xs
xsm
sm
md
lg

“สงคราม ๙ ทัพ” ชี้ชะตาประเทศ ทหารไทยกลัวถูกลงครกโขลก พม่าหิวจนไม่มีแรงเดินกลับ!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ภาพเขียนการเดินทัพในสมัยนั้น
ในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์มาได้ ๓ ปี พม่าซึ่งหมายมั่นจะบดขยี้ไทยไม่ให้ตั้งตัวได้หลังเสียกรุง แต่ตัวเองต้องเผชิญปัญหาแตกแยกภายใน ครั้นปราบปรามศึกในบ้านได้ราบคาบแล้ว พระเจ้าปะดุง ก็ทรงกรีฑาทัพใหญ่มีกำลังพลถึง ๑๕๐,๐๐๐ แบ่งเป็น ๙ กองทัพ วางแผนอย่างแยบยลมุ่งเข้าไทยตั้งแต่เหนือจรดใต้

ทางภาคใต้ ตีตั้งแต่ชุมพรลงไปจนถึงเมืองถลาง ส่วนภาคเหนือ เข้าตีเชียงใหม่ ลำปาง เชียงแสน อีกทัพเข้ามาทางเมืองตาก สกัดหัวเมืองฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ไม่ให้ยกไปช่วยกรุงเทพฯได้ อีกกองทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา สกัดทัพราชบุรีและเพชรบุรีไว้ด้วย เพื่อเปิดทางโล่งให้อีก ๕ กองทัพ รวมถึงกองทัพหลวงของพระเจ้าปะดุงและ ๒ พระราชบุตร มีกำลังรวม ๘๙,๐๐๐ คน เข้าทางด่านเจดีย์สามองค์ มุ่งบดขยี้กรุงรัตนโกสินทร์อย่างปลอดโปร่ง

ครั้นได้ข่าวศึก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชา พร้อมขุนนางข้าราชการ ได้เปิดประชุมวางแผนรับศึกครั้งสำคัญ ถ้าแพ้ศึกครั้งนี้ก็จะไม่มีกรุงรัตนโกสินทร์และราชอาณาจักรไทยเป็นแน่

ตอนนั้นไทยเรามีพลเมืองแค่ ๒ ล้านคน รวบรวมกำลังทหารได้แค่ ๗๐,๐๐๐ เกินกำลังที่จะรับมือพม่าได้ ทั้งยุทธวิธีที่เคยใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คือตั้งรับข้าศึกในกำแพงพระนคร ก็ใช้ไม่ได้ในครั้งนี้ เพราะกำแพงพระนครมีแค่ไม้ทองหลางปักไว้เป็นแนวเท่านั้น ยังไม่ทันสร้างให้มั่นคง

ในที่สุดทรงเลือกยุทธวิธีที่จะออกไปสกัดข้าศึกในภูมิประเทศที่ฝ่ายเราได้เปรียบ โดยส่งกองทัพหนึ่งไปตั้งรับพม่าที่นครสวรรค์ ยันพม่าที่ยกมาทางเหนือไว้ไม่ให้เคลื่อนลงมากรุงเทพฯ อีกกองทัพไปยันข้าศึกที่เมืองราชบุรี เพชรบุรี แม้จะรับไม่ไหวก็ให้ทั้ง ๒ กองทัพถ่วงเวลาไว้ให้นานที่สุด ส่วนทางใต้ปล่อยให้พม่ายึดไปก่อน ค่อยแก้ไขภายหลัง

สมเด็จพระอนุชา กรมพระราชวังบวรฯทรงรับภาระสำคัญ นำกำลัง ๓๐,๐๐๐ พร้อมด้วยกองมอญอาสาของพระยามหาโยธา (เจ่ง) อดีตเจ้าเมืองมอญที่เข้ามาสวามิภักดิ์ ๓,๐๐๐ คน ไปตั้งรับ ๕ ทัพพม่าพร้อมทัพหลวงที่กาญจนบุรี ถ้าขับไล่กองกำลังพม่าด้านนี้ออกไปแล้ว จึงไปช่วยตีทัพพม่าด้านอื่นอีกทีละทัพ

สำหรับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงถือกำลังพล ๓๐,๐๐๐ คนเตรียมพร้อมอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นกองหนุนคอยเข้าช่วยด้านที่มีความจำเป็น
นอกจากนี้ยังจัดกำลังพล ๕๐๐ คนให้พระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ และพระยาเพชรบุรี เป็นนายทัพกองโจร ไปคอยดักทำลายกองลำเลียงเสบียงของพม่าที่เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ แม้ชาติคับขันถึงเพียงนี้ ทั้ง ๓ พระยายังคิดถึงชีวิตของตัวมากกว่าชาติ เมื่อได้ข่าวว่าพม่ามาทางไหน ก็หลบไปตั้งสกัดอีกทางหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ขุนหมื่นในกองโจรทนดูไม่ได้หลบมากราบทูลฟ้อง กรมพระราชวังบวรฯทรงส่งคนไปสอบ เมื่อได้ความจริงตามฟ้อง จึงให้ตัดหัวพระยาทั้ง ๓ ใส่ชะลอมมาเสียบประจานไว้หน้าค่าย แล้วดำรัสให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าขุนเณร ไปเป็นนายทัพกองโจรแทน

กรมพระราชวังบวรฯได้ส่งให้กองมอญอาสาของพระยาเจ่ง ไปขัดขวางกองทัพหน้าของพระเจ้าปะดุงที่ด่านกรามช้าง ถ่วงเวลาให้ทรงตั้งค่ายเสร็จก่อน ฉะนั้นเมื่อกองทัพหน้าของพม่าผ่านด่านเจดีย์สามองค์เข้ามา ก็ถูกกองมอญอาสาของพระยาเจ่งซุ่มโจมตีตามรังควาน ทำให้ต้องเดินทัพช้าลง พระยาเจ่งก็หลอกล่อให้พม่าตามตีเรื่อยมา ครั้นมาถึงช่องแคบระหว่างภูเขากับแม่น้ำแควใหญ่ที่ช่องสะเดา ซึ่งเป็นภูมิประเทศที่ทรงกำหนด ก็พบว่ากรมพระราชวังบวรฯตั้งค่ายชักปีกกาปิดกั้นไว้ ตามแผนยุทธการ “ปิดตรอกตีพม่า” ทำให้กองทัพหน้าของพม่าจำต้องตั้งค่ายขึ้นเผชิญหน้า ครั้นกองทัพหนุนตามมาก็อยู่ได้แค่ด้านหลัง ต้องดิ้นขลุกขลักอยู่ในช่องแคบนั้น

นอกจากนี้ ด้านหลังของกองทัพหน้าพม่ายังมีปฏิบัติการกองโจรของพระองค์เจ้าขุนเณร ซึ่งมีกำลังทหารร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีทั้งกะเหรี่ยง ข่า ขมุ รวม ๑,๘๐๐ คน คอยดักปล้นและทำลายเสบียงที่ส่งมาจากเมาะตะมะ ทวาย และตะนาวศรี ครั้งหนึ่งพระเจ้าปะดุงได้แบ่งเสบียงจากกองทัพหลวงซึ่งตั้งอยู่ที่ด่านเจดีย์สามองค์ บรรทุกช้าง ๖๐ เชือกส่งไปช่วยกองทัพหน้า มีกองคุ้มกันมา ๕๐๐ คน ก็ถูกพระองค์เจ้าขุนเณรปล้นเอาไปหมด ทำให้กองทัพพม่าที่ตั้งเผชิญหน้ากับไทยขาดแคลนเสบียงอย่างหนัก

เมื่อกรมพระราชวังบวรทรงเห็นว่าทหารพม่าอ่อนกำลังแล้ว จึงดำรัสให้นายทัพนายกองออกตีค่ายพม่า แต่พม่าก็ยังป้องกันค่ายได้อย่างเหนียวแน่น ทำให้ฝ่ายไทยไม่อาจบุกทะลวงได้ ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างล้มตายเป็นจำนวนมาก ตกค่ำนายทัพไทยจึงสั่งถอยกลับเข้าพักยกในค่าย แต่เมื่อกรมพระราชวังบวรฯที่พม่าให้ฉายาว่า “พระยาเสือ” ทรงทราบ จึงมีพระบัณฑูรให้ทำครกใหญ่ตั้งไว้กลางค่าย ๓ ครก ประกาศให้แม่ทัพนายกองทั้งหลายรู้ทั่วกันว่า ต่อไปถ้าใครถอยทัพหนีพม่า จะเอาตัวลงโขลกในครก ทหารไทยจึงลุยกันลูกเดียว เพราะตายในสนามรบยังมีเกียรติกว่าตายในครก

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงทราบข่าวศึกทางด้านกาญจนบุรีว่ายังไม่สามารถขับไล่พม่าออกไปได้ ก็ทรงวิตกว่าพระอนุชาจะเผด็จศึกไม่ทันการที่จะไปรับมือทางด้านอื่นต่อไป จึงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยกองทัพหลวง ๒๐,๐๐๐ มาทางชลมารค สมเด็จพระอนุชาก็ลงมารับเสด็จถึงเมืองกาญจน์ นำพระเจ้าอยู่หัวพร้อมไพร่พลไปยังค่าย กับให้ทหารประโคมแตรสังข์ฆ้องกลองชนะและโห่ร้องครึกโครมก้องป่า ทหารพม่าขึ้นสังเกตการณ์บนหอรบ เห็นกองทัพหลวงยกรี้พลจำนวนมากมาหนุน ก็เกิดความครั่นคร้ามหนักขึ้น

กรมพระราชวังบวรฯกราบทูลว่า ทัพพม่าอดอยากเสียขวัญจวนจะแตกอยู่แล้ว อย่าได้ทรงวิตกเลย ขอรับอาสาเอาชัยชนะให้จงได้ ขออัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินกลับคืนพระนครเถิด จะได้คอยรับมืออริราชศัตรูทางด้านอื่นได้ทันท่วงที ค่ำวันนั้นจึงทรงเสด็จยาตราทัพหลวงกลับเข้าเมืองกาญจน์อย่างเงียบๆโดยไม่ให้พม่ารู้

กรมพระราชวังบวรฯยังใช้แผนนี้อีกในคืนต่อมา ให้ทหารเดินออกจากค่ายในเวลาค่ำอย่างเงียบๆ แล้วโห่ร้องกลับเข้าค่ายในตอนเช้า ทำให้พม่าใจฝ่อคิดว่าไทยมีทัพหนุนมาเสริมทุกวัน ทั้งยังอดอยากหิวโหยกันไปทั่ว แม้กองทัพของราชบุตรทั้ง ๒ ยกมาช่วย ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะติดอยู่ในช่องแคบ กลับจะมาช่วยกันอดหนักเข้าไปอีก แม่ทัพหน้าของพม่าจึงส่งคนนำความไปกราบทูลพระเจ้าปะดุง ขอล่าทัพเสียก่อนจะแตกทัพ พระเจ้าปะดุงให้รอดูท่าทีไปอีกพัก ถ้าเห็นว่าไม่ไหวจริงๆจึงค่อยถอย กองทัพพม่าจึงรอดูท่าทีโดยรบอยู่แต่ในค่าย ไม่ยอมออกมาสู้นอกค่าย

พระยาเสือทรงเห็นว่าทัพพม่าสุกงอมได้ที่แล้ว ฉะนั้นในเช้ามืดของวันศุกร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๒๘ จึงดำรัสสั่งให้ทุกหน่วยลากปืนใหญ่ออกมาระดมยิงค่ายพม่าพร้อมกัน พม่าก็เอาปืนใหญ่ยิงตอบโต้กลับมา แต่ลูกปืนที่ไทยใช้เป็นแค่ท่อนไม้ไม่ใช่ลูกเหล็กกลมแบบเก่า ปลายไม้พันด้วยผ้าชุบน้ำมันจุดไฟ ค่ายสร้างด้วยไม้อยู่แล้ว ลูกปืนไฮเทคของไทยตกตรงไหนก็ไหม้ตรงนั้น ทหารพม่าต้องดับไฟกันเป็นโกลาหล จนเห็นว่าเหลือกำลังจะสู้รบต่อไปได้ จึงพากันแตกหนีออกจากค่าย แต่ทหารจำนวนมากอดข้าวจนไม่มีแรงเดินกลับ ยอมให้จับเป็นเชลยถึง ๖ พันคน

ฝ่ายกองทัพหลวงของพระเจ้าปะดุง เมื่อทรงทราบว่ากองทัพหน้าแตกยับเยินแล้ว ก็รีบถอยกลับเข้าเขตแดนไป

เมื่อจัดการกับกองทัพใหญ่ของพม่าทางด้านกาญจนบุรีเสร็จสิ้นแล้ว กรมพระราชวังบวรฯจึงทรงแบ่งกองกำลังให้พระยากลาโหมราชเสมาลงไปจัดการกับกองทัพพม่าที่ชุมพร แต่เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองราชบุรีก็พบกองทัพพม่าตั้งค่ายอยู่นอกเขางู ห่างเมืองราชบุรีเพียง ๕ กม. เก็บผักผลไม้ของชาวบ้านกินกันสบาย โดยกองทัพไทยก็ไม่รู้ เพราะอยู่แต่ในเมืองไม่ส่งกองลาดตระเวนออกไปดูข้างนอก พระยากลาโหมฯเลยจัดการทัพพม่าจนแตกพ่าย และรายงานพฤติกรรมของแม่ทัพไทยให้กรมพระราชบวรฯทรงทราบ “พระยาเสือ” ทรงพิโรธสั่งให้ประหารชีวิตทั้งแม่ทัพและผู้ช่วย แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงขอชีวิตไว้ เพียงให้ถอดยศและโกนหัวแห่ประจานรอบค่าย ส่วนนายทัพนายกองถูกลงพระราชอาญาเฆี่ยนทั้งสิ้น

เมื่อเสร็จศึกทางเมืองกาญจน์ กรมพระราชวังบวรฯเสด็จไปพระนครปรึกษาข้อราชการกับพระเจ้าอยู่หัว ถือว่าสงครามยังไม่ชนะเด็ดขาด แม้จะขับไล่กองทัพหลวงออกจากเขตแดนไทยแล้ว แต่กองทัพอื่นยังยึดอยู่ทั้งภาคเหนือภาคใต้ จากนั้นกรมพระราชวังบวรฯจึงทรงยกทัพโดยขบวนเรือ ไปสมทบกับทัพของพระยากลาโหมฯที่ชุมพร ขับไล่กองทัพพม่าทางภาคใต้กระเจิงออกจากแผ่นดินไทยทั้งหมด

ส่วนพระเจ้าอยู่หัวทรงเคลื่อนทัพทางชลมารค ไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองอินทบุรี มีพระราชโองการให้กองทัพของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ที่ตั้งยันพม่าอยู่ที่ชัยนาท ขึ้นไปขับไล่กองทัพพม่าที่เมืองตาก และให้กองทัพพระราชวังหลังที่ตั้งอยู่นครสวรรค์ ไปขับไล่กองทัพพม่าที่ปากพิง ใต้เมืองพิษณุโลก จากนั้นทรงเคลื่อนทัพหลวงไปตั้งที่พิจิตร เพื่อสนับสนุนหน่วยต่างๆ

ที่ปากพิง พม่าพลาดท่าผิดหลักยุทธศาสตร์เอง ข้ามแม่น้ำน่านมาตั้งค่ายฝั่งตะวันออก เมื่อถูกโจมตีค่ายแตก จึงต้องหนีข้ามแม่น้ำกลับไปทางตาก ตอนข้ามแม่น้ำจึงเป็นจุดอ่อน ถูกทหารไทยตามตีและจมน้ำตายถึง ๘๐๐ คน ศพลอยเต็มแม่น้ำจนกินใช้ไม่ได้ไปหลายวัน

ส่วนทางภาคใต้ด้านฝั่งตะวันตก พม่าใช้กองทัพเรือจากเมืองมะริด ตีตั้งแต่เมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ราบลงไปตลอด แต่พอข้ามไปถึงเมืองถลางสถานการณ์ก็พลิกผัน เจอเอาหญิงไทยใจสู้อย่างคุณหญิงจันกับน้องสาวชื่อมุก ไม่ยอมหนีพม่าเข้าป่าอย่างเจ้าเมืองอื่นๆ ชวนชาวบ้านตั้งค่ายขึ้นป้องกันเมือง และเมื่อกำลังคนน้อยกว่าก็ใช้ปัญญาเข้าสู้ นอกจากสร้างทำนบปิดคลองจนพม่าไม่มีน้ำกินน้ำใช้แล้ว ยังส่งกองตระเวนโจมตีพม่าที่ออกไปหาเสบียง จนทหารในค่ายอดอยากเหมือนที่เมืองกาญจน์ ต้องถอยทัพลงเรือกลับไปเอง โชคดีที่ไม่ต้องเดิน

เมื่อเสร็จศึก คุณหญิงจันกับคุณมุกได้รับโปรดเกล้าฯเป็น ท้าวเทพกษัตริย์ตรี และ ท้าวศรีสุนทร ทั้งยังถือได้ว่า คุณหญิงจัน เป็นแม่ทัพหญิงคนแรกของไทยด้วย

ในที่สุด กองกำลังของข้าศึกที่ระดมมาถึง ๙ กองทัพ รวม ๑๕๐,๐๐๐ หมายจะลบกรุงรัตนโกสินทร์ออกจากแผนที่โลก ก็ถูกคนใจสู้ที่แม้จะกำลังน้อยกว่า ก็ใช้ปัญญาทำให้กองกำลังมหาศาลนั้นอ่อนเปลี้ยหมดสมรรถภาพลง จนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างยับเยินภายในเวลา ๑๐ เดือน

หมายเหตุ : นี่เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญที่คนไทยควรรู้ ส่วนคนพม่าที่รวมหัวกันจะถล่มกรุงรัตนโกสินทร์ในครั้งนั้น ได้ตายจากโลกไปหมดนานแล้ว ไม่เหลืออยู่ในเมียนม่าเพื่อนบ้านมิตรสนิทที่ร่วมอาเซียนกับไทยอยู่ในขณะนี้
อนุสรณ์สถานสงคราม ๙ ทัพที่ช่องสะเดา
อนุสาวรีย์ “พระยาเสือ” ในอุทยานประวัติศาสตร์สงคราม ๙ ทัพ
รูปปั้น “ปู่มั่น” แต่งแบบทหารชาวบ้าน
รูปปั้น “ปู่คง” แต่งแบบทหารหลวง
กำลังโหลดความคิดเห็น