คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ
1.“บิ๊กตู่” รับข้อเสนอกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตั้ง คกก.ไตรภาคีหาข้อยุติด่วน ด้านรองโฆษกรัฐบาลยัน 5 ส.ค.ยังไม่ประมูลสร้างโรงไฟฟ้าฯ!
ความคืบหน้ากรณีกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินที่เดินทางจาก จ.กระบี่ ขึ้นมาปักหลักคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ที่กรุงเทพฯ โดยมีการอดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตอนแรกปักหลักชุมนุมที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ก่อนเคลื่อนไปปักหลักที่ข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 21 ก.ค.
ทั้งนี้ เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกฯ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้ยกเลิกการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และ EHIA ทั้ง 2 ฉบับ ของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว 2.ขอให้หยุดการเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 ส.ค.นี้ออกไปโดยไม่มีกำหนด และ 3.ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาข้อเสนอของทางเครือข่ายฯ ที่ขอเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองก่อน 3 ปี โดยใช้พลังงานหมุนเวียนจากน้ำมันปาล์ม เป็นที่น่าสังเกตว่า หนังสือข้อเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามันฯ ที่ยื่นต่อนายกฯ มีรายชื่อบุคคลที่สนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวด้วยจำนวน 27,346 รายชื่อ และอีก 17 องค์กร ได้แก่ ศ.ระพี สาคริก ราษฎรอาวุโส , ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต จากมหาวิทยาลัยรังสิต , นายเดช พุ่มคชา นักทำงานสังคมอาวุโส ฯลฯ
ด้านนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันในวันต่อมา(22 ก.ค.)ว่า กระทรวงฯ ยังเดินหน้าตามแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ 800 เมกะวัตต์ เนื่องจากหากไม่มีพลังงานหลักอย่างถ่านหิน นอกเหนือจากก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในปัจจุบัน จะทำให้พื้นที่ภาคใต้เสี่ยงต่อปัญหาไฟฟ้าไม่พอใช้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันภาคกลางต้องส่งกระแสไฟฟ้าไปช่วยพื้นที่ภาคใต้ 600 เมกะวัตต์ นายณรงค์ชัย ยังยืนยันด้วยว่า ถ่านหินถือเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูก รองจากนิวเคลียร์ และปัจจุบันมีเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดแล้ว
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวว่า “ผมเป็นห่วงเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะภาคใต้ ถ้าไม่ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ขณะที่ปริมาณไฟฟ้ามีความต้องการ 3,000 กว่าเมกะวัตต์ แต่มีแค่ 800 กว่าเมกะวัตต์ และขณะนี้ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ปิดซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซ และปีหน้าก็จะลดปริมาณการส่งก๊าซลง เพราะเป็นโควตาของประเทศเขา หากเราไม่มีแหล่งพลังงาน จะทำอย่างไร ถ้าจะดึงจากภาคกลางไปมากๆ ก็จะทำให้ภาคกลางมีปัญหาอีก ก็ต้องหันไปดูเรื่องพลังงานทดแทนที่ทุกคนอยากทำ แต่ต้องคิดด้วยว่า ทำแล้วจะสามารถเติมพลังงานแทน 800 จาก 3,000 ได้หรือไม่”
ด้านนายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า กรมพลังงานทดแทน กระทรวงพลังงานได้ศึกษาพบว่า จ.กระบี่สามารถผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียนได้มากถึง 1,000 เมกะวัตต์ ตอนนี้ จ.กระบี่ สามารถนำน้ำเสียจากโรงงานปาล์ม มาพัฒนาเป็นพลังงานได้แล้ว โดยมีโรงงานไฟฟ้าจากน้ำเสีย ที่ผลิตไฟฟ้าได้แล้วถึง 11 โรง ถ้าหากรัฐบาลขยายสายส่ง แต่ละโรงงานจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ และถ้าหากเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไป ก็จะสามารถผลิตได้ 40 เมกะวัตต์ต่อ 1 โรงงาน นั่นหมายความว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ ที่รัฐกำลังจะสร้างด้วยงบประมาณ 50,000 ล้านบาทก็ไม่มีความจำเป็นเลย เพราะหากพัฒนาโรงไฟฟ้าจากปาล์มเพิ่มขึ้นไป 4 เท่าตัว ก็สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณเท่ากันแล้ว “ทางเครือข่ายเรียกร้องเรื่องนี้มา 3 ปีแล้ว แต่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและรัฐบาลก็ไม่เคยรับฟัง จนตอนนี้พวกผมต้องเอาชีวิตเข้าแลก ด้วยการอดอาหารมาแล้วกว่า 12 วัน(ณ วันที่ 21 ก.ค.) ซึ่งก็อยากถามรัฐบาลว่า จะเลือกให้พ่อค้าถ่านหินได้ประโยชน์ และปล่อยให้พวกผมตาย หรือจะเลือกอยู่เคียงข้างประชาชนชาวอันดามัน”
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ได้มีทหารในพื้นที่ จ.พัทลุง เดินทางไปที่บ้านพักของนายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ที่ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ซึ่งญาตินายประสิทธิชัย เผยว่า ทหารได้มาพูดกดดันมารดานายประสิทธิชัยให้บอกนายประสิทธิชัยเลิกเคลื่อนไหวประท้วงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งภายหลัง มารดาของนายประสิทธิชัย ต้องย้ายไปอยู่กับญาติ ไม่กล้าอยู่บ้านหลังดังกล่าว เพราะเกรงไม่ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมาปฏิเสธว่า ทหารไม่ได้ไปข่มขู่ครอบครัวแกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยบอก ปกติจะมีการจัดเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมเยียนประชาชนทุกหมู่บ้าน เพื่อทำความเข้าใจ หากมีปัญหาอะไร ก็จะรับปัญหาและนำมาช่วยแก้ไข
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับข้อเสนอของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ด้วยการตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณาข้อเสนอของทางเครือข่ายฯ โดยมีตัวแทนของกระทรวงพลังงานหรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และชาว จ.กระบี่ โดยทางเครือข่ายฯ ได้ร่วมประชุมกับตัวแทนรัฐบาลเมื่อวันที่ 24 ก.ค.
ทั้งนี้ ระหว่างประชุม นายอนุชาติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ในระหว่างที่ตั้งคณะกรรมการไตรภาคีและระหว่างพูดคุยหารือกันจนกว่าจะมีข้อยุติ กฟผ.จะไม่ลงนามสัญญาต่างๆ ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย จนกว่าอีไอเอจะผ่านความเห็นชอบ
ขณะที่ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกรรมาธิการพลังงาน สนช. กล่าวว่า เมื่อตั้งคณะกรรมการไตรภาคีแล้ว ผลออกมาอย่างไรก็ต้องทำตามนั้น หากกรรมการไตรภาคีไม่เอาด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า ก็ต้องล้มโครงการทั้งหมดที่ได้ทำมา ซึ่งนายกฯ ยึดผลหลังการพูดคุยของไตรภาคีเป็นใหญ่ในการมีผลบังคับใช้
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงสรุปผลการหารือว่า ระหว่างที่ข้อกังวลของประชาชนกำลังถูกหารือในคณะกรรมการไตรภาคี กระบวนการทั้งหลายของหน่วยงานปฏิบัติ จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และว่า หลังจากนี้จะจัดการประชุมไตรภาคีโดยเร็วที่สุด ส่วนข้อกังวลของทางเครือข่ายฯ ที่ว่า วันที่ 5 ส.ค.นี้ จะมีการประมูลสร้างโรงไฟฟ้าฯ ต่อหรือไม่ ตนได้สอบถาม กฟผ.แล้ว พบว่าเป็นการดูรายละเอียดเงื่อนไข และไม่มีการลงนามใดๆ ไม่มีผลผูกพันกับการปฏิบัติใดๆ อย่างไรก็ตาม พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ประเทศต้องมีความมั่นคงทางพลังงาน จะพลังงานทดแทนหรือพลังงานถ่านหินก็ตาม ก็ให้พูดคุยกันในไตรภาคีต่อไป ทั้งหมดจะอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
2.ผู้ตรวจการฯ ชี้ “ธัมมชโย” ปาราชิก ชงนายกฯ ใช้ ม.44 ตั้ง คกก.พิจารณา-จี้รื้อคดี “พชร” ถอนฟ้อง ด้านสาวกธรรมกายไม่พอใจ บุกขู่ผู้ตรวจการฯ !
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แถลงผลการตรวจสอบกรณีที่พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม และนางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(มปปท.) ร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณีนายพชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูงสุด(อสส.) ขณะดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งถอนฟ้องคดีที่พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกฟ้องต่อศาลอาญา ในความผิดเกี่ยวกับการลงชื่อตนเองเป็นเจ้าของในการซื้อขายที่ดินเมื่อปี 2549 (คดียักยอกเงินและที่ดินที่ญาติโยมบริจาคให้วัดพระธรรมกายกว่า 959 ล้านบาท) และกรณีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม(มส.) ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่บรรจุวาระการประชุมเกี่ยวกับการปาราชิกของพระธัมมชโย ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่พระธัมมชโยลงชื่อซื้อขายที่ดินในนามตนเองเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่กำหนดว่า หากเป็นทรัพย์สินของวัด จะต้องลงทะเบียนของวัดไว้เป็นหลักฐานว่าเป็นทรัพย์สินของวัด แม้ต่อมาพระธัมมชโยจะคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้วัด แต่เวลาก็ล่วงเลยมาถึง 7 ปี
“ถือว่าการกระทำของพระธัมมชโยครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฐานทุจริต ผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 157 แม้ภายหลังจะคืนทรัพย์สินให้วัด ก็เป็นเพียงการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดเท่านั้น ไม่อาจถือว่าทำให้การกระทำที่เป็นความผิดอาญา ซึ่งสำเร็จไปแล้ว กลายเป็นไม่มีความผิด ดังนั้น ในประเด็นนี้ ผู้ตรวจการฯ จึงจะมีหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อให้พิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานพิจารณาว่า การที่นายพชรมีคำสั่งให้ถอนฟ้อง(พระธัมมชโย) เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”
ในส่วนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และผู้อำนวยการ พศ.นั้น นายรักษเกชา กล่าวว่า “ในมุมของผู้ตรวจการแผ่นดิน จากการสืบพยานหลักฐาน รวมถึงพยานหลักฐานในชั้นศาลเห็นตรงกันว่า การที่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายลงชื่อตนเองในการซื้อขายที่ดิน เพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของตนเอง ซึ่งที่ดูจากพระลิขิตพระสังฆราชฉบับวันที่ 26 เม.ย. 42 หากแปลเป็นภาษาชาวบ้านก็เหมือนว่า ถ้าพระธัมมชโยคืนทรัพย์นั้นเป็นของวัดเสียแต่ตอนนั้นก็จะไม่มีการเอาผิด แต่กลับไม่มีการคืน สมเด็จพระสังฆราชก็มีพระลิขิตฉบับต่อๆ มาอีก พระราชรัตนมงคล ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ก็ได้แจ้งพระลิขิตนี้ไปยังมหาเถรสมาคม โดยระบุว่าเป็นพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราช มหาเถรสมาคมย่อมต้องสนองพระลิขิต แต่จากข้อเท็จจริงผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ซึ่งทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ยังไม่ได้สนองงานตามพระบัญชาและพระกรณียกิจของสมเด็จพระสังฆราช หรือดำเนินการประสานงานกับคณะสงฆ์ในการลงนิคหกรรม ตรวจตราถวายคำแนะนำแก่พระเถรชั้นผู้ใหญ่ ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการในมหาเถรสมาคมให้สนองต่อพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราช ซ้ำท้ายที่สุดมติมหาเถรสมาคมที่ออกมากลายเป็นว่า พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระดำริ ทั้งที่ถ้ายึดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พระลิขิตที่เป็นพระวินิจฉัยมีผลผูกพันตามกฎหมาย พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจดำเนินการด้วยตัวเอง จึงต้องเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อไป”
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต เช่น พระเถระชั้นผู้ใหญ่ มหาเถรสมาคม ผู้แทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ผู้แทนจาก สนช. และ สปช. ผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น เพื่อศึกษาประเด็นทางพระธรรมวินัยที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังผู้ตรวจการแผ่นดินจะทำหนังสือเสนอนายกฯ ให้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการกรณีพระธัมมชโยอาบัติปาราชิก ปรากฏว่า กลุ่มลูกศิษย์และพระสงฆ์วัดพระธรรมกายนับพันคน ได้เดินทางจากวัดพระธรรมกายไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ อ้างว่าเพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้พระธัมมชโย โดยได้มีการใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมา นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ลงมารับหนังสือจากกลุ่มธรรมกาย โดยเนื้อหาหนังสือดังกล่าวระบุว่า มหาเถรสมาคมได้พิจารณากรณีพระธัมมชโยเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี 2542 การรื้อฟื้นเรื่องที่เสร็จสิ้นไปแล้ว ถือว่าขัดหลักนิติธรรม และฝ่าฝืนพระธรรมวินัย พร้อมชี้ว่า การที่อัยการสูงสุดถอนฟ้องพระธัมมชโย เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายและศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่มีอำนาจหน้าที่และไม่มีเหตุผลที่จะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบการปกครอง และไม่ยุติธรรมต่อพระธัมมชโย รวมทั้งจะสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชน ซึ่งจะขัดต่อนโยบายปรองดองของ คสช.ด้วย จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยุติการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ กลุ่มธรรมกายได้ขีดเส้น 15 วัน จะกลับมาฟังคำตอบจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ก่อนสลายตัวและเดินทางกลับ
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการดำเนินการกรณีพระธัมมชโยว่า “มันมีวิธีการตั้งเยอะแยะ กฎหมายปกติก็มีอยู่ ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการสอบสวน ถ้าถูกก็ว่าไปตามถูก แต่ถ้าผิดก็ต้องว่าไปตามผิด จะใช้มาตรา 44 ไปจับพระอย่างนั้นหรือ ให้รู้เรื่องกันบ้าง” ผู้สื่อข่าวถามว่า เขาต้องการให้ตรวจสอบเรื่องพระธรรมวินัย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ตรวจสอบอยู่แล้ว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ก็ตรวจสอบอยู่ เดี๋ยวคณะกรรมการชุดเดิมก็สอบมีผลออกมา ให้เวลาฝ่ายกฎหมายทำงานบ้าง
ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็มองเรื่องนี้ว่า ยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เมื่อทำผิดกฎหมายปกติ ก็ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมปกติดำเนินการ และว่า นายกฯ ยังไม่ได้สั่งการมา ถ้าสั่งมาเมื่อไหร่ ก็จะไปดูคดีเก่าตั้งแต่ปี 2542 พล.อ.ไพบูลย์ ยังถามลูกศิษย์พระธัมมชโยด้วยว่า เหตุใดต้องกลัวการตรวจสอบ ถ้าทำถูกต้องแล้ว จะกลัวอะไร ส่วนที่อ้างว่า ให้ผู้ตรวจการฯ ยุติการรื้อคดีพระธัมมชโย เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขนั้น พล.อ.ไพบูลย์ บอกว่า ก็เท่ากับเลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน ยืนยันว่ากฎหมายคือกฎหมาย ไม่ว่าพระหรือฆราวาส ถ้าทำผิด ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย “การที่ลูกศิษย์พระธัมมชโยใช้กฎหมู่มาประท้วงไม่ให้รื้อฟื้นคดี ขอถามสังคมว่า ตกลงพระสงฆ์อยู่เหนือกฎหมายใช่หรือไม่ พระสงฆ์จะอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ถ้ามันมีช่องทางก็ต้องเปิดให้มีการสอบสวนกันใหม่ ถ้ามันทำไม่ได้ ก็ต้องยุติกระบวนการยุติธรรม เรื่องนี้ถ้าพระธัมมชโยทำถูกต้อง จะตรวจสอบกี่ครั้งก็ต้องถูก ผมอยากให้กลุ่มลูกศิษย์แยกแยะความรู้สึกออกจากเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้วย”
ด้านหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. โดยขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ และสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ช่วยเร่งรัดคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้มูลความผิดพระธัมมชโยว่าอาบัติปาราชิก ในข้อหายักยอกทรัพย์ของวัด และอวดอุตริมนุษธรรม รวมทั้งการที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระลิขิตวินิจฉัยว่าพระธัมมชโยขาดจากความเป็นพระ จึงขอให้นายกฯ เร่งรัดคดีตามกฎหมายปกติ ไม่ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพราะเรื่องนี้ยืดเยื้อมานาน 17 ปี สิ้นสมเด็จพระสังฆราชฯ ไป 2 องค์ ผ่านมาแล้ว 6 รัฐบาล แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการได้ เมื่อ คสช.เข้ามาบริหารประเทศก็ได้ให้สัญญาว่าจะบังคับใช้กฎหมายด้วยความเท่าเทียมทั่วถึงและเที่ยงธรรม ใครผิดก็ว่าไปตามผิด “ฉันเห็นข่าวว่าจะมีการถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชฯ (15-17 ธ.ค.2558) จึงมาขอความกรุณาท่านนายกฯ ให้ช่วยเร่งคดีนี้ให้จบก่อนที่จะมีการถวายพระเพลิง อย่าให้สมเด็จพระสังฆราชจากไปอย่างมีมลทินเลย”
3.ศาลฎีกา พิพากษายืนจำคุก “พร้อมพงศ์-เกียรติอุดม” 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีหมิ่น “วสันต์” อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ!
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ศาลฎีกา ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นฟ้องนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และนายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กรณีกล่าวหาว่านายวสันต์ มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่น่าเชื่อถือ ขัดต่อจริยธรรมของตุลาการ ขาดความยุติธรรม และขาดความเป็นกลาง กรณีให้ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์เข้าพบเป็นการส่วนตัว ในระหว่างที่มีการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนายพร้อมพงศ์ และนายเกียรติอุดม คนละ 1 ปี ปรับ 50,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้โทษจำคุกไม่รอลงอาญา ขณะที่ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า นายพร้อมพงศ์ และนายเกียรติอุดม ร่วมแถลงข่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่อสื่อมวลชน และมีเอกสารแจกสื่อมวลชนด้วย โดยใช้ผู้สื่อข่าวเป็นเครื่องมือในการหมิ่นประมาทโจทก์ ที่จำเลยอ้างว่าการแถลงข่าวเป็นการแสดงความคิดนั้น ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืนจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา
หลังฟังคำพิพากษา นายพิชิต ชื่นบาน อดีตที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และญาติของนายเกียรติอุดม ได้กอดให้กำลังใจนายพร้อมพงศ์ และนายเกียรติอุดม โดยนายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ไม่เป็นไร ตัวเองยังไหว จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้นำตัวนายพร้อมพงศ์ และนายเกียรติอุดม ไปคุมขังที่เรือนจำต่อไป
4.อัยการสูงสุด สั่งฟ้อง “พล.ท.มนัส” กับพวก 104 คน 16 ข้อหา คดีค้ามนุษย์โรฮีนจา พร้อมค้านประกันตัว ด้านสหรัฐฯ พอใจไทยปราบจริง!
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนายอรุณ กมลกิจไพศาล อัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอัยการสูงสุด 2 และนางทรงรัตน์ เย็นอุระ อธิบดีสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงข่าวการสั่งคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา
นายวันชัย กล่าวว่า พนักงานอัยการสำนักงานอัยการจังหวัดนาทวี จังหวัดสงขลา ได้ยื่นฟ้อง พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก กับพวกรวม 72 คน เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดนาทวี ในความผิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และความผิดอื่น รวม 16 ข้อหา หลังจากเมื่อวันที่ 23 ก.ค. นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 104 คน ในข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ , ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 , ร่วมกันหรือนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหาย ตามประมลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งสิ้น 16 ข้อหา ตามสำนวนที่พนักงานสอบสวน สภ.ปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ได้รวบรวมพยานหลักฐานพร้อมความเห็นกล่าวหานายบรรจง หรือ จง ปองพล กับพวก รวม 120 คน ประกอบด้วย บุคคลสัญชาติไทย 107 คน ซึ่งเป็นพลเรือน 92 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 คน ทหาร 1 คน ข้าราชการพลเรือน 1 คน กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน 2 คน ผู้บริหารท้องถิ่น 3 คน และสมาชิกท้องถิ่น 4 คน , บุคคลสัญชาติพม่า 9 คน และบุคคลสัญชาติบังกลาเทศ 4 คน สรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุด
นายวันชัย กล่าวอีกว่า คำสั่งคดีผู้ต้องหา 120 คนนั้น อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องผู้ต้องหาและนำตัวไปฟ้องต่อศาลชุดแรกเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 72 คน พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีร้ายแรงและมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต โดยผู้ต้องหาทั้งหมดอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว และยังสั่งยุติการดำเนินคดีผู้ต้องหา 1 คนที่ถึงแก่ความตายแล้ว ส่วนผู้ต้องหาอีก 47 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้แยกดำเนินการ 2 ส่วน กลุ่มแรก ผู้ต้องหา 32 คน อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องและให้แจ้งนายอำเภอนาทวี ติดตามตัวผู้ต้องหากลุ่มนี้มาดำเนินคดีภายในอายุความ 20 ปี หากมีผู้ต้องหาที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป
ส่วนผู้ต้องหากลุ่มที่ 2 จำนวน 15 คน ที่ยังจับกุมตัวไม่ได้ ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนต่อไป เพื่อให้ได้ความชัดเจนว่า มีส่วนร่วมในการกระทำผิดกับผู้ต้องหาอื่นอย่างไร โดยพฤติการณ์คดีนี้น่าเชื่อว่ายังมีผู้ร่วมกระทำผิดอีกเป็นจำนวนมาก และเพื่อให้การสอบสวนขยายผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้มีพนักงานอัยการสำนักงานอัยการจังหวัดนาทวีและพนักงานอัยการสำนักงานอัยการภาค 9 ร่วมกันทำคดีต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และว่า คดีนี้อัยการสูงสุดให้ความสำคัญ เพราะเป็นคดีที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและข้อเท็จจริงเกี่ยวพันหลายพื้นที่ อีกทั้งผู้ต้องหาหลายคนเป็นข้าราชการระดับสูงและมีอิทธิพลจึงต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ
ด้าน น.ส.เมลิซา เอ.สวีนนีย์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความยินดีที่อัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา พร้อมเรียกร้องให้ไทยมีมาตรการที่เข้มงวดต่อไปในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงพยายามลงโทษผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมและดำเนินคดี และว่า การดำเนินการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 1 เม.ย.2558 เป็นต้นมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะนำไปประกอบการประเมินรายงานการค้ามนุษย์ในปีหน้าด้วย
5.ศาลฎีกา ยกฟ้อง “สนธิ” คดี “ทักษิณ” ฟ้องหมิ่น ชี้ คำให้สัมภาษณ์เรื่องแก้ รธน.-ทักษิณอาจเป็นประธานาธิบดี ไม่หมิ่น!
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ศาลจังหวัดปทุมธานี นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสุริยะใส กตะศิลา บริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 ถึง 8 ตามลำดับ ในข้อหาหมิ่นประมาท 3 กระทง กระทงที่ 1 กรณีออกแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง คัดค้านและประณามการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างความผิดของตนเองและพวกพ้อง เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2551 กระทงที่ 2 กรณีออกแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง พร้อมต่อต้านอาชญากรประชาธิปไตยเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฟอกความผิดให้ตนเอง เพื่อลบล้างความผิดให้ตนเองและพวกพ้อง เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2551 และกระทงที่ 3 กรณีจำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังจากจำเลยที่ 6 อ่านแถลงการณ์ฯ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2551 ว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ดูให้ลึกๆ แล้ว ถ้าสามารถทำได้ นั่นคือพื้นฐานเงื่อนไขข้อแรกของการนำไปสู่ระบอบประธานาธิบดี” และ “อีกหน่อยวันดีคืนดีใครก็ตาม เอาเงินมาซื้อเสียง เข้ามามีเสียงข้างมากในสภา อยากจะขอแก้รัฐธรรมนูญหมวดกษัตริย์บ้างล่ะ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ... อันที่ 2 วันดีคืนดี พอแก้รัฐธรรมนูญนี้เสร็จเรียบร้อย อาจจะแก้ต่อว่า จากนี้ไปให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบประธานาธิบดี ให้เลือกประธานาธิบดีคนเดียวพอ แล้วประธานาธิบดีเข้ามา เอาเสียงข้างมาก รากหญ้าที่ไหน ใครคุมอีสาน ใครคุมเหนือได้ ก็เอาอีสานเครือข่ายลงให้ อาจจะเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ ถ้าเกิดแกหลุดจากคดี เพราะว่า 309 ไม่มีแล้ว แกก็จะเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศไทย”
สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 เพียง 1 กระทง ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท และให้โฆษณาคำพิพากษาโดยย่อลงในหนังสือพิมพ์มติชนและผู้จัดการรายวันเป็นเวลา 5 วัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นฎีกา
ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงต่างๆ ตามคำกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อและความไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลในขณะนั้นมีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังเสียงบุคคลอื่นและประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งอันใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ไม่เกินเลยไปจากความจริง ไม่ปรากฏความไม่สุจริต จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น พิพากษาเป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
1.“บิ๊กตู่” รับข้อเสนอกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตั้ง คกก.ไตรภาคีหาข้อยุติด่วน ด้านรองโฆษกรัฐบาลยัน 5 ส.ค.ยังไม่ประมูลสร้างโรงไฟฟ้าฯ!
ความคืบหน้ากรณีกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินที่เดินทางจาก จ.กระบี่ ขึ้นมาปักหลักคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ที่กรุงเทพฯ โดยมีการอดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตอนแรกปักหลักชุมนุมที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ก่อนเคลื่อนไปปักหลักที่ข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 21 ก.ค.
ทั้งนี้ เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกฯ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้ยกเลิกการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และ EHIA ทั้ง 2 ฉบับ ของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว 2.ขอให้หยุดการเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 ส.ค.นี้ออกไปโดยไม่มีกำหนด และ 3.ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาข้อเสนอของทางเครือข่ายฯ ที่ขอเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองก่อน 3 ปี โดยใช้พลังงานหมุนเวียนจากน้ำมันปาล์ม เป็นที่น่าสังเกตว่า หนังสือข้อเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามันฯ ที่ยื่นต่อนายกฯ มีรายชื่อบุคคลที่สนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวด้วยจำนวน 27,346 รายชื่อ และอีก 17 องค์กร ได้แก่ ศ.ระพี สาคริก ราษฎรอาวุโส , ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต จากมหาวิทยาลัยรังสิต , นายเดช พุ่มคชา นักทำงานสังคมอาวุโส ฯลฯ
ด้านนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันในวันต่อมา(22 ก.ค.)ว่า กระทรวงฯ ยังเดินหน้าตามแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ 800 เมกะวัตต์ เนื่องจากหากไม่มีพลังงานหลักอย่างถ่านหิน นอกเหนือจากก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในปัจจุบัน จะทำให้พื้นที่ภาคใต้เสี่ยงต่อปัญหาไฟฟ้าไม่พอใช้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันภาคกลางต้องส่งกระแสไฟฟ้าไปช่วยพื้นที่ภาคใต้ 600 เมกะวัตต์ นายณรงค์ชัย ยังยืนยันด้วยว่า ถ่านหินถือเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูก รองจากนิวเคลียร์ และปัจจุบันมีเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดแล้ว
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวว่า “ผมเป็นห่วงเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะภาคใต้ ถ้าไม่ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ขณะที่ปริมาณไฟฟ้ามีความต้องการ 3,000 กว่าเมกะวัตต์ แต่มีแค่ 800 กว่าเมกะวัตต์ และขณะนี้ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ปิดซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซ และปีหน้าก็จะลดปริมาณการส่งก๊าซลง เพราะเป็นโควตาของประเทศเขา หากเราไม่มีแหล่งพลังงาน จะทำอย่างไร ถ้าจะดึงจากภาคกลางไปมากๆ ก็จะทำให้ภาคกลางมีปัญหาอีก ก็ต้องหันไปดูเรื่องพลังงานทดแทนที่ทุกคนอยากทำ แต่ต้องคิดด้วยว่า ทำแล้วจะสามารถเติมพลังงานแทน 800 จาก 3,000 ได้หรือไม่”
ด้านนายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า กรมพลังงานทดแทน กระทรวงพลังงานได้ศึกษาพบว่า จ.กระบี่สามารถผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียนได้มากถึง 1,000 เมกะวัตต์ ตอนนี้ จ.กระบี่ สามารถนำน้ำเสียจากโรงงานปาล์ม มาพัฒนาเป็นพลังงานได้แล้ว โดยมีโรงงานไฟฟ้าจากน้ำเสีย ที่ผลิตไฟฟ้าได้แล้วถึง 11 โรง ถ้าหากรัฐบาลขยายสายส่ง แต่ละโรงงานจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ และถ้าหากเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไป ก็จะสามารถผลิตได้ 40 เมกะวัตต์ต่อ 1 โรงงาน นั่นหมายความว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ ที่รัฐกำลังจะสร้างด้วยงบประมาณ 50,000 ล้านบาทก็ไม่มีความจำเป็นเลย เพราะหากพัฒนาโรงไฟฟ้าจากปาล์มเพิ่มขึ้นไป 4 เท่าตัว ก็สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณเท่ากันแล้ว “ทางเครือข่ายเรียกร้องเรื่องนี้มา 3 ปีแล้ว แต่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและรัฐบาลก็ไม่เคยรับฟัง จนตอนนี้พวกผมต้องเอาชีวิตเข้าแลก ด้วยการอดอาหารมาแล้วกว่า 12 วัน(ณ วันที่ 21 ก.ค.) ซึ่งก็อยากถามรัฐบาลว่า จะเลือกให้พ่อค้าถ่านหินได้ประโยชน์ และปล่อยให้พวกผมตาย หรือจะเลือกอยู่เคียงข้างประชาชนชาวอันดามัน”
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ได้มีทหารในพื้นที่ จ.พัทลุง เดินทางไปที่บ้านพักของนายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ที่ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ซึ่งญาตินายประสิทธิชัย เผยว่า ทหารได้มาพูดกดดันมารดานายประสิทธิชัยให้บอกนายประสิทธิชัยเลิกเคลื่อนไหวประท้วงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งภายหลัง มารดาของนายประสิทธิชัย ต้องย้ายไปอยู่กับญาติ ไม่กล้าอยู่บ้านหลังดังกล่าว เพราะเกรงไม่ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมาปฏิเสธว่า ทหารไม่ได้ไปข่มขู่ครอบครัวแกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยบอก ปกติจะมีการจัดเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมเยียนประชาชนทุกหมู่บ้าน เพื่อทำความเข้าใจ หากมีปัญหาอะไร ก็จะรับปัญหาและนำมาช่วยแก้ไข
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับข้อเสนอของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ด้วยการตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณาข้อเสนอของทางเครือข่ายฯ โดยมีตัวแทนของกระทรวงพลังงานหรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และชาว จ.กระบี่ โดยทางเครือข่ายฯ ได้ร่วมประชุมกับตัวแทนรัฐบาลเมื่อวันที่ 24 ก.ค.
ทั้งนี้ ระหว่างประชุม นายอนุชาติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ในระหว่างที่ตั้งคณะกรรมการไตรภาคีและระหว่างพูดคุยหารือกันจนกว่าจะมีข้อยุติ กฟผ.จะไม่ลงนามสัญญาต่างๆ ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย จนกว่าอีไอเอจะผ่านความเห็นชอบ
ขณะที่ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกรรมาธิการพลังงาน สนช. กล่าวว่า เมื่อตั้งคณะกรรมการไตรภาคีแล้ว ผลออกมาอย่างไรก็ต้องทำตามนั้น หากกรรมการไตรภาคีไม่เอาด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า ก็ต้องล้มโครงการทั้งหมดที่ได้ทำมา ซึ่งนายกฯ ยึดผลหลังการพูดคุยของไตรภาคีเป็นใหญ่ในการมีผลบังคับใช้
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงสรุปผลการหารือว่า ระหว่างที่ข้อกังวลของประชาชนกำลังถูกหารือในคณะกรรมการไตรภาคี กระบวนการทั้งหลายของหน่วยงานปฏิบัติ จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และว่า หลังจากนี้จะจัดการประชุมไตรภาคีโดยเร็วที่สุด ส่วนข้อกังวลของทางเครือข่ายฯ ที่ว่า วันที่ 5 ส.ค.นี้ จะมีการประมูลสร้างโรงไฟฟ้าฯ ต่อหรือไม่ ตนได้สอบถาม กฟผ.แล้ว พบว่าเป็นการดูรายละเอียดเงื่อนไข และไม่มีการลงนามใดๆ ไม่มีผลผูกพันกับการปฏิบัติใดๆ อย่างไรก็ตาม พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ประเทศต้องมีความมั่นคงทางพลังงาน จะพลังงานทดแทนหรือพลังงานถ่านหินก็ตาม ก็ให้พูดคุยกันในไตรภาคีต่อไป ทั้งหมดจะอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
2.ผู้ตรวจการฯ ชี้ “ธัมมชโย” ปาราชิก ชงนายกฯ ใช้ ม.44 ตั้ง คกก.พิจารณา-จี้รื้อคดี “พชร” ถอนฟ้อง ด้านสาวกธรรมกายไม่พอใจ บุกขู่ผู้ตรวจการฯ !
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แถลงผลการตรวจสอบกรณีที่พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม และนางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(มปปท.) ร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณีนายพชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูงสุด(อสส.) ขณะดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งถอนฟ้องคดีที่พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกฟ้องต่อศาลอาญา ในความผิดเกี่ยวกับการลงชื่อตนเองเป็นเจ้าของในการซื้อขายที่ดินเมื่อปี 2549 (คดียักยอกเงินและที่ดินที่ญาติโยมบริจาคให้วัดพระธรรมกายกว่า 959 ล้านบาท) และกรณีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม(มส.) ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่บรรจุวาระการประชุมเกี่ยวกับการปาราชิกของพระธัมมชโย ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่พระธัมมชโยลงชื่อซื้อขายที่ดินในนามตนเองเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่กำหนดว่า หากเป็นทรัพย์สินของวัด จะต้องลงทะเบียนของวัดไว้เป็นหลักฐานว่าเป็นทรัพย์สินของวัด แม้ต่อมาพระธัมมชโยจะคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้วัด แต่เวลาก็ล่วงเลยมาถึง 7 ปี
“ถือว่าการกระทำของพระธัมมชโยครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฐานทุจริต ผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 157 แม้ภายหลังจะคืนทรัพย์สินให้วัด ก็เป็นเพียงการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดเท่านั้น ไม่อาจถือว่าทำให้การกระทำที่เป็นความผิดอาญา ซึ่งสำเร็จไปแล้ว กลายเป็นไม่มีความผิด ดังนั้น ในประเด็นนี้ ผู้ตรวจการฯ จึงจะมีหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อให้พิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานพิจารณาว่า การที่นายพชรมีคำสั่งให้ถอนฟ้อง(พระธัมมชโย) เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”
ในส่วนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และผู้อำนวยการ พศ.นั้น นายรักษเกชา กล่าวว่า “ในมุมของผู้ตรวจการแผ่นดิน จากการสืบพยานหลักฐาน รวมถึงพยานหลักฐานในชั้นศาลเห็นตรงกันว่า การที่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายลงชื่อตนเองในการซื้อขายที่ดิน เพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของตนเอง ซึ่งที่ดูจากพระลิขิตพระสังฆราชฉบับวันที่ 26 เม.ย. 42 หากแปลเป็นภาษาชาวบ้านก็เหมือนว่า ถ้าพระธัมมชโยคืนทรัพย์นั้นเป็นของวัดเสียแต่ตอนนั้นก็จะไม่มีการเอาผิด แต่กลับไม่มีการคืน สมเด็จพระสังฆราชก็มีพระลิขิตฉบับต่อๆ มาอีก พระราชรัตนมงคล ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ก็ได้แจ้งพระลิขิตนี้ไปยังมหาเถรสมาคม โดยระบุว่าเป็นพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราช มหาเถรสมาคมย่อมต้องสนองพระลิขิต แต่จากข้อเท็จจริงผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ซึ่งทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ยังไม่ได้สนองงานตามพระบัญชาและพระกรณียกิจของสมเด็จพระสังฆราช หรือดำเนินการประสานงานกับคณะสงฆ์ในการลงนิคหกรรม ตรวจตราถวายคำแนะนำแก่พระเถรชั้นผู้ใหญ่ ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการในมหาเถรสมาคมให้สนองต่อพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราช ซ้ำท้ายที่สุดมติมหาเถรสมาคมที่ออกมากลายเป็นว่า พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระดำริ ทั้งที่ถ้ายึดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พระลิขิตที่เป็นพระวินิจฉัยมีผลผูกพันตามกฎหมาย พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจดำเนินการด้วยตัวเอง จึงต้องเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อไป”
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต เช่น พระเถระชั้นผู้ใหญ่ มหาเถรสมาคม ผู้แทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ผู้แทนจาก สนช. และ สปช. ผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น เพื่อศึกษาประเด็นทางพระธรรมวินัยที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังผู้ตรวจการแผ่นดินจะทำหนังสือเสนอนายกฯ ให้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการกรณีพระธัมมชโยอาบัติปาราชิก ปรากฏว่า กลุ่มลูกศิษย์และพระสงฆ์วัดพระธรรมกายนับพันคน ได้เดินทางจากวัดพระธรรมกายไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ อ้างว่าเพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้พระธัมมชโย โดยได้มีการใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมา นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ลงมารับหนังสือจากกลุ่มธรรมกาย โดยเนื้อหาหนังสือดังกล่าวระบุว่า มหาเถรสมาคมได้พิจารณากรณีพระธัมมชโยเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี 2542 การรื้อฟื้นเรื่องที่เสร็จสิ้นไปแล้ว ถือว่าขัดหลักนิติธรรม และฝ่าฝืนพระธรรมวินัย พร้อมชี้ว่า การที่อัยการสูงสุดถอนฟ้องพระธัมมชโย เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายและศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่มีอำนาจหน้าที่และไม่มีเหตุผลที่จะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบการปกครอง และไม่ยุติธรรมต่อพระธัมมชโย รวมทั้งจะสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชน ซึ่งจะขัดต่อนโยบายปรองดองของ คสช.ด้วย จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยุติการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ กลุ่มธรรมกายได้ขีดเส้น 15 วัน จะกลับมาฟังคำตอบจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ก่อนสลายตัวและเดินทางกลับ
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการดำเนินการกรณีพระธัมมชโยว่า “มันมีวิธีการตั้งเยอะแยะ กฎหมายปกติก็มีอยู่ ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการสอบสวน ถ้าถูกก็ว่าไปตามถูก แต่ถ้าผิดก็ต้องว่าไปตามผิด จะใช้มาตรา 44 ไปจับพระอย่างนั้นหรือ ให้รู้เรื่องกันบ้าง” ผู้สื่อข่าวถามว่า เขาต้องการให้ตรวจสอบเรื่องพระธรรมวินัย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ตรวจสอบอยู่แล้ว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ก็ตรวจสอบอยู่ เดี๋ยวคณะกรรมการชุดเดิมก็สอบมีผลออกมา ให้เวลาฝ่ายกฎหมายทำงานบ้าง
ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็มองเรื่องนี้ว่า ยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เมื่อทำผิดกฎหมายปกติ ก็ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมปกติดำเนินการ และว่า นายกฯ ยังไม่ได้สั่งการมา ถ้าสั่งมาเมื่อไหร่ ก็จะไปดูคดีเก่าตั้งแต่ปี 2542 พล.อ.ไพบูลย์ ยังถามลูกศิษย์พระธัมมชโยด้วยว่า เหตุใดต้องกลัวการตรวจสอบ ถ้าทำถูกต้องแล้ว จะกลัวอะไร ส่วนที่อ้างว่า ให้ผู้ตรวจการฯ ยุติการรื้อคดีพระธัมมชโย เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขนั้น พล.อ.ไพบูลย์ บอกว่า ก็เท่ากับเลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน ยืนยันว่ากฎหมายคือกฎหมาย ไม่ว่าพระหรือฆราวาส ถ้าทำผิด ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย “การที่ลูกศิษย์พระธัมมชโยใช้กฎหมู่มาประท้วงไม่ให้รื้อฟื้นคดี ขอถามสังคมว่า ตกลงพระสงฆ์อยู่เหนือกฎหมายใช่หรือไม่ พระสงฆ์จะอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ถ้ามันมีช่องทางก็ต้องเปิดให้มีการสอบสวนกันใหม่ ถ้ามันทำไม่ได้ ก็ต้องยุติกระบวนการยุติธรรม เรื่องนี้ถ้าพระธัมมชโยทำถูกต้อง จะตรวจสอบกี่ครั้งก็ต้องถูก ผมอยากให้กลุ่มลูกศิษย์แยกแยะความรู้สึกออกจากเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้วย”
ด้านหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. โดยขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ และสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ช่วยเร่งรัดคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้มูลความผิดพระธัมมชโยว่าอาบัติปาราชิก ในข้อหายักยอกทรัพย์ของวัด และอวดอุตริมนุษธรรม รวมทั้งการที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระลิขิตวินิจฉัยว่าพระธัมมชโยขาดจากความเป็นพระ จึงขอให้นายกฯ เร่งรัดคดีตามกฎหมายปกติ ไม่ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพราะเรื่องนี้ยืดเยื้อมานาน 17 ปี สิ้นสมเด็จพระสังฆราชฯ ไป 2 องค์ ผ่านมาแล้ว 6 รัฐบาล แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการได้ เมื่อ คสช.เข้ามาบริหารประเทศก็ได้ให้สัญญาว่าจะบังคับใช้กฎหมายด้วยความเท่าเทียมทั่วถึงและเที่ยงธรรม ใครผิดก็ว่าไปตามผิด “ฉันเห็นข่าวว่าจะมีการถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชฯ (15-17 ธ.ค.2558) จึงมาขอความกรุณาท่านนายกฯ ให้ช่วยเร่งคดีนี้ให้จบก่อนที่จะมีการถวายพระเพลิง อย่าให้สมเด็จพระสังฆราชจากไปอย่างมีมลทินเลย”
3.ศาลฎีกา พิพากษายืนจำคุก “พร้อมพงศ์-เกียรติอุดม” 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีหมิ่น “วสันต์” อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ!
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ศาลฎีกา ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นฟ้องนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และนายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กรณีกล่าวหาว่านายวสันต์ มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่น่าเชื่อถือ ขัดต่อจริยธรรมของตุลาการ ขาดความยุติธรรม และขาดความเป็นกลาง กรณีให้ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์เข้าพบเป็นการส่วนตัว ในระหว่างที่มีการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนายพร้อมพงศ์ และนายเกียรติอุดม คนละ 1 ปี ปรับ 50,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้โทษจำคุกไม่รอลงอาญา ขณะที่ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า นายพร้อมพงศ์ และนายเกียรติอุดม ร่วมแถลงข่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่อสื่อมวลชน และมีเอกสารแจกสื่อมวลชนด้วย โดยใช้ผู้สื่อข่าวเป็นเครื่องมือในการหมิ่นประมาทโจทก์ ที่จำเลยอ้างว่าการแถลงข่าวเป็นการแสดงความคิดนั้น ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืนจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา
หลังฟังคำพิพากษา นายพิชิต ชื่นบาน อดีตที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และญาติของนายเกียรติอุดม ได้กอดให้กำลังใจนายพร้อมพงศ์ และนายเกียรติอุดม โดยนายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ไม่เป็นไร ตัวเองยังไหว จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้นำตัวนายพร้อมพงศ์ และนายเกียรติอุดม ไปคุมขังที่เรือนจำต่อไป
4.อัยการสูงสุด สั่งฟ้อง “พล.ท.มนัส” กับพวก 104 คน 16 ข้อหา คดีค้ามนุษย์โรฮีนจา พร้อมค้านประกันตัว ด้านสหรัฐฯ พอใจไทยปราบจริง!
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนายอรุณ กมลกิจไพศาล อัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอัยการสูงสุด 2 และนางทรงรัตน์ เย็นอุระ อธิบดีสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงข่าวการสั่งคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา
นายวันชัย กล่าวว่า พนักงานอัยการสำนักงานอัยการจังหวัดนาทวี จังหวัดสงขลา ได้ยื่นฟ้อง พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก กับพวกรวม 72 คน เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดนาทวี ในความผิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และความผิดอื่น รวม 16 ข้อหา หลังจากเมื่อวันที่ 23 ก.ค. นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 104 คน ในข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ , ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 , ร่วมกันหรือนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหาย ตามประมลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งสิ้น 16 ข้อหา ตามสำนวนที่พนักงานสอบสวน สภ.ปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ได้รวบรวมพยานหลักฐานพร้อมความเห็นกล่าวหานายบรรจง หรือ จง ปองพล กับพวก รวม 120 คน ประกอบด้วย บุคคลสัญชาติไทย 107 คน ซึ่งเป็นพลเรือน 92 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 คน ทหาร 1 คน ข้าราชการพลเรือน 1 คน กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน 2 คน ผู้บริหารท้องถิ่น 3 คน และสมาชิกท้องถิ่น 4 คน , บุคคลสัญชาติพม่า 9 คน และบุคคลสัญชาติบังกลาเทศ 4 คน สรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุด
นายวันชัย กล่าวอีกว่า คำสั่งคดีผู้ต้องหา 120 คนนั้น อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องผู้ต้องหาและนำตัวไปฟ้องต่อศาลชุดแรกเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 72 คน พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีร้ายแรงและมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต โดยผู้ต้องหาทั้งหมดอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว และยังสั่งยุติการดำเนินคดีผู้ต้องหา 1 คนที่ถึงแก่ความตายแล้ว ส่วนผู้ต้องหาอีก 47 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้แยกดำเนินการ 2 ส่วน กลุ่มแรก ผู้ต้องหา 32 คน อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องและให้แจ้งนายอำเภอนาทวี ติดตามตัวผู้ต้องหากลุ่มนี้มาดำเนินคดีภายในอายุความ 20 ปี หากมีผู้ต้องหาที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป
ส่วนผู้ต้องหากลุ่มที่ 2 จำนวน 15 คน ที่ยังจับกุมตัวไม่ได้ ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนต่อไป เพื่อให้ได้ความชัดเจนว่า มีส่วนร่วมในการกระทำผิดกับผู้ต้องหาอื่นอย่างไร โดยพฤติการณ์คดีนี้น่าเชื่อว่ายังมีผู้ร่วมกระทำผิดอีกเป็นจำนวนมาก และเพื่อให้การสอบสวนขยายผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้มีพนักงานอัยการสำนักงานอัยการจังหวัดนาทวีและพนักงานอัยการสำนักงานอัยการภาค 9 ร่วมกันทำคดีต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และว่า คดีนี้อัยการสูงสุดให้ความสำคัญ เพราะเป็นคดีที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและข้อเท็จจริงเกี่ยวพันหลายพื้นที่ อีกทั้งผู้ต้องหาหลายคนเป็นข้าราชการระดับสูงและมีอิทธิพลจึงต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ
ด้าน น.ส.เมลิซา เอ.สวีนนีย์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความยินดีที่อัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา พร้อมเรียกร้องให้ไทยมีมาตรการที่เข้มงวดต่อไปในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงพยายามลงโทษผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมและดำเนินคดี และว่า การดำเนินการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 1 เม.ย.2558 เป็นต้นมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะนำไปประกอบการประเมินรายงานการค้ามนุษย์ในปีหน้าด้วย
5.ศาลฎีกา ยกฟ้อง “สนธิ” คดี “ทักษิณ” ฟ้องหมิ่น ชี้ คำให้สัมภาษณ์เรื่องแก้ รธน.-ทักษิณอาจเป็นประธานาธิบดี ไม่หมิ่น!
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ศาลจังหวัดปทุมธานี นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสุริยะใส กตะศิลา บริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 ถึง 8 ตามลำดับ ในข้อหาหมิ่นประมาท 3 กระทง กระทงที่ 1 กรณีออกแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง คัดค้านและประณามการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างความผิดของตนเองและพวกพ้อง เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2551 กระทงที่ 2 กรณีออกแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง พร้อมต่อต้านอาชญากรประชาธิปไตยเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฟอกความผิดให้ตนเอง เพื่อลบล้างความผิดให้ตนเองและพวกพ้อง เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2551 และกระทงที่ 3 กรณีจำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังจากจำเลยที่ 6 อ่านแถลงการณ์ฯ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2551 ว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ดูให้ลึกๆ แล้ว ถ้าสามารถทำได้ นั่นคือพื้นฐานเงื่อนไขข้อแรกของการนำไปสู่ระบอบประธานาธิบดี” และ “อีกหน่อยวันดีคืนดีใครก็ตาม เอาเงินมาซื้อเสียง เข้ามามีเสียงข้างมากในสภา อยากจะขอแก้รัฐธรรมนูญหมวดกษัตริย์บ้างล่ะ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ... อันที่ 2 วันดีคืนดี พอแก้รัฐธรรมนูญนี้เสร็จเรียบร้อย อาจจะแก้ต่อว่า จากนี้ไปให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบประธานาธิบดี ให้เลือกประธานาธิบดีคนเดียวพอ แล้วประธานาธิบดีเข้ามา เอาเสียงข้างมาก รากหญ้าที่ไหน ใครคุมอีสาน ใครคุมเหนือได้ ก็เอาอีสานเครือข่ายลงให้ อาจจะเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ ถ้าเกิดแกหลุดจากคดี เพราะว่า 309 ไม่มีแล้ว แกก็จะเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศไทย”
สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 เพียง 1 กระทง ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท และให้โฆษณาคำพิพากษาโดยย่อลงในหนังสือพิมพ์มติชนและผู้จัดการรายวันเป็นเวลา 5 วัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นฎีกา
ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงต่างๆ ตามคำกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อและความไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลในขณะนั้นมีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังเสียงบุคคลอื่นและประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งอันใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ไม่เกินเลยไปจากความจริง ไม่ปรากฏความไม่สุจริต จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น พิพากษาเป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1