“ชอบขีดๆ เขียนๆ มาตั้งแต่เด็ก
ชอบเรียงความ ชอบแต่งกลอน
ชอบอ่านหนังสือ ชอบสื่อความรู้สึกเป็นถ้อยคำ
ละเอียดอ่อนและอ่อนไหว อินกับอารมณ์ความรู้สึก
ทุกครั้งที่อ่านหนังสือ จะจินตนาการเป็นภาพอยู่ในหัว
เสมือนตัวเองคือส่วนหนึ่งในนั้น...”
นั่นคือคำอธิบายอย่างรวบรัดถึงตัวตนโดยคร่าวๆ ของหญิงสาวที่กำลังนั่งอยู่เบื้องหน้าเรา ฟังว่า เธอกำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากมายในหมู่ชนผู้ฝักใฝ่นิยายจีน ด้วยลีลาภาษาละเมียดละไมและตราตรึงดึงอารมณ์ผู้อ่านให้ท่องทะยานไปกับเรื่องราว รวมความแล้วก็ควรจะกล่าวได้ว่า “ดารินทิพย์” หรือ “วดีทิพย์ เอื้อพงศ์ธเนศ” คือนักแปลหน้าใหม่แห่งแวดวงนิยายจีนที่ควรคู่แก่การทำความรู้จักอย่างยิ่ง
จากเด็กหญิงที่เติบโตมาในครอบครัวคนจีน ส่งผลโดยตรงให้เกิดเป็นความหลงใหลในภาษาและวัฒนธรรมจีนมาแต่เยาว์วัย แม้เมื่อเรียนมัธยมปลายสายวิทย์-คณิต เธอยังเจียดเวลาว่างไปเรียนพิเศษภาษาจีน กระทั่งเข้าสู่ประตูมหาวิทยาลัยที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ไปจนถึงปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เวลาและการเรียนของเธอก็ไม่เคยได้รับส่วนแบ่งความรักจากวิชาอื่นใดอีกเลย นอกจาก “จีน”
เส้นทางของ “ดารินทิพย์” ว่ากันอย่างสัตย์ซื่อ ก็คือเริ่มมาจากความรัก...เป็นความรักในภาษาจีนและวัฒนธรรมจีน ครั้งหนึ่ง เธอยกถ้อยคำของบรมปราชญ์ชาวจีนอย่างขงจื๊อขึ้นมากล่าว...
“ขงจื๊อกล่าวไว้ว่า
ผู้รู้ในงานที่ทำ ไม่สู้ผู้รักในงานที่ทำ
ผู้รักในงานที่ทำ ไม่สู้ผู้มีความสุขกับงานที่ทำ”
ก่อนจะเพิ่มเติมเสริมไปจากถ้อยคำของขงจื๊อว่า
“เพราะงานแปล จึงทำให้เราได้เป็นทั้งผู้รู้ ผู้รัก และผู้มีความสุขไปพร้อมกัน..."
นับแต่ออกท่องยุทธจักรนักแปลได้เพียงปีกว่า จนถึงตอนนี้ เธอมีผลงานแปลตีพิมพ์สู่ตลาดแล้วถึงสามเรื่อง “ผู้พิทักษ์สองโลก”, “สุสานอาถรรพ์” (ในนามปากกา “มิราทิพย์”) ขณะที่เรื่องซึ่งเป็นต้นทางให้เราปรารถนาสนทนากับเธออย่างจริงจังก็คือเรื่องนี้ “เจินหวน จอมนางคู่แผ่นดิน” ซึ่งประพันธ์โดยหลิวเลี่ยนจื่อ นักเขียนหญิงชื่อดัง ผลงานเล่มนี้โดดเด่นถึงขั้นที่ว่ามีการนำไปทำเป็นละครซีรี่ส์และเคยได้รับรางวัลซีรี่ส์ยอดเยี่ยมมาแล้วในปีที่ออกฉาย
เล่าให้ฟังอย่างย่นย่อ “เจินหวน จอมนางคู่แผ่นดิน” ว่าด้วยเรื่องราวของอิสตรีนางหนึ่งนามว่า “เจินหวน” ที่วาดหวังเพียงหนึ่งรักแท้ หากแต่โชคชะตากลับดลบันดาลให้นางต้องรักบุรุษที่มิอาจมีเพียงรักเดียว และตกเข้าไปในวังวนแห่งการช่วงชิงในวังหลวง
ในบางแง่มุม เรารู้สึกว่า “ดารินทิพย์” ดูไม่แตกต่างอย่างไรนักกับตัวละครหลักในนิยายที่เธอแปล เพราะทุกสิ่งอย่างดูเหมือนจะถูกนำทางมาโดยความรัก เพราะรักในภาษาจีน เราจึงได้เห็นเธอในบทบาทนี้
เธออาจมิใช่ “เจินหวนแห่งวังหลวง”
แต่ก็น่าจะเป็น “เจินหวนแห่งสวนอักษร”
เธออาจมิใช่ “จอมนางคู่แผ่นดิน”
แต่ก็พร้อมแล้วที่จะโบยบินในฐานะ “จอมนางแห่งวังอักษรา”
ผู้ทอดตนเป็นดั่ง “สะพานภาษา” นำพาผู้อ่านชาวไทยโลดล่องท่องไปในสุขและโศกแห่งโลกนิยายจีน
“ดารินทิพย์” - วดีทิพย์ เอื้อพงศ์ธเนศ...
• เห็นคนเขาบอกว่าภาษาจีนเรียนยากมาก แต่เพราะอะไร เราถึงยังอยากเรียน
ทิพย์เรียนเพราะชอบอย่างเดียวเลยค่ะ คือมีคนถามทิพย์เยอะมาก ว่าเรียนยังไงให้สำเร็จ ทิพย์ก็ตอบว่าต้องชอบก่อน เพราะถ้าชอบหรือรักแล้ว มันจะทำอะไรได้ดีเอง อย่างตอนที่ทิพย์เรียนแรกๆ ก็ไม่ต้องท่องศัพท์เลย จำได้อัตโนมัติ ซึ่งอาจเป็นเพราะเราชอบนั่นล่ะค่ะ พอเราชอบ เราก็อยากจะจดจำไปเอง แต่ถ้าเป็นตัวเขียน จะต้องฝึกเยอะ คอยคัดเยอะเหมือนกัน
• ตอนนั้นรู้หรือยังว่าเรียนไปแล้ว เราจะเอาไปทำอะไรดี
(ยิ้ม) จริงๆ นะ ตอนนั้นยังไม่ได้คิดอะไรหรือตั้งเป้าไว้ว่าเรียนแล้วจะเอาไปทำอะไร จนกระทั่งไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เพราะว่าเราชอบปักกิ่งตอนเราไปเที่ยว ก็เลยทำให้อยากไปเรียนต่อที่นั่น คิดแค่นั้นก่อน แล้วช่วงที่เรียนโท พอดีอาจารย์ที่ปรึกษาของทิพย์สมัยเรียนปริญญาตรี ท่านก็เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหา’ลัยนั้นด้วย ท่านก็ชวนว่า มาทำงานแปลด้วยกันไหม ส่วนใหญ่งานนั้นก็เป็นพวกแปลบทความและแปลบทบรรยายโทรทัศน์ ทิพย์ก็ไปช่วยอาจารย์ เราก็รู้สึกว่า เอ้อ มันก็สนุกดีนะ ไม่เหมือนตอนเรียน รู้สึกยากจัง (หัวเราะ) แต่พอได้มาทำงานแปล สนุกดี เหมือนกับเราได้อ่าน ได้ค้นคว้าเพิ่ม ได้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มด้วย แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดนะคะว่าจบออกมาจะทำงานแปลเป็นหลัก อยากเป็นอาจารย์สอนหนังสือด้วยซ้ำไป
• สรุปแล้วมันโอเคไหมกับการที่เราเรียนๆ ไปโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรดี
คือถ้ามองในมุมของคนที่มีความจำเป็นว่าเรียนจบแล้วต้องมีงานทำหรือว่าทางบ้านอาจจะต้องดิ้นรน เขาก็อาจจะเลือกเรียนสาขาที่จบไปแล้วมีงานรองรับทันที อาจจะต้องคิดอีกแบบหนึ่ง แต่สำหรับทิพย์ เป็นเพราะเราชอบมาตั้งแต่เด็ก อีกอย่างทางบ้านก็ไม่เคยบังคับว่าต้องเรียนนั่นเรียนนี่ จบมาจะได้เป็นนั่นเป็นนี่ แต่เราเรียนเพราะเราชอบ กระทั่งได้เรียนจริงๆ ก็พบว่า ที่จริงแล้ว คณะอักษรศาสตร์ มันสามารถทำได้หลายแขนงอาชีพมาก ขึ้นอยู่กับว่าเราสนใจด้านไหน แต่ว่าตอนนั้นเรายังไม่ได้คิดถึงขนาดที่ว่าเราจะอยากเป็นอะไร ก็เรียนเพราะชอบไปก่อน
• แต่ปรากฏว่าตอนนี้ จีนกำลังมา กำลังอินเทรนด์มาก
ใช่ค่ะ (ยิ้ม)
• จากที่ทำงานกับอาจารย์ช่วงเรียนปริญญาโท แล้วเราเริ่มสนใจงานแปลด้วยตนเองช่วงไหนอย่างไร
เป็นช่วงที่เรียนจบปริญญาโทแล้วค่ะ พอดีกลับมาอยู่บ้านว่างๆ เห็นเขาเปิดอบรมการแปลที่จัดโดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊กส์ เราก็ไป และพอได้ลองทำในการฝึกอบรม ก็รู้สึกสนใจ สนุกดีนะ และปกติ ทิพย์จะชอบดูซีรี่ส์ แล้วก็ดูเป็นซับไตเติ้ลภาษาจีน ฟังจีน แล้วเราก็เคยสงสัยว่า เอ๊ อย่างงี้ถ้าเราแปล เราจะแปลอย่างไร ดูไปคิดไป เออ ถ้าเราได้แปล เราจะทำได้ไหม เราจะถ่ายทอดได้ไหม ก็เลยลองติดต่อสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊กดูว่า เขาขาดคนหรือเปล่า (หัวเราะ) เขาก็ให้เราทดสอบแปลดู เพราะเราไม่เคยแปลมาก่อน เราก็แปลไป ปรากฏว่าผ่าน แต่ตอนแรกนั้นก็แอบกังวลเหมือนกันนะคะว่า จะผ่านมั้ยนะ (ยิ้ม)
• คุณทิพย์รู้จักหรืออ่านนิยายจีนมาตั้งแต่เด็กเลยใช่ไหม
อันนี้สารภาพตามตรงเลยนะคะว่า ไม่ค่อยได้อ่านนิยายจีน ตอนเด็กอ่านการ์ตูน พวกขายหัวเราะ หนูหิ่น อะไรแบบนั้น (หัวเราะ) พอโตมาหน่อยก็อ่านนิยายรักวัยรุ่น รักใสๆ พอโตมาอีกหน่อย ก็เริ่มเปลี่ยนแนว รู้สึกว่าความรักเริ่มไม่ไหวแล้ว (หัวเราะ) รู้สึกว่ามันง้องแง้งอ่ะ ก็หันไปอ่านแนวสืบสวนสอบสวน หลงรักเลยค่ะ และจากนั้นก็อ่านแต่แนวนี้มาตลอด งานที่ชอบมากๆ ก็คืองานของฮาร์ลาน โคเบน ซื้อและอ่านทุกเรื่องของเขา ซื้อโดยไม่ต้องคิดอะไรเลย นิยายของเขาจะเป็นแนวหักมุมค่ะ ขณะที่นิยายของอกาธา คริสตี้ ก็ชอบมากเหมือนกัน แต่ทิพย์ไม่ค่อยอ่านเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เท่าไหร่นะคะ เพราะรู้สึกว่าสำนวนของเขาจะโบราณๆ เราอ่านแล้วไม่ค่อยอิน ส่วนนิยายของญี่ปุ่นก็อ่านค่ะ อย่างผลงานของฮิงาชิโนะ เคโงะ คือรวมๆ แล้วก็จะอ่านแต่แนวนี้ ซื้อหนังสือทีไรก็จะมีแต่แนวฆาตกรรม จนคุณแม่บอกว่า นี่อ่านอะไร จะไปฆ่าใครที่ไหนหรือ (หัวเราะ)
• แล้วในส่วนนิยายจีนล่ะครับ
เคยอ่านตอนเรียนมหา’ลัย แต่ก็จะเป็นแนวรักใสๆ ไม่เครียดมาก อ่านแล้วชิลๆ ค่ะ
• เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของนักเขียนอย่างโก้วเล้ง กิมย้ง หรือหวงอี้ อะไรเหล่านั้น หรือเปล่า
รู้ค่ะ แต่ไม่เคยได้อ่านนิยายแนวนี้เลย ก็สงสัยเหมือนกันว่า เราไม่ได้อ่าน แต่สุดท้ายก็ได้มาแปลแนวนี้ ดูซีรี่ส์ ก็ไม่ได้ดูฉบับที่ดาราดังๆ เล่น อย่างเรื่องมังกรหยก ก็ดูเวอร์ชั่น 2008 ฉบับที่ “หูเกอ” กับ “หลินอีเฉิน” แสดง ส่วนกระบี่เย้ยยุทธจักร ก็มาดูเวอร์ชั่นล่าสุด ปี 2013 ฉบับที่ “ฮั่วเจี้ยนหัว” แสดง อย่างเปาบุ้นจิ้น ไซอิ๋ว ทิพย์ก็ชอบดูนะ
• เท่าที่ฟังมา ดูเหมือนเราจะหลงใหลในอะไรที่เป็นจีนเยอะ ตั้งแต่ภาษาไปจนถึงวัฒนธรรมและบันเทิง มีความคิดเห็นว่าเพราะอะไร เราถึงดูหลงใหลในความเป็นจีนนี้
อย่างแรก อาจจะเป็นเพราะว่าที่บ้านเป็นคนจีนด้วยค่ะ อย่างคุณพ่อคุณแม่ก็จะปลูกฝังความเป็นจีน ก็จะแนวหัวโบราณนิดหนึ่ง ท่านจะสอนจารีตวัฒนธรรมจีน เราก็ได้รับมา แล้วพอเรามาเรียนภาษา เราก็ต้องเรียนวัฒนธรรมไปด้วย ก็ยิ่งเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปเลย
• อย่างพวกคำสอนหรือปรัชญาอะไรเหล่านั้น เรารู้สึกว่ามันตกยุคบ้างไหม
ไม่เลยค่ะ เช่นเรื่องความกตัญญู คนจีนจะเน้นมากเรื่องนี้ ความกตัญญู ความมีคุณธรรม มันก็ทำให้เราได้คิดว่า ความกตัญญูก็เป็นคุณธรรมแรกของคนเราอยู่แล้ว คือเราจะทำอะไรให้ดีได้อย่างไร ถ้าแม้แต่คำคำนี้เรายังไม่รู้จัก เรายังไม่ดีต่อคนในครอบครัวเลย มันเหมือนกับเป็นหลัก เราก็ยึดถือคำนี้เป็นคติประจำใจมาตั้งแต่เด็กว่า นี่เป็นพื้นฐานสิ่งแรกที่เราต้องทำให้ดีก่อน ถ้าเราดีกับทุกคน แต่ไม่ดีกับคนที่บ้าน มันก็จะเหมือนกับว่ารากฐานเรายังไม่ดีเลย แล้วเราจะไปสร้างภาพให้ใครดูเหรอ คนจีนเขาจะเน้นเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ
• กลับเข้าไปในโลกยุทธจักร คือมีความเชื่อกันว่า โลกแห่งยุทธจักรเป็นโลกของผู้ชาย เพราะแม้กระทั่งคำว่า “จอมยุทธ์” โดยเบื้องต้นก็หมายถึงจอมยุทธ์ผู้ชาย ถ้าเป็นจอมยุทธ์ที่เป็นผู้หญิงก็จะต้องมีคำห้อยท้ายว่า “จอมยุทธ์หญิง” ตรงนี้เราคิดอย่างไร โลกของผู้หญิงสำคัญไหมในนวนิยายยุทธจักร?
คือจริงๆ ทิพย์ชอบดูแนวบู๊ๆ แบบจอมยุทธเหมือนกันนะ ในความคิดของทิพย์ คำว่า “จอมยุทธหญิง” สื่อเป็นนัยๆ ว่าในสังคมจีนสมัยโบราณ ยังแบ่งแยกความสำคัญระหว่างชายหญิง ผู้ชายจะเป็นผู้นำ เป็นใหญ่ และมีความสำคัญมากกว่า ดูจากนิยายแนวจอมยุทธจะยิ่งเห็นได้ชัด ตัวเอกส่วนใหญ่จะเป็นจอมยุทธชาย หายากมากที่ตัวเอกจะเป็นจอมยุทธหญิง ถึงจะมีบทบาทมากเพียงใด แต่อย่างไรก็เป็นรองผู้ชาย ซึ่งคล้ายจะเป็นส่วนกลับกับนิยายแนวเจินหวน ซึ่งทิพย์เรียกว่านิยายแนวตำหนักใน ที่มีผู้หญิงเป็นตัวดำเนินเรื่อง
• แล้วสำหรับ “เจินหวน” เรื่องนี้ มีความแตกต่างจากเรื่องอื่นอย่างไร
คือต้องบอกก่อนว่า ซีรี่ส์จีนจะแบ่งออกเป็นสองแนวหลักๆ คือ แนวบู๊ๆ แบบจอมยุทธ กับอีกแนวก็คือนิยายแนวตำหนักใน ที่มักจะเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ช่วงชิงและการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นของผู้หญิง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ ความเป็นใหญ่ และชื่อเสียงเกียรติยศแห่งวงศ์ตระกูล แนวตำหนักใน ทิพย์ก็ดูมาหลายเรื่องนะ แต่บางเรื่องก็ไม่สมเหตุสมผลเท่าไรค่ะ คือดูแล้วหงุดหงิด เกิดคำถามตลอดว่าทำไมเขาต้องตัดสินใจแบบนั้นแบบนี้ ดูแล้วเราไม่อิน แต่ว่าเรื่องนี้ (เจินหวน) เราจะไม่รู้สึกขัดใจกับการกระทำของตัวละครเลย ตอนอ่านครั้งแรกก็อินมาก ร้องไห้ น้ำตานองหน้าเลย เพราะคนเขียนละเอียดอ่อนมากในด้านการวางโครงเรื่อง ภาษาของเธอสวยงามมาก ละเมียดละไม ทีแรกเราก็แบบ โอ้โห จะบรรยายออกมาอย่างไร
• เห็นตัวละครหญิงเยอะแยะแล้ว มันจะออกแนวชิงรักหักสวาทหรือเปล่า
จริงๆ ไมได้มีแค่นั้นนะคะ ความรักนี่เป็นหลักของเรื่อง ใช่ แต่ข้อแตกต่างก็คือ บางเรื่องเขาอาจจะต้องการเป็นใหญ่เท่านั้น ต้องการมีอำนาจ แต่ว่าเขาไม่ได้บอกเลยว่าแล้วทำไมถึงอยากเป็นใหญ่ หรืออยากมีอำนาจ แต่เรื่องนี้มีบอกไว้ถึงเหตุผลแรงจูงใจของตัวละคร แต่ละคนมีเหตุผลในการกระทำ ขณะเดียวกัน เสน่ห์สำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ความรัก มิตรภาพระหว่างมิตรสหาย และความผูกพันของคนในครอบครัว เราจะได้มองเห็นมุมอีกมุมหนึ่งของผู้หญิงในตำหนักใน เป็นเรื่องของผู้หญิงที่ครบรส ไม่ใช่ผู้หญิงง้องแง้ง เรื่องนี้ดังมากในจีน และเป็นซีรี่ส์รางวัลยอดเยี่ยมด้วยค่ะเมื่อปี 2012
• มีตัวละครหญิงหลายตัวในเรื่อง คุณทิพย์ในฐานะผู้แปล ชอบตัวไหนเป็นพิเศษไหม
จริงๆ ชอบทุกตัว (ยิ้ม) แต่ถ้าจะให้พูดถึงสักคน ก็อย่างนางเอก “เจินหวน” ชอบในความฉลาดของเธอ แล้วมีทั้งความรู้สึก อารมณ์ และเหตุผลอยู่ในคนคนเดียว อย่างคนอื่นก็อาจจะแบบเน้นความรู้สึกอย่างเดียวเลย เหตุผลอะไรฉันไม่สน และมีอีกตัวที่ทิพย์ชอบ และถ้าเป็นเรา เราก็คงจะทำแบบเธอ คือเหมยจวง คือถ้าเป็นเรา เราคงทำแบบเหมยจวง จะไม่ทำแบบนางเอก อาจจะเพราะนิสัย เหมยจวงเขาจะเป็นคนไม่ค่อยง้อใคร เหมือนว่าหยิ่งในศักดิ์ศรีของตัวเอง อย่างเช่น เขารู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ เขาจะไม่ฝืน แต่นางเอกฝืนได้ อย่างถ้าไม่ชอบใครสักคนก็อาจจะแกล้งทำเป็นยิ้ม แต่เหมยจวงจะไม่ เพราะถ้าเธอไม่ชอบ ก็จะเฉยๆ ไปเลยกับคนคนนั้น
ตัวละครหญิงในเรื่องนี้มีความสมจริงทุกตัว พูดได้ว่าเป็นตัวละครที่มีอยู่ในชีวิตจริง คือผู้หญิงเราก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่ายุคไหนสมัยใด ไม่ใช่ว่ามีนิสัยดีหรือร้ายอยู่ด้านเดียว แต่จะมีหลายมิติอยู่ในตัวเอง แล้วเวลาร้ายก็ไม่ได้ร้ายแบบไร้เหตุผล อีกอย่าง ตัวนางเอกก็ไม่ใช่นางเอกแบบเจ้าหญิงแสนดี ไม่เลย อ่านไปแล้วจะรู้สึกว่า เอ้อ เธอก็โหดนะนางเอก ทำไมถึงทำอย่างนี้ แต่เธอก็ไม่ได้ทำสิ่งเหล่านั้นเพียงเพราะว่าฉันอยากทำ แต่จะมีเหตุผลรองรับตลอด
• ระหว่างผู้หญิงอ่าน กับผู้ชายอ่าน คิดว่าผู้อ่านจะได้อะไรจากนิยายเรื่องนี้
ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะรู้สึกว่าเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้ (หัวเราะ) อย่างเวลาเจอสถานการณ์แบบหนึ่ง เราจะใช้วิธีของใคร เพราะในเรื่อง มีตัวละครหลักที่เป็นผู้หญิงเยอะมาก และทุกคนก็มีความเป็นตัวเองสูงมากเช่นกัน ดังนั้น เราก็อาจจะเอาวิธีการของแต่ละตัวละครไปปรับใช้ได้ในแต่ละสถานการณ์ แต่ถ้าเป็นผู้ชายอ่าน ทิพย์คิดว่าเอามาทำความรู้จักเข้าใจผู้หญิงให้มากขึ้น อย่างเวลาผู้หญิงทำอะไรสักอย่าง ก็จะรู้ว่าเขาทำเพราะอะไร แล้วที่เขาดีกับเรา เขาดีจริงหรือเปล่า ทำไมเขาถึงทำไม่ดี เพราะคุณทำไม่ดีกับเขาก่อนหรือเปล่า คือผู้หญิงเป็นคนบรรยายเรื่องนี้ เขาก็จะสื่อความเป็นผู้หญิงออกมาสูงมาก ละเอียดอ่อนแม้แต่กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
• นิยายจีนส่วนใหญ่มักจะมีเรื่องประวัติศาสตร์มาเกี่ยวข้อง เรื่องนี้มีไหม
มีเยอะมากค่ะ และที่สำคัญ ตัวนางเอกเป็นคนฉลาด ชอบอ่านหนังสือ เธอก็จะรู้เรื่องราวหลากหลาย ทั้งประวัติศาสตร์และบุคคล มีการอ้างอิงถึงบุคคลที่มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์ ตรงนี้เราก็ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ความรู้เพิ่ม หรือบางที เขาพูดถึงสมัยราชวงศ์ถังบ้าง ราชวงศ์ฮั่นบ้าง เยอะมาก จนเราแทบจะรับรู้ประวัติศาสตร์ส่วนนี้ไปด้วยเลย ทั้งการแย่งชิงราชบัลลังก์สมัยก่อน หรือว่าเรื่องราวในตำหนักในที่ฮองเฮาคนนี้ฆ่าสนมคนนั้น อะไรอย่างนี้ก็จะมีพูดถึง แล้วเรื่องของปรัชญาก็มีบ้าง คำคมๆ โผล่มาเป็นระยะ
• ในเรื่องนี้เห็นว่าเป็นสมัยราชวงศ์ต้าโจว มันคือยุคไหนสมัยใด
เป็นราชวงศ์สมมุติค่ะ อันนี้เป็นประเด็นที่คนสงสัยเยอะ เพราะว่าซีรี่ส์น่ะ เขาเอามาปรับเป็นสมัยราชวงศ์ยุคฮ่องเต้ยงเจิ้ง อาจจะเป็นเพราะว่าสมัยราชวงศ์ชิง คนคุ้นเคยมากกว่า แล้วเขาก็ปรับเรื่องราวให้เข้ากับยุคสมัยนั้น แต่ว่าในนิยายเรื่องนี้ เป็นยุคสมมุติ เพราะส่วนหนึ่ง มันก็เอื้อให้คนเขียนสามารถอ้างอิงถึงทุกราชวงศ์ได้ เธอคนเขียนก็เลยตั้งราชวงศ์ขึ้นมาเอง
• โอ้โห ผู้หญิงยิ่งใหญ่มาก ตั้งราชวงศ์ขึ้นมาเองเลย
(หัวเราะ) ราชวงศ์สมมุติค่ะ แต่องค์ประกอบต่างๆ เขาก็มีการหยิบเอามาจากเรื่องนั้นเรื่องนี้ อย่างเช่นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เขาก็เอามาจากเรื่องความรักในหอแดง (หรือ “ความฝันในหอแดง” หนึ่งในสี่วรรณกรรมสุดยอดของจีน) เอาอาหารการกินที่ลือชื่อในเรื่องนั้นมาใส่ในเรื่องนี้เป็นระยะๆ คือคนเขียนเป็นคนอ่านเยอะ ก็เลยหยิบเอาอันนั้นอันนี้มาประกอบไว้ในนิยายของตัวเอง
• เห็นมีอ้างถึงพวกนักกวีเยอะเหมือนกัน
ใช่ค่ะ อ้างเยอะมาก แล้วเขาก็ยกกลอนมาใช้เยอะเหมือนกัน อย่างเช่น กลอนของหลี่ชิงเจ้า หลี่ไป๋ ซูตงพัว
• ซึ่งก็ถูกกับจริตของเราพอดีที่รักชอบกาพย์กลอนอยู่แล้วเป็นทุนเดิม?
(หัวเราะ) จริงๆ พี่ บ.ก. (บรรณาธิการ) บอกว่าไม่ต้องแปลเป็นกลอนก็ได้ แปลเอาความก็พอ แต่ทิพย์ดื้อ อยากแปลเป็นกลอน หางานให้ตัวเองเพิ่ม (ยิ้ม) ก็เราอ่านแล้วเราอิน เห็นว่าต้นฉบับเป็นกลอนมา ก็อยากให้มันมีความสวยงามแบบกลอนอย่างนั้น เราก็พยายามแปลมาก (หัวเราะ) พยายามให้มันออกมาสมบูรณ์ที่สุด คือเราเห็นว่าคนเขียนเขาเป็นคนละเอียด เราก็อยากจะเป็นคนละเอียดเช่นเดียวกัน อยากจะละเอียดตามเขา (ยิ้ม)
• ตอนแรกที่เอามาแปลนี่ มีหนักใจไหม
หนักมากกก (หัวเราะ) อย่างตอนที่พี่ บ.ก.บอกว่า เอ้อ ทิพย์ มีแนวนี้ให้แปล เราก็แบบ หือออ...คือชอบนะแนวนี้ แต่ถ้าให้แปลนี่ อืมมมม...ก็เครียดเหมือนกันนะคะ เพราะกลัวว่าจะยากไปหรือเปล่า แต่ก็ลองดู เพราะเห็นว่าเรื่องนี้สนุกด้วย อินมาก ตอนแปล มันยากแต่ก็สนุก และอยากให้คนอ่านรู้สึกอินเหมือนกับที่เราอิน
• ย้อนกลับไปที่ตัวนิยาย คล้ายๆ ว่าเจินหวนจะสื่อถึงผู้หญิงจีนร่วมสมัย เราพูดแบบนี้ได้หรือเปล่า
ทิพย์คิดว่า คนเขียนก็แฝงความฝันความหวังของเธอไว้ด้วยนะคะ มีกลอนบทหนึ่ง ตอนที่นางเอกไปขอพรใต้ต้นดอกเหมย เขาก็จะขอพร ขอให้ครอบครัวสงบสุขปลอดภัย ขอให้ตนเองอยู่รอดปลอดภัยในวังหลวง และสุดท้ายขอพรเป็นบทกลอนที่ว่า
"วอนขอหนึ่งรักแท้มั่นคง
รักยืนยงคู่เคียงจนแก่เฒ่า”
นี่ก็เป็นความฝันของคนเขียนเหมือนกัน แล้วก็ถ่ายทอดผ่านนางเอกคนนี้ เธอสื่อถึงความฝันของเธอ หนึ่งในคำนำของเธอก็คือ เธออยากมีรักแท้หนึ่งเดียวที่รักกันไปตลอดชีวิต ทิพย์จึงคิดว่าคนเขียนน่าจะถ่ายทอดความฝันของตัวเองออกมาในมุมนี้ด้วย คือในชีวิตจริง เธออาจจะไม่ได้ทำอะไรแบบนั้นทั้งหมด แต่ว่าความคิดหรือความหวังในใจมันเหมือนกัน เพราะผู้หญิงก็อย่างนี้ เขาก็อยากจะมีรักแท้รักเดียวตลอดไป ไม่อยากแบ่งกับคนอื่น แต่ว่าโชคชะตาหรือความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป ก็เลยเกิดเรื่องราวต่างๆ ขึ้น
• ผู้ชายดูต่ำต้อยน้อยบทหรือเปล่าในเรื่อง เพราะอย่างที่ผู้เขียนก็เกริ่นไว้ว่า “ผู้ชายนั้นประหนึ่งเงาจันทราที่ฉายแสงริบหรี่หลังดวงตะวัน”
ผู้ชายมีน้อยก็จริง แต่ก็มีบทบาทเยอะ และมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงหมดเลย อาจจะเป็นแบ๊กกราวด์ เป็นเหตุผล เป็นสาเหตุ คือจะมีหมด มันคือการพลิกกลับด้านเลย เพราะเรื่องอื่นๆ ผู้ชายจะเป็นตัวดำเนินเรื่อง แต่เรื่องนี้ ผู้ชายจะมาเป็นแบ๊กกราวด์ให้พวกเธอ เป็นเหตุผลให้พวกเธอ
• แล้วอย่างนี้ เราจะพูดได้ไหมว่า ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของผู้หญิง มีผู้ชายอยู่เบื้องหลัง
(หัวเราะ) จริงๆ ในคำนำเขามีพูดถึงนะคะว่า เรื่องราวในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ ผู้หญิงเป็นแค่ตัวประกอบ ผู้ชายเป็นตัวหลัก ผู้หญิงก็แค่ฝากชื่อไว้ นอกนั้นก็เป็นเรื่องของผู้ชายหมดเลย แต่เรื่องนี้กลับกัน เพราะเป็นเรื่องของผู้หญิง ส่วนผู้ชายเป็นตัวประกอบ (หัวเราะ) เป็นอีกมุมหนึ่ง มองในมุมผู้หญิงบ้าง แต่จริงๆ ผู้หญิงยังมีอีกหลายมุมที่ไม่ใช่แค่เรื่องรัก แต่เรื่องหลักๆ ก็ยังเป็นเรื่องรักนั่นล่ะ เพียงแต่ไม่ได้เน้นตรงปณิธานอันยิ่งใหญ่ จะไม่อย่างนั้น สำหรับผู้หญิงในนิยายเรื่องนี้ ทุกอย่างมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับเรื่องความรักหมดเลย นี่คือสิ่งที่แตกต่างระหว่างนิยายที่มีชายเป็นตัวนำกับที่มีหญิงเป็นตัวนำ ต้องลองอ่าน (ยิ้ม) คือมันจะมีหลายคนที่เป็นตัวเอกค่ะ แล้วมีหลายคนที่ประสบความสำเร็จ บางคนก็ไม่
• ใช่หรือไม่ว่า เจินหวนคือการสะท้อนสถานะและบทบาทของผู้หญิงผ่านออกมาทางนิยาย
ใช่ค่ะ เพราะในสังคมจีน เหมือนกับว่าผู้หญิงจะทำอะไรที่ตามใจตัวเองหรือเปิดเผยความรู้สึกไม่ค่อยได้ ไม่เหมือนผู้ชายที่มีอำนาจอยู่ในมือ แต่ผู้หญิงจะต้องเป็นผู้ตามตลอด ไม่สามารถจะแบบว่า ฉันจะทำอย่างนี้ แต่ว่าตัวละครหญิงในนิยายเรื่องนี้ก็ดีนะ คือเธอแสดงความเป็นตัวเธอ ความรู้สึกของเธอออกมาได้ โดยไม่ต้องทำให้คนเกลียด แต่มันก็จะผ่านการคิดและการวางแผนมาอย่างดี สมมุติว่าเธออยากจะให้ฮ่องเต้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เธอไม่มีสิทธิ์ไปสั่งอยู่แล้ว เพราะเธอเป็นแค่สนม คำถามก็คือ แล้วเธอจะทำอย่างไรเพื่อให้ฮ่องเต้ทำตามใจเธอได้ โดยที่เธอก็ยังเป็นที่รักอยู่ คือนางเอกเขาก็จะเก่งตรงนี้น่ะค่ะ
• คือเก่งมารยาใช่ไหม
อย่าพูดอย่างงั้นสิคะ (ลากเสียงยาวและหัวเราะร่วน)
คือทิพย์อยากจะเล่าให้ฟังแบบนี้ค่ะว่า ผู้ชายในนิยายจีนส่วนมากน่ะ เวลาจะก้าวไปเป็นใหญ่ หรือเวลาต่อสู้กับอะไรสักอย่าง มักจะเน้นที่ปณิธาน เช่น อ้างว่ากระทำเพื่อความยิ่งใหญ่ ทำเพื่อนั่นนี่ ทำเพื่อแผ่นดินบ้าง ทำเพื่อราชสำนักบ้าง อะไรแบบนั้น คือดูจะเป็นจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่มาก แต่ผู้หญิงจะไม่ใช่อย่างนั้น
จุดเริ่มต้นของการทำอะไรสักอย่างในนิยายเรื่องนี้ คือเธอทำเพราะความรัก เพราะอยากปกป้องคนที่รัก ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ธรรมดาในชีวิตมาก แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้แหละที่ทำให้เธอได้ทำหลายสิ่งหลายอย่างที่คนอาจจะนึกไม่ถึง เพราะความรักนี่แหละเป็นจุดเริ่ม ไม่ใช่ปณิธานอันยิ่งใหญ่ นิยายเรื่องนี้ ทีแรกตัวนางเอกไม่ได้อยากเป็นใหญ่ หรือกระทั่งว่าไม่ได้อยากเข้าวังเสียด้วยซ้ำ ตอนแรกแค่อยากมีความรักเดียวแล้วก็อยู่กันไปตลอดชีวิต แต่เมื่อเธอตกเข้าไปอยู่ในวังวนแห่งอำนาจ เธอจะทำอย่างไรเพื่อให้เธอรอดออกมาได้ ไม่เป็นเหยื่อ ขณะเดียวกันก็ใช้ความรักนำทาง
• เหมือนดารินทิพย์ที่ใช้ความรักในอักษรจีนเป็นตัวนำทาง?
(หัวเราะ) วกมาจนได้ แต่จริงๆ ก็ใช่ค่ะ ชอบๆๆ ชอบภาษาจีน ชอบการถ่ายทอด (ยิ้ม)
• เพราะอะไร ถึงใช้คำว่า “ถ่ายทอด” แทนที่จะใช้คำว่า “แปล” ตรงๆ
ทิพย์ใช้คำว่า “ถ่ายทอด” เพราะมันไม่ใช่แค่แปลความหมาย แต่ต้องถ่ายทอดความรู้สึกให้คนอ่านรู้สึกอินไปกับเราได้ด้วย ถ้าแปลตรงๆ ก็น่าจะมีคนแปลได้เยอะ แต่จะสนุกหรือเปล่าก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ดังนั้น เบื้องต้นเลยคือต้องบรรยายถ่ายทอดให้เหมือนกับที่ผู้เขียนเขาต้องการจะถ่ายทอดต่อผู้อ่าน เนื้อความ ความหมาย อรรรถรส ความรู้สึก ให้อยู่ครบ อย่างเวลาเราอ่านต้นฉบับภาษาจีน เรารู้สึกอย่างไร เราก็อยากให้คนอ่านได้รู้สึกแบบนั้นเหมือนกันกับเรา มันจะยากตรงนี้
แล้วอีกอย่าง ภาษาจีนเป็นภาษาที่กระชับรวบรัดมาก เขาจะเน้นสี่คำ สี่คำ แต่สี่คำของเขานี่ แปลเป็นความหมายในภาษาไทย ได้ประโยคยาวๆ สักสองสามประโยค เราก็มานั่งวิเคราะห์ดูว่า เราจะแปลเป็นสำนวนเลยมั้ย หากว่ามันเทียบกับสำนวนไทยบางสำนวนได้ ทิพย์ก็เลือกสำนวนไทยมาใส่ แต่ถ้าอันไหนหาสำนวนมาเทียบเคียงไม่ได้ แต่อยากให้ได้อรรถรส ก็มีหมายเหตุอ้างอิงไว้อธิบาย
• คือเราไม่ได้แบบว่า หยิบนิยายมาเล่มหนึ่งแล้วก็นั่งแปลๆๆ ไป ใช่ไหม
ไม่ใช่แค่นั้นค่ะ ต้องหาข้อมูลหัวหมุนมาก บางทีต้องไปตั้งกระทู้ถามทางออนไลน์ว่าช่วยหน่อยเถอะ คำนี้มันคืออะไร ก็มีเยอะแบบนั้น ไม่ได้ชิลนะการแปล บางคนบอกว่า จิบกาแฟ ชิลๆ แปลไป ไม่นะ ไม่ใช่เลย แต่หัวฟูเลย แปลแต่ละเรื่อง กองหนังสือเต็มโต๊ะ เพื่อค้นคว้า คำเฉพาะ ตำแหน่ง ประวัติศาสตร์ ความรู้เฉพาะทางก็เยอะ ต้องหาข้อมูล เพื่อความถูกต้อง แล้วไม่ใช่เช็กแค่ที่เดียว ต้องหาจากหลายๆ แหล่ง เพื่อถูกต้องที่สุด น่าเชื่อถือที่สุด
อีกเรื่องคือ คำศัพท์ ต้องรู้จักหลักคำ และต้องรู้จักใช้คำไวพจน์ (คำที่ใช้แทนกันได้) ไม่ใช่ว่าใช้คำว่าเศร้า ก็ใช้แบบนั้นตลอดทั้งเรื่อง เพราะคนเขียนเขาก็ใช้สารพัดคำในการพูดความเศร้า ฉะนั้น เราก็ต้องใช้คำให้หลากหลายด้วยเหมือนกัน ต้องสร้างคลังคำของตัวเองไว้ คำว่าเศร้ามีอะไรบ้าง ก็อย่างเช่น “โศกศัลย์” “ระทม” “ตรอมตรม” อะไรก็ว่าไป มันเป็นความหลากหลายในการใช้คำ คือทิพย์ก็มีหนังสือ “คลังคำ” แต่ว่าทิพย์ก็ชอบสะสมเองมากกว่า ยิ่งตอนแต่งกลอน ยิ่งไปกันใหญ่เลยค่ะ เพราะมันจะใช้คำเรียบๆ ไม่ได้ ก็ต้องหาเยอะเหมือนกัน กว่าจะลงได้ยากเย็นมาก
• แต่ก็ไม่เคยเบื่อเลยใช่ไหมกับงานการตรงนี้
ไม่เคยเบื่อค่ะ คือทิพย์เชื่อว่าถ้าเราทำอะไรที่เราชอบ เราจะทำได้ดี อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัว อันไหนที่เราชอบ เราจะตั้งใจไปเอง เราจะทุ่มเทโดยไม่รู้สึกเบื่อหรือว่าฝืน หรือว่ารู้สึกว่า เฮ้ย ต้องทำอีกแล้วเหรอ แต่เราจะอยากหาความรู้ ดู อ่าน ขวนขวาย เพราะว่าเราชอบ อาจจะเป็นโชคดีของเราด้วยที่เราได้เลือกเรียนวิชาที่เราชอบ และได้เลือกทำในสิ่งที่เราชอบค่ะ (ยิ้ม)
_______________________
_________________________________
เรื่อง : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช