xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยดีลฉาว บอลโลกกาตาร์ 2022 พาดพิง “ปตท.-บังยี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ - บอลโลกกาตาร์ 2022 ทำ “ปตท.-บังยี” มัวหมอง เผย “บังยี” เป็นผู้แทนการค้าไทย 15 เดือน ก่อนลาออกเคลียร์ปัญหาโอนหุ้นแค่ 1 เดือน ช่วง พ.ย. 55 หลัง “ครม. ปู 1” มีมติให้ ปตท. ซื้อก๊าซกาตาร์ 2 ล้านตันช่วง เดือน ต.ค. 55 ขณะที่ ปตท. ปัดเอี่ยว ยันดีลซื้อก๊าซคนละช่วงกับฟีฟาเลือกเจ้าภาพบอลโลก

กรณีเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. เดอะเทเลกราฟ สื่อหนังสือพิมพ์อังกฤษออกมาแฉว่าการที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 โดยมีคนไทยและบริษัทไทยในตลาดหลักทรัพย์โดนหางเลขไปด้วย โดยสื่อดังกล่าวอ้างว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของไทยก็ได้สัญญาธุรกิจค้าก๊าซกับประเทศกาตาร์ ผ่าน นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย

“เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับธุรกิจก๊าซกับประเทศไทย และเป็นที่เข้าใจกันว่า นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อตกลงทางธุรกิจ โดยกาตาร์แก๊สได้เซ็นสัญญากับ ปตท. ของไทยเมื่อปี 2555 (ค.ศ. 2012) และระบุว่า ปตท. เป็นผู้สนับสนุนของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย โดย ปตท. จะเป็นผู้จัดส่งก๊าซจำนวน 2 ล้านตันให้กับประเทศในตะวันออกไกล โดยการติดต่อทั้งจดหมายและอีเมลระหว่าง โมฮาเหม็ด บิน ฮัมมัม กับเจ้าหน้าที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย แสดงถึงความเกี่ยวพันกับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์”

ภายหลังสื่อต่างประเทศกล่าวหา วันนี้ (5 มิ.ย.) ปตท. ได้ทำหนังสือแจงการทำสัญญาซื้อก๊าซกับ บริษัท กาตาร์แก๊ส เป็นไปอย่างโปร่งใส ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวอ้างถึงหนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟ ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัท Qatar Liquefied Gas Company Limited (กาตาร์แก๊ส) ว่ามีความเกี่ยวข้องกับ นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ นายโมฮาเหม็ด บิน ฮัมมัม เพื่อผลประโยชน์เรื่องการคัดเลือกประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ และประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 นั้น ปตท. ขอยืนยันว่า การทำสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG กับบริษัท กาตาร์แก๊ส ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติของประเทศกาตาร์ ในรูปแบบสัญญาระยะยาวแบบรัฐต่อรัฐ เป็นไปอย่างโปร่งใส โดยเมื่อปี 2553 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ ปตท. จัดหาก๊าซ LNG ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) จากนั้น กพช. และ ครม. ได้เห็นชอบให้ ปตท. จัดหาและลงนามสัญญาซื้อก๊าซ LNG จากบริษัท กาตาร์แก๊ส ในเดือน ต.ค. 2555 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี หลังจากที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติประชุมคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2022 ในเดือน ธ.ค. 2553

“ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติของประเทศ ขอยืนยันในบทบาทหน้าที่ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ควบคู่กับการดูแลรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่ยึดถือปฏิบัติตลอดมา ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ด้วยการคำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยรวม มีคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้” นายไพรินทร์ กล่าวเสริมในตอนท้าย

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าว ASTVผู้จัดการ สืบค้นพบว่า ช่วงปี 2555 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ตรวจสอบกรณีของ นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้แทนการค้าไทย เป็นผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี ด้านการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ พบว่า เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในบริษัทเอกชนจำนวน 8 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ 4 แห่ง ถูกเลิกกิจการและปล่อยทิ้งร้าง (อ่านรายละเอียดในเรื่อง ขุมข่ายธุรกิจ “บังยี” วรวีร์ บิ๊ก ส.ฟุตบอลไทย-ขาใหญ่ค้าที่ดินโยงทุน ตอ.กลาง)

จากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเอกชน 4 แห่งของนายวรวีร์ ที่ยังดำเนินกิจการ ได้แก่
1. บริษัท เบนซ์เมืองมีน จำกัด
2. บริษัท บี เอ็น เอ ดับบลิว ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด
3. บริษัท วอร์ม จำกัด และ
4. บริษัท เอ อี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) พบว่า นายวรวีร์ ได้ยื่นขอลาออกจากกรรมการ และโอนหุ้นทั้งหมดไปให้กับบุคคลคนเดียวทั้งหมด คือ นายชาญ เกียรติศิลปิน

ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัท บี เอ็น ดับบลิว ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด ได้ทำเรื่องถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2549 เพื่อขอเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการบริษัท โดยนายวรวีร์ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการ และมี นายวอง ยี ยิม เข้ามาเป็นกรรมการรายใหม่ จากนั้นวันที่ 4 พฤศจิกายน 2554 นายวอง ยี ยิม ในฐานะกรรมการ ได้ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้น จากเดิมที่จัดส่งไว้เมื่อปี 2545 เพียงรายเดียว คือ ในส่วนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จากชื่อนายวรวีร์ เป็น นายชาญ เกียรติศิลปิน แทน

ต่อเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 บริษัท เบนซ์เมืองมีน จำกัด บริษัท วอร์ม จำกัด และบริษัท เอ อี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการ และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จาก นายวรวีร์ เป็น นายชาญ เกียรติศิลปิน แทนเช่นกัน

ทั้งนี้ สัดส่วนการถือครองหุ้นที่นายวรวีร์ ถือครองอยู่ในบริษัทเอกชน 4 แห่ง แบ่งเป็น
1.บริษัท บี เอ็น ดับบลิว ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด จำนวน 8,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท คิดเป็นมูลค่า 800,000 บาท
2.บริษัท เบนซ์เมืองมีน จำกัด จำนวน 19,500 หุ้น หุ้นละ 100 บาท คิดเป็นมูลค่า 1,950,000 บาท
3.บริษัท วอร์ม จำกัด จำนวน 4,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท คิดเป็นมูลค่า 400,000 บาท
4.บริษัท เอ อี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 10,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท คิดเป็นมูลค่า 1,000,000 บาท
รวมมูลค่าหุ้นที่ นายชาญ เกียรติศิลปิน ได้รับโอนไปจากนายวรวีร์ เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4,150,000 บาท

แม้ นายวรวีร์ ลาออกจากการเป็นกรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทเอกชนทั้ง 4 แห่ง ปัจจุบัน บริษัท วอร์ม จำกัด บริษัท เอ อี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บี เอ็น ดับบลิว ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด ยังใช้ที่อยู่เดียวกัน คือ เลขที่ 11/11 หมู่ที่ 1 ถนนเลียบวารี แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กทม. เป็นสถานที่ตั้งบริษัท ซึ่งที่อยู่ดังกล่าวเป็นที่อยู่เดียวกันกับที่ปรากฏในบัตรประจำตัวประชาชนของนายวรวีร์ ที่ใช้ยื่นเรื่องต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ทั้ง 3 แห่ง

ทั้งนี้ ที่อยู่เลขที่ 11/11 หมู่ที่ 1 ถนนเลียบวารี แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กทม. ยังถูกระบุเป็นสถานที่ตั้งบริษัท เวสท์ อินเตอร์ฟอร์ม เทคโนโลยี จำกัด หนึ่งในบริษัทของนายวรวีร์ ที่ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2536

น่าสังเกตว่า การโอนหุ้นไปให้กับบุคคลอื่นดังกล่าวของนายวรวีร์ เกิดขึ้นหลังจากนายวรวีร์ เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้แทนการค้าไทยในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2554 (มติ ครม. วันที่ 30 สิงหาคม 2554) เท่ากับการโอนหุ้นบริษัท บี เอ็น ดับบลิว ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด เกิดขึ้นหลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทย 2 เดือน และการโอนหุ้นอีก 3 บริษัทหลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทยประมาณ 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินที่นายวรวีร์ ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีรับตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย ปรากฏรายการถือครองทรัพย์สินส่วนนี้หรือไม่ ป.ป.ช. และตัวนายวรวีร์น่าจะทราบเป็นอย่างดี?

ต่อมาพบว่าเมื่อราวเดือนพฤศจิกายน 2555 นายวรวีร์ มะกูดี ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย ไปนั่งในพรรคเพื่อไทย เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย มีเสียงร่ำลือว่า สาเหตุที่ “วรวีร์” ลาออกจากผู้แทนการค้าไทย น่าจะสอดคล้องกับกระแสข่าวที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังตรวจสอบกรณีรับตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย โดยเฉพาะการโอนหุ้นไปให้กับบุคคลอื่นของนายวรวีร์ เกิดขึ้นหลังจากนายวรวีร์ เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้แทนการค้าไทยในรัฐบาล ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การตรวจสอบหุ้นเกิดขึ้นหลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทย 2 เดือน และการโอนหุ้นอีก 3 บริษัทหลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทยประมาณ 3 เดือน ทำให้นายวรวีร์ ต้องลาออกเพื่อเคลียร์ตัวเองก่อน

สำหรับภารกิจตลอดการทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทยของนายวรวีร์ไม่ปรากฏชัดเจน แต่พบว่า มติ ครม. เมื่อวันที่ เมษายน 2555 มีการแต่งตั้ง พันเอก ธนาธิป สว่างแสง นายทหารปฏิบัติการ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม ช่วยปฏิบัติราชการ ให้แก่ผู้แทนการค้าไทย (นายวรวีร์ มะกูดี) แต่งตั้งดาบตำรวจ บริบูรณ์ บัวผัน ผู้บังคับหมู่งานศูนย์ควบคุมจราจรด่วน 2 กองบังคับการตำรวจจราจร ช่วยปฏิบัติราชการให้แก่ผู้แทนการค้าไทย (นายวรวีร์ มะกูดี) โดยงานของนายวรวีร์ ที่ปรากฏต่อสื่อมวลชน ตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย ประมาณ 15 เดือน ในเว็บไซต์ www.thaigov.go.th พบว่า นายวรวีร์ มะกูดี ผู้แทนการค้าไทย ทำงานด้านพิธีฮัจญ์ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพียงเรื่องเดียวก่อนที่จะลาออก โดยไม่พบว่า มีการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับพลังงานก๊าซหรือน้ำมันในตะวันออกกลางอย่างประเทศกาตาร์แต่อย่างใด ระหว่างเป็นผู้แทนการค้าไทยช่วง 31 สิงหาคม 2554 - 14 พฤศจิกายน 2555 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ขณะที่ในตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลฯ หรือบอร์ดบริหารสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ ฟีฟา และในนามสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือ เอเอฟซี นายวรวีร์ จะเข้าไปมีบทบาทด้วยการเข้าประชุมเกือบทุกครั้ง ทั้งที่เมืองมัสกัต ประเทศโอมาน หรือ เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ตามแม้ ปตท. จะระบุว่า ครม. ยิ่งลักษณ์ ได้เห็นชอบให้ ปตท. จัดหาและลงนามสัญญาซื้อก๊าซ LNG จากบริษัท กาตาร์แก๊ส ในเดือนตุลาคม 2555 แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเดียวกับที่นายวรวีร์ ยังนั่งเป็นผู้แทนการค้าไทย ก่อนลาออกจากตำแหน่งในเดือนถัดมา

อ่านเพิ่มเติม : Qatar World Cup 2022: France embroiled in corruption scandal จาก Telegraph.co.uk


นายวรวีร์ มะกูดี (แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น