xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปะที่รับประทานได้ “กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์” หัวหอกละครเวทีสุดครีเอต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จากเด็กหนุ่มที่ไม่รู้จะเอาไงดีกับชีวิต แถมเลือกเรียนก็ผิดสายจนต้องซิ่ว ก่อนจะค้นพบศรัทธาในศิลปะแห่งละครเวที และมุ่งมั่นเรียนรู้มา กระทั่งนำพาสู่การก่อเกิดของกลุ่ม Hidden Art Society ผลิตผลงานที่คนตาดีก็ดูได้ คนตาบอดยิ่งดูดี เป็นหนึ่งในความอัศจรรย์เท่าที่ละครเวทีเรื่องหนึ่งจะทำได้

มีเด็กหนุ่มเด็กสาวจำนวนไม่น้อยที่ใช้จ่ายวันเวลาในความล่องลอยแบบไร้ทิศทาง อย่างที่ครั้งหนึ่ง "หลุยส์-กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์" ก็ลอยหลงอยู่ในวงโคจรแบบนั้น เขาชอบบาสเกตบอลเป็นชีวิตจิตใจ และมุ่งรั้วมหา’ลัยในสายพละ ก่อนจะพบว่าตนเองชอบเล่น แต่ไม่ได้ชอบเรียน สุดท้ายชีวิตก็พลิกเปลี่ยนครั้งมโหฬาร เมื่อเขาได้พบกับศิลปะแขนงหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “ละครเวที”

กว่า 8 ปีที่ก้าวเดินบนเส้นทางสายนี้ “กฤษณ์” ได้กลายมาเป็นหัวหอกคนสำคัญของสมาชิกในทีมที่เรียกตัวเองว่า “Hidden Art Society” 1 ในสิ่งที่ทีมนี้ทำคือหมายมุ่งผลิตละครเวทีที่จะเป็นการช่วยลดช่องว่างระหว่างคนตาดีกับคนที่อยู่ในโลกแห่งการมองไม่เห็น ได้มองเห็นผ่านศาสตร์และศิลป์แห่งละครเวที และทั้งหมดนี้ เกิดจากความรัก ความชอบ และศรัทธา

เวทีชีวิตของ “กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์” จึงมีสองด้านขนานกันไป
ด้านแรก ไม่ต้องสงสัยว่ามันคือเรื่องราวของคนคนหนึ่งและทีมงานของเขาที่พยายามสรรสร้างสิ่งที่มีค่าต่อสังคม
ขณะที่อีกด้าน ก็เป็นเรื่องมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งเคยพลาดผิด ก่อนจะควานหาเข็มทิศชีวิตเจอ
และไม่ว่าจะอย่างไร ทั้งสองด้านนั้น เป็นด้านที่ดีงาม...

• จุดเริ่มต้นของกลุ่ม Hidden Art Society เกิดขึ้นได้อย่างไร

คือกลุ่มละครเวทีในความมืดของเรา (Blind Theater) เกิดจากการที่เราเข้าไปสอนการบ้านที่โรงเรียนสอนคนตาบอดเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน เราเป็นเด็กวัยรุ่นที่เพิ่งเรียนจบ รู้สึกว่าอยากจะทำอะไรดีๆ แต่เราก็ไม่รู้จะทำอะไร (หัวเราะ) จะทำค่ายก็ไม่ใช่ เพราะมันเยอะแล้ว หันไปทางไหนก็แบบทำค่าย เอาเงินไปบริจาค ไม่ก็สร้างห้องน้ำ เราคิดว่าการช่วยเหลือสังคมน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น เราจึงเริ่มหาข้อมูลไปในอินเทอร์เน็ต ก็ไปเจอเรื่องการสอนการบ้านคนพิการ อ้าว...งงเลย อะไรคือสอนการบ้านที่โรงเรียนคนตาบอด เราก็เลยลองไปดีกว่า ก็ชวนเพื่อน ชวนรุ่นน้อง ที่เป็นนิสิตนักศึกษาได้ประมาณ 5-7 คน ลองไปดู แต่ปรากฏว่า พอไปถึง สิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่เขาคิดคนละเรื่องกันเลย คือเราคิดว่าแค่จะเข้าไปสอนการบ้าน แต่จริงๆ แล้ว พอเราได้คุยกับเขาจริงๆ เราพบว่าเขามีเรื่องในใจเยอะมาก ไม่ใช่แค่เรื่องบุคลากรที่ไม่เพียงพอในการช่วยเหลือ มันยังมีระบบงงงวยอยู่ในนั้น เพราะพอผมไปสอน ส่วนใหญ่น้องๆ จะให้พี่อาสาช่วยลอกสิ่งที่มีอยู่ในหนังสือลงสมุด เพื่อสมุดนั้นไปให้คนอื่นอ่านให้ฟังแล้วก็อัดเสียงไว้ มันมีความซับซ้อนที่เราไม่เข้าใจ

แล้วเรื่องสำคัญ เขาบอกว่าเขามีปัญหาเรื่องพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น เขาต้องการพื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกัน พวกเราทุกคนเวลาจะสรรหาพื้นที่ เราชอบพูดว่าเราจะทำอย่างไรให้เราอยู่ร่วมกันในสังคม ประเทศโน้นประเทศนี้อยู่ร่วมกันอย่างไร ประเด็นเป็นเรื่องพื้นที่หมด ทีนี้เขาบอกว่าพื้นที่มันมีสองแบบ คือพื้นที่แบบที่เห็นในโรงเรียนสอนคนตาบอด เป็นพื้นที่แบบเก่า เป็นพื้นที่ที่มีการให้และมีการรับแยกกัน ไม่ได้อยู่พร้อมกัน คนตาบอดเป็นผู้รับในพื้นที่ แล้วก็มีคนเข้าไปให้เขา แต่พอให้เสร็จปุ๊บก็แยกกัน เขาก็บอกว่าพื้นที่แบบนี้มันไม่ยั่งยืน เขาก็เลยเกิดคำถามว่า "แล้วพื้นที่ที่มันจะอยู่ร่วมกันโดยมีการให้และรับสลับกันได้จริงๆ คือตรงไหน"

แล้วเราก็กลับมาคิด เราในฐานะสื่อสารมวลชน นักละครเวที โจทย์ตอนนั้นคือทำอย่างไรให้ละครเวทีเป็นพื้นที่ตรงกลางของคนตาบอดกับคนตาดีที่ก็สามารถเข้ามาดูร่วมกันได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นแล้วมันก็ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้

• ก่อนจะพูดถึงสิ่งที่กลุ่ม Hidden Art Society ร่วมทำจนถึงวันนี้ ในฐานะที่เป็นผู้ชักชวนช่วยเหลือผู้ทุพลภาพจนเกิดการก่อตั้ง เรารับเอาความคิดอิทธิพลนี้มาอย่างไร

ก่อนจะมาเรียนการละคร ต้องบอกว่าผมโชคดีมาก คือต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่สมัยประถมถึงมัธยมปลาย ผมเป็นนักบาสเกตบอล ชอบเล่น เล่นเช้า-เย็น 12 ปี จนเข้าใจว่าตัวเองคงต้องเป็นมืออาชีพระดับโลก (ยิ้ม) ก็เล่นๆ จนจุดเปลี่ยนเมื่อเราถึงวันที่ต้องเลือกคณะทั้งที่ยังไม่พร้อม แต่เรายังไม่รู้จะเรียนอะไร เรารู้ว่าเราชอบเล่นบาสเกตบอล มันก็คือพละ ฉะนั้น เราก็คงอยากจะเรียนสายนี้ เราก็ไปสอบ ปรากฏว่ามันเป็นความผิดพลาดของชีวิต คือชอบเล่น แต่ไม่ชอบเรียน แต่ว่าระบบการศึกษาทำให้เราต้องเรียนสิ่งที่ไม่อยากเรียน อนาโตมีคืออะไร เราเล่นบาสเก็ตบอลมาตั้งนาน ไม่เห็นต้องเรียนพวกนี้เลย แต่ทำไมวันหนึ่งเมื่อเข้าสู่ระบบการเรียน มันซับซ้อนมาก เลยรู้แล้วว่าชีวิตพลาด เราเลือกพลาดเลยตัดสินใจออก ออกมาก็เคว้ง จะไปเรียนคณะอะไรต่อ เพราะตอน ม.6 เราเลือกคณะจากสิ่งที่เราคิดว่าใช่แล้วแต่มันกลับไม่ใช่ ต่อมาเลยลองเริ่มจากสิ่งที่ไม่ชอบบ้าง เราไม่รู้ว่าเราชอบอะไรแต่เรารู้ว่าเราไม่ชอบอะไร ตอนนั้นตัดช้อยส์ทิ้งหมดเลย ไม่ชอบอะไร ไม่ชอบบัญชี สังคม ภาษา หมดกัน ก็เลยเลือกกลางๆ ลองไปเรียนนิเทศดีกว่า ก็เข้าต่อที่เดิมเลยที่ มศว มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แต่คราวนี้ความโชคดีของผมคือไปเรียนแล้วใช่เลย เข้าใจเลยว่าศรัทธา แตะเข้าไปถึงคำนั้นเลยนะ มันมีความชอบ-รัก-ศรัทธา ศรัทธาที่คุณมีอยู่บนโลกใบนี้ คุณศรัทธาอะไรอยู่

พอเข้าไปเรียนแล้วรู้เลย เพราะว่ามีเพื่อนผมที่เป็นคนแนวธรรมะ แล้วเขาก็ศรัทธาในละคร เขาทำละครมาก่อน อยู่ในวงการละครธรรมะ ความประทับใจครั้งแรกของผมเลยก็คือ การได้ร่วมเล่นละครวันวิสาขะบูชา มันเหมือนกับเราได้ทำสิ่งใหม่ สิ่งเก่าที่เราทำมาตลอดชีวิตที่เราแค่ชอบมัน มันเทียบไม่ได้เลยกับการเจอสิ่งที่รัก พอเราเจอสิ่งที่ใช่ มันก็ถูกพัฒนา มันง่ายมากมันจะรู้เลยว่าทำอย่างนี้แล้วมันลิงก์กับตัวคุณว่าทำแล้วมันสนุก เสร็จแล้วมันก็จะพัฒนาไปสู่การศึกษาเชิงลึกมากขึ้นๆ กลายเป็นเริ่มเจออะไรบางอย่างที่เหนือกว่าความสนุก มันคือสิ่งดีงาม สิ่งที่ยึดเหนี่ยว ทำให้เราศรัทธา มันยิ่งใหญ่มาก

• อย่างที่ว่ากันว่าต้องผิดพลาดก่อนถึงจะรู้

ใช่ครับ...แต่ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้ควรจะเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นไหม เพราะความผิดพลาดของผมจริงๆ ผมคิดว่าตัวผมไม่น่าจะอยู่ในสถานการณ์นั้น ชีวิตเราน่าจะได้รู้ว่าจะจบ ม.6 แล้วจะเรียนอะไร จะทำอะไร แต่ผมไม่รู้ มันก็มีเด็กอีกหลายคนไม่รู้ แล้วยิ่งวันนี้คุณไปดูการศึกษา ยิ่งกว่าเราอีก แล้วผมถามว่าใครจะมาโชคดีเหมือนผมที่กล้าเสี่ยง กล้าเลือกใหม่ แล้วสิ่งที่เลือกใหม่มันดันเป็นสิ่งที่ใช่ แต่ถ้าวันนั้นผมเลือกผิดขึ้นมา ชีวิตผมก็อาจจะอยู่ไหนก็ไม่รู้ (หัวเราะ)

• จากรู้ และ ศรัทธา มาความฝัน อะไรที่ทำให้เรากล้าลงมือ

เพราะผมได้รับข้อมูลที่มากพอ คือเมื่อก่อน คนที่ไม่กล้าอะไรนั้นปัญหาเกิดจากเขาแค่ไม่มีข้อมูล เขาไม่มีตัวเลือกอะไรว่าเขาสามารถทำไรได้บ้าง เขามีแค่ไม่กี่อย่าง และไอ้สิ่งที่เขามี ก็เป็นสิ่งที่อาจไม่ได้ผล เขาก็เลยไม่กล้าทำ ต้นเหตุมีแค่นี้ ฉะนั้นถ้าจะแก้คือ คุณก็ต้องให้เขามีข้อมูลมากขึ้น ผมกลับไปตอนปี 4 มันเป็นช่วงที่กำลังจะจบ ผมมีความฝัน มีสิ่งที่รักแล้ว แต่ผมก็ยังกลัวอยู่ กลัวมากว่าจะเป็นเหมือนพี่ๆ เพื่อนๆ ที่จบมาแล้ววันหนึ่งสู้ไม่ไหว ต้องไปทำอาชีพอื่นดีกว่า สู้ไม่ได้จริงๆ แต่พอจบมา ผมได้เจอครู ได้ออกไปเจอเพื่อน ผมยังไม่อยากเรียนต่อ ยังไม่อยากทำงาน ขอนิ่งๆ หน่อย เหนื่อย แต่ช่วงพักนี้ก็อยากหาอะไรทำหน่อย ก็เริ่มไปอ่านหนังสือ ไปเจอคนที่แตกต่างมากขึ้น พอไปเจอ มันเลยเกิดการได้รับข้อมูล คุณเชื่อไหมว่าสิ่งหนึ่งที่มันทำให้เราไม่กล้าที่จะไปไหน เพราะเราติดอยู่กับข้อมูลเก่า

สิ่งเดียวที่จะทำให้คุณก้าวผ่านมันไปได้ คือคุณต้องเป็นอิสระจากสิ่งที่คุณเรียนมาทั้งหมด ฟังดูเท่นะ ปรัชญา คุณต้องเป็นอิสระจากความรู้ เราก็งงเหมือนกันตอนแรก ก็ค่อยๆ เรียบเรียงจนเข้าใจถึงสิ่งที่เราเรียนมา เขาสอนละครเวทีเรา เขาสอนว่าโรงละครมีอยู่เท่านี้ พอเราเรียนจบมา สิ่งที่เราเรียนมา มันเอาไปทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีโรงละครให้เราเล่น ก็ค่อยๆ เข้าใจ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเราไปยึดติดกับความรู้เดิม ฉะนั้น โอเคเราต้องเป็นอิสระจากสิ่งที่เรามี สิ่งที่เรารู้ แต่ประเด็นคือ แล้วไงต่อ (หัวเราะ) ผมมีความคิดหนึ่ง ซึ่งเป็นความคิดที่ผมเชื่อ นั่นคือลอง มั่ว ก็มั่วไปเยอะเหมือนกัน ทดลองโน่นนี่นั่น จนวันหนึ่ง มันเจอจุดเปลี่ยน คือไปเจอความคิดที่ว่า ถ้าผมจะทำละครเวทีได้ ผมต้องไม่ทำละครเวที หมายถึงว่า ถ้าผมจะทำละคร ผมต้องไปทำอย่างอื่น ผมต้องไปดูว่าจิตวิทยามนุษย์คืออะไร เพราะปัญหาของผมคือละครเวทีมันขายไม่ได้ เรายังไม่มีวัฒนธรรมการชมละครเวที ถ้าอย่างนั้นผมจึงต้องมาทำความเข้าใจกับปัญหานี้ในแง่มุมอื่นๆ ผมไปเรียนรู้จิตวิทยาพื้นฐานก่อน มนุษย์คืออะไร สมองสำคัญอย่างไร ทำไมเราต้องตัดสินใจซื้อสินค้านี้ เรียนเรื่องการตลาด เรียนเรื่องวิทยาศาสตร์

ผมเชื่อว่าแรงบันดาลใจทุกอย่างมันไม่ได้เกิดจากการปิ๊งแวบหรือจินตนาการ ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไปหมด มันมีเหตุและผล มันเกิดจากการที่คุณไปคุยกับคนๆ หนึ่ง ออกไปที่ๆ มองเห็นสิ่งอื่นๆ และมันนำพาให้คุณคิดอะไรออก ทุกอย่างเกิดจากการที่เราออกไปเจอโลกข้างนอก แล้วคราวนี้ เมื่อผมต้องออกไปเจอโลกใหม่ อันนี้มันกลายเป็นหลักคิดของชีวิตผม แล้วมันก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเรื่อยมา

• จากที่ทำละครเวทีมา มีอะไรเป็นแรงผลักที่สำคัญไหมในการทำให้เราก้าวเดินบนทางสายนี้

ครั้งหนึ่ง มีผู้ใหญ่อายุ 70 ปี 80 ปี มาดูละครเวทีในความมืดของเรา เขาบอกว่าหนูรู้ไหม สิ่งที่หนูทำมันสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับเขา ตลอดเวลาอายุกว่า 70-80 ปี ที่ผ่านมา เขาไม่เคยมีประสบการณ์อย่างนี้เลย พอเราได้ยิน มันก็เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก การที่โลกเรานี้พยายามสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับคนอื่นอย่าง สตีฟ จ็อบส์ สร้างประสบการณ์บนมือถือสมาร์ทโฟน เรารู้สึกในตอนนั้นว่าสิ่งที่เราสร้างมันขนาดนี้เลยหรือ ขนาดคนตาดีอายุ 80 ปี ยังรับรู้ เขาไม่คิดว่า เขาจะรู้ตัวเองว่าเขาสามารถจินตนาการ เห็นภาพในความมืดได้เยอะขนาดนี้ มันไม่เหมือนกับการที่เราหลับตาแล้วบอกว่าลองนึกภาพ ค่อยๆ นึกถึงต้นไม้ แต่อันนี้ยิ่งใหญ่กว่า เราทำให้ภาพในหัวให้คนดูเกิดขึ้นมาอย่างชัดเจนแล้วอยู่ยืดระยะให้นานที่สุด ไม่ใช่สร้างแล้วนาทีหนึ่งหาย ชั่วโมงหนึ่งต้องอยู่ตลอด

แล้วฟีดแบ็กอีกอย่างซึ่งสำคัญมาก คือต้องบอกว่าเราเริ่มต้นจากการที่มีน้องตาบอด 1-2 คนในปีแรก มาเล่าปัญหาชีวิตให้เราฟัง เราก็ทำด้วยกัน ผ่าน 3 ปี ถึงตอนนี้ในทีมเรามีคนตาบอดเพิ่มขึ้นมา 7-8 และคนตาดีอีกเกือบ 30 คนที่ทำด้วยกัน และตลอด 3 ปีนี้ เราพยายามจะเปิดสอนเรื่อยๆ ไปเล่นละครตามโรงเรียนนี้โรงเรียนนั้น แล้วผลลัพธ์มันแตกต่าง เพราะละครเวทีที่ทำปกติ คนมาดู ดูเสร็จบางคนอาจจะคิดตามละครแล้วไปตกผลึกความคิดในภายหลัง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาเป็นปกติ แต่คราวนี้ละครเวทีที่เราสร้างผลักดันให้เกิดรูปธรรมอีกอย่างให้กับคนที่มาดู มีพี่คนหนึ่งเขามาดู เป็นนักออกแบบ ดูเสร็จแล้วปีต่อมาเข้าไปส่งวิทยานิพนธ์ปริญญาโท เรื่องการทำละคร 6 มิติ มันเกิดการที่เอาไปทำต่อ เกิดการสร้างเวิร์กชอปจากคนที่มาดู พวกเขาเอาสิ่งที่เราทำ เอาหลักคิดและแก่นของเราไปพัฒนา ซึ่งตรงนี้ผมว่ามันคือจุดที่เราตามหามาตลอดตั้งแต่เราเรียนจบละครเวที "ละครมันจะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร" ไม่ว่าจะเป็นละครทีวี หนัง หรือสื่อต่างๆ เราอาจจะเคยพูดว่าละครมันดีนะ มันจะเปลี่ยนแปลงคนได้ แต่คราวนี้ คำถามคือเราจะวัดผลจากอะไร ละครดีคนดูกลับไปได้ข้อคิดดีๆ อันนี้เป็นสิ่งปกติ แต่คราวนี้ สิ่งที่มันมากกว่านั้นคือเมื่อคิดดีได้แล้ว คุณสามารถเปลี่ยนเป็นการกระทำอะไรได้ไหม แล้วอะไรคือช่องว่างที่มันหายไป ที่ความคิดดีๆ ทั้งหลายไม่เกิดเป็นการกระทำขึ้นมาในสังคมเรา

• มีเหนื่อยหรือท้อบ้างหรือเปล่ากับสิ่งยากๆ ที่ทำอยู่

คำถามที่ฮิตมาก ประเด็นก็คือ เราทำอะไรแล้วเราไม่เหนื่อยบ้าง ทำอะไรก็เหนื่อยทั้งนั้น เด็กทุกวันนี้ตื่นนอนไปปัสสาวะก็เหนื่อยได้แล้ว ทำอะไรก็เหนื่อย ความเหนื่อยมันเป็นภาวะของร่างกาย แต่สิ่งที่นำพาเราให้ไปต่อ คือเหนื่อยแล้วเรารู้สึกดีหรือเปล่า เราโอเคหรือเปล่า อันนี้ผมบอกว่าเลยว่าผมเหนื่อยแต่ผมโอเค คุณต้องกลับไปถามคุณเองว่าที่คุณเหนื่อยอยู่ คุณเหนื่อยกับอะไรไม่รู้นะ แต่คุณรู้สึกดีกับมันหรือเปล่า ผมโอเคไง ผมสบายดี

อย่างตอนเรียนจบตอนนั้นที่บอกว่าทำละครแล้วรู้สึกว่ามันไม่ค่อยโอเค ผมก็เลยไปเรียนเพิ่ม ผมไปเจออาจารย์ท่านหนึ่งบอกกับผมตอนที่ผมกำลังซ้อมหนัก เหนื่อยมากแล้วผมหยุดพัก เพราะทุกคนเหนื่อยก็ต้องหยุดพักใช่ไหม แต่อาจารย์บอกว่าอย่าเพิ่งหยุด คุณรู้ไหมว่าความเหนื่อย ไม่ได้เป็นสัญญาณให้คุณหยุด แต่มันเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังพบสิ่งใหม่ เราก็ไม่เข้าใจ จนกลับไปที่บ้าน ทบทวน อะไรคือเหนื่อยไม่ได้แปลว่าหยุด เหนื่อยก็ต้องหยุด แต่สิ่งนี้มันจุดประกายใหม่ให้เรา เหนื่อย แสดงว่าเรากำลังจะเจอสิ่งใหม่

ถ้าเหนื่อยแล้วคุณจะพบกับความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เหนื่อยไหม วิ่งอีกสักก้าวสิ แต่ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจก่อน เพราะอะไร ถ้าเมื่อกี้ เราบอกว่าเราเหนื่อย เราเลยขอวิ่งต่ออีกสัก 10 กิโลเมตร ก็อาจจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่เกินไป อาจจะตาย คราวนี้มันเลยมีสโคปของมันอยู่ มันมีวิธีการว่าถ้าจะเปลี่ยนแปลงต้องไปในทางที่ดี เชื่อไหมว่าเมื่อคุณเหนื่อยแล้ว คุณวิ่งอีกสักก้าวหนึ่ง แค่ก้าวเดียวนะ ก้าวนั่นแหละคือสิ่งใหม่ ไม่ต่างจากวิดพื้น เล่นเวต ทำไมเขาถึงบอกว่าร่างกายจะเกิดกล้ามเนื้อใหม่ต่อเมื่อคุณทำเพิ่มขึ้น อีกแค่นิดหนึ่งต่อวันๆ แค่นี้แหละ ความสำคัญของคำว่านิดหนึ่ง คือสิ่งที่ผมต้องเอามาพูดในงาน บางคนอาจจะรู้แล้ว แต่บางคนถ้าเขารู้แบบผม เขาอาจจะเปลี่ยนเหมือนผมเลยก็ได้ ทุกวันนี้ เวลาซ้อมอะไร ทำอะไรก็ตาม ผมจะตระหนักตลอดเวลา ผมจะมีช่วงเวลาอีกนาทีหนึ่งที่จะขอวิ่งอีกก้าวหนึ่ง แล้วทุกครั้งที่ผมก้าวอีกก้าวหนึ่งนั้น มักจะนำพาผมไปเจออะไรแปลกและใหม่อยู่ตลอด แล้วผมรู้สึกว่าสิ่งนี้มันมีอยู่จริง

• คุณคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องของการทำอะไรดีๆ ให้แก่คนอื่นหรือสังคม

อย่างแรกผมคิดว่าเรื่องธรรมดาของมนุษย์คือทุกคนอยากจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันดีขึ้นตั้งแต่ชีวิตรวมไปถึงสังคมที่เราอยู่ เวลามีคนถามว่าทำไมถึงต้องทำละครแนวนี้ ทำไมดูเป็นคนดี ทำไมต้องทำเรื่องพวกนี้ คือผมจะบอกเสมอว่าผมไม่ได้ทำดีอยู่ ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนดี ผมมองสิ่งที่ทำทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนคนดีกับความดีมันสูงกว่าสิ่งที่ผมทำอยู่มาก เราทุกคนควรทำในสิ่งที่เราอยากทำ แต่ผมต้องการแค่ว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่ผมทำ เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นแล้วให้เขาอยากที่จะไปทำในอะไรสักอย่างในอาชีพของเขา เพราะสุดท้าย ผมจะค้นตลอดว่าอะไรคือเปลือก และอะไรคือแก่นในทุกสิ่งที่ผมทำ ผมไม่ได้คิดว่าการที่ใครมาดูละครเวทีแล้วเขาจะควรได้อารมณ์ที่ดี ความรู้สึกดีๆ กลับไปแค่นั้น แต่ผมพยายามจะสื่อสารว่าสิ่งที่ผมทำ อะไรคือความรู้ที่มี หลักคิดมันคืออะไร เพราะหลักคิดมันจะเป็นสากล หลักคิดจะทำให้คนที่มาดูละครเราสามารถนำกลับไปใช้ในอาชีพของพวกเขาได้ นั่นคือสิ่งที่ทีมผมทำ และผมพยายามจะหาให้ได้ว่าแก่นของสิ่งที่ผมทำมันคืออะไร ต่อจากนั้นหน้าที่ผมคือแค่สื่อสารเรื่องพวกนี้ออกไป

• ในทั้งฐานะที่เราค้นพบทั้งทางที่ใช่จนพัฒนามาสู่ความกล้าที่จะทำเพื่อสังคม มีอะไรแนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่หรือคนที่ยังไม่รู้เป้าหมายของตัวเองบ้าง

คือลองฟังที่ผมพูด แล้วชอบคำไหนลองเอาคีย์เวิร์ดนี้ไปเสิรช์หาข้อมูลเพิ่มก่อนเพื่อหาแรงบันดาลใจต่อให้ตัวเอง นี่คือแบบง่ายสุด...ถ้าคนที่มีความอยากอยู่แล้ว คนที่ค้นเจอแล้ว บอกก่อนเลยว่า คุณต้องเชื่อ ความเชื่อ ความอยาก ไม่มีอะไรที่ผิดนะ แต่ถ้าวันนี้เรามีความเชื่ออะไรสักอย่างแต่ไม่ทำมันเพราะคนอื่นไม่เชื่อเหมือนเรา แล้วสุดท้ายมันทำให้เราต้องหยุด ต้องล้มเลิก แล้วไปใช้ชีวิตแบบที่เราไม่ได้เชื่อ บางทีมันก็น่าเสียดายนะ

แต่คราวนี้ประเด็นหลักของคนที่เราไม่รู้ว่ามันอยากจะทำอะไร มีแค่ 2 อย่าง เริ่มต้นง่ายๆ อย่างที่หนึ่ง คุณต้องออกจากจุดที่คุณอยู่บ้าง เพราะคุณจะไม่มีวันรู้ว่าคุณชอบอะไรเลย ถ้าวันนี้คุณอยู่กับแต่โลกของคุณ คุณจะไม่เห็นอะไร จะไม่รู้เลยว่าคุณชอบอะไร เอาง่ายๆ เดินออกมาจากบ้านวันนี้ง่ายสุด คุณเดินออกมาแล้วคุณมองใครก็ได้สักคน คุณจะรู้เลยว่าคุณชอบหรือไม่ชอบคนนี้ คุณจะรู้ว่าคุณไม่ชอบเสื้อแบบนี้ การแต่งกายแบบนี้ แล้วมันจะค่อยๆ เป็นลายแทงให้เรารู้ว่าแล้วอะไรหล่ะคือสิ่งที่เราชอบ เรารู้จักตัวเรามากขึ้นก็เพราะเราได้มองเห็นคนอื่น และเป็นเรื่องปกติที่เราจะมองเห็นสิ่งที่ไม่ชอบมากกว่าสิ่งที่เราชอบ

เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่รู้ว่าชอบอะไรลองเริ่มจากดูว่าเราไม่ชอบอะไรบ้าง หลังจากนั้นก็ลองมองดูว่ามันเหลืออะไรที่เรายังไม่เคยทำ เริ่มทำในสิ่งที่เราไม่รู้ว่าคืออะไรดูบ้าง ลองไปเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายผมเชื่อว่ากว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์สิ่งใหม่ๆ เหล่านั้นแหละจะเป็นสิ่งที่คุณชอบ นี่คือวิธีการของผม










เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : เฟซบุ๊ก The Blind Theatre Thailand

กำลังโหลดความคิดเห็น