xs
xsm
sm
md
lg

2 กูรู “มกุฏ-ปณิธิ” กับ ปณิธานอันยิ่งใหญ่ สอนคนตาบอดเขียนหนังสือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถึงแม้ว่าผู้พิการทางสายตาในประเทศไทย ในปัจจุบันนั้น จะได้รับโอกาสต่างๆ มากเพิ่มขึ้นกว่าเดิม อาทิ ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมแล้วพวกเขาเหล่านั้นก็ยังคงถูกเมินหรือไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร ซึ่งไม่แตกต่างจากสมัยก่อนมากนัก จนบางทีเราอาจจะหลงลืมไปในบางคราวว่า พวกเขาไม่มีที่ยืนในสังคม ยังไงก็อย่างงั้น

แต่ยังมีบุคคล 2 คนที่ไม่คิดเช่นนั้น และทำอย่างไรที่จะให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับโอกาสได้แสดงตัวตนในสังคม นั่นคือ อ.มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 และ รศ.ดร. ปณิธิ หุ่นแสวง อดีตหัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ริเริ่มโครงการเกี่ยวกับการอ่านการเขียนที่จะมีขึ้นในปีนี้ รวมถึงโครงการ “สอนผู้พิการทางสายตาให้เขียนหนังสือ” อยู่ในนั้นด้วย

ขณะเดียวกัน แวดวงหนังสือในบ้านเรา ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีวิวัฒนาการที่ดีขึ้น มีหนังสือที่มีหลากเนื้อหามากขึ้นตามลำดับ สำหรับในสายตาของคนทั่วไป แต่สำหรับในสายตา 2 แกนหลักแห่งสำนักพิมพ์ผีเสื้อแล้ว กลับไม่คิดเช่นนั้น แต่กลับคิดว่า แวดวงในหนังสือบ้านเรายังคงเป็นปัญหาสะสมที่เพิ่มเติมจากอดีตมากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะร้ายแรงกว่าเดิมซะด้วยซ้ำ

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ดั่งที่ อ.มกุฎ ได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับแวดวงหนังสือ ในเชิงเปรียบเทียบว่า “เราอยากสร้างตึกสูงเหมือนชาติอื่นๆ เขา เรารู้วิธีสร้างตึกตั้งแต่พื้นดินไปจนถึงยอดเลย แต่ว่าเราไม่เคยนึกถึงการตอกเสาเข็ม เราไม่เคยนึก แล้วท้ายที่สุดแล้ว ตึกทุกตึกที่สร้างมามันก็พังหมด เพราะมันไม่มีรากฐานที่แข็งแรงเลย”

• โครงการ ”ฝึกคนตาบอดเขียนหนังสือ” เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้แสดงทรรศนะผ่านตัวหนังสือให้คนภายนอกรับรู้

อ.มกุฏ : การเขียนหนังสือมันเป็นวิธีการเผยแพร่เอกสารได้ดีที่สุด เวลาเราเชิญใครมาพูด เราเชิญหนเดียวแล้วผ่านไป แม้แต่บันทึกเสียงก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสได้ฟัง เช่นสมมติว่าเราจัดรายการวิทยุ ไอ้คนที่ไม่ฟังวิทยุก็ไม่มีโอกาสได้ฟังเลย หรือจัดรายการทีวี ก็จะต้องมาเปิดซ้ำๆ แต่พอมันเป็นข้อความเป็นหนังสือ พิมพ์หนังสือออกมาเล่มนึง คนได้อ่านต่อๆ ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเผยแพร่ความคิดของคนมองไม่เห็น ด้วยวิธีการทำเป็นหนังสือ เป็นเรื่องเป็นราว ผมคิดว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และดีที่สุด และได้ผลเร็วที่สุด สะดวกที่สุดและลงทุนน้อยที่สุด จัดรายการวิทยุทีนึงเท่าไหร่ หลายตังค์นะ ทีวีก็หลายตังค์ ไอ้จัดทีวีครั้งเดียวเนี่ย พิมพ์หนังสือได้เป็นหมื่นเป็นแสนเล่มเลย เราเลยคิดว่าเป็นวิธีที่ดีและได้ถ่ายทอดไปเรื่อยๆ เช่น เราคิดว่าโครงการที่เราเริ่มต้นเนี่ย มันเป็นโครงการต้นแบบ หมายความว่าอาจจะยังไม่มีแบบแผนที่แน่ชัด แต่ว่าถ้าเกิดมันพ้นโครงการนี้ไปแล้ว ได้ผลยังไงเราก็จะมาประเมินดูว่า เอาละมันขาดตกบกพร่องอะไรไปบ้าง อะไรที่มันไม่ดี เราก็จะนำไปใช้ในภูมิภาคอื่นๆ เช่นต่างจังหวัด หรือที่มีคนตาบอดอยู่ ก็ว่ากันไป

อ.ปณิธิ : เพราะสังคมเรายังไม่เปิดโอกาสให้มากน่ะครับ พอเขามีข้อบกพร่องทางร่างกายอย่างหนึ่ง เหมือนกับเราไปจำกัดเขา สิ่งที่พวกเราคิด ไม่ใช่ความคิดที่บริสุทธิ์มาก ได้อิทธิพลจากสิ่งที่เราเห็นนะ แต่คนที่คิดจากการไม่เห็นเนี่ย มันน่าจะมี ซึ่งเราอาจจะใช้คำว่ามุมมองได้หรือเปล่า เพราะว่ามันก็มองไม่ได้ เพราะว่าคนที่มีข้อบกพร่องอีกด้านหนึ่งเนี่ย มักจะมีเพื่อให้อยู่รอด มีความสามารถ อีกด้าน หรือด้านอื่นๆ มากขึ้น แล้วคนที่อ่านหนังสือไม่ออก ความจำจะต้องดี ต้องสังเกตเห็น ความสังเกตจะต้องชัดเจน อย่างปู่ย่าตายายเค้าอ่านหนังสือไม่ออก แต่จะมีความสามารถอีกด้านแม้แต่คนที่มองไม่เห็นเนี่ย ต้องคิด แล้วคิดมากด้วย แล้วคิดจากสิ่งที่ได้ยินไปคิด เราไม่รู้ว่าเขาคิดยังไง เขาไม่ได้ระบายออกมา เพราะว่าที่จริงแล้ว ฟังดูเหมือนจะเปิดกว้าง แต่ว่าโอกาสมันยังไม่ถึง

• อาจารย์กำลังจะบอกว่า พวกเขามีจินตนาการที่สูงส่งกว่า เพียงแต่ว่ายังไม่ถูกเปิดกว้างมากนัก

อ.ปณิธิ : ผมว่าจินตนาการของเขามากกว่าเรามาก ก็ต้องกว้างกว่าเรามากเลยนะ คือสมมติว่าเราเคยเห็นทะเล เราไม่ต้องใช้จินตนาการ หรือว่าเราดูหนัง เราก็ไม่ต้องใช้จินตนาการนะ ซึ่งถ้าเราอ่านหนังสือ เราต้องใช้จินตนาการบ้าง แต่ถ้าเราดูหนัง เราก็ใช้จินตนาการน้อยๆ ลง แต่นี่คือเค้าไม่เห็นด้วยซ้ำ ได้แต่รู้ว่าเป็นทะเล แต่ก็ไม่เคยเห็นเลยว่ามันคืออะไร

อ.มกุฏ : เวลาเราพาเด็กตาบอดไปที่ทะเล เขาก็ถามคำถามที่เราอึ้งนะครับ เช่น ทะเลนี่เปิด-ปิดกี่โมง เพราะเขาเข้าใจว่า เหมือนกับที่พาเขาไปเที่ยวที่ต่างๆ นั่นแหละ มีประตูเปิด-ปิด หรือมีเด็กคนหนึ่งถาม ซึ่งน้ำตาผมไหลเลย ว่า ‘ในทะเล มีปลาตาบอดมั้ย’ ซึ่งเราไม่เคยคิดเลยนะ เราไม่เคยคิดสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเอาคนที่มองไม่เห็น มาคุยกัน มาทำความเข้าใจ มาคุ้นเคยกัน เราอาจจะรู้ดีกว่าที่เราเคยรู้เรื่องคนตาบอด เขาอาจจะบอกอะไรต่างๆ ซึ่งเราไม่เคยได้เปิดโอกาสให้ได้บอกเลยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาให้เราได้รู้ เรารู้แล้วก็พัฒนาไป เราใช้สมองของเขามาช่วยเราได้ ซึ่งอาจจะได้เยอะแยะ

ผมมีลูกศิษย์คนหนึ่ง ที่มาเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษา ปรากฏว่าวิธีเขียนหนังสือที่เขียนบันทึกของเขา ดีกว่าคนตาปกติมากมาย แบบแผนของการทำงานดีกว่า คำผิดไม่มีเลยเมื่อพิมพ์ต้นฉบับ ใช้ศัพท์แสงและวรรคตอนถูกหมด เรียนกับผมสองคอร์ส ได้เอ ทั้งสองคอร์ส แถมได้เอบวกด้วย เพราะการบ้านสม่ำเสมอ เสนอข้อสอบดีวิเศษ เสนอข้อสอบเองแล้วก็ตอบเอง บรรยายเอง เวลาเขาเสนอข้อสอบเนี่ย ถ้าคนตาปกติ มักจะเกินไป 2-3 นาที ขาดไป 3-4 นาที แต่นี่คือเค้าคำนวณเป๊ะเลยนะครับ เราให้ 10 นาที เค้าทำ 9 นาที 30 วินาที เป๊ะเลย ถามว่าอีก 30 วินาทีนั้นไปไหน เค้าบอกว่า ‘หนูพูดเร็วไปนิดนึง’ (หัวเราะเบาๆ)

• คิดว่าโครงการนี้จะเปิดมิติให้กับการศึกษามั้ยครับ

อ.มกุฏ : อาจจะเรียกอย่างนั้นก็ได้นะ คือให้มันเป็นแบบแผนยิ่งขึ้น คือแต่ก่อนเนี่ย มีเด็กตาบอดไปเรียนที่นั่นที่นี่ซักคนหนึ่ง แล้วมีโรงเรียนสอนคนตาบอดสำหรับชั้นประถมหรือมัธยม แต่ว่าไม่มีเป็นเรื่องเป็นราวสำหรับคนทั่วๆ ไป ที่จบจากโรงเรียนแล้ว พวกหนึ่งที่มีความสามารถเป็นพิเศษ มีพ่อแม่ มีสตางค์ มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัย แต่ว่าอีกจำนวนหนึ่งที่เรียนจบชั้นประถม ชั้นมัธยม หรือจบมหาวิทยาลัยแล้วแต่ไม่รู้ จะไปทำอะไรดี ก็มาเปิดเป็นเรื่องเป็นราวเป็นแบบแผน ลองดูซิว่า คุณมาอะไรอยู่ในสมอง ในความคิด เรามีลู่ทางที่จะให้คุณแสดงออกได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มคุณเอง แล้วก็คนทั้งหลายด้วย บางทีสิ่งที่เขาคิดและเขียนถึง อาจจะเป็นประโยชน์แก่พวกเรา

ถ้าเกิดได้ไปเห็นวิธีการทำงานของเขา คุณอาจจะทึ่ง คือเขามีโน้ตบุ๊กอยู่เครื่องหนึ่งและมีสายเสียบหู เขาก็เรียนหนังสือได้ ฟังเลกเชอร์ เขาก็ฟังไป อัดเทปไป เสร็จแล้วพอส่งการบ้าน ก็พิมพ์มา แล้วไอ้ที่ส่งการบ้านมา มันสมบูรณ์แบบ คือผมรู้สึกว่าหลังจากที่สอนนักเรียนของเราสองเทอม ผมรู้สึกว่า มันไม่ทำไม่ได้แล้วนะ (หัวเราะ) คือในใจของเขามันมีบางสิ่งบางอย่างซึ่งมันไม่ได้ถูกทำลายด้วยการมองเห็น ความเห็นแก่ตัวมันดูจะน้อยกว่าหรือเปล่า ผมอาจจะสัมผัสเพียงไม่กี่คน แต่ผมก็หวังว่าในจำนวนอีกมากๆ ที่จะเจอกันก็คงไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่ที่ผมทึ่งจนจะปล่อยผ่านไปไม่ได้ คือ คนพวกนี้มีภาษา มีวิธีพูด มีวิธีเขียนที่ดี แล้วถ้าเกิดเริ่มเขียนหนังสือด้วยวิธีของเขา ด้วยวิธีคิดของเขา เราจะได้ผลงานการเขียน เราไม่ต้องพูดถึงวรรณกรรมนะ เรายังไม่รู้ แต่ว่าเราจะได้ข้อเขียนที่มาจากข้างในอย่างวิเศษเลย ผมเชื่อนะ

อ.ปณิธิ : เพราะเวลาที่เราให้การศึกษาแก่คนตาบอด เราเกณฑ์ในสิ่งที่เรารับรู้ให้เขาคิด ในความรู้และความคิดของเรา เพราะเราอ่านให้เขาฟัง ซึ่งเป็นทัศนคติและเรื่องราวของคนมองเห็น แต่เรายังไม่เคยฟังและรู้เลยว่า คนตาบอดเขามองโลกยังไง คิดอะไร และมีวิธีคิดยังไง บางทีเราอ่านหนังสืออะไร แล้วเราหลับตานะ เพื่อที่จะมีสมาธิเพ่งไปที่ปัญหานั้นได้ แต่คนตาบอดเขาเพ่งเรื่องนั้นตลอดเวลานะ เพราะว่าเขาน่าจะมีวิธีคิด มีกลไกในสมองที่บางทีมันน่าจะเป็นประโยชน์แก่เรา เพราะบางทีเราก็ยืมวิธีคิดของเขามาอย่างไม่รู้ตัว เวลาเราคิดอะไร แล้วเราก็หลับตาและใช้จินตนาการ แต่พวกเขาจะใช้จินตนาการตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมันก็น่าสนใจที่น่าจะเรียนรู้จากเขาบ้าง แล้วเราก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างแท้จริง

• ความคาดหวังโดยรวมของโครงการนี้

อ.มกุฏ : คาดหวังเยอะ (หัวเราะ) ถ้าคาดหวังอย่างโง่ๆ ที่สุดสำหรับผมก็คือ ผมหวังว่าได้หนังสือเล่มหนึ่ง หลังจากที่อบรมเสร็จ ซึ่งเขียนโดยคนเหล่านี้ อันที่จริงผมได้มาแล้ว ตอนที่นักเรียนผมเรียนสองเทอม จากการบันทึกของเขาทุกวันแหละ ขณะนี้ก็ยังตรวจอยู่ มันคือหนังสือ 1 เล่มต้นฉบับดีๆ นี่เอง

ทัศนคติของเขาที่มีต่อสังคม ความพยายาม ความเข้าใจหรือไม่เข้าใจ คือเวลาที่คนมองไม่เห็น อย่างเช่นเราที่เดินไม่เห็นเนี่ย เราไม่รู้ว่ามีอะไรขวางอยู่บ้าง อุปสรรคที่มันเกิดมันคืออะไร บางทีเขาอาจจะตีตนไปก่อนเลย เราอาจจะเห็นอาการโวยวาย ทั้งๆ ที่มันยังไม่มี แต่ว่าเขาวิตกก็มี เพราะว่าเขาไม่เห็นว่าฝนมันจะตก เขาก็เดินออกไปแล้วมันก็เปียก เขาก็บอกว่าอยู่ดีๆ ฝนก็ตก เพราะว่าเขาไม่เห็น เราเห็นว่าฝนมันจะตก เราก็ไม่ออกไปสิ อย่างนี้เป็นต้น แต่ผมเชื่อว่าได้แน่ แต่ว่าอย่างน้อยที่สุด หนังสือเล่มหนึ่ง หรือถ้าอย่างน้อยไปกว่านั้น ไอ้วิธีการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีสุขและไม่เป็นทุกข์ซึ่งกันและกัน ไม่กล่าวร้ายซึ่งกันและกัน หรือไม่เบื่อระหว่างคนตาเห็นและคนตาไม่เห็น มันอยู่กันยังไงได้

อ.ปณิธิ : คือมันมีคำตอบหลายอย่างนะ ซึ่งเราต้องสอนบางอย่างให้เรารู้ได้ จากสิ่งที่เขาเขียนออกมา เราเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และเราไม่รู้จักเขาดีหรอก บางทีคราวนี้เราอาจจะรู้จักตัวเราดีมากขึ้น จากสิ่งที่เค้าบอกเรา ในโลกนี้มีคำถามที่เราคิดว่าเรารู้ เรามีชีวิตอยู่ในโลกเพราะว่าความเคยชิน แต่มันยังมีคำถามเยอะแยะที่เราไม่เคยตั้งมัน และอาจจะยังไม่รู้อะไรเลย

หรือว่ามันเป็นมายา หรือว่าสัจธรรม สาระมันอยู่ที่ไหน สาระของโลกเนี่ย เราน่าจะไปถึงจุดตรงนั้นได้นะครับ บางทีเราอาจจะให้คนของเรามองดูโลก ในความสำคัญในสิ่งที่คิดว่าไม่สำคัญ มันมีคำถามเยอะแยะเลยนะครับ ว่าเรามองไปยังไง มันอาจจะเป็นโลกใบหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นยังไงนะครับ ผมเคยอ่านในสารคดีฉบับพิเศษ เรื่องนัยน์ตาของสัตว์ คือสัตว์เค้าไม่ได้มองอย่างที่เราเห็นนะ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ไอ้โลกใบจริงๆ มันเป็นยังไง มันอยู่ในสายตาของใคร แม้แต่สีที่เราเห็นอย่างงี้ สัตว์ก็ไม่ได้เห็นสีนะ แล้วตกลงโลกมันจะเป็นสียังไง มันก็ดูลึกซึ้งเกินไปนะ แต่โครงการนี้เราไม่หวังให้ได้ประโยชน์เรานะฮะ คือให้เขาคิดและลองเขียนบรรยาย เพราะว่ายังไม่มีโอกาสให้เขา เหมือนอย่างที่เขานึกว่าบอกเค้าตลอดเวลา

• อาจารย์ทั้งสองมีความคิดเห็นยังไงเกี่ยวกับวิวัฒนาการการเทคโนโลยีของการอ่านของคนไทยในปัจจุบันนี้ครับ

อ.มกุฏ : ผมจะเปรียบเหมือนกับขับรถ แต่ก่อนเราขับด้วยเกวียน เราไปด้วยเกวียนเราก็ขับเกวียน เราไม่ค่อยเห็นนะว่าคนตายด้วยเกวียนมีรถยนต์ มีมอเตอร์ไซค์ ตอนนี้มีรถสปอร์ต มีจรวด เครื่องบิน มันทำให้เร็วขึ้น เราก็เริ่มเห็นคนตายเพราะขับรถเร็วมากขึ้นๆ อุปมาอุปมัย ไม่ใกล้เท่าไหร่นัก เมื่อก่อนเราก็อ่านหนังสือจากกระดาษ เราก็ไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ว่ากิริยาของคนอ่านหนังสือมันแปลกๆ แต่ตอนนี้มันมีหนังสือในอินเทอร์เน็ต มีอีบุ๊ก และมีในสื่อสาธารณะทั้งหลายเนี่ยเยอะมากเลย คุณจะอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ คุณแค่คลิกเข้าไป คุณก็สามารถอ่านได้เท่าที่โลกมี ไม่รู้ตั้งกี่ล้านเล่ม ทุกภาษา แต่เราก็เริ่มเห็นว่า คนที่อ่านหนังสือเหล่านี้ ในสื่อเหล่านี้มันมีกิริยาแปลกๆ แบบกิริยาของคนที่ลุกขึ้นมาด่าแม่โดยที่ไม่รู้เลยว่าใครเป็นใคร หรืออย่างที่ผมเห็นแบบนักศึกษาเห็นเกรดของตัวเองแล้วด่าครูผู้หญิงว่า ‘อีสัตว์’ และนี่คือการขับรถที่เร็วขึ้นๆ เพราะฉะนั้นผมคิดว่า เราจะใช้เกวียนหรือใช้รถ หรือใช้จรวดอะไร มันไม่สำคัญเท่าว่า เรารู้จักสื่อหรือพาหนะของเราดีรึเปล่า ในเมื่อเราไม่รู้จักพาหนะของเราดีพอ เราควบคุมมันไม่ได้ ท้ายที่สุด แทนที่จะเป็นผลดี มันก็กลายเป็นผลเสีย เราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสื่อที่เรามีอยู่ แต่เราคึกคะนอง เราสนุกสนานไปชั่ววูบเท่านั้น

อ.ปณิธิ : คือผมมาจากโรงเรียนที่ด่าครูตลอดเวลานะ แต่มันไม่เอาไปโฆษณาอย่างนั้นนะ คือสมัยก่อน เวลาเราเจ็บใจอะไร เราอาจจะเล่าให้เพื่อนฟัง แม้กระทั่งคนที่ไม่รู้จักผู้หญิงคนนี้ก็โดน คือคนที่อยู่ในแวดวงก็ได้ภาพผู้หญิงคนนี้ เราอาจจะเขียนจดหมายไปเล่า แต่กว่าเราจะกลับไปเขียนเล่า อารมณ์ของเราก็กลั่นกรองไปประมาณนึง แต่เราก็ไม่ถึงขั้น คนที่เราไม่รู้จัก แต่ตอนนี้ด่าทีไปทั่วโลกเลย ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจจะจริงหรือไม่ก็ไม่รู้ แล้วผู้ที่รับ คือมันกลายเป็นของดิบ มันกลายเป็นตอนนี้เราบริโภคของดิบอยู่ มากเข้า คือมันดูสวยดีแต่ไม่รู้เป็นไง

หรืออย่างงี้ก็ได้ การเขียนหนังสือลงอินเทอร์เน็ต มันไม่มีใครมากลั่นกรองเรานะ การพิมพ์หนังสือเนี่ย มันทำให้เรากังวลว่า เค้าจะพิมพ์ให้เรามั้ย จะมีคนตรวจทาน แล้วใครจะรับพิมพ์ให้เรา แต่นี่มันทันทีเลยแล้วก็ไป มันไม่มีใครมาคอยดูว่า ของสิ่งนี้มันควรจะเอาไปหรือไม่เอาไป แล้วเราก็บริโภคของที่เราไม่รู้ว่ามียาพิษมั้ย ในแง่นึงมันก็ดีนะครับ มันเป็นประชาธิปไตยดี คือไม่มีใครผูกขาดว่าฉันมีอำนาจในเรื่องปากกา คุณไม่ผูกขาดในเรื่องการใช้ปากกาแล้ว ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากับคุณที่จะเผยแพร่ความคิด ไม่ใช่นักหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่นักเขียนเท่านั้น แต่นั้นก็เป็นดาบสองคมมากๆ นะครับ คือทุกคนก็รับของที่พุ่งปรี๊ดออกมาเลย น้ำลายก็โผล่ออกมาแล้วถึงเลย แต่ก็จะน่าวิตกมั้ย คือผมไม่คิดว่ามันจะห้ามกันได้นะ ในใจของผมนะ แต่มันก็เป็นหน้าที่ของคนที่เคยทำหนังสือจะต้องทำหนังสือให้มันมีคุณค่ายิ่งขึ้นน่ะครับ ถ้าทำหนังสือชุ่ย มันก็ยิ่งจะทำให้ชุ่ยกันใหญ่ แต่มันง่ายกว่าไงครับ แต่ผมไม่คิดว่ามันจะแทนได้นะ

ในหนังสือ Notre Dam de Paris มันมีตัวละครตัวหนึ่งในยุคที่เพิ่งมีการพิมพ์ใหม่ๆ แล้วก็บอกว่าสิ่งนี้จะแทนสิ่งนั้น สิ่งนี้หมายถึงหนังสือ ตัวหนังสือที่เป็นกระดาษ สิ่งนั้นคือรูปประติมากรรมตามโบสถ์ต่างๆ ที่เล่าเรื่องพระคัมภีร์ คือเขาก็พูดว่าหนังสือมันจะมาแทนศิลปะ แต่ที่จริงมันก็ยังแทนกันไม่ได้ หรือว่าสมัยก่อนที่มีวิดีโอเข้ามาใหม่ๆ ทุกคนจะบอกว่า ตายแน่แล้วอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะต้องพังพินาศ แต่ตอนหลังมันก็ไม่เป็นไร เพราะฉะนั้น ต่างฝ่ายต่างก็ต้องพัฒนาสื่อของตน คือมันห้ามกันไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่าเราจะใช้มันยังไง

• มันเหมือนกับว่า การถือหนังสือออกไป มันกลายเป็นสิ่งประหลาดไปแล้ว

อ.มกุฏ : ไม่หรอกครับ เราไปคิดเอาเอง คือเราอย่าไปสนใจรูปแบบมาก ถ้าเราไปสนใจรูปแบบมาก ผมว่าเราก็ไม่ต้องไปวิตกกังวล ทีนี้คนไทยจะเข้าใจว่า ถ้าเกิดคุณถือไอ้แบบนี้ คุณเล่นเกม ทั้งๆ ที่เค้าอาจจะอ่านหนังสือก็ได้

อ.ปณิธิ : ฝรั่งเขาอ่านหนังสือนะครับ แต่ผมไม่ได้ไปชื่นชมเขานะ ผมเหลือบดูฝรั่งหลายๆคน เขาอ่านหนังสือจากตรงนั้น แต่ของเราเขี่ยกันอุตลุดเลย และนั่นคือเหตุผลที่ฟังขึ้นนะครับ กับการที่เราไม่ต้องใช้พื้นที่มาก บ้านเรามันจะว่างไปช่องหนึ่ง เราสามารถที่จะอ่านจากตรงนี้

• คือสรุปโดยรวมแล้ว พื้นฐานจากหนังสือที่เป็นเล่ม ก็ย่อมเป็นสิ่งสำคัญอยู่

อ.มกุฏ : ต้องใช้คำว่ารากเลย เราอยากสร้างตึกสูงเหมือนชาติอื่นๆ เขา เรารู้วิธีสร้างตึกตั้งแต่พื้นดินไปจนถึงยอดเลย แต่ว่าเราไม่เคยนึกถึงการตอกเสาเข็ม เราไม่เคยนึก แล้วท้ายที่สุด รัฐบาลทุกชุด สร้างตึกทุกตึกแล้วพังหมด พอชุดก่อนออกไปก็พังตึก มันไม่มีตึกไหนอยู่ได้เลย กับเรื่องความรู้ของชาวบ้านน่ะครับ ไม่มีรัฐบาลไหนอยู่ได้เลย เมื่อรัฐบาลออกไป พังเจ๊งๆ หมด มีงบประมาณเยอะแยะมากเลยที่เค้าเรียกว่างบประมาณ 'วาระการอ่านแห่งชาติ' ทุกปี ทุกรัฐบาลจัดกัน ปีละพันล้าน 2 พันล้าน แต่ว่าหลังจาก 2 พันล้านที่ใช้ไปในปีนี้ แล้วปีต่อไปใช้ไป 2-3-4 พันล้าน แล้วปีที่ผ่านมาได้ผลอะไร ไม่เคยมีใครประเมินเลย ไม่มีใครบอกเลยนะว่า ลงทุนไปแล้วได้อะไร

อ.ปณิธิ : ถ้าอ่านอย่างเดียว มันไม่พอนะครับ พูดถึงเรื่องหนังสือคือการอ่านผมว่าไม่พอ คิดว่าท่านรัฐมนตรีหรือว่าท่านทั้งหลาย เราต้องยอมรับว่า จำนวนมากที่มาถึงนี้ หลายคนก็เป็นครูบาอาจารย์ แต่ถ้าทำไม่สำเร็จในเรื่องนี้เพราะว่าไปมุ่งที่การอ่าน ซึ่งที่สุดแล้วมันไม่ได้ผล เพราะว่าก่อนที่จะเป็นหนังสือมาอ่านเนี่ย ต้องเขียน ต้องผลิตหนังสือ ต้องทำหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นระบบสำนักพิมพ์ ระบบห้องสมุด ระบบร้านหนังสือ หรือ บรรณาธิการ ทุกอย่างมันต้องประกอบกัน พอบอกว่าหนังสือสำคัญ แล้วก็บอกว่าการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ ไม่พอครับ ไม่พอจริงๆ

คือต้องถามว่า อ่านอะไร ก็คืออ่านหนังสือ แล้วหนังสือนี้เป็นอะไร หนังสืออยู่ที่ไหน ระบบแพร่หลายของหนังสือ หนังสืออะไร แพร่หลายที่ไหน ประชาชนเข้าถึงทรัพยาการแบบนี้อย่างไร ในทรัพยากรประเภทไหน ผมยังแปลกใจว่า คุณมกุฎจะไม่ได้พูดถึงวรรณกรรมเท่านั้น คุณมกุฎทำระบบหนังสือหมุนเวียน ไม่ได้เพ่งเล็งไปที่วรรณคดีเลย คือเรื่องที่ชาวบ้านควรจะรู้ ซึ่งความรู้จริงๆ ที่ช่วยบ้านเอาไปใช้ได้ ปฎิบัติได้ แค่นั้น ซึ่งควรจะขายได้เยอะ ขายได้มาก เช่น ปีนี้ควรจะปลูกนายังไง ทำนายังไง ถ้าปีนี้ไม่มีนา เราควรจะทำยังไง เตรียมที่ดินยังไง ไปทำอะไรอย่างอื่นแล้วกลับมา แต่เราก็ไม่มีหนังสือแบบนี้ เพราะถ้าผมมีลูกหลานที่จะไปทำนาเอง คุณต้องไปคลำหาเลย ถ้าไม่รู้ภาษาอังกฤษหรือภาษาญี่ปุ่นด้วยนะ ลำบากมากเลยนะ การสอนการทำนาในประเทศไทย เพราะฉะนั้น นี่คือวัตถุประสงค์ของงานพวกนี้น่ะครับ ก็คือว่าอ่านเป็นวาระแห่งชาติน่ะใช่ แต่ว่ามันต้องก่อนหน้านั้น ซึ่งมันเป็นเรื่องอีกมากมายมหาศาลที่ทุกคนควรจะรู้ ซึ่งผมก็ไม่เคยเห็นว่าใครจะรู้

• คิดว่าโครงการที่ทำมา มันบอกอะไรให้คนในชาติได้บ้างครับ

อ.มกุฏ : บอกว่าเรายังขาด คือความพยายามนี้มันยังขาดอะไรบ้าง แล้วสิ่งที่เราขาด เราหาหรือสร้างเองไม่ได้ลำพัง เพราะว่ามันเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น ในเมื่อรัฐบาลยังไม่รู้ร้อนรู้หนาว รัฐบาลยังไม่ทำ เราแต่ละคน ควรได้บอกถึงกันว่า มันเป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องหาสิ่งเหล่านี้ให้เรานะ และเราก็พยายามเรียกร้อง วันนึงอาจจะมีการปฎิวัติ หรือ ขบถ ก็ได้ เรียกร้องจากรัฐบาลต้องเอาสิ่งเหล่านี้มา วิชาความรู้ รัฐบาลต้องจัดให้ประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลปล่อยปละละเลย แล้วเราก็เฉย รัฐบาลไม่เอาของที่ควรจะได้มาให้เรา เราก็เฉย เวลาที่รัฐบาลไม่ให้น้ำประปา ไม่ให้แก๊ส ไม่ให้ถนนหนทาง เราเรียกร้องนะ ไม่ให้ประชาธิปไตย เราเรียกร้อง แต่เราลืมไปว่า ประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดคือ ประชาธิปไตยเรื่องความรู้ นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด คุณให้ประชาธิปไตยประชาชน แต่ประชาชนไม่มีความรู้เลย อ่านหนังสือไม่ออกซักตัว แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร กับประชาธิปไตยอันนั้น เพราะว่า แม้แต่จะคิดเรียกร้องอะไรต่อจากนั้นอีก ก็คิดไม่ออก เพราะไม่มีความรู้

อ.ปณิธิ : หนังสือทุกเล่มมันปฏิวัติโลก การค้นพบแท่นพิมพ์ การค้นพบระบบการพิมพ์ มันปฏิวัติโลก เพื่ออะไร เพื่อทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ เพราะถ้าเราไม่เข้าใจอันนี้ และไม่ส่งเสริมอันนี้ ก็เท่ากับว่า เรายังสงวนความรู้ไว้แค่คนกลุ่มหนึ่ง หรือว่าเรายังไม่เผยแพร่ความรู้นั้น รัฐบาลยังไม่ทำหน้าที่ตรงนั้นเลยอย่างเต็มที่ แท่นพิมพ์ที่จะให้ต้นฉบับมันเผยแพร่ได้ ก็คือให้ความรู้เข้าถึงคนจำนวนมากขึ้นๆ นั่นคือประชาธิปไตย ในการที่จะเข้าถึงแหล่งความรู้ เราพูดถึงสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ การเข้าถึงแหล่งน้ำหรือป่าไม้ มันก็อยู่ในหนังสือ มันต้องมาหลังจากที่เค้ารู้แล้ว คือพอเค้ามีความรู้ เค้าก็พอรู้ว่า สิทธิของเรามันมีอะไรอื่นๆ บ้าง เรามีหน้าที่และสิทธิอะไร แต่สิทธิประการแรกที่สุด ที่เราควรจะให้ประชาชนคือความรู้ แล้วจากนั้นเราก็ต่อยอดว่า อะไรคือความรู้ ความรู้คืออะไร ควรจะออกแบบยังไง นั่นก็คือขั้นตอนผลิตของการทำหนังสือ


เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น