xs
xsm
sm
md
lg

แฉ "สปริงนิวส์" จ่าย กสทช. เดือนละ 2.46 ล้านเช่าคลื่น 1 ปณ. - "สุภิญญา" โวย "ฐากร" อนุมัติข้ามหัวบอร์ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

การแถลงข่าวเปิดตัวคลื่นวิทยุ สปริงเรดิโอ ของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2558 (ภาพจาก ThaiPR.net)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - พบเอกสาร "นิวส์ เน็ตเวิร์ค มัลติมีเดีย" เจ้าของเดียวกับ "สปริงนิวส์" ทำสัญญาเช่าช่วงคลื่น 1 ปณ. กับ กสทช. ไปทำคลื่นข่าว จ่ายค่าตอบแทนเดือนละ 2.46 ล้าน ทั้งที่ยังมีปัญหาเลิกจ้างพนักงานฝั่งทีวีดิจิตอลอย่างต่ำ 40 คน "สุภิญญา" โวยเลขาฯ กสทช. อนุมัติโดยไม่ผ่านบอร์ด กสท. หวั่นในอนาคตยึดคลื่นรัฐคืนไปจัดสรรใหม่ไม่ได้ เช่าช่วงไปอยู่กับนายทุนตลอดไป

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Supinya Klangnarong ระบุว่า เห็นข่าวช่องสปริงนิวส์ปลดพนักงานฟ้าผ่านับครึ่งร้อยว่าตกใจแล้ว ตกใจยิ่งกว่าเมื่อเห็นแถลงการณ์คณะผู้บริหารแจ้งว่าจะรุกสื่อทุกแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะวิทยุ เอฟ.เอ็ม. 98.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งคือสถานีวิทยุ 1 ปณ. ของสำนักงาน กสทช. ที่ควรต้องคืนคลื่นความถี่มาจัดสรรใหม่นั่นเอง งานนี้ไม่รู้ว่า แถลงการณ์พิมพ์ผิด หรือสปริงนิวส์ได้ทำวิทยุ 1 ปณ. เอฟเอ็ม 98.5 เมกะเฮิร์ตซ์ จริงๆ เพราะที่ผ่านมา สายงานกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ยังไม่เคยมีมติจัดสรรคลื่นความถี่เอฟเอ็มให้ใครเลย

"งานนี้ยืนยันว่าคณะกรรมการ กสท. ไม่ทราบเรื่อง กลับไปต้องทำบันทึกถามสำนักงาน กสทช. ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพราะคลื่นเอฟเอ็ม 98.5 เมกะเฮิร์ตซ์นี้ รายอื่นๆ เช่น องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส เคยขอใช้มาหลายครั้งแต่ไม่เคยได้ เพราะต้องรอ กสท. จัดสรรใหม่ หลังพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ของรัฐตามกฏหมายก่อน" น.ส.สุภิญญา ระบุ

น.ส.สุภิญญา ยังกล่าวด้วยว่า ต้องหาข้อมูลเรื่องการปลดพนักงานช่องสปริงนิวส์ด้วย เพราะถ้าในแง่ความพร้อมทางธุรกิจ ที่ผ่านมาผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่องสปริงนิวส์ยังข้ามมาถือหุ้นใหญ่ไขว้กับผู้ถือหุ้นในช่องเครือเนชั่นฯ เกินสัดส่วนร้อยละ 10 จนทำให้บอร์ด กสท. มีปัญหา เสียงแตกกันระนาวเรื่องหุ้น 2 ช่องข่าวดิจิตอลทีวี จนทางเครือเนชั่นฯ เพิ่งไปฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติ กสท. เสียงข้างมาก

"ค่อนข้างงงมากกับปรากฏการณ์นี้ แต่ก็ขอแสดงความเสียใจและให้กำลังใจนักวิชาชีพทุกคนที่ต้องโดนเลิกจ้างในกรณีนี้ ขอให้บริษัทให้ความเป็นธรรมกับทุกคนอย่างเต็มที่ด้วย รายละเอียดอื่นๆ ขอไปหาข้อเท็จจริงก่อน แล้วจะมาให้ความเห็นเพิ่ม แต่คิดว่าสำนักงาน กสทช. และ ทางช่องสปริงนิวส์ต้องชี้แจงว่า มีการให้ใช้คลื่นความถี่ เอฟ.เอ็ม. 98.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ตามแถลงการณ์จริงหรือไม่ ความจริงคืออะไร" น.ส.สุภิญญา กล่าว

เห็นข่าวช่องสปริงนิวส์ปลดพนักงานฟ้าผ่านับครึ่งร้อยว่าตกใจแล้ว ตกใจยิ่งกว่าเมื่อเห็นแถลงการณ์คณะผู้บริหารแจ้งว่าจะรุกสื่อ...

Posted by Supinya Klangnarong on Thursday, October 29, 2015


ขณะที่ทวิตเตอร์ @Supinya ของ น.ส.สุภิญญา ระบุว่า ถ้าช่องสปริงนิวส์ได้ทำวิทยุ 1 ปณ. เอฟ.เอ็ม. 98.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ของ กสทช. แล้วทำไมช่องอื่นๆ อย่าง เนชั่น นิวทีวี ไบรท์ทีวี หรือ ไทยพีบีเอส ถึงไม่ได้ใช้บ้าง ในฐานะบอร์ด กสท. ที่กำกับเรื่องนี้ ขอให้ทางช่องสปริงนิวส์ และสำนักงาน กสทช. ชี้แจงเรื่องการใช้คลื่นวิทยุ 1 ปณ. เอฟ.เอ็ม. 98.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ว่าจริงหรือไม่

"ถ้าผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลรายหนึ่งรายใด ได้สิทธิ์มาทำวิทยุ 1 ปณ. โดยไม่ได้ผ่านการแข่งขันเสรีเป็นธรรม กสทช. จะโดนครหาว่าเลือกปฏิบัติ แม้สำนักงาน กสทช. ยังไม่ได้คืนคลื่นความถี่วิทยุมาให้ กสท. จัดสรรใหม่ แต่ระหว่างนี้ ก็ต้องระวังเรื่องการใช้คลื่นความถี่ โดยเฉพาะกับภาคเอกชน กฏหมายระบุชัดว่า หน่วยงานรัฐที่ถือครองคลื่นความถี่ ต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง ขอบอกว่า ถ้าจริง เรื่องนี้ เสี่ยงข้อกฏหมายมาก ฝากทุกฝ่ายช่วยดู โดยเฉพาะหน่วยงานอย่าง กสทช. ที่กำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ตามกฏหมาย บนฐานการแข่งขันเสรีเป็นธรรม ต้องไม่พลาดเรื่องนี้" น.ส.สุภิญญา กล่าว

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ตนจะทำบันทึกด่วนให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เพราะกระทบกับการทำหน้าที่ของบอร์ด กสท. อีกทั้ง อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลและวิทยุ และจะทำบันทึกถึงเลขาธิการ กสทช. ให้ตรวจสอบ ซึ่งจุดยืนของตน เรื่องวิทยุ 1ปณ. คือ สำนักงานฯ ควรคืนคลื่นความถี่ แต่ถ้าจะยังไม่คืน ควรทำเองหรือให้คนอื่นทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ถ้าให้เอกชนบางรายมาเช่าเวลาไม่เกินร้อยละ 40 ตามกฎหมาย ไม่ใช่ยกให้เอกชนเอาไปบริหาร และควรเปิดให้ประมูลแข่งขัน รายได้เข้ารัฐเป็นแบบอย่างหน่วยอื่น

"ฝากทางช่องสปริงนิวส์ชี้แจงด้วยว่า ได้สิทธิ์บริหารคลื่นวิทยุ 1 ปณ. เอฟ.เอ็ม. 98.5 ของสำนักงาน กสทช. ไปทำสถานีข่าวจริง สปริงนิวส์ได้อย่างไร เพราะบอร์ด กสท. ไม่เคยทราบเรื่องนี้ ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงผังรายการคลื่นเอฟ.เอ็ม. 98.5 สำนักงานฯ เสนอขอความเห็นชอบจากบอร์ด กสท. หรือยัง เรื่อง เอฟ.เอ็ม. 98.5 สร้างความสับสนต่ออุตสาหกรรม และเกิดความกังขาต่อบอร์ด กสท. ถ้ามีการปรับผังรายการ การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นเช่า ล้วนต้องเสนอบอร์ด กสท. ถ้าแถลงว่าจะออนแอร์ 1 พ.ย. นี้ ทำไมบอร์ด กสท. จึงไม่ทราบ" น.ส.สุภิญญา กล่าว

น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อว่า ถ้าสำนักงาน กสทช. มองข้ามอำนาจของบอร์ด กสท. ในเรื่องนี้ แล้วต่อไปจะมีสถานีไหนเขาจะยอมให้ กสท. หรือ กสทช. กำกับดูแลตามกฏ กติกา เมื่อ กสทช. ไม่เดินตามเอง วิทยุ 1 ปณ. เป็นของสำนักงาน กสทช. ถ้าสปริงนิวส์มาเช่าเวลา 40% จริง ก็ไม่มีอำนาจบริหาร แล้วใช้ชื่อ สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ได้อย่างไร ถ้าสปริงนิวส์มามีอำนาจบริหารสถานี 1 ปณ. ก็จะขัดกฏหมาย เพราะคลื่นนี้เป็นของสำนักงาน กสทช. จึงต้องประกอบกิจการด้วยตนเองเท่านั้น

ทั้งนี้ ถ้าสำนักงาน กสทช. แค่ว่าจ้างทางสปริงนิวส์ ผลิตรายการให้ เอฟ.เอ็ม. 98.5 ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะจะเจอประเด็นเลือกปฏิบัติ ว่าทำไมต้องเป็นข่าวช่องนี้ สรุป สำนักงาน กสทช. ควรชี้แจงว่า ให้ทีมสปริงนิวส์เข้ามาบริหาร เช่าเวลา จ้างผลิตรายการ หรือทำอะไรแน่ แล้ว กสท. เคยเห็นชอบผังรายการหรือยัง ถ้าสำนักงาน กสทช. ไม่เดินตามกฏหมายโดยประกอบกิจการวิทยุ 1 ปณ. ด้วยตนเอง วิทยุของรัฐอีกห้าร้อยกว่าสถานี ก็คงไม่มีใครเดินตามกฏแน่ๆ กสทช. ต้องมารื้อระบบเช่าช่วงสัมปทานในคลื่นของรัฐ เปลี่ยนเป็นระบบใบอนุญาต แข่งขันโปร่งใส เป็นธรรม นำร่องให้คนอื่นๆ เดินตามกฏ กติกา มารยาท

ทั้งนี้ น.ส.สุภิญญา อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจเข้าร่วมประชุมการประชุมสหภาพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ แห่งเอเชียแปซิฟิก (ABU) ครั้งที่ 52 ที่เมืองอีสตันบูล ที่ประเทศตุรกี ร่วมกับตัวแทนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และตัวแทนจาก ส.ส.ท. โดยมีกำหนดจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 31 ต.ค. นี้

เผยเอกสาร "ฐากร" ไฟเขียวจ้าง "สปริงนิวส์" ผลิตรายการ - เสนอจ่ายเดือนละ 2.46 ล้าน

อีกด้านหนึ่ง ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @Peerawat_KPP ได้มีการเผยแพร่เอกสารถึง น.ส.สุภิญญา โดยเป็นหนังสือจากสำนักงาน กสทช. ที่ สทช. 4012/30233 ลงวันที่ 25 ก.ย. 2558 เรื่อง การขอแบ่งเวลาเพื่อดำเนินการและรับจ้างผลิตรายการเพื่อออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. ถึง กรรมการผู้จัดการบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค มัลติมีเดีย จำกัด อ้างถึง หนังสือแสดงความประสงค์ขอแบ่งเวลาเพื่อดำเนินการและรับจ้างผลิตรายการออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. FM คลื่นความถี่ 98.50 MHz (กรุงเทพฯ) ลงวันที่ 14 กันยายน 2558 ลงนามโดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลจาธิการ กสทช.

หนังสือระบุว่า "ตามที่หนังสือที่อ้างถึง บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค มัลติมีเดีย จำกัด แสดงความประสงค์ขอแบ่งเวลาเพื่อดำเนินรายการและรับจ้างผลิตรายการให้กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สำหรับใช้ในการออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. FM คลื่นความถี่ 98.50 MHz (กรุงเทพฯ) โดยเสนอผลประโยชน์ตอบแทนอัตราเดือนละ 2,461,000.- บาท (สองล้านสี่แสนหกหมื่นหนึ่งพันบาทถ้วน) ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

สำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและเอกสารหลักฐานต่างๆ ของผู้แสดงความประสงค์ขอแบ่งเวลาเพื่อดำเนินการและรับจ้างผลิตรายการออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. ระบบ FM คลื่นความถี่ 98.59 MHz (กรุงเทพฯ) เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558 ซึ่งปรากฎว่า บริษัทฯ เป็นผู้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้สำนักงาน กสทช. สูงสุดเป็นเงินเดือนละ 2,461,000.- บาท (สองล้านสี่แสนหกหมื่นหนึ่งพันบาทถ้วน) ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จึงเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้แบ่งเวลาเพื่อดำเนินรายการและรับจ้างผลิตรายการออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. ดังกล่าว ทั้งนี้ ขอให้บริษัทฯ ติดต่อประสานงานเพื่อยืนยันการขอแบ่งเวลาเพื่อดำเนินรายการและรับจ้างผลิตรายการดังกล่าวและการทำสัญญาฯ ในวันที่ 30 กันยายน 2558"






ภาพจากทวิตเตอร์ @peerawat_KPP

"สุภิญญา" ยอมไม่ได้สำนักงาน กสทช. ให้ "สปริงนิวส์" เช่าช่วงไม่ผ่านบอร์ด

ทวิตเตอร์ @Supinya ของ น.ส.สุภิญญา กล่าวภายหลังได้รับทราบเอกสารฉบับดังกล่าว ว่า ถ้าสถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ จะออนแอร์ผ่านคลื่นวิทยุ 1 ปณ. ของสำนักงาน กสทช. จริงๆ ขอดูการปรับผังรายการใหม่ที่ยื่นขอความเห็นชอบจากบอร์ด กสท. เพราะบอร์ด กสท. ต้องดูว่า การเช่าเวลา FM 98.5 ตามผังรายการใหม่ เกินร้อยละ 40 ของประกาศเช่าเวลาหรือไม่ ถ้าเกินจะขัดกฏ อีกทั้งรูปแบบการบริหารสถานี 1 ปณ. ผู้จัดการสถานียังต้องเป็นคนในสำนักงาน กสทช. ตัวแทนทางสถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ จะมาบริหารคลื่นไม่ได้ ขัดกฏ

"ความเจ็บปวดก็คือ ถ้า สนง. กสทช. ยังไม่พร้อมจะคืนคลื่น 1 ปณ. ให้บอร์ดจัดสรรใหม่ แล้ว เราจะไปคาดหวังให้ทีโอที เขาคืนคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ได้อย่างไร เรื่องการปฏิรูปคลื่นความถี่ของรัฐ เพื่อเข้าสู่ระบบใหม่ เป็นภารกิจสำคัญตามแผนแม่บท กสทช. วิทยุ 1 ปณ. ดิฉันพูดมาตลอด แต่ไม่มีใครฟังเลย เศร้าใจ ฝากเลขาธิการ กสทช. ช่วยเคลียร์ให้มันชัดเจน ถูกต้อง เพราะเคสนี้ส่งผลระยะยาว" น.ส.สุภิญญา กล่าว

น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อว่า เรื่องวิทยุ 1 ปณ. เคยพูดกับสำนักงานหลายครั้งแล้วว่าช่วยทำให้มันชัดเจน ไม่คลุมเครือ ไม่กระทบงานกำกับดูแลวิทยุ ทีวีของบอร์ด กสท. แม้การตัดสินใจของสำนักงาน กสทช. จะทำไปด้วยความปรารถนาดีในการทำงานร่วมกับเอกชนบางราย แต่มันกระทบงานกำกับดูแลของบอร์ด กสท. ทั้งอุตสาหกรรม แล้วยิ่งเรื่อง 1 ปณ. มาผูกโยงกับปัญหาของช่องทีวีดิจิตอลอีก มันยิ่งทำให้อุตสาหกรรมและสังคมสับสน ยิ่งกระทบต่องานของ กสท. และ กสทช. ปัญหาของ กสทช. เราก็มากพออยู่แล้ว วาระก็เหลือไม่ถึง 2 ปี เรามาช่วยกันลดปัญหาที่ไม่ควรมี แล้วเดินหน้าทำตามแผนแม่บทกันดีกว่า

"ความกังวลลึกๆ กระทบจากวิทยุ 1 ปณ. คือ กลัวว่า กสท. และ กสทช. จะไม่สามารถเรียกคืนคลื่นวิทยุจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ ได้ แล้วการเช่าช่วงยังคงอยู่ตลอดไป" น.ส.สุภิญญา กล่าว

เปิดมหากาพย์วิทยุ 1 ปณ. 9 คลื่น

สำหรับสถานีวิทยุ 1 ปณ. นั้น ในอดีตคือ สำนักงานกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากกรมไปรษณีย์โทรเลขตั้งแต่ 1 พ.ย. 2547 ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ได้กำหนดไว้

ปัจจุบัน สถานีวิทยุ 1 ปณ. มีทั้งหมด 9 สถานี ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 4 สถานี คือ เอฟ.เอ็ม. 98.5 เมกะเฮิร์ตซ์ และ เอฟ.เอ็ม. 106.5 เมกะเฮิร์ตซ์, เอ.เอ็ม. 1035 กิโลเฮิร์ตซ์, เอ.เอ็ม. 1089 เมกะเฮิร์ตซ์ หลักสี่, ต่างจังหวัด จ.อุบลราชธานี เอฟ.เอ็ม. 102 เมกะเฮิร์ตซ์, จ.อุดรธานี เอฟ.เอ็ม. 99 เมกะเฮิร์ตซ์ และ เอ.เอ็ม. 1089 กิโลเฮิร์ตซ์, จ.ภูเก็ต เอฟ.เอ็ม. 89 เมกะเฮิร์ตซ์ และ จ.ลำปาง เอ.เอ็ม. 765 กิโลเฮิร์ตซ์

ก่อนหน้านี้สำนักงาน กสทช. ต้องการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุแห่งชาติ ยกเลิกคลื่นความถี่วิทยุ 1 ปณ. ที่หมดสัญญาสิ้นปีนี้และยึดคืนทั้งหมด โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2554 มติ กสทช. ให้ระงับการดำเนินการใดๆ ในการจัดทำหรือขยายสัญญากับเอกชนผู้ร่วมจัดรายการสถานีวิทยุ 1 ปณ. ทั้ง 9 สถานี ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง บริษัท เอไทม์มีเดีย จำกัด ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นผู้ถือสัมปทานคลื่นวิทยุ เอฟ.เอ็ม. 106.5 เมกะเฮิร์ตซ์ จากกรมไปรษณียโทรเลขเดิม ผลิตรายการวิทยุภายใต้ชื่อ กรีนเวฟ

"แกรมมี่" ต่อสัญญา "กรีนเวฟ" ยาวจนกว่าจะนำคลื่นไปบริหารใหม่

ปัจจุบันเอไทม์มีเดียได้ทำสัญญาแบบเปิดกับ กสทช. โดยไม่กำหนดวันสิ้นสุดสัญญา ซึ่งจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับ กสทช. เป็นจำนวนเงิน 2.7 ล้านบาทต่อเดือน โดยในสัญญาระบุว่า หาก กสทช. ต้องการนำคลื่นความถี่ไปบริหารจัดการใหม่ ให้ถือว่า สัญญาสิ้นสุดลงทันที นับแต่วันที่ผู้ร่วมจัดรายการได้รับแจ้งจากสำนักงาน กสทช. และไม่ถือเป็นเหตุในการเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งหากมีข้อขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้น คู่สัญญาต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทของ กสทช.

ขณะที่คลื่นวิทยุ เอฟ.เอ็ม. 98.5 เมกะเฮิร์ตซ์นั้น ก่อนหน้านี้ได้มีห้างหุ้นส่วนจำกัดสุจิราเอนเตอร์ไพรส์ เป็นผู้ทำสัญญาแบบเปิดเช่นเดียวกัน โดยกำหนดค่าตอบแทนให้กับ กสทช. เป็นจำนวนเงิน 2.1 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งได้ร่วมกับบริษัท ลักษ์ 666 จำกัด ของนายวิลลี่ แมคอินทอช และนายเกียรติศักดิ์ อุดมนาค หรือเสนาหอย ผลิตรายการภายใต้ชื่อกู๊ดเอฟเอ็ม แต่ภายหลังได้ถอนตัว และพบว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุจิราเอนเตอร์ไพรส์ ได้ค้างการจ่ายค่าตอบแทนแก่ กสทช. ราว 40 ล้านบาท กระทั่งศาลมีคำสั่งให้ต้องหยุดการให้บริการ จึงได้ยุติการออกอากาศไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2555 ส่งผลให้คลื่นวิทยุความถี่นี้กลายเป็นสูญญากาศไปพักหนึ่ง

"ชเยนทร์ คำนวณ" เช่าช่วง 98.5 เกือบ 2 ปี ก่อนคืนคลื่น

ต่อมาสำนักงาน กสทช. ได้ให้บริษัท อินดิเพ็นเด้นท์ คอมมิวนิเคชั่น เน็ทเวิร์ค จำกัด ของนายชเยนทร์ คำนวณ เจ้าของนิตยสารเปรียว และผู้ถือสัมปทานคลื่นวิทยุหลายสถานี ได้เช่าช่วงคลื่นวิทยุ เอฟ.เอ็ม. 98.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ไปผลิตรายการคลื่นเพลงไทย-สากล ภายใต้ชื่อ คลิก เอฟเอ็ม โดยออกอากาศเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2556 แต่ได้หายไปจากคลื่นวิทยุเมื่อเดือน มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากได้ดำเนินการคืนคลื่นให้กับ กสทช. โดยหันมาออกอากาศภายใต้ชื่อคลื่นคลิก ไอคอนิค ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนแทน

กระทั่งบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค มัลติมีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ได้เข้ามาขอแบ่งเวลาผลิตรายการ โดยเสนอค่าตอบแทน 2.461 ล้านบาทต่อเดือน และได้ทำสัญญาไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ก่อนที่จะเปิดตัวคลื่นข่าวจริงสปริงเรดิโอ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยร่วมกับสำนักข่าวทีนิวส์ หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ และเครือมติชน ซึ่งจะนำเนื้อหารายการจากช่องสปริงนิวส์บางส่วน มาออกอากาศคู่ขนานทางวิทยุ โดยจะเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พ.ย. นี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น