xs
xsm
sm
md
lg

เจ๋ง! นักวิจัย มข.สร้างโปรแกรมแทนค่าสีจากเสียง เปิดทางคนตาบอดเข้าถึงงานศิลป์ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลจากงานวิจัยชิ้นนี้ทำให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึงงานศิลปมากขึ้น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักวิจัย มข.สร้างโปรแกรมสุดเจ๋ง แทนค่าสีจากเสียงผ่านการใช้งานจอภาพแบบสัมผัส เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้พิการทางสายตาตั้งแต่กำเนิดเข้าถึงงานศิลปะมากขึ้น หวังให้แสดงออกด้วยการวาดภาพระบายสี และการรับรู้สีสันของภาพ โดยใช้ประสาทสัมผัสเรียนรู้จากคำสั่งเสียง



วันนี้ (25 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมสิริคุณากร 4 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) รองศาสตราจารย์ดร.ศจี สัตยุตม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มข. พร้อมด้วย ดร.สัญชัย สันติเวส อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มข. เจ้าของผลงานวิจัยร่วมกันแถลงข่าวผลงานวิจัยเรื่อง “การแสดงออกด้วยการวาดภาพระบายสี และการรับรู้สีสันของภาพศิลปะ โดยใช้ระดับเสียงสำหรับคนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิด”

ดร.สัญชัย เจ้าของผลงานวิจัยกล่าวว่า งานศิลปะเป็นการแสดงออกผ่านเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง โดยรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส สมองจะตีความจากการรับรู้ส่งผลต่อสภาพกายและจิตใจของผู้สัมผัสงานศิลปะ ทั้งนี้อาจเหมือนกันหรือแตกต่างกันไปตามความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์

แต่น่าเสียดายที่กลับมีผู้สัมผัสงานศิลปะกลุ่มหนึ่งไม่สามารถรับรู้งานศิลปะได้ด้วยการมองเห็น นั่นคือผู้พิการทางสายตา (Visually impairment) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิด (Congenital totally blind) ทำให้งานศิลปะไม่สามารถสื่อสารถึงคนได้ทุกคน โดยกิจกรรมทางด้านศิลปะเพื่อให้คนตาบอดได้วาดภาพระบายสีนั้น คนตาบอดไม่สามารถรู้ได้ว่าตนเองระบายสีสันและรูปร่างอะไรลงไป จึงจำเป็นต้องมีผู้ช่วยคอยบอกและเลือกหยิบสีให้

ดร.สัญชัยกล่าวว่า งานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาเพื่อสร้างอุปกรณ์ เครื่องมือ และโปรแกรม ด้วยการใช้การฟังระดับของเสียงแทนรหัสของสีสันผ่านเทคโนโลยีจอภาพแบบสัมผัส (Touch-Screen monitor) เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสร้างและเรียนรู้งานศิลปะได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้การวิจัยไม่ได้ศึกษาเพื่อให้คนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิดสามารถมองเห็นสีสัน แต่ต้องการให้สามารถรับรู้ความหลากหลายของสีสันบนภาพศิลปะ ช่วยให้คนตาบอดสนิทเข้าถึงภาพอันมีคุณค่า ก่อให้เกิดพัฒนาการของมนุษยชาติ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ได้เช่นเดียวกับผู้ที่สายตาปกติ

สำหรับงานวิจัยดังกล่าว ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยสร้างสรรค์จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปี 2555 และได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2555 อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ได้แก่ ผศ.ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ และรศ.ดร.ไพโรจน์ ชมุนี โดยพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยใช้การรับรู้สีสันด้วยการแทนรหัส โดยใช้วิธีการแปลงค่าจากหุ่นจำลองสี RGB ไปเป็น HLS แล้ว เทียบกับระดับเสียงของโน้ตดนตรี รังสรรค์ภาพวาดด้วยปลายนิ้วผ่านจอภาพแบบสัมผัส โดยใช้แถบสีของโปรแกรมในระดับผู้เริ่มต้นจำนวน 12 สี ใช้การวิเคราะห์และตีความจากคำอธิบายที่มีต่อภาพศิลปะที่สัมผัส การวิเคราะห์ภาพผลงานด้วยการวิจารณ์ศิลปะ

ผลการวิจัยพบว่า สามารถใช้ระดับเสียงแทนสีสันได้ กลุ่มตัวอย่างสามารถรับรู้สีสัน และรูปร่างของภาพศิลปะ โดยแสดงความคิดเห็นและวิจารณ์ภาพศิลปะที่สัมผัสได้ และสามารถแสดงออกด้วยการวาดภาพ ระบายสีได้โดยถ่ายทอดภาพผลงานได้ทั้งแบบรูปธรรมและนามธรรม สามารถเลือกใช้สีได้ถูกต้องตามความจริงหรือตามใจชอบ โดยกลุ่มตัวอย่างสามารถเลือกใช้สีสันและวาดภาพระบายสีได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีผู้ช่วย และมีความพึงพอใจในการร่วมกิจกรรมอยู่ในระดับที่ดีอีกด้วย



ดร.สัญชัย สันติเวส  อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  มข.เจ้าของผลงานวิจัย



กำลังโหลดความคิดเห็น