เกาะติดเสวนาปฏิรูปพลังงาน “หลวงปู่พุทธะอิสระ” นำตั้งคำถาม ปตท. อ้ำอึ้งไม่บอกรายชื่อบริษัทปิโตรเคมี ซื้อก๊าซแอลพีจีราคาต่ำ อ้างกระทบธุรกิจ ด้าน “มนูญ ศิริวรรณ” ฉุน โดนซักภาคปิโตรเคมีใช้แอลพีจีมากกว่าภาคอื่นหรือไม่ โวยไม่ใช่จำเลย “วีระ” ถามกลางวง ใครถือหุ้น ปตท. อยู่บ้าง “ปิยสวัสดิ์-ไพรินทร์” ยอมรับ แต่มากน้อยแค่ไหน ขอดูรายละเอียดก่อน ประธานบอร์ด ปตท. อ้างส่งออกเบนซีนเพราะมีเหลือ แต่ไม่มาก ราคาต่ำกว่าในประเทศ เพราะเขาเสียค่าขนส่งและไม่รวมภาษี
วันนี้ (27 ส.ค.) สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้จัดงานเสวนา ถาม-ตอบ ปฏิรูปพลังงานเพื่อความปรองดองของชาติ เพื่อเปิดเวทีให้ภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นถึงการปฏิรูปพลังงาน ในเวลา 09.00 - 14.00 น. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งให้ปล่อยตัว นายวีระ สมความคิด พร้อมทั้งสมาชิกกลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน เพื่อให้มาร่วมฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีดังกล่าวด้วย ส่วนผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ หลวงปู่พุทธะอิสระ แห่งวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม หม่อมหลวง กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี อดีตอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงานของวุฒิสภา นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่น 2 โดยมีผู้บริหาร ปตท. มาตอบคำถาม อาทิ นายปิยสวัสดิ์ อมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการ ปตท. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้บริหารผู้จัดการใหญ่ ปตท.
“ปิยสวัสดิ์” กั๊กชื่อลูกค้าซื้อแอลพีจี
การเสวนาเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยหลวงปู่พุทธะอิสระเป็นคนนำตั้งคำถามให้ฝ่าย ปตท. ตอบ โดยเฉพาะในประเด็นโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ที่ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าภาคขนส่ง และภาคครัวเรือน ทั้งนี้ หม่อมหลวง กรณ์กสิวัฒน์ ได้สอบถามถึงรายชื่อบริษัทที่ซื้อก๊าซแอลพีจีในราคาถูก แต่ทาง ปตท. ไม่สามารถให้ได้ อ้างว่าจะกระทบกับการทำธุรกิจของบริษัทเหล่านั้น ขณะที่ นายปิยสวัสดิ์ บอกว่า ถ้าจะให้รายชื่อก็ต้องขออธิบายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งระบบก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด
คุณหญิง ทองทิพ รัตนะรัต กรรมการมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย บอกว่า ราคาจะถูกหรือแพง ขึ้นอยู่กับว่าราคาเม็ดพลาสติกจะถูกหรือแพง และพยายามชี้แจงว่าราคาเฉลี่ยที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อคือ 22 บาทกว่าๆ แต่หม่อมหลวงกรณ์กสิวัฒน์แย้งว่า ไม่ควรบอกราคาเฉลี่ย เพราะว่าแต่ละบริษัทที่ซื้อใช้เงินคนละกระเป๋ากัน ต้องอธิบายว่าทำไมบางบริษัทซื้อถูกบางบริษัทซื้อแพง เช่น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล ซื้อได้ในราคา 19 บาท แต่เอสซีจีซื้อในราคา 30 กว่าบาท
“ปิยสวัสดิ์” อ้างปิโตรเคมีไม่ได้รับชดเชย
พ.ท.แพทย์หญิง กมลพันธุ์ ชีวะพันธุ์ศรี กล่าวว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้อภิสิทธิ์ซื้อแอลพีจีเป็นวัตถุดิบในราคาถูก โดยอ้างว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มจำนวนมาก แต่มูลค่าเพิ่มเหล่านั้นตกเป็นกำไรของบริษัทเอกชน ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ นายปิยสวัสดิ์ รีบแย้งว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์ เพราะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้า ขณะที่ราคาแอลพีจีที่ขายให้ภาคครัวเรือนและภาคขนส่งนั้น มีการชดเชยจำนวนมากแล้ว และในต่างประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่เอาแอลพีจีมาเผาทิ้งในรถยนต์ เพราะสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า
“มนูญ” ฉุน โดนซัก อุตฯปิโตรเคมีใช้แอลพีจีมากกว่าภาคอื่น
นายปานเทพ ถามย้ำว่า จากตารางภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้แอลพีจี 37% แสดงว่าใช้มากกว่าภาคขนส่งและครัวเรือนใช่หรือไม่ นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน และอดีตผู้บริหารบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตอบว่า 37% นั้นเป็นการใช้จากโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นรวมกัน แต่ถ้าใช้จากโรงแยกก๊าซอย่างเดียวก็พอๆ กันกับภาคอื่นๆ พ.ท.แพทย์หญิง กมลพันธุ์ จึงถามย้ำว่า ไม่ต้องแยกระหว่างโรงแยกก๊าซและโรงกลั่น ให้ตอบตรงๆ ว่าใช้มากกว่าภาคอื่นหรือไม่ ทำให้ นายมนูญ มีอารมณ์แย้งกลับว่า อย่าถามแบบทนาย ตนไม่ใช่จำเลยของใคร ทำให้บรรยากาศการเสวนาตึงเครียดขึ้น หลวงปู่พุทธะอิสระจึงขอให้สองฝ่ายสงบสติอารมณ์ลง และ นายปิยสวัสดิ์ ได้ตอบว่า จากตัวเลขก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ 37% ขณะภาคครัวเรือนและขนส่งใช้ 63% แสดงว่ามากกว่าภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่แล้ว
“ปานเทพ” ถามอุตฯ ปิโตรเคมี จ่ายกองทุนน้อย
นายปานเทพ ถามอีกว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำไมจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงแค่ 1 บาท ทั้งที่ซื้อแอลพีจีเป็นวัตถุดิบแค่ราคา 11 บาทกว่า แต่ภาคขนส่งและครัวเรือนจ่ายเข้ากองทุนมากกว่าทั้งที่ซื้อในราคาที่แพงกว่า นายปิยสวัสดิ์ บอกว่า ราคาเฉลี่ยที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อแอลพีจีคือ 22 บาทต่อกิโลกรัม และไม่ได้รับการชดเชยจากกองทุนในช่วงแรกเหมือนภาคครัวเรือนและขนส่ง จึงเก็บเงินเข้ากองทุนแค่ 1 บาท
หม่อมกรณ์ฯ เสนอ ภาคอุตฯ ใช้แอลพีจีนำเข้า
หม่อมหลวง กรณ์กสิวัฒน์ ถามว่า ประเทศไทยผลิตแอลพีจีได้ปริมาณมากพอที่จะใช้ในภาครัวเรือนและขนส่ง เพราะฉะนั้นถ้าให้แอลพีจีที่ผลิตได้นำมาใช้เฉพาะภาคภาครัวเรือน และขนส่งที่ประสบความเดือดร้อนได้หรือไม่ ส่วนภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้นำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศมาใช้ นายปิยสวัสดิ์ ตอบว่า ถ้าจะทำแบบนั้นก็ได้ แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล และเราต้องดูที่มาที่ไปของอุตสาหกรรมปิดตรเคมีที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
“บุญยืน” ซัด ปตท.เสือนอนกิน
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม และประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ถามว่า ปตท. สามารถกำหนดราคาซื้อเองได้ อย่างนี้เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ปตท. เป็นเสือนอนกินใช่หรือไม่ นายปิยสวัสดิ์ ตอบว่า ปตท. ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ จะทำอะไรก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่ก็ต้องคำนึงถึงผู้ถือหุ้นด้วย เนื่องจากมีเอกชนถือหุ้น 49% จะต้องต้องทำตามกฎหมายของหลักทรัพย์
“วีระ” ถามแสกหน้า ใครถือหุ้น ปตท.บ้าง
นายวีระ สมความคิด ได้ลุกขึ้นถามถามว่า ที่นั่งอยู่ในห้องประชุมนี้มีใครถือหุ้น ปตท. บ้าง นายปิยสวัสดิ์ ตอบว่า ตนถืออยู่ 4,400 หุ้น ซึ่งไม่ใช่ข้อห้าม เพราะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมือง เพียงแต่ถ้าจะซื้อขาย ต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์ หม่อมหลวง กรณ์กสิวัฒน์ ถามเพิ่มเติมว่า เพื่อความชัดเจนควรถามว่า ใครถือหุ้นบริษัทในเครือ ปตท. ด้วยบ้าง และมูลค่าหุ้นทั้งหมดเท่าไหร่ นายปิยสวัสดิ์ บอกว่า ถ้าอย่างนั้นต้องไปตรวจสอบก่อน และจะส่งรายละเอียดให้อีกครั้ง ขณะที่นายไพรินทร์ตอบว่าสามารถเปิดดูได้ในรายงานประจำปีของ ปตท. หรือเข้าไปดูในเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์
นายวีระ จึงถามย้ำว่า ตกลงมีหรือไม่มี และมีเท่าไหร่ นายไพรินทร์ ตอบว่า ต้องไปดูรายละเอียดก่อน นายวีระ จึงถามอีกว่า แสดงว่ามีมากใช่ไหม ทำให้มีเสียงฮือฮาจากผู้ร่วมเสวนา หลวงปู่พุทธะอิสระจึงบอกว่าให้ทั้งสองฝ่ายอย่าทะเลาะกัน และหลวงปู่ฯ ขอถามแทนว่าใครมีหุ้น ปตท. บ้างขอให้ยกมือ ซึ่งปรากฏว่า นายปิยสวัสดิ์ และ นายไพรินทร์ ยกมือ หลวงปู่ฯ จึงบอกว่าให้ส่งรายละเอียดมาให้ทีหลัง
“ปิยสวัสดิ์” รับมีส่งออกเบนซีน-อ้างไม่มาก-ราคาไม่ถูก
ต่อมามีการซักถามในประเด็นการส่งออกน้ำมันเบนซีนและน้ำมันเตาในราคาที่ถูกกว่าราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย โดยนายปิยสวัสดิ์ตอบว่า เราส่งออกน้ำมันเบนซีน เพราะว่าในระยะหลังผู้ใช้รถยนต์หันไปใช้เชิงเพลิงเป็นแอลพีจี เอ็นจีวี หรือน้ำมันดีเซลมากขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซีนคนที่อยู่ที่ 20 ล้านลิตรต่อวัน เราจึงมีเบนซีนเหลือส่งออก อย่างไรก็ตาม น้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออกเป็นแค่ส่วนน้อย และส่งออกไปหลายประเทศ ส่วนจะส่งออกลิตรละเท่าไหร่ ขึ้นกับว่าส่งไปที่ไหน แต่ละตลาดราคาแตกต่างกัน และขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีอยู่ที่กรมศุลกากร ส่วนราคาที่ส่งออกก็ไม่ได้ถูกอะไร และคุณภาพก็อาจไม่เหมือนที่ขายในประเทศ ส่วนราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ 20 กว่าบาทต่อลิตร ซึ่งถูกกว่าราคาขายในประเทศ เพราะว่าเขาเสียค่าขนส่ง และไม่รวมภาษี
“ไพรินทร์” รับ กำไร ปตท.ปีละแสนล้าน ร้อยละ 40 ปันผลผู้ถือหุ้น
ต่อมามีการเปิดให้ประชาชนที่เข้าร่วมเสวนาได้ซักถาม ได้มีผู้ถามถึงกำไรจำนวนมหาศาลของ ปตท. ในแต่ละปี ซึ่งนายไพรินทร์ ยอมรับว่า ปตท. มีกำไรปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท หลังจากหักภาษี กำไรจำนวนนี้จะนำไปปันผลให้ผู้ถือหุ้น 40% และรัฐบาลก็ถือหุ้น ปตท. อยู่ 67% เพราะฉะนั้น เงินกำไรของ ปตท. ก็จะเข้ารัฐด้วย
ส่วนคำถามที่ว่าถ้ารัฐจะซื้อหุ้น ปตท. คืนจากเอกชนในราคาหุ้น 35 บาท จะได้หรือไม่ นายไพรินทร์ ตอบว่า หลังจากแปรรูปแล้ว ปตท. เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็ยังเป็นรัฐวิสาหกิจเพราะมีรัฐถือหุ้นอยู่เกิน 50% และผู้สอบบัญชีก็ยังเป็น สตง. เพราะฉะนั้นจึงถือว่า ปตท. อยู่ภายใต้กฎหมายตลาดหลักทรัพย์และกฎหมายรัฐวิสาหกิจ
“มนูญ” แถ ตั้งราคาสิงคโปร์ประกันความเสี่ยงให้ผู้บริโภค
กรณีการตั้งราคาจำน่ายน้ำมันโดยอ้างอิงราคาสิงคโปร์ โดยบวกค่าขนส่ง ค่าน้ำมันหกหล่นสูญหาย ค่าประกัน ซึ่งถือเป็นต้นทุนเทียม นายมนูญ ตอบ ราคาที่ตั้งตามตลาดสิงคโปร์ เป็นแค่ราคาอ้างอิง หลวงปู่ฯ จึงถามว่าเป็นราคาเก็บจริงหรือไม่ นายมนูญ ยอมรับว่า เก็บจริง หลวงปู่ฯ จึงบอกว่านั่นหละคือปัญหา นายมนูญ จึงพูดใหม่ว่ามันเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเทียม หลวงปู่ฯจึงแย้งว่า เราไม่ได้ซื้อน้ำมันจากสิงคโปรไม่ใช่หรือ นายมนูญ อ้างว่า เราซื้อน้ำมันจากตะวันออกกลาง แต่เราไม่ตั้งราคาตามต้นทุน เพราะนั่นเป็นการประกันความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการ แต่เราตั้งตามราคาสิงคโปร์ เพื่อเป็นการประกันความเสียงให้ผู้บริโภค หลวงปู่ฯ จึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นอย่าบวกเยอะได้ไหม หรือถ้าน้ำมันที่นำเข้าจากต่างประเทศก็ตั้งราคาตามต่างประเทศ แต่น้ำมันที่ผลิตในประเทศก็ตั้งราคาตามต้นทุนในประเทศ
“ม.ล.จุลเจิม” ซัด ไม่สำนึกบุญคุณบุรพกษัตริย์
ด้าน ม.ล.จุลเจิม ยุคล ในฐานะประชาชนผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แสดงความคิดเห็นว่า ทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีอยู่ทุกวันนี้ บุรพกษัตริย์ได้ปกป้องรักษาไว้ให้พวกเรา แต่ทำไมเราไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ กลับไปยกย่องบริษัทต่างชาติ เช่น เชฟรอน ว่ามีบุญคุณกับเรา นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตอบว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้ออกมาโดยชอบ มีพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การให้สัมปทานก็ทำโดยชอบตามกฎหมาย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงไม่ได้ห้ามเอาทรัพยากรมาทำประโยชน์ ไม่ได้ห้ามเอกชนมาสำรวจ และความจริงกฎหมายปิโตรเลี่ยมนั้นมีประโยชน์ ทำให้เรามีปิโตรเลียมเพิ่มพูนขึ้นมาก จากที่เราเคยนำเข้า 100% ตอนนี้เรานำเข้าแค่ 45%
หลังจากนั้น ในช่วงเวลา 13.00-15.00 น. ได้เปิดโอกาสให้มีการเสนอทิศทางการปฏิรูปพลังงาน โดยหลวงปู่พุทธะอิสระจะรวบรวมเพื่อนำเสนอต่อ คสช.ในวันถัดไป