ลืมภาพเก่าๆ ของคุณครูที่มักจะหน้าดุๆ สว.หน่อยๆ พร้อมไม้เรียวไว้ในมือ
เพราะนี่คือคุณครูหน้าใส ใจสวย กับปณิธานอยากช่วยให้เด็กน้อยได้เรียนรู้
ครูปู-ปิยวรรณ ฉิมเลิศ ครูประจำชั้นอนุบาลสองแห่งโรงเรียนวัดสวนหลวง จ.นครสวรรค์
ไม่มีไม้เรียวอยู่ในมือ มีแต่ความปรารถนาดีต่อเด็กๆ อยู่ในใจ
________________________________________________________
16 มกราคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันครู ศิษย์มีครูทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล พึงน้อมใจระลึกถึงพระคุณของครูในฐานะผู้ชี้แนะและอบรมสั่งสอนให้เราได้เรียนรู้ อย่างน้อยก็ช่วงวัยหนึ่งซึ่งก็ได้แก่วัยเรียน
แน่นอนว่า เมื่อถึงนึกภาพของคุณครูกระทั่งเป็นภาพจำสำหรับบุคลากรสายนี้ก็คือ คนที่หน้าดุๆ อาจจะสวมแว่นตา ใบหน้าดู สว.หน่อยๆ และนักเรียนขยับยุกยิกทีไร เป็นต้องทำหน้าเคร่งใส่ และบางทีก็มีไม้เรียวอยู่ในมือ แต่จริงๆ นั่นก็เพียงแค่ภาพจำ เพราะอันที่จริง คุณครูทุกท่านต่างก็ปรารถนาให้ศิษย์ได้ดีและมีวิชาความรู้ด้วยกันทั้งนั้น
กระนั้นก็ดี ภาพลักษณ์ของครูแบบนั้น แม้จะยังมีอยู่ แต่ใช่ว่าคุณครูเดี๋ยวนี้จะเป็นเช่นนั้นทั้งหมด เหมือนคุณครูที่เราเพิ่งได้พบปะสนทนามานี้
นอกเหนือจากตำแหน่งครูผู้ช่วย “ครูปิยวรรณ ฉิมเลิศ” หรือ “ครูปู” ยังมีสถานะเป็นคุณครูประจำชั้นอนุบาลสอง โรงเรียนวัดสวนหลวง อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์
ท่ามกลางความทุลักทุเลของโรงเรียนวัด ณ ดินแดนไกลปืนเที่ยง
ท่ามกลางเสียงจอกแจกจอแจของเด็กนักเรียนตัวน้อย
เราขอเจียดเวลาจากครูปู ครูหญิงวัย 28 ผู้มีความฝัน
ที่จะทำให้น้องๆ หนูๆ เรียนและรู้ดั่งเนื้อหาในอาขยานที่ขับขานกันมานานเนิ่น
“เด็กเอ๋ย เด็กน้อย ความรู้เจ้ายังด้อยเร่งศึกษา...”
• เห็นคุณครูบอกว่าชอบสอนเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต เพราะอะไรครับ
คือเด็กเล็กเขาจะยังไร้เดียงสาอยู่ ไม่มีจริตจะก้าน ใสๆ บางครั้งสิ่งที่เขาไม่รู้ เขาแสดงออกมาแบบไร้เดียงสา มันทำให้เราอยากให้เขารู้มีความรู้ขึ้นมา
• เราอยากช่วยให้เขาได้รู้?
ใช่ๆ ประมาณนั้นค่ะ อยากให้เขารู้ในสิ่งที่เขาอยากรู้ เพราะว่าเด็กอายุประมาณช่วงนี้ เขาจะช่างซักถาม
• เจอเด็กถามเยอะๆ มีรำคาญบ้างไหมครับคุณครู
ไม่เลยค่ะ เพราะปกติจะสอนกันเป็นกลุ่มอยู่แล้ว ถ้าเขาอยากถาม เราก็จะให้ถามทีละคน เพราะถ้าถามพร้อมๆ กัน เราก็จะตอบให้ไม่ทัน ให้เขายกมือถามทีละคน แล้วเราก็ให้แรงจูงใจเขาในการที่จะกล้าซักถาม
• เขาว่าการสอนเด็ก เหมือนการจับปูใส่กระด้ง ตรงนี้คุณครูปูมีวิธีจัดการ “ปูน้อยๆ” เหล่านั้นอย่างไรครับ
คือเด็กๆ หลายพ่อพันแม่มาเจอกัน แต่ละคนก็จะมีนิสัยไม่เหมือนกัน การเลี้ยงดูจากที่บ้านก็ไม่เหมือนกัน พอมาอยู่โรงเรียน คนหนึ่งอาจจะซน อีกคนเรียบร้อย ก็เหมือนกับวุ่นวาย ชุลมุน แต่ถ้าเราสามารถรู้วิธีหรือเทคนิคให้เขาอยู่นิ่งๆ ได้ มันก็จะไม่ยากค่ะ เทคนิคก็คือต้องดึงความสนใจของเด็กๆ ให้มาอยู่ที่ตัวครูให้ได้ และคล้ายๆ ว่าเด็กวัยนี้เขาจะรักครูมากเป็นพิเศษ กับครูคนอื่นๆ เขาจะไม่เท่าไหร่ แต่สำหรับครูประจำชั้นนี่ คือรักที่สุดแล้ว
• ความสนใจของเด็กๆ มักจะสั้น ครูมีวิธีในการดึงความสนใจของเขาอย่างไรบ้าง
การมีสมาธิสั้น เป็นปกติของเด็กวัยนี้ เวลาเราสอนเขา เราก็จะมีสื่อการสอนให้เขา แล้วก็ให้เขาแสดงออกหน้าห้องเรียน เหมือนดึงเขาให้มีความสนใจและมีส่วนร่วมในกิจกรรมมากขึ้น ถ้าเราเอาแต่พูดๆๆ อย่างเดียว เขาไม่สนใจเราแน่นอน คือให้เขามีส่วนร่วมกับเรา ให้แต่ละคนได้แสดงออก
• คุณครูปูเป็นครูมากี่ปีแล้วครับ
ตั้งแต่เรียนจบ รวมแล้วก็ประมาณห้าปี เป็นครูอัตราจ้างสามปีแล้วถึงสอบบรรจุได้ค่ะ
• คือคุณครูปู อยากเป็นครูตั้งแต่ชาติที่แล้วเลยหรือเปล่าครับ
(หัวเราะ) ตอนแรกจบ ม.6 มา ก็อยากเรียนเกี่ยวกับกฎหมายมากกว่าค่ะ แต่สอบไม่ได้ เพราะหัวเราไม่ได้ไปทางนั้น เราก็เลยสมัครสอบเข้าราชภัฏ ทีแรกก็ไม่ได้เข้าใจเท่าไหร่หรอกว่า ปฐมวัยมันคืออะไร เราก็จึงได้รู้ว่ามันเกี่ยวกับเด็กอนุบาล และพอได้ไปสัมผัส ได้ไปทดลองสอน ฝึกสอนกับเขา มันก็เหมือนกับว่าหลงรักไปเลยโดยไม่รู้ตัว เมื่อก่อนนั้น แม้แต่จะให้ไปสอนเด็กปฐม ก็ยังบอกเลยว่าไม่อยากจะสอน
• พอไปเรียนหรือฝึกสอนแล้วมันเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร
พอไปเรียนก็ได้เริ่มรู้ว่า การสอนเด็ก ที่ทุกคนบอกว่า ง่ายๆๆ มันไม่ได้ง่ายอย่างที่ทุกคนคิด การที่จะเก็บเด็กทั้งห้องให้อยู่แบบไม่ให้เขายุกยิกๆ หรือไม่คุยกันนี่ ยากนะคะ มันก็เป็นความท้าทายของเราอย่างหนึ่ง ก็เลยทำให้เรานึกถึงสมัยที่เราเรียนอนุบาล ตอนนั้นเราก็ชอบครูที่เป็นครูประจำชั้น เราก็เลยเอาตรงนั้นมาปรับใช้ พยายามนึกเหมือนกับว่าเราเป็นเด็ก จะทำให้ยังไงให้เด็กเขาสนใจการเรียน
• ทำไมถึงเลือกที่จะมาเป็นครูที่โรงเรียนห่างไกลแบบนี้ครับ
เห็นแก่เด็กตาดำๆ ค่ะ (หัวเราะ) เพราะว่าเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กบ้านนอก ตื่นเช้ามา ปู่ย่าตายายก็เอามาเข้าโรงเรียน ถ้าเขามาอยู่โรงเรียนแล้ว ไม่มีครูสอน มันก็เหมือนกับเขาไม่ได้เรียนรู้อะไร อย่างน้อยให้เขาเขียน ก.ไก่ ได้ อ่านได้ เท่านี้ก็ยังดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ โดยที่ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยนะ
โรงเรียนวัดสวนหลวง เป็นโรงเรียนชนบท เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ก็จะมีตั้งแต่อนุบาล จนถึง ม.3 นักเรียนก็มีอยู่ทั้งหมด 186 คน ครูทั้งโรงเรียนก็มีอยู่ประมาณ 17 คน เด็กที่นั่นส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ หรือไม่ก็แยกทางกัน ส่วนใหญ่ก็จะอยู่กับปู่ย่าตายาย อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเด็กที่ค่อนข้างมีปัญหาได้เหมือนกัน
• เมื่อเด็กเป็นอย่างนี้ เราจะมีวิธีการดูแลเขาอย่างไรครับ
เราก็จะต้องดูก่อนว่าที่บ้านเขาเป็นอย่างไร แล้วแต่ละเทอม ก็จะมีการไปเยี่ยมบ้านเขา ซึ่งเราจะได้รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร ก็ต้องคุยกับผู้ปกครองของเขาด้วย แล้วศึกษาพฤติกรรมของเขาว่า ที่บ้านกับที่โรงเรียนเหมือนกันหรือเปล่า สำหรับปู คือสอนเด็กเล็ก พฤติกรรมของพวกเขาจะไม่แตกต่างกันมากเท่าไหร่ระหว่างอยู่ที่บ้านกับอยู่ที่โรงเรียน เพราะเด็กวัยนี้เขาไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ แต่สำหรับเด็กโตนั้นค่อนข้างจะดูออก
• เด็กๆ เดี๋ยวนี้ มีสิ่งยั่วเย้าเยอะ จะมีคำแนะนำพวกเขาอย่างไรบ้างครับ
เดี๋ยวนี้มันมีสื่ออะไรออกมาเยอะแยะ ให้เด็กเลียนแบบเยอะ ก็อยากจะฝากว่า ให้ผู้ปกครองช่วยชี้แนะเวลาที่เด็กเขาสนใจเกี่ยวกับสื่อพวกนี้ว่าอันไหนดีอันไหนไม่ดี แล้วผู้ปกครองก็ควรจะทำแบบอย่างดีๆ ให้เด็กๆ เห็น แล้วมันก็จะติดเป็นนิสัยต่อไปค่ะ
• คำว่าครูสำหรับเราคืออะไรครับ
ครู ก็เปรียบเหมือนผู้ให้ โดยที่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทนจากลูกศิษย์ แต่สิ่งที่อยากจะเห็นก็คือ ให้เขาได้ไปถึงฝั่งแห่งความรู้ ให้เขารู้สิ่งที่ควรจะได้รู้ แค่นั้นเราก็ดีใจแล้วค่ะ
• เหมือนเรือจ้างอย่างที่เขาว่า?
ใช่ค่ะ คือครูก็เหมือนกับว่า พายเรือมารับเด็ก แล้วพอไปส่งเด็กจนถึงฝั่งแล้ว เด็กก็ไป แล้วครูอนุบาลนี่ส่วนใหญ่จะเป็นครูที่ถูกลืมนะ เพราะเด็กจำไม่ได้ (หัวเราะ)
• คุณภาพชีวิตของ “เรือจ้าง” ในปัจจุบันนี้ ดีหรือไม่อย่างไรครับ
เรื่องเงินเดือนใช่ไหมคะ คือไม่ได้เป็นทุกข์เท่าไหร่ค่ะ เพราะการที่เข้ามาเป็นครูนี่คือ มันต้องแปลว่าหนักอยู่แล้ว การที่จะสอนเด็กให้ได้แต่ละคนนี่มันไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นงานที่หนักอยู่ ซึ่งเราจะไปหวังว่า ฉันทำงานเยอะ ฉันต้องได้เงินเดือนเยอะ มันไม่มีอะไรดีขึ้นมาค่ะ
• ข่าวเขาออกมาบ่อยๆ ว่าครูเป็นหนี้เป็นอะไรกันเยอะ ตรงนี้เรามองอย่างไรครับ
เขาอาจจะมีภาระอะไรเยอะหรือเปล่า อย่างเรา เรายังไม่มีครอบครัว ก็เลยไม่ได้มีการคิดถึงเรื่องการกู้หนี้ยืมสินอะไร และใจจริงๆ ก็ไม่อยากจะคิดอยู่แล้ว เพราะไม่อยากเริ่มต้นการเป็นหนี้เลยค่ะ (ยิ้ม)
ขอขอบคุณ ผอ.กานต์สิรี ภาโรจนวิเชียร ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสวนหลวง
และขอบคุณภาพจากครูปู-ปิยวรรณ ฉิมเลิศ