ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มรภ.สงขลา วิจัยกล้วยหินกรอบทรงเครื่องรสข้าวยำ เข้ารอบชิงชนะเลิศ กับอีก 14 ทีมจากทั่วประเทศ ในโครงการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารปีที่ 7 ซึ่งจัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย
วันนี้ (22 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักศึกษาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โชว์ฟอร์มเจ๋ง ส่งผลงาน Boo-Ba-Doo กล้วยหินกรอบทรงเครื่องรสข้าวยำติด 1 ใน 15 ทีม ผ่านเข้าชิงชนะเลิศ โครงการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารปีที่ 7 ชูจุดเด่นผสมผสานพืชผลท้องถิ่นกับอาหารภาคใต้เอาใจคนรักสุขภาพ
อ.วิภาวรรณ วงศ์สุดาลักษณ์ โปรแกรมวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) และ อ.ฐิติมาพร หนูเนียม ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาทีมสาวสองเล ทะเลสองน้ำ ซึ่งส่งผลิตภัณฑ์กล้วยหินกรอบทรงเครื่องรสข้าวยำ ตั้งชื่อว่า Boo-Ba-Doo เข้าร่วมประกวดในโครงการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร เปิดเผยว่า ตัวแทนนักศึกษาโปรแกรมวิชาคหกรรมศาสตร์ ทีมสาวสองเล ทะเลสองน้ำ ซึ่งมีสมาชิก 6 คน ประกอบด้วย น.ส.กานดา ชูแก้ว น.ส.อารีนา สุหลง น.ส.รุสนา ดำสุด น.ส.อุษา เส็นหล๊ะ น.ส.ธัญญา ดินซุด และ น.ส.สากีนา แล๊ะขาว
ได้ส่งผลงานผลิตภัณฑ์กล้วยหินกรอบทรงเครื่องรสข้าวยำ เข้าร่วมประกวดในโครงการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารปีที่ 7 จัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย ผลปรากฏว่า กล้วยหินกรอบทรงเครื่องรสข้าวยำ ผ่านรอบคัดเลือกเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ กับอีก 14 ทีม จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เป็นมหาวิทยาลัยในภาคใต้เพียงหนึ่งเดียวที่ได้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศในครั้งนี้
อ.วิภาวรรณ กล่าวว่า โดยทั่วไปการทำกล้วยหินทอดกรอบต้องผ่านการทอดที่ใช้อุณหภูมิสูง ซึ่งเป็นตัวเร่งให้น้ำมันที่ใช้เสื่อมคุณภาพเร็ว เป็นผลให้ร่างกายของเราเมื่อบริโภคจะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้ ประกอบกับผู้บริโภคให้ความสนใจสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ นักศึกษาในทีมจึงต้องการยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์กล้วยหินทอดกรอบให้พัฒนาขึ้น
โดยศึกษาปรับปรุงกระบวนการผลิตกล้วยหินทอดกรอบโดยใช้การอบด้วยไมโครเวฟ (microwave) แทนวิธีการทอด เพื่อลดปริมาณไขมัน และลดการเหม็นหืนในผลิตภัณฑ์ สะดวกต่อการบริโภค และเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภค โดยได้นำข้าวยำ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้มาประยุกต์เข้าด้วยกันเพื่อให้มีความเป็นเอกลักษณ์
อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่กล้วยหิน ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกกันมากใน จ.ยะลา และเป็นผลไม้ที่หาได้ง่าย มีทุกฤดูกาล ปลูกง่าย ราคาไม่แพง ส่วนใหญ่จำหน่ายให้ผู้บริโภคในลักษณะผลสด ซึ่งได้ค่าตอบแทนในราคาต่ำ และบางช่วงที่มีผลผลิตจำนวนมากยิ่งทำให้รายได้จากการจำหน่ายน้อยลง อีกทั้งยังมีผลกล้วยที่เหลือจากการจำหน่ายเน่าเสียจำนวนมาก จึงนำมาสู่แนวคิดในการทำวิจัยกล้วยหินกรอบทรงเครื่องรสข้าวยำดังกล่าว