เผย “ไฟเขียว - แดง อัจฉริยะช่วยคนข้ามถนนมีปัญหา ผลวิจัยชี้ชัดไม่ช่วยให้สะดวก - ปลอดภัย - รวดเร็ว ซ้ำเกือบครึ่งไม่ยอมหยุดรถเมื่อเจอสัญญาณไฟแดง ขณะที่ กทม. เจ้าของโครงการยังเดินหน้าจัดงบ 11 ล้าน ทำไฟเขียว - ไฟแดง พูดได้หวังช่วยเหลือคนพิการตาบอด
อุบัติเหตุชวนสลดใจกรณี วิเวียน กาณจน์ภัสร์ ศิริประทุม ครีเอทีฟรายการ 2 สาวเล่าเรื่องของบริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะโลกโซเชียล ที่แสดงความเห็นทำนองเดียวกันว่าระบบสัญญาณไฟคนเดินข้ามถนนอัจฉริยะ น่าจะไม่ปลอดภัย และไม่เหมาะสมกับสังคมเมืองไทยอีกต่อไปแล้ว และเมื่อย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของโครงการสัญญาณไฟคนข้ามถนนดังกล่าว พบว่าเกิดขึ้นเมื่อปี 2548 สมัย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.กทม.) เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กันยายน ปีเดียวกัน บริเวณหน้าโรงพยาบาลจุฬาฯ ถนนราชดำริ กทม. ยังเชิญผู้แทนจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เข้าร่วมทดสอบการใช้งานด้วยเพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ
หลังการติดตั้งระบบไฟอัจฉริยะทั่ว กทม. ไปกว่า 100 จุด มีการประเมินผลโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ถึงความพึงพอใจในการใช้งาน 3 ตังอย่าง พบว่า 1. ผู้เดินข้ามถนน 56 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าระบบไม่ได้ช่วยให้มีความปลอดภัยจากการถูกรถชนขณะเดินข้ามถนน 2. คนเดินข้ามถนน 63 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าระบบไม่ได้ช่วยให้มีความสะดวกสบายในการข้ามถนน 3. คนเดินถนน 74 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าระบบไม่ได้ช่วยลดเวลาที่ต้องใช้ในการรอข้ามถนน
นอกจากนั้น ผลการวิจัยยังระบุถึงประสิทธิภาพของระบบในการช่วยคนเดินข้ามถนนด้วยตัวชี้วัดประสิทธิภาพ 8 ตัว ซึ่งจากการศึกษาพบว่า 1. มีการใช้งานระบบอย่างเต็มรูปแบบวันละ 1,050 นาที (คิดเป็น 73 เปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมดในแต่ละวัน) 2. ช่วงเวลาเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่มีคนต้องการข้ามถนนมาก 3. มีคนเดินข้ามถนนบริเวณทางข้ามที่ออกแบบไว้มาก คือ 27.7 เปอร์เซ็นต์ ของกรณีเปิดใช้ระบบอย่างเต็มรูปแบบ และ 72.5 เปอร์เซ็นต์ ของกรณีเปิดใช้ระบบบางส่วน
4. ระยะเวลาในการรอข้ามถนนของกรณีเปิดใช้งานระบบอย่างเต็มรูปแบบ คือ 9.3 วินาที มีค่ามากกว่ากรณีที่เปิดใช้งานระบบบางส่วน คือ 6.7 วินาที 5. ระยะเวลาในการข้ามถนนของกรณีเปิดใช้งานระบบอย่างเต็มรูปแบบ คือ 13.0 วินาที มากกว่ากรณีที่เปิดใช้งานระบบบางส่วน คือ 10.7 วินาที 6. คนข้ามถนน 59 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ใช้งานระบบตามที่ออกแบบ 7. ในกลุ่มของคนที่ใช้ระบบในการช่วยข้ามถนนมีเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้ระบบในการช่วยข้ามถนนทุกครั้ง 8. เมื่อเปิดใช้งานระบบเต็มรูปแบบพบว่า 47.7 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนรอบการข้ามทั้งหมดมีผู้ขับขี่ไม่หยุดรถเมื่อได้รับสัญญาณไฟแดงเพื่อให้คนเดิน
มีรายงานด้วยว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายสุธน อาณากุล ผอ.สจส.กทม. ได้เปิดโครงการ “เพิ่มไฟเขียวไฟแดง มีเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตาเดินข้ามถนนจำนวน 220 ทางข้าม” หนึ่งในนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับบริษัทเอกชน 2 - 3 แห่ง เพื่อพัฒนาตรวจสอบระบบให้สามารถเข้าเชื่อมศูนย์ควบคุมไฟจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สัญญาณกดปุ่มที่มีตัวเลขนับถอยหลังติดตั้งครอบคลุมพื้นที่ กทม. จำนวน 216 ตัว แต่โครงการไฟเขียวไฟแดงมีเดสียงพูดจะติดตั้งทั้งหมด 220 จุด โดยจะทดสอบที่แยกตึกชัย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นจุดแรกพร้อมเสนองบประมาณในปี 2558 เป็นเงิน 11 ล้านบาท เพื่อดำเนินการต่อไป