xs
xsm
sm
md
lg

คุยกับพี่น้อง “สาว สาว สาว” เกิร์ลกรุ๊ประดับตำนานของวงการเพลงไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ศ.2525 ใครหลายคนอาจจะยังไม่เกิด แต่นั่นคือศักราชที่ให้กำเนิดวงดนตรีเกิร์ลกรุ๊ปวงแรกๆ ของเมืองไทย
พ.ศ.2526 ใครหลายคนอาจเพิ่งลืมตาดูโลก แต่ในพุทธศกนั้น บทเพลง “รักคือฝันไป” กลายเป็นเพลงฮิตติดหู ดังไปทุกอณูพื้นที่ประเทศไทย วิทยุทรานซิสเตอร์ทุกเครื่องต้องเคยบรรเลงบทเพลงนี้
“สาว สาว สาว” คือวงดนตรีวงนั้น ซึ่งตลอดระยะเวลาต่อมาอีกกว่าสิบปี เกิร์ลกรุ๊ปวงนี้ได้เติบโตทอดยอดถ่ายทอดผลงานสู่คนฟังเพลงร่วมสิบอัลบัม และถ้าจะใช้คำ “ตำนานบทหนึ่ง” ในประวัติศาสตร์วงการเพลงบ้านเรา ก็คงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินเลยจากความจริง

...สามสิบกว่าปีผ่านไป “แอม-เสาวลักษณ์ ลีละบุตร”, “แหม่ม-พัชริดา วัฒนา” และ “ปุ้ม-อวรรณ เย็นพูนสุข” สมาชิกทั้งสามแห่งสาว สาว สาว ต่างเติบโตและแยกย้ายกันไปตามวิถี หลังปี 2535 ทั้งสามคนมีผลงานเดี่ยวเป็นของตนเอง ก่อนจะขยับขยายขึ้นสู่เส้นทางสายบริหารด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมบ่มเพาะมา...

“จริงๆ เราก็เล่นคอนเสิร์ตด้วยกันอยู่ตลอดนะคะที่ผ่านมา” ปุ้ม อรวรรณ ซึ่งปัจจุบันดำรงสถานะเป็นครูสอนร้องเพลงภายใต้ชายคาอาร์เอส เปรยขึ้นพร้อมยิ้มบางๆ
“เพียงแต่คนอาจจะไม่เห็นว่าเราไปเล่นที่ไหนเท่านั้นเอง ส่วนมากเป็นงานภายใน งานอีเวนต์ของบริษัทต่างๆ งานเลี้ยงปีใหม่ อะไรอย่างนั้นน่ะค่ะ เพราะฉะนั้น คนจะไม่ค่อยเห็นว่าเราไปออกงาน แต่จริงๆ เราก็ยังร้องเพลงอยู่ สาว สาว สาว ไม่ได้ไปไหนค่ะ”

นั่นหมายความว่า ถึงแม้จะเลิกรากันไปในนามของวงดนตรี แต่ในแง่ของชีวิต ทั้งสามคนก็ยังสัมพันธ์กันแน่นเหนียว ดุจเดียวกับคืนวันอันเก่าก่อน สามสิบปีผ่านพ้น ไม่แตกต่างจากวันที่เริ่มต้นนับหนึ่งด้วยกัน...

“น่าจะสนุกนะคะ เพราะมีศิลปินรุ่นเก่าๆ ยุคเราๆ มารวมตัวกัน ให้ความรู้สึกเหมือนกับงานเลี้ยงรุ่น” ปุ้ม อรวรรณ ให้ความเห็นอีกครั้งแล้วไล่หลังคำกล่าวด้วยเสียงหัวเราะ เมื่อกล่าวถึงคอนเสิร์ต Yesterday Once More รวมพลคนยุคเก่าซึ่งจะมีในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ที่หัวหิน

อาจไม่มีชื่อของ “แอม เสาวลักษณ์” ด้วยเงื่อนไขปัจจัยทางธุรกิจ แต่ “ปุ้ม” และ “แหม่ม” จะขึ้นแจมในวงเดอะ พาเลซ ในนามของ “สาว สาว สาว” กระนั้นก็ดี ณ บรรทัดนี้ ก่อนที่จะไปย้อนวันวานกับศิลปินมากกว่าสามสิบชีวิตที่เคยฮิตในวันก่อนๆ “สาว สาว” แหม่มและปุ้ม เปิดมุมเล็กๆ ในอาคารหลังใหญ่ให้เราได้สนทนา

และในยุคสมัยที่เกิร์ลกรุ๊ปผุดเกิดเรียงรายจนหูตาลายอย่างเช่นทุกวันนี้ จะมีอะไรประเสริฐไปกว่าการถามหาความคิดเห็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ จากวงดนตรีหญิงวงหนึ่ง ซึ่งเคยสร้างปรากฏการณ์อันถูกบันทึกไว้ ว่าครั้งหนึ่ง...ห้องส่งเวทีคอนเสิร์ตที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองไทยในยุคนั้น อย่าง “โลกดนตรี” รองรับแฟนคลับของ สาว สาว สาว ไม่ไหว จนถึงขั้นต้องขยับขยายออกมาจัดกันนอกห้องส่ง...
ปุ้ม-อวรรณ กับ แหม่ม พัชริดา
• พูดถึงการเป็นเกิร์ลกรุ๊ปสมัยนั้นกับสมัยนี้ ความยากง่าย เหมือนและต่างกันอย่างไรบ้าง
ปุ้ม : ถ้าเทียบกับยุคนี้นะคะ สมัยก่อนยากมากค่ะ เพราะว่าทุกอย่างต้องทำเองหมด สมัยก่อนนั้นค่ายเพลงก็มีน้อย และไม่ได้ทำเต็มรูปแบบเหมือนในปัจจุบันนี้ ไม่ได้มีแผนกเสื้อผ้าหน้าผมอะไรต่างๆ เพื่อรองรับ อย่างศิลปินใส่ชุดอะไรมาก็ได้หรือรองเท้าอะไรก็ได้ เดินเข้ามา ก็จะมีคนคอยแปลงร่างให้ แต่ของเราในตอนนั้น ต้องแปลงตัวเอง ทุกอย่างเราต้องทำเองหมด ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แผนกต่างๆ ก็คือเรานี่แหละ เพราะฉะนั้น มันยากตรงนี้ หนึ่งอย่างละ

แล้วก็ยากในเรื่องของวิธีการทำงาน อย่างทุกวันนี้ เขาก็จะมีแผนกพัฒนาศิลปิน มีไว้เพื่อฝึกหรือเทรนศิลปินก่อนที่จะไปทำงานจริง ทุกอย่างทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง เต้น หรือแอกติ้ง แต่สมัยเรา ไม่มีแบบนี้ เราต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง พัฒนาทุกอย่างด้วยตัวเราเอง

แหม่ม : สมัยนั้นมันไม่มีอะไร อย่างบริษัทค่ายเพลงเขามีเพลงมา ก็จะมีนักร้องไปร้อง ฉะนั้น ถ้าหากนักร้องอยากจะทำอะไรที่มันมากไปกว่าการร้องเพลง เช่น พอขึ้นเวทีจะแสดงอะไร จะแต่งตัวแบบไหน ก็ต้องคิดเอง นั่นคือความยาก แต่ในความง่ายกว่าก็คือว่า ด้วยความที่มันไม่มีความคาดหวังมากมายว่าต้องการแบบนั้นแบบนี้ ไม่มีแบบว่าต้องเทียบกับเกาหลีหรืออะไร ความง่ายมันก็คืออิสระ ทั้งในการทำเพลงและการสร้างตัวเองว่าเราจะเป็นแบบไหน คือไม่ต้องมานั่งวางแผนมาก ว่าจะต้องทำเพลงให้มันเป็นอย่างนี้ ดนตรีจะต้องมีเรฟเฟอเรนซ์อะไร แต่มันเป็นเรื่องของตัวตนของนักร้องกับยุคสมัยมันเป็นอย่างนั้น

• ไม่จำเป็นต้องไปเหลาขาเหลาแขนให้เท่ากันเหมือนยุคนี้
ปุ้ม : ไม่มีค่ะ คือเป็นมายังไง ก็ไปยังงั้นเลย (ยิ้ม)
แหม่ม : คือถ้าเป็นทุกวันนี้ ก็คงไม่เหลาอ่ะค่ะ
ปุ้ม : สวยธรรมชาติ ธรรมชาติลงโทษ (หัวเราะร่วนทั้งสองคน)



• เคยนึกขำๆ บ้างไหม เมื่อย้อนกลับไปมองตัวเองในวัยนั้น แบบว่า...อย่างในเอ็มวี “รักคือฝันไป” นี่ก็เสื้อผ้าหน้าผมแบบธรรมชาติมาก
แหม่ม : คือเราต้องคิดว่า ในสมัยนั้น วัยรุ่นเขาก็คือแต่งตัวแบบนั้น ดังนั้น นักร้องอย่างพวกเราในตอนนั้นซึ่งก็เป็นวงวัยรุ่นวงหนึ่ง เราก็เป็นวัยรุ่นยุคนั้น เราก็แต่งตัวแบบวัยรุ่นยุคนั้น ด้วยเหตุนี้ สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลานั้นหรือไม่ได้รู้ว่าวัยรุ่นสมัยนั้นเขาแต่งตัวกันอย่างไร เขาใช้ชีวิตกันอย่างไร ก็จะรู้สึกตลก อย่างเรามานั่งดูทุกวันนี้ เราก็ยังตลก (หัวเราะ) แต่ถ้าย้อนไปที่ช่วงเวลาของมันตอนนั้น ก็จะรู้สึกว่าเราก็เหมือนตัวแทนของพวกวัยรุ่นที่มาร้องเพลง เพลงที่เราร้องก็เป็นเพลงที่วัยรุ่นชอบ เหตุหนึ่งก็เพราะว่าตอนนั้น มันจะมีเพลงพวกที่ดัดแปลงมาจากลูกกรุงเยอะ แต่เพลงที่เป็นเพลงของวัยรุ่นจริงๆ ไม่มี มันอาจจะเป็นเพลงเพราะๆ ภาษาสวยๆ งามๆ แต่ไม่ใช่เพลงที่พวกวัยรุ่นชอบหรือพูดกัน

เพราะฉะนั้น “สาว สาว สาว” หรือวงดนตรีในยุคนั้น อย่างเช่น แม็คอินทอช อินโนเซนท์ พวกนี้จะเป็นวงที่เขียนเพลงในแบบที่ตัวเองเป็นตามวัย นั่นก็คือสาเหตุหนึ่งซึ่งตอบคำถามว่าทำไมพวกเราถึงได้ดังในยุคนั้น เพราะว่ามันตอบโจทย์ของวัยรุ่นยุคนั้นที่เขากำลังต้องการเพลงพวกนั้นในภาษาแบบที่เป็นภาษาของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ ถ้ากลับไปดูเอ็มวีเพลงพวกนั้น เราจะเห็นว่ามันก็คือ ดีที่สุดในช่วงเวลาของมัน มันเป็นความแปลกใหม่ของเวลานั้น

ปุ้ม : บางที แบ็กกราวนด์ในเอ็มวีก็จะมีภาพอะไรไม่รู้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเราเลย (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นคือเราโมเดิร์นที่สุดแล้วนะ (ยิ้ม) เราดูเป็นอะไรที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนชาวบ้าน และอีกอย่างหนึ่ง คือวงเราเป็นสามคนที่เป็นวัยรุ่นที่สุด ณ ตอนนั้น ที่มาฟอร์มวงร้องเพลงกัน ไม่มีวงผู้หญิงแบบนี้ในยุคนั้นเลย เราก็เลยดูเป็นของแปลก คนเขาก็เลยสนใจมั้ง (ยิ้ม)

• คือเน้นความน่ารักสดใส
แหม่ม : ไปตามวัยมากกว่าค่ะ ไม่ได้เน้นความน่ารักสดใส เน้นความเป็นธรรมชาติในตอนนั้น แต่เมื่อเราโตขึ้น เราอยู่เป็น “สาว สาว สาว” มาเป็นสิบปี เมื่อเราโตขึ้น เพลงมันโตขึ้นตามไปด้วย จากสดใสน่ารักก็เปลี่ยนเป็นโปรเฟสชันแนลมากขึ้น ตามเวลา ตามอายุ
พูดถึงการเป็นเกิร์ลกรุ๊ปสมัยนั้นกับสมัยนี้ ความยากง่าย เหมือนและต่างกันอย่างไรบ้าง

ปุ้ม : ถ้าเทียบกับยุคนี้นะคะ สมัยก่อนยากมากค่ะ เพราะว่าทุกอย่างต้องทำเองหมด สมัยก่อนนั้นค่ายเพลงก็มีน้อย และไม่ได้ทำเต็มรูปแบบเหมือนในปัจจุบันนี้ ไม่ได้มีแผนกเสื้อผ้าหน้าผมอะไรต่างๆ เพื่อรองรับ อย่างศิลปินใส่ชุดอะไรมาก็ได้หรือรองเท้าอะไรก็ได้ เดินเข้ามา ก็จะมีคนคอยแปลงร่างให้ แต่ของเราในตอนนั้น ต้องแปลงตัวเอง ทุกอย่างเราต้องทำเองหมด ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แผนกต่างๆ ก็คือเรานี่แหละ เพราะฉะนั้น มันยากตรงนี้ หนึ่งอย่างละ

แล้วก็ยากในเรื่องของวิธีการทำงาน อย่างทุกวันนี้ เขาก็จะมีแผนกพัฒนาศิลปิน มีไว้เพื่อฝึกหรือเทรนศิลปินก่อนที่จะไปทำงานจริง ทุกอย่างทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง เต้น หรือแอกติ้ง แต่สมัยเรา ไม่มีแบบนี้ เราต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง พัฒนาทุกอย่างด้วยตัวเราเอง

แหม่ม : สมัยนั้นมันไม่มีอะไร อย่างบริษัทค่ายเพลงเขามีเพลงมา ก็จะมีนักร้องไปร้อง ฉะนั้น ถ้าหากนักร้องอยากจะทำอะไรที่มันมากไปกว่าการร้องเพลง เช่น พอขึ้นเวทีจะแสดงอะไร จะแต่งตัวแบบไหน ก็ต้องคิดเอง นั่นคือความยาก แต่ในความง่ายกว่าก็คือว่า ด้วยความที่มันไม่มีความคาดหวังมากมายว่าต้องการแบบนั้นแบบนี้ ไม่มีแบบว่าต้องเทียบกับเกาหลีหรืออะไร ความง่ายมันก็คืออิสระ ทั้งในการทำเพลงและการสร้างตัวเองว่าเราจะเป็นแบบไหน คือไม่ต้องมานั่งวางแผนมาก ว่าจะต้องทำเพลงให้มันเป็นอย่างนี้ ดนตรีจะต้องมีเรฟเฟอเรนซ์อะไร แต่มันเป็นเรื่องของตัวตนของนักร้องกับยุคสมัยมันเป็นอย่างนั้น

• เทียบกับ สาว สาว สาว เกิร์ลกรุ๊ปแบบนั้น ยุคนี้มีไหม
แหม่ม : ก็เยอะแยะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเกิร์ลกรุ๊ปกี่วงๆ ทั้งของไทย เกาหลี ญี่ปุ่น มันก็คือลักษณะแบบนั้น เพียงแต่เราไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อจะฟอร์มวงให้เป็นผู้หญิงสามคน เราไม่ได้ถูกฟอร์มวงเพื่อจะให้เป็นนักร้องที่จะต้องเต้นหรือจะต้องทำอะไรไปด้วย เราคือคนสามคนที่เป็นเหมือนญาติพี่น้องกันอยู่แล้ว พ่อแม่รู้จักกัน ก็ชวนกันมาทำ เท่านั้นเอง

• เกิร์ลกรุ๊ปเดี๋ยวนี้ ที่ดังๆ จะเห็นเน้นขายความเซ็กซี่กันเป็นส่วนใหญ่
แหม่ม : จริงๆ มันก็มีหลากหลายนะคะ เราไม่มองตรงนั้นดีกว่า หรือถ้าจะเอาเกิร์ลกรุ๊ปแบบสดใส ก็มีกามิกาเซ่ ถ้าเซ็กซี่ก็มีเกิร์ลลี่ เบอร์รี่ มันก็คือเกิร์ลกรุ๊ป แต่เราไม่ใช่ เราคือ สาว สาว สาว ซึ่งร้องเพลงเป็นหลัก แต่ด้วยวัยตอนนั้น เราอาจจะมีเต้นบ้าง เพราะเรายังเป็นวัยรุ่น

ปุ้ม : ของเราจะเน้นเรื่องการร้องเพลง เน้นทักษะของการร้องเพลง การร้องประสานเสียง ที่ชูขึ้นมาเป็นจุดเด่นนะคะ เราไม่ได้มาเน้นว่าเสื้อผ้าเธอเป็นยังไง ท่าเต้นเธอเป็นยังไง อันนี้เป็นแค่ส่วนประกอบ เพราะอย่างเพลงเร็ว เราก็คิดว่าเราจะยืนเฉยๆ เหรอ มันก็คงตลก เราก็เลยแบบว่า เอาท่าเต้นใส่ไปหน่อยละกัน แต่ไม่ได้ถือว่าเป็นจุดขาย จุดขายของเราคือเพลงและการร้อง

แหม่ม : คือความเป็นเด็ก เหมือนที่บอกไปนั่นล่ะค่ะว่ามันคือธรรมชาติของเรา ธรรมชาติของวัยรุ่น คือในความเป็นเกิร์ลกรุ๊ป มันก็ไม่ได้แตกต่างจากยุคปัจจุบันหรอกค่ะ แต่ถ้าจะถามถึงความแตกต่าง แต่ละวงก็คงมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว ทุกยุคสมัย มันก็ต่างกันอยู่แล้ว

• มีชอบเกิร์ลกรุ๊ปวงไหนเป็นพิเศษไหมยุคนี้
แหม่ม : มีนะ จริงๆ ก็ชอบหลายวง อย่างเฟย์ ฟาง แก้ว ก็น่ารักดี คือก็ดูเป็นเกิร์ลกรุ๊ปที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงที่สุด หมายความว่า ไม่ได้ถูกจับแปลงจากคนคนหนึ่งไปเป็นอีกคน คือตัวเขาสามคนเป็นอย่างงั้น แล้วก็ถูกพรีเซนต์ออกมาเป็นอย่างงั้นเลย บุคลิกเขาเป็นอย่างงั้น เป็นธรรมชาติของเขา แล้วเขาก็กลายเป็นไอดอลของเด็กที่เป็นแนวทางนั้นจริงๆ ซึ่งมันจะต่างไปจากเกิร์ลกรุ๊ปอีกแบบที่ถูกจับมาว่าต้องนุ่งกระโปรงสั้น ต้องเซ็กซี่ ซึ่งจริงๆ ตัวจริงของคนเหล่านั้นอาจจะไม่ได้เซ็กซี่เลยก็ได้ แล้วพอเป็นแบบนั้น ตอนนี้มันก็เริ่มมีหลายๆ วง แล้วก็เริ่มจำไม่ได้แล้วว่าใครเป็นใคร วงไหนเป็นวงไหน

ปุ้ม : ก็คล้ายๆ กันค่ะ ส่วนใหญ่ที่เขาจับกรุ๊ปกันทุกวันนี้ ก็จะมีคนที่เด่นจริงๆ ที่เราเห็นแล้วเราจำได้ แต่บางที ออกมากันหลายๆ วง แต่จำไม่ได้สักคนก็มี (หัวเราะ) มันก็มีทั้งแบบว่าจำได้เฉพาะหน้าตา จำได้เพราะว่าเพลง ก็แยกกันไป

แหม่ม : อย่างเกิร์ล เจเนอเรชัน (เกิร์ลกรุ๊ปเกาหลี) เราก็รู้ว่าเขาดัง เพลงเขาเพราะ แล้วเขาก็เป็นต้นแบบของเกิร์ลกรุ๊ปแทบจะทั่วโลก แต่จริงๆ ก็จำได้ไม่กี่คน อาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่ได้โฟกัสกับการดูเกิร์ลกรุ๊ปแบบนั้นก็ได้ เรารู้แค่ว่า เออ สวย ขายาว หุ่นดี เพลงเพราะ แต่เราจำไม่ได้ว่าเขาชื่ออะไรกันบ้าง

• ขยับมุมมองกว้างออกไปจากแค่เรื่องเกิร์ลกรุ๊ป มองศิลปินโดยรวมยุคนี้อย่างไรบ้าง
แหม่ม : คือสังคมของวงการเพลงมันก็เปลี่ยนมาโดยตลอดค่ะ อย่างพวกเราเข้าวงการก็สามสิบกว่าปีมาแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อสังคมมันเปลี่ยน คนฟังเพลงก็เปลี่ยน วิธีการฟังก็เปลี่ยน หมายถึงความละเมียดละไมในการฟังเพลงก็เปลี่ยน แล้วอีกอย่าง นักร้องเมื่อก่อนก็ไม่ได้เยอะอย่างในปัจจุบัน มันไม่ใช่ว่าใครอยากจะร้องเพลงแล้วก็ถ่ายคลิปลงยูทูปก็ได้เหมือนในยุคนี้ คนที่ผ่านกระบวนการสร้างงานก็มีอยู่ประมาณหนึ่ง ดังนั้น พอออกไป มันดังก็ดังจริงๆ แต่ที่หายไป ไม่ดังก็มี ส่วนทุกวันนี้ คนที่ค่ายออกเพลงให้แล้วดังก็มี หรือบางคน ถ่ายคลิปตัวเองลงยูทูปก็ดังได้ แต่ใครที่มันจะทะลุขึ้นมาแล้วดังนาน ดังมาก ก็แล้วแต่ละคน แต่ละวง มันก็เป็นเรื่องของสัดส่วนของศิลปินนักร้องที่มันเยอะขึ้น อย่างเมื่อก่อน มีนักร้องออกมาสิบวง ทั้งปี ออกมายังไงก็ดัง คนจะชอบหรือไม่ชอบยังไงก็ดัง แต่เดี๋ยวนี้นักร้องมีเป็นร้อยๆ ดังนั้น โอกาสที่จะดังก็น้อยลงไปตามสัดส่วน

ปุ้ม : คือพอปริมาณน้อย คนก็เห็นชัด แต่พอมันกระจายกันแบบนี้ มีเป็นร้อยเป็นพัน เค้าก็ตาลาย (หัวเราะ) ไม่รู้จะเลือกดูคนไหนดี

แหม่ม : แต่ถามว่าคนที่เขาดังทะลุๆ ก็ยังมีอยู่นะคะ แต่นั่นหมายถึงว่าเขาก็ต้องโดดเด่นจริงๆ

• หลังจากยุติบทบาทนักร้องที่ต้องออกอัลบัม ฟังมาว่าทั้งสองสามคนก็ก้าวไปเป็นนักบริหารดูแลศิลปิน บทบาทตรงนี้คืออะไรบ้าง
แหม่ม : ก็คิดว่ามันก็เป็นไปตามวัฏจักรน่ะค่ะ จะให้เป็นศิลปินร้องเพลงอย่างเดียวไปตลอดชีวิตก็คงไม่ใช่ มันก็ต้องมีการแตกไลน์ไปด้านอื่นๆ เผอิญว่าเราสองคนมีทักษะเรื่องการร้องเพลงมากที่สุด อย่างเรามาอยู่อาร์เอส หลังจากที่หมดสัญญากับทาง “สาว สาว สาว” เราก็ได้มาเป็นนักร้องเดี่ยวสังกัดอาร์เอส ทีนี้ พอร้องเพลงไปสักพักนึง เขาก็รู้สึกว่า เออ เราทำงานมายาวนาน น่าจะใช้ประสบการณ์ตรงนั้นมาช่วยเทรนช่วยฝึกน้องๆ ในค่ายได้ เขาก็ชวนเรามาทำงาน มันก็สานต่อมาเรื่อยๆ พอทำได้ พอสอนได้ ก็เริ่มมาทำ แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่พี่ปุ้มเริ่มว่าง ก็เลยมาร่วมงานกันที่นี่ในแผนกฝึกอบรมศิลปิน ตั้งแต่วงกามิกาเซ่เป็นต้นมา

ปุ้ม : จริงๆ เราก็เทรนกันมาเยอะค่ะ ทุกคนในอาร์เอส ยกเว้นอาร์สยามที่เป็นลูกทุ่ง

• การเทรนที่นี่ แตกต่างจากที่เขาสอนเด็กตามสถาบันสอนการร้องเพลงอย่างไรบ้าง
ปุ้ม : ตรงนี้เรามีเป้าหมายชัดเจนว่าเราสอนเขาไปเพื่อที่จะไปเป็นอะไร ไปทำตรงไหน มีทิศทางที่ชัดเจน แต่ว่าข้างนอกซึ่งเขาจะสอนกว้างๆ เผื่อๆ ไว้ก่อน แต่ที่นี่จะเฉพาะเจาะจง การสอนก็จะไล่ไปตั้งแต่เบสิกเลยค่ะ ในเรื่องการร้องเพลง เพราะอย่างที่บอกว่า คนที่จะเข้ามาเป็นศิลปินที่นี่ ต้องผ่านการเทสต์มาก่อน เราก็จะมองเห็นตั้งแต่ตอนที่เทสต์แล้วล่ะว่าเขาต้องปรับปรุงแก้ไขหรือว่าเพิ่มเติมอะไรบ้าง แล้วพอถึงเวลาที่เขามาเรียนจริงๆ เราก็พุ่งไปตรงนั้นเลย เพื่อให้เขาพร้อมที่จะเป็นศิลปินมากที่สุด เหมือนเราเห็นทางแล้วว่าเราจะไปทางไหน

อย่างเด็กคนหนึ่ง ถ้าเราเห็นว่าเขามาทางร็อก แล้วเราจะไปสอนเรื่องอื่นทำไม เราก็พุ่งไปตรงทางร็อกเลย แล้วก็ทำให้เขาแข็งแรงในเรื่องนั้นให้มากที่สุด เพื่อพร้อมทำงาน เพราะฉะนั้น จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะบางที บางคนมาแบบกลางๆ ไม่ชัดเจนว่าอะไรกันแน่ คือไม่ได้โดดเด่นถึงขนาดที่ว่าเราไปเติมเขานิดเดียว เขาก็เต็ม บางทีต้องอัดเข้าไปเยอะๆ เหมือนกัน กว่าจะหาตัวตนของเขาเจอ และจะเป็นเหมือนอย่างที่เราเห็นหรือว่าอย่างที่เขาคิดว่าเขาเป็นหรือเปล่า เพราะมีเด็กบางคนที่มาเรียนและคิดว่าตัวเองเป็นบางอย่าง ตัวเองถนัดบางอย่าง แต่พอมาร้องกันจริงๆ แล้ว มันไม่ใช่ ก็ต้องค่อยๆ ปรับใหม่ ก็ให้โจทย์แบบใหม่ ต่างไปจากตอนที่เทสต์เข้ามา เพื่อจะดูว่าเป็นอย่างอื่นเขาเป็นได้ไหม แล้วที่เราหาให้ มันใช่สิ่งที่เขาเป็นจริงๆ หรือเปล่า แต่ส่วนใหญ่เราจะเห็นแต่แรกแล้วว่าน่าจะเป็นแบบนั้นๆ แล้วก็เป็นแบบนั้นจริงๆ

• เนื่องจาก “สาว สาว สาว” เป็นเกิร์ลกรุ๊ปที่เน้นความเป็นธรรมชาติ ถึงจุดนี้ที่ต้องสร้างคนอื่น เราเน้นแบบนั้นเช่นเดิมไหม
แหม่ม : ครึ่งๆ น่ะค่ะ เพราะยุคปัจจุบัน ถ้าเน้นแค่ธรรมชาติ ไม่มีการปรุงแต่งเลย ก็อาจจะไม่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคนดู เพราะคนยุคนี้ก็ชอบอะไรที่แบบตู้มต้าม ดังนั้น มันก็ต้องมีทั้งแบบว่า ดูพื้นฐานธรรมชาติของเขา เช่น เขาเป็นแบบนี้ เราก็ส่งเสริมให้เขาเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ไปเปลี่ยนเขาให้เป็นแบบอื่น อย่างเขาร้องป็อปแดนซ์เป็นทางถนัด เราจะไปดัดให้เขามาร้องป็อปร็อก มันก็คงไม่ใช่ แต่ว่าการปรุงแต่งในส่วนอื่นๆ นั้นก็เป็นไปเพื่อให้มันสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เช่น ร้องเพลงดีอยู่แล้ว แต่งตัวน่ารักดีอยู่แล้ว ก็ทำให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น

• สมมติว่าใครสักคนหรือหลายๆ คนสนใจจะสร้างเกิร์ลกรุ๊ป แล้วเข้ามาที่นี่ จะเทรนเขาอย่างไร
ปุ้ม : มันก็ต้องเทสต์ก่อนนะ (หัวเราะ)

แหม่ม : คือตอนนี้มันก็มีระบบรองรับแล้วล่ะค่ะ อย่างเช่นว่า ถ้ามีคนสามคนเข้ามา ก็ต้องมาผ่านกระบวนการเทสต์ว่าแต่ละคนมีอะไรดีล่ะ ร้องเพลงได้มั้ย เต้นได้มั้ย พูดรู้เรื่องหรือเปล่า คุยเป็นมั้ย แอกติ้งได้มั้ย พูดง่ายๆ ก็คือ ดูแววความเป็นศิลปิน ถ้าดูแล้วผ่าน ถึงจะรับเข้ามาเป็นศิลปิน จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการฝึก ซึ่งฝึกสามอย่างเป็นหลัก ฝึกร้อง ฝึกเต้น ฝึกแอกติ้ง และจะมีการทดสอบอยู่เรื่อยๆ ว่า เมื่อเรียนไปแล้ว คุณมีการพัฒนาขึ้นหรือเปล่า พอดูแล้วว่าพร้อม ค่อยส่งไปให้ค่ายเพลงเขารับช่วงต่อ

เมื่อก่อน เราอาจจะไม่ได้รับสอนคนทั่วไป ส่วนใหญ่ก็เป็นศิลปินที่ผ่านการมองของฝ่ายแคสติ้งเข้ามา แต่เดี๋ยวนี้เราเหมือนกับเป็นเซ็นเตอร์ ที่มีพร้อมทั้งครูและห้องฝึกสอน ก็เลยรับสมัครสำหรับเด็กๆ ทั่วไปที่อยากมาเรียนร้องเพลงกับหน่วยงานในบริษัทค่ายเพลงบ้าง เราก็เลยตั้งโครงการขึ้นมา คือ อาร์เอส เอทีพี (Artist Training Program) สำหรับคนที่อยากเรียนร้องเพลงกับครูในค่ายเพลง อยากทำในแบบที่ตัวเองฝัน แต่ก็ต้องมีการคัดเลือกก่อน เพราะคนอยากเรียนอาจจะมี 40-50 คน แต่ด้วยกำลังของเรา วันและเวลาของเรา สอนได้แค่สิบคน เราก็จะคัดเลือกมาว่าในบรรดาคนทั้งหมดนั้น สิบคนที่เห็นความเป็นไปได้มากที่สุด ก็จะได้เข้ามาเรียน และเมื่อเขาเข้ามา เราก็จะสอนเขาทุกอย่างในแบบที่สอนศิลปินในค่าย เมื่อฝึกเสร็จหรือจบคอร์ส เราก็จะส่งชื่อของคนที่ฝึกเหล่านี้ไปให้ค่ายดู ถ้าเข้าตาค่าย เขาก็อาจจะได้เป็นศิลปินของค่าย

• มีที่เราไปมองหาทางยูทูปไหม
แหม่ม : อันนั้นจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายโมเดลลิ่งหรือแมวมองตามภาษาของคนข้างนอก แต่ของเราจะมีฝ่ายที่เรียกว่าแคสติ้งที่คอยดูว่าสนใจจะดึงใครเข้ามาบ้าง แต่ถึงจะมาด้วยวิธีการแบบนั้น มันก็ต้องผ่านการเทสต์ก่อน เพราะไม่อย่างนั้น ใครก็จะเข้าได้หมด ต้องมีระบบการกลั่นกรองหรือเทสต์เพื่อหาคนที่ใช่ที่สุดจริงๆ

• คิดว่ายากไหมกับการจะเป็นเกิร์ลกรุ๊ปยุคนี้ที่ประสบความสำเร็จ
แหม่ม : ยากอยู่แล้วล่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเขาไม่ได้เป็นทีมมาด้วยกันแต่ต้น มันก็คงต้องมาจับแพะชนแกะ แล้วการที่จับมาชนกันแบบนั้น เราก็ไมรู้ว่าเราจะเจอคนที่ไปด้วยกันแล้วเขาโอเคหรือเปล่า ความเข้ากันได้ทั้งนิสัยใจคอ ความคิด เพราะว่าการเป็นวง มันต้องร่วมกันแชร์ ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งอยากซ้อม แต่อีกคนหนึ่งไม่อยากซ้อม งานก็จะออกมาไม่ดี มันน่าจะยากตรงนี้มากกว่า ไม่ได้ยากเรื่องการสอนร้องเพลงหรือการเต้น แต่ที่ยากก็คือต้องหาคนที่เขาจูนกันติด และพร้อมที่จะเดินไปด้วยกันจริงๆ เคมีตรงกันจริงๆ

ปุ้ม : มันยากนะกับการที่จับคนซึ่งมาคนละทิศละทาง มาอยู่รวมกัน อย่างเช่น ณ วันหนึ่ง เราอาจจะคิดว่าคนสามคนนี้น่าจะรวมกันได้ เราดูเหมือนจะรวมได้ แต่ไปอยู่ด้วยกันจริงๆ อาจจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ ทัศนคติไม่ตรงกัน วิธีคิด วิธีการวางแผนชีวิตไม่เหมือนกัน มันก็ไม่ได้แล้ว ก็ต้องล้ม

• เหมือนว่าไม่ใช่แค่วงดนตรีวงหนึ่ง?
ปุ้ม : ไม่ใช่ค่ะ เพราะเราไม่ได้มองแค่อัลบัมเดียว เรามองว่าเขาจะต้องอยู่กันไปยาวๆ อย่างแค่ทำซิงเกิลแรกก็มีปัญหาแล้ว อันนี้หมายความว่าไม่ได้แล้ว มันก็ฤกษ์ไม่ดีแล้วล่ะ

แหม่ม : คนก็คือคน เขาก็คงไม่อยากจะถูกควบคุมมากหรอก แต่ทีนี้ ก่อนจะดัง ก่อนจะเป็นศิลปิน บางทีก็แบบว่า “อะไรก็ได้ อะไรก็ได้” เพราะอยากเข้าวงการ อยากดัง แต่เรื่องแบบนี้บางทีก็เหมือนคนในอยากออก คนนอกอยากเข้า โดยที่ยังไม่รู้ว่า การที่คนคนหนึ่งจะดัง มันก็ต้องแลกมาด้วยการเสียอะไรไปบ้างหลายอย่าง ทุกอย่างมันไม่ได้สวยงาม โรยด้วยกลีบกุหลาบหรือทุกอย่างรอบตัวดีไปหมด

ปุ้ม : จริงๆ ก็คงไม่ใช่เป็นเฉพาะเกิร์ลกรุ๊ปหรือว่าบอยแบนด์อะไรนะคะ มันก็เป็นกันหมด ยกเว้นศิลปินเดี่ยว คนเดียวไปง่ายหน่อย ถ้าดังมากเท่าไหร่ ปัญหาก็จะยิ่งตามมา เช่น เกิร์ลกรุ๊ปหรือบอยแบนด์ มันไม่ได้ดังทุกคน แต่ดังบางคน เพราะฉะนั้น มันก็จะเป็นปัญหากับบางคนในวงที่ไม่ดัง ว่าทำไมเราไม่มีงาน ทำไมคนนั้นมีงานอยู่คนเดียว อย่างนี้แหละ ปัญหามันจุกจิกเยอะ เพราะฉะนั้น ถ้าจิตไม่แข็งจริงๆ แล้วไม่รักกันจริง มันจะมีปัญหาแน่นอน มันจะอยู่ได้ไม่นาน

• ตอนที่พวกเราเป็นสาว สาว สาว มีอุปสรรคปัญหาอย่างไรหรือเปล่า
ปุ้ม : ก็มีนะคะ แต่จะเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เช่น โอ๊ย ชั้นไม่ชอบสีนี้ ชั้นไม่ชอบสีนั้น แต่เผอิญว่าเราโชคดีที่ไม่ได้ถือสากัน และด้วยความที่เป็นพี่น้องเป็นญาติกัน
แหม่ม : คือมันอยู่ในลักษณะของการอะลุ้มอะล่วยกัน เออๆๆ ไม่เป็นไร ก็ทำไป
ปุ้ม : บางอย่างงานนี้เราไม่แฮปปี้ ไม่เป็นไร แต่งานหน้าเดี๋ยวชั้นขอเป็นลีดนะ (หัวเราะ) ก็ว่ากันไป แต่ถามว่ามีปัญหาไหม ก็มีอยู่แล้วค่ะ ในการทำงานสามคน ถ้าไม่มี มันก็จะเงียบเกินไป (ยิ้ม)
แหม่ม : เรื่องเล็กน้อยเหมือนพี่น้องทะเลาะกันธรรมดา เดี๋ยวงอนกัน เดี๋ยวดีกัน และที่เลิกทำวง ก็เพราะว่า...เลิก เบื่อแล้ว สิบปีแล้ว พอเฮอะ (หัวเราะ) ไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน

• เคยมีความรู้สึกถวิลหาความหลังหรืออยากจะกลับมาออกงานใหม่ร่วมกันอีกครั้งไหม เหมือนที่ศิลปินรุ่นใหญ่ๆ ชอบทำกัน
ปุ้ม : ไม่ๆๆ คงไม่มีอ่ะค่ะ
แหม่ม : คือทุกวันนี้ ต่างคนต่างเดินออกมาในชีวิตของแต่ละคนชัดเจนแล้ว แล้วเรามองว่าการรวมอัลบัมหรือทำคอนเสิร์ตมันไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว มันสำคัญอยู่ที่ว่าเราสามคนยังคบกัน ยังเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องกัน ชีวิตส่วนตัวมันไม่มีอะไรเปลี่ยน ตั้งแต่วันที่เลิกการเป็นสาว สาว สาว เราก็ยังคงติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เราก็เลยไม่รู้สึกว่าเราโหยหาหรืออยากจะกลับมารวมตัวกันอีก อย่างตอนนี้แหม่มกับพี่ปุ้มทำงานด้วยกันทุกวัน เดี๋ยวเจอกันอีกแล้ว หรือพี่แอมแม้จะอยู่ต่างค่าย แต่เราก็ยังคุยกันตลอด พี่แอมกับพี่ปุ้มก็เป็นญาติกันจริงๆ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่รู้สึกขาดหาย

ปุ้ม : คนนอกอาจจะไม่รู้ แต่จริงๆ เราก็ยังเหมือนเดิม พอมารวมกันที ทุกคนก็จะแบบ หูยยย..ตื่นเต้น “ยังมารวมกันได้เหรอ” แต่เรานี่ไม่ได้ตื่นเต้นเลย เพราะเราก็ทำเหมือนๆ เดิมอย่างที่เคยทำมาตลอดค่ะ

..............................................
Profile
แหม่ม-พัชริดา วัฒนา ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายพัฒนาศิลปิน บริษัท อาร์.เอส.จำกัด (มหาชน) ในด้านธุรกิจ เธอเปิด Chasse’ Dance Studio เป็นสตูดิโอเปิดสอนการเต้น การขับร้อง การแสดง

ปุ้ม-อรวรรณ เย็นพูนสุข ปัจจุบันเป็นครูสอนร้องเพลงให้กับผู้เข้าประกวด AF และศิลปินในค่ายอาร์เอส

ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช

กำลังโหลดความคิดเห็น