จากจุดเริ่มต้นเพียงเพราะเป็นคนชอบกินไอศกรีม สู่เรื่องราวที่ทำให้ชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งกำลังรุ่งโรจน์ในหน้าที่การงานด้วยเงินเดือนการันตีหลักแสนบาทต่อเดือน เคลื่อนชีวิตเข้าสู่งานด้านจิตอาสา ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส โดยมีไอศกรีมเป็นเครื่องมือ ในนาม “ฟาร์มสุข ไอศกรีม” อิ่ม อร่อย และสร้างเสริมทักษะชีวิต
“บอม-ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ” แต่เดิมก็เดินอยู่บนวิถีมนุษย์เงินเดือนในตำแหน่งกราฟฟิกดีไซเนอร์ ทว่าระหว่างนั้น ก็เหมือนว่าจะมีรูโหว่รอยรั่วในชีวิตที่เขานอนนิ่งอยู่ในความคิดของเขามายาวนาน ความรวยที่เขาไล่ล่า ความสำเร็จที่เขาไขว่คว้า เมื่อได้มา กลับไม่สามารถอุดรูโหว่รอยรั่วแห่งชีวิตนั้นได้ จนกระทั่งความรักความชอบในรสชาติของไอศกรีมบวกกับเสียงเตือนจากโรคเบาหวาน ทำให้เขาริเริ่มทำไอศกรีมทานเอง และพบว่า มีคนอีกจำนวนไม่น้อยก็อร่อยและมีความสุขกับไอศกรีมที่เขาทำและนำไปให้
ณ จุดนั้น น่าจะถือเป็นการออกสตาร์ทจุดแรกๆ ที่นำพาเขาให้ก้าวสู่การลงพื้นที่ คลุกคลีกับเด็กๆ ด้อยโอกาส ไล่ตั้งแต่เด็กข้างถนนไปจนถึงเด็กตามสถานสงเคราะห์และมูลนิธิต่างๆ ซึ่งมันก็คงจะจริงและปฏิเสธไม่ได้ว่า งานการที่เขาทำในฐานะกราฟฟิกดีไซเนอร์ นำความสบายมาให้แก่ชีวิตที่เคยขัดสน แต่ก็ยากจะปฏิเสธเช่นกันว่า “ฟาร์มสุขไอศกรีม” ทำให้ชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งชื่นชอบ “รสชาติไอศกรีม” ได้สัมผัสกับ “รสชาติความสุข” ของชีวิต
“บอม-ชัยฤทธิ์” นั่งอยู่เบื้องหน้าเรา และเป็นพยานแห่งคำกล่าว...การให้ นำ “ฟาร์มสุข” มาสู่ชีวิต...
• เหตุและผลที่ทำให้เริ่มต้นทำ “ฟาร์มสุขไอศกรีม” มีที่มาที่ไปอย่างไรคะ
เริ่มมาจากความตะกละครับ (หัวเราะ) ผมเป็นคนชอบกินไอติมมาก คือซื้อเป็นควอทๆ เทใส่กะละมังแล้วกินที่บ้าน แล้ววันหนึ่งก็เกิดสำนึกตัวขึ้นมาว่า เฮ้ย เรากินมากเกินไปแล้ว เพราะ 3 ควอทใส่กะละมังแล้วกินรวดเดียวหมด แล้วคนที่บ้านเราก็เป็นเบาหวานตั้งแต่ปู่ลงมาเลย ก็คิดว่าเราคงไม่รอดหรอก คงเป็นเบาหวานตายเพราะกินไอติมเนี่ยแหละ (หัวเราะ) ก็เลยคิดว่าต้องหาไอติมที่มันไม่หวานกิน
คือไม่ได้ลดความตะกละนะ แต่พยายามที่จะหา ปรากฏว่ามันก็มีไอติมที่ไม่หวานแต่ราคามันแพง แล้วก็จืดแบบไม่เข้มข้น รสชาติไม่ถูกใจ เราก็เลยไปสนใจวิธีการทำไอติม ทำเองเลย ก็ไปทำไอติมเข้มข้นแต่หวานน้อย แล้วพอดีทำออกมาเยอะ ก็เลยเอาไอติมไปบริจาคเด็กๆ มันเป็นครั้งแรกเลยที่ได้ทำอะไรแบบนี้ ก่อนหน้านี้ไม่เคยทำเลย แล้วก็ไปเห็นแววตาเด็กที่ได้กินไอติมดีๆ ที่เราอยากกิน เราเป็นห่วงสุขภาพนะ แล้วเห็นแววตาเด็กก็รู้สึกว่า เฮ้ย นี่เหรอที่เขาบอกว่าความสุขเกิดจากการให้ ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้น ที่เริ่มทำอะไรเพื่อคนอื่น ที่ปูเรื่องตรงนี้เพราะอยากเล่าถึงความสุขซึ่งเกิดจากที่เราได้ทำอะไรให้คนอื่น ทั้งที่จริงๆ เราไม่เคยรู้สึกอยากทำอะไรให้คนอื่นเลย เพราะอย่างหนึ่งคือที่บ้านก็คนข้างยากจน ก็คิดอย่างเดียวเลยว่าทำยังไงจะให้รวย
เมื่อไปทำแบบนั้น เรารู้สึกว่ามันดีจังเลย เรากลับมาโพสต์เฟซบุ๊ค สเตตัสนี้เกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก็บอกเพื่อนว่า เพราะความที่เราเป็นคนทำงานสายโฆษณา กราฟฟิคดีไซน์ ก็ตั้งคำถามถามกับเพื่อนว่า พวกเรารักเด็กจริงป่าววะ ถ้าเรารักเด็กจริง ทำไมเราชอบซื้อไอติมถูกๆ ไอติมกะทิหวานๆ ให้เด็กกิน เด็กเลือกไม่ได้ เด็กกินทุกวันเลย ทุกครั้งที่มีคนเอาไอติมไปบริจาค มันก็จะกลายเป็นว่าเราทำร้ายเด็ก แล้วเด็กก็ต้องอ้วนๆ มีหน่วยงานต่างๆ รณรงค์เรื่องการลดความอ้วน ตกลงพวกเราแค่อยากทำบุญใช่มั้ย ก็ถามเพื่อน เพื่อนก็บอกว่าเออ คิดดีเนอะ บอมก็ทำต่อสิ เพื่อนก็บริจาคเงินมา เราก็เอาเงินที่บริจาคไปทำไอศกรีมหวานน้อย ไปบริจาคเด็กที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพเลยนะ ใครอยากไปที่ไหนถามเราได้เลย เรารู้หมด
ผมทำแบบนี้ทั่วกรุงเทพฯ ติดต่อกัน 3 ปี เดือนละครั้งไม่มีหยุด ทำทุกเดือนๆ เริ่มสนุก ในเฟซบุ๊คคนก็เริ่มรู้จัก บางคนมาทักว่า คนนี้เนี่ยบ้าทำไอติมบริจาคให้เด็ก ติดต่อมันสิ ก็จะมีคนบอกว่าบอม พี่จะไปบริจาคที่นี้ๆ แต่มีแค่ 2,000 ผมบอกได้เลยพี่ กี่คนพี่ เพราะว่ามันเริ่มมีเงินกองทุน เริ่มมีคนบริจาคเข้ามา เพื่อนให้มา แล้วแถมเราทำงานโฆษณา เราก็มีเงินใส่เขาไปเรื่อยๆมันก็เริ่มขยายวงคนรู้จักไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งมีองค์กร สกส.(สร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ) ติดต่อเข้ามาว่าคุณทำไอติมจริงจังจังเลย คุณน่าจะเข้ามาคุยกับเรานะ คุณจะได้มาทำให้มันยั่งยืน
ตอนแรกก็ยังไม่ได้สนใจ จนกระทั่งมันเกิดเหตุการณ์หนึ่งที่ต้องสนใจก็คือมีรายการตลาดสดสนามเป้ามาถ่าย คนรู้จักเยอะมาก วันที่ออกอากาศ แล้วเป็นวันที่เราหยุดทำไอติมเพราะน้ำท่วม วันที่เทปนั้นออกอากาศ เรานั่งรับโทรศัพท์ทั้งคืน มีคนโทรมาเยอะ และบริจาค เบ็ดเสร็จ 3 วันมีเงินเข้าบัญชีเกือบแสนบาท เราก็แบบ...ซวยแล้ว เงินเราเท่าไหร่ล่ะ เราไม่ได้เช็คไว้ก่อนว่าเงินเราเท่าไหร่ แต่เงินบริจาคอ่ะเยอะมาก แล้วเงินเราเท่าไหร่อ่ะ เราจะกดตังได้ไม๊ล่ะ แล้วเราต้องกดเท่าไหร่ แล้วในจังหวะนั้น สกส. ก็โทรเข้ามาอีก เขาบอกว่าอยากให้เข้าไปหาเพราะจะมีการอบรมกิจการเพื่อสังคม เราก็เอาวะ มันอาจช่วยเราได้ในเรื่องของการเงินที่เราจะเอาตังค์ออก ก็เข้าไปนั่งเรียนกับเขา เขาก็บอกว่ามันเป็นการอบรมสร้างเสริมผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นที่ 2 ของ สกส. ก็นั่งเรียนไป คอร์สหนึ่งประมาน 3 เดือน เราเรียนไปเดือนครึ่ง เริ่มเข้าใจระบบคิดการทำกิจการเพื่อสังคม แต่ด้วยความที่เราเติบโตมากับทีวี ที่เห็นพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระราชินีแล้วก็คิดว่าในหลวงและราชินีเรานี่ล่ะ ท่านทำมานานแล้ว เราก็นึกถึงเรื่องศูนย์ศิลปาชีพว่าพระองค์ท่านให้ชาวนาชาวไร่ที่ว่างเว้นจากการทำงาน มาทำงาน มาขาย เราก็คิดว่านี่แหละ แบบนี้เลย เปลี่ยนจากการที่เราทำไอติม เราไปสอนเด็กดีกว่าและให้ทุกคนซื้อกินจากเด็ก รายได้ก็เข้าเด็ก
ณ จุดนั้น ก็เลยบอก สกส.ว่าผมไม่เรียนแล้วครับ ผมคิดออกแล้วว่าผมจะทำยังไง จะเอาเงินไปทำอะไร เขาบอกไม่ได้ คุณมาเรียน คุณใช้ทุนของรัฐ คุณต้องส่งรายงาน ผมก็ถามรายงานอะไร เขาบอกว่าคุณต้องเรียนให้จบ แล้วคุณเขียนแผนธุรกิจเพราะวิชาสุดท้ายที่ต้องเรียนคือการเขียนแผนการเงิน เราก็แบบเราเรียนกราฟฟิคมาอ่ะ จะมาให้เรียนตัวเลข บัญชี แต่ก็โอเค คือยอมเรียนเพื่อจะเขียนส่งเขาให้จบๆ แต่โมเดลมันเกิดในหัวแล้วว่าเราจะทำแบบประมาณไหนก็เขียนแผนไปตามโมเดลที่เราเขียน พอเขียนไป ส่งแผนการเงินกับแผนธุรกิจ ปรากฏว่าชนะ ได้มาแสนหนึ่ง แล้วก็บวกกับเงินที่มันคาอยู่ในบัญชี เราก็คิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนบริจาคเรามาเกินแสน เราก็เลยถอนมาแสนหนึ่ง รวมเป็น 2 แสน ก็เปิดบัญชีใหม่เป็นฟาร์มสุขไอศกรีม ก็ตั้งใจว่าจะทำแบบโปร่งใสเลย นี่เป็นจุดเริ่มต้นของมันแล้ว
• 3 ปีที่ผ่านมา ทำไอศกรีมไปแจกที่ไหนบ้างคะ
ไปทุกกลุ่มนะ เด็กป่วยที่โรงพยาบาล ทหารผ่านศึก ทหารพิการ พระที่โรงบาลสงฆ์ เด็กติดเอชไอวี คนติดเอชไอวี เด็กเป็นมะเร็ง คนเป็นมะเร็ง คนเป็นพิการซ้ำซ้อน เข้าถึงทุกกลุ่มที่อยู่ตามบ้านสงเคราะห์ต่างๆ แต่ละกลุ่มก็ชอบต่างกันไป เช่น ถ้าเราไม่เริ่มทำ เราจะไม่รู้เลยว่าเด็กที่เป็นมะเร็งต้องการอะไรทานไอศกรีมมาก เพราะเวลาเขาทำคีโมปากเขาจะร้อน เขาต้องการของเย็นๆ นี่ถ้าเราไม่ทำ เราก็ไม่รู้ คนที่เป็นเอชไอวีก็ต้องการไอศกรีมมาก เพราะปากมันร้อนเหมือนกัน ความรู้เหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ เราก็ไปนั่งคุยกับเขา บริจาคเขา ไปเป็นเพื่อนเขา
• ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เห็นว่าลาออกจากงานที่มีรายได้หลักแสนต่อเดือนเลย เพราะอะไรถึงตัดสินใจแบบนั้น
ตอนทำงานเอเจนซี่ ทำสองที่นะ ได้เงินเดือนเยอะมาก เหนื่อยแต่ก็คิดแค่ว่าตัวเองอยากได้เงิน คิดว่านั่นคือความสุข ไม่รู้สึกว่าตัวเองทุกข์นะ รู้สึกว่าตัวเองเพียบพร้อมทุกอย่าง มีบ้าน มีรถ เงินเดือนก็เยอะ ชีวิตนี้แบบโคตรรุ่งโรจน์เลย แต่พอวันที่เห็นเด็กกินไอติมแล้วเห็นแววตาเขาอ่ะ เรารู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่างที่แตกต่างไปในชีวิตจริงๆ มันคือความรู้สึกนั่นเลย เพราะเราเคยมีความรู้สึกนี้ตอนซื้อบ้าน เราตื่นขึ้นมา แล้วก็มานั่งดูบ้านตัวเอง เข้าไปอยู่โดยที่ยังไม่มีเฟอร์นิเจอร์นะ ก็นั่งดูบ้านแล้วถามตัวเองว่าทำไมเราไม่เห็นมีความสุขเลยอ่ะ เรามาจากครอบครัวที่ยากจน เรามีเงินซื้อบ้านหลังแรก ซื้อเงินสดด้วยนะ ไม่ต้องผ่อนด้วย แล้วทำไมไม่เห็นเรามีความสุขเลยอ่ะ เราขาดอะไร เราตอบไม่ได้นะ แต่พอวันที่เราเห็นเด็กยิ้มมีความสุขกับการกินไอติมกระจอกๆ ของเราอ่ะ เฮ้ย ทำไมเราโคตรมีความสุขเลยอ่ะ ความรู้สึกมันแตกต่างออกไปเลย แล้วรู้สึกว่าคำถามที่เราถามตัวเองวันที่เราตื่น มันได้คำตอบวันนั้นแหละ วันที่เราเห็นเด็กยิ้มและกินไอติมอย่างมีความสุข
ช่วงหลังๆ เราถูกถามบ่อยๆ เหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเราเปลี่ยนตัวเองขนาดนี้ แต่จริงๆ มันก็ไม่ได้เปลี่ยนเยอะมากนะ ในความรู้สึกเรา มันเป็นการได้คำตอบๆ หนึ่งว่า ตลอดเวลาที่เราทำงานเพื่อเงิน มันต่างกับตอนที่เราทำไอติมแล้วเด็กรู้สึกดี เรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าขึ้นมา แต่ตอนได้เงิน เราไม่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า แค่รู้สึกว่าตัวเองไล่ล่าเป้าหมายอะไรบางอย่าง ไล่ล่าความรวย ไล่ล่าเงิน ไล่ล่าการยอมรับได้สำเร็จ แต่ไม่รู้สึกเลยว่าตัวเองมีคุณค่า พอวันที่เด็กดีใจ ชื่นชมในสิ่งที่เราทำ มันแตกต่าง ไม่เหมือนงานโฆษณาที่พอส่งงานลูกค้า เขาก็แค่จ่ายเงินมา เราก็เลยไม่รู้สึกว่ามันมีคุณค่าอะไรหรือเปล่า ไม่เห็นคุณค่าของตัวเองและไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ
ก็กลับมาถามตัวเอง แต่ไม่ใช่ว่าเป็นคนทำอะไรวู่วามขนาดนั้นนะ ถามตัวเองว่า เราลดรายได้ลงได้มั้ย แล้วเรามาลงทะเบียนเรียนสิ่งนี้ มาให้อีกด้านหนึ่งของชีวิตเราได้หรือเปล่า ก็ใช้เวลาคิดและชั่งใจอยู่หลายเดือน มันก็เกิดอะไรที่ดีๆ กับเรา ตั้งแต่ชีวิตทำเรื่องอย่างนี้ เจอแต่คนดีๆ สภาพแวดล้อมดี ไม่เคยต้องระมัดระวังตัวเองว่าจะมีใครมาแทงข้างหลัง ฆ่าเราด้วยงาน ด่าทอเรา ไม่มีเลย ส่งงานลูกค้าไป ลูกค้าก็ดีกับเรา มันเลยเกิดความเชื่อหนึ่งขึ้นมาว่า ให้เราทำแต่สิ่งดี คิดแต่สิ่งดีๆ ตัวเราจะดึงดูดแต่สิ่งดีๆ เข้ามา เชื่อจริงๆ สภาพแวดล้อมมันทำให้เรามองโลกแบบใหม่ มันก็เลยตัดสินใจได้ไม่ยากกับการที่รายได้เราลดลงแล้วมาทำสิ่งใหม่ๆ
• ตัดสินใจยากไหมคะตอนนั้น
ไม่ยากเลยครับ คือกำลังจะอธิบายคำตอบอยู่เหมือนกันว่าตอนนั้นเหมือนกับเราได้ชีวิตคืนมา เพราะอย่างที่บอก ก่อนหน้านั้น เราเหมือนไล่ล่าอะไรบางอย่าง เราไม่เคยรู้เลยนะว่าไล่ล่าอะไร แค่รู้สึกว่าอยากรวย อยากรวยเหมือนคนอื่น แต่พอได้ไปนั่งฟังเด็กๆ ที่เล่าเรื่องของตัวเองให้ฟัง เล่าเรื่องครอบครัวตัวเองให้ฟัง ซึ่งมันไปผูกพันกับแม่กับพ่อกับสภาพแวดล้อม เรารู้สึกว่าเหมือนชีวิตเราเลย เพราะต้องบอกว่าก่อนหน้านั้น เรากับแม่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีต่อกันเท่าไหร่ วันหนึ่งก็มาคิดว่าเราทำไอติม ฟังเด็กมาแบบเป็นหมื่นๆ พันๆ ชั่วโมงเลย ทำไมคุยกับแม่ไม่ค่อยได้ 5 นาทีก็ไม่ไหวแล้ว ทนฟังไม่ได้แล้ว มันเกิดอะไรขึ้น วันหนึ่งก็เลยไปนั่งฟังแม่พูด ให้แม่พูดมากกว่าเราพูด ตั้งแต่มื้อเที่ยงกินข้าวกัน มารู้สึกตัวอีกทีตอนแม่ลุกขึ้นเพื่อที่ไปเตรียมอาหารเย็น แล้วแม่ก็บอกเราว่า แม่ดีใจที่ได้คุยกับบอมนะ เรานี่ร้องไห้เลย ร้องไห้ต่อหน้าแม่ เกิดอะไรขึ้น เพราะเราทะเลาะกันมาตลอด แม่ลูกนี่ไม่เคยคุยกันได้เลย เพราะว่าเราเป็นเด็กที่ดื้อมากตอนเด็กๆ แล้วแม่ก็เลี้ยงเรามาแบบชาวบ้านคนยากจน ตอนนั้นเราก็เลยแบบ...ฟังแม่พูด อดทนฟังแม่ แม่จะด่ายังไงก็ทน แม่จะเข้าใจเราผิดยังไงก็ทน ฟังๆ เหมือนฟังเด็ก
จนวันหนึ่ง แม่เริ่มให้เราพูด ฟังประมาณ 3-4 เดือน วันหนึ่งแม่มาถามว่าแล้วบอมคิดยังไงล่ะ เปิดโอกาสให้เราพูด เราก็อธิบายในสิ่งที่เรารู้สึก จากครั้งแรกที่เราเก็บมา บอกเขาว่าที่แม่คิดอย่างนี้เพราะบอมทำอย่างนี้นะ ตอนนั้นบอมอย่างนั้นอย่างนี้ มันเกิดการเข้าใจกันมากขึ้น พอเข้าใจกันมากขึ้น เราเริ่มกล้าที่จะเปิดใจกับแม่มากขึ้น วันหนึ่งก็เลยไปถามแม่ แม่คิดว่าบอมเก่งมั้ย แม่ตอบมาว่า ลูกของแม่เก่งที่สุด เท่านั้นแหละ ระเบิดน้ำตาออกมา ร้องไห้ ชีวิตนี้เราต้องการแค่สิ่งนี้ ที่ทำทั้งหมด เราไม่ต้องการคำชมจากคนอื่น เราต้องการรวยเพื่อให้แม่ชมเราว่าเราเก่ง มันสั้นแค่นั้นเอง พอแม่พูดว่าลูกแม่เก่งที่สุด มันเหมือนยกภูเขาออกจากอก คือชีวิตนี้ไม่ต้องการอะไรแล้ว ตั้งแต่วันนั้นมาจนวันนี้ไม่ต้องการพิสูจน์อะไรแล้ว
• คิดว่านั่นคือสิ่งที่เราไล่ล่ามาโดยตลอดหรือเปล่า
ใช่ โดยที่เราไม่รู้ ถ้าไม่เจอมา มันก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนว่าสิ่งนี้มันเอาชีวิตเราคืนมา มันทำให้เราเจอแต่เรื่องดีๆ ทำให้ได้แม่คืนมา ทำให้เป็นลูกที่ดีของแม่ได้ แล้วยิ่งไปกว่านั้นคือครอบครัวเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นะ จากที่แรกๆ แม่ไม่สนใจเรื่องแบบนี้ เดี๋ยวนี้แม่เป็นนักคุยกับคนไข้ที่เป็นมะเร็ง (ยิ้ม)
• ที่บอกว่ามีปัญหากับแม่นั้นเริ่มมาตั้งแต่ตอนไหนและเพราะเรื่องอะไรคะ
ตั้งแต่เป็นวัยรุ่นเลยครับ ปัญหาก็คือความไม่เข้าใจกัน มันสะสมมา แต่มันมาระเบิดตอนที่เราเป็นวัยรุ่นสักประมาณ ม.ปลาย คือผมคบเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง แม่เข้าใจว่าคนนี้เป็นแฟน แม่ต่อต้านทุกรูปแบบ พามาบ้านก็ต่อต้าน เราก็คิดว่าเขาเป็นเพื่อนเราทำไมแม่ต้องทำนิสัยไม่ดีใส่เขาด้วย ก็เลยไปให้ความสนใจกับเขามากขึ้นไปอีก แม่ก็เลยคิดว่า อ๋อ รักเพื่อนมากกว่ารักแม่ แม่ยิ่งต่อต้านหนักเข้าไปอีก เราก็ยิ่งแบบ...อะไรนักหนา สุดท้ายเป็นแฟนกันไปเลย กลายเป็นให้ความสำคัญไปเลย คราวนี้แม่แม่ก็มาด่าเรา “แกเรียนไม่จบหรอก แกต้องทำเขาท้อง” เราก็...โอ้โห ถูกดูถูกจากแม่ตัวเอง แสดงออกเป็นก้าวร้าว พูดอะไรไม่เข้าหูหมด จนวันหนึ่งทะเลาะกัน เราก็เอากีต้าร์ฟาดบ้าน บอกว่าโอเคถ้ามันงกนัก ออกไปใช้ชีวิตตัวเองก็ได้ ก็เดินออกจากบ้าน แม่เราก็ตะโกนไล่หลัง เสื้อผ้าที่แกใส่ก็ของฉัน แกถอดออกมา ถ้าแกเก่งนัก ปีกกล้าขาแข็งนักก็ถอดออกมา เราก็ถอดโยนใส่หน้าแม่เลย ไม่เอาก็ได้ แต่ในใจเราคิด นี่แม่เรา เอ๊ะ นี่แม่รักเราจริงเปล่า คิดอย่างนั้นเลยนะ มีช่วงเรียน ป.2 แม่ตีเรา เราวิ่งหนีออกจากบ้าน แม่ปิดประตูบ้าน ให้นอนข้างนอกเลย ตอนนั้น เรารู้สึกว่าแม่รักเราจริงรึเปล่า ไม่มั่นใจเลยว่าแม่รัก เหตุการณ์แบบนี้ เราก็เก็บมา จนกระทั่งออกจากบ้านไปตอน ม.ปลาย ไปนอนบ้านเพื่อน แต่ก็ไปเรียนหนังสือนะ ช่วงนั้นยังเรียนมัธยมอยู่ ก็ยังรู้ว่าตัวเองไปไม่รอด แต่รู้ว่าสิ่งหนึ่งคือ ต้องไม่ทำผู้หญิงท้อง ต้องเรียนให้จบ ต้องเอาชนะคำสบประมาทของแม่ให้ได้ ก็ตั้งใจเรียนจนจบพอเข้ามหา’ลัย เราไม่เข้าบ้านเลยเป็นปี หายสาบสูญไปเลย ไม่ติดต่อ เกลียดแม่ กลายเป็นคนเกลียดแม่ ผมถึงได้บอกว่ารู้สึกดีใจมากที่กลับมาเป็นลูกของแม่ได้อีกครั้ง และประสบการณ์เหล่านี้มันทำให้เราเข้าใจเด็กๆ ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
• จากประสบการณ์ตรง และจากการที่ได้เข้าไปคลุกคลีกับเด็กๆ ที่มีปัญหาเหล่านั้น พอจะสรุปเป็นบทเรียนตรงนี้ได้ไหมคะว่าเพราะอะไร บางครอบครัวถึงมีปัญหาเรื่องลูก
ที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องของการไม่เปิดใจรับฟังกัน ปัญหาทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากตรงนี้ ครอบครัวไม่มีเวลาให้กัน บางคนบอกมีเวลาให้กันแล้ว มีเวลาให้กันคืออะไร คนหนึ่งนั่งเล่นไอแพด คนหนึ่งนั่งดูทีวี แค่นั่งอยู่ร่วมกันมันไม่มีการสื่อสารกัน แม้กระทั่งหนูมีเรื่องอยากจะเล่าให้ฟัง แม่บอกเอาไว้ก่อนลูกแล้ว เด็กจะคุยกับใคร จะไปโทษเด็กไม่ได้ ถ้าเด็กมันออกจากบ้าน ก็เพื่อนมันฟังมัน ถูกไหม หรือแม้กระทั่งบางคนเป็นบ่อย ก็คุยกันนะคะ กอดลูกทุกวันเลย ก็ถามว่าคุยกันยังไงครับ ลูกบอกผมมีปัญหาทะเลาะกับเพื่อน แม่บอกว่ามันก็ต้องอดทนสิลูก คนเรา ไม่ได้ฟังเลย ลูกอยากจะพูดว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราเรียกสิ่งนี้ว่าการฟังอย่างไม่คุณภาพ ฟังอย่างไม่ลึกซึ้ง คิดว่ามีหูก็ฟัง ทำไมเด็กถึงชอบเพื่อนเพราะเพื่อนฟัง พูดอะไร เพื่อนมันก็เออออหมด มันรับฟัง มันมีโอกาสได้ระบายความเครียด แต่กับพ่อแม่มันมีแต่สอนอย่างเดียวเลย พูดปุ๊ป สอนๆๆ ความหวังดี ความรักมันเปลี่ยนเป็นสอนหมด ลูกมันก็ผิดสิ เด็กมันต้องการความเข้าใจก่อนที่จะสอน นี่คือปัญหา
• ดังนั้นแล้ว เห็นว่านอกจากทำไอศกรีมแจกเด็กๆ ยังเป็นรับฟังและที่ปรึกษาให้แก่เด็กๆ ด้วยใช่ไหมคะ
คือจริงๆ ตอนนี้ฟาร์มสุขก็ทำไป แต่ด้านหนึ่ง เราก็เหมือนเป็นที่ปรึกษาทางด้านการฟังอย่างลึกซึ้ง ก็ทำที่ส่วนโมกข์กรุงเทพฯ ฟรี ทุกคนก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ตรงนี้ได้ เวลาพี่เข้าไปทำกิจกรรมกับเด็กๆ แม้กระทั่งการทำไอศกรีม เราก็จะสอดแทรกเรื่องนี้แล้วมันก็เปลี่ยนจากการทำไอศกรีม ตอนแรกขึ้นว่าจะเป็นการฝึกวิชาชีพให้เด็ก ตอนหลังๆ ก็เปลี่ยนเป็นว่าใช้การทำไอติมเป็นเครื่องมือเพื่อที่จะให้เด็กได้มีเครื่องมือในการฟังอย่างลึกซึ้งด้วย แต่โอเค มันอาจจะไม่ใช่สิ่งแรกที่เขาควรจะมี สิ่งที่เด็กควรจะมีเลยอันดับหนึ่งคือความมั่นคงทางจิตใจ เนื่องจากว่าเขาอยู่กับพ่อแม่ที่ไม่มีการถูกสอน รู้สึกว่าไม่มีใครยอมรับเขา เขาก็รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ไม่มีความมั่นคง พอเขาไม่มีความมั่นคง ปัญหามันก็เริ่มแตกกระจายออกไป ทำงานก็ไปตบกับลูกค้า ลาออกบ่อย ไปมีผัว มีลูก เปลี่ยนสามีบ่อย ค้ายาเสพติด ค้าประเวณี เพราะเขาก็เป็นอย่างที่พี่เป็นเมื่อก่อนมันหาตัวเองไม่เจอ ทำทุกอย่างเพื่อความรัก ไปเป็นสก๊อย ก็เพื่อให้เด็กแว้นมาแย่งกัน ขี่มอไซต์แย่งฉัน ดูสำคัญ ดูมีคุณค่า ก็อยากทำ มีโทรศัพท์ก็เพื่อให้เพื่อนก็มาอู้หูวๆ อย่างเดียวเลย มันก็เป็นคนที่มีคุณค่าจากคนที่ไม่เคยมีคุณค่า
มันเป็นวงจรประมาณนี้ แต่ก็มีปัจจัยอื่นเหมือนกัน คือต้องยอมรับว่า เราเริ่มจากศูนย์ เราไม่ได้เป็นนักสังคมสงเคราะห์ ไม่ได้คลุกคลีอยู่ในด้านนี้เลย คนที่เขาคลุกคลี เขารู้ดีกว่าเรา แต่บังเอิญว่าเราวางตัวเองเป็นเพื่อนเด็ก เราเคยเป็นผู้ด้อยโอกาสเหมือนพวกเขา เพียงแต่โชคดีที่กระเด้งออกมาจากวงจรนี้ได้ เพราะเรามีการศึกษาในระดับหนึ่ง เราก็รู้จักคิดตั้งคำถาม แต่เด็กไม่มีนะ ก็เลยใส่ตรงนี้ให้เด็กรู้จักคิด เวลาเด็กที่อยู่ใกล้เรา เวลาเขาเล่าอะไรมา เราก็...อ๋อ เหรอ แล้วรู้สึกยังไงล่ะ มีความคิดว่ายังไง แล้วจะทำยังไงต่อ จะทำอย่างนี้เหรอ แล้วจะส่งผลอะไร จะถามอย่างนี้ตลอด เด็กก็เริ่มคิด ฝึกคิด ถูกผิดช่างมัน
• มีผลลัพธ์ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในที่ดีเกิดขึ้นบ้างไหมคะ
มีครับ ตลอด 6 ปีที่ทำมา 3 ปีแรกทำไอศกรีมบริจาค เจอเด็กอยู่คนหนึ่ง เราถามเขาว่าไอติมอร่อยไม๊ เขาก็ด่าเราว่า หน้าอย่างมึง กูรู้ว่าอยากได้กูใช่มั้ย พวกผู้ชาย...เราไม่รู้ ว่าเขาด่าเราทำไมวะ ก็คิดในใจ กระเด้งเลยนะ แต่วันนั้นก็อยากเข้าใจเด็กว่าแกโดนอะไรมา แล้วเด็กคนนี้ 3 ปีต่อมาคือเด็กที่ทำไอติมกับเรา แล้วเริ่มได้คุยกันเข้าใจว่าเขาถูกข่มขืนมาจากพ่อและปู่ เขาบอกว่าพี่ไม่มีวันเข้าใจหนูหรอกว่าวันที่ถูกพ่อและปู่คร่อมเห็นหน้ารู้สึกยังไง และต้องยอมต่อไป เพราะแม่หนูร่วมมือด้วย บ้านไม่เหลืออะไรแล้วอ่ะ ชีวิตไม่เหลืออะไรแล้ว ความรักความไว้ใจมันหายไปหมดแล้ว เข้าใจเด็กคนนี้แล้วก็ตอนนั้นก็ไม่วิธีที่ทำให้เขาดีขึ้นมา ฟังแล้วก็ได้แต่หดหู่ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ไงวะ แต่พอเรารับฟังเขาเรื่อยๆ แล้วเราตั้งคำถามเขาเรื่อยๆ มันก็เริ่มเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน มันก็เริ่มพัฒนา ปัจจุบันเด็กคนนี้ใช้ชีวิตปกติในสังคม และที่ดีกว่านั้นคือเขามีครอบครัวและมีลูกแล้ว การที่เขามีครอบครัวและมีลูก เขาสอนลูกได้ เราคิดว่าเขามีคุณภาพ แต่ไม่ได้ว่าเราประสบความสำเร็จแบบนี้เยอะ ก็ทำได้แค่ 3 คน จากเด็กทั้งหมด 500 กว่าคนที่ทำไอติมร่วมกัน
• ถามถึงเรื่องโครงการ คือเราไปตะเวนสอนยังไงคะ มีจุดไหนอะไรบ้าง
ช่วงปีแรก เราก็จะสอนแค่บ้านธัญญพร รังสิต คลอง 5 เพราะว่าเราทำหนังสือไปขออนุญาต พอพ้นปีแรกไป คนก็เริ่มรู้จักมากขึ้น มีภาคีเครือข่ายด้วย เช่น มีกลุ่มทำงานด้านชุมชนก็บอกว่า ไปสอนชุมชนพี่หน่อยสิ ก็มาทำงานร่วมกัน ก็มาตีโจทย์กันว่าเราไม่ได้สอนอาชีพนะ เรามาให้อย่างอื่น อะไรเป็นโจทย์ เช่น อยากให้เด็กเรียนรู้เรื่องนี้ โอเคก็ใช้ไอติมเป็นเครื่องมือ อยากให้รู้เรื่องความสามัคคี เราก็มาดูว่าจะออกแบบยังไงให้ทำไอติมแล้วมีความสามัคคีกันและกัน หรือเรียนรู้เรื่องบัญชี เพราะฉะนั้น พอปีที่ 2 ธัญญพรก็ยังทำอยู่ แต่เริ่มห่าง ด้วยความผูกพัน เราก็ยังเข้าไปเรื่อยๆ เปลี่ยนจากการทำไอศกรีมเป็นสอนภาษาอังกฤษด้วยทุกวันอังคาร มีอาสาสมัครมาช่วย เป็นแอร์โฮสเตสมาสอน ขณะเดียวกัน เราก็พาตัวเองไปทำงานที่อื่นๆ บ้าง เช่น มูลนิธิต่างๆ หมู่บ้านต่างๆ
• ที่เราสอนไม่ได้เน้นเรื่องอาชีพนี่คือยังไงคะ
คือเราต้องเข้าใจก่อนว่า เด็กก็ต้องเรียนหนังสือ จะให้ไปทำไอติมขายเลย มันไม่ใช่ คนจะเข้าใจผิดว่าเรียนตรงนี้ไปเพื่อเป็นอาชีพใช่มั้ย ไม่ใช่นะ เรียนแค่ให้เด็กเรียนรู้อะไรบางอย่าง เช่น ความสะอาดในด้านการทำอาหาร เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน เรียนรู้เรื่องการใส่ใจ เรียนรู้ทักษะชีวิต แต่ใช้ไอติมเป็นสื่อเครื่องมือการสอน
• ในส่วนการบริหารงานหรือเงินของโครงการ ทำในลักษณะไหนคะ
มันจะแยกเป็น 2 วงล้อนะ เป็นของตัวระบบที่ขายไอศกรีมเพื่อที่จะได้ช่วยเหลือคน ระบบนี้มันกำลังอยู่ในการปรับ เนื่องจากเราไม่มีทักษะนี้ ระบบมันก็เลยมั่วมากๆ ตอนนี้ก็เลยเซ็ทระบบใหม่ให้มันยั่งยืนขึ้น เพราะว่าถ้าตัวระบบล้ม มันจะไม่มีเงินเข้าไปช่วยหมุนเวียนอีกตัว มันก็กลายเป็นว่าเราทำคนเดียว โครงการนี้เล่ามาทั้งหมด เราทำคนเดียว ทำให้ต้องใช้เวลาในการทำระบบให้มันดีขึ้น เพราะเหมือนที่เราคุยกันอยู่นี่ล่ะครับ เด็กได้รับการช่วยเหลือจากไอศกรีมที่มันขายไป มันดีตรงนี้แหละ มันไม่เหมือนกับถึงเวลาแล้วเราก็เทไปช่วยคน แล้วเราก็กลับมาทำงาน แต่พอเรามีระบบการช่วยเหลือก็ทำให้มันเดินไปได้ เพราะฉะนั้น เราเลยให้ความสำคัญกับมัน ต้องเซ็ทมันให้ได้ ทำยังไงไอติมถึงจะขายได้ ทำยังไงเงินจะถือมือเด็กจริงๆ ช่วยเด็กได้จริงๆ
• แล้วรายได้เด็กที่เขาทำโครงการนี้ได้เท่าไหร่คะ
จริงๆ เมื่อก่อนเราจะเรียกว่าเป็นค่าจ้างเด็กในการทำไอศกรีม เดี๋ยวนี้เราจ่ายเหมือนเป็นค่าจ้าง แต่เราไม่ได้เน้นว่าเราต้องเอาน้ำไอติมจากเด็กไปปั่นขาย เด็กจะเอาไปกินก็ได้ เพราะจุดประสงค์หลักของเราคือเราอยากให้เด็กเรียนเรื่องทักษะชีวิต แต่เด็กก็ได้เงิน ใครมาเรียนก็ได้เงินๆ และเราก็เอาเอาเงินบางส่วนมาทำกิจกรรมช่วยเหลือ
• ถูกมองไหมคะว่าเราใช้แรงงานเด็ก
มีช่วงหนึ่ง คนก็ไม่เข้าใจ สื่อออกไปว่าเราให้เด็กทำไอติม คนก็จะแบบ...คุณใช้แรงงานเด็กหรือเปล่า เขาคงคิดว่าเราเฆี่ยนเด็ก แบบ “ทำไอติมเร็วๆ ดิ มันไม่ได้ขายดี” ขนาดนั้นเลยนะ เดือนหนึ่งประมาณ 2,000 ถ้วย แล้วใช้เวลาทำเดือนละ 3 ชั่วโมงอ่ะ 2,000 ถ้วย 3 ชั่วโมงนั้นก็เป็นชั่วโมงของการเรียนคหกรรม สมัยก่อน เดือนหนึ่งเจอกันครั้งหนึ่ง สมัยนี้มีการวางระบบใหม่ ทำเยอะๆ แล้วก็ส่งไปสต๊อกไว้โรงงาน แล้วเขาก็จัดการผลิต เขาคงคิดภาพว่าขายได้เป็นแสนอ่ะ ไม่ได้ขนาดนั้นเลย
• แล้วเราเอาไอศกรีมไปขายตามที่ไหนบ้างคะ
จุดขายตอนนี้มีอยู่ 4 จุด ก็ไม่ได้ขายดีหรอกครับ จุดแรกขายดีที่สุดก็ ขายที่ สสส. เพราะเราได้เงินจาก สสส.มานะโครงการนี้ เขาก็ช่วยขาย ขายดีสุด เดือนๆ ก็ได้ประมาณ 400-800 ถ้วย จุดที่สองก็อยู่ที่ร้าน root garden ทองหล่อซอย 3 ซึ่งก็เป็นโปรเจคต์ของภาคีเครือข่ายของ สสส.อีกเหมือนกัน ก็ทำงานร่วมกัน ก็เอาไอติมไปตั้ง ยอดตกเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนขายดี เดี๋ยวนี้เฉลี่ยเดือนละ 200 ถ้วยเท่านั้น จุดที่สามก็เป็นร้านของเวียร์ (ศุกลวัฒน์ คณารศ) ที่เขาเป็นดารา ร้านสกูลคาเฟ่ เขาเปิดร้านกาแฟอยู่ตรงงามวงวานศ์ ขายไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จุดที่ 4 ร้านคาเฟ่เดอบลายธ์ อยู่ตรงลาดพร้าม 71 ก็มีอยู่ 4 ร้านในกรุงเทพฯ แต่ว่าก็มีร้านอยู่ที่เขาใหญ่ ก็ค่อนข้างโอเค แต่ก็ไม่ได้ดีมากเท่าไหร่ มีทั้งหมด 5 ที่ นอกนั้นก็จะเป็นแบบคนสั่งไปเลี้ยงเด็กบ้าง
• ขายไม่ดี แล้วอย่างนี้เรายืนอยู่ได้ด้วยอะไรคะ
ก็บริหารจัดการเอาครับ ขายได้เท่านี้ ก็ยอมรับว่าได้เท่านี้ แล้วทำได้เท่าที่เราทำได้ บอกตรงๆ ว่าทีแรก เราจะปิด “ฟาร์มสุข” สิ้นปีนี้ เพราะทำคนเดียวมันเหนื่อยครับ ไม่ไหว แล้วเราไม่ได้เก่งธุรกิจ บริหารก็ไม่เป็น คิดเลยว่ากลับไปทำอย่างเดิมดีกว่า คือทำเป็นโครงการรับบริจาคเงิน ก็ต้องช่วยเด็ก ทำไมต้องทำธุรกิจด้วย ทำไมต้องทำกิจการเพื่อสังคมด้วย เราคิดแบบนี้ แต่โชคดี มันเหมือนสิ่งที่เราเคยคิดไว้แหละว่าทำสิ่งดีๆ มันก็ดึงคนดีๆ เข้ามา สุดท้ายก็มีบริษัทติดต่อเข้ามาว่าสนใจจะลงทุนร่วม เราก็บอกยินดี ตอนนี้ก็ทำงานร่วมกันอยู่ ก็ลุ้นอยู่ว่าเขาจะทำจริงมั้ย เพราะเขาก็มาดูบัญชี มาดูแบรนด์ มาดูโอกาสทางการตลาด ถ้าเขาสนใจ แปลว่าฟาร์มสุขรอดแล้ว เขาก็จะบริหาร เราก็จะดูแลด้านสังคมไป
• รูปแบบไอศกรีมที่เราขาย เป็นยังไงและราคาเท่าไหร่คะ
ขายเป็นถ้วยครับ ถ้วยสีฟ้าๆ ก็ 4 ออนซ์หรือ 70 กรัม ราคาเท่าเทียมกัน ราคาขายหน้าร้าน ร้านทั่วๆ ไปจะขายอยู่ที่ 45 บาท ทั้งที่จริงๆ แล้วแนะนำอยู่ที่ 40 บาท 40 บาทเป็นราคาที่เราคิดว่าคุ้มค่าและเหมาะสม แต่เนื่องจากเราส่งเขาไปแล้ว เขาอยากจะขาย 45 เราเป็นแบรนด์เล็กๆ เราควบคุมไม่ได้ เขาก็ไปขายในราคานั้น มันก็เลยทำให้ขายยากหน่อย แล้วก็จริงๆ ราคาส่ง เราส่งแค่ 30 บาทเอง กำไรเข้ากิจการ มันก็ที่ 3 บาทต่อถ้วย
• ถ้ามีคนพูดว่าจะออกจากงานทำไม ในเมื่อออกมาแล้วมันก็เหนื่อยกว่าเดิม ไม่เห็นได้อะไรเลย คุณจะบอกเขาว่ายังไง
ก็จะตอบแบบที่เราคุยไปว่าเราทำเพื่ออะไร หลายคนมีคำตอบไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะตอบว่าต้องการประสบความสำเร็จ ต้องการให้โลกนี้จดจำ อะไรก็แล้วแต่ ซึ่ง คุณลองตอบตัวเองให้มันชัดๆ สิว่า จุดที่คุณคิดว่าคุณประสบความสำเร็จคืออะไร อย่าให้มันคลุมเครือ เอาคำพูดคนอื่นมาใส่ปากตัวเองว่าประสบความสำเร็จ แล้วยังไง ตอบให้ชัดๆ เลย ภาพชัดๆ เลยว่า คุณอยากประสบความสำเร็จหรือยัง ได้รับรางวัล คุณทำโฆษณาได้รางวัลใช่มั้ย หรือคุณได้เป็นหัวหน้าคุมลูกน้องเยอะๆ ใช่มั้ย หรือคุณเงินเดือนล้านหนึ่งมั้ย นั่นคือสำเร็จหรือเปล่า คุณได้แล้วภาพที่ชัดเจน แล้วคุณจะได้อะไรจากสิ่งนั้น อย่าลืมนะว่า ยิ่งคุณได้มากเท่าไหร่ คุณยิ่งเสียมากเท่านั้น ผมบอกได้ว่าคนเราก็เหมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง เราเกิด เหมือนเราถูกปักลงไปในดิน ยิ่งเราเติบโต แผ่กิ่งก้านสาขาไปเท่าไหร่ ในขณะที่รากเรามันไม่ได้หยั่งลึกลงไปในดิน วันหนึ่งพายุมา ต้นไม้มันล้ม พายุก็คือปัญหาที่เราเจอ ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จ เราอยากจะรวย อยากเติบโตทั้งๆ ที่ไม่เคยที่จะแบบถามตัวเองเลยว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไร เป็นแบบนี้ ยังไงก็รอวันล้ม
• แล้วคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้เราได้อะไรบ้างคะ
เราได้รากของต้นไม้ แล้วมันทำให้ชีวิตเราหยั่งรากลึกลงไป สิ่งที่เราทำ ก็เพราะอยากให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในการทำงานจิตอาสา ไม่ใช้ทำเท่ๆ ไม่ใช่ทำเพื่อถ่ายเซลฟี่ ไม่ทำเพื่ออวดคนอื่น แต่เราอยากให้มาเรียนรู้ว่า เราทำงานอาสา เราทำงานเพื่อคนอื่น เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง เราจะเติบโตอะไรบ้าง มันจะให้คุณค่าอะไรกับเรา ซึ่งมันจะดีมากเราไม่ได้บอกว่าทำงานโฆษณาไม่ดี ไม่ได้บอกว่าคุณต้องลาออมาทำสิ่งนี้ แต่เราอยากจะบอกว่า เราพลาดในการที่จะมองหาคุณค่าในงานนี้ ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นนะ เช้าขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงาน เย็นกลับบ้าน คิดถึงเงินเดือน และแล้วก็แบบตกต่ำทางจิตใจลงเรื่อยๆ อ่ะ เพราะไม่เห็นว่าคุณค่างานคืออะไร เราแค่ทำๆ แค่นี้ เราไม่เห็นคุณค่า ซึ่งเราก็เป็นแบบนั้น ถ้าเกิดคุณได้อ่านได้ฟังเรื่องนี้ แล้วคุณกลับไปหาคุณค่าให้เจอ คุณไม่ต้องกระโดดออกมาทำ พอคุณเห็นคุณค่าของงานที่คุณทำ คุณจะเห็นคุณค่าของตัวเองด้วย ว่าฉันเป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้ พอคุณเห็นคุณค่าคุณจะได้รู้ว่าคุณจะแบ่งปันเผื่อแผ่ยังไง
• มีท้อบ้างไหมกับการทำอะไรที่ฟังดูแล้วก็น่าเหนื่อยแบบนี้
บางครั้งครับ คือคิดว่าทำไมเราต้องอดทนขนาดนี้ด้วย แต่ทุกครั้งที่ผ่านมันมาได้ก็จะเห็นว่าตัวเองเติบโตขึ้นตั้งเยอะ ตัวเองเข้มแข็งขึ้นตั้งมาก เราเคยไปนั่งคุยกับคนที่จะฆ่าตัวตายประมาณ 4 คน สามารถพูดคุยกับเขาได้จนเขาเปลี่ยนใจ ถ้าเราทำงานโฆษณาเหมือนเดิม คงไม่มีโอกาสแบบนี้ ความเข้มแข็งของเรามันช่วยคนอื่นได้นะ เราอาจจะไม่มีเหมือนคนอื่นเขาเรื่องทรัพย์สินเงินทอง แต่งเราภูมิใจตัวเอง มันก็เลยไม่ค่อยเสียดายสักเท่าไหร่ ใช้คำว่าไม่ค่อยแล้วกันนะ ไม่เสียดายมัน ก็ดูเว่อร์ไปหน่อย ก็มีบ้างที่คิดว่าถ้าป่านนี้เรายังทำอยู่ ก็คงเป็นเหมือนเพื่อนแหละ เงินเดือนตั้งเท่าไหร่แล้ว แต่พอไปเห็นหน้าเพื่อนมันเหนื่อย คนรวยหน้าตาแบบนี้เหรอวะ ชอบแซวเพื่อน ไปเที่ยวเมืองนอก ตอนถ่ายรูปมาก็ดูสวยดี ในขณะที่เพื่อนทักเราว่าดูเอนจอยกับชีวิตนะ เราก็แบบ... “มั้ง ก็เราไม่ต้องแบกอะไรนี้หว่า” (ยิ้ม)
• แล้วคิดว่าเด็กๆ จะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้บ้างคะ
ที่ชัดที่สุดคือเขาได้เพื่อนนะ ได้เราเป็นเพื่อน ไม่ว่าเขาจะอยู่บ้านหรือออกจากบ้าน ไม่ได้เป็นเด็กด้อยโอกาสแล้ว ไม่ได้เป็นเด็กบ้านสังคมสงเคราะห์แล้ว เขาก็ยังพูดคุยกับเราได้ตลอด หนึ่งใน 3-4 คนที่จะฆ่าตัวตายก็คือเด็กในนั้นแหละที่เขาออกมาใช้ชีวิต เขาก็ยังพูดคุยกับเราได้ เราก็ยังเป็นพี่เขาไปตลอดชีวิต เราคิดว่ามันดีสำหรับเรานะ ทำให้เราได้เรียนรู้จากเขาเยอะ ที่มากกว่าไปนั้นคือ ด้วยตัวระบบ มันอาจจะทำให้เด็กมีรายได้ นิดๆ หน่อยๆ เราไม่ได้เห็นว่าเงินมันจะส่งผลอะไรนะ เราคิดว่าถ้าสามารถทำให้เขามีทักษะชีวิตหรือความมั่นคงทางจิตใจ เขามีปัญญาหาเงินได้มากกว่าที่เราให้เขาอีกนะ เราให้เขาไป บางทีอาจจะเป็นกิจการที่ให้เงินเขาเยอะมากอ่ะ แต่ไม่ได้สอนเขาเรื่องเหล่านี้ เขาอาจจะเอาเงินไปซื้อโทรศัพท์มือถือ วูบเดียวหมดเลยก็ได้ เราเลยคิดว่าสิ่งที่เราทำ มันวัดยากอ่ะ แต่มันจับถึงรากฐานเลยจริงๆ
• สุดท้ายแล้ว “ฟาร์มสุขไอศกรีม” มีความหมายอย่างไรในนิยามความคิดของเรา
จริงๆ ผมชอบใช้คำว่า ไอศกรีมถ้วยนี้มันอาจจะเปลี่ยนแปลงโลกไม่ได้ แต่ว่ามันเปลี่ยนแปลงเราได้ เพราะเราไม่รู้หรอกว่าคนอื่นเขาเปลี่ยนมั้ย เขาได้อะไรจริงๆ แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่เราพูดให้ฟังนี้ วันหนึ่งมันจะแตกออกไปให้คนอื่นได้รับรู้ และเราสามารถพูดได้ว่ามันเกิดขึ้นกับเราจริงๆ มันทำให้เราเปลี่ยนได้จริงๆ เพราะไม่มีใครรู้เท่ากับตัวเรา เด็กเราก็ไม่รู้ มันมีปัจจัยมากมาย เด็กอาจจะฟังเราไปส่วนหนึ่ง เรียนรู้ร่วมกันอีกส่วนหนึ่ง แล้วก็ไปเจออีกส่วนหนึ่ง ทำให้เขาดีขึ้น ชีวิตสดใสขึ้น อันนั้นก็เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถรับรู้ได้ แต่ว่าตัวเราครับ เรารู้เลยว่าชีวิตเรา 24 ชั่วโมง มันเกิดเพราะฟาร์มสุขทั้งนั้น กลายเป็นคนที่ฟังคนมากขึ้น ใคร่ครวญชีวิตมากขึ้น
ทุกอย่างมันต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน ผมเชื่ออย่างนั้น ถ้าเรามั่นคง ถ้าเราเป็นต้นไม้ที่มั่นคง ใครจะมาพิงเรา เขาก็พิงได้ แต่ถ้าเราไม่มั่นคง เขาก็พิงเราไม่ได้ ฟาร์มสุขทำให้เราเริ่มเข้าใจคนอื่น ในขณะที่เราก็เข้าใจตัวเองด้วย
เรื่อง : วรัญญา งามขำ, ปาณิสรา บุญม่วง
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช และ Facebook : FarmSookIceCream