ซูเปอร์บอร์ด กสทช. เผยความในใจอึดอัดไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของ กสทช.ได้อย่างคล่องตัว โดนเตะถ่วงหลายโครงการ กีดกันงบประมาณ และส่งเอกสารให้ตรวจสอบล่าช้า ไม่ครบถ้วน ชี้สัปดาห์หน้าเตรียมเสนอ สนช.แก้ กม.ให้ทำงานด้านการตรวจสอบสะดวกขึ้น ระบุพบ 3 โครงการส่อทุจริตแต่ไม่สามารถตรวจสอบเองได้ เหตุ กสทช.ไม่ให้ความร่วมมือ ลั่นเดินหน้าส่งเรื่องให้ คตร.ตรวจสอบแทนภายในกลางเดือนนี้ ส่วนการทำงานของเลขาธิการ กสทช.พบทำหน้าที่ไม่เหมาะสม มีการออกประกาศก่อนมีมติบอร์ดหลายเรื่อง หวั่นเป็นช่องว่างทำให้ไม่มีใครปฏิบัติตาม
พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ ประธานกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด กสทช. กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้า กตป.จะทำหนังสือถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ในหมวด 6 ตั้งแต่มาตรา 70-73 เพื่อให้การทำงานของ กตป.มีอิสระในการตรวจสอบ กสทช.ทั้งในเรื่องการทำงาน และวิธีการจัดสรรงบประมาณต้องไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กสทช.
“ที่ผ่านมา กตป.ถูกตั้งมาเพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของ กสทช.ก็จริง แต่การทำงานทุกครั้งเราต้องของบประมาณจาก กสทช. ซึ่ง กสทช.เป็นคนจัดงบเอง พิจารณาเอง พอเราจะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นก็ไม่ได้รับการพิจารณางบ อ้างว่าไม่เกี่ยวกับงาน กปต. บางเรื่องเราทำงานไปแล้วก็เบิกงบไม่ได้ บอกว่าเราทำผิดระเบียบ และยังมีอีกหลายเรื่องที่ทำให้เราทำงานไม่คล่องตัว ดังนั้น ควรมีการแก้ไขเรื่องการกำหนดงบประมาณเสียใหม่ ไม่ควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กสทช.ควรมีระบบการอนุมัติเช่นเดียวกับระบบงบประมาณของภาครัฐ”
ขณะที่ นายประเสริฐ อภิปุญญา กรรมการ กตป.กล่าวว่า การพิจารณางบประมาณภายใต้การตัดสินใจของ กสทช.นั้นทำให้การทำงานของ กตป.สะดุด เช่น เรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า การให้จัดจ้างพนักงานที่เป็นชั่วคราวเท่านั้น ไม่ยอมให้จ้างพนักงานประจำ ทำให้การเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกในการตรวจสอบไม่สามารถทำได้ ซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์ของการทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบ กสทช.
ล่าสุด กตป.พบพิรุธของ 3 โครงการใหญ่ ที่มีการแก้ไขเงื่อนไขการประมูลภายหลังจากที่ได้บริษัทผู้ประมูลมาแล้ว ได้แก่ 1.โครงการที่เกี่ยวข้องต่อการกำกับคุณภาพบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (QoS) มูลค่ารวม 400 ล้านบาท 2.โครงการเครื่องส่งสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ มูลค่า 3 ล้านบาท และ 3.โครงการตรวจสอบเครื่องโทรคมนาคมเคลื่อนที่ (Mobile Lab) มูลค่า 11 ล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างละเอียดในเชิงลึก เพราะ กสทช.ไม่ส่งเอกสารตามที่ร้องขอให้ ทำให้ กตป.ต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบแทน โดยคาดว่า จะสามารถเสนอไปที่ คตร.ได้ภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้
นอกจากนี้ กตป.ยังเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ไม่สอดคล้องตามมาตรา 27 ประกอบมาตรา 58 และมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.กสทช. โดยมีหลายกรณีที่เลขาธิการ กสทช.ออกประกาศเอง โดยไม่ผ่านการเห็นชอบ หรือมีมติของที่ประชุมกรรมการ กสทช. ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ เช่น กรณีการคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาที ที่มีคำสั่งออกมาโดยไม่มีการนำเรื่องเข้าที่ประชุม หรือมีมติของกรรมการมารับรอง บอกแต่เพียงว่าเป็นการขอความร่วมมือต่อผู้ประกอบการ ดังนั้น จึงไม่อาจมั่นใจได้ว่าผู้ประกอบการจะปฏิบัติตามอย่างจริงจังหรือไม่ เป็นต้น
Company Relate Link :
กสทช.
CyberBiz Social