xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจุฬาฯ ยันแผ่นดินไหวเนปาลไม่กระทบถึงไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นักวิชาการจุฬาฯ มั่นใจแผ่นดินไหวเนปาลไม่กระทบไทยแน่ ชี้หน่วยงานนานาชาติยันเป็นการเกิดซ้ำใน 510 ปี ไม่ใช่ 80 ปี เผยห่วงกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย ที่เมียนมาร์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่อาจจะกระทบถึงไทย เพราะเคยได้รับแรงสั่นสะเทือนถึงกรุงเทพฯ แนะรัฐบาลเร่งให้ความรู้ประชาชนในการสร้างบ้าน จัดงบประเมินความแข็งแรงอาคารเก่า โบราณสถาน และวัดสำคัญ เพราะมีจำนวนมากที่ไม่ได้ออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว

วันนี้ (30 เม.ย.) ผศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งในงานแถลงข่าว “บทเรียนจากเนปาลสู่ไทย...รับมือแผ่นดินไหวอย่างไร” ที่จุฬาฯ ว่า ขณะนี้มีข้อมูลคลาดเคลื่อนถึงการเกิดแผ่นดินไหวซ้ำที่เนปาล ซึ่งจากการวิเคราะห์ของหน่วยงานนานาชาติล่าสุด ยืนยันแล้วว่า รอยแยกที่เกิดขึ้นเป็นคนละรอยแยกกับที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1934 แต่เป็นรอยแยกเดียวกับรอยแยกที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1505 ดังนั้น จึงเป็นการเกิดอุบัติซ้ำใน 510 ปี ไม่ใช่ 80 ปี ตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ทั้งนี้ ยืนยันว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาลครั้งนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแน่นอน เพราะอยู่ห่างไกลกันมาก โดยแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ได้แก่ แนวมุดตัวสุมาตรา - อันดามัน และกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย ที่ผ่านพาดเมืองเมืองมิตจีนา เนปิดอร์ และ มัณฑเลย์ ซึ่งกลุ่มรอยเลื่อนนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้ว 12 ครั้ง ความแรงสูงถึง 8.0 ริกเตอร์ และไทยเคยได้รับแรงสั่นสะเทือนถึงกรุงเทพฯ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

ขณะที่ ศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ ที่ปรึกษาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาลครั้งนี้ สร้างความเสียหายให้แก่โบราณสถานจำนวนมาก ดังนั้น จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่ไทยต้องนำมาคิด เพราะไทยมีโบราณสถาน และวัดที่สำคัญจำนวนมาก เช่น วัดพระแก้วมรกต เป็นต้น หากได้รับความเสียหายจะส่งผลกระทบมากทั้งด้านจิตใจ และการท่องเที่ยว จึงฝากผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลเรื่องนี้ด้วย รวมทั้งอยากกำชับให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่คอร์รัปชัน เพราะคนไทยยังย่อหย่อนอยู่มาก ซึ่งขณะนี้มีวัด และอาคารเรียนจำนวนมากที่ก่อสร้างหลังปี 2540 ไม่ได้ออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่าต้องออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหว

ต้องเร่งให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องระบบโครงสร้างอาคารที่รองรับการเกิดแผ่นดินไหว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมาก เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านสร้างบ้านโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยสร้างให้ใต้ถุนบ้านโล่ง เพื่อให้น้ำไหลผ่านได้ บางบ้านใช้ใต้ถุนเก็บอุปกรณ์การเกษตร ซึ่งในอดีตถือว่าทำได้ แต่ปัจจุบันเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมแล้ว เพราะจะพังลงมาง่าย โดยในการก่อสร้างควรให้วิศวกรเป็นผู้ออกแบบ และในการก่อสร้าง รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ต้องได้มาตรฐานด้วย เช่น เสาสำเร็จรูป บ้านน็อกดาวน์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน จึงอยากให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีการรับรอง และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย” ศ.ดร.ปณิธาน กล่าว

ศ.ดร.ปณิธาน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินความแข็งแรงของอาคารเก่า และเสริมสร้างความแข็งแรง โดยเฉพาะอาคารสาธารณะ และสถานที่สำคัญ เช่น ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์บัญชาการของตำรวจ และ ทหาร ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และโรงเรียน เพราะเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้น สถานที่เหล่านี้จะเป็นจุดสำคัญที่ใช้ในการดูแล และพักพิงของประชาชน
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น