อ่านชื่อเรื่องนี้แล้วคงมึนไปตามๆกัน
“พระบาง” เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองหลวงพระบางของลาว ซึ่งชื่อเมืองก็ตั้งตามชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ ส่วน “พระแก้วมรกต” เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย แล้วพระพุทธรูปสำคัญสององค์นี้จะเป็นอริกันได้อย่างไร แต่ในอดีตเรื่องประหลาดเหลือเชื่อนี้ก็เชื่อกันเช่นนั้นจริงๆ และ มีบันทึกไว้ในพงศาวดารด้วย
เรื่องมีอยู่ว่า ใน พ.ศ.๒๓๒๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งยังดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต ที่พระเจ้าไชยเชษฐา เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้อัญเชิญไปหลวงพระบางตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๙๕ กลับมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรี พร้อมกับนำ พระบาง หรือ “พระพุทธลาวัณ” จากหลวงพระบางมาไว้ที่กรุงธนบุรีด้วย
ครั้นเมื่อทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงย้ายพระแก้วมรกตกับพระบางมาประดิษฐานที่เมืองหลวงใหม่ด้วย แต่พอ เจ้านันทเสน ราชบุตรพระเจ้าล้านช้างที่เข้ามาอยู่ในพระนคร ทราบเรื่องจึงกราบทูลว่า
“พระแก้วกับพระบางมีปีศาจที่รักษาองค์พระไม่ชอบกัน ถ้าอยู่ด้วยกันที่เมืองใดก็มีความไม่สบายที่เมืองนั้น เหตุการณ์เช่นนี้เห็นมา ๓ ครั้งแล้ว”
เจ้านันทเสนได้ลำดับเหตุการณ์ทั้ง ๓ นั้นกราบทูลว่า เดิมพระแก้วอยู่เมืองเชียงใหม่ พระบางอยู่เมืองหลวงพระบาง ครั้นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ อัญเชิญพระแก้วไปให้บรรดาญาติกราบไหว้ในงานพระศพเจ้าโพธิสาร พระบิดา ที่เมืองหลวงพระบางแล้วไม่กลับ ๓ ปีผ่านไปทางเมืองเชียงใหม่จึงตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ขึ้นแทน พระเจ้าไชยเชษฐาฯไม่พอใจ นำกำลังเมืองหลวงพระบางไปจะตีเอาเมืองเชียงใหม่คืน รบกันเป็นปีกองทัพหลวงพระบางก็เอาชนะเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ แต่กองทัพเชียงใหม่กลับรุกเข้ามาจนฝ่ายหลวงพระบางเกรงจะเสียเมือง จึงเข้าทรงถามผีที่รักษาเมือง ผีที่รักษาพระบางบอกว่า ตนเป็นเจ้าของเมืองไม่ชอบกับผีที่รักษาพระแก้ว ขอให้ไล่พระแก้วไปเสียจากเมือง จึงจะช่วยให้การศึกได้รับชัยชนะ พระเจ้าไชยเชษฐาไม่อยากคืนพระแก้วให้เมืองเชียงใหม่ แต่ก็กลัวผีที่รักษาพระบาง จึงให้นำพระแก้วไปฝากไว้ที่เมืองเวียงจันทน์ซึ่งเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน
ตั้งแต่อัญเชิญพระแก้วไปไว้เมืองเวียงจันทน์แล้ว กองทัพเมืองหลวงพระบางก็มีกำลังขึ้น ตีเอาดินแดนที่เสียไปคืนได้หมด ฝ่ายเชียงใหม่ถอยกลับไปแล้วไม่มารุกรานอีก บ้านเมืองก็อยู่กันสงบสุข
ครั้นอีก ๒๐๐ ปีต่อมา เจ้าเมืองเวียงจันทน์เกิดรบกับเจ้าเมืองหลวงพระบางและเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ จึงนำพระบางจากเมืองหลวงพระบางมาไว้ที่เมืองเวียงจันทน์ร่วมกับพระแก้วอีก ตั้งแต่นั้นมาเมืองเวียงจันทน์ก็ไม่มีความสุข พี่น้องรบรากันเองบ้าง รบกับญวนจนต้องเสียเมืองกับญวน
“ภายหลังจึงได้เสียเมืองต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อเสด็จขึ้นไปปราบเมื่อปีกุน”
เจ้านันทเสนกราบทูลต่อไปว่า “พระแก้วกับพระบางอยู่ด้วยกันที่กรุงธนบุรีได้ ๒ ปีก็เกิดวุ่นวายอย่างที่ทรงทราบแล้ว ขอพระราชทานโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แยกย้ายพระแก้วกับพระบางให้อยู่ต่างบ้านเมืองกัน จึงจะมีความเจริญแก่พระนครซึ่งตั้งใหม่ครั้งนี้”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสดับเรื่องราวของพระแก้วกับพระบางเช่นนี้ ก็มีพระราชหฤทัยรังเกียจตามเหตุการณ์ จึงพระราชทานพระบางให้เจ้านันทเสนซึ่งโปรดฯให้กลับไปครองเมืองเวียงจันทน์แทนบิดา นำกลับไปประดิษฐานไว้ที่เมืองเวียงจันทน์ตามเดิม
ครั้นต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นกบฏ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลยกทัพขึ้นไปตีเวียงจันทน์ได้อีกครั้ง ทรงนำพระพุทธรูปมีชื่อในเวียงจันทน์มาทอดพระเนตรทั้งหมด ทรงเลือกเอาพระบาง พระแทรกคำ พระฉันสมอ กับพระพุทธศิลาเขียวซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะแปลกและยังไม่มีชื่อ นำมาถวายรัชกาลที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ได้สดับเรื่องราวในรัชกาลที่ ๑ จึงได้อัญเชิญพระบาง พระแทรกคำ พระฉันสมอไว้ในหอนาควัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาเมื่อได้ทรงทราบเรื่องแต่หนหลัง จึงทรงพระราชดำริว่าจะขัดกับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงปฏิบัติมาก่อน จึงพระราชทานพระบางให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) อัญเชิญไปไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส พระราชทานพระฉันสมอให้เจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) อัญเชิญไปไว้ที่วัดอัปสรสวรรค์ และพระราชทานพระแทรกคำให้พระยาราชมนตรี (ภู่) อัญเชิญไปไว้วัดคฤหบดี ภายนอกพระนครทั้ง ๓ องค์
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๐๗ ได้เกิดฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพง บรรดาเสนาบดีจึงได้เข้าชื่อกันทำเรื่องกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งได้อัญเชิญพระพุทธรูปลาวอีก ๓ องค์ คือ พระเสิม พระไสย และพระแสน จากเมืองหนองคายมาไว้ที่กรุงเทพฯ กล่าวหาว่าพระพุทธรูปลาวทั้ง ๓ องค์นี้เป็นต้นเหตุ โดยอ้างว่า
“ด้วยได้ยินราษฎรชายหญิงหลายเหล่าบ่นซุบซิบกันอยู่เนืองๆมานานแล้วว่า ตั้งแต่พระเสิมเมืองเวียงจันทน์ซึ่งมาอยู่หนองคายและอัญเชิญมาไว้ ณ กรุงเทพมหานครเมื่อปลายปีมะเส็ง นพศก และพระไสยเมืองเวียงจันทน์ซึ่งมาอยู่ด้วยพระเสิม ณ เมืองหนองคาย และพระแสนเมืองมหาไชยเชิญมาไว้ ณ วัดปทุมวนารามเมื่อปลายปีมะเมีย สัมฤทธิศกนั้นมา ฝนในแขวงกรุงเทพมหานครตกน้อยไปกว่าแต่ก่อนทุกปี ต้องบ่นว่าฝนแล้งทุกปี ลางพวกก็ว่าพระพุทธรูปเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหนของแพงที่นั่น และว่าของลาวเขาถือว่าพระพุทธรูปของบ้านร้างเมืองเสีย ปีศาจมักสิงสู่ ลาวเรียกว่าพุทธยักษ์ รังเกียจนักไม่ให้เข้าบ้านเข้าเมือง...”
ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า พระเสิม พระไสย และพระแสน ก็เป็นพระพุทธรูปมีชื่อเสียงของเวียงจันทน์ คนลาวนับถือกันมาช้านาน แต่เหตุใดเมื่อรัชกาลที่ ๑ ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ใน พ.ศ.๒๓๒๒ ก็ดี หรือเมื่อกรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ ๓ ไปตีเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๐ ก็ดี ไฉนจึงไม่ทรงอัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้มาด้วย และว่าฝนแล้งคราวใดราษฎรก็โทษกันแต่พระเสิม พระไสย ๒ องค์นี้ ทั้งยังขู่ว่าจะเอาไปลงข่าวใน นสพ.อเมริกันของหมอบรัดเลย์ ซึ่งจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ทั้งกรุงเทพมหานครก็มีพระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงส์ และพระพุทธรูปงามๆ อีกหลายองค์คู่บารมีอยู่แล้ว บ้านเมืองก็ร่มเย็นเป็นสุข ตั้งแต่อัญเชิญพระบาง พระแทรกคำ พระเสิม พระไสย พระแสน มาก็นานแล้ว ยังไม่เคยเห็นฤทธิ์เดชวิเศษเป็นคุณแก่บ้านเมืองแต่อย่างใด มีแต่เป็นที่นับถือของพวกลาว
จึงกราบทูลขอให้คืนไปแก่เจ้าเมืองลาวตามเดิม หรือถ้าเอามาแล้วคืนจะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติ ก็ขอให้พระราชทานไปไว้ที่พระอารามหลวงเมืองสระบุรีหรือพระพุทธบาท ซึ่งมีคนลาวอยู่แถวนั้นมาก ราษฎรก็จะยินดี
พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) บันทึกไว้ว่า“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสดับในเรื่องราวนั้นแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นด้วย ครั้นมาถึง ณ ปีขาล อัฐศก เจ้าอุปราชเมืองหลวงพระบางมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับเอาพระบางขึ้นไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองหลวงพระบางตามเดิม เจ้าอุปหาดราชวงศ์ได้เชิญเสด็จพระบางออกจากวิหารวัดจักรวรรดิ ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๐๘) เวลาเพล แล้วโปรดให้ไปประทับไว้ที่พระตำหนักริมน้ำทำการสมโภชอยู่ ๓ วัน แล้วบอกบุญพระราชาคณะ เปรียญฐานานุกรม สัตบุรุษ แห่ขึ้นไปส่งเพียงแค่ปากเกร็ด
พระเสิม พระไสยนั้น โปรดให้ประดิษฐานไว้ในที่วิหารวัดปทุมวนาราม พระแสนนั้นประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถด้วยกันทั้ง ๓ องค์ พระเสิมหน้าตักกว้าง ๒ ศอก ๑ นิ้ว พระไสยหน้าตักกว้าง ๑ ศอก ๑ นิ้ว พระแสนหน้าตักกว้าง ๑ ศอก ๖ นิ้ว”
ด้วยเหตุนี้ พระบางจึงถูกอัญเชิญให้แยกเมืองห่างไกลจากพระแก้วมรกต กลับไปอยู่เมืองหลวงพระบางที่ตั้งชื่อเมืองตามชื่อองค์พระอีกครั้ง ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้
ปัจจุบัน พระบางประดิษฐานอยู่ที่วิหารคำ เมืองหลวงพระบาง พระฉันสมออยู่ในพระอุโบสถวัดอัปสรสวรรค์ พระแทรกคำอยู่ในพระอุโบสถวัดคฤหบดี พระไสยอยู่ในพระอุโบสถวัดปทุมวนาราม ส่วนพระเสิมและพระแสนอยู่ในวิหารวัดปทุมวนารามเช่นกัน ตามที่พระราชทานไปในครั้งนั้น