xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 29 พ.ย.-5 ธ.ค.2557

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.ศิริราช แจง “ในหลวง” งดเสด็จออกมหาสมาคม ไม่ใช่ประชวร แต่แพทย์ให้พักฟื้น ด้านนายกฯ นำ ปชช.จุดเทียนชัยถวายพระพร!
(บน) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง (ล่างซ้าย) พิธีจุดเทียนที่ศิริราช (ล่างขวา) พิธีจุดเทียนที่หัวหิน (5 ธ.ค.)
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระวรกายสมบูรณ์แข็งแรงดี หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง วันที่ 5 ธ.ค.วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จฯ ประกอบพระราชพิธีมหามงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย โดยจะเสด็จฯ ลงจากอาคารที่ประทับ ชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ในเวลา 10.30 น. ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพระวรกายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ด้านประชาชนต่างพากันดีใจที่จะได้เฝ้าชมพระบารมีในการเสด็จออกมหาสมาคมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตาม กลางดึกคืนวันที่ 4 ธ.ค. สำนักพระราชวัง ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 11 ว่า คณะแพทย์รายงานว่า ได้ถวายการตรวจพระวรกายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว มีความเห็นว่า ยังไม่ทรงพร้อมที่จะเสด็จฯ ออก จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้งดพระราชกิจไว้ก่อน

ในเวลาต่อมา ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ เพราะเกรงว่าแถลงการณ์อาจทำให้ประชาชนกังวลและเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร จึงได้ชี้แจงว่า พระองค์มิได้ทรงพระประชวร เพียงแต่คณะแพทย์มีความเห็นว่า ต้องการให้ทรงพักฟื้นพระวรกาย เนื่องจาก เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พระองค์ทรงมีพระปรอท(ไข้) และพระอันตะ(ลำไส้ใหญ่) อักเสบ แม้ถวายพระโอสถ จนพระอาการปกติ แต่ตามหลักยังต้องพักฟื้น โดยการพักฟื้นที่เหมาะสมคือประมาณ 1 เดือน ซึ่งคณะแพทย์ต้องมีการดูแลพระวรกายในทุกด้าน ทั้งภาวะโภชนาการและการพักผ่อนให้เพียงพอ

ทั้งนี้ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 5 ธ.ค. ประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศได้ร่วมกันจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 87 พรรษา โดยในส่วนกลาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพร ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมีประชาชนพร้อมใจกันสวมเสื้อสีเหลืองมาร่วมพิธีจำนวนมาก

2.ตำรวจ ออกหมายจับ “นพพร” เศรษฐีหมื่นล้าน ฐานจ้างวานอุ้มลดหนี้-แอบอ้างสถาบัน พร้อมตั้งรางวัลนำจับ “เสี่ยโจ้” 1 ล้าน!
(ซ้าย) นายสหชัย เจียรเสริมสินอ หรือเสี่ยโจ้ ผู้ต้องหาค้าน้ำมันเถื่อน-ฟอกเงิน (ขวา) นายนพพร ศุภพิพัฒน์ เศรษฐีหมื่นล้าน ผู้ต้องหาจ้างวานแก๊งแอบอ้างเบื้องสูงอุ้มลดหนี้
สัปดาห์ที่ผ่านมา การดำเนินคดีและขยายผลขบวนการแอบอ้างสถาบัน-เรียกรับผลประโยชน์ และส่วยน้ำมันเถื่อน ที่เกี่ยวโยงกับคดี พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กับพวก ยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 30 พ.ย. พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้นำทีมแถลงจับกุมนายชลัช โพธิราช และนายณัฐนันท์ ทานะเวช ข้อหาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ฯลฯ โดยทั้งสองอยู่ในขบวนการทวงหนี้ที่แอบอ้างเบื้องสูง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปบางส่วนแล้ว โดยมีผู้ร่วมขบวนการ 8 คน คือ นายณัฐพล สุวะดี (ถูกยกเลิกนามสกุลพระราชทาน “อัครพงศ์ปรีชา” แล้ว) ,นายณรงค์ สุวะดี (อัครพงศ์ปรีชา) ,นายชากานต์ ภาคภูมิ ,นายวิทยา เทศขุนทด ,ส.อ.ณธกร ยาศรี ,ส.อ.ธีรพงศ์ ช่อจำปี และผู้ต้องหาทั้งสอง โดยนายชลัชทำหน้าที่ขับรถ ส่วนนายณัฐนันท์ทำหน้าที่ส่งเอกสาร โดยได้รับการติดต่อจากนายนพพร ศุภพิพัฒน์ ให้ก่อเหตุอุ้มนายบัณฑิต โชติวิทยะกุล ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนายนพพร เพื่อให้ลดหนี้จาก 120 ล้านบาท เหลือ 20 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายนพพรถือเป็น 1 ในมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุด ติดอันดับ 31 ใน 50 ของมหาเศรษฐีประจำปี 2557 ที่จัดโดยนิตยสารฟอร์บส ไทยแลนด์ โดยร่ำรวยจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลม มีทรัพย์สินมูลค่ากว่า 25,600 ล้านบาท นอกจากเป็นประธานบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง แล้ว ยังเป็นผู้ถือหุ้นในอีกหลายบริษัท แต่น่าสังเกตว่า หลายบริษัทไม่มีการดำเนินธุรกิจ ขณะที่หลายบริษัทแจ้งผลประกอบการว่าขาดทุน ทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่า นายนพพรเป็นมหาเศรษฐีหมื่นล้านได้อย่างไร และเป็นนอมินีของใครหรือไม่

ในเวลาต่อมา ตำรวจได้ออกหมายจับนายนพพร ข้อหาร่วมกันดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และจ้างวานใช้นายณัฐพล สุวดี(อัครพงศ์ปรีชา) พร้อมพวกรวม 8 คน พาตัวนายบัณฑิต โชติวิทยะกุล ไปเจรจาให้ลดหนี้จาก 120 ล้าน เหลือ 20 ล้าน รวมทั้งข้อหาร่วมกันทำร้ายผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เผยว่า นายนพพรได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.เวลา 05.00น. โดยเดินทางจากด่านผักกาด อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ไปประเทศกัมพูชา โดยเดินเท้า คาดว่าจะเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม ซึ่งได้จัดชุดสืบสวนติดตามจับกุมนายนพพรแล้ว 3 ชุด

นอกจากนี้ตำรวจยังได้ขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาอีก 2 คนฐานแอบอ้างสถาบันและจ้างวานทวงหนี้ คือ นายปรีชา ดาราไตร เป็นนักธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายรถยนต์มือสอง โดยเป็นผู้ที่จ้างวานนายณัฐพล สุวะดี(อัครพงศ์ปรีชา) กับพวก 5 คน ไปทวงหนี้จากนายวิทยา ปัญญาทวีกูล 37 ล้านบาท ส่วนผู้ต้องหาอีกราย คือ นายเจี๊ยบ ไม่ทราบนามสกุล เป็นตัวกลางที่แนะนำให้นายนพพร ศุภพิพัฒน์ เศรษฐีหมื่นล้าน รู้จักกับนายชากานต์ ภาคภูมิ ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมแล้ว โดยนายเจี๊ยบเป็นคนนำเงินสดหลายแสนบาทมาให้นายชากานต์เป็นค่าจ้างในการไกล่เกลี่ยหนี้ของนายนพพรและนายบัณฑิต

เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติคนหนึ่งมีชื่อเป็นประธานบอร์ดบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ของนายนพพร ผู้ต้องหาจ้างวานอุ้มลดหนี้-แอบอ้างสถาบัน คือ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ซึ่ง พล.อ.เลิศรัตน์ ชี้แจงว่า ที่นั่งเป็นประธานบอร์ดบริษัทดังกล่าว เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของบริษัทเชิญมาเมื่อปี 2556 แต่ได้ลาออกแล้ว ทั้งนี้ พล.อ.เลิศรัตน์ ยอมรับว่า เพิ่งลาออกจากประธานบอร์ดบริษัทดังกล่าวหลังมีข่าวเกี่ยวกับนายนพพร พร้อมยืนยันว่า ตนไม่ได้ถือหุ้นอะไรในบริษัทดังกล่าว

ส่วนคดี พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์นั้น พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รองผู้บังคับการปราบปราม เผยว่า หลังจับกุม พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์กับพวก ได้มีหมายเรียกให้ พ.ต.ท.ทรงรักษ์ ขุนศรี รอง ผกก.6 กองบังคับการปราบปราม เข้ารายงานตัวเพื่อสอบปากคำในฐานะพยาน แต่ พ.ต.ท.ทรงรักษ์ ยังไม่มารายงานตัว จึงได้มีหมายเรียกให้มาพบ หากไม่มาพบภายใน 15 วัน จะให้ออกจากราชการ ทั้งนี้ มีรายงานว่า พ.ต.ท.ทรงรักษ์ มีความใกล้ชิดกับ พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์ และอาจเกิดอาการเครียด หลังจากถูกออกหมายเรียกให้ไปรายงานตัว ซึ่งล่าสุด ยังไม่มีใครสามารถติดต่อได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ตำรวจได้สนธิกำลังทหารเข้าค้นบ้านหลังหนึ่งของเครือข่าย พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์ ที่เมืองทองธานี พบตู้เซฟขนาดใหญ่ 3 ตู้ สูง 1.8 เมตร กว้าง 1 เมตร แต่หลังจากให้ผู้เชี่ยวชาญเปิด ไม่พบทรัพย์สินภายในตู้เซฟแต่อย่างใด สำหรับการตรวจสอบของกลางที่เป็นโบราณวัตถุที่ยึดได้จากบ้านพัก พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์ และพวก ทางอธิบดีกรมศิลปากร นายบวรเวท รุ่งรุจี เผยว่า เบื้องต้นพบว่า ศิลปวัตถุที่พบส่วนใหญ่ไม่ใช่ศิลปวัตถุที่อยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีทั้งที่เป็นของจริง และของที่ทำเลียนแบบขึ้นมา ซึ่งพบว่ามีมากกว่าครึ่ง

ด้านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ตั้งอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบเชิงลึกบัญชีทรัพย์สินของ พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์ กับพวกอีก 2 นายแล้ว คือ พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ พล.ต.ต.บุญสืบ ไพรเถื่อน อดีตผู้บังคับการตำรวจน้ำ เพื่อดูว่ายื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือร่ำรวยผิดปกติหรือไม่

ส่วนความคืบหน้าเรื่องส่วยน้ำมันเถื่อนของนายสหชัย เจียรเสริมสิน หรือเสี่ยโจ้ เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด สหทรัพย์ทวีค้าไม้ จ.ปัตตานี และเป็นนักธุรกิจผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ต้องหาค้าน้ำมันเถื่อนและฟอกเงิน ที่อยู่ระหว่างหลบหนีคำพิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี ที่ให้จำคุก 1 ปี 9 เดือน ซึ่ง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงบัญชีชื่อย่อที่เสี่ยโจ้จ่ายส่วยน้ำมันเถื่อนให้ ซึ่งมีทั้งตำรวจและดีเอสไอนั้น เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. พล.ต.อ.สมยศ ได้ประกาศตั้งรางวัลนำจับเสี่ยโจ้สูงถึง 1 ล้านบาท

ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยว่า จากการตรวจสอบพบว่า เสี่ยโจ้น่าจะหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนไทย จึงประสานประเทศเพื่อนบ้านและตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพลแล้ว หากผู้ต้องหาปรากฏตัวที่ประเทศใด ก็จะแจ้งให้ไทยทราบ

3.ศาล พิพากษาจำคุก “จ่าประสิทธิ์” 5 ปี คดีหมิ่นสถาบัน เจ้าตัวสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง แต่ไม่รอลงอาญา เหตุพฤติการณ์ร้ายแรง!
จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ อดีต ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ อดีต ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณี จ.ส.ต.ประสิทธิ์ กล่าวปราศรัยบนเวทีกิจกรรม “หยุดล้มล้างประชาธิปไตย” ที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในชั้นตรวจพยานหลักฐาน จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ให้การปฏิเสธ แต่ต่อมา ได้ยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลขอกลับคำให้การ เป็นรับสารภาพผิดเพราะสำนึกในความผิด

ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จ.ส.ต.ประสิทธิ์ มีความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษาจำคุก 5 ปี แต่จำเลยรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา เนื่องจากศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า ข้อความที่ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ปราศรัยเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่ง จ.ส.ต.ประสิทธิ์ เคยเป็น ส.ส. ถึง 2 สมัย ย่อมต้องรู้ผิดชอบ มีวิจารณญาณมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ยังพบว่า จ.ส.ต.ประสิทธิ์ เคยมีประวัติกระทำผิดมาแล้ว แต่กลับมาทำผิดอีกในเรื่องที่ร้ายแรงขึ้นกว่าเดิม จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ ทั้งนี้ หลังฟังคำพิพากษา จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ขณะเดียวกันมีรายงานว่า จ.ส.ต.ประสิทธิ์ จะไม่ยื่นอุทธรณ์ หลังถูกคุมขังมาแล้วกว่า 6 เดือน

4.ศาล ปค.สูงสุด พิพากษายืนให้ผู้ว่าฯ กทม.-ผอ.เขตปทุมวันสั่งทุบโรงแรมดิเอทัส ซ.ร่วมฤดีภายใน 60 วัน เหตุก่อสร้างสูงเกิน!
โรงแรมดิเอทัส ซอยร่วมฤดี
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ แพทย์หลวงประจำพระองค์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง ,พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ,พ.ท.ธีระ จริยะเวช ผู้จัดการอาคารชุดลาเมซองร่วมฤดี กับพวกรวม 24 คน ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพักที่อยู่ในซอยร่วมฤดีและร่วมฤดี 2 ยื่นฟ้องนายสุรเกียรติ์ ลิ้มเจริญ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน(ตำแหน่งเมื่อปี 2551) และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.(ตำแหน่งเมื่อปี 2551) คดีละเลยการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าและไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารสูง 24 ชั้น ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อใช้เป็นโรงแรม 76 ห้อง(โรงแรมดิเอทัส)

คดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นได้แสวงหาข้อเท็จจริงและตรวจสอบสถานที่จริง โดยมีเจ้าหน้าที่รังวัดของสำนักงานที่ดิน กทม.และคู่กรณีทุกฝ่ายร่วมตรวจสอบความกว้างของถนนในซอยร่วมฤดีรวม 11 จุดแล้ว พบว่า มี 8 จุดที่มีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ศาลปกครองชั้นต้นจึงพิพากษาว่า ผู้ถูกฟ้องทั้งสองละเลยต่อหน้าที่ ไม่ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ดำเนินการกับบริษัทผู้ก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ บนที่ดินที่มีแนวเขตติดต่อกับซอยร่วมฤดี ซึ่งมิได้เป็นถนนสาธารณะ และถนนนั้นมีเขตทางกว้างที่เชื่อมกับถนนสาธารณะอื่นน้อยกว่า 10 เมตร ซึ่งขัดต่อกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ศาลปกครองชั้นต้นจึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องดำเนินการกับบริษัทผู้ก่อสร้างภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งต่อมา ผู้ถูกฟ้องและบริษัทที่ก่อสร้างอาคาร ในฐานะผู้ร้องสอด ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด

ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 24 ราย จะยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลหลังพ้นกำหนดเวลาฟ้องแล้ว แต่ศาลฯ เห็นว่าคดีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย และความสะดวกด้านการจราจร ซึ่งประชาชนโดยรวมอาจได้รับผลกระทบ จึงเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์ส่วนรวมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 3 ศาลจึงรับไว้พิจารณา

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงในการรังวัดพบว่า ความกว้างของถนนในซอยร่วมฤดีและถนนเพลินจิต 8 จุด ใน 11 จุด มีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ดังนั้นการก่อสร้างอาคารของบริษัทดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ที่ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ และผู้ถูกฟ้องทั้งสองไม่ได้ใช้อำนาจดำเนินการกับบริษัทเอกชนที่ก่อสร้างอาคารที่ขัดต่อกฎหมาย จึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ดังนั้น ที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษามา ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสองใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 40-43 สั่งให้เจ้าพนักงานดำเนินการระงับการกระทำดังกล่าว โดยให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร รื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมด หรือบางส่วน ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด โดยให้รื้อถอนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง หากไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ผู้ร้องสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานได้

5.ศาล พิพากษาจำคุกอดีต ส.ส.กลุ่ม 16 “ฉัฐวัสส์” 155 ปี คดียักยอกทรัพย์บีบีซี ส่วนอดีต รมต.”ชูชาติ” ยกฟ้อง!

 (ซ้าย) นายฉัฐวัสส์ มุตตามระ อดีต ส.ส.เชียงราย นักการเมืองกลุ่ม 16 (ขวา) นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการกองคดีเศรษฐกิจ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด หรือบีบีซี (เสียชีวิตแล้ว) กับพวกรวม 8 คน ประกอบด้วย นายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี จำเลยที่ 2 ,นายวันชัย ธรรมธิติวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินและวิเทศธนกิจ และอดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี จำเลยที่ 3 ,นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตกรรมการบริษัท สยามแมส คอนสตรัคชั่น จำกัด บริษัทขอกู้สินเชื่อกับบีบีซี และอดีตนักการเมืองกลุ่ม 16 จำเลยที่ 4 ,นายมาโนช เชาวรัตน์ อดีตกรรมการบริษัท สยามแมสฯ จำเลยที่ 5 ,นายฉัฐวัสส์ มุตตามระ ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามแมสฯ และอดีต ส.ส.เชียงราย นักการเมืองกลุ่ม 16 จำเลยที่ 6 ,บริษัท อเมริกันสแตนดาร์ด แอ๊พเพรซัล จำกัด เป็นบริษัทรับจ้างประเมินราคาทรัพย์สิน จำเลยที่ 7 และนายไพโรจน์ ซึ่งศิลป์ อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท อเมริกันสแตนดาร์ด (ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ) จำเลยที่ 8 ในความผิดฐานร่วมกันครอบครองทรัพย์ซึ่งเบียดบังทรัพย์มาโดยทุจริต หรือร่วมกันยักยอกทรัพย์ ซึ่งผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 ม.ค.-1 มิ.ย.2537 พวกจำเลยได้ร่วมกันวางแผนและแบ่งหน้าที่กันทำหนังสือของบีบีซีถึงบริษัท สยามแมสฯ เสนอรับเป็นที่ปรึกษาในการซื้อหุ้นเพื่อครอบงำกิจการด้านประกันภัย ต่อมาจำเลยที่ 4-8 ร่วมกันขอสินเชื่อจากบีบีซี 570 ล้านบาท เพื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อหุ้นครอบงำกิจการบริษัทประกันภัย โดยพวกจำเลยเสนอหุ้น 6 ล้านหุ้นพร้อมที่ดิน อ.แม่จัน จ.เชียงราย 51 แปลงอ้างราคาประเมิน 405.9 ล้านบาท เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ

ต่อมา วันที่ 3 มี.ค.-30 พ.ย.2538 จำเลยที่ 2 ได้อนุมัติสินเชื่อเบิกเกินบัญชีให้แก่จำเลยที่ 4-6 จำนวนกว่า 655.6 ล้านบาท โดยไม่นำเสนอคณะกรรมการสินเชื่อของบีบีซีพิจารณากลั่นกรองก่อน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยในชั้นสอบสวน จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ สำหรับมูลค่าความเสียหายในคดีนี้เป็นเงินกว่า 1,014.8 ล้านบาท ซึ่งบีบีซีได้รับเงินบางส่วนคืนแล้ว ยังเหลืออีกกว่า 732.9 ล้านบาท จึงขอให้พวกจำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวด้วย ซึ่งต่อมา ธปท.และบีบีซีได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 เป็นการอนุมัติสินเชื่อที่ผิดปกติวิสัยและไม่คำนึงถึงหลักประกันการชำระหนี้ นายเกริกเกียรติจึงกระทำทุจริตเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นและพวกพ้อง ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของ ธปท.พยานหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดทุจริตตามฟ้อง ส่วนนายเอกชัย จำเลยที่ 2 และนายวันชัย จำเลยที่ 3 ศาลเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้ลงโทษได้

สำหรับจำเลยที่ 4-6 คือนายชูชาติ นายมาโนช และนายฉัฐวัสส์นั้น ให้การปฏิเสธมาตลอด โดยนายชูชาติและนายมาโนชต่อสู้ทำนองว่า นายฉัฐวัสส์ เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท สยามแมสฯ และได้ขอร้องนายชูชาติและนายมาโนช ให้มาเป็นกรรมการบริษัทแทนชั่วคราว ส่วนการขอสินเชื่อนั้นนายฉัฐวัสส์เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ซึ่งต่อมา นายชูชาติและนายมาโนชได้ลาออกจากการเป็นกรรมการ ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ยังมีข้อสงสัยว่า นายชูชาติและนายมาโนชทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ส่วนนายฉัฐวัสส์ จำเลยที่ 6 ศาลเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยและคำเบิกความของพยานโจทก์สนับสนุนว่า นายฉัฐวัสส์เป็นผู้ขอสินเชื่อและได้มีการโอนเงินบีบีซีเข้าบัญชีของตนหลายครั้ง ซึ่งนายฉัฐวัสส์ไม่ได้นำพยานมาสืบหักล้างว่า เงินดังกล่าวมีที่มาอย่างไร พยานหลักฐานจึงฟังได้อย่างปราศจากข้อสงสัยว่า นายฉัฐวัสส์ร่วมกับนายเกริกเกียรติกระทำผิด ทำให้บีบีซีได้รับความเสียหายกว่า 732 ล้านบาท

สำหรับจำเลยที่ 7-8 คือ บริษัท อเมริกันสแตนดาร์ด แอ๊พเพรซัล และนายไพโรจน์นั้น พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินคดีกรณียักยอกทรัพย์ เนื่องจากจำเลยทั้งสองเป็นแค่ผู้ประเมินราคาที่ดินสูงกว่าความเป็นจริงเท่านั้น ไม่มีเงินโอนเข้าบัญชีของจำเลยทั้งสอง พฤติการณ์จึงยังฟังไม่ได้อย่างสนิทใจว่า รู้เห็นเจตนาของนายฉัฐวัสส์ หรือมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการกระทำผิดร่วมกับนายฉัฐวัสส์และนายเกริกเกียรติแต่อย่างใด

ศาลจึงพิพากษาว่า นายฉัฐวัสส์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 ,353-354 ประกอบมาตรา 86 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด จำคุกกระทงละ 5 ปี ปรับกระทงละ 1 ล้านบาท รวมความผิด 31 กระทง รวมจำคุก 155 ปี ปรับ 31 ล้านบาท แต่กฎหมายให้จำคุกได้สูงสุดไม่เกิน 20 ปี และให้ชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ร่วมกว่า 732.9 ล้านบาท ส่วนนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 เสียชีวิตแล้ว ศาลจึงให้จำหน่ายคดี และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ,3,4 ,5 ,7 และ 8 แต่ให้ขังจำเลยที่ 4-5 ไว้ระหว่างอุทธรณ์

ทั้งนี้ มีจำเลย 2 คนไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาล คือ นายวันชัย จำเลยที่ 3 และนายฉัฐวัสส์ จำเลยที่ 6 ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลได้ออกหมายจับนายฉัฐวัสส์แล้ว

6.อัยการ ส่งฟ้อง 2 ผู้ต้องหาพม่าคดีเกาะเต่าแล้ว ด้านสถานทูตพม่า ชี้ เจ้าหน้าที่ไม่เป็นธรรม ขณะที่ทนายแฉ ไม่มีใครกล้าเป็นพยาน!

(บน) นายซอ ลิน หรือโซเรน และนายเวพิว หรือวิน 2 ผู้ต้องหาชาวพม่า (ล่าง) พยู เชวนู และอู ตุนตุน ไทก์ ซอลิน แม่และพ่อของนายซอ ลิน
ความคืบหน้าคดีข่มขืนและฆ่า น.ส.ฮันนาห์ วิทเธอร์ริดจ์ และนายเดวิด มิลเลอร์ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่หาดทรายรี ต.เก่าเต่า จ.สุราษฎร์ธานีเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า พนักงานอัยการจังหวัดเกาะสมุย ได้ยื่นฟ้องนายซอลิน หรือโซเรน และนายเวพิว หรือวิน 2 ผู้ต้องหาชาวพม่า ต่อศาลจังหวัดเกาะสมุยแล้ว ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดของตน เพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย ร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง และเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร สำหรับนายเวพิว อัยการได้ยื่นฟ้องเพิ่มอีก 1 ข้อหา ฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และ 335

นายวันชัย เผยด้วยว่า การฟ้องครั้งนี้ พนักงานอัยการมีความเห็นแตกต่างจากพนักงานสอบสวน 2 ประเด็น คือ 1. การเสียชีวิตของ น.ส.ฮันนาห์ ไม่ได้เป็นผลมาจากการร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา แต่เป็นการถูกฆาตกรรมเพื่อปกปิดความผิด ดังนั้นในชั้นสั่งคดี อัยการจึงสั่งไม่ฟ้องนายซอลินและนายเวพิวในข้อหาร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่ได้สั่งฟ้องทั้ง 2 คนในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน เพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้แทน ส่วนประเด็นที่ 2 เนื่องจากพยานหลักฐานในคดีปรากฏชัดว่า มีเพียงนายเวพิวที่ได้กระทำการลักทรัพย์โทรศัพท์มือถือของผู้ตาย ดังนั้นอัยการจึงไม่ฟ้องนายซอลินในความผิดฐานนี้

ด้านนายมิน โอ ผู้ประสานงานฝ่ายกฎหมาย สถานทูตพม่าประจำประเทศไทย เผยว่า ตัวแทนของสถานทูตรู้สึกว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นธรรม รู้สึกเป็นห่วงผู้ต้องหา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ไม่ชัดเจน ไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้เจ้าหน้าที่สถานทูตลำบากในการหาข้อมูลว่าวันไหนจะทำอะไร และว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยนัดเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อพูดคุยเรื่องคดี แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มาตามนัดถึง 4 ครั้ง เมื่ออัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ทางสถานทูตจึงเตรียมจะยื่นประกันตัวในชั้นศาล รวมทั้งจะหารือกับทางสภาทนายความเพื่อสู้คดีต่อไป

ขณะที่นายนคร ชมพูชาติ หัวหน้าทีมทนายความของ 2 ผู้ต้องหาชาวพม่า กล่าวว่า “คดีนี้ไม่มีความเป็นธรรม... พวกเขาเป็นแรงงานข้ามชาติ ทำให้พยานไม่กล้าให้การปกป้องจำเลย เราเสียเปรียบอย่างมาก ... จนถึงตอนนี้ เรายังไม่ได้เห็นหลักฐานของอัยการ แต่ถึงอย่างไร เราก็ต้องทุ่มเทความพยายามต่อสู้ให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ผู้ต้องหาทั้งสองได้เขียนจดหมาย เพื่อวิงวอนขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยเข้ามาให้การเป็นพยานให้พวกตน พร้อมขอเอกสารที่เป็นประโยชน์ต่อคดีนี้ผ่านทีมทนายความด้วย ขณะที่พ่อของวิน ซอตุน ได้ออกมาย้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.โดยเชื่อว่าลูกชายของตนเป็นผู้บริสุทธิ์ “ลูกชายของเราไม่ใช่ฆาตกร แต่เขาถูกจัดฉากให้กลายเป็นอาชญากร ผมต้องการให้รัฐบาลไทยจับตัวคนผิดที่แท้จริงมาลงโทษ ผมทุกข์ใจเหลือเกินที่รู้ว่าลูกชายตัวเองติดคุก”
กำลังโหลดความคิดเห็น