เป็นเสียงปลายสายตอนที่เราติดต่อขอสัมภาษณ์ น้ำเสียงนั้นฟังดูไม่ตื่นเต้น แต่ทว่าอ่อนโยนและถ่อมตน
“ร้อยตำรวจตรีสันติภาพ อ่อนละออ” หรือที่พี่ๆ น้องๆ เพื่อนพ้องผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เรียกขานด้วยสรรพนามว่า “หมวดสันติ์” กลายเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังจากมีการหยิบเอาภาพของเขามาแชร์และกดไลค์กันในโลกออนไลน์
“จริงๆ เรื่องนี้มันเกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้วล่ะ” หมวดสันติ์กล่าวพลางยิ้ม ปลดหมวกปิงปองลงจากศีรษะ วางที่ข้างกาย
“หมวดรู้หรือเปล่าว่าตัวเองดังพอสมควรในโลกออนไลน์” เราลองยิงแย็ปคำถามนี้ ก่อนเข้าประเด็นสนทนา
“ก็มีคนเข้ามาทักเยอะครับ” ผู้หมวดรุ่นคุณลุง ยิ้มจริงใจเต็มใบหน้า
“อย่างบางคนก็บอกว่า ผมไลค์ให้แล้วนะ ครอบครัวผมก็ไลค์ให้แล้ว ชอบใจ”
...ย้อนไปที่ภาพดังกล่าวซึ่งเล่าและแชร์กัน เป็นภาพของตำรวจนายหนึ่งซึ่งยืนอยู่ท่ามกลางพายุฝนบนทางด่วนยามค่ำคืน ขณะเม็ดน้ำเม็ดหนาจากฟ้าเบื้องบนกระหน่ำซัดชนิดที่แม้แต่จะลืมหูลืมตา ยังเป็นเรื่องยาก นายตำรวจผู้นั้นยังคงปฏิบัติหน้าที่ โบกไม้โบกมือ ให้สัญญาณแก่ผู้สัญจร ราวกับว่าไม่เกรงฟ้ากลัวฝน...
“จริงๆ แล้ว ผมกลัวนะ” รองสารวัตรควบคุมงานศูนย์จราจรทางด่วน 2 แววตานิ่งคิดเหมือนกำลังระลึกนึกถึงเหตุการณ์ในคืนวันนั้น
“ฟ้าฝนคืนนั้นมันหนักจริงๆ หนักจนผมเองยังกลัวเลย กลัวฟ้าผ่ากลัวอะไรเหมือนกัน ฟ้านี่ผ่าเปรี้ยงๆ เลย แล้วในมือเราก็ถือวิทยุสื่อสารอยู่ ฟ้าผ่าลงมาก็ไม่รู้จะเป็นยังไงไปแล้ว” หมวดสันติ์ว่าพลางหัวเราะ
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร หมวดสันติ์ในวันนี้ยังคงบอกว่าเขาเองไม่ใช่คนที่ดีเด่นอะไร สิ่งที่ทำในวันนั้น สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่ใส่เสื้อกันฝนขณะปฏิบัติการ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ค่อนข้างฉุกละหุก สายฝนสาดซัด การจราจรติดขัด ทำให้เขามิอาจปลีกตัวไปหยิบเสื้อกันฝนได้ ภารกิจเบื้องหน้าสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด
“ไม่มีอะไรหรอก ความดีทั้งนั้นแหละที่คุ้มครองเรา” ร.ต.ต.สันติภาพ ให้ความเห็นสั้นๆ พร้อมกล่าวขอบคุณเกี่ยวกับการมีคนถ่ายและแชร์ภาพของเขาสู่โลกออนไลน์ และมันนำไปสู่กระแสที่ดี กระทั่งผู้บังคับบัญชาเรียกตัวไปรับเงินรางวัลและเลื่อนขั้นให้...
“ผมพูดไม่ค่อยเก่งนะ” เรานึกถึงคำนี้ของเขาอีกครั้ง และค่อนข้างเห็นด้วย เพราะตลอดการสนทนา เขากล่าววาจาแทบจะนับคำได้
แต่ช่างปะไร, พูดไม่เก่ง แต่ถ้ารับผิดชอบงานในหน้าที่ได้เก่ง ก็ไม่เห็นต้องกลัวเกรงอันใด...
(1)
ชีวิตที่ไม่ให้ใครเดือดร้อน
“ผมเป็นคนจังหวัดกาญจนบุรี เป็นตำรวจมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2523”
หมวดสันติ์กล่าวด้วยน้ำเสียงค่อนข้างจริงจังขึงขัง ราวกับนายตำรวจที่กำลังอยู่ในขบวนแถวแล้วต้องกล่าวรายงานตัว
“เราก็เป็นลูกตาสีตาสา ชาวไร่ชาวนา ญาติพี่น้องตระกูลของเราไม่มีใครได้รับราชการเลย ทางบ้านก็เลี้ยงชีพด้วยการเผาถ่านขาย ผมมีโอกาสได้เรียนหนังสือ จนกระทั่งสอบติดโรงเรียนพลตำรวจ เรียนจบมาก็อยู่สันติบาล และได้ประจำการอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล”
รองสารวัตร บก.จร.ทางด่วน 2 บอกเล่าอย่างรวบรัดถึงชีวิตกว่าสี่สิบปีบนวิถีแห่งตำรวจ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของตำรวจชั้นผู้น้อยที่อาจไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก นอกเหนือไปจากทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์
“ชีวิตการทำงานไม่ได้หวือหวาอะไรครับ เข้าเวรที่ทำเนียบ ดูแลสถานที่ไป บางทีก็ได้ไปเฝ้าสถานทูตบ้าง อิรัก อิหร่าน อิยิปต์ สำนักงานข่าวสารอเมริกัน ไม่มีอะไรหวือหวา แต่ก็จะมีปฏิวัติตลอด อยู่ๆ ไป เดี๋ยวเก็บปืนอีกแล้ว” ว่าถึงตรงนี้ นายตำรวจรุ่นเดอะ หัวเราะออกมาอย่างเห็นขันกับสถานการณ์ความเป็นไปในบ้านเมืองที่พลิกเปลี่ยนครั้งแล้วครั้งเล่า
“ชีวิตของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน” หมวดสันติ์ กล่าวพลางเหลียวมองและทักทายทีมจ่าในสังกัดซึ่งเพิ่งกลับจากปฏิบัติการบนทางด่วน
“คนนั้นเขาก็อยู่จุดหนึ่ง อีกคนอยู่จุดหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะอยู่จุดไหน ทำอะไรก็ตาม ก็ต้องทำให้มันดีที่สุด ไม่ให้เดือดร้อนใคร ความดีเท่านั้นแหละที่จะเป็นเกราะป้องกันเรา ถ้าเราไม่มีความดีเลย อะไรๆ ที่เลวร้ายมันก็จะเข้าถึงตัวเราได้ง่าย ต้องมีความดี ถึงผมจะไม่ใช่คนดีเลิศประเสริฐอะไร แต่ผมก็ไม่ได้ทำความชั่ว”
“เราไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน แค่นี้ก็ได้แล้ว เราถือว่าใช้ได้แล้ว”
(2)
ขายเลือด ไม่ขายวิญญาณ
ตลอดเส้นทางการสวมเครื่องแบบตำรวจมากกว่าสามสิบปี หมวดสันติ์เล่าว่าตนเองได้ผ่านพบเรื่องราวมาไม่น้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการได้เห็นเพื่อนๆ ร่วมเส้นทาง หลุดร่วงไปเพราะสิ่งเย้ายวนใจที่เข้ามาทายท้า
“ชีวิตตำรวจ มันมีสิ่งยั่วเย้ายวนใจเยอะ ทำให้เราหลงผิดได้ ไม่เว้นกระทั่งเรื่องยาเสพติด เพื่อนผมหลายๆ คนที่โดนให้ออกจากราชการ ก็เพราะไปข้องแวะกับเรื่องพวกนี้นี่แหละ
“เรื่องพวกนี้ พอเข้าไปข้องแวะแล้ว มันถอนตัวยาก” เหมือนกับพระแก่พรรษา รองสารวัตร บก.จร.ทางด่วน 2 เอ่ยเหมือนรำพึงกึ่งๆ จะเทศนา
“บางคนถอนตัวได้ เขาเลิกได้ แต่ถ้าเลิกก็คือต้องเลิกจริงๆ พอไปข้องแวะแล้วนี่ มันถอนตัวยากมาก ต่อให้คุณอยากจะถอนตัว แต่เขาอาจจะไม่ให้คุณถอนก็ได้ นอกจากคุณต้องตาย อย่างนั้นถึงจะจบ เพราะเขาก็กลัวว่าเขาจะถูกเปิดเผยตัว หรือข้อมูลของเขารั่วไหล”
“แล้วหมวดเคยต้องเผชิญหน้ากับสิ่งยวนเย้าเหล่านั้นบ้างไหม” เราเอ่ยถาม
“โอ้โห สมัยก่อน ตอนที่เป็นตำรวจแรกๆ เงินเดือนมันน้อย ไม่ค่อยมีเงิน มันก็คิดเหมือนกันนะ” หมวดสันติภาพเว้นวรรคเล็กน้อยให้ความหลังลอยมา
“ผมถึงขนาดว่าต้องไปขายเลือดเพื่อแลกกับเงิน มันไม่มีตังค์ สมัยเป็นตำรวจแล้วนะ ยังต้องไปขายเลือด”
“ผมถึงเข้าใจคนอื่นๆ เวลาที่เขาทำอะไรไม่ดี เพราะมันมีสิ่งจูงใจเยอะ มีภาระต้องดูแล หนึ่งมีลูกมีเมีย สองมีบ้านมีรถต้องผ่อน อยากจะมีอะไรให้มันดีขึ้น พอมีอะไรมายั่วเย้าให้ทำไม่ดี มันก็ถูกดึงไปง่าย”
อย่างไรก็ตาม หมวดสันติ์ยังคงยืนยันว่าคนเหล่านั้นในเครื่องแบบตำรวจ ถือว่าเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับตำรวจทั้งหมด
“สิ่งอะไรก็ตามแต่ ถ้ามันเปิดโอกาสให้ทำ มันล่อใจให้ทำ แล้วมันจะถอนตัวยาก แต่นั่นไม่ใช่กับตำรวจทุกคน เพราะพื้นฐานมันไม่เหมือนกัน อย่างบางคนอาจจะเป็นเพราะการใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมเกินไป”
(3)
ตำรวจพาณิชย์ เพราะชีวิต ‘ต้องสู้’
“แล้วหมวดใช้ชีวิตอย่างไร?” เราถาม ต่อเนื่องมาจากความคิดก่อนหน้าของเขา
“ทุกวันนี้ ผมก็พอแล้วไง ผมหยุดแล้ว มีลูกแล้ว มีบ้านให้ลูกอยู่ ถึงเกษียนตอนนี้ ผมก็สบายใจ เรามาจากการที่ไม่มีอะไรเลย ผมมาจากพื้นฐานที่เป็นศูนย์เลย เมื่อเรามาอยู่จุดนี้แล้ว เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด ไม่งั้นมันอยู่ไม่ได้ ทำงานก็ต้องทำงาน ถึงเหนื่อยก็ต้องเหนื่อย”
หมวดสันติภาพ เล่าว่า ถึงแม้จะเป็นตำรวจเงินเดือนไม่แพงมาก แต่เขาก็เตือนใจตนเองตลอดว่าอะไรที่ไม่ใช่ของเรา อย่าไปเอาเป็นเด็ดขาด โดยเฉพาะเรื่องเงิน ทุกวันนี้ ถึงจะรับราชการเป็นตำรวจ แต่นอกราชการ ผู้หมวดก็พยายามหารายได้เสริม ซึ่งนั่นก็หมายถึงการเหนื่อยขึ้นอีกหนึ่งเท่า หรือหลายๆ เท่า
“ก็ตั้งแต่ผมมาอยู่ในทำเนียบมาได้สักพักโน่นแล้วล่ะครับ พอผมได้แฟน แฟนผมก็ได้ขายของกินของดื่มอยู่ในทำเนียบ”
ถ้าใครแวะเวียนไปที่ทำเนียบรัฐบาล จะเห็นร้านขายเครื่องดื่ม จำพวกน้ำโอเลี้ยง ชาดำเย็น รวมไปถึงขนมหวาน ซึ่งนั่นแหละ คือร้านของภรรยาของผู้หมวด
“ผมทำเองเกือบทั้งหมดนั่นแหละ ผมขายน้ำหวานพวกนั้นมาตั้งแต่แก้วละห้าสิบสตางค์ เพราะฉะนั้น เราก็เลยฝังใจมาตั้งแต่นั้นว่า โอ้โห กว่าจะได้เงินแต่ละบาท ยากมาก
“เราค้าขายอย่างนี้มาจนชินแล้ว จะให้ไปทำอะไรที่ไม่สุจริต เราไม่เอา มันได้เงินง่ายก็จริง แต่เราไม่เอา ถ้าผมทำอย่างนั้นนะ ผมไม่จำเป็นต้องทำมาค้าขายหรอก”
ก่อนเข้างานราชการ กิจวัตรประจำวันของหมวดสันติ์ คือการตื่นนอนตั้งแต่ตีสามครึ่งเพื่อตระเตรียมสิ่งของเพื่อให้ภรรยานำไปขาย
“ตีสามครึ่ง คุณโทรศัพท์หาผมได้ ผมตื่นแล้ว ตั้งหม้อน้ำลำไย กระเจี๊ยบ มะตูม เก๊กฮวย เสร็จจากนั้นตอนตีสี่ครึ่งก็เตรียมขนมหวาน ถั่วดำ แกงบวช เต้าส่วน สาคูเปียก ข้าวเหนียวมูน หรืออะไรต่างๆ”
“ผมโอเคกับการเป็นตำรวจนะ ตอนนี้ก็ไม่ได้คิดอะไรแล้ว เพราะอย่างผมทำมาค้าขายตลอด เหมือนเป็นตำรวจพาณิชย์เลย” หมวดสันติ์แทรกคำพูดตัวเองด้วยเสียงหัวเราะเล็กน้อย ก่อนกล่าวต่อ
“อย่างการค้าขาย ซึ่งเราเอาเวลาว่างเราทำ เราก็คิดว่าเป็นอาชีพที่สุจริต ถ้าผมให้แฟนขายคนเดียว แฟนก็จะลำบากมาก กว่าจะออกจากบ้านที่บางบัวทองมาทำเนียบ ตีสี่เกือบตีห้าทุกวัน ไปดูได้ที่ทำเนียบ ยังขายเหมือนเดิมจนถึงทุกวันนี้”
เพราะไม่เคยคิดจะหากินทางทุจริต ปัจจุบันชีวิตของตำรวจวัย 55 จึงยังคงพยายามหาเลี้ยงตัวเองเท่าที่แรงจะพอมี เขาทำแม้กระทั่งการรับจ้างยกย้ายรถ ซึ่งรถสำหรับยกและย้าย (ลาก) ก็เป็นสมบัติจากหยาดเหงื่อแรงงานของตัวเอง และยิ่งไปกว่านั้น แม้กระทั่งขับวินมอเตอร์ไซต์ในยามว่างเว้นจากงานตำรวจ เขาก็ทำ
“โอ้ ไม่รู้ว่าจะได้เกษียนหรือเปล่านะ ตอนนี้แขนขาก็ชาไปแถบหนึ่งแล้ว ถ้าไม่ตายเสียก่อนก็คงจะอยู่จนเกษียนนั่นแหละ” นายตำรวจชั้นรองสารวัตร หัวร่อฮาๆ หลังจากกล่าวจบ
“แต่ถ้าเกษียนแล้วล่ะ หมวดจะไปทำอะไร” เราถามแบบให้กำลังใจว่าถึงอย่างไร หมวดก็คงจะอยู่ได้จนถึงวัยเกษียน
“เกษียนแล้วก็คงไปปลูกชะอม ปลูกต้นไม้ขายครับ” น้ำเสียงของหมวดฟังดูจริงจัง และแววตาดูมีความหวังกับสิ่งที่คิด
“ตามจริงตอนนี้ก็ทำอยู่ วันๆ ถ้าไม่ได้เข้าเวร เสาร์อาทิตย์ผมก็ตัดยอดชะอมไปขาย มีอยู่พันกว่ากิ่ง แต่มันก็ไม่ได้ออกพร้อมกันหรอกครับ ก็ทยอยๆ ตัดและขายไป อาทิตย์หนึ่งได้สี่ซ้าห้าร้อยบาท เราก็พอใจแล้ว เลี้ยงชีวิตได้ ตามอัตภาพ
“ถึงจะเป็นรายได้ที่น้อย แต่มันก็เป็นสิ่งที่สุจริตครับ”
สิ้นคำกล่าว หมวดสันติภาพเอ่ยปากขอตัวเพื่อไปเข้าเวรต่อ
ภายใต้เครื่องแบบชุดสีกากี เรามองเห็นคนสองคน
คนหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ซึ่งซื่อตรงต่อหน้าที่และความสุจริต
ส่วนอีกคนคือชายสูงวัยขยับใกล้แซยิด แต่ในพจนานุกรมชีวิต ไม่มีคำว่าย่อท้อ
และคนสองคนนี้ อยู่ในร่างเดียวกัน...หมวดสันติ์-ร.ต.ต.สันติภาพ อ่อนละออ...
ภาพ : ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม