ชายสูงวัยที่อยู่เบื้องหน้าเราในวันนี้ บอกอย่างหนักแน่นว่า
“ในชีวิตนี้ทำอาชีพมาสองอย่างเท่านั้น คือทำหนังสือกับทำหนัง”
และในวันที่ ๑๙ กรกฎาคมนี้ที่จะถึงนี้ เขาก็จะมีอายุ ๘๒ ปีเต็มแล้ว ก้าวขึ้นปีที่ ๘๓ คงจะไม่มีอาชีพที่ ๓ อีก
แม้บอกว่าทำงานมาเพียง ๒ อย่างในชีวิต แต่ประวัติชีวิตของเขาที่ปรากฏอยู่ในวารสาร “ปากไก่” ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในคราวรับรางวัล “นราธิป” ประจำปี ๒๕๕๗ ได้กล่าวถึงงานที่ทำมามากมาย
ตั้งแต่จัดละครประจำปีของโรงเรียน เป็นเจ้าของคำขวัญ “รักโดม เลือกโรม” ในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนนักศึกษา เป็นประธานแผนกบันเทิงสโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจัดละครเรื่อง “อานุภาพประชาชน” ขณะที่อธิการบดีกำลังโหมละครชุดอานุภาพ เช่น “อานุภาพแห่งความรัก” “อานุภาพแห่งความเสียสละ” เป็นบรรณาธิการหนังสือที่ออกภายในมหาวิทยาลัย แต่ขายไปทั่วประเทศ จนหนังสือพิมพ์รายวันดึงไปร่วมทีม
เวียนว่ายอยู่ในหนังสือพิมพ์รายวันทำเกือบทุกตำแหน่ง จนถึงหัวหน้ากองบรรณาธิการ ส่วนวงการบันเทิงก็ทำมาเกือบทุกหน้าที่เช่นกัน ตั้งแต่ผู้แสดงนำในละครทีวียุคช่อง ๔ บางขุนพรหม เป็นผู้กำกับรายการทีวีสีช่อง ๗ ยุคบุกเบิก เป็นพระเอกเคาบอยไทย เป็นผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับการแสดง รวมทั้งเขียนเรื่องเขียนบทในหนังที่สร้างเองและเขียนขายให้คนอื่นสร้างด้วย ปัจจุบันเป็นนักเขียนแนวเรื่องสนุกในประวัติศาสตร์ มีผลงานเป็นพ็อคเก็ตบุ๊คราว ๔๐ เล่ม รวมทั้งคอลัมน์ “เรื่องเก่า เล่าสนุก” ในผู้จัดการออนไลน์นี้ด้วย
เขาผู้นั่งอยู่ตรงนี้คือ “โรม บุนนาค” ซึ่งสมัยหนุ่มมีฉายาในหน้าข่าวสังคมบันเทิงเสมอว่า “ม้าแกลบ”
การทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดมาตลอดชีวิตของคนคนหนึ่ง ย่อมจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังมาก เขาใฝ่ฝันที่จะเดินในเส้นทางนี้ หรือเป็นความบังเอิญผลักไส?
_________________________________
* หนังสือเปลี่ยนชีวิต *
“ความจริงผมก็ไม่น่าจะมาในเส้นทางนี้ได้ เพราะเป็นคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือเอาเสียเลย จนจบ ม.๖ แล้วก็ยังไม่ยอมอ่าน แม้แต่หนังสือนิยายดังๆ ในยุคนั้น อย่างเรื่องของ ป.อินทรปาลิต ที่วัยรุ่นติดกันงอมแงม เคยหยิบมาอ่านเล่มสองเล่มแล้วก็ไม่ติดใจ”
โรม บุนนาค เริ่มต้นสนทนา ในแววตารำลึกถึงความหลัง 82 กะรัต...
“พ่อผมเป็นข้าราชสำนักในรัชกาลที่ 6 เป็นคนดูแลวังพระราชวังบางปะอิน ทางฝั่งคุณแม่ก็เป็นครู ชีวิตวัยเด็กของผมไม่ได้มีอะไรโลดโผนหรอกครับ ก็เรื่อยๆ เอื่อยๆ เตร็ดเตร่อยู่แถวบ้าน ย่านถนนราชดำเนินนี่แหละ และซอยวัดราชาธิวาส สามเสน จะมีอะไรตื่นเต้นหน่อย ก็คงเป็นช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ตอนนั้นก็วิ่งหนีระเบิดกัน แต่ระเบิดลงเรียบร้อยแล้ว เราก็วิ่งไปดู แถวเทเวศน์ แต่รวมๆ แล้วก็ถือว่าชีวิตเรียบๆ หนังสือไม่ได้อ่าน หนังไม่ดู ก็เล่นเพลินไปเรื่อยกับเพื่อน”
แต่ความสนุกสนานตามประสาก็ชักพาให้พบประสบการณ์ใหม่ โรม บุนนาค ในวัยละอ่อน ได้รู้จักมักคุ้นกับน้องชายของพระเอกละครดังแห่งยุคนั้นอย่าง “ฉลอง สิมะเสถียร” นอกจากจะเรียนห้องเดียวกัน ยังไปไหนไปกัน และมันก็นำมาซึ่งประสบการณ์ที่เริ่มบ่มเพาะนักเขียนคนหนึ่ง
“โชคดีที่ตอนนั้นยังไม่มีร้านเกม ไม่มีศูนย์การค้า และเพื่อนชักนำไปในทางที่ดี ถึงวันนี้ก็ยังนึกขอบใจมันที่ชวนไปเดินเล่นแถวถนนราชดำเนิน ใกล้โรงเรียนที่อยู่แถววัดมหรรณพาราม พอเมื่อยก็เข้าไปนั่งในห้องสมุดบริการข่าวสารไทย ห้องสมุดสำนักข่าวสารอเมริกัน ที่อาคารราชดำเนิน หรือไม่ก็ข้ามสนามหลวงไปหอสมุดแห่งชาติที่ตอนนั้นยังอยู่ข้างวัดมหาธาตุ” โรม บุนนาค ในวันที่ได้รับรางวัลนักเขียน “นราธิป” เมื่อปี พ.ศ.2557 ได้เขียนเล่าประสบการณ์บางส่วนนี้ไว้ในหนังสืออนุสรณ์ที่ชื่อว่า “ปากไก่”
จากการไม่ชอบอ่านหนังสือ ที่แม้กระทั่งหนังสือนิยายที่เขาว่าดังๆ ในยุคนั้นและวัยรุ่นต้องอ่านกัน “โรม บุนนาค” ก็ยังไม่ยอมจับ แต่เมื่อได้เข้าไปนั่งในห้องสมุด ก็จำต้องหยิบหนังสือมาพลิกๆ ดูบ้าง แรกๆ ก็ดูรูปไปตามประสา แต่แล้วสิเนหาของตัวอักษรก็ร่ายมนต์ใส่เข้าอย่างจัง เมื่อได้พบกับหนังสือชีวประวัติของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอร์น ชายที่เกิดในกระท่อมไม้ซุงผู้ไต่เต้าขึ้นเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกา
“หนังสือได้ทำให้อะไรในชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ เพราะมีความกระตือรือร้นเกิดขึ้น มีอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น แล้วก็มีความอยากจะเป็นนู่นเป็นนี่ไปต่างๆ นานา อีกคนหนึ่งซึ่งผมชอบมากๆ ก็คือ จักรพรรดินโปเลียน ทั้งอ่านและติดตามดูหนังที่เกี่ยวกับนโปเลียนทุกเรื่อง อีกทั้งยังหัดเซ็นลายเซ็นของนโปเลียนจนเหมือนด้วย”
“ลุงโรม” เล่ากลั้วหัวเราะ
“ที่ชอบเรื่องราวของมหาบุรุษเหล่านี้ ไม่ใช่เพราะชื่นชมในนโยบายหรือบทบาททางการเมืองหรอก แต่หลงใหลเหมือนเป็นพระเอกในนิยายมากกว่า อย่างอับราฮัม ลินคอร์น จากเด็กเกิดในกระท่อมไม้ซุง ไต่เต้าขึ้นเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกา นโปเลียนก็เป็นแค่นายทหารธรรมดา แต่ก็กลายเป็นจอมจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ขวัญใจคนทั้งประเทศ และกว่าจะขึ้นมาได้ แต่ละคนก็มีเรื่องราวที่สนุกกว่านิยายทั้งนั้น”
“เรื่องอ่านหนังสือนี่แปลกนะ ไม่มีใครแนะนำได้ เราต้องชอบเราต้องรักด้วยตัวเราเอง เราต้องสนใจด้วยตัวเรา และส่วนใหญ่อ่านแล้วก็จะติดไปเอง อย่าลืมว่าสิ่งมีค่าที่ราคาถูกที่สุดในโลกนี้ คือหนังสือ”
จากคนแปลกหน้าของหนังสือ กลายเป็นลุ่มหลงอย่างสาหัสสากรรจ์ ราวกับคนที่เดินผ่านทะเลทรายแล้วพลันได้พบกับโอเอซิส เหมือนชีวิตเริ่มได้ค้นพบโลกใหม่ สิ่งที่เขาขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันนับแต่นั้นเป็นต้นมาก็คือหนังสือ
“ตอนนั้นผมไปอยู่กับพี่สาวที่บ้านหม้อ แล้วปั่นจักรยานไปเรียนที่อำนวยศิลป์พญาไท บ่ายกลับมาก็แวะเอาหนังสือเรียนเก็บที่บ้าน แล้วปั่นข้ามสะพานพุทธฯไปที่วัดเวฬุราชิน ทางไปตลาดพลู เป็นสมาชิกห้องสมุดที่นั่น เขาให้ยืมหนังสือครั้งละเล่ม ผมอ่านวันเดียวก็เอาไปคืนแล้ว อย่างช้าก็แค่ ๒ วัน ทุกครั้งที่ไปก็เหงื่อท่วมตัวจนเจ้าหน้าที่เขาถามว่าบ้านอยู่ไหน พอบอกเขาก็ร้องโอโฮ้ เอาไปทีละ ๔-๕ เล่มเลย ไม่ต้องมาทุกวันแบบนี้”
หนังสือที่ยืมมายังเอาเล่มที่ติดพันติดตัวไปโรงเรียนด้วย ว่างตอนไหนก็อ่าน วิชาไหนที่ไม่ชอบก็แอบเอาหนังสือออกมาวางบนตักอ่าน ถูกครูทำโทษก็หลายครั้ง แม้แต่ก่อนสอบครั้งสำคัญ โรงเรียนจะหยุด ๗ วันให้ดูหนังสือเตรียมสอบ ก็ยังอดอ่านหนังสือที่ชอบไม่ได้ สอบกลางปีครั้งหนึ่ง เคยทำให้อาจารย์ที่ออกข้อสอบเรียงความในหัวข้อ “การท่องเที่ยวของข้าพเจ้า” ถึงกับทึ่ง ที่บรรยายการท่องเที่ยวยุโรปหลายประเทศอย่างลงลึก ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยออกไปนอกประเทศเลย แต่เพราะดื่มด่ำกับ “๗ แผ่นดิน” ของ “เสนีย์ เสาวพงษ์” ตอนดูหนังสือก่อนสอบนั่นเอง
หนังสือทำให้เปลี่ยนจากคนเอาแต่นั่งเหม่อลอย กลายเป็นนักกิจกรรม เป็นกรรมการจัดงาน “วันอำนวยศิลป์สัมพันธ์” ทำหนังสือโรงเรียนแล้ว ยังจัดแสดงละครในงานประจำปี โดยเขียนบท กำกับการแสดง นำแสดงเองเสร็จสรรพ ทั้งยังเป็นละครโรงเรียนเรื่องแรกที่ใช้ชายจริงหญิงแท้
“นางเอกเป็นนางเอกหน้าใหม่จากหนังใหญ่เรื่อง “สามเสือสมุทร” เพิ่งทำรายได้สูงสุดที่ศาลาเฉลิมกรุงเสียด้วย พี่ชายผมคือ อนุมาศ บุนนาค เป็นผู้กำกับ จึงขอมาช่วยเป็นนางเอกละครโรงเรียนเสียเลย”
การทุ่มเทต่องานที่รับผิดชอบนั้น ทำให้เขาได้สร้างประวัติด่างพร้อยให้ ห้อง ก. ของเตรียมอุดมปีที่ ๒ ที่ถือว่าเป็นห้องคิงส์ คัดนักเรียนสอบได้คะแนนดีเด่นจากเตรียมอุดมปีที่ ๑ มารวมไว้ แน่นอนว่าห้องนี้ไม่เคยมีใครสอบตก แต่เขาก็สอบตกคนเดียวของห้องจนได้
“มันสับสนในเรื่องจัดละคร มาได้เรื่องกระชั้นชิด ทำให้ผมต้องเขียนบทในช่วง ๗ วันที่โรงเรียนหยุดให้ดูหนังสือก่อนสอบ ระหว่างสอบก็ต้องจัดหาคนพิมพ์บทแล้วเดินดูหน้าเพื่อนหาตัวผู้แสดง วันสุดท้ายที่สอบก็แจกบทนัดวันซ้อม เลยไม่มีเวลาให้กับเรื่องสอบ ไม่งั้นงานโรงเรียนก็กร่อย”
ความสนใจเรื่องละครและหนัง ก็มีอิทธิพลมาจากพี่ชาย ซึ่งเริ่มจัดทำละครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะไปเป็นฝ่ายฉากของคณะศิวารมย์ เลยได้อาศัยไปยืนดูละครข้างหลืบเวทีศาลาเฉลิมไทยเป็นประจำ และเมื่อพี่ชายทำหนัง ก็ติดตามไปอยู่กับกองถ่ายในช่วงโรงเรียนปิดเทอมด้วย มีโอกาสได้กระทบไหล่กับดาราดังยุคนั้นหลายคน ในฐานะพี่ป้าน้าอา จนซึมซับเอาความรักในวงการบันเทิงไปด้วย
* บนเส้นทางนักหนังสือพิมพ์ *
...พอหลุดจากโรงเรียนก็มุ่งไปคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพราะรักในความเป็นนักกิจกรรม จึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนนักศึกษาในปีแรก เขียนป้ายว่า “รักโดม เลือกโรม” ไปติดไว้ที่โคนโพธิ์ก็ดังแล้ว และได้รับเลือกตั้งคู่มากับ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน
ตอนนั้นในธรรมศาสตร์ออกหนังสือพิมพ์กันหลายฉบับ มี “บรรเจิด ทวี” ออกด้วย เลยออกบ้างในชื่อ “แนวนักศึกษา” จดทะเบียนกับกองเอกสารสันติบาล เป็นเจ้าของ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณาเสร็จสรรพ และวางตลาดทั่วไปด้วย เผอิญได้รับความสนใจจากวงการหนังสือพิมพ์พอควร จึงได้รับการทาบทามเข้าร่วมทีมในกองบรรณาธิการ “สารเสรี” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับนำในขณะนั้น โดยการสนับสนุนของ ทวี เกตะวันดี เข้ารับหน้าที่นักข่าวอาชญากรรม
การเข้าเป็นนักข่าวหน้าใหม่ในหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ ที่ต้องแข่งขันกับรุ่นพี่ที่แก่พรรษาของฉบับอื่น จึงทุ่มเทเต็มที่ ทำให้ “แนวนักศึกษา” ต้องหยุดออก ยังไม่มีเวลาไปฟังเลคเชอร์ แม้แต่สมัครสอบแล้วก็ไม่มีเวลาไปสอบ แต่ก็ยังไม่ทิ้งบทบาทในธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกเป็นประธานแผนกบันเทิงของสโมสรมหาวิทยาลัยในปี ๒๕๐๐ ขณะนั้นนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย กำลังปลุกเร้าประชาชนด้วยละครชุดอานุภาพ เช่น อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง อานุภาพแห่งความรัก อานุภาพแห่งความเสียสละ เลยจัดละครเรื่อง “อานุภาพประชาชน” จากบทประพันธ์ของ สุวัฒน์ วรดิลก ในงานประจำปีของมหาวิทยาลัย
การทำหนังสือพิมพ์ยุคนั้นต้องตกงานกันเป็นประจำ จนมีคำกล่าวด้วยอารมณ์ขันว่า
“ถ้าจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ ก็ต้องหาเมียขายข้าวแกงไว้ จะได้ไม่อดตายตอนตกงาน”
ถ้าไม่ถูกสั่งปิดโดยคำสั่งคณะปฏิวัติ ก็ “ยกสต๊าฟ” ออกกันเอง ถ้าใครทำงานหนังสือพิมพ์ยุคนั้นแล้วยังไม่เคย “ยกสต๊าฟ” หรือ “ตกงาน” ก็แสดงว่าเป็นมือใหม่ เลือดหนังสือพิมพ์ยังไม่เข้มข้น หรือประสบการณ์ในงานหนังสือพิมพ์ยังไม่มากพอ
นักหนังสือพิมพ์ยุคก่อนถือศักดิ์ศรีกันมาก เหมือนในเนื้อร้องของเพลง “นกน้อยในไร่ส้ม” ที่ว่า “พวกเราสูงศักดิ์ สูงหนักสูงหนา ร่อนเร่เคหาไม่มี...”
ถือศักดิ์ศรีโดยไม่ได้ห่วงปากท้อง จึงไส้แห้งจนเป็นเอกลักษณ์
เมื่อมีเรื่องผิดใจกับนายทุน หรือถูกก้าวก่ายความเป็นอิสระในการทำงาน ก็มักจะ “ยกสต๊าฟ” ออกไปด้วยกันทั้งหมด “สารเสรี” แม้จะมีเจ้าของตัวจริง คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ซึ่งเป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดแต่ผู้เดียวในขณะนั้น ก็ยังยกสต๊าฟออกกันทั้งหมดเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๐๑
“สาเหตุมาจากที่จอมพลสฤษดิ์ได้ปรารภมาตลอดว่า ขายหน้าคนเขา ที่หนังสือพิมพ์ของตัวเองโจมตีรัฐบาลที่ตนร่วมอยู่ด้วยเป็นประจำ ทั้งยังแอนตี้อเมริกาด้วย ขอให้เปลี่ยนนโยบายมาหลายครั้งแล้วก็ไม่เคยฟัง ตอนไปนอนผ่าม้ามที่อเมริกาจึงโทรเลขมาถึงพลเอกเนตร เขมะโยธิน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสารเสรี ให้จัดการเรื่องนี้เสียที ผมยังจำได้ถึงคำพูดของพลเอกเนตรที่อารัมภบทตอนเริ่มประชุมว่า ผมเคยคุมทหารทั้งกองทัพมา ไม่เคยมีความหนักใจ แต่ผมยอมรับว่าผมคุมพวกคุณไม่กี่คนนี้ไม่ได้”
ในโทรเลขของจอมพลสฤษดิ์ ให้พลเอกเนตรเลือกใน ๓ แนวทาง คือ
๑.ให้สารเสรีเปลี่ยนนโยบายเป็น สนับสนุนรัฐบาลและสนับสนุนอเมริกา หรือ
๒.ให้เปลี่ยนคนทำ หรือ
๓.ให้เลิกกิจการหยุดออกไปเลย
“คุณทนง ศรัทธาทิพย์ บรรณาธิการจึงเสนอว่า ถ้าวันหนึ่งพูดอย่าง อีกวันกลับพูดอีกอย่าง ผมไม่รู้จะอยู่ดูหน้าคนอ่านและคนหนังสือพิมพ์เขาได้อย่างไร ฉะนั้นผมขอลาออกเองดีกว่า สารเสรีจะได้เปลี่ยนนโยบายได้ตามใจท่านเจ้าของ แต่พวกเลือดสุพรรณถือว่ามาด้วยกันต้องไปด้วยกัน ไม่ยอมให้บรรณาธิการเดินออกไปคนเดียว จึงพร้อมใจกันเซ็นใบลาออกครบทีม ไม่เว้นแม้แต่เด็กรับใช้กองบรรณาธิการ”
หลังจากนั้นไม่นาน จอมพลสฤษดิ์บินกลับมาอย่างเงียบๆ ยึดอำนาจตัวเอง ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วกวาดจับนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และกรรมกรไปเข้าคุกมากมาย ทนง ศรัทธาทิพย์ ถูกกวาดให้เป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย ทั้งๆ ที่มีความสัมพันธ์กันลึกซึ้ง ขนาดเตะก้นหยอกกันเวลาเมา
จาก “สารเสรี” ส่วนหนึ่งนำโดย สนอง มณีศรี ไปเปิด นสพ.รายวันฉบับใหม่ในชื่อ “เอกภาพ” เป็น นสพ.รายวันที่มีรูปโฉมใหม่สะดุดตา มีชื่อหน้าพาดอยู่บนสุดยาวเต็มหน้าพราวไปทุกหน้า โรม บุนนาคได้รับมอบหมายให้จัดทำหน้าบันเทิงขึ้นเป็นครั้งแรกของ นสพ.รายวัน โดยใช้นามปากกา “โรม ดารา” แม้ไม่เคยเขียนเรื่องวงการบันเทิงมาก่อน แต่ก็เป็นคนเดียวในทีมที่คุ้นเคยกับวงการนี้ เลยต้องรับหน้าที่ด้วยความอึดอัดใจ
“ที่อึดอัดใจก็เพราะในเช้าวันหนึ่งตอนที่อยู่สารเสรี คุณทนง ศรัทธาทิพย์ หยิบหนังสือรายวันฉบับอื่นๆ มาตรวจข่าว พอเห็นพาดหัวของเดลิเมล์รายวัน ฉบับนำเหมือนกัน ก็เหวี่ยงหนังสือลงพื้น พร้อมพูดอย่างอารมณ์เสียว่า คนทั้งอีสานเขากำลังอดอยาก แทนที่จะเอาหน้ากระดาษที่มีค่าเป็นปากเป็นเสียงให้เขา กลับเอามาลงข่าวแค่ดาราตกม้าขาหัก ผมแอบหยิบหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นขึ้นมาดู ก็เห็นว่าเดลิเมล์ซึ่งไม่เคยเสนอข่าวดาราเหมือนกัน คงจะเห็นว่า อมรา อัศวนนท์กำลังดัง จึงเอาข่าวอมราที่ประสบอุบัติเหตุขณะไปถ่ายหนังที่นครนายกมาเสนอ โดยพาดหัวว่า อมราตกม้าขาหัก ตอนนั้นหนังสือพิมพ์รายวันไม่ได้ให้ความสำคัญกับข่าวดาราเหมือนยุคนี้ แต่ผมกำลังถูกกำหนดให้จัดทำหน้าข่าวดาราเต็มหน้า สวนทางกับคุณทนงผู้เป็นที่เคารพรัก”
“เอกภาพ” ก้าวขึ้นเป็นหนังสือพิมพ์ระดับนำในเวลาไม่นาน เพราะมีความแปลกใหม่ที่พราวไปทุกหน้า แต่ไม่นานก็ถูกจอมพลสฤษดิ์สั่งปิดอีก ตกงานพักหนึ่งเราก็ไปเปิด “เสรีไทย” หนังสือพิมพ์รายวันเหมือนกัน ครั้งนี้ผมรับหน้าบันเทิงแล้ว ยังเป็นหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง” (ต่อมายังรับตำแหน่งลูกเขยด้วย)
“เสรีไทย” ก้าวขึ้นเป็นหนังสือขายดีในเวลาไม่ช้าเหมือน “เอกภาพ” จนนายทุนย้ายโรงพิมพ์จากถนนกระออม ไปเซ้งตึกเก่าของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ถนนพระสุเมรุ ผ่านฟ้า ซึ่งต่อมาก็คือสำนักงานของ นสพ.บางกอกเวิลด์ ปัจจุบันเป็นภัตตาคารนิวออร์ลีน ขายสเต็ก สั่งแท่นพิมพ์ใหม่มาจากญี่ปุ่น ซ่อมแซมตึกเสียโก้ แต่ยังไม่ทันหมดกลิ่นสี ก็ถูกสั่งปิดโดยเจ้าเก่า ข้อความที่ถูกสั่งปิดในครั้งนั้นเป็นเพียงข่าวสังคมหน้า ๔ สั้นๆ มีข้อความทำนองว่า
...วันนี้ ครม.งดประชุม เพราะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ป่วยกะทันหัน ไม่รู้ว่าประชาชนต้องเสียภาษีฟรีไปเท่าไหร่...
“ความจริงอ่านแล้วก็อยากจะเตะคนเขียนเหมือนกัน ไม่รู้ไปเขียนกระตุกหนวดเสือแบบนี้ได้อะไรขึ้นมา ที่โดนปิดก็คงมีเหตุสะสมมาก่อน เลยได้โอกาสในตอนนี้ ปิดมันเสียเลย”
จาก “เสรีไทย” ต้องเวียนว่ายไปตาม นสพ.รายวันหลายฉบับ และเปลี่ยนหน้าที่ได้ทำเกือบทุกหน้าก็ว่าได้ รวมทั้งเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการผู้จัดทีม และรักษาการแทนบรรณาธิการในยุคที่จดทะเบียนหนังสือใหม่ไม่ได้ นายทุนต้องไปเช่าหัวหนังสือคนอื่นมาทำ ส่วนใหญ่ก็ถูกให้ควบหน้าบันเทิงไว้ด้วย จนคุ้นเคยสนิทสนมกับคนในแวดวงนี้เป็นอย่างดี ตกงานจากรายวันก็หันไปเขียนนิตยสารบันเทิง อย่าง ดาราไทย ผดุงศิลป์ ดารา แดนดารา
* โรมรำลึก
จาก “เคาบอยม้าแกลบ”
สู่ไอ้เสือมือเปล่า *
จากเขียนข่าวดาราก็ได้เป็นดาราบ้าง เมื่อถูกเลือกให้แสดงนำในละครทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม ในยุคขาว-ดำ และต้องแสดงออกอากาศกันสดๆ ไม่ได้ถ่ายทำแล้วตัดต่อก่อนเหมือนตอนนี้ เรื่องหนึ่งแนวนักเลงปืนในชื่อ “วันเดี่ยว” ที่แสดงคู่กับ ส.อาสนจินดา ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เลยต้องไปเป็นพระเอกหนังคู่กับ “พี่ ส.” และได้รับฉายาเสียโก้ว่า “พระเอกเคาบอยไทยคนแรก” แต่เคาบอยไทยก็ไม่ได้เกิด ตกม้าไหล่หักต้องเข้าเฝือกอยู่ ๓ อาทิตย์ หนังเขาเลยเปลี่ยนไปถ่ายเรื่องอื่น แต่ก็ได้ขึ้นจอต่อมาในเรื่อง “วันปืน”
“จากเรื่องวันเดี่ยว เลยทำให้ได้ฉายาว่า “ม้าแกลบ” เพราะ “ป้อม ปราการ” หัวหน้าข่าวบันเทิง ไทยรัฐ ซึ่งเป็นเพื่อนรัก พอรู้ว่าผมจะเล่นหนังเป็นเคาบอย มันก็ร้องว่าตัวเท่าลูกหมาอย่างมึงน่ะหรือจะเป็นเคาบอย จะขี่ได้ก็แค่ม้าแกลบเท่านั้น แล้วมันก็เขียนถึงผมทุกครั้งว่า เคาบอยม้าแกลบ คนอื่นๆ ก็เขียนตาม ต่อมาคำว่าเคาบอยก็หายไป เหลือแต่ม้าแกลบ” ลุงโรมรำลึกถึงความหลัง
ตอนไปคลุกคลีวงการหนัง เลยหาลำไพ่ด้วยการรับทำโฆษณาหนังด้วย ในปี ๒๕๐๘ ทำโฆษณาเรื่อง “ปลาบู่ทอง” เข้าฉายที่ศาลาเฉลิมบุรี และ “ชุมทางเขาชุมทอง” เข้าที่ศาลาเฉลิมกรุงพร้อมกัน ทำรายได้ดีทั้งคู่ เลยร้อนวิชายื่นเสนอโครงการสร้างหนังนิทานพื้นบ้านเรื่อง “โสนน้อยเรือนงาม” ให้บริษัทสหซีนีมาของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้รับอนุมัติให้สร้างพร้อมมีเงินสนับสนุน เลยได้เป็นผู้อำนวยการสร้างประเภท “ไอ้เสือมือเปล่า” แต่พอฉายก็ได้หนี้มาเยอะ กว่าจะหลุดหนี้ได้ก็ต้องทำต่อมาอีกหลายเรื่อง ทั้งในระบบ ๑๖ มม.อย่าง “๑๖ ปีแห่งความหลัง” และ ๓๕ มม.ซีนีมาสโคป อย่าง “วิวาห์ลูกทุ่ง”
“อีกเรื่องหนึ่งของความภูมิใจ เมื่อ วันชัย อรรถเวทย์วรวุฒิ ตั้งบริษัทครีเอชั่น สร้างหนังไทยออกตลาดโลก ได้เลือกเรื่อง “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่เสนอไปสร้างเป็นเรื่องแรก โดยให้เขียนบทและกำกับการแสดงด้วย นำ หลอหลี เถียนหนี ดาราดังของฮ่องกงมาแสดงร่วมกับ สมบัติ เมทะนี และ ธัญญารัตน์ โลหะนันท์ มี อู๋หม่า เป็นผู้กำกับฝ่ายฮ่องกง ถ่ายทำในระบบพานาวิชั่นเป็นเรื่องแรกของหนังไทย และอาจเป็นหนังเรื่องแรกของโลกที่เป็นเรื่องราวการเดินทางของฝิ่น จากดอกฝิ่นจนถึงชายทะเลไทย ไม่ใช่หนังค้ายาเสพติดในเมือง
พูดกันว่า เขานี่แหละเป็นผู้ตั้งชื่อไฟว์สตาร์ ทั้งยังเป็นผู้ออกแบบตราบริษัทแรกด้วย
“ตอนผมสร้างวิวาห์ลูกทุ่ง ได้มอบให้อัศวินภาพยนตร์เป็นผู้จัดจำหน่าย เลยได้สนิทสนมกับคุณเกียรติ เอี่ยมพึ่งพร ที่เป็นบุคเกอร์ ตอนคุณเกียรติจะตั้งห้างหุ้นส่วนจัดจำหน่ายหนังต่างประเทศ ให้ช่วยตั้งชื่อให้ ผมเคยชอบตราที่มีเลข ๕ และมีดาว ๕ ดวงล้อม ก็เลยให้ชื่อไฟว์สตาร์ พร้อมทั้งใช้ตรานี้จดทะเบียน ไม่ได้เกี่ยวกับมีหุ้นส่วน ๕ คนอะไรเลย” โรม บุนนาค เผยเบื้องหลัง
“พอคุณเกียรติตั้งบริษัทไฟว์สตาร์โปรดักชั่นสร้างหนังไทย โรม บุนนาคก็เป็นที่ปรึกษาและหาผู้กำกับบางคนไปให้ จนวันหนึ่งเกียรติ เอี่ยมพึ่งพรก็บอกว่า “ถึงทีของคุณเสียทีสิ” จึงได้เข้าสังกัดเป็นผู้กำกับของไฟว์สตาร์ เริ่มด้วย “รักเธอเท่าช้าง” เพราะเชื่อว่าความน่ารักของช้างจะเรียกความนิยมจากคนดูได้ เผอิญได้ข่าวว่ามีคณะละครช้างจากชัยภูมิมาเปิดแสดงที่กรุงเทพฯ จึงตามไปดู และเก็บการแสดงน่ารักของช้างมาเขียนเป็นบท แต่ใกล้จะถ่ายแล้วก็ยังหาชื่อไม่ได้ วันหนึ่งนั่งรถไปกับ เจน จำรัสศิลป์ นักข่าวรุ่นพี่ที่เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ “สารเสรี” พอเล่าเรื่องให้ฟังและบอกว่ายังหาชื่อเรื่องไม่ได้ เจน จำรัสศิลป์ ก็โพล่งออกมาว่า
“ก็ ‘รักเธอเท่าช้าง’ ซี”
พอกลับบ้านไปเล่าให้ลูกเมียฟัง ต่างก็หัวเราะชอบอกชอบใจ ก็เลยใช้ชื่อนี้
เจน จำรัสศิลป์ คนนี้เหมือนกัน ที่ตั้งฉายาให้ เพชรา เชาวราษฎร์ ตอนมาเล่นหนังเรื่องแรกว่า “ดาราสาวนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง”
* ซูเปอร์สตาร์หนังตลก *
โรม บุนนาค ได้รับมอบหมายจากไฟว์สตาร์ ให้ทำหนังในแนวตลก ซึ่งเป็นหนังครอบครัว และลงทุนไม่มาก แต่ก็มักถูกจัดให้เข้าฉายในโปรแกรมสำคัญรับปีใหม่หรือตรุษจีน ที่เป็นรายการทองของปี มียักษ์ชนยักษ์ทั้งหนังฝรั่งและหนังไทย ไฟว์สตาร์จึงหลบเอาหนังตลกลงสู้ ถ้าแพ้ก็ไม่ขาดทุน แต่ถ้าจังหวะดีก็ได้ล้มยักษ์ ซึ่งไม่เคยผิดหวัง
“ความจริงผมก็อยากจะทำหนังแนวอื่นบ้าง แม้แต่เรื่อง “บ้านทรายทอง” ที่รุจน์ รณภพ สร้าง ผมก็เป็นคนซื้อเรื่องมาจาก ก.สุรางคนางค์ แต่คุณเกียรติท้วงว่า ผมจะหันไปทำแนวอื่นทำไม แค่ไฟว์สตาร์ประกาศว่าจะสร้างหนังเรื่องใหม่ของผมในแนวตลก ก็ขายได้ในราคาหนังดังแล้ว เปลี่ยนไปก็ต้องเสี่ยงอีก ผมเลยยอมจำนนต่อเหตุผลนี้”
ตอนนั้นบริษัทโกดักตั้งรางวัล “ล้อฟิล์มทอง” ให้หนังที่ทำรายได้เกิน ๓ ล้านบาทขึ้นไปในโรงแรก โรม บุนนาคก็ได้รับรางวัลนี้จาก “รักเธอเท่าช้าง” ปีต่อไปรางวัลขยับขึ้นไปเป็น ๔ ล้านบาท ก็ได้รับอีกจาก “ยอดตาหลก”
หนังที่สร้างให้ไฟว์สตาร์ นอกจากกำกับการแสดงและเขียนบทแล้ว ยังเขียนเรื่องเองด้วย ทั้งๆ ที่เป็นคนไม่ชอบอ่านนิยาย แต่อาศัยที่ดูหนังมาก เลยพอเข้าใจลีลาของหนังมากกว่าการอ่าน ทั้งยังเขียนเรื่องเขียนบทให้คนอื่นสร้างด้วย อย่าง “๔ อันตราย” ที่ “แจ๊สสยาม” สร้างเป็นเรื่องแรก และ “โอวตี่” ที่ “แสนยากร” ผู้กับหนังไต้หวันหันมาสร้างหนังไทย
“ก็ภูมิใจทุกเรื่องที่มีคนดูมากนั่นแหละ” โรม บุนนาค กล่าวแซมรอยยิ้มที่มุมปาก
“อย่างเวลาหนังฉาย ผมมักจะเข้าไปนั่งดูด้วย อยากรับรู้ถึงความรู้สึกของคนดูในฉากต่างๆ สามเหลี่ยมทองคำ แม้จะทำเงินในประเทศได้ไม่มาก แต่ก็เป็นหนังใหญ่ที่สุดที่ทำมา เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ออกฉายในต่างประเทศ และ เป็นหนังไทยเรื่องแรกด้วยที่ถ่ายในระบบพานาวิชั่น เมื่อออกข่าวไปว่าลงทุน ๑๐ ล้าน คนก็ว่าโม้ หนังไทยตอนนั้นลงกันแค่ ๓-๔ ล้านก็มากแล้ว แต่ความจริงตอนปิดบัญชีหมดไปถึง ๑๓ ล้าน หรืออย่าง “สองผู้ยุ่งเหยิง” ทำเงินได้ดีแม้จะฉายในขณะน้ำท่วมกรุงเทพฯ รวมทั้งท่วมหน้าโรงที่ฉายด้วย แต่เป็นหนังที่ใช้เวลาสร้างเร็วที่สุด จากเปิดกล้องใช้เวลาแค่ ๒๘ วันก็ได้ดูก็อปปี้แรกแล้ว หรือมนต์รักขนมครก ที่ไฟว์สตาร์มอบให้คุณชัย ราชวัตร เขียนแบบโฆษณา ผมภูมิใจมากที่คุณชัยเลือกที่จะขายรูปผู้กำกับ แทนที่จะขายดาราอย่างหนังเรื่องอื่นๆ ส่วนหนังที่ทำรายได้สูงที่สุดของผมคือ ยอดตาหลก ซึ่งคนตั้งชื่อเรื่องให้ก็คือคุณเกียรติ เอี่ยมพึ่งพร”
แล้วเหตุใดถึงเลิกทำหนังกับไฟว์สตาร์? เราโยนคำถาม
“ก็ไม่คิดจะเลิกหรอก แต่ในเรื่องสุดท้ายของผมคือ หนึ่งในล้าน มีปัญหาที่หาเฮลิคอปเตอร์ปิดกล้องไม่ได้ ตอนนั้นยังไม่มีให้เช่า มีแต่ของตำรวจทหาร แต่ก็ขึ้นกับสถานะ ไปเจอช่วงที่ไม่มีใครกล้าบิน กว่าจะปิดกล้องได้ด้วยบอลลูน ก็กลายเป็นหนังค้างปีแล้ว ออกฉายก็ไม่ประสบความสำเร็จ ผมก็เลยห่อเหี่ยว มีเรื่องใหม่ที่อยากจะทำ เป็นหนังเกี่ยวกับสัตว์เหมือนกัน คงจะจำหนังเรื่องบิวตี้ฟูลพิเพิล หรือ สัตว์โลกผู้น่ารักได้ ทำเงินถล่มทลายที่โรงเอเธนส์ ผมดูหนังเรื่องนี้เป็นร้อยครั้ง เพราะเป็นคนตัดต่อแก้ไขคำบรรยายให้ลงตัวกับภาพ และคุมการบันทึกเสียงเองด้วย จึงอยากจะทำในแนวนี้บ้าง แต่ใช้ดาราเข้าร่วมแสดงด้วย ไม่ใช่ทำแบบหนังสารคดี
“แต่มีปัญหาที่ดาราดังตอนนั้นมีคิวแน่น ถ่ายกันทีหลายๆ เรื่องพร้อมกัน ไม่สามารถเอาเข้าไปตั้งกองถ่ายในป่าได้ คิดว่าจะใช้ผู้แสดงใหม่ และยังประทับใจกับคำพูดของคุณเจริญ เอี่ยมพึ่งพร เมื่อผมบอกว่าจะทำหนังแบบนี้ คุณเจริญถามว่าจะให้ขายอะไร ถ้าไม่มีดาราดัง จะขายสัตว์ บริษัทคงขายให้ไม่ได้แน่ ไม่มีใครกล้าซื้อ และถ้าเข้าโรงฉายไม่ได้เงินอีก ก็ยับเยินแน่ แต่ถ้าฉายแล้วโกยเงิน สายทั้งหลายก็จะวิ่งมาซื้อในราคาหนังทำเงิน มีกำไรมหาศาล ให้ผมตัดสินใจเอง ถ้ามั่นใจก็เอาเลย บริษัทพร้อมจะเสี่ยงด้วย ถ้าขาดทุนเรื่องนี้ บริษัทก็ยังมีเรื่องที่ทำกำไรอีกหลายเรื่อง แต่ผมเป็นฝ่ายฝ่อเอง ไม่กล้าเสี่ยง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขาดทุนด้วย”
* เพราะรักในอักษร
จึงย้อนมา... *
ช่วงเวลาที่ยังลังเลเก้ๆ กังๆ อยู่นั้น ก็มีพรรคพวกมาชวนไปทำนิตยสาร “มติครู” รายเดือน ก็เห็นว่าน่าสนุกดี เปิดโลกใหม่ดูบ้าง เข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการ และมีคอลัมน์ “เยี่ยมโรงเรียน” และออกไปเยี่ยมครูและโรงเรียนที่น่าสนใจเป็นประจำในนามบรรณาธิการ เป็นครั้งแรกที่ใช้ชื่อจริงในการเขียนหนังสือด้วย แต่ก่อนใช้นามปากกาก็เหมือนนามปากกาเฉพาะกิจ เปลี่ยนไปเรื่อยเพราะไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญ บางทีก็ลืมว่าใช้นามปากกาอะไรไป
“นอกจากนี้ พรรคพวกที่ทำหนังสือ “มติครู” ยังเอาหัวหนังสืออีกเล่มมาให้ทำในชื่อ “เรื่องจริงระทึกใจ” ให้หาเรื่องประเภทเหลือเชื่อมาลง แต่ฟังแล้วไม่แฮปปี้ แถมยังไม่ตื่นเต้นกับเรื่องประเภทนี้ด้วย จึงเล่าเรื่องที่เคยอ่านจากพงศาวดารให้ฟัง ๒-๓ เรื่อง ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบของคนที่ฟัง ที่ประชุม เลยลงมติให้เปลี่ยนแนวเป็นเกล็ดประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยมีนิตยสารในแนวนี้”
เมื่อหนังสือออกวางตลาดไป ๒-๓ ฉบับ ก็มีคนดั้นด้นมาขอซื้อเล่มเก่าถึงโรงพิมพ์ บอกว่าไม่นึกว่าจะมีเรื่องอย่างนี้อยู่ในประวัติศาสตร์ ทำเอาคนทำคนลงทุนหน้าบานไปตามกัน แต่หนังสือฉบับนี้ก็ทู่ซี้อยู่ได้ปีกว่า คนลงทุนก็ถอดใจ เพราะขาดทุนมาตั้งแต่เล่มแรก คนที่ชื่นชอบแบบนี้น้อยเหลือเกิน ส่วนใหญ่พอรู้ว่าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ก็ไม่ยอมเปิดแล้ว
“แต่ก็เป็นจุดเปลี่ยนให้ผมเน้นมาเขียนเรื่องเกล็ดประวัติศาสตร์ ซึ่งก็ชอบอ่านอยู่แล้ว ความจริงเรื่องประเภทนี้มีอยู่ในพงศาวดารหรือเอกสารเก่าๆ ทั่วไป แต่นักประวัติศาสตร์เขาไม่ค่อยสนใจ เพราะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตที่มีผลต่อบ้านเมือง อย่างเช่นมีฝรั่งเศสสองพี่น้อง แล่นสำเภาเข้ามาท้าพนันชกกับคนไทย กรมพระราชวังบวรท่านเห็นว่าถ้าไม่รับคำท้าก็จะหาว่าเมืองไทยหาคนมีฝีมือไม่ได้ แต่พอขึ้นเวที นักมวยไทยก็ใช้กลยุทธ์ถอยแล้วชกสกัด ไม่ปะทะด้วย ฝรั่งผู้พี่เห็นน้องถูกชกอยู่ข้างเดียว เลยเข้าดันหลังนักมวยไทยไว้ไม่ให้ถอย เลยได้เรื่อง กรมพระราชวังบวรท่านว่าท้าชกกันตัวต่อตัวไฉนช่วยกันเป็นสองคนเล่า ว่าแล้วก็ทรงเผ่นไปที่เวที ลงพระบาทกับฝรั่งเศสผู้พี่ บรรดาข้าราชบริพารทั้งหลายจึงโดยเสด็จตามเจ้านาย จนฝรั่งเศสสองพี่น้องหมอบคาเวทีต่อหน้าพระพักตร์รัชกาลที่ ๑ เรื่องนี้อยู่ในพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ นั่นเอง”
หนังก็ทำมาแล้ว เขียนหนังสือมาหรือก็มาก สิ่งที่รักนั้นคงไม่ต้องถาม แต่หากจะถามถึงความสนุก รื่นรมย์ โรม บุนนาค ลากความคิดผ่านน้ำเสียงวัย ๘๒...
“ถ้าทำอะไรด้วยความรัก มันก็สนุกทั้งนั้น และทำให้เรามีความสุข แต่ทำหนังสมัยก่อนเหนื่อยมาก วันไหนจะไปถ่ายหนังก็นอนไม่หลับเลย แม้แต่ตอนเดินทางไปกองถ่ายในเช้าวันถ่าย ใจคอก็ไม่สงบ ไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ตอนนั้นดาราก็เบี้ยวกันบ่อย นัดกันแล้วไม่ไปเสียดื้อๆ บางทีเทวดาก็ไม่เป็นใจ แทนที่จะส่งแดดมากลับเป็นฝน ถ้ายกกองไปแล้วถ่ายไม่ได้ ค่าใช้จ่ายก็เท่ากัน แต่ไม่ได้งานกลับมาเลย อุปกรณ์กองถ่ายสมัยก่อนที่ไม่ค่อยขาดกันก็คือ ธูป ที่ต้องจุดบนบานกันเป็นประจำ”
เมื่อพูดถึงงานในพ็อคเก็ตบุ๊คราว ๔๐ เล่มของเขา เกือบทั้งหมดสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คจัดพิมพ์ให้ เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ทั้งนั้น ที่สำนักพิมพ์อื่นก็มีบ้าง ที่สำนักพิมพ์ Dดี มีเรื่อง “ขอพื้นที่เพียง ๔ ตารางวา เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นและชีวิตยืนยาว ปลูกผักข้างรั้ว” กับ “แผ่นดินไหวภัยใกล้ตัว เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ใช้นามปากกา สุมน สิริมา
“ผมว่าเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยเรา เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ น่าอ่านนะ ทำให้รู้ว่ากว่าเราจะมีวันนี้ได้ บรรพบุรุษของเราต้องเสียสละกันมาแค่ไหน ทั้งเลือดเนื้อและชีวิต วีรชนในประวัติศาสตร์ล้วนแต่รักชาติมากกว่าชีวิตตัวเองทั้งนั้น เราจึงมีวันนี้ และถ้าเราไม่รู้อดีต ก็ย่อมไม่เข้าใจปัจจุบัน และไม่อาจคาดเดาอนาคตได้ เพราะอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ย่อมโยงใยถึงกัน มีคำกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ย่อมซ้ำรอย เราเห็นเหตุการณ์ในวันนี้ ก็พอจะคาดเดาได้ว่ามันจะจบลงอย่างไร ยากที่กงล้อประวัติศาสตร์จะเบี่ยงเบน เหมือนทำกรรมอะไรไว้ ก็ต้องรับกรรมตามที่ทำไว้นั่นแหละ อยากจะบอกคนที่มีบทบาทอยู่ในสังคมขณะนี้ไว้ว่า จะทำอะไรก็ขอให้นึกถึงการบันทึกของประวัติศาสตร์ไว้บ้าง ลูกหลานจะไม่ต้องรับกรรมที่ตัวทำไว้”
“แต่ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์หรอกนะ ผมเป็นแค่นักเขียนที่ชอบเขียนเรื่องเกล็ดประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่ก็จะเน้นแต่เรื่องสนุกๆ ตามรสนิยม และไม่ใช่นักประพันธ์ที่แต่งเรื่องเองด้วย ผมเคยเขียนไว้ในคำนำหนังสือ ๑๐๐ เรื่องเก่าเล่าสนุกว่า ผมภูมิใจในหนังสือเล่มนี้ แต่ขอยืนยันว่าผมไม่ได้แต่งเลยแม้แต่เรื่องเดียว เก็บจากที่มีบันทึกไว้ในที่ต่างๆ หรือที่เล่ากันมา”
“เบ้าหลอมในการเขียนหนังสือของผม นอกจากการเป็นนักอ่านแล้ว ก็มาจากการเป็นคนข่าว ผมคิดว่าผมเขียนได้ทุกเรื่องที่มีหัวข้อ ก็เหมือนที่เราทำข่าวกันได้ทุกข่าวนั่นแหละ อยู่ที่ว่าจะสืบเสาะหรือค้นคว้าได้ลึกแค่ไหน ส่วนแหล่งค้นคว้านั้น ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และหอสมุดแห่งชาติ ชั่วชีวิตนี้ก็เขียนกันไม่หมด คนรุ่นใหม่ควรจะไปช่วยกันค้นเอาออกมาเผยแพร่บ้าง จะได้มีมุมมองที่ต่างๆ กันออกไป ผมก็เคยเป็นคนที่ไม่ชอบเรียนประวัติศาสตร์ เพราะเบื่อที่จะท่องจำวัน เดือน ปี พ.ศ. แต่พอตัดความใส่ใจในเรื่องนี้ออกไป สนใจแต่เหตุการณ์และยุคสมัย กลับเป็นเรื่องสนุกน่าสนใจ บางเรื่องก็สนุกกว่านิยายเสียอีก ความจริงนิยายก็มาจากเรื่องจริงนั่นแหละ แต่พอรู้ว่าแต่งเติมเสริมเข้าไป รสชาติก็ต่างจากที่เป็นเรื่องจริงแท้ๆ ความรู้สึกจะลงลึกไปถึงความดีใจ ภูมิใจด้วย”
“สิ่งต่างๆ รอบตัวเราในบ้านเมืองก็ตาม แม้เราจะเดินผ่านอยู่ทุกวัน ถ้าไม่ได้ให้ความสนใจ ก็เหมือนเดินผ่านคนแปลกหน้า แต่ถ้าเรารู้ถึงความเป็นมา เราจะรู้สึกว่าเป็นสิ่งมีค่าที่น่าภูมิใจและน่าหวงแหน”
* “สนธยา” ยัง “เยาว์” *
ในวัย ๘๒ โรม บุนนาค ยังดูกระฉับกระเฉง ราวกับว่าไม่มีท่าทีของชายชรา และยังขับรถไปได้ทั่วประเทศ เชื่อว่า “คุณลุง” คงต้องมีวิธีดูแลสุขภาพและออกกำลังกายเป็นพิเศษเป็นแน่
“เปล่า ไม่มีเลย” ลุงโรม ตอบอย่างรวดเร็ว
“ผมไม่ได้เคร่งครัดอะไรกับมันมาก เพียงแต่ว่าไม่ใช้มันอย่างสมบุกสมบันเกินกำลัง แต่หาโอกาสเคลื่อนไหวตลอดเวลา ตื่นเช้าก็เดินไปซื้อหนังสือพิมพ์ เดินไปตลาด ถ้าไม่ไปไหนไกล เดินใกล้ๆ ก็เดินให้เร็วจะได้เหนื่อยหน่อย ผมไม่ได้เล่นกีฬา และไม่ได้ออกกำลังกายเป็นพิเศษ ส่วนอาหาร เรียกได้ว่ากินทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่ไม่ได้กินอะไรจำเจ อะไรที่ไม่ควรกินก็กินให้น้อย อย่างของมันๆ ของรสจัด และไม่ดื่มด่ำกับรสอาหารจนพุงกาง ที่สำคัญอย่าขาดออกกำลังสมองด้วย สมองเหมือนกองบัญชาการ ถ้ามันฝ่อเสียแล้ว ร่างกายก็กะปลกกะเปลี้ยไปด้วย ถ้าสมองยังกระปรี้กระเปร่า ร่างกายก็ยังกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ”
เมื่อพูดถึงหลักการในการทำงาน...
“ผมทำทุกอย่างด้วยใจรัก ถ้าไม่รักหรือทำในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย ก็ไม่มีอารมณ์จะทำ เมื่อตัดสินใจจะทำแล้วก็ไม่คิดว่าจะได้อะไร สิ่งที่ต้องการที่สุดในการทำงานก็คือ โอกาส เมื่อมีโอกาสทำอะไร ก็ต้องทำอย่างสุดๆ ที่จะทำได้ ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นทำได้ดีกว่า แต่ถ้ามีฝีมืออยู่แค่นั้น..ก็แค่นั้นแหละ ช่วยไม่ได้”
พอสรุปได้หรือยังกับการเดินทางของชีวิต?
“ก็ภูมิใจตลอดเส้นทางที่เดินมาจนมาถึงจุดนี้ และมีผลงานฝากไว้บ้าง ชีวิตก็เท่านี้แหละ มองโลกในแง่ดี ความสุขก็มีอยู่รอบตัว ไม่ต้องไปไขว่คว้าหามาจากไหน”
___________________________
เรื่อง : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา, ปาณิสรา บุญม่วง
ภาพ : ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
“ในชีวิตนี้ทำอาชีพมาสองอย่างเท่านั้น คือทำหนังสือกับทำหนัง”
และในวันที่ ๑๙ กรกฎาคมนี้ที่จะถึงนี้ เขาก็จะมีอายุ ๘๒ ปีเต็มแล้ว ก้าวขึ้นปีที่ ๘๓ คงจะไม่มีอาชีพที่ ๓ อีก
แม้บอกว่าทำงานมาเพียง ๒ อย่างในชีวิต แต่ประวัติชีวิตของเขาที่ปรากฏอยู่ในวารสาร “ปากไก่” ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในคราวรับรางวัล “นราธิป” ประจำปี ๒๕๕๗ ได้กล่าวถึงงานที่ทำมามากมาย
ตั้งแต่จัดละครประจำปีของโรงเรียน เป็นเจ้าของคำขวัญ “รักโดม เลือกโรม” ในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนนักศึกษา เป็นประธานแผนกบันเทิงสโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจัดละครเรื่อง “อานุภาพประชาชน” ขณะที่อธิการบดีกำลังโหมละครชุดอานุภาพ เช่น “อานุภาพแห่งความรัก” “อานุภาพแห่งความเสียสละ” เป็นบรรณาธิการหนังสือที่ออกภายในมหาวิทยาลัย แต่ขายไปทั่วประเทศ จนหนังสือพิมพ์รายวันดึงไปร่วมทีม
เวียนว่ายอยู่ในหนังสือพิมพ์รายวันทำเกือบทุกตำแหน่ง จนถึงหัวหน้ากองบรรณาธิการ ส่วนวงการบันเทิงก็ทำมาเกือบทุกหน้าที่เช่นกัน ตั้งแต่ผู้แสดงนำในละครทีวียุคช่อง ๔ บางขุนพรหม เป็นผู้กำกับรายการทีวีสีช่อง ๗ ยุคบุกเบิก เป็นพระเอกเคาบอยไทย เป็นผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับการแสดง รวมทั้งเขียนเรื่องเขียนบทในหนังที่สร้างเองและเขียนขายให้คนอื่นสร้างด้วย ปัจจุบันเป็นนักเขียนแนวเรื่องสนุกในประวัติศาสตร์ มีผลงานเป็นพ็อคเก็ตบุ๊คราว ๔๐ เล่ม รวมทั้งคอลัมน์ “เรื่องเก่า เล่าสนุก” ในผู้จัดการออนไลน์นี้ด้วย
เขาผู้นั่งอยู่ตรงนี้คือ “โรม บุนนาค” ซึ่งสมัยหนุ่มมีฉายาในหน้าข่าวสังคมบันเทิงเสมอว่า “ม้าแกลบ”
การทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดมาตลอดชีวิตของคนคนหนึ่ง ย่อมจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังมาก เขาใฝ่ฝันที่จะเดินในเส้นทางนี้ หรือเป็นความบังเอิญผลักไส?
_________________________________
* หนังสือเปลี่ยนชีวิต *
“ความจริงผมก็ไม่น่าจะมาในเส้นทางนี้ได้ เพราะเป็นคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือเอาเสียเลย จนจบ ม.๖ แล้วก็ยังไม่ยอมอ่าน แม้แต่หนังสือนิยายดังๆ ในยุคนั้น อย่างเรื่องของ ป.อินทรปาลิต ที่วัยรุ่นติดกันงอมแงม เคยหยิบมาอ่านเล่มสองเล่มแล้วก็ไม่ติดใจ”
โรม บุนนาค เริ่มต้นสนทนา ในแววตารำลึกถึงความหลัง 82 กะรัต...
“พ่อผมเป็นข้าราชสำนักในรัชกาลที่ 6 เป็นคนดูแลวังพระราชวังบางปะอิน ทางฝั่งคุณแม่ก็เป็นครู ชีวิตวัยเด็กของผมไม่ได้มีอะไรโลดโผนหรอกครับ ก็เรื่อยๆ เอื่อยๆ เตร็ดเตร่อยู่แถวบ้าน ย่านถนนราชดำเนินนี่แหละ และซอยวัดราชาธิวาส สามเสน จะมีอะไรตื่นเต้นหน่อย ก็คงเป็นช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ตอนนั้นก็วิ่งหนีระเบิดกัน แต่ระเบิดลงเรียบร้อยแล้ว เราก็วิ่งไปดู แถวเทเวศน์ แต่รวมๆ แล้วก็ถือว่าชีวิตเรียบๆ หนังสือไม่ได้อ่าน หนังไม่ดู ก็เล่นเพลินไปเรื่อยกับเพื่อน”
แต่ความสนุกสนานตามประสาก็ชักพาให้พบประสบการณ์ใหม่ โรม บุนนาค ในวัยละอ่อน ได้รู้จักมักคุ้นกับน้องชายของพระเอกละครดังแห่งยุคนั้นอย่าง “ฉลอง สิมะเสถียร” นอกจากจะเรียนห้องเดียวกัน ยังไปไหนไปกัน และมันก็นำมาซึ่งประสบการณ์ที่เริ่มบ่มเพาะนักเขียนคนหนึ่ง
“โชคดีที่ตอนนั้นยังไม่มีร้านเกม ไม่มีศูนย์การค้า และเพื่อนชักนำไปในทางที่ดี ถึงวันนี้ก็ยังนึกขอบใจมันที่ชวนไปเดินเล่นแถวถนนราชดำเนิน ใกล้โรงเรียนที่อยู่แถววัดมหรรณพาราม พอเมื่อยก็เข้าไปนั่งในห้องสมุดบริการข่าวสารไทย ห้องสมุดสำนักข่าวสารอเมริกัน ที่อาคารราชดำเนิน หรือไม่ก็ข้ามสนามหลวงไปหอสมุดแห่งชาติที่ตอนนั้นยังอยู่ข้างวัดมหาธาตุ” โรม บุนนาค ในวันที่ได้รับรางวัลนักเขียน “นราธิป” เมื่อปี พ.ศ.2557 ได้เขียนเล่าประสบการณ์บางส่วนนี้ไว้ในหนังสืออนุสรณ์ที่ชื่อว่า “ปากไก่”
จากการไม่ชอบอ่านหนังสือ ที่แม้กระทั่งหนังสือนิยายที่เขาว่าดังๆ ในยุคนั้นและวัยรุ่นต้องอ่านกัน “โรม บุนนาค” ก็ยังไม่ยอมจับ แต่เมื่อได้เข้าไปนั่งในห้องสมุด ก็จำต้องหยิบหนังสือมาพลิกๆ ดูบ้าง แรกๆ ก็ดูรูปไปตามประสา แต่แล้วสิเนหาของตัวอักษรก็ร่ายมนต์ใส่เข้าอย่างจัง เมื่อได้พบกับหนังสือชีวประวัติของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอร์น ชายที่เกิดในกระท่อมไม้ซุงผู้ไต่เต้าขึ้นเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกา
“หนังสือได้ทำให้อะไรในชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ เพราะมีความกระตือรือร้นเกิดขึ้น มีอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น แล้วก็มีความอยากจะเป็นนู่นเป็นนี่ไปต่างๆ นานา อีกคนหนึ่งซึ่งผมชอบมากๆ ก็คือ จักรพรรดินโปเลียน ทั้งอ่านและติดตามดูหนังที่เกี่ยวกับนโปเลียนทุกเรื่อง อีกทั้งยังหัดเซ็นลายเซ็นของนโปเลียนจนเหมือนด้วย”
“ลุงโรม” เล่ากลั้วหัวเราะ
“ที่ชอบเรื่องราวของมหาบุรุษเหล่านี้ ไม่ใช่เพราะชื่นชมในนโยบายหรือบทบาททางการเมืองหรอก แต่หลงใหลเหมือนเป็นพระเอกในนิยายมากกว่า อย่างอับราฮัม ลินคอร์น จากเด็กเกิดในกระท่อมไม้ซุง ไต่เต้าขึ้นเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกา นโปเลียนก็เป็นแค่นายทหารธรรมดา แต่ก็กลายเป็นจอมจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ขวัญใจคนทั้งประเทศ และกว่าจะขึ้นมาได้ แต่ละคนก็มีเรื่องราวที่สนุกกว่านิยายทั้งนั้น”
“เรื่องอ่านหนังสือนี่แปลกนะ ไม่มีใครแนะนำได้ เราต้องชอบเราต้องรักด้วยตัวเราเอง เราต้องสนใจด้วยตัวเรา และส่วนใหญ่อ่านแล้วก็จะติดไปเอง อย่าลืมว่าสิ่งมีค่าที่ราคาถูกที่สุดในโลกนี้ คือหนังสือ”
จากคนแปลกหน้าของหนังสือ กลายเป็นลุ่มหลงอย่างสาหัสสากรรจ์ ราวกับคนที่เดินผ่านทะเลทรายแล้วพลันได้พบกับโอเอซิส เหมือนชีวิตเริ่มได้ค้นพบโลกใหม่ สิ่งที่เขาขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันนับแต่นั้นเป็นต้นมาก็คือหนังสือ
“ตอนนั้นผมไปอยู่กับพี่สาวที่บ้านหม้อ แล้วปั่นจักรยานไปเรียนที่อำนวยศิลป์พญาไท บ่ายกลับมาก็แวะเอาหนังสือเรียนเก็บที่บ้าน แล้วปั่นข้ามสะพานพุทธฯไปที่วัดเวฬุราชิน ทางไปตลาดพลู เป็นสมาชิกห้องสมุดที่นั่น เขาให้ยืมหนังสือครั้งละเล่ม ผมอ่านวันเดียวก็เอาไปคืนแล้ว อย่างช้าก็แค่ ๒ วัน ทุกครั้งที่ไปก็เหงื่อท่วมตัวจนเจ้าหน้าที่เขาถามว่าบ้านอยู่ไหน พอบอกเขาก็ร้องโอโฮ้ เอาไปทีละ ๔-๕ เล่มเลย ไม่ต้องมาทุกวันแบบนี้”
หนังสือที่ยืมมายังเอาเล่มที่ติดพันติดตัวไปโรงเรียนด้วย ว่างตอนไหนก็อ่าน วิชาไหนที่ไม่ชอบก็แอบเอาหนังสือออกมาวางบนตักอ่าน ถูกครูทำโทษก็หลายครั้ง แม้แต่ก่อนสอบครั้งสำคัญ โรงเรียนจะหยุด ๗ วันให้ดูหนังสือเตรียมสอบ ก็ยังอดอ่านหนังสือที่ชอบไม่ได้ สอบกลางปีครั้งหนึ่ง เคยทำให้อาจารย์ที่ออกข้อสอบเรียงความในหัวข้อ “การท่องเที่ยวของข้าพเจ้า” ถึงกับทึ่ง ที่บรรยายการท่องเที่ยวยุโรปหลายประเทศอย่างลงลึก ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยออกไปนอกประเทศเลย แต่เพราะดื่มด่ำกับ “๗ แผ่นดิน” ของ “เสนีย์ เสาวพงษ์” ตอนดูหนังสือก่อนสอบนั่นเอง
หนังสือทำให้เปลี่ยนจากคนเอาแต่นั่งเหม่อลอย กลายเป็นนักกิจกรรม เป็นกรรมการจัดงาน “วันอำนวยศิลป์สัมพันธ์” ทำหนังสือโรงเรียนแล้ว ยังจัดแสดงละครในงานประจำปี โดยเขียนบท กำกับการแสดง นำแสดงเองเสร็จสรรพ ทั้งยังเป็นละครโรงเรียนเรื่องแรกที่ใช้ชายจริงหญิงแท้
“นางเอกเป็นนางเอกหน้าใหม่จากหนังใหญ่เรื่อง “สามเสือสมุทร” เพิ่งทำรายได้สูงสุดที่ศาลาเฉลิมกรุงเสียด้วย พี่ชายผมคือ อนุมาศ บุนนาค เป็นผู้กำกับ จึงขอมาช่วยเป็นนางเอกละครโรงเรียนเสียเลย”
การทุ่มเทต่องานที่รับผิดชอบนั้น ทำให้เขาได้สร้างประวัติด่างพร้อยให้ ห้อง ก. ของเตรียมอุดมปีที่ ๒ ที่ถือว่าเป็นห้องคิงส์ คัดนักเรียนสอบได้คะแนนดีเด่นจากเตรียมอุดมปีที่ ๑ มารวมไว้ แน่นอนว่าห้องนี้ไม่เคยมีใครสอบตก แต่เขาก็สอบตกคนเดียวของห้องจนได้
“มันสับสนในเรื่องจัดละคร มาได้เรื่องกระชั้นชิด ทำให้ผมต้องเขียนบทในช่วง ๗ วันที่โรงเรียนหยุดให้ดูหนังสือก่อนสอบ ระหว่างสอบก็ต้องจัดหาคนพิมพ์บทแล้วเดินดูหน้าเพื่อนหาตัวผู้แสดง วันสุดท้ายที่สอบก็แจกบทนัดวันซ้อม เลยไม่มีเวลาให้กับเรื่องสอบ ไม่งั้นงานโรงเรียนก็กร่อย”
ความสนใจเรื่องละครและหนัง ก็มีอิทธิพลมาจากพี่ชาย ซึ่งเริ่มจัดทำละครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะไปเป็นฝ่ายฉากของคณะศิวารมย์ เลยได้อาศัยไปยืนดูละครข้างหลืบเวทีศาลาเฉลิมไทยเป็นประจำ และเมื่อพี่ชายทำหนัง ก็ติดตามไปอยู่กับกองถ่ายในช่วงโรงเรียนปิดเทอมด้วย มีโอกาสได้กระทบไหล่กับดาราดังยุคนั้นหลายคน ในฐานะพี่ป้าน้าอา จนซึมซับเอาความรักในวงการบันเทิงไปด้วย
* บนเส้นทางนักหนังสือพิมพ์ *
...พอหลุดจากโรงเรียนก็มุ่งไปคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพราะรักในความเป็นนักกิจกรรม จึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนนักศึกษาในปีแรก เขียนป้ายว่า “รักโดม เลือกโรม” ไปติดไว้ที่โคนโพธิ์ก็ดังแล้ว และได้รับเลือกตั้งคู่มากับ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน
ตอนนั้นในธรรมศาสตร์ออกหนังสือพิมพ์กันหลายฉบับ มี “บรรเจิด ทวี” ออกด้วย เลยออกบ้างในชื่อ “แนวนักศึกษา” จดทะเบียนกับกองเอกสารสันติบาล เป็นเจ้าของ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณาเสร็จสรรพ และวางตลาดทั่วไปด้วย เผอิญได้รับความสนใจจากวงการหนังสือพิมพ์พอควร จึงได้รับการทาบทามเข้าร่วมทีมในกองบรรณาธิการ “สารเสรี” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับนำในขณะนั้น โดยการสนับสนุนของ ทวี เกตะวันดี เข้ารับหน้าที่นักข่าวอาชญากรรม
การเข้าเป็นนักข่าวหน้าใหม่ในหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ ที่ต้องแข่งขันกับรุ่นพี่ที่แก่พรรษาของฉบับอื่น จึงทุ่มเทเต็มที่ ทำให้ “แนวนักศึกษา” ต้องหยุดออก ยังไม่มีเวลาไปฟังเลคเชอร์ แม้แต่สมัครสอบแล้วก็ไม่มีเวลาไปสอบ แต่ก็ยังไม่ทิ้งบทบาทในธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกเป็นประธานแผนกบันเทิงของสโมสรมหาวิทยาลัยในปี ๒๕๐๐ ขณะนั้นนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย กำลังปลุกเร้าประชาชนด้วยละครชุดอานุภาพ เช่น อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง อานุภาพแห่งความรัก อานุภาพแห่งความเสียสละ เลยจัดละครเรื่อง “อานุภาพประชาชน” จากบทประพันธ์ของ สุวัฒน์ วรดิลก ในงานประจำปีของมหาวิทยาลัย
การทำหนังสือพิมพ์ยุคนั้นต้องตกงานกันเป็นประจำ จนมีคำกล่าวด้วยอารมณ์ขันว่า
“ถ้าจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ ก็ต้องหาเมียขายข้าวแกงไว้ จะได้ไม่อดตายตอนตกงาน”
ถ้าไม่ถูกสั่งปิดโดยคำสั่งคณะปฏิวัติ ก็ “ยกสต๊าฟ” ออกกันเอง ถ้าใครทำงานหนังสือพิมพ์ยุคนั้นแล้วยังไม่เคย “ยกสต๊าฟ” หรือ “ตกงาน” ก็แสดงว่าเป็นมือใหม่ เลือดหนังสือพิมพ์ยังไม่เข้มข้น หรือประสบการณ์ในงานหนังสือพิมพ์ยังไม่มากพอ
นักหนังสือพิมพ์ยุคก่อนถือศักดิ์ศรีกันมาก เหมือนในเนื้อร้องของเพลง “นกน้อยในไร่ส้ม” ที่ว่า “พวกเราสูงศักดิ์ สูงหนักสูงหนา ร่อนเร่เคหาไม่มี...”
ถือศักดิ์ศรีโดยไม่ได้ห่วงปากท้อง จึงไส้แห้งจนเป็นเอกลักษณ์
เมื่อมีเรื่องผิดใจกับนายทุน หรือถูกก้าวก่ายความเป็นอิสระในการทำงาน ก็มักจะ “ยกสต๊าฟ” ออกไปด้วยกันทั้งหมด “สารเสรี” แม้จะมีเจ้าของตัวจริง คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ซึ่งเป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดแต่ผู้เดียวในขณะนั้น ก็ยังยกสต๊าฟออกกันทั้งหมดเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๐๑
“สาเหตุมาจากที่จอมพลสฤษดิ์ได้ปรารภมาตลอดว่า ขายหน้าคนเขา ที่หนังสือพิมพ์ของตัวเองโจมตีรัฐบาลที่ตนร่วมอยู่ด้วยเป็นประจำ ทั้งยังแอนตี้อเมริกาด้วย ขอให้เปลี่ยนนโยบายมาหลายครั้งแล้วก็ไม่เคยฟัง ตอนไปนอนผ่าม้ามที่อเมริกาจึงโทรเลขมาถึงพลเอกเนตร เขมะโยธิน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสารเสรี ให้จัดการเรื่องนี้เสียที ผมยังจำได้ถึงคำพูดของพลเอกเนตรที่อารัมภบทตอนเริ่มประชุมว่า ผมเคยคุมทหารทั้งกองทัพมา ไม่เคยมีความหนักใจ แต่ผมยอมรับว่าผมคุมพวกคุณไม่กี่คนนี้ไม่ได้”
ในโทรเลขของจอมพลสฤษดิ์ ให้พลเอกเนตรเลือกใน ๓ แนวทาง คือ
๑.ให้สารเสรีเปลี่ยนนโยบายเป็น สนับสนุนรัฐบาลและสนับสนุนอเมริกา หรือ
๒.ให้เปลี่ยนคนทำ หรือ
๓.ให้เลิกกิจการหยุดออกไปเลย
“คุณทนง ศรัทธาทิพย์ บรรณาธิการจึงเสนอว่า ถ้าวันหนึ่งพูดอย่าง อีกวันกลับพูดอีกอย่าง ผมไม่รู้จะอยู่ดูหน้าคนอ่านและคนหนังสือพิมพ์เขาได้อย่างไร ฉะนั้นผมขอลาออกเองดีกว่า สารเสรีจะได้เปลี่ยนนโยบายได้ตามใจท่านเจ้าของ แต่พวกเลือดสุพรรณถือว่ามาด้วยกันต้องไปด้วยกัน ไม่ยอมให้บรรณาธิการเดินออกไปคนเดียว จึงพร้อมใจกันเซ็นใบลาออกครบทีม ไม่เว้นแม้แต่เด็กรับใช้กองบรรณาธิการ”
หลังจากนั้นไม่นาน จอมพลสฤษดิ์บินกลับมาอย่างเงียบๆ ยึดอำนาจตัวเอง ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วกวาดจับนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และกรรมกรไปเข้าคุกมากมาย ทนง ศรัทธาทิพย์ ถูกกวาดให้เป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย ทั้งๆ ที่มีความสัมพันธ์กันลึกซึ้ง ขนาดเตะก้นหยอกกันเวลาเมา
จาก “สารเสรี” ส่วนหนึ่งนำโดย สนอง มณีศรี ไปเปิด นสพ.รายวันฉบับใหม่ในชื่อ “เอกภาพ” เป็น นสพ.รายวันที่มีรูปโฉมใหม่สะดุดตา มีชื่อหน้าพาดอยู่บนสุดยาวเต็มหน้าพราวไปทุกหน้า โรม บุนนาคได้รับมอบหมายให้จัดทำหน้าบันเทิงขึ้นเป็นครั้งแรกของ นสพ.รายวัน โดยใช้นามปากกา “โรม ดารา” แม้ไม่เคยเขียนเรื่องวงการบันเทิงมาก่อน แต่ก็เป็นคนเดียวในทีมที่คุ้นเคยกับวงการนี้ เลยต้องรับหน้าที่ด้วยความอึดอัดใจ
“ที่อึดอัดใจก็เพราะในเช้าวันหนึ่งตอนที่อยู่สารเสรี คุณทนง ศรัทธาทิพย์ หยิบหนังสือรายวันฉบับอื่นๆ มาตรวจข่าว พอเห็นพาดหัวของเดลิเมล์รายวัน ฉบับนำเหมือนกัน ก็เหวี่ยงหนังสือลงพื้น พร้อมพูดอย่างอารมณ์เสียว่า คนทั้งอีสานเขากำลังอดอยาก แทนที่จะเอาหน้ากระดาษที่มีค่าเป็นปากเป็นเสียงให้เขา กลับเอามาลงข่าวแค่ดาราตกม้าขาหัก ผมแอบหยิบหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นขึ้นมาดู ก็เห็นว่าเดลิเมล์ซึ่งไม่เคยเสนอข่าวดาราเหมือนกัน คงจะเห็นว่า อมรา อัศวนนท์กำลังดัง จึงเอาข่าวอมราที่ประสบอุบัติเหตุขณะไปถ่ายหนังที่นครนายกมาเสนอ โดยพาดหัวว่า อมราตกม้าขาหัก ตอนนั้นหนังสือพิมพ์รายวันไม่ได้ให้ความสำคัญกับข่าวดาราเหมือนยุคนี้ แต่ผมกำลังถูกกำหนดให้จัดทำหน้าข่าวดาราเต็มหน้า สวนทางกับคุณทนงผู้เป็นที่เคารพรัก”
“เอกภาพ” ก้าวขึ้นเป็นหนังสือพิมพ์ระดับนำในเวลาไม่นาน เพราะมีความแปลกใหม่ที่พราวไปทุกหน้า แต่ไม่นานก็ถูกจอมพลสฤษดิ์สั่งปิดอีก ตกงานพักหนึ่งเราก็ไปเปิด “เสรีไทย” หนังสือพิมพ์รายวันเหมือนกัน ครั้งนี้ผมรับหน้าบันเทิงแล้ว ยังเป็นหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง” (ต่อมายังรับตำแหน่งลูกเขยด้วย)
“เสรีไทย” ก้าวขึ้นเป็นหนังสือขายดีในเวลาไม่ช้าเหมือน “เอกภาพ” จนนายทุนย้ายโรงพิมพ์จากถนนกระออม ไปเซ้งตึกเก่าของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ถนนพระสุเมรุ ผ่านฟ้า ซึ่งต่อมาก็คือสำนักงานของ นสพ.บางกอกเวิลด์ ปัจจุบันเป็นภัตตาคารนิวออร์ลีน ขายสเต็ก สั่งแท่นพิมพ์ใหม่มาจากญี่ปุ่น ซ่อมแซมตึกเสียโก้ แต่ยังไม่ทันหมดกลิ่นสี ก็ถูกสั่งปิดโดยเจ้าเก่า ข้อความที่ถูกสั่งปิดในครั้งนั้นเป็นเพียงข่าวสังคมหน้า ๔ สั้นๆ มีข้อความทำนองว่า
...วันนี้ ครม.งดประชุม เพราะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ป่วยกะทันหัน ไม่รู้ว่าประชาชนต้องเสียภาษีฟรีไปเท่าไหร่...
“ความจริงอ่านแล้วก็อยากจะเตะคนเขียนเหมือนกัน ไม่รู้ไปเขียนกระตุกหนวดเสือแบบนี้ได้อะไรขึ้นมา ที่โดนปิดก็คงมีเหตุสะสมมาก่อน เลยได้โอกาสในตอนนี้ ปิดมันเสียเลย”
จาก “เสรีไทย” ต้องเวียนว่ายไปตาม นสพ.รายวันหลายฉบับ และเปลี่ยนหน้าที่ได้ทำเกือบทุกหน้าก็ว่าได้ รวมทั้งเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการผู้จัดทีม และรักษาการแทนบรรณาธิการในยุคที่จดทะเบียนหนังสือใหม่ไม่ได้ นายทุนต้องไปเช่าหัวหนังสือคนอื่นมาทำ ส่วนใหญ่ก็ถูกให้ควบหน้าบันเทิงไว้ด้วย จนคุ้นเคยสนิทสนมกับคนในแวดวงนี้เป็นอย่างดี ตกงานจากรายวันก็หันไปเขียนนิตยสารบันเทิง อย่าง ดาราไทย ผดุงศิลป์ ดารา แดนดารา
* โรมรำลึก
จาก “เคาบอยม้าแกลบ”
สู่ไอ้เสือมือเปล่า *
จากเขียนข่าวดาราก็ได้เป็นดาราบ้าง เมื่อถูกเลือกให้แสดงนำในละครทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม ในยุคขาว-ดำ และต้องแสดงออกอากาศกันสดๆ ไม่ได้ถ่ายทำแล้วตัดต่อก่อนเหมือนตอนนี้ เรื่องหนึ่งแนวนักเลงปืนในชื่อ “วันเดี่ยว” ที่แสดงคู่กับ ส.อาสนจินดา ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เลยต้องไปเป็นพระเอกหนังคู่กับ “พี่ ส.” และได้รับฉายาเสียโก้ว่า “พระเอกเคาบอยไทยคนแรก” แต่เคาบอยไทยก็ไม่ได้เกิด ตกม้าไหล่หักต้องเข้าเฝือกอยู่ ๓ อาทิตย์ หนังเขาเลยเปลี่ยนไปถ่ายเรื่องอื่น แต่ก็ได้ขึ้นจอต่อมาในเรื่อง “วันปืน”
“จากเรื่องวันเดี่ยว เลยทำให้ได้ฉายาว่า “ม้าแกลบ” เพราะ “ป้อม ปราการ” หัวหน้าข่าวบันเทิง ไทยรัฐ ซึ่งเป็นเพื่อนรัก พอรู้ว่าผมจะเล่นหนังเป็นเคาบอย มันก็ร้องว่าตัวเท่าลูกหมาอย่างมึงน่ะหรือจะเป็นเคาบอย จะขี่ได้ก็แค่ม้าแกลบเท่านั้น แล้วมันก็เขียนถึงผมทุกครั้งว่า เคาบอยม้าแกลบ คนอื่นๆ ก็เขียนตาม ต่อมาคำว่าเคาบอยก็หายไป เหลือแต่ม้าแกลบ” ลุงโรมรำลึกถึงความหลัง
ตอนไปคลุกคลีวงการหนัง เลยหาลำไพ่ด้วยการรับทำโฆษณาหนังด้วย ในปี ๒๕๐๘ ทำโฆษณาเรื่อง “ปลาบู่ทอง” เข้าฉายที่ศาลาเฉลิมบุรี และ “ชุมทางเขาชุมทอง” เข้าที่ศาลาเฉลิมกรุงพร้อมกัน ทำรายได้ดีทั้งคู่ เลยร้อนวิชายื่นเสนอโครงการสร้างหนังนิทานพื้นบ้านเรื่อง “โสนน้อยเรือนงาม” ให้บริษัทสหซีนีมาของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้รับอนุมัติให้สร้างพร้อมมีเงินสนับสนุน เลยได้เป็นผู้อำนวยการสร้างประเภท “ไอ้เสือมือเปล่า” แต่พอฉายก็ได้หนี้มาเยอะ กว่าจะหลุดหนี้ได้ก็ต้องทำต่อมาอีกหลายเรื่อง ทั้งในระบบ ๑๖ มม.อย่าง “๑๖ ปีแห่งความหลัง” และ ๓๕ มม.ซีนีมาสโคป อย่าง “วิวาห์ลูกทุ่ง”
“อีกเรื่องหนึ่งของความภูมิใจ เมื่อ วันชัย อรรถเวทย์วรวุฒิ ตั้งบริษัทครีเอชั่น สร้างหนังไทยออกตลาดโลก ได้เลือกเรื่อง “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่เสนอไปสร้างเป็นเรื่องแรก โดยให้เขียนบทและกำกับการแสดงด้วย นำ หลอหลี เถียนหนี ดาราดังของฮ่องกงมาแสดงร่วมกับ สมบัติ เมทะนี และ ธัญญารัตน์ โลหะนันท์ มี อู๋หม่า เป็นผู้กำกับฝ่ายฮ่องกง ถ่ายทำในระบบพานาวิชั่นเป็นเรื่องแรกของหนังไทย และอาจเป็นหนังเรื่องแรกของโลกที่เป็นเรื่องราวการเดินทางของฝิ่น จากดอกฝิ่นจนถึงชายทะเลไทย ไม่ใช่หนังค้ายาเสพติดในเมือง
พูดกันว่า เขานี่แหละเป็นผู้ตั้งชื่อไฟว์สตาร์ ทั้งยังเป็นผู้ออกแบบตราบริษัทแรกด้วย
“ตอนผมสร้างวิวาห์ลูกทุ่ง ได้มอบให้อัศวินภาพยนตร์เป็นผู้จัดจำหน่าย เลยได้สนิทสนมกับคุณเกียรติ เอี่ยมพึ่งพร ที่เป็นบุคเกอร์ ตอนคุณเกียรติจะตั้งห้างหุ้นส่วนจัดจำหน่ายหนังต่างประเทศ ให้ช่วยตั้งชื่อให้ ผมเคยชอบตราที่มีเลข ๕ และมีดาว ๕ ดวงล้อม ก็เลยให้ชื่อไฟว์สตาร์ พร้อมทั้งใช้ตรานี้จดทะเบียน ไม่ได้เกี่ยวกับมีหุ้นส่วน ๕ คนอะไรเลย” โรม บุนนาค เผยเบื้องหลัง
“พอคุณเกียรติตั้งบริษัทไฟว์สตาร์โปรดักชั่นสร้างหนังไทย โรม บุนนาคก็เป็นที่ปรึกษาและหาผู้กำกับบางคนไปให้ จนวันหนึ่งเกียรติ เอี่ยมพึ่งพรก็บอกว่า “ถึงทีของคุณเสียทีสิ” จึงได้เข้าสังกัดเป็นผู้กำกับของไฟว์สตาร์ เริ่มด้วย “รักเธอเท่าช้าง” เพราะเชื่อว่าความน่ารักของช้างจะเรียกความนิยมจากคนดูได้ เผอิญได้ข่าวว่ามีคณะละครช้างจากชัยภูมิมาเปิดแสดงที่กรุงเทพฯ จึงตามไปดู และเก็บการแสดงน่ารักของช้างมาเขียนเป็นบท แต่ใกล้จะถ่ายแล้วก็ยังหาชื่อไม่ได้ วันหนึ่งนั่งรถไปกับ เจน จำรัสศิลป์ นักข่าวรุ่นพี่ที่เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ “สารเสรี” พอเล่าเรื่องให้ฟังและบอกว่ายังหาชื่อเรื่องไม่ได้ เจน จำรัสศิลป์ ก็โพล่งออกมาว่า
“ก็ ‘รักเธอเท่าช้าง’ ซี”
พอกลับบ้านไปเล่าให้ลูกเมียฟัง ต่างก็หัวเราะชอบอกชอบใจ ก็เลยใช้ชื่อนี้
เจน จำรัสศิลป์ คนนี้เหมือนกัน ที่ตั้งฉายาให้ เพชรา เชาวราษฎร์ ตอนมาเล่นหนังเรื่องแรกว่า “ดาราสาวนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง”
* ซูเปอร์สตาร์หนังตลก *
โรม บุนนาค ได้รับมอบหมายจากไฟว์สตาร์ ให้ทำหนังในแนวตลก ซึ่งเป็นหนังครอบครัว และลงทุนไม่มาก แต่ก็มักถูกจัดให้เข้าฉายในโปรแกรมสำคัญรับปีใหม่หรือตรุษจีน ที่เป็นรายการทองของปี มียักษ์ชนยักษ์ทั้งหนังฝรั่งและหนังไทย ไฟว์สตาร์จึงหลบเอาหนังตลกลงสู้ ถ้าแพ้ก็ไม่ขาดทุน แต่ถ้าจังหวะดีก็ได้ล้มยักษ์ ซึ่งไม่เคยผิดหวัง
“ความจริงผมก็อยากจะทำหนังแนวอื่นบ้าง แม้แต่เรื่อง “บ้านทรายทอง” ที่รุจน์ รณภพ สร้าง ผมก็เป็นคนซื้อเรื่องมาจาก ก.สุรางคนางค์ แต่คุณเกียรติท้วงว่า ผมจะหันไปทำแนวอื่นทำไม แค่ไฟว์สตาร์ประกาศว่าจะสร้างหนังเรื่องใหม่ของผมในแนวตลก ก็ขายได้ในราคาหนังดังแล้ว เปลี่ยนไปก็ต้องเสี่ยงอีก ผมเลยยอมจำนนต่อเหตุผลนี้”
ตอนนั้นบริษัทโกดักตั้งรางวัล “ล้อฟิล์มทอง” ให้หนังที่ทำรายได้เกิน ๓ ล้านบาทขึ้นไปในโรงแรก โรม บุนนาคก็ได้รับรางวัลนี้จาก “รักเธอเท่าช้าง” ปีต่อไปรางวัลขยับขึ้นไปเป็น ๔ ล้านบาท ก็ได้รับอีกจาก “ยอดตาหลก”
หนังที่สร้างให้ไฟว์สตาร์ นอกจากกำกับการแสดงและเขียนบทแล้ว ยังเขียนเรื่องเองด้วย ทั้งๆ ที่เป็นคนไม่ชอบอ่านนิยาย แต่อาศัยที่ดูหนังมาก เลยพอเข้าใจลีลาของหนังมากกว่าการอ่าน ทั้งยังเขียนเรื่องเขียนบทให้คนอื่นสร้างด้วย อย่าง “๔ อันตราย” ที่ “แจ๊สสยาม” สร้างเป็นเรื่องแรก และ “โอวตี่” ที่ “แสนยากร” ผู้กับหนังไต้หวันหันมาสร้างหนังไทย
“ก็ภูมิใจทุกเรื่องที่มีคนดูมากนั่นแหละ” โรม บุนนาค กล่าวแซมรอยยิ้มที่มุมปาก
“อย่างเวลาหนังฉาย ผมมักจะเข้าไปนั่งดูด้วย อยากรับรู้ถึงความรู้สึกของคนดูในฉากต่างๆ สามเหลี่ยมทองคำ แม้จะทำเงินในประเทศได้ไม่มาก แต่ก็เป็นหนังใหญ่ที่สุดที่ทำมา เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ออกฉายในต่างประเทศ และ เป็นหนังไทยเรื่องแรกด้วยที่ถ่ายในระบบพานาวิชั่น เมื่อออกข่าวไปว่าลงทุน ๑๐ ล้าน คนก็ว่าโม้ หนังไทยตอนนั้นลงกันแค่ ๓-๔ ล้านก็มากแล้ว แต่ความจริงตอนปิดบัญชีหมดไปถึง ๑๓ ล้าน หรืออย่าง “สองผู้ยุ่งเหยิง” ทำเงินได้ดีแม้จะฉายในขณะน้ำท่วมกรุงเทพฯ รวมทั้งท่วมหน้าโรงที่ฉายด้วย แต่เป็นหนังที่ใช้เวลาสร้างเร็วที่สุด จากเปิดกล้องใช้เวลาแค่ ๒๘ วันก็ได้ดูก็อปปี้แรกแล้ว หรือมนต์รักขนมครก ที่ไฟว์สตาร์มอบให้คุณชัย ราชวัตร เขียนแบบโฆษณา ผมภูมิใจมากที่คุณชัยเลือกที่จะขายรูปผู้กำกับ แทนที่จะขายดาราอย่างหนังเรื่องอื่นๆ ส่วนหนังที่ทำรายได้สูงที่สุดของผมคือ ยอดตาหลก ซึ่งคนตั้งชื่อเรื่องให้ก็คือคุณเกียรติ เอี่ยมพึ่งพร”
แล้วเหตุใดถึงเลิกทำหนังกับไฟว์สตาร์? เราโยนคำถาม
“ก็ไม่คิดจะเลิกหรอก แต่ในเรื่องสุดท้ายของผมคือ หนึ่งในล้าน มีปัญหาที่หาเฮลิคอปเตอร์ปิดกล้องไม่ได้ ตอนนั้นยังไม่มีให้เช่า มีแต่ของตำรวจทหาร แต่ก็ขึ้นกับสถานะ ไปเจอช่วงที่ไม่มีใครกล้าบิน กว่าจะปิดกล้องได้ด้วยบอลลูน ก็กลายเป็นหนังค้างปีแล้ว ออกฉายก็ไม่ประสบความสำเร็จ ผมก็เลยห่อเหี่ยว มีเรื่องใหม่ที่อยากจะทำ เป็นหนังเกี่ยวกับสัตว์เหมือนกัน คงจะจำหนังเรื่องบิวตี้ฟูลพิเพิล หรือ สัตว์โลกผู้น่ารักได้ ทำเงินถล่มทลายที่โรงเอเธนส์ ผมดูหนังเรื่องนี้เป็นร้อยครั้ง เพราะเป็นคนตัดต่อแก้ไขคำบรรยายให้ลงตัวกับภาพ และคุมการบันทึกเสียงเองด้วย จึงอยากจะทำในแนวนี้บ้าง แต่ใช้ดาราเข้าร่วมแสดงด้วย ไม่ใช่ทำแบบหนังสารคดี
“แต่มีปัญหาที่ดาราดังตอนนั้นมีคิวแน่น ถ่ายกันทีหลายๆ เรื่องพร้อมกัน ไม่สามารถเอาเข้าไปตั้งกองถ่ายในป่าได้ คิดว่าจะใช้ผู้แสดงใหม่ และยังประทับใจกับคำพูดของคุณเจริญ เอี่ยมพึ่งพร เมื่อผมบอกว่าจะทำหนังแบบนี้ คุณเจริญถามว่าจะให้ขายอะไร ถ้าไม่มีดาราดัง จะขายสัตว์ บริษัทคงขายให้ไม่ได้แน่ ไม่มีใครกล้าซื้อ และถ้าเข้าโรงฉายไม่ได้เงินอีก ก็ยับเยินแน่ แต่ถ้าฉายแล้วโกยเงิน สายทั้งหลายก็จะวิ่งมาซื้อในราคาหนังทำเงิน มีกำไรมหาศาล ให้ผมตัดสินใจเอง ถ้ามั่นใจก็เอาเลย บริษัทพร้อมจะเสี่ยงด้วย ถ้าขาดทุนเรื่องนี้ บริษัทก็ยังมีเรื่องที่ทำกำไรอีกหลายเรื่อง แต่ผมเป็นฝ่ายฝ่อเอง ไม่กล้าเสี่ยง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขาดทุนด้วย”
* เพราะรักในอักษร
จึงย้อนมา... *
ช่วงเวลาที่ยังลังเลเก้ๆ กังๆ อยู่นั้น ก็มีพรรคพวกมาชวนไปทำนิตยสาร “มติครู” รายเดือน ก็เห็นว่าน่าสนุกดี เปิดโลกใหม่ดูบ้าง เข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการ และมีคอลัมน์ “เยี่ยมโรงเรียน” และออกไปเยี่ยมครูและโรงเรียนที่น่าสนใจเป็นประจำในนามบรรณาธิการ เป็นครั้งแรกที่ใช้ชื่อจริงในการเขียนหนังสือด้วย แต่ก่อนใช้นามปากกาก็เหมือนนามปากกาเฉพาะกิจ เปลี่ยนไปเรื่อยเพราะไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญ บางทีก็ลืมว่าใช้นามปากกาอะไรไป
“นอกจากนี้ พรรคพวกที่ทำหนังสือ “มติครู” ยังเอาหัวหนังสืออีกเล่มมาให้ทำในชื่อ “เรื่องจริงระทึกใจ” ให้หาเรื่องประเภทเหลือเชื่อมาลง แต่ฟังแล้วไม่แฮปปี้ แถมยังไม่ตื่นเต้นกับเรื่องประเภทนี้ด้วย จึงเล่าเรื่องที่เคยอ่านจากพงศาวดารให้ฟัง ๒-๓ เรื่อง ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบของคนที่ฟัง ที่ประชุม เลยลงมติให้เปลี่ยนแนวเป็นเกล็ดประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยมีนิตยสารในแนวนี้”
เมื่อหนังสือออกวางตลาดไป ๒-๓ ฉบับ ก็มีคนดั้นด้นมาขอซื้อเล่มเก่าถึงโรงพิมพ์ บอกว่าไม่นึกว่าจะมีเรื่องอย่างนี้อยู่ในประวัติศาสตร์ ทำเอาคนทำคนลงทุนหน้าบานไปตามกัน แต่หนังสือฉบับนี้ก็ทู่ซี้อยู่ได้ปีกว่า คนลงทุนก็ถอดใจ เพราะขาดทุนมาตั้งแต่เล่มแรก คนที่ชื่นชอบแบบนี้น้อยเหลือเกิน ส่วนใหญ่พอรู้ว่าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ก็ไม่ยอมเปิดแล้ว
“แต่ก็เป็นจุดเปลี่ยนให้ผมเน้นมาเขียนเรื่องเกล็ดประวัติศาสตร์ ซึ่งก็ชอบอ่านอยู่แล้ว ความจริงเรื่องประเภทนี้มีอยู่ในพงศาวดารหรือเอกสารเก่าๆ ทั่วไป แต่นักประวัติศาสตร์เขาไม่ค่อยสนใจ เพราะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตที่มีผลต่อบ้านเมือง อย่างเช่นมีฝรั่งเศสสองพี่น้อง แล่นสำเภาเข้ามาท้าพนันชกกับคนไทย กรมพระราชวังบวรท่านเห็นว่าถ้าไม่รับคำท้าก็จะหาว่าเมืองไทยหาคนมีฝีมือไม่ได้ แต่พอขึ้นเวที นักมวยไทยก็ใช้กลยุทธ์ถอยแล้วชกสกัด ไม่ปะทะด้วย ฝรั่งผู้พี่เห็นน้องถูกชกอยู่ข้างเดียว เลยเข้าดันหลังนักมวยไทยไว้ไม่ให้ถอย เลยได้เรื่อง กรมพระราชวังบวรท่านว่าท้าชกกันตัวต่อตัวไฉนช่วยกันเป็นสองคนเล่า ว่าแล้วก็ทรงเผ่นไปที่เวที ลงพระบาทกับฝรั่งเศสผู้พี่ บรรดาข้าราชบริพารทั้งหลายจึงโดยเสด็จตามเจ้านาย จนฝรั่งเศสสองพี่น้องหมอบคาเวทีต่อหน้าพระพักตร์รัชกาลที่ ๑ เรื่องนี้อยู่ในพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ นั่นเอง”
หนังก็ทำมาแล้ว เขียนหนังสือมาหรือก็มาก สิ่งที่รักนั้นคงไม่ต้องถาม แต่หากจะถามถึงความสนุก รื่นรมย์ โรม บุนนาค ลากความคิดผ่านน้ำเสียงวัย ๘๒...
“ถ้าทำอะไรด้วยความรัก มันก็สนุกทั้งนั้น และทำให้เรามีความสุข แต่ทำหนังสมัยก่อนเหนื่อยมาก วันไหนจะไปถ่ายหนังก็นอนไม่หลับเลย แม้แต่ตอนเดินทางไปกองถ่ายในเช้าวันถ่าย ใจคอก็ไม่สงบ ไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ตอนนั้นดาราก็เบี้ยวกันบ่อย นัดกันแล้วไม่ไปเสียดื้อๆ บางทีเทวดาก็ไม่เป็นใจ แทนที่จะส่งแดดมากลับเป็นฝน ถ้ายกกองไปแล้วถ่ายไม่ได้ ค่าใช้จ่ายก็เท่ากัน แต่ไม่ได้งานกลับมาเลย อุปกรณ์กองถ่ายสมัยก่อนที่ไม่ค่อยขาดกันก็คือ ธูป ที่ต้องจุดบนบานกันเป็นประจำ”
เมื่อพูดถึงงานในพ็อคเก็ตบุ๊คราว ๔๐ เล่มของเขา เกือบทั้งหมดสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คจัดพิมพ์ให้ เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ทั้งนั้น ที่สำนักพิมพ์อื่นก็มีบ้าง ที่สำนักพิมพ์ Dดี มีเรื่อง “ขอพื้นที่เพียง ๔ ตารางวา เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นและชีวิตยืนยาว ปลูกผักข้างรั้ว” กับ “แผ่นดินไหวภัยใกล้ตัว เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ใช้นามปากกา สุมน สิริมา
“ผมว่าเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยเรา เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ น่าอ่านนะ ทำให้รู้ว่ากว่าเราจะมีวันนี้ได้ บรรพบุรุษของเราต้องเสียสละกันมาแค่ไหน ทั้งเลือดเนื้อและชีวิต วีรชนในประวัติศาสตร์ล้วนแต่รักชาติมากกว่าชีวิตตัวเองทั้งนั้น เราจึงมีวันนี้ และถ้าเราไม่รู้อดีต ก็ย่อมไม่เข้าใจปัจจุบัน และไม่อาจคาดเดาอนาคตได้ เพราะอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ย่อมโยงใยถึงกัน มีคำกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ย่อมซ้ำรอย เราเห็นเหตุการณ์ในวันนี้ ก็พอจะคาดเดาได้ว่ามันจะจบลงอย่างไร ยากที่กงล้อประวัติศาสตร์จะเบี่ยงเบน เหมือนทำกรรมอะไรไว้ ก็ต้องรับกรรมตามที่ทำไว้นั่นแหละ อยากจะบอกคนที่มีบทบาทอยู่ในสังคมขณะนี้ไว้ว่า จะทำอะไรก็ขอให้นึกถึงการบันทึกของประวัติศาสตร์ไว้บ้าง ลูกหลานจะไม่ต้องรับกรรมที่ตัวทำไว้”
“แต่ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์หรอกนะ ผมเป็นแค่นักเขียนที่ชอบเขียนเรื่องเกล็ดประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่ก็จะเน้นแต่เรื่องสนุกๆ ตามรสนิยม และไม่ใช่นักประพันธ์ที่แต่งเรื่องเองด้วย ผมเคยเขียนไว้ในคำนำหนังสือ ๑๐๐ เรื่องเก่าเล่าสนุกว่า ผมภูมิใจในหนังสือเล่มนี้ แต่ขอยืนยันว่าผมไม่ได้แต่งเลยแม้แต่เรื่องเดียว เก็บจากที่มีบันทึกไว้ในที่ต่างๆ หรือที่เล่ากันมา”
“เบ้าหลอมในการเขียนหนังสือของผม นอกจากการเป็นนักอ่านแล้ว ก็มาจากการเป็นคนข่าว ผมคิดว่าผมเขียนได้ทุกเรื่องที่มีหัวข้อ ก็เหมือนที่เราทำข่าวกันได้ทุกข่าวนั่นแหละ อยู่ที่ว่าจะสืบเสาะหรือค้นคว้าได้ลึกแค่ไหน ส่วนแหล่งค้นคว้านั้น ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และหอสมุดแห่งชาติ ชั่วชีวิตนี้ก็เขียนกันไม่หมด คนรุ่นใหม่ควรจะไปช่วยกันค้นเอาออกมาเผยแพร่บ้าง จะได้มีมุมมองที่ต่างๆ กันออกไป ผมก็เคยเป็นคนที่ไม่ชอบเรียนประวัติศาสตร์ เพราะเบื่อที่จะท่องจำวัน เดือน ปี พ.ศ. แต่พอตัดความใส่ใจในเรื่องนี้ออกไป สนใจแต่เหตุการณ์และยุคสมัย กลับเป็นเรื่องสนุกน่าสนใจ บางเรื่องก็สนุกกว่านิยายเสียอีก ความจริงนิยายก็มาจากเรื่องจริงนั่นแหละ แต่พอรู้ว่าแต่งเติมเสริมเข้าไป รสชาติก็ต่างจากที่เป็นเรื่องจริงแท้ๆ ความรู้สึกจะลงลึกไปถึงความดีใจ ภูมิใจด้วย”
“สิ่งต่างๆ รอบตัวเราในบ้านเมืองก็ตาม แม้เราจะเดินผ่านอยู่ทุกวัน ถ้าไม่ได้ให้ความสนใจ ก็เหมือนเดินผ่านคนแปลกหน้า แต่ถ้าเรารู้ถึงความเป็นมา เราจะรู้สึกว่าเป็นสิ่งมีค่าที่น่าภูมิใจและน่าหวงแหน”
* “สนธยา” ยัง “เยาว์” *
ในวัย ๘๒ โรม บุนนาค ยังดูกระฉับกระเฉง ราวกับว่าไม่มีท่าทีของชายชรา และยังขับรถไปได้ทั่วประเทศ เชื่อว่า “คุณลุง” คงต้องมีวิธีดูแลสุขภาพและออกกำลังกายเป็นพิเศษเป็นแน่
“เปล่า ไม่มีเลย” ลุงโรม ตอบอย่างรวดเร็ว
“ผมไม่ได้เคร่งครัดอะไรกับมันมาก เพียงแต่ว่าไม่ใช้มันอย่างสมบุกสมบันเกินกำลัง แต่หาโอกาสเคลื่อนไหวตลอดเวลา ตื่นเช้าก็เดินไปซื้อหนังสือพิมพ์ เดินไปตลาด ถ้าไม่ไปไหนไกล เดินใกล้ๆ ก็เดินให้เร็วจะได้เหนื่อยหน่อย ผมไม่ได้เล่นกีฬา และไม่ได้ออกกำลังกายเป็นพิเศษ ส่วนอาหาร เรียกได้ว่ากินทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่ไม่ได้กินอะไรจำเจ อะไรที่ไม่ควรกินก็กินให้น้อย อย่างของมันๆ ของรสจัด และไม่ดื่มด่ำกับรสอาหารจนพุงกาง ที่สำคัญอย่าขาดออกกำลังสมองด้วย สมองเหมือนกองบัญชาการ ถ้ามันฝ่อเสียแล้ว ร่างกายก็กะปลกกะเปลี้ยไปด้วย ถ้าสมองยังกระปรี้กระเปร่า ร่างกายก็ยังกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ”
เมื่อพูดถึงหลักการในการทำงาน...
“ผมทำทุกอย่างด้วยใจรัก ถ้าไม่รักหรือทำในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย ก็ไม่มีอารมณ์จะทำ เมื่อตัดสินใจจะทำแล้วก็ไม่คิดว่าจะได้อะไร สิ่งที่ต้องการที่สุดในการทำงานก็คือ โอกาส เมื่อมีโอกาสทำอะไร ก็ต้องทำอย่างสุดๆ ที่จะทำได้ ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นทำได้ดีกว่า แต่ถ้ามีฝีมืออยู่แค่นั้น..ก็แค่นั้นแหละ ช่วยไม่ได้”
พอสรุปได้หรือยังกับการเดินทางของชีวิต?
“ก็ภูมิใจตลอดเส้นทางที่เดินมาจนมาถึงจุดนี้ และมีผลงานฝากไว้บ้าง ชีวิตก็เท่านี้แหละ มองโลกในแง่ดี ความสุขก็มีอยู่รอบตัว ไม่ต้องไปไขว่คว้าหามาจากไหน”
___________________________
เรื่อง : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา, ปาณิสรา บุญม่วง
ภาพ : ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม