xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! ย้อนรอย “มหากาพย์โกงฟีฟ่า” โยง “กีฬา-การเมือง-พลังงาน-นายทุนไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเอพี
ASTVผู้จัดการ - สิ้นเสียงการประกาศผลการเลือกตั้งประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ว่า นายเซ็ปปต์ แบล็ตเตอร์ วัย 79 ปีได้ดำรงตำแหน่งประธานฟีฟ่าติดต่อกันเป็นสมัยที่ 5 เมื่อวานนี้ (29) ตามเวลาท้องถิ่นของนครซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามหลังมาอย่างอื้ออึง

ไม่ว่าจะเป็น หลุยส์ ฟิโก อดีตดาราลูกหนังชาวโปรตุเกสที่ออกมาบอกว่าตนรู้สึกผิดหวังกับผลการลงคะแนน "วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งอันแสนมืดมน ที่เมืองซูริค ฟีฟ่า พ่ายแพ้ เหนือสิ่งอื่นใดวงการฟุตบอลพ่ายแพ้ และทุกๆ คนที่ทุ่มเทกับฟุตบอลก็แพ้ไปด้วย"

หรือแม้แต่บุคคลระดับผู้นำประเทศอย่าง นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งในประเทศมาหมาดๆ ก่อนหน้านั้นก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นายใหญ่ฟีฟ่าอย่างรุนแรงว่า แบล็ตเตอร์ต้องลาออก เพราะข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชันขนาดใหญ่ในองค์กรระดับโลกอย่างฟีฟ่านั้น เป็นด้านอัปลักษณ์ของเกมกีฬาที่สวยงาม ทั้งนี้หากแบล็ตเตอร์ลาออกเร็วเท่าไหร่ ฟีฟ่าก็จะกู้คืนชื่อเสียงกลับมาได้รวดเร็วเท่านั้น

Cameron On Blatter: "In My View He Should Go"

Here's what David Cameron has to say about Sepp Blatter and #FIFA

Posted by Sky News on Friday, May 29, 2015

คลิปจากเฟซบุ๊ก Sky News

เสียงวิพากษ์วิจารณ์แบล็ตเตอร์ กลับมาดังกระหึ่มขึ้นอีกครั้งภายหลังเมื่อวันพุธที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักงานสอบสวนกลาง สหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ประสานงานกับเจ้าหน้าที่สวิตเซอร์แลนด์บุกรวบตัว กรรมการบริหารฟีฟ่าจำนวน 6 คน ถึง Baur au Lac hotel โรงแรมหรูระดับ 5 ดาวโรงแรมกลางเมืองซูริค พร้อมตั้งข้อกล่าวหาทุจริต และพัวพันกับการคอร์รัปชันคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาทแก่ เจ้าหน้าที่ระดับสูง อีก 14 คน ขณะที่แบล็ตเตอร์ซึ่งรับหน้าที่บิ๊กบอสของฟีฟ่า นับตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งปล่อยให้เกิดเรื่องทุจริตครั้งมโหฬารขึ้น ก็ได้แต่บอกว่าตนไม่สามารถควบคุมทุกคนได้
ภาพเอพี
เสียงวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความผิดหวังอย่างรุนแรงต่อฟีฟ่า และเซ็ปปต์ แบล็ตเตอร์ จากบุคคลระดับผู้นำประเทศและอดีตผู้นำประเทศอย่างที่เดวิด คาเมรอน ระบุไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่หากย้อนกลับไปในเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งในการคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2022 ที่นครซูริค ซึ่งมีตัวเลือกอยู่ 5 ประเทศคือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และกาตาร์ โดยในรอบสุดท้ายที่ต้องชิงดำกันระหว่าง สหรัฐอเมริกากับกาตาร์ บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของสหรัฐฯ ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ถึงกับแสดงความผิดหวัง และถึงขั้นโกรธแทบควันออกหู เมื่อประธานฟีฟ่าประกาศออกมาว่า ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 จะไปจัดในดินแดนที่ไม่เคยจัดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาก่อน นั่นคือ “กาตาร์”

ตั้งแต่นั้น ความผิดปกติในการเลือกกาตาร์ ดินแดนกลางทะเลทรายเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ก็ถูกทางการ เจ้าหน้าที่และสื่อของประเทศต่างๆ ขุดคุ้ยออกมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องเพราะ ทางหนึ่งการเลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกนั้นเป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงสูงมากในหลายๆ ด้าน ทั้ง สภาพภูมิอากาศ, ระยะเวลาจัดการแข่งขัน, ความพร้อมของสนามแข่งขันและสถานที่จัดการแข่งขัน ฯลฯ ไม่นับเงินลงทุนที่ต้องใช้ในการก่อสร้างและจัดการแข่งขันอีกนับแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (อ่านเพิ่มเติม : หายนะบอลโลกปี 2022 กาตาร์จัดแล้วจะหนาว)

นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญกว่าความเสี่ยงที่จะไม่สามารถจัดการแข่งขันได้นั่นคือ การทุจริตภายในหมู่กรรมการและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฟีฟ่า โดยกรณีทุจริตในฟีฟ่าที่อื้อฉาวที่สุดที่หลุดออกมาสู่สายตา และการรับรู้ของชาวโลกก็คือ กรณี โมฮัมเหม็ด บิน ฮัมมัม อดีตประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของวงการฟุตบอลกาตาร์ ที่ถูกตัดสินให้ต้องรับโทษแบนจากกิจกรรมของวงการฟุตบอลโลกตลอดชีวิตถึงสองครั้งจากกรณีการติดสินบนกรรมการผู้ลงคะแนนคนอื่นในการเลือกตั้งประธานฟีฟ่าก่อนหน้านี้ รวมไปถึงการพัวพันกับความไม่ชอบมาพากลในการคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2018 ที่รัสเซีย และ 2022 ที่กาตาร์

ด้าน หนังสือพิมพ์เดอะ เทเลกราฟของอังกฤษ ยังระบุไว้ในรายงานเรื่อง Qatar World Cup 2022 scandal: Bill Clinton’s fury at vote triggered global search for truth ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 อ้างว่าเรื่องราวการทุจริตของบิน ฮัมมัม ยังน่าจะมีความเชื่อมโยงกับ มิเชล พลาตินี ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟา) ชาวฝรั่งเศส และ ประเทศไทย อีกด้วย

“เวลานี้ เดอะ เทเลกราฟ พบว่ามิเชล พลาตินี ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟา เคยจัดการนัดพบลับๆ กับนายบิน ฮัมมัม เพื่อให้ประเทศไทยช่วยลงคะแนนให้กาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก เพื่อแลกกับผลตอบแทนคือข้อตกลงทางด้านก๊าซ" เดอะเทเลกราฟระบุในรายงานเมื่อราว 1 ปีก่อน
ภาพเอพี
การทุจริต คอร์รัปชันในวงการฟุตบอลระดับสูงสุดของโลก และการคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก มาเกี่ยวพันกับประเทศไทยได้อย่างไร หลายคนตั้งข้อสงสัย?

• สัมพันธ์ “ฟีฟ่า-กาตาร์-รัฐบาลยิ่งลักษณ์-บังยี-ปตท.”

จากการฐานข้อมูลทีมข่าว ASTVผู้จัดการ พบว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557 เดอะเทเลกราฟ สื่อหนังสือพิมพ์อังกฤษออกมาแฉว่าการที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 โดยมีคนไทยและบริษัทไทยในตลาดหลักทรัพย์โดนหางเลขไปด้วย โดยสื่อดังกล่าวอ้างว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของไทยก็ได้สัญญาธุรกิจค้าก๊าซกับประเทศกาตาร์ ผ่าน นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย

“เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับธุรกิจก๊าซกับประเทศไทย และเป็นที่เข้าใจกันว่า นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อตกลงทางธุรกิจ โดยกาตาร์แก๊สได้เซ็นสัญญากับ ปตท. ของไทยเมื่อปี 2555 (ค.ศ. 2012) และระบุว่า ปตท. เป็นผู้สนับสนุนของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย โดย ปตท. จะเป็นผู้จัดส่งก๊าซจำนวน 2 ล้านตันให้กับประเทศในตะวันออกไกล โดยการติดต่อทั้งจดหมายและอีเมลระหว่าง โมฮาเหม็ด บิน ฮัมมัม กับเจ้าหน้าที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย แสดงถึงความเกี่ยวพันกับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์” (อ่านเพิ่มเติม : Qatar World Cup 2022: France embroiled in corruption scandal)

ภายหลังสื่อต่างประเทศกล่าวหา วันที่ 5 มิถุนายน 257 ปตท. ก็ทำหนังสือแจงการทำสัญญาซื้อก๊าซกับ บริษัท กาตาร์แก๊ส เป็นไปอย่างโปร่งใส ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวอ้างถึงหนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟ ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัท Qatar Liquefied Gas Company Limited (กาตาร์แก๊ส) ว่ามีความเกี่ยวข้องกับ นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ นายโมฮาเหม็ด บิน ฮัมมัม เพื่อผลประโยชน์เรื่องการคัดเลือกประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ และประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 นั้น ปตท. ขอยืนยันว่า การทำสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG กับบริษัท กาตาร์แก๊ส ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติของประเทศกาตาร์ ในรูปแบบสัญญาระยะยาวแบบรัฐต่อรัฐ เป็นไปอย่างโปร่งใส โดยเมื่อปี 2553 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ ปตท. จัดหาก๊าซ LNG ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) จากนั้น กพช. และ ครม. ได้เห็นชอบให้ ปตท. จัดหาและลงนามสัญญาซื้อก๊าซ LNG จากบริษัท กาตาร์แก๊ส ในเดือน ต.ค. 2555 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี หลังจากที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติประชุมคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2022 ในเดือน ธ.ค. 2553
นายวรวีร์ มะกูดี (แฟ้มภาพ)
“ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติของประเทศ ขอยืนยันในบทบาทหน้าที่ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ควบคู่กับการดูแลรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่ยึดถือปฏิบัติตลอดมา ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ด้วยการคำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยรวม มีคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้” นายไพรินทร์ กล่าวเสริม

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่ถูกสื่ออังกฤษอ้างว่าเป็นโซ่ข้อกลางของดีลนี้คือ นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และผู้บริหารระดับสูงของฟีฟ่าได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าไทยในช่วงระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม 2554 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 โดยนายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าผู้แทนการค้าไทย มอบหมายให้นายวรวีร์ดูแลการค้ากลุ่มประเทศตะวันออกกลางเป็นหลัก
โจเซฟ  แบล็ตเตอร์ ประธานฟีฟ่า เป็นประธานเปิดสนามหญ้าเทียม  โดยมี นายกนกพันธุ์  จุลเกษม ผู้ว่าการ กกท. และนายวรวีร์  มะกูดี  นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ  ร่วมพิธี  ณศูนย์ฟุตบอลแห่งชาติ  เขตหนองจอก  กทม. เมื่อวันที่  16 กันยายน  2552 (แฟ้มภาพจากการกีฬาแห่งประเทศไทย)
ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่นายวรวีร์ดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมรัฐมนตรีบางส่วน รวมถึงนายโอฬารได้เดินทางไปเยือนรัฐกาตาร์อย่างเป็นทางการ ในช่วงวันที่ 15 - 16 พฤษภาคม 2555 โดยหนึ่งในข้อตกลงที่มีการร่วมลงนามคือ ข้อตกลงด้านพลังงาน

“ทันทีที่ไปถึงนายกรัฐมนตรีจะเข้าเฝ้า เชคอาหมัด บิน คอลิฟะห์ อัล ทานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ และจะหารือกับเชคอาหมัด บิน จัสติน บิน จาบา อัล ทานี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ ความร่วมมือในมิติต่างๆ ที่จะสามารถต่อยอดและผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อาทิ ความร่วมมือด้านการเมือง และการทหาร ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เช่น การก่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ภาคบริการ ความร่วมมือด้านการศึกษา และความร่วมมือด้านพลังงานที่ไทยจะทำข้อตกลงซื้อขายก๊าซแอลเอ็นจีในระยะยาว ...” โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยรายงานถึงภารกิจในการเยือนกาตาร์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะในช่วงดังกล่าว

นอกจากนี้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยยังรายงานด้วยว่า ในการเยือนกาตาร์วันที่สอง (16 พ.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมคณะได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์การแพทย์เพื่อการกีฬาของกาตาร์ที่ได้รับการแต่งตั้งและรับรองจากฟีฟ่า รวมถึงเข้าพบและหารือกับเลขาธิการคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แสดงความยินดีกับกาตาร์ในการเป็นประเทศอาหรับชาติแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

"ทั้งนี้ไทยยังสนใจในการมีส่วนร่วมเป็นผู้ก่อสร้างอาคารสนามฟุตบอล และมั่นใจว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทย มีศักยภาพในการเป็นผู้ก่อสร้างโครงการต่างๆ ของกาตาร์ รวมถึงด้านบริการ อาทิ บริการการแพทย์ และสุขภาพ วิทยาศาสตร์การกีฬา" รายงานระบุ





ข่าวเกมการเมืองและความไม่ชอบมาพากลในวงการฟุตบอลระดับโลกดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวคนไทยอย่างเราๆ แต่หาก ลองเชื่อมโยงข่าวสารข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว จะเห็นได้ว่า จริงๆ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงลูกหนังระดับโลก จริงๆ แล้ว อาจอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด!


กำลังโหลดความคิดเห็น