xs
xsm
sm
md
lg

"อดุลย์ รัตนมั่นเกษม" นักเขียน นักแปล นักสู้ กับคุณูปการจีนศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อดุลย์ รัตนมั่นเกษม
MGR ONLINE--อดุลย์ รัตนมั่นเกษม นักเขียน คอลัมนิสต์ นักแปล เกี่ยวกับเรื่องจีน กว่า 100 เล่ม ในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ณ วันนี้ เขาได้รับผลรางวัลนักแปลดีเด่น "รางวัลสุรินทราชา" ประจำปี 2559 จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ทว่า จากการพูดคุยกับอดุลย์แล้ว เขาได้รับรางวัลชีวิตจากการทุ่มเทรังสรรค์งานมาตลอด นั่นคือความสุข

อดุลย์ ในวัยหนุ่มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ สนใจการเมือง ทำกิจกรรมการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัยในยุคที่กระแสขัดแย้งทางการเมืองเชี่ยวกราก จนในที่สุดก็ได้ตัดสินใจออกเดินทางไกลสู่ป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หลังจากนั้นในปีต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่พลิกชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทว่า ด้วยคุณธรรมความกล้าที่แท้ ทำให้อดุลย์ยืดหยัดสร้างสรรค์ผลงานมากมายสู่บรรณพิภพ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างคุณูปการแก่วงการจีนศึกษา

อดุลย์นำเสนอผลงานในนามปากกาต่างๆ ทั้งในชื่อจริง อดุลย์ รัตนมั่นเกษม และนามปกกาอื่นๆ อาทิ ธนพร หน่ำปักซินแส ปัจจุบันอดุลย์ในวัย 58 ปี ก็ยังคงผลิตงานเขียน งานแปล เขียนคอลัมน์นำเสนอในนิตยสารครัว

ชีวิตที่พลิกผัน ยืนหยัดด้วยความกล้าหาญที่แท้
“ผมเรียนรู้จากชีวิตจริงมากกว่าในสถาบันศึกษา ครอบครัวผมไม่ได้ร่ำรวย ผมต้องช่วยทางบ้าน ทำงานตั้งแต่เรียน ชั้นประถมปลาย แม่เป็นแม่ค้าหาบเร่แผงลอย วางแผงขายอาหารอยู่ตรงข้างทางเดินในซอยทางเข้าตลาดเก่าเยาวราช ผมต้องตื่นตีสามครึ่งบ้าง ตีสี่บ้าง ขึ้นมาช่วยแม่ทำกับข้าว สับกระเทียม หั่นพริก หั่นผัก อุ่นอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันวาน เพื่อนำไปขายที่ตลาดเก่า ช่วงเย็นก็ต้องไปคอยยาย ที่ท่าเรือท่าดินแดง เพื่อช่วยหาบปลาทะเลนึ่งกลับบ้าน เป็นกิจวัตรประจำวัน ที่ผมคุ้นเคยมาแต่เด็ก การดิ้นรนต่อสู้จากชีวิตในวัยเด็ก ส่งผลดีต่อผม เมื่อชีวิตต้องพลิกผันอย่างสิ้นเชิงอีกครั้ง หลังจากที่ประสบอุบัติเหตุ ทำให้ผมกลายเป็นคนพิการ ชีวิตพลิกเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้าเลยก็ว่าได้”

“ผมทิ้งการเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเดินทางเข้าป่าหลังเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง “6 ตุลา พ.ศ. 2519” ในราวปีพ.ศ. 2521 ก็เกิดอุบัติเหตุพลัดตกเขา ขณะนั้นคิดว่า ตัวเองคงตายแน่แล้ว เพราะในตัวผมมีระเบิดมืออยู่ถึง 7 ลูก ยังไม่นับปืนประจำกาย ที่มีกระสุนสำรองอีกหลายสิบนัด แต่โชคดีมหาศาลที่ผมรอดชีวิตมาได้ หากว่าระเบิดลูกใดลูกหนึ่ง เกิดกระเดื่องนิรภัยหลุด ก็คงมิใช่ ผมคนเดียวที่ตาย แต่จะพาเพื่อนตาย และบาดเจ็บไปด้วยแน่นอน ผมสลบไป รู้สึกตัวตื่นมาอีกที ก็มืดค่ำแล้ว รู้สึกเหมือนขาตัวเองหายไป ร้องถามแต่ว่าขาผมไปไหนๆ เพื่อนที่อยู่เฝ้าก็มีสีหน้างงๆ เพราะขาผมไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ดีเหมือนเดิม แต่ผมรู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีขา”

“อุบัติเหตุทำให้ชีวิตพลิกผัน เป็นอัมพาตช่วงล่าง ทางหมอเรียก spastic paraplegea ที่พ่วงแถมด้วยอาการกระตุกของกล้ามเนื้อเป็นระยะๆ เพิ่มความทรมานทางกาย ให้ผมอีกไม่น้อย”

“ผมรักษาตัวออยู่ที่โรงพยาบาลในมณฑลยูนนานตลอด 8 ปี เคยมีคนถามผมว่า เคยคิดฆ่าตัวตายไหม ถ้าบอกว่าไม่เคย นั่นคือการโกหก เคยคิดหลายครั้งทีเดียว แต่ผมยังรักชีวิต การฆ่าตัวตายนี่ มันต้องใช้ความกล้ามาก แต่เป็นความกล้าแค่ชั่ววูบเดียว การมีชีวิตอยู่เพื่อพิสูจน์คุณค่าในตัวเองต่างหาก ที่ต้องใช้ความกล้ามากกว่าหลายเท่านัก ทุกวันที่ผมมีชีวิตอยู่ ผมต้องใช้ความกล้าเสมอมา และก็ได้พิสูจน์ถึงความกล้าหาญที่แท้จริง

ในที่สุดผมก็ได้ “กลับบ้าน” เมืองไทย ในราวปี พ.ศ. 2530 ก็หันมาจับปากกาเขียนหนังสือ แปลหนังสือ งานของผมคือเขียนหนังสือ แปลหนังสือ เขียนคอลัมน์ประจำ “เกร็ดรักลายมังกร” ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และคอลัมน์ “เครื่องยาจีน” ในนิตยสารครัว งานส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของจีน
ส่วนหนึ่งของผลงานเขียน-งานแปล ของ อดุลย์ รัตนมั่นเกษม
แรงส่งจากการเรียนด้วยตัวเองที่สร้างความสำเร็จ
ผมเรียนภาษาจีนในระดับประถมต้นมาก่อน และได้ไปอยู่จีนถึง 7 ปี จึงมีโอกาสเรียนภาษาจีนที่นั่น หัดเขียนหัดพูดกับคนจีน ความเป็นลูกจีนในไทยบวกกับพื้นความรู้ที่มีอยู่ ทำให้เรียนง่ายขึ้น การอ่านเป็นเรื่องที่ช่วยได้มาก ผมอ่านหนังสือจีนแทบทุกเล่มเท่าที่หาได้ เริ่มจากเล่มที่อ่านง่ายๆ อย่างนิตยสารข่าวภาพ (画报) และหนังสือพิมพ์ จากนั้นจึงเริ่มอ่านเรื่องสั้น นิยาย จนในที่สุดอ่านวรรณกรรมคลาสสิกของจีน ยอดวรรณกรรมคลาสสิกทั้งสี่เล่ม (ความฝันในหอแดง/红楼梦,สามก๊ก三国演义,ซ้องกั๋ง水浒传,ไซอิ๋ว西游记) เอามาอ่านหมด งานวรรณกรรมของฝงเมิ่งหลง (冯梦龙) และคนอื่นๆ งานเขียนของหลู่ซิ่น(鲁迅) กัวโม่โย่ (郭沫若) เหล่าเส้อ(老舍) เป็นต้น

ผมว่าการอ่านช่วยให้ความรู้ด้านภาษาดีขึ้น และยังทำให้มีความรู้เรื่องจีนมากขึ้น ทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์ ปรัชญา ไม่ว่าจะเป็นหยู (ขงจื๊อ 孔子, เม่งจื๊อ 孟子) เต๋า (เล่าจื๊อ老子, จวงจื๊อ庄子) โม่จื๊อ (โม่จื๊อ墨子) นิติธรรม (หานเฟยจื่อ 韩非子) ความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ทั้งหมดนี้ช่วยให้เข้าใจคนจีนมากขึ้น และเข้าใจจีนมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ผมจะรอบรู้เรื่องจีนนะครับ นั่นเป็นเรื่องที่เกินความสามารถของผมไปแล้ว
จีนมีเสน่ห์ในทุกเรื่อง ประวัติศาสตร์จีนมีความต่อเนื่องมายาวนาน เรื่องราวในประวัติศาสตร์จีนทั้งที่ออกมาในรูปวรรณกรรม นิยาย เรื่องสั้น อ่านสนุก และให้ความรู้แง่คิด ให้บทเรียนมากมาย
แรงบันดาลใจสู่งานเขียน งานแปล เกี่ยวกับจีน
ไม่มีแรงบันดาลใจอะไร แค่ใช้ความรู้ที่มี มาทำมาหากิน “หาข้าวกินเท่านั้น” (混碗饭吃)

ผมเริ่มจากงานแปล แปลทุกแนว แต่หลักๆมีแค่สองแนว คือประวัติศาสตร์ ซึ่งมักออกมาในแนวกลยุทธ์โบราณ ผมรักหนังสือที่ผมแปลเองทุกเล่ม และคิดว่าดีทุกเล่ม แต่ที่รู้สึกมีค่ามากคือ งานเขียนของฝงเมิ่งหลง เรื่อง “จื้อหนาง” (智囊)โดยฉบับล่าสุดใช้ชื่อ ชุดขุมปัญญาจีน มีทั้งหมด 7เล่ม งานแปลเล่มอื่นๆก็มี เจ็ดยอดกุนซือในสามก๊ก เง่าคี้ ไตรยุทธศิลป์ ยุทธพิชัยพิชิตศึก อ่อนหยุ่นพิชิตแข็งกร้าว ยุทธวาที ยังมีอีกหลายเล่มครับ น่าจะเป็นสิบ จำได้ไม่หมดครับ

อีกแนวที่เริ่มต้นด้วยการแปล แต่ทุกวันนี้หันมาเขียนแทน คือเรื่องอาหารจีน ผมแยกเป็นสองแนว แนวแรกเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพแบบจีน เน้นเรื่องอาหารการกิน ที่สอดแทรกความรู้ด้านโภชนาศาสตร์และการแพทย์แผนจีนไว้ กับแนวที่สองเป็นเรื่องของประเพณีวัฒนธรรม เน้นเรื่องวิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมที่ผูกโยงอยู่กับอาหารจีน

มีผลงานจีนหลากหลายแนว ชอบแนวไหนที่สุด
ชอบสองแนวที่กล่าวข้างต้น โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ผมว่า จีนมีเสน่ห์ในทุกเรื่อง ประวัติศาสตร์จีนมีความต่อเนื่องมายาวนาน เรื่องราวในประวัติศาสตร์จีนทั้งที่ออกมาในรูปวรรณกรรม นิยาย เรื่องสั้น อ่านสนุก และให้ความรู้แง่คิด ให้บทเรียนมากมาย

ปรัชญาจีนทั้งหยู (ขงจื๊อ) และเต๋า รวมทั้งสำนักคิดสายอื่นๆ ให้แง่คิดมุมมองต่อชีวิต ต่อสังคม และต่อโลกในแบบที่เรารู้สึกทึ่งได้ และทุกวันนี้ ความคิดแบบหยูยังมีอิทธิพลอยู่ในญี่ปุ่นและเกาหลีอย่างเหนียวแน่น

อาหารจีนนี่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง อุดมหลากหลายยิ่งกว่าอาหารชาติใดในโลก อิทธิพลอาหารจีนมีให้เห็นอยู่ทั่วโลก เฉพาะในไทย อาหารจีนสายแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ไหหลำ แคะ ได้แทรกเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา โดยที่เราอาจไม่ทันสังเกต ข้าวต้มกุ๊ย ข้าวต้มเครื่อง ก๋วยจั้บ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ ข้าวมันเนื้ออบ จับฉ่าย บะหมี่ เกี๊ยว ซาลาเปา ติ่มซำ อาหารที่มีกลิ่นอายอาหารแต้จิ๋ว แคะ ไหหลำ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน เหล่านี้ มีให้เห็นอยู่ทั่วไป

อาหารจีนที่ฝรั่งรู้จักกันดี คือติ่มซำแบบกวางตุ้ง ซาเซมิหรือปลาดิบของญี่ปุ่น ก็คล้ายคลึงกับหื่อแซหรือปลาดิบของแต้จิ๋ว และเชื่อกันว่า ญี่ปุ่นรับเอาการกินปลาดิบจากจีนตอนใต้ไปในสมัยแผ่นดินถัง ซึ่งเป็นสมัยที่ญี่ปุ่นส่งคนไปเรียนรู้วิทยาการจากจีนกันอย่างกว้างขวาง เพียงแต่ทุกวันนี้ เฉพาะในไทย ซาเซมิดังกว่าหื่อแซอย่างเทียบกันติด สปาเก็ตตี้ของฝรั่งก็มาจากบะหมี่จีนในสมัยที่มาร์โคโปโลเดินทางไปถึงจีน และนำวิทยาการการทำอาหารเส้นชนิดนี้ไปเผยแพร่ในยุโรป

“จีนนอกจากเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ ด้านการทหาร ด้านนิวเคลียร์ และด้านอวกาศแล้ว ยังเป็นมหาอำนาจด้านอาหารอีกด้วย ผมเชื่อเช่นนั้น”

 มองการเสพงานเขียนเกี่ยวกับจีนในอดีตและปัจจุบัน

ผมว่า ยกเว้นนิยายกำลังภายในและงานเขียนบางเรื่องแล้ว คนไทยไม่ค่อยนิยมอ่านวรรณกรรมหรืองานเขียนของนักเขียนจีนกันสักเท่าใด วรรณกรรมคลาสสิกจีนมีมากมาย แต่เราแทบไม่รู้จักกันเลย งานเขียนของนักเขียนสมัยปัจจุบัน ยังทำกันออกมาน้อยมาก อาจเป็นเรื่องของการตลาด และเรื่องของลิขสิทธิ์ก็เป็นได้ ที่ทำให้ไม่ค่อยมีงานแปลจากงานของนักเขียนยุคนี้สักเท่าใด ที่มีแปลกันออกมาบ้าง ก็มักเป็นเรื่องที่ฝรั่งพูดถึงหรือให้รางวัล เช่นเรื่อง หงส์ป่า หลิงซาน (The Soul of Mountain) และ Shanghai Baby คือเรายังติดอยู่ใต้อิทธิพลการชี้นำของฝรั่ง ผมเชื่ออย่างนั้น
 “จีนนอกจากเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ ด้านการทหาร ด้านนิวเคลียร์ และด้านอวกาศแล้ว ยังเป็นมหาอำนาจด้านอาหารอีกด้วย ผมเชื่อเช่นนั้น”
คนไทยยังคงชอบแนวนิยายกำลังภายใน นิยายอิงประวัติศาสตร์ งานแนวนี้ไม่ตาย เพราะอะไร?

นี่เป็นเรื่องน่ายินดี ที่คนไทยอ่านและติดตามนิยายกำลังภายใน และนิยายอิงประวัติศาสตร์ การที่นิยายเหล่านี้ไม่ตาย เพราะมันสนุก มันเป็นเรื่องของการต่อสู้ห้ำหั่นกัน แยกเป็นฝ่ายธรรมกับฝ่ายอธรรม เป็นเทพเป็นมารกันชัดเจน เพื่อช่วงชิงอำนาจเป็นเจ้ายุทธภพ หรือแย่งชิงสิ่งล้ำค่า เช่น กระบี่ศักดิ์สิทธิ์ สุดยอดคัมภีร์ ตราแผ่นดินหรือราชโองการลับ และสุดท้ายเรื่องราวก็จะจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายธรรมะหรือฝ่ายเทพ ซึ่งผมว่าตรงนี้ถูกจริตคนไทย คนไทยชอบ

การสอดแทรกคติคำสอนของลัทธิขงจื๊อก็เป็นไปอย่างแนบเนียน อย่างปรัชญาชีวิตแบบคุณธรรมน้ำมิตร หรือคติเตือนใจต่างๆ คนไทยรับได้ เพราะไม่ขัดแย้งกับคุณธรรมจริยธรรมที่ยึดถือกันอยู่ เพียงแต่กิมย้งอาจมีน้ำเสียงวิพากษ์วิจารณ์ระบอบกษัตริย์จีน (ยุคโบราณ) ระบอบคอมมิวนิสต์จีน และลัทธิถือชนชาติฮั่นใหญ่ (大汉主义) แทรกอยู่ในงานเขียน แต่คนก็ไม่มองเรื่องนี้กันสักเท่าใด

เหตุผลที่สำคัญมากอีกข้อ คือ นิยายกำลังภายในเหล่านี้แปลออกมาได้ดี คนแปลมีฝีมือครับ เรื่องนี้ต้องให้เครดิตเขา จุดสำคัญจุดหนึ่งที่ผมมอง คือการเลือกใช้เสียงคำแต้จิ๋วกับชื่อเรื่องและชื่อตัวละคร เป็นการเลือกที่ฉลาดมากครับ และสำคัญมากด้วย เพราะคนไทยคุ้นกับคำเสียงแต้จิ๋วมากกว่าเสียงจีนกลาง ในภาษาไทยมีคำจีนที่เป็นเสียงคำแต้จิ๋วมากมาย ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงอาหาร เช่น โต๊ะ เก้าอี้ โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว เต้าหู้ยี้ เราใช้กันจนคุ้นกับเสียงคำเหล่านี้ ดังนั้น สำหรับคนไทย เสียงคำแต้จิ๋วจึงออกเสียงง่ายกว่า ยกตัวอย่าง เซียวฮื่อยี้ อ่านง่ายกว่า เสียวอวี๋เอ๋อร์ หรือเซียวเหล่งนึ่ง อ่านง่ายกว่า เสี่ยว หลง นวี่ ที่เป็นเสียงจีนกลาง นี่เป็นความเห็นส่วนตัวนะ

เหตุผลอีกข้อ คือนิยายกำลังภายในและนิยายอิงประวัติศาสตร์ (ยุคโบราณ) มักถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ตรงนี้ก็มีส่วนทำให้คนไทยรู้จักนิยายเหล่านี้มากขึ้น และมีส่วนทำให้นิยายเหล่านี้ไม่ตายด้วย

 เงื่อนไขสังคมในอดีต กับปัจจุบัน ที่ส่งอิทธิพลทางความคิดกับคนไทย อย่างเช่น เมื่อก่อนมีแนวคิดสังคมนิยมจากจีนเผยแพร่ในกลุ่มคนหนุ่มสาวยุคนั่น ทำให้มีกระแสการอ่านหนังสือทฤษฎีสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ วรรณกรรมจีน เป็นต้น ส่วนปัจจุบันจีนหันไปใช้ระบบทุนนิยม กลายเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับสองของโลก อุดมการณ์ต่างๆก็ดูจมหายไป

กระแสสังคมนิยมในยุคทศวรรษ 1970 ที่ก่อตัวขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีส่วนทำให้หนังสือทฤษฎีสังคมนิยม และวรรณกรรมแนวปฏิวัติของจีนแพร่หลายในกลุ่มหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าในยุคนั้น แต่หนังสือเหล่านี้ก็จำกัดอยู่แต่เฉพาะเรื่องของทฤษฎีสังคมนิยม และวรรณกรรมปฏิวัติที่มีสีสันซ้ายจัด มีงานเขียนของนักเขียนนิยมซ้ายที่ดูไม่ซ้ายจัดสอดแทรกมาบ้างเช่น ‘เรื่องจริงของอาคิวของหลู่ซิ่น’ เรื่อง ‘บ้านของปาจิน’ เรื่อง ‘ร้านน้ำชาของเหลาเส้อ’ เป็นต้น ทว่าไม่มีงานวรรณกรรมแนวอื่นจากจีนเข้ามาเลย นั่นเป็นเพราะการเมืองภายในจีนเอง ที่คุมกำเนิดหนังสือแนวอื่น รวมไปถึงวรรณกรรมคลาสสิกด้วย ยกเว้นพวกนิยายกำลังภายในจากไต้หวันและฮ่องกง

มาถึงจีนยุคนี้ ก่อนอื่นต้องถามว่า อุดมการณ์สังคมนิยมในยุคทศวรรษ 1970 สอดคล้องกับปัจจุบันหรือไม่ ผมว่าอุดมการณ์นี้อาจพ้นกระแสไปแล้ว คือคนหนุ่มสาวปัจจุบันไม่สนใจ ไม่เพียงเท่านี้ คนหนุ่มสาวในยุคทศวรรษ 1970 ก็ดูจะโบกมือลาอุดมการณ์ที่ตนเคยชมชอบนี้กันเสียส่วนใหญ่ อุดมการณ์สังคมนิยมไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาและการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของประเทศเราในยุคสมัยนี้แล้ว เพราะความจริงที่เราต้องยอมรับคือ เรายังอยู่ในระบบทุนนิยม และต้องอยู่กับระบบนี้ไปอีกนาน

จีนมองเห็นความจริงข้อนี้ จีนจึงหันมาใช้ระบบทุนนิยม หากแต่เป็นทุนนิยมโดยรัฐ ไม่ใช่ทุนนิยมเสรี จีนมีแต่ประชาธิปไตยรวมศูนย์ หรือที่จีนเรียกว่า เผด็จการประชาธิปไตยประชาชน ไม่มีประชาธิปไตยเสรี ทุกอย่างยังถูกควบคุมชี้นำโดยพรรคฯและรัฐ พอหันมาใช้ระบบทุนนิยมโดยรัฐ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงต้องสร้างอุดมการณ์ชุดใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็เปลี่ยนไปตามผู้นำแต่ละคน ‘สี่ทันสมัยยุคเติ้งเสี่ยวผิง’ ‘ตัวแทนสามประการยุคเจียงเจ๋อหมิน’ จนมาถึงทฤษฎีพัฒนาวิทยาศาสตร์ยุคหูจิ่นเทา และฝันของจีน หรือ China Dream ยุคสีจิ้นผิงในปัจจุบัน

อุดมการณ์เหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในความสนใจของหนุ่มสาวไทยปัจจุบันเลยแม้แต่น้อย เพราะมันไม่มีลักษณะสากลเหมือนลัทธิมาร์กซ์ หรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยเสรี ผมเชื่อว่าหนุ่มสาวไทย (ที่เกิดในยุคทศวรรษ 1980-1990) เลือกอุดมการณ์ประชาธิปไตยเสรีนะ แน่นอนว่า ยุคนี้ไม่มีขบวนการคนหนุ่มสาว นักเรียน นักศึกษา เคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างเข้มแข็งเหมือนในอดีต แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า โดยปัจเจกบุคคลแล้ว พวกเขาจะไม่มีอุดมการณ์อะไรเลย ผมเชื่อว่าพวกเขามีอุดมการณ์กัน เพียงแต่ไม่ใช่อุดมการณ์สังคมนิยมอย่างในอดีตเท่านั้น
ปรัชญาจีนทั้งหยู (ขงจื๊อ) และเต๋า รวมทั้งสำนักคิดสายอื่นๆ ให้แง่คิดมุมมองต่อชีวิต ต่อสังคม และต่อโลกในแบบที่เรารู้สึกทึ่งได้ และทุกวันนี้ ความคิดแบบหยูยังมีอิทธิพลอยู่ในญี่ปุ่นและเกาหลีอย่างเหนียวแน่น
ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่คิดจะทำงานด้านจีน เช่น งานเขียน งานแปล ถ้าคิดจะทำเป็นงานอิสระด้วย ทำอย่างไรถึงอยู่รอด

ผมว่าไม่ง่ายนักกับการเป็นฟรีแลนซ์งานด้านนี้ งานเขียนงานแปลก็เหมือนงานอื่นๆ ที่ต้องหาความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติม พร้อมกับฝึกฝนทักษะให้มากขึ้นด้วย พูดง่ายๆคืออ่านและฟังให้มากไว้ และหาความรู้เรื่องจีนในด้านที่เราสนใจให้มาก ส่วนที่ถามว่าทำอย่างไรถึงจะเอาตัวรอดได้นี่ ผมเองยังเอาตัวไม่ค่อยรอดเลยครับ เพราะผมไม่ค่อยวางแผนเรื่องงาน ทั้งที่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ คุยเรื่องงานที่เราสนใจกับทางสำนักพิมพ์ก่อน คุยเป็นโครงการเป็นซี่รี่ส์ได้เลยก็ยิ่งดี จะได้มีงานทำกันยาวๆ เป็นฟรีแลนซ์นี่ต้องขยันหางานให้ตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็ตกงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น