xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์สถาปัตย์ มข.โชว์งานวิจัยเพื่อคนตาบอดได้สัมผัส-รับรู้สีสันงานศิลปะด้วยระดับเสียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มข.โชว์ลงานวิจัยการรับรู้สีสันของภาพศิลปะโดยใช้ระดับเสียงสำหรับคนตาบอด โดยใช้ทดลองต่อกลุ่มเป้าหมายตาบอดแต่กำเนิด ผลการศึกษาสะท้อนว่า คนตาบอดสามารถรับรู้สี รูปร่าง และเลือกใช้สีด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ช่วย ย้ำไม่ได้หวังให้มองเห็นสีแต่ให้เข้าถึงและเข้าใจความหลากหลายของสีสัน

ดร.สัญชัย สันติเวส อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในฐานะเจ้าของผลงานวิจัย “การแสดงออกด้วยการวาดภาพระบายสีและการรับรู้สีสันของภาพศิลปะ โดยใช้ระดับเสียงสำหรับคนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิด” เปิดเผยว่า ได้ทำการวิจัยดังกล่าวกำหนดเป็นกิจกรรมการรับรู้สีสัน และรูปร่างของภาพศิลปะ 2 มิติ ซึ่งได้ถูกลดทอนรายละเอียด และจำนวนสีลงให้ง่ายขึ้น และแสดงออกด้วยการวาดภาพระบายสี ซึ่งจัดทำเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีดำเนินการวิจัย และเครื่องมือในการเก็บข้อมูล ได้แก่ การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การบันทึกเสียง การถ่ายภาพ และแบบทดสอบวาดภาพ ได้แก่ การวาดภาพตามภาพศิลปะต้นแบบ วาดภาพตามจินตนาการ วาดภาพตามอารมณ์และความรู้สึก และวาดภาพตามหัวข้อที่กำหนดให้กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นคนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิดซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการมองเห็นสีสัน และรูปร่างของภาพวาดศิลปะมาก่อนในระดับชั้นมัธยมปลายขึ้นไป ในกลุ่มคนตาบอดสนิทโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด จังหวัดขอนแก่น โดยใช้วิธีการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการรับรู้สีสันด้วยการแทนรหัสโดยใช้วิธีการแปลงค่าจากหุ่นจำลองสี RGB ไปเป็น HLS แล้วเทียบกับระดับเสียงของโน้ตดนตรี รังสรรค์ภาพวาดด้วยปลายนิ้วผ่านจอภาพแบบสัมผัส และใช้แถบสีของโปรแกรมในระดับผู้เริ่มต้นมีจำนวน 12 สี ใช้การวิเคราะห์ และตีความจากคำอธิบายที่มีต่อภาพศิลปะที่สัมผัส การวิเคราะห์ภาพผลงานด้วยการวิจารณ์ศิลปะ

ดร.สัญชัย กล่าวต่อว่า ผลการวิจัยพบว่าสามารถใช้ระดับเสียงแทนสีสันได้ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างสามารถรับรู้สีสัน และรูปร่างของภาพศิลปะ โดยแสดงความคิดเห็น และวิจารณ์ภาพศิลปะที่สัมผัสได้ และสามารถแสดงออกด้วยการวาดภาพระบายสีได้โดยถ่ายทอดภาพผลงานได้ทั้งเป็นแบบรูปธรรม และนามธรรม สามารถเลือกใช้สีได้ถูกต้องตามความจริง หรือตามใจชอบ อีกทั้งยังสามารถเลือกใช้สีสัน และวาดภาพระบายสีได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีผู้ช่วย และมีความพึงพอใจในการร่วมกิจกรรมอยู่ในระดับที่ดี กิจกรรมสามารถสร้างประทับใจ และเพลิดเพลิน แสดงให้เห็นได้ว่า อุปกรณ์เครื่องมือ และโปรแกรมสามารถช่วยให้คนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิดรับรู้สีสัน วาดภาพระบายสี และเรียนวิชาศิลปศึกษาได้ ได้รับองค์ความรู้ใหม่ และทฤษฎีวาดภาพระบายสีสำหรับคนตาบอดสนิท ทฤษฎีศิลปะสำหรับคนตาบอด ได้แก่ ศิลปะคือการปรับตัว การเปรียบเปรย ความพึงพอใจ และการพัฒนาการ ซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันตามลำดับ

“งานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาเพื่อสร้างอุปกรณ์เครื่องมือและโปรแกรมด้วยการใช้การฟังระดับของเสียงแทนรหัสของสีสันผ่านเทคโนโลยีจอภาพแบบสัมผัส (Touch-Screen monitor) เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสร้าง และเรียนรู้งานศิลปะได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ การวิจัยไม่ได้ศึกษาเพื่อให้คนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิดสามารถมองเห็นสีสัน แต่ต้องการให้คนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิดสามารถรับรู้ความหลากหลายของสีสันบนภาพศิลปะ ช่วยให้คนตาบอดสนิทได้รับรู้ และเข้าถึงภาพศิลปะอันมีคุณค่าก่อให้เกิดพัฒนาการของมนุษยชาติ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ได้เช่นเดียวกับผู้ที่สายตาปกติ ศิลปะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงพัฒนาการ ความเจริญ รสนิยม ความคิด และปัญญา วงการศิลปะจะได้เป็นการสร้างสรรค์เพื่อมวลมนุษย์ทั้งหลายอย่างแท้จริง” ดร.สัญชัย กล่าวและว่า สำหรับผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยสร้างสรรค์จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปี พ.ศ.2555 และได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี พ.ศ.2555 อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ได้แก่ ผศ.ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ และ รศ.ดร.ไพโรจน์ ชมุนี



ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น