ศูนย์ข่าวภูเก็ต - มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ร่วมภาคีเครือข่ายจัดแข่งขันแกะสลักผลไม้ จัดดอกไม้ แข่งขันทำอาหารไทย ขนมไทย ในงาน PKRU Festival of Thai Cuisine ประจำปี 2558 เพื่ออนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมอันดีของประเทศไทย มีคณาจารย์ และนักศึกษาระดับอุดมศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วม
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่โฮมเวิร์คภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ดร.พัลลภ สิงหเสนี รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงาน “PKRU Festival of Thai Cuisine” ประจำปี 2558 ระหว่างวันที่ 22-24 เม.ย.2558 มี ผศ.ดร.ดรุณี บุญอุดมศาสตร์ รองอธิบการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต พร้อมคณาจารย์ และนักศึกษาสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต แขกผู้มีเกียรติ และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วม
ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าวสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จัดขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมอันดีของประเทศไทย เพื่อให้คณาจารย์ และนักศึกษาได้พบปะสังสรรค์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะทางคหกรรมศาสตร์ เพื่อให้นักศึกษาได้มีการฝึกฝนทักษะ เพิ่มความชำนาญยิ่งขึ้นในการแข่งขันทักษะทางคหกรรมศาสตร์ และเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณาจารย์ และนักศึกษาสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ต่างสถาบันในระดับอุดมศึกษา
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมเป็นนักศึกษา และคณาจารย์สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ทั่วประเทศ และผู้สนใจทั่วไป จำนวน 100 คน กิจกรรมกายในงานมีการแข่งขันแกะสลักผลไม้ แข่งขันการจัดดอกไม้ แข่งขันทำอาหารไทย แข่งขันทำขนมไทย และมีการสาธิตการทำอาหารไทยแบบโบราณ อาหารไทยประยุกต์ อาหารภูเก็ต อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารอาเซียน 10 ประเทศ และนอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงการใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมในหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผศ.ดร.ดรุณี กล่าวถึงการจัดงานดังกล่าวว่า ด้วยทางสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างภาคีเครือข่ายร่วมกันในหมู่สายวิชาชีพเดียวกันในหมู่คณาจารย์ และนักศึกษาวิชาคหกรรมศาสตร์ ระดับอุดมศึกษา และเป็นการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยที่สวยงาน จึงได้มีการจัดโครงการ Home Economics Meeting 1st ขึ้นภายใต้ชื่องาน PKRU Festival of Thai Cuisine ประจำปี 2558 ซึ่งโครงการนี้เน้นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะความรู้ ความสามารถของนักศึกษาโดยจัดให้มีการแข่งขันทักษะทางคหกรรมศาสตร์ในหมู่นักศึกาษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งสอดคล้องต่อองค์ประกอบตัวบ่งชี้การประกันคุณภาพการศึกษาในด้านการทำนุบำรุงศิลปะ และวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจัดงานครั้งนี้คณาจารย์ และนักศึกษาจะได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะทางคหกรรมศาสตร์ ฝึกฝนทักษะ เพิ่มความชำนาญในการแข่งขันทักษะทางคหกรรมศาสตร์ อีกทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณาจารย์ และนักศึกษาสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ต่างสถาบันระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ