทางไปมาในกรุงเทพฯสะดวกสบายก่อนที่จะมีรถรางในภายหลัง
แต่ทว่าในแง่มุมของชีวิต ชะตากรรมของกุลีลากรถนับว่าน่าสังเวชอย่างยิ่ง ทั้งหมดของคนเหล่านี้ล้วนเป็นชาวจีนที่หนีความอดอยากยากแค้นในเมืองจีนเข้ามา พูดไทยยังไม่ได้ ต้องอาศัยแรงกายหาเลี้ยงชีพอย่างแสนเข็ญ ทั้งยังมีรายได้ต่ำกว่ากุลีทุกประเภท เพราะถูกขูดรีดจากเจ้าของรถที่เป็นคนจีนด้วยกัน คนหนุ่มที่เข้ามาลิ้มลองอาชีพนี้แล้วมักจะหนีไปหาอาชีพอื่น ส่วนคนที่ไม่มีทางไปก็มักเป็นคนมีอายุ ไปไหนไม่รอด ส่วนใหญ่จะตายคารถ
ตามประวัติรถลากประเภทนี้ คนที่คิดขึ้นคือ นายอิสุมิ โยสุกิ ชาวญี่ปุ่น ซึ่งดัดแปลงจากเกี้ยวที่มีคานหามมาติดล้อ และได้รับความนิยมแพร่หลายในญี่ปุ่น จนแพร่ไปถึงเมืองจีน ต่อมา จีนพุก พ่อค้าคนจีนในเมืองไทย (ต่อมาเข้ารับราชการในกรมท่าซ้าย ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาโชฎึกราชเศรษฐี และมีชื่อไทยว่า พุก โชติกพุกกะณะ) ซึ่งมีสำเภาค้าขายกับเมืองจีน ไปเห็นรถประเภทนี้วิ่งกันเกลื่อน จึงซื้อใส่สำเภาเข้ามาหลายคัน นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
รถลากมาถึงเมืองไทยหลังจากที่นายอิสุมิคิดขึ้นประมาณ ๔๐ ปี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็โปรดให้จีนพุกสั่งรถลากจากเมืองจีนเข้ามาอีกหลายสิบคัน พระราชทานแก่เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ อีกทั้งเจ้าสัวพ่อค้าจีนยังฝากให้จีนพุกซื้อเข้ามาอีก
รถลากที่เข้ามารุ่นแรกๆๆราวร้อยกว่าคันนี้ นับเป็นสิ่งโก้หรูของบางกอก เป็นที่นิยมในกลุ่ม “ไฮโซ” คนสามัญทั่วไปไม่มีวาสนาจะได้นั่ง มีแต่ขุนนางและเจ้าสัวเท่านั้นที่ใช้เป็นรถส่วนตัวแทนเกี้ยวคานหามหรือรถม้า เวลาแดดร่มลมตกเจ้าจอมหม่อมห้ามมักจะนั่งรถลากออกมากินลมชมวิวกัน
ต่อมา นายฮวงเชียง แซ่โหงว พ่อค้าจีน ได้สั่งรถลากต้นตำรับจากญี่ปุ่นเข้ามาทำเป็นรถรับจ้าง วิ่งรับผู้โดยสารและรับส่งสินค้าเล็กๆในกรุงเทพฯ ส่วนคนที่ลากก็ใช้คนจีนแต้จิ๋วด้วยกันที่อพยพเข้ามาใหม่หางานทำไม่ได้ รถลากจึงกลายเป็นรถมวลชนที่คนทั่วไปนั่งได้ในราคาถูก ไม่ใช่รถที่คนมีฐานะเอาไว้นั่งชูคอกัน ส่วนคนที่ร่ำรวยจริงๆก็หันไปใช้รถยนต์ซึ่งเริ่มเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๕
จีนพุก หรือพระยาโชฎึกราชเศรษฐี เห็นว่ารถลากได้รับความนิยมมากในเมืองไทย สั่งมาขายเท่าไหร่ก็ไม่พอ และเห็นว่าถ้าสร้างเองในเมืองไทยจะสะดวกและราคาถูกกว่า จึงสั่งช่างจากเมืองจีนเข้ามาตั้งโรงงานรถลากขึ้นในกรุงเทพฯ ผลิตออกมาจนพอกับความต้องการ และแพร่ไปต่างจังหวัดทั่วประเทศ
รถลากที่ผลิตในเมืองไทยเป็นแบบเดียวกับในญี่ปุ่นและเมืองจีน เป็นเหมือนเก้าอี้ไม้แต่มีล้อซึ่งทำด้วยไม้หุ้มยางตัน และมีที่วางเท้า มีคานไม้เนื้อแข็งกลมๆ ๒ อันยื่นจากที่วางเท้าให้คนลากถือ ปลายคานทั้งสองข้างมีแผ่นเหล็กยึดไม่ให้แยกจากกัน และมีเหล็กงอโค้งลงติดปลายคานทั้งสองข้าง สำหรับใช้วางเมื่อรถจอด ทั้งยังมีแหนบ ๒ ข้างรองที่นั่งกับคานล้อเพื่อกันสะเทือน กับมีสังกะสีแผ่นโค้งติดไว้เหนือล้อเป็นที่บังโคลน มีหลังคาผ้าใบแบบที่พับเปิดปิดได้ โครงทำด้วยไม้ไผ่ เปิดโล่งทุกด้านรับลม แต่มีผ้าใบดึงลงมาได้เมื่อเวลาฝนตก เวลากลางคืนจะมีตะเกียงน้ำมันก๊าดแขวนไว้ข้างรถทั้งสองด้าน ด้านหน้าเป็นกระจกใสส่องทาง ด้านหลังเจาะเป็นวงกลมใส่กระจกแดง ใช้เป็นไฟท้ายให้ยวดยานที่ตามมาเห็น
รถรับจ้างจะทาสีแดงที่ตัวรถและบังโคลน ส่วนรถลากจะนุ่งกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินที่เรียกกันว่า “สีตากุ้ง” เสื้อผ่าอกสีเดียวกับกางเกง ใส่หมวกกุ้ยเล้ยที่ทำจากไม้ไผ่สานบุด้านในด้วยใบไผ่ เป็นหมวกปีกกว้างมียอดแหลม กันแดดกันฝนได้ ส่วนหน้าฝนก็จะมีเสื้อทำจากผ้าใบอาบน้ำมันคลุมถึงเข่าและแขนกันเปียก ที่ข้อมือซ้ายของคนลากจะมีแผ่นทองเหลืองปลายมนเจาะรูผูกไว้ มีหมายเลขใบอนุญาตของผู้ลาก เท่ากับเป็นใบขับขี่ รองเท้าเป็นเพียงแผ่นหนังเจาะรูร้อยเชือกผูกกับเท้าเท่านั้น ถ้ามือใหม่ยังไม่คุ้น เวลาวิ่งแผ่นหนังจะตบถนนดังไปตลอดทาง
ส่วนรถลากที่เป็นรถส่วนตัวจะทาสีเขียวให้แตกต่างกัน ก้านประทุนมักใช้ทองเหลืองแทนไม้ไผ่ เช่นเดียวกับบังโคลนก็มักเป็นทองเหลืองขัดจนเป็นมันวาววับ ส่วนที่วางเท้าก็จะมีกระดิ่งทองเหลืองวางอยู่ เมื่อเข้าในเขตที่จอแจ คนนั่งจะใช้เท้าเตะกระดิ่งแทนแตร ส่วนคนลากต้องใช้ปากร้อง เฮ้...เฮ้ย ขอทาง
คนจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทยใหม่ๆที่เรียกว่า “ซินตึ๊ง” งานแรกที่หากินง่ายก็คือเป็นกุลีลากรถ ซึ่งไม่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญอะไร ทั้งภาษาไทยก็ไม่จำเป็น ถูกสอนพอให้รู้จักถนนหนทางบ้างเท่านั้น แล้วก็รู้จักแต่ชื่อภาษาจีน ความยากลำบากจึงตกกับผู้โดยสารที่จะสื่อสารกับคนลาก ต้องเรียนรู้ภาษาจีนแต้จิ๋ว เพื่อบอกสถานที่และต่อรองราคากันได้
“ปทุมรัตน์” เขียน “เล่าเรื่องรถลาก” ไว้ใน “ความรู้คือประทีป” ฉบับ กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๒๘ ไว้ตอนหนึ่งว่า
“...เช่นจะเรียกรถกันต้องพูดว่า “เฮีย ไล้” อาเฮียก็จะถามว่า “ลื้อขื่อตีก่อ” หมายถึงว่าคุณจะไปที่ไหน ถ้าเราจะไปประตูน้ำเฉลิมโลกก็ต้องพูดว่า “อั๊วขื่อจุ้ยมิ้ง ยี่เจ้ย” อะไรอย่างนี้เป็นต้น คนลากก็จะบอกราคาเป็นจำนวนสตางค์ ว่า สิบ หรือ สิบห้าสตางค์ (จั๊บ จั๊บโหงวเซ็กตาง) ตามแต่ระยะใกล้ไกลแค่ไหน ถ้าราคาสูงขึ้นเป็นสลึง สองสลึง ก็บอกว่า เจ๊กจี้ น่อจี๊ เป็นต้น ราคาค่าโดยสารโดยมากแล้วจะไม่เกินหนึ่งบาท”
ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ หน่วยลาดตระเวน กระทรวงนครบาล ได้สำรวจรถลากที่วิ่งขวักไขว่อยู่ในกรุงเทพฯ ปรากฏว่ามีอู่ให้เช่ารถลากหรือในภาษาราชการว่า “โรงรถญี่ปุ่น” อยู่ถึง ๔๘ ราย มีรถให้เช่าทั้งสิ้น ๑,๕๗๕ คัน
ราคาที่ให้เช่าแบ่งเป็น ๒ กะ กลางวันกับกลางคืน มีราคาเท่ากันคือกะละ ๑ เฟื้อง หรือ ๑๒ สตางค์ครึ่งต่อกะ ส่วนค่าโดยสารยังไม่ได้กำหนดแน่นอน แล้วแต่จะเรียก อย่างจากสะพานหันไปท่าเตียน จะอยู่ที่ ๔ อัฐ คือครึ่งเฟื้อง ถ้าฝนตกก็แพงขึ้นอีกหน่อย
พอถึง พ.ศ.๒๔๔๔ ปรากฏว่ารถลากเข้ามาครองเป็นเจ้าถนน แม้เริ่มมีรถรางเปิดบริการแล้ว แต่ยังมีมีกี่สาย และเลี้ยวเข้าตรอกซอกซอยไม่ได้ รถลากหรือรถเจ๊กจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดทะเลาะวิวาทแย่งผู้โดยสารกัน ทางราชการเห็นสมควรที่จะควบคุมรถลาก จึงได้ตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับรถลากขึ้นเป็นฉบับแรก มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติรถลาก รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๐” โดยได้ชี้แจงเหตุผลในการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า
“กรุงเทพพระมหานครในทุกวันนี้ มีรถคนลากสำหรับรับจ้างคนโดยสารแลรับบรรทุกของ เดินในถนนหนทางทวียิ่งขึ้นเป็นอันมาก แต่รถที่ใช้นั้นไม่แข็งแรงมั่นคง แลไม่มีสิ่งสำหรับป้องกันความอันตรายของผู้โดยสาร กับไม่สะอาดเรียบร้อยตลอดจนคนลากรถด้วย ย่อมเป็นที่รังเกียจแลรำคาญแก่ผู้ที่จะใช้รถ หรือผู้ที่เดินทางในท้องถนนร่วมกัน
อีกประการหนึ่ง คนที่ลากรถนั้น บางทีรับคนโดยสารหรือรับบรรทุกสิ่งของที่มาก หรือที่หนักเกินกำลังรถที่จะพาไปได้ จนเห็นเหตุอันตรายแก่ผู้โดยสารแลคนเดินทางกับทั้งรถ แลไม่เป็นความเรียบร้อยในท้องถนนอีกด้วย สมควรจะมีพระราชบัญญัติสำหรับบังคับตรวจตราการใช้รถลาก เพื่อได้จัดระเบียบรถแลป้องกันความอันตรายของผู้ใช้รถแลทั้งคนที่เดินทาง ให้เป็นคุณประโยชน์แก่มหาชน แลเป็นการเรียบร้อยในท้องถนนสืบไป...”
พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับทั้งคนลากรถและเจ้าของรถลาก สำหรับเจ้าของรถกำหนดไว้ว่า
“บรรดารถสองล้อซึ่งลากด้วยคน หรือคำสามัญเรียกว่า รถเจ๊ก หรือรถญี่ปุ่น หรือรถยินริกซอ สำหรับรับจ้างส่งคนโดยสารนั้น ในพระราชบัญญัติเรียกว่า “รถลาก” แลผู้เป็นเจ้าของรถนั้นเรียก “เจ้าของรถลาก” ผู้เป็นเจ้าของต้องนำรถลากมาจดทะเบียนแลทำการสำรวจ เมื่อเห็นว่ามีลักษณะสมควรตามพระราชบัญญัติ จึงรับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้ หากเจ้าของรถนำรถที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนแลอนุญาตไปใช้ จะต้องถูกปรับครั้งหนึ่งไม่เกิน ๑๔ บาท หรือติดคุกไม่เกิน ๒ เดือน และหากมีการปลอมใบอนุญาตและป้ายทะเบียน เจ้าของรถจะต้องถูกปรับเป็นเงินไม่เกิน ๑๔ บาท หรือติดคุกไม่เกิน ๒ เดือนเช่นกัน”’
สำหรับข้อบังคับของผู้ลากรถ มีกำหนดไว้ดังนี้
ผู้ลากรถต้องมีเครื่องหมายตรงกับจำนวนเลขหมายของรถติดตัว
ต้องเดินรถข้างถนน และต้องหลีกรถทางซ้ายของผู้ลาก
ต้องจุดโคมไฟที่หน้ารถทั้งสองข้างในเวลากลางคืน คือตั้งแต่พระอาทิตย์ตก จนถึงพระอาทิตย์ขึ้น
ต้องจอดพักรถตามที่ซึ่งเจ้าพนักงานได้กำหนดไว้
ให้รับผู้โดยสารได้ ๓ คน คือผู้ใหญ่ ๒ คน เด็กอายุไม่เกิน ๑๐ ขวบ ๑ คน
ห้ามไม่ให้บรรทุกของโสโครก
ห้ามไม่ให้บรรทุกสัตว์มีชีวิต เช่น สุกร แพะ แกะ เป็นต้น
ห้ามไม่ให้บรรทุกผู้โดยสารที่เป็นโรคติดต่อ
ห้ามไม่ให้บรรทุกศพคน
สำหรับผู้โดยสาร พระราชบัญญัติฉบับนี้ก็บัญญัติไว้เหมือนกันว่า ถ้าทุบตีหรือทำร้ายคนลากรถ ทำอันตรายรถ หรือไม่ยอมจ่ายค่าโดยสาร ค่าบรรทุก ให้เจ้าพนักงานกองลาดตระเวนเข้าระงับเหตุและจับกุมส่งฟ้องศาล ส่วนโทษที่ไม่จ่ายค่าโดยสารนั้น ให้ปรับเป็นเงินไม่เกิน ๘ บาท พร้อมค่าโดยสารอีกต่างหาก
ส่วนเจ้าพนักงานผู้ตรวจรถลาก ได้กำหนดหน้าที่ให้ดำเนินการกับผู้ลากรถที่มีลักษณะดังนี้
ผู้ลากรถเป็นผู้มีอาการปรากฏว่าไม่มีกำลัง หรือโสโครกก็ดี
ถ้าผู้ลากรถเดินเกะกะตามถนน หรือตำบลใดๆ อันไม่สมควรก็ดี
ถ้าผู้ลากรถทำการกีดขวางทางเดิน จะนำให้เกิดอันตราย หรือเป็นความลำบากแห่งการเดินไปมาในถนนหรือตำบลที่ใดๆก็ดี
ถ้าผู้ลากรถทิ้งผู้โดยสารในที่ไม่สมควรก่อนสิ้นระยะทางอันได้สัญญากันก็ดี
ถ้าผู้ลากรถเรียกค่าจ้างเกินกว่าอัตรา หรือใช้คำหยาบช้า หรือประพฤติกิริยาหยาบคายต่อผู้โดยสารก็ดี
ถ้าลากรถรับคนที่ป่วยเป็นโรคอันน่ากลัวติดเนื่องกันได้ หรือรับเอาศพไปก็ดี
ถ้ารถลากรับคนโดยสารเกินกว่าอัตรา หรือบรรทุกสิ่งของห้ามไม่ให้บรรทุกก็ดี
ถ้าพบรถลากเที่ยวลากเพื่อรับจ้างเมื่อเวลามืดค่ำแล้วไม่มีโคมไฟที่สมควรตามข้อบังคับก็ดี
ให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจ หรือเจ้าพนักงานกรมกองตระเวน มีอำนาจเกาะผู้ลากรถนั้นมาติเตียน เรียก เงินประกันครั้งหนึ่งไม่เกิน ๔ บาท อย่าให้ประพฤติผิดอย่างนั้นอีกภายในหนึ่งเดือน จึงคืนเงินให้ก็ได้ หรือจะยึดตัวผู้ลากรถ หรือทั้งรถและตัวผู้ลากรถเอาไว้ ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมง แล้วจึงปล่อยตัวไปก็ได้
พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดอัตราค่าโดยสารไว้ด้วย คือ
ระยะทางภายใน ๒๕ เส้น คนเดียว ๔ อัฐ สองคน ๖ อัฐ
ระยะทางภายใน ๕๐ เส้น คนเดียว ๖ อัฐ สองคน ๘ อัฐ
ระยะทางภายใน ๗๕ เส้น คนเดียว ๘ อัฐ สองคน ๑๐ อัฐ
ระยะทางทุกๆ ๒๕ เส้นต่อไป ระยะละ ๒ อัฐ
ค่าคอย ถ้าเกิน ๑๕ นาทีจนถึง ๑ ชั่วโมง ๔ อัฐ ถ้าเกินนั้นไปชั่วโมงละ ๔ อัฐ
ค่าโดยสารก็ดี ค่าคอยก็ดี เวลากลางคืนพ้นยามหนึ่งไป เรียกขึ้นได้อีกครึ่งอัตรา
พระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕)
กิจการรถลากทำเงินให้เจ้าของรถและรัฐมาก ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ รถลากคันหนึ่งราคาประมาณ ๑๐๐ บาท เสียภาษีปีละ ๓ ครั้งๆละ ๘ บาท รวม ๒๔ บาท ให้เช่าวันละ ๖๐ สตางค์ ครึ่งปีก็มีกำไรแล้ว แต่ละอู่มีรถให้เช่าหลายสิบคัน บางอู่มีเป็นร้อยคัน กิจการให้เช่ารถจึงเป็นธุรกิจที่ดี รัฐเองก็ได้ภาษีจากรถลากมาก ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ รัฐเก็บค่าธรรมเนียมรถลากได้ ๓๓,๘๖๕ บาท ปี พ.ศ.๒๔๕๘ เพิ่มขึ้นเป็น ๖๘,๗๗๒ บาท และปี พ.ศ.๒๔๕๙ เก็บได้ถึง ๗๑,๙๑๒ บาท สูงกว่าค่าธรรมเนียมรถทุกประเภท แต่กุลีลากรถกลับมีรายได้ต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะรายได้ส่วนใหญ่จะเป็นค่าเช่ารถ แม้แต่ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ นี้แล้ว ยังมีตัวเลขรายได้ของกุลีลากรถเพียงวันละ ๑ บาท ถึง ๑.๒๕ บาท แต่เป็นค่าเช่ารถถึง ๗๕ สตางค์ ค่าน้ำมันเติมตะเกียงเมื่อวิ่งกลางคืนอีก ๕ สตางค์ เมื่อหักค่าใช้จ่ายนี้แล้ว กุลีรถลากที่วิ่งทั้งกลางวันกลางคืน เหลือเงินเพียง ๒๐-๔๕ สตางค์เท่านั้น ขณะที่กุลีอื่นๆมีรายได้เฉลี่ย ๘๐-๑๐๐ สตางค์ต่อวัน
ซินตึ๊งเมื่อมาลิ้มรสชีวิตกุลีลากรถ มักดิ้นรนไปหาอาชีพอื่น แต่คนที่อายุมากไม่มีทางไป จำต้องจมอยู่กับชีวิตกุลีลากรถจนตายไปคารถ
ส่วนใหญ่ของกุลีพวกนี้จะหันเข้าหาฝิ่น มั่วสุมการพนันและโสเภณีชั้นต่ำ ซึ่งก็ทำให้เงินฝืดเคืองยิ่งขึ้นไปอีก ไม่พอที่จะหาอาหารบำรุงร่างกาย แม้ข้าวเปล่าขณะนั้นราคาเพียงครึ่งสตางค์ กับข้าวจานละ ๑ สตางค์ ทำให้ร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน บ้างก็ต้องลงแดงเพราะฝิ่น แต่เจ้าของโรงยาฝิ่นจะไม่ยอมให้นอนตายในโรง หามออกมาให้นอนตายข้างถนน หลายรายก็หมดแรงตายคาอู่รถ
แม้ชีวิตกุลีลากรถจะอาภัพแสนเข็ญถึงเพียงนี้ แต่ก็ยังถูกซ้ำเติมจากคนรอบด้าน พวกอั้งยี่ตามถิ่นต่างๆก็เรียกค่าคุ้มครอง เพราะรถลากต้องเข้าไปส่งผู้โดยสาร ตำรวจเองก็ใช้อำนาจจับรถลากและทุบตีด้วยกระบองเป็นประจำ เจ้าของอู่ก็ยังใช้นักเลงคุมอู่ตีเมื่อไม่มีค่าเช่ามาส่ง กุลีลากรถจึงเป็นกลุ่มคนที่ต่ำสุดในสังคม แต่งเนื้อแต่งตัวก็สกปรกเป็นที่น่ารังเกียจ แต่กระนั้นสังคมไทยก็มีเมตตาให้ความเห็นใจเมื่อกุลีลากรถมีปัญหาคับแค้นใจ กุลีลากรถเคยก่อการสไตรค์ทั่วกรุงมา ๓ ครั้ง ประสบชัยชนะทั้ง ๓ ครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ
ครั้งแรก ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๙ ตำรวจไปพบใบปลิวภาษาจีนติดไว้ตามถนน ๗ ฉบับ ฉบับหนึ่งแปลได้ความว่า
“เชิญอ่าน ๆ ๆ ๆ
ท่านสหายที่เป็นสุภาพบุรุษจงอ่านคำแจ้งความนี้ ด้วยว่าเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๙ พวกเจ้าของรถได้ประชุมกันหาฤาจะขอขึ้นราคาค่าเช่ารถ ๔๐ สตางค์ กำหนดจะตกลงแน่นอนในวันที่ ๒ ถ้าสหายคนใดรักเพื่อน ตั้งแต่วันที่ ๔ มะรืนนี้เป็นต้นไป อย่าได้ไปเช่ารถที่โรงมาลาก ถ้าใครไปลากรถที่โรง ขอให้มันมีลูกชายเป็นโจร ลูกผู้หญิงเป็นดอกทอง
แจ้งความฉบับนี้ ใครอ่านแล้วคิดอะไรสมความปรารถนา ใครฉีกเสียต้องเจ็บไข้ ๓ ปี”
มีกุลีลากรถเช่ารถออกมาลากบ้าง จึงถูกพวกที่เฝ้าดูอยู่จะเข้าทำร้าย ตำรวจจับผู้สไตรค์ได้ ๓๔ คน นายพันตำรวจเอก พระยาพิเรนทราธิบดี ผู้บังคับการแขวงพระนครเข้าไต่สวน ได้ความว่าเจ้าของรถลากได้รวมกันขึ้นค่าเช่าจากเดิม กลางวัน ๓๑ สตางค์ เป็น ๔๐ สตางค์ กลางคืน ๓๑ สตางค์ เป็น ๓๕ สตางค์ โดยอ้างว่าราคารถแพงขึ้น กุลีบางคนเต็มใจ แต่ก็ไม่กล้าออกรถกลัวจะถูกทำร้าย พระยาพิเรนทร์ฯจึงรับรองที่จะปกป้องคนที่ออกลากรถ แต่ได้ขอร้องเจ้าของรถให้เป็นไปตามราคาเดิมก่อน ซึ่งเจ้าของรถก็ยอมแต่โดยดี เหตุการณ์จึงสงบลง
ครั้งที่ ๒ วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๕ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงเดือนเศษ กุลีลากรถ ๖,๐๐๐ คน นัดกันหยุดลากรถ สาเหตุมาจากค่าเช่าอีกตามเคย เจ้าของรถได้ขึ้นค่าเช่าเป็นวันละ ๗๕ สตางค์ เกินกว่าที่ทางราชการให้เก็บเพียง ๖๐ สตางค์ กุลีลากรถได้นำรถ ๒,๐๐๐ คันมาชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ใกล้วังปารุสก์ฯ กองบัญชาการของคณะราษฎร พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ๑ ใน ๔ ทหารเสือของคณะราษฎรได้เรียกตัวแทนกุลีเข้าไปพบ และรับจะเจรจาเรื่องนี้กับเจ้าของรถเอง ขอให้พวกกุลีนำรถออกไปบริการประชาชนก่อน อย่าให้ผู้ใช้รถต้องเดือดร้อน กุลีลากรถก็ยินดีปฏิบัติตามคำขอ
ต่อมาในวันที่ ๑๐ สิงหาคม พระยาทรงฯได้เรียกเจ้าของรถไปเจรจาที่กระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกุลีหาผู้แทนไม่ได้เพราะไม่มีใครเป็นหัวหน้า ร.ต.อ.หลวงพรหมโมปกรณ์ (รื่น พรหมโมบล) ผู้ช่วยแม่กองพิมพ์ลายมือกรมตำรวจ จึงอาสาเป็นตัวแทนให้ ฝ่ายกุลีนอกจากไม่ยอมให้ขึ้นแล้วยังขอลดค่าเช่าลงอีก ให้เหลือวันละ ๕๕ สตางค์ โดยอ้างว่ามีรถเมล์ รถราง รถแท็กซี่ออกมาวิ่งแย่งผู้โดยสารมากแล้ว เจ้าของรถก็ต้องยอมลดให้ตามคำขอ เพราะคณะราษฎรให้ความเห็นใจฝ่ายกุลีอย่างมาก
การประท้วงครั้งที่ ๓ เกิดขึ้นในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๗๖ กุลีได้นัดกันหยุดลากรถอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้ต่อสู้กับเจ้าของรถ ทั้งเจ้าของรถยังแอบสนับสนุนอยู่ข้างหลัง เพราะต้องต่อสู้กับทางราชการ ซึ่งออกกฎไม่ให้รถลากจอดรอผู้โดยสารตามข้างถนน ถ้าไม่มีคนนั่งก็ต้องวิ่งไปเรื่อยๆ ใครขัดขืนต้องถูกยึดใบอนุญาต ๗ วัน กฎข้อนี้ทำให้กุลีรถลากต้องลากรถไปทั้งวัน นั่งพักก็ไม่ได้ สุดแสนจะทนกันได้ ซึ่งก็เช่นเดียวกับ ๒ ครั้งแรก รัฐบาลเห็นใจกุลี คนที่นั่งออกกฎไม่ได้วิ่งด้วย เลยต้องยอมอ่อนข้อแก้ไขกฎข้อนี้
การต่อสู้ของกุลีลากรถประสพความสำเร็จทุกครั้ง ก็เพราะต่อสู้ด้วยความบริสุทธิ์ใจตามแรงที่ถูกกดดัน ไม่มีใครชักใบอยู่เบื้องหลัง และคนทั่วไปต่างก็เห็นสภาพอันน่าสังเวชของกุลีลากรถอยู่ทุกวัน จึงเอาใจช่วยเต็มที่
แต่ถึงอย่างไร กุลีลากรถและรถลากต่างก็ต้องพ่ายแพ้ต่อยุคสมัย เมื่อมีรถสามล้อเกิดขึ้น แม้รถแท็กซี่จะเริ่มมีในกรุงเทพฯในราวปี ๒๔๗๐ แต่ราคาก็ยังแพงกว่ารถลาก และยังมีไม่กี่คัน แต่เมื่อมีรถสามล้อเกิดขึ้นราวปี ๒๔๗๙ รัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีรถสามล้อได้ไม่จำกัดจำนวน ขณะที่ควบคุมรถลากไม่ให้มีเกิน ๓,๐๐๐ คัน ทั้งยังเก็บค่าธรรมเนียมรถลากปีละ ๒๔ บาท แต่เก็บรถสามล้อเพียง ๑๒ บาท ส่วนผู้โดยสารก็นิยมรถสามล้อมากกว่า เพราะเร็วกว่าและปลอดภัยกว่ารถลากมาก ความนิยมรถลากจึงค่อยๆหมดไป ในที่สุดรัฐบาลก็ประกาศไม่ให้มีการต่อทะเบียนรถลากอีกตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๖
เรื่องรถลากหรือรถเจ๊กที่เล่ามานี้ มีแต่ชีวิตอาภัพที่น่าสังเวชของกุลีรถลาก แต่ “กาญจนาคพันธุ์” ได้เล่าไว้ใน “กรุงเทพฯเมื่อ ๗๐ ปีก่อน” เป็นเรื่องสนุกของรถเจ๊ก ก็เลยขอเอามาเล่าต่อปิดฉากเรื่องนี้
“กาญจนาคพันธุ์” เล่าไว้ว่า
“นั่งรถเจ๊กคันใหญ่ต้องคอยระวังให้ดี ไม่ใช่เพราะรถเกิดชนกัน หรืออะไรต่างๆ เพราะรถไม่ค่อยมีเดิน ถนนโล่งๆเสมอ ที่ต้องคอยระวังก็คือ คนลากมักเป็นคนที่มีอายุ “บ้อลัด” ดีไม่ดีคนนั่งหนักมากเลยทำให้รถหงายหลัง คนนั่งกลิ้งโค่โล่ลงมากับพื้นถนน แต่ไม่เจ็บหนักหนาอะไร เช่นตอนขึ้นสะพานเป็นต้น สะพานสมัยนั้นมักทำสูงเหมือนกัน เจ๊กลากขึ้นไม่ไหว ที่ทำสะพานให้โค้งสูง ก็เพื่อให้เรือลอดได้สะดวก ทั้งนี้เพราะยังใช้คลองกันอยู่มาก บางสะพานเจ๊กต้องลากขึ้นหันไปเหมา อย่างที่เรียกว่าซิกแซก เพราะขึ้นตรงๆไม่ไหว ขืนตรงขึ้นไปรถหงายหลังเอาง่ายๆ อีกอย่างรถคว่ำหน้า คือเจ๊กลากไปสะดุดก้อนหินหรืออะไร หรือมีงูเลื้อยผ่าน เจ๊กมักปล่อยคันที่ถือ ทำให้รถคว่ำหน้า คนนั่งก็เลยคะมำลงไปด้วย
มีเรื่องรถเจ๊กหงายหลังและคว่ำหน้าบ่อยๆ แต่รู้สึกเป็นธรรมดาไม่แปลก แต่ที่แปลกมีอยู่เรื่องหนึ่ง คนนั่งชื่อ นายฮะ คนนี้เป็นเจ้าของแตรวงที่เล่นหน้าโรงหนังญี่ปุ่นแทบทุกโรง เรียกว่าแตรนายฮะมีชื่อเสียงมากหน่อย วันหนึ่งแกนั่งรถเจ๊กไป ได้ยินว่างูมันเลื้อยผ่าน เจ๊กลากรถตกใจ ทิ้งคันรถโครมลงไป นายฮะนั่งเพลินไม่ทันรู้ตัว เลยคว่ำหน้าคะมำลงไปกับพื้นถนน พอลุกขึ้นมาลูกตาหายไปข้างหนึ่ง นายฮะแกใส่ตาปลอม (เหมือนลูกตาจริงๆไว้ข้างหนึ่ง) แกลุกขึ้นมา เจ๊กรถลากเห็นตากลวงโบ๋นึกว่าผีนั่งมา เลยทิ้งรถวิ่งหนีเตลิดเปิดเปิงไป เจ๊กก็กลัวผีเหมือนไทยๆเหมือนกัน”