ความฝันในหอแดง (红楼梦) หนึ่งในสี่ยอดวรรณคดีจีน มีนัยอันลึกซึ้งที่ผู้ประพันธ์แฝงไว้ในเรื่องราวความรักหนุ่มสาวและวิถีชีวิตชนชั้นสูงในสังคมศักดินายุคราชวงศ์ชิงที่ทรงอรรถรสและสีสันแห่งวรรณกรรม อุดมด้วยกลอักษรกลการประพันธ์ที่ใช้แฝงเร้นความจริงอันแยบยล ตลอดจนคุณูปการในด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ชาวไทยหลายท่านได้สัมผัสเรื่องราวนิยาย ความฝันในหอแดง กันมาไม่มากก็น้อยจากสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งหนังสือฉบับพากย์ไทย ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์จีน
อัตลักษณ์โดดเด่นของนิยาย ความฝันในหอแดง เป็นเรื่องราวชีวิตผู้หญิงจีน ที่สะท้อนผ่านตัวละครหญิง 12 คน นับเป็นเรื่องเดียวในกลุ่มยอดวรรณคดีจีนสี่เรื่อง ที่สะท้อนชะตากรรมผู้หญิงภายใต้กรอบวัฒนธรรมขงจื่อที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ขณะที่อีกสามเรื่องได้แก่ สามก๊ก (三国演义) ไซอิ๋ว (西游记) และซ้องกั๋ง (水浒传) ล้วนสะท้อนบทบาทผู้ชาย วีรกรรมของผู้ชาย แทบไม่เห็นบทบาทของผู้หญิงเลย
ในประเทศจีน มีการจัดตั้งสถาบันเพื่อการศึกษาวรรณกรรม “ความฝันในหอแดง” ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง และกลายเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง เรียกว่า “แดงวิทยา” (红学) หรือ “Redology” โดยมีนักหอแดงวิทยา (红学家) ทำงานศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ ตีความแง่มุมต่างๆ ขุดค้นคุณค่าและความจริงที่แฝงเร้นอยู่ในนิยายเรื่องนี้ อย่างไม่รู้จบจวบจวนปัจจุบัน
**********
นาย ธนัสถ์ สุวัฒนมหาตม์ ผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มาให้บรรยายในฐานะนักวิชาการอิสระ “นักหอแดงวิทยา” ผู้รู้เรื่องวรรณกรรม ความฝันในหอแดง ที่ดีสุดท่านหนึ่งของไทย ในหัวข้อ “ความฝันในหอแดง : เพชรเม็ดงามแห่งวรรณกรรมจีนที่ไม่ควรมองผ่าน” จัดโดย อาศรมสยาม-จีนวิทยา เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งยังได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม เกี่ยวกับความรู้วรรณกรรม ความฝันในหอแดง
ปริศนาผู้ประพันธ์
อาจารย์ ธนัสถ์ เปิดการบรรยายด้วยการเจาะลึกเกี่ยวกับตัวผู้แต่งนิยาย ความฝันในหอแดง ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักหอแดงวิทยา สำหรับ ความฝันในหอแดง ประพันธ์โดย เฉาเสวี่ยฉิน (曹雪芹) ปี ค.ศ. 1744 - 1755 รวมเวลาสิบปีระหว่างรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง (ปี ค.ศ. 1735 - 1795) นิยายเรื่องนี้ มีชื่อเดิมว่า “บันทึกแห่งศิลา” หรือ สือโถ่วจี้ (石头记)
ต้นฉบับ ความฝันในหอแดง ที่เฉาเสวี่ยฉินเป็นผู้ประพันธ์นั้นไม่จบสมบูรณ์ มีเพียง 80 ตอน โดยข้อมูลทั่วไประบุว่า เฉาเสวี่ยฉิน แต่งนิยายไปได้ 80 ตอน ก็ถึงแก่กรรม ขณะที่ผู้อ่านติดนิยายเรื่องนี้กันมาก จนเกิดกระแสเรียกร้องให้มีการแต่งนิยายต่อจนจบ จึงมีนักประพันธ์หลายท่าน มาแต่ง “ภาคต่อ” บางฉบับมี 20 ตอน บางฉบับมี 30 ตอน
ความฝันในหอแดง “ภาคต่อ” แต่งโดยเกาเอ้อ (高鹗) จำนวน 40 ตอน ได้รับเลือกให้ผนวกเข้ากับฉบับดั้งเดิม 80 ตอน ของเฉาเสวี่ยฉิน กลายเป็น ความฝันในหอแดง ฉบับสมบูรณ์ 120 ตอน ตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะในปี ค.ศ. 1791 และถือเป็นฉบับแพร่หลาย แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่า “ภาคต่อ” ของเกาเอ้อนั้น ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของเฉาเสวี่ยฉิน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักหอแดงวิทยา อาทิ โจวหรูชัง (周汝昌) ระบุว่า เฉาเสวี่ยฉิน แต่งนิยาย ความฝันในหอแดง จบบริบูรณ์ รวมทิ้งสิ้น 108 ตอน แต่ 28 ตอนนั้น ได้สูญหายไป
คุณค่าและสถานะทางประวัติศาสตร์ของความฝันในหอแดง
แกนเรื่องนิยาย ความฝันในหอแดง เป็นเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวในตระกูลมั่งคั่งในระบบสังคมศักดินา คือ จย่าเป่าอี้ว์ หลินไต้อี้ว์ และเชวียเป่าไช เป็นนิยายแนว “สัจจนิยม” (Realism) ที่มุ่งสะท้อนความฟอนแฟะของระบบสังคมศักดินา เปิดโปงชีวิตฟุ้งเฟ้อของชนชั้นสูง จึงเป็นหนังสือต้องห้ามในยุคนั้น ราชสำนักใช้ “คุกอักษร” (文字狱) จัดการกับผู้ประพันธ์หนังสือต้องห้าม เฉาเสวี่ยฉิน จึงไม่แต่งง่ายๆ แสดงนัยออกมาตรงๆ แต่ได้ซ่อนความจริงไว้ในระหว่างบรรทัดของเรื่องราว
ความฝันในหอแดง เมื่ออ่านโดยผิวเผินแล้ว อาจดูเป็นนิยายรักๆใคร่ๆ สัมพันธ์ชู้สาวผิดศีลธรรม โศกนาฏกรรมครอบครัวชนชั้นสูง ทว่า เบื้องลึกของเรื่องราวดังกล่าว ได้แฝงซ่อนความจริงที่ฟอนเฟะแห่งยุคราชวงศ์ชิง ดั่งที่ อาจารย์ ธนัสถ์ กล่าวว่า “การอ่านนิยายความฝันในหอแดงต้องอ่านในแนวลึก มิใช่แนวราบ แต่จุดที่ยากไปกว่านั้นคือ การอ่านลึกควรจะลึกแค่ไหน หากอ่านลึกเกินไป ก็เกินเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์เฉาเสวี่ยฉิน หากอ่านตื้นเกินไป ก็เข้าไม่ถึงเจตนารมณ์ของเฉาเสวี่ยฉิน”
อาจารย์ ธนัสถ์กล่าวถึงคุณูปการของนิยาย ความฝันในหอแดง ว่าเป็นการถ่ายทอดจิตวิญญาณของคนจีนสมัยราชวงศ์ชิง ว่าควรเปลี่ยนโลกทัศน์ที่เหยียดผู้หญิงที่ต้องประสบชะตากรรมต่างๆอย่างน่าสะเทือนใจและไม่เป็นธรรม
ความฝันในหอแดง ถือเป็นสารานุกรมที่ครบถ้วนด้วยแขนงความรู้ต่างๆ ในวัฒนธรรมจีน ความคิดคนจีน โลกทัศน์จีน ศาสนา ปรัชญา อาหาร การแพทย์ ตำรับยา สถาปัตยกรรม การจัดสวน เป็นต้น ผู้ที่ต้องการเข้าใจสภาพสังคมและประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ชิง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอ่าน “ความฝันในหอแดง”
“ในเมืองจีนถือวรรณกรรมความฝันในหอแดง เป็นผลงานชิ้นเอก เทียบเท่ากับกำแพงเมืองจีนเลยทีเดียว”
“ในแง่มุมศาสนาปรัชญา ในความเห็นส่วนตัวของผม ความฝันในหอแดง ได้รวมสามลัทธิเข้าด้วยกัน ทั้งขงจื่อ พุทธ และเต๋า ในวรรณกรรมจีนทุกเรื่องได้สะท้อนสามลัทธิศาสนานี้ สำหรับความฝันในหอแดงนั้น โจมตีลัทธิขงจื่อ ซึ่งทำให้ชีวิตผู้หญิงจีนสมัยก่อนต้องทุกข์ระทมแหลกเหลว ระบบการสอบ “ปากู่เหวิน” (八股文)เพื่อเข้ารับราชการเป็นขุนนาง ก็เป็นลัทธิขงจื่อ ซึ่งพระเอกเป่าอี้ว์ไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม ขงจื่อก็มีทั้งจุดที่ดีและจุดที่ไม่ดี” อาจารย์ ธนัสถ์ กล่าวเพิ่มเติมในการให้สัมภาษณ์
เฉาเสวี่ยฉินเรียกร้องความเสมอภาคแก่สตรี และตำหนิกรอบจารีตในลัทธิขงจื่อ ที่กำหนดบทบาทผู้หญิงที่ดี ต้องยึดถือ “สามคล้อยสี่คุณธรรม” ได้แก่ สามคล้อยคือ ยังไม่ออกเรือนคล้อยตามบิดา ออกเรือนคล้อยตามสามี สามีถึงแก่กรรมแล้วคล้อยตามบุตรชาย ส่วน “สี่คุณธรรม” คือ นารีธรรม นารีพงษ์ นารีลักษณ์ นารี
การทำความเข้าใจความฝันในหอแดง
...คำพ้องเสียงบอกความนัย “แท้จริงเป็นเรื่องน่าเวทนา”
จากตอนที่หนึ่งของนิยาย เฉาได้ตั้งชื่อตัวละครโดยใช้คำพ้องเสียงที่จีนเรียก “เสียอิน” (谐音) เพื่อบอกความนัยแก่ผู้อ่าน ว่านิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่ต้องแฝงเร้นไว้ อาทิเช่น
การตั้งชื่อตัวละครเปิดเรื่อง เจินซื่ออิ่น (甄士隐) พ้องเสียงกับ “เจินซื่ออิ่นชี่ว์” (真事隐去) ที่แปลว่า แฝงเร้นเรื่องจริง, จย่าอี่ว์ชุน (贾雨村)พ้องเสียงกับ จย่าอี่ว์ชุนเยียน (假语存焉) ที่แปลว่า เหลือคำเท็จไว้
เฉาเสวี่ยฉินใช้คำพ้องเสียงซ่อนความจริงไว้ในชื่อตัวละครอีกมาก เช่น ชื่อของสี่คุณหนูแห่งตระกูลจย่า คือ หยวนชุน (元春), อิ๋งชุน (迎春), ทั่นชุน (探春), และชีชุน (惜春)โดยเสียงของอักษรตัวแรกในชื่อเหล่านี้ คือ หยวน-อิ๋ง-ทั่น-ซี พ้องเสียง กับ หยวนอิ่งทั่นซี (原应叹息) เพื่อที่จะสื่อความหมาย “แท้จริงเป็นเรื่องน่าเวทนา”
...รัตนคันฉ่องแห่งสายลมและดวงเดือน กับความจริงที่ซ่อนไว้ที่ด้านหลังกระจก
ในตอนที่ 12 จย่ารุ่ย ผู้หลงรักนางหวังซีเฟิ่ง ผู้มีศักดิ์เป็นพี่สะใภ้ของตน แต่ถูกนางกลั่นแกล้งอย่างอำมหิตจนล้มป่วย วันหนึ่งนักพรตเต๋าได้มอบกระจกวิเศษ “รัตนคันฉ่องแห่งสายลมและดวงเดือน” (风月宝鉴) ให้แก่จย่ารุ่ย เพื่อรักษาอาการป่วยไข้ โดยกำชับว่าจะต้องส่องด้านหลังกระจก ห้ามส่องด้านหน้ากระจกเด็ดขาด จย่ารุ่ยได้นำกระจกขึ้นมาส่องทางด้านหลัง ก็เห็นเป็นโครงกระดูกน่าเกลียดน่ากลัว จึงลองพลิกด้านหน้ากระจกมาดู ก็เห็นเป็นยอดปรารถนา นางหวังซีเฟิ่ง กวักมือเรียก จย่ารุ่ยลุ่มหลงเฝ้าแต่ส่องด้านหน้ากระจกกระทั่งสิ้นลมอย่างอเนจอนาถยิ่ง
“รัตนคันฉ่องแห่งสายลมและดวงเดือน” บานนี้ จึงเป็นสัญลักษณ์แทนมายาแห่งความรักใคร่ ตัณหาราคะ ที่ฉุดชีวิตลงสู่หุบเหวแห่งหายนะ ผู้คนทั่วไปมักส่องดูหน้าด้านกระจกมองดูสิ่งสวยงาม สิ่งที่พึงปรารถนา ซึ่งล้วนเป็นมายาที่ตอบสนองกิเลสตัณหา ทว่า เมื่อส่องด้านหลังก็เห็นเป็นโครงกระดูก ซึ่งเป็นสัจจะธรรมแห่งชีวิต
...หนี่ว์วาเทวี ปฏิสังขรณ์แผ่นฟ้า เชิดชูบทบาทผู้หญิง
นิยายความฝันในหอแดง เปิดเรื่องโดยเล่าเทพปกรณัม “หนี่ว์วาเทวีปฏิสังขรณ์แผ่นฟ้า”(女娲扑天 )การสู้รบระหว่างเทพก้งกงกับจวนซีว์ ( 共工与颛顼争帝位 )และกำเนิดเป่าอี้ว์
เทพก้งกงกับจวนซีต่อสู้กันจนฟ้าถล่มพัง ร้อนถึงหนี่ว์วาเทวีต้องหลอมหิน 36,501 ก้อน เพื่อซ่อมปะแผ่นฟ้า แต่เมื่อหนี่ว์วาเทวีใช้ก้อนหิน 36,500 ก้อน ปะซ่อมหลังคาสวรรค์ก็แล้วเสร็จ และได้ทิ้งก้อนหินอีกหนึ่งก้อนที่เหลือไว้ที่ยอดเขาบนสวรรค์ ก้อนศิลาที่ถูกทอดทิ้งนี้โศกเศร้าและอยากลงไปเที่ยวยังโลกมนุษย์ จนในที่สุดก็สมหวัง ได้จุติลงมาเกิดเป็น เป่าอี้ว์ ผู้มีหยกอยู่ในปากเมื่อถือกำเนิดจากครรภ์มารดา และนี่ก็คือจุดกำเนิด “บันทึกแห่งศิลา”
การใช้หนี่ว์วาเทวี เปิดเรื่อง ก็เพื่อสื่อว่าผู้หญิงเป็นผู้จัดการเรื่องราวต่างๆ ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดจากผู้ชายเป็นผู้ก่อ อันแฝงนัยความจริงที่ว่าสังคมศักดินาเสื่อมถอยเพราะผู้ชาย มีแต่ผู้หญิงที่จะแก้ปัญหา
...ปูมหลังโศกนาฏกรรมความรักของตัวละครเอก
เจินซื่ออิ๋น หลับฝันทราบเรื่อง “การตอบแทนคุณ” ของหญ้าเจี้ยงจู (绛珠草) แด่เทพเสินอิง (神英侍者) ด้วยน้ำตา
ด้วยเทพเสินอิงได้รดน้ำหญ้าเจี้ยงจู จนหญ้าเจี้ยงจูกลายเป็นเทพธิดา นางจึงลั่นวาจาขอตอบแทนเทพเสินอิงด้วยน้ำตา เมื่อเทพเสินอิงจุติลงมาเป็นจย่าเป่าอี้ว์ หญ้าเจี้ยงจูก็จุติลงมาเป็นหลินไต้อี้ว์ ทั้งสองมาประสบพบรักกันและจบลงด้วยโศกนาฏกรรม ไต้อี้ว์ตรอมตรมสิ้นลมในวันที่เป่าอี้ว์ที่ต้องเข้าพิธีสมรสกับเชวียเป่าไช
ความฝันในหอแดง เป็นเรื่องราวชีวิตผู้หญิงจีน ที่สะท้อนผ่านตัวละครหญิง 12 คน นับเป็นเรื่องเดียวในกลุ่มยอดวรรณคดีจีนสี่เรื่อง ที่สะท้อนชะตากรรมผู้หญิงภายใต้กรอบวัฒนธรรมขงจื่อที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ขณะที่อีกสามเรื่องได้แก่ สามก๊ก (三国演义) ไซอิ๋ว (西游记) และซ้องกั๋ง (水浒传) ล้วนสะท้อนวีรกรรมของผู้ชาย ภาพ: ชุดแสตมป์ภาพวาดตัวละครหญิง 12 คน ในวรรณกรรมความฝันในหอแดง
การสะท้อนภาพความคิดของเฉาเสวี่ยฉิน
เรื่องราว ความฝันในหอแดง ตีแผ่ความฟอนเฟะของระบบสังคมศักดินาผ่าน 4 ตระกูลใหญ่ คือ จย่า (贾) สื่อ (史) หวัง (王) และเสวีย (薛) เช่น การใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อของชนชั้นสูง การทุจริตต่อหน้าที่ในระบบราชการ การมั่วเมาตัณหากามารมณ์ การกดขี่ข่มเหงผู้ที่อ่อนด้อยกว่า
สะท้อนภาพวิถีชีวิตของสตรีจีนในระบบสังคมศักดินา เฉาเสวี่ยฉินยกย่องสตรีเพศ ตำหนิบุรุษเพศ จากคำพูดของตัวละครเอก เป่าอี้ว์ เมื่อเติบโตถึงวัยที่พูดได้ ก็พูดขึ้นว่า “เลือดเนื้อของสตรีทำมาจากน้ำ เลือดเนื้อของบุรุษทำมาจากโคลน ข้าเห็นสตรี รู้สึกสดชื่น เห็นหน้าบุรุษ รู้สึกโสโครกเหม็นเน่า” (ความฝันในหอแดง ตอนที่สอง)
เฉาเสวี่ยฉินเรียกร้องความเสมอภาคแก่สตรี และตำหนิกรอบจารีตในลัทธิขงจื่อ ที่กำหนดบทบาทผู้หญิงที่ดี ต้องยึดถือ “สามคล้อยสี่คุณธรรม” (三从四德) สามคล้อยคือ ยังไม่ออกเรือนคล้อยตามบิดา ออกเรือนคล้อยตามสามี สามีถึงแก่กรรมแล้วคล้อยตามบุตรชาย ส่วน “สี่คุณธรรม” คือ นารีธรรม นารีพงษ์ นารีลักษณ์ นารีกิจ ขณะเดียวกันก็ยกย่อง “สตรีที่ไร้ความสามารถคือสตรีที่มีจรรยา” (女子无才便是德) ซึ่งทำลายชีวิตสตรีจีนมานับพันปี
เฉาเสวี่ยฉิน แต่งตัวละครหญิง 12 คน เป็นตัวแทนของผู้หญิงจีนที่อยู่ภายใต้กรอบจารีตลัทธิขงจื่อในสังคมศักดินาจีน ตัวละครหญิง 12 นางนี้ แต่ละคนมีชีวิตนิสัยแตกต่างกันไป อาทิเช่น
ตัวละครเอก หลินไต้อี้ว์ เป็นผู้หญิงจีนชั้นสูง มีความรู้มากมาย แต่แก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ และมักทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่
เชวียเป่าไชอยู่ในกรอบ ของ “สามคล้อยสี่คุณธรรม” ตามแบบฉบับกุลสตรีในสังคมขงจื่อ
เมี้ยวอี้ว์ มีโลกอุดมคติไม่สอดคล้องความเป็นจริงก็อยู่ในสังคมลำบาก
และตัวละครหญิงที่เป็นนางร้ายของนิยายฯ เป็นสตรีที่อยู่นอกกรอบจารีตของสังคมศักดินา คือ หวังซีเฟิ่ง เป็นสาวรูปงาม ฉลาดล้ำเก่งกาจ สามารถจัดการกิจการภายในบ้านได้อย่างดีเยี่ยม แต่เป็นคนจิตใจโหดอำมหิต ละโมบโลภมาก ในที่สุดนางก็หย่าร้างสามี ครอบครัวมีอันล้มเหลว บุคลิกลักษณะของนางดูเป็นแบบอย่างเดียวกับสตรีผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์จีนหลายคน บูเช็กเทียน (武则天) ซูสีไทเฮา (慈禧太后) และเจียงชิง (江青)
ความฝันในหอแดง จึงมีความหมายว่า ความจริงที่เกิดขึ้นในนิวาสถานของเหล่าสตรีนั้นเอง
ละครโทรทัศน์ Dream of Red Chamber ปี 1987 เป็นฉบับคลาสสิกดีมาก ผลิตโดยจีนแผ่นดินใหญ่ เวอร์ชั่นนี้นำเสนอเนื้อหาโดยรักษาเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์เฉาเสวี่ยฉิน
ภาพยนตร์ความฝันในหอแดง ฉบับคลาสสิก
สำหรับผู้ที่ต้องสัมผัส นิยาย ความฝันในหอแดง เป็นการชิมลางก่อน อาจารย์ ธนัสถ์ ได้แนะนำ ละครโทรทัศน์ Dream of Red Chamber ปี 1987 เป็นฉบับคลาสสิกดีมาก ผลิตโดยบริษัทจีนแผ่นดินใหญ่ เวอร์ชั่นนี้นำเสนอเนื้อหาโดยรักษาเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์เฉาเสวี่ยฉิน ที่แต่งนิยายไม่จบ โดยนำการวิเคราะห์ของนักหอแดงวิทยามาตีความว่าเรื่องควรจบแบบไหน ไม่เดินตามแนวเนื้อเรื่องของเกาเอ้อ ผู้ประพันธ์ภาคต่อ จนจบสมบูรณ์ ทั้งนี้ “ภาคต่อ” ของเกาเอ้อ ถูกโจมตีมากว่า ไม่สอดคล้องหรือตรงกันข้ามกับเจตนารมณ์ของเฉาเสวี่ยฉินที่ต้องการตีแผ่ความฟอนแฟะและหายนะของสังคมศักดินาจีน
ภาพยนตร์ ความฝันในหอแดง อีกฉบับ สร้างโดย ชอว์ บราเดอร์ นักแสดงนำคือ หลิน ชิงเสีย สวมบท จย่าเป่าอี้ว์ ฉบับนี้เข้าใจง่ายสุด ความยาวเพียงสองชั่วโมง
ล่าสุด มีภาพยนตร์ ความฝันในหอแดงฉบับใหม่ล่าสุด (新红楼梦 )2010 เสนอเนื้อเรื่องตามฉบับของเกาเอ้อ ซึ่งคนจีนโจมตีมาก การแสดงไม่ได้เรื่อง แต่มีจุดเด่นคือเทคนิกการถ่ายทำดี
สำหรับนิยายความฝันในหอแดง มีการแปลฉบับภาษาไทยขนาดย่อม และขนาดเต็มออกมาสู่บรรณพิภพไทย เพียง 3 ฉบับ ได้แก่
ความรักในหอแดง แปลโดย วรทัศน์ เดชจิตกร สำนักพิมพ์ โฆษิต ฉบับย่อรวบรัด การแปลดี ภาษาสละสลวย สำนวนดี อ่านเข้าใจง่าย เข้าถึงสารัตถะนิยายมากที่สุด
ความฝันในหอแดง ฉบับสมบูรณ์ แปลโดย วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ แปลจากต้นฉบับภาษาจีน เป็นฉบับแปลที่พยายามรักษาความสมบูรณ์ในต้นฉบับภาษาจีนอย่างเคร่งครัด รักษารูปแบบประโยคภาษาจีน คำศัพท์จีนทุกคำ แต่ทำให้อ่านเข้าใจยาก
ความรักในหอแดง ฉบับ พอลิน เอ เฉิน แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ เนื้อหาเป็นการนำเรื่องความฝันในหอแดงมาเขียนเรียบเรียงใหม่ โดยมุงเน้นไปที่เรื่องของตัวละครเอก หลินไต้อี้ว์ เท่านั้น