xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 15-21 มิ.ย.2557

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.คสช.ล้มโครงการจัดซื้อ “แท็บเล็ต” แล้ว ชี้ ไม่คุ้มค่า พร้อมสั่งเบรก 4 โครงการยักษ์ กสทช. ด้าน “บิ๊กตู่” ปัดข่าว คสช.เรียกสินบนแลกตำแหน่ง สนช.!
(บน) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. (ล่าง) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการแจกแท็บเล็ตนักเรียนที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 7 มิ.ย.2555
ความเคลื่อนไหวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้า คสช. ได้กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ โดยเผยกรอบเรื่องการปฏิรูปว่า ขณะนี้ยังอยู่ในระยะที่ 1 เป็นการสร้างความสมานฉันท์เพื่อนำไปสู่การปฏิรูป ซึ่ง คสช.เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย โดย คสช.จะไม่สรุปหรือชี้นำใดๆ

พล.อ.ประยุทธ์ ยังแย้มด้วยว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการปฏิรูประยะที่ 2 ได้แก่ การปฏิรูปทางการเมือง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และอะไรที่สำคัญที่ประชาชนต้องการ ซึ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งทั้งหมด จะต้องแก้ไขให้ได้ภายใน 1 ปี อะไรที่ไม่สำเร็จ ก็ต้องไปในระยะยาว อาจมีการลงสัตยาบันกันว่ารัฐบาลต่อไปต้องไปดำเนินการต่อ ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า คสช. เรียกร้องผลประโยชน์แลกกับการจัดเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หรือเป็นนายกฯ หรือรัฐบาลนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับ สนช.ทั้งสิ้น วันนี้เป็นเวลาแห่งการคืนความสุขให้ประชาชน

สำหรับความคืบหน้าการทำงานด้านต่างๆ ของ คสช.ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ได้อนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 18 โครงการ จากที่มีการเสนอเข้ามา 22 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท โดยในจำนวน 18 โครงการดังกล่าว มีการลงทุนของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ในเครือซีพี และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยด้วย ส่วน 4 โครงการที่คณะกรรมการบีโอไอยังไม่ได้อนุมัติ และให้กลับไปทบทวนความจำเป็นในการลงทุน ได้แก่ โครงการของบริษัท อิชิตัน ผลิตเครื่องดื่ม มูลค่าลงทุน 2.6 พันล้าน ,โครงการลงทุนจัดซื้อเครื่องบินของสายการบินแอร์เอเชีย วงเงินลงทุน 9 พันล้านบาท ฯลฯ

นอกจากอนุมัติโครงการลงทุนผ่านบอร์ดบีโอไอแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) ที่มี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธาน ไปตรวจสอบโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐที่มีวงเงินลงทุนเกิน 1 พันล้านบาทด้วย ว่ามีความคุ้มค่า หรือมีการทุจริตหรือไม่ หากพบทุจริต จะส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ดำเนินการต่อ ซึ่งเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. คตร.ได้รายงานผลการตรวจสอบโครงการที่มีวงเงินลงทุนเกิน 1 พันล้านบาท จำนวน 28 โครงการ มูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาทให้ พล.อ.ประยุทธ์ รับทราบแล้ว โดยเร่งรัดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไปทบทวนความเหมาะสมของโครงการ แล้วเสนอให้ คตร.พิจารณาภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ พล.อ.อนันตพร เผยด้วยว่า ตอนนี้มีโครงการที่เข้าข่ายต้องยกเลิก 2 โครงการของกรมชลประทาน เป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งต้องดูว่าเป็นโครงการที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่

นอกจากนี้ คตร.ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบ 8 โครงการที่ประชาชนสนใจ และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำรายละเอียดมาชี้แจง ประกอบด้วย 1.โครงการจัดหารถรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 118 คัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย 2.โครงการจัดหารถจักร จำนวน 126 คันของการรถไฟแห่งประเทศไทย 3.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ปี พ.ศ.2554-2560) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย 4.โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย 5.กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของกระทรวงพลังงาน

6.โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา(แท็บเล็ต) ของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ซึ่งในเวลาต่อมา คสช.ได้มีมติให้ยุติการจัดซื้อแท็บเล็ตประจำปีงบประมาณ 2557 รวมทั้งการจัดซื้อแท็บเล็ตประจำปีงบประมาณ 2556 ในโซน 4 ของนักเรียนชั้น ม.1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) แล้ว เนื่องจากไม่คุ้มค่าและไม่เหมาะสม 7.โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 ของบริษัท ทีโอที และ 8.โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เผยว่า หลังจาก กสทช.ได้ส่งเรื่องการดำเนินการโครงการหลักของ กสทช.จำนวน 4 โครงการตามคำสั่ง คสช. ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ได้ขอให้ กสทช.ชะลอการดำเนินการทั้ง 4 โครงการไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีการตรวจสอบรายละเอียดก่อน เพื่อความโปร่งใส ซึ่งทั้ง 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.การประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ซึ่งมีราคาตั้งต้นการประมูลที่ใบอนุญาตละ 11,600 ล้านบาท 2.การประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ที่มีราคาตั้งต้นการประมูลที่ 11,260 ล้านบาท และ 8,445 ล้านบาท 3.โครงการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม(โครงการยูโซ่) มูลค่า 20,468 ล้านบาท และ 4.การแจกคูปองเงินสนับสนุนค่าอุปกรณ์การรับชมทีวีดิจิตอลให้แก่คนไทย มูลค่า 25,000 ล้านบาท ซึ่งเป็น 1 ใน 8 โครงการที่ คตร.อยู่ระหว่างตรวจสอบ

2.คสช. เด้งอธิบดีกรมจัดหางาน -ผอ.สำนักแรงงานต่างด้าว เซ่นแรงงานเขมรแห่กลับ ปท. ด้านสหรัฐฯ ลดอันดับไทยปราบค้ามนุษย์!
(ซ้าย) ประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (ขวา) นายเดชาพฤกษ์ พัฒนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว
ความคืบหน้ากรณีแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาแห่เดินทางกลับประเทศจำนวนมาก หลังมีข่าวลือว่า ทางการไทยจะกวาดล้างแรงงานต่างด้าวภายในวันที่ 30 มิ.ย.ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้ออกมาบอกว่า ภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ กระทรวงแรงงานจะตั้งศูนย์ตามพื้นที่ชายแดนกัมพูชา ได้แก่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี และ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เพื่อให้ทางการกัมพูชาจัดส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทยออกเอกสารหลักฐานสำหรับเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยจะเป็นลักษณะศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หรือวันสต๊อปเซอร์วิส

ด้านนายอิธ สมเฮง รัฐมนตรีแรงงานกัมพูชา เผยว่า มีแรงงานกัมพูชาอพยพเข้ามาทำงานในไทยราว 2 แสนคน โดยมีแค่ 8 หมื่นคนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่คณะกรรมการปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนกัมพูชา(ซีเอชอาร์เอซี) โพสต์จดหมายเปิดผนึกไว้ในเว็บไซต์ โดยกล่าวหาว่า คสช.ตัดสินใจเนรเทศแรงงานกัมพูชากลับประเทศขนานใหญ่ โดยบีบบังคับด้วยการขับไล่คนเหล่านี้ออกนอกประเทศ ขนไปสุมกันอัดแน่นอยู่บนรถบรรทุกอย่างไม่มีมนุษยธรรมและลดค่าความเป็นมนุษย์

วันต่อมา(16 มิ.ย.) พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช.แถลงข่าวร่วมกับนายธนิช นุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการจัดหางาน โดยเผยตัวเลขแรงงาน 3 ชาติที่ทำงานในไทย ซึ่งมี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นแรงงานต่างด้าวนำเข้าถูกกฎหมาย มีจำนวนกว่า 4 แสนคน โดยเป็นแรงงานกัมพูชามากสุด กว่า 2.4 แสนคน รองลงมาคือ พม่า กว่า 1.1 แสนคน และลาว กว่า 5.5 หมื่นคน ส่วนแรงงานประเภทที่สอง คือแรงงานที่หลบหนีเข้ามาในไทย แล้วทางการไทยจัดการขึ้นทะเบียน และส่งให้ประเทศต้นทางพิสูจน์สถานะบุคคล ก่อนให้เอกสารรับรองบุคคล ซึ่งประเภทนี้มีกว่า 1.8 ล้านคน เป็นแรงงานพม่ามากสุด กว่า 1.6 ล้านคน กัมพูชา กว่า 1.5 แสนคน และลาว กว่า 4 หมื่นคน

พ.อ.วินธัย ยังปฏิเสธด้วยว่า ทหารไม่ได้ใช้มาตรการรุนแรงขับไล่แรงงานต่างชาติออกนอกประเทศตามที่มีกระแสข่าว พร้อมย้ำ เรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจัง คือการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ การทุจริตของเจ้าหน้าที่ นายหน้าต่างๆ และการสะสางคดีความที่ยังคั่งค้างอยู่อย่างเป็นธรรม พ.อ.วินธัย ยังเผยในเวลาต่อมาด้วยว่า ได้รับข้อมูลว่า มีกลุ่มขบวนการที่คอยหาผลประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวอยู่ ซึ่งอาจมีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ดังนั้น คสช.จะเร่งสืบสวนและกวาดล้างให้ได้โดยเร็ว รวมทั้งจะเร่งขจัดขบวนการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาสทั้งบนบกและทางน้ำ เพื่อความปลอดภัยในประเทศและดูแลแรงงานไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ นอกจาก คสช.จะพยายามปฏิเสธข่าวลือเรื่องผลักดันแรงงานต่างชาติกลับประเทศแล้ว ด้านนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้เชิญนางอีท โซเฟีย เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เข้าพบเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. เพื่อหารือถึงปัญหาแรงงานชาวกัมพูชาตื่นตระหนกและพากันเดินทางกลับประเทศด้วย โดยยืนยันว่า ข่าวทางการไทยเร่งกวาดล้างและจับกุมแรงงานต่างด้าวนั้น เป็นแค่ข่าวลือ และไม่ทราบที่มาของแหล่งข่าว พร้อมย้ำ ไทยต้องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทย เพื่อไม่ให้แรงงานเหล่านี้ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือเข้าไปอยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ จึงอยากให้ทั้งไทยและกัมพูชาร่วมกันทำความเข้าใจ

ขณะที่นางอีธ โซเฟีย ยืนยันพร้อมให้ความร่วมมือ และว่า ตนได้ติดต่อกับชุมชนชาวกัมพูชาในไทยอยู่แล้ว ดังนั้นหากชาวกัมพูชาในไทยมีข้อกังวลอะไร ก็สามารถสอบถามสถานทูตกัมพูชาในไทยได้

วันเดียวกัน(17 มิ.ย.) นางคริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เข้าพบหารือกับนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หลังเข้าพบ นายสีหศักดิ์ เผยว่า กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เตรียมเผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2557 ซึ่งเป็นการรายงานการดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยยังไม่ทราบว่าไทยจะอยู่อันดับใด โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันว่า คสช.ให้ความสำคัญกับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เห็นได้จากคดีที่มีอยู่ 400 คดี ได้ลงโทษผู้กระทำผิดไปแล้วกว่า 200 ราย แสดงให้เห็นว่าไทยได้ดำเนินการอย่างจริงจัง

ด้านสำนักข่าวเอเอฟพี รายงานเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ว่า นายชา เกง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทยกัมพูชา ได้ออกมากล่าวหาว่า คสช.เป็นต้นเหตุให้แรงงานชาวกัมพูชาตื่นตระหนกและแห่เดินทางกลับประเทศกว่า 188,000 คน พร้อมอ้างว่า หลังรัฐประหาร ผู้นำทหารได้ส่งแรงงานผิดกฎหมายชาวกัมพูชากลับประเทศอย่างเร่งรีบ โดยไม่แจ้งหรือหารือกับทางกัมพูชาก่อน ทำให้มีผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุบนท้องถนนจากการเดินทางกลับครั้งนี้ 8 รายแล้ว และว่า ผู้นำทางทหารของไทยต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเกิดปัญหาแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาแห่กลับประเทศ ปรากฏว่า คสช.ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. โยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงแรงงาน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาและการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จึงให้นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน ไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และให้นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน มาปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมการจัดหางานอีกหน้าที่หนึ่ง นอกจากนี้ยังให้นายเดชาพฤกษ์ พัฒนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว ไปปฏิบัติหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และให้นายพิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดชลบุรี มาปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันสังเกตการณ์การใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายให้ละเอียดกว่าที่ผ่านมา รวมทั้งการใช้แรงงานเด็ก เพราะประเทศไทยกำลังถูกจับตาว่าดำเนินการถูกต้องตามหลักสากลและตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่

วันต่อมา(20 มิ.ย.) ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมหารือกรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เตรียมประกาศผลการจัดอันดับประเทศที่ต้องมีการเฝ้าระวังเรื่องการค้ามนุษย์ หลังประชุม นายทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ เผยว่า ที่ผ่านมา ไทยได้ดำเนินคดีกับนายจ้างและผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องการค้ามนุษย์อย่างเข้มงวด โดยดำเนินคดีกับสายและนายหน้าเถื่อน 155 คดี ลงโทษบริษัทจัดหางานด้วยการเพิกถอนใบอนุญาต 2 บริษัท พักใช้ใบอนุญาต 4 บริษัท และดำเนินคดีอาญา 9 บริษัท แต่หากไทยถูกลดอันดับลงไปอยู่อันดับ 3 ตามมาตรการของสหรัฐฯ จะมีการระงับความช่วยเหลือด้านต่างๆ และอาจตัดความช่วยเหลือผ่านสถาบันระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)

ทั้งนี้ คืนวันเดียวกัน(20 มิ.ย.) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 และจัดอันดับประเทศไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อกลุ่มที่ 3 (เทียร์ 3) ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุด โดยรายงานดังกล่าวครอบคลุมช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 เม.ย.2556-31 มี.ค.2557 ซึ่งกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เห็นว่า ไทยไม่มีความก้าวหน้าในการปราบปรามการค้ามนุษย์เพียงพอที่จะได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 พร้อมระบุว่า การลดระดับครั้งนี้ สะท้อนสถานการณ์ในช่วงเวลาที่กล่าวมาเท่านั้น และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาแต่อย่างใด

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ใน 188 ประเทศทั่วโลก(ทิป รีพอร์ต) ประจำปี 2557 โดยลดอันดับไทย มาเลเซีย และเวเนซุเอลา ให้ลงมาอยู่ในบัญชีรายชื่อกลุ่มที่ 3 (เทียร์ 3) หรือบัญชีดำ โดยระบุว่า ประเทศเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในบรรดาศูนย์กลางการค้ามนุษย์ที่เลวร้ายที่สุดในโลก ทำให้มีโอกาสที่จะถูกคว่ำบาตรทางการค้า และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศเกาหลีเหนือและซีเรีย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ในคืนวันเดียวกัน(20 มิ.ย.) โดยยืนยันว่า คสช.จำเป็นต้องเร่งจัดระเบียบแรงงานต่างชาติ เพื่อจะได้ดูแลสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ให้กับแรงงาน โดยระยะที่ 1 จะเน้นกำจัดกลุ่มอิทธิพลที่ลักลอบนำแรงงานเถื่อน รีดไถ เก็บค่าคุ้มครองหรือค่าใช้จ่าย และระยะที่ 2 คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว จะจัดระเบียบควบคุมแรงงานทั้งระบบให้ถูกต้อง และเตรียมพื้นที่หรือโซนนิ่งให้แรงงานได้มีที่พักอาศัยที่เป็นระเบียบ สะอาดเรียบร้อย มีการกำกับดูแลไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีการจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งกำหนดค่าใช้จ่ายในการเข้ามาทำงานในสถานประกอบการต่างๆ ให้เหมาะสม ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน

3.กสทช.ยังดอง ASTV-บลูสกาย อ้างต้องถกนอกรอบ คสช.ก่อน ด้านศาลทหาร ออกหมายจับ 4 มือบึ้มพระราม 9 -ตร.รวบแล้ว 1
(บน) พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.แถลงข่าวศาลออกหมายจับมือบึ้มแยกพระราม 9 จำนวน 4 คน (ล่าง) ภาพที่เกิดเหตุระเบิด
สัปดาห์ที่ผ่านมา คสช.ยังคงเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเพิ่มเติมเป็นระยะๆ ส่วนกรณีนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ที่ไม่ได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.และส่งภรรยาเข้าชี้แจง คสช.เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ว่าป่วย จึงไม่สามารถเข้ารายงานตัวได้นั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. นายวรเจตน์ได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวที่สนามบินดอนเมือง หลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ ก่อนนำตัวไปสอบสวนที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และส่งตัวให้ตำรวจกองปราบปรามในวันที่ 18 มิ.ย.ก่อนนำตัวไปศาลทหารเพื่อขอฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน

ทั้งนี้ นายวรเจตน์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีที่ศาลทหาร โดยยืนยันว่า ตนไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่บุกรวบตัว แต่ได้ประสาน คสช.ก่อนหน้าแล้วว่าจะเข้ามอบตัวด้วยตัวเอง

ด้านศาลอนุญาตให้ฝากขังนายวรเจตน์ 12 วัน ขณะที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช.ในฐานะทนายความนายวรเจตน์ ได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวนายวรเจตน์ 2 หมื่นบาท ก่อนเพิ่มหลักทรัพย์อีก 2 หมื่นบาท โดยให้เหตุผลประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวนายวรเจตน์ว่า เนื่องจากนายวรเจตน์มีอาการป่วยเรื้อรังมาหลายปี จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้นายวรเจตน์มีภารกิจต้องรับผิดชอบคือ การสอนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีความจำเป็นต้องดูแลครอบครัว ด้านศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 2 หมื่นบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามชุมนุมทางการเมือง ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และห้ามออกนอกประเทศ แต่สามารถสอนหนังสือได้ตามปกติ

ส่วนความคืบหน้ากรณีคนร้ายก่อเหตุระเบิดที่แยกพระราม 9 เมื่อช่วงค่ำวันที่ 13 มิ.ย.ซึ่งเป็นคืนเดียวกับที่ คสช.ประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วราชอาณาจักร ส่งผลให้รถยนต์ที่วิ่งผ่านบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหาย 2 คันนั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้นำทีมตำรวจ เปิดแถลงข่าวร่วมกับ พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองพลทื่ 1 รักษาพระองค์(ผบ.พล.1 รอ.) ว่า ศาลทหารได้ออกหมายจับผู้ต้องหาแล้ว 4 ราย ประกอบด้วย นายวิเชียร ทุมตะคุ อายุ 46 ปี เป็นชาว จ.สระแก้ว ,นายเจริญ พรมชาติ อายุ 38 ปี เป็นชาว จ.อุบลราชธานี ,นายไก่ ไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริง ,นายมด ไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริง

ด้าน พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการศึกษา ช่วยราชการกองบัญชาการตำรวจนครบาล แถลงว่า นายวิเชียร 1 ในผู้ต้องหา เป็นการ์ดให้กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งที่มีความเคลื่อนไหวและใช้ความรุนแรงในช่วงปี 2552 เป็นต้นมา “ขณะนี้ตำรวจจับกุมนายวิเชียรได้แล้ว สอบสวนรับว่า นายเจริญเป็นผู้ชักชวนและว่าจ้าง โดยร่วมกับพวกอีก 3 คนก่อเหตุ วันเกิดเหตุ นายวิเชียรขี่รถจักรยานยนต์ มีนายมดซ้อนท้าย เมื่อถึงที่เกิดเหตุ นายมดใช้ระเบิดสังหารแบบ RGD-5 ขว้างไปยังที่เกิดเหตุ สาเหตุเพราะต้องการสร้างสถานการณ์ให้เห็นว่า บ้านเมืองยังไม่สงบและมีความรุนแรง”

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ คสช.อนุญาตให้สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี และสถานีโทรทัศน์ทีนิวส์ ออกอากาศได้ตามปกติแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. โดยเป็นไปตามที่ กสทช.เสนอให้พิจารณาอนุญาตเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ขณะที่สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมบลูสกายได้ยื่นเรื่องต่อ กสทช.เพื่อขอกลับมาออกอากาศอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. ตามด้วยสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอเอสทีวี ยื่นเรื่องต่อ คสช.และ กสทช.เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.เพื่อขอกลับมาออกอากาศตามปกติเช่นกัน ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. มีรายงานว่า กสทช.จะประชุมพิจารณาคำขอของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมบลูสกายและเอเอสทีวี แต่หลังประชุม พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.ได้งดแถลงข่าว โดยแจ้งว่าติดธุระ สร้างความงุนงงให้สื่อมวลชนเป็นอันมาก

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เผยว่า ตนได้ทำวาระเสนอ พ.อ.นที ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ก่อนแล้วเรื่องการพิจารณาคืนสิทธิ์ทีวีดาวเทียม 2 กลุ่ม คือกลุ่มสถานีโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาทางการเมือง เช่น สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอเอสทีวี สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมบลูสกาย ซึ่งได้เสนอผังรายการไปก่อนหน้านี้ ฯลฯ และกลุ่มสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมทั่วไปกว่า 100 สถานี ที่ยังไม่สามารถออกอากาศได้ แต่ที่ประชุมเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ยังไม่มีวาระพิจารณาเรื่องนี้ พร้อมเผยว่า ตนได้หารือกับกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ได้แนวปฏิบัติ คือ กรณีกลุ่มสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่มีเนื้อหาทางการเมือง ยังต้องรอการประสานงานนอกรอบกับทาง คสช. ให้ชัดเจนก่อน สำนักงานจึงจะเสนอวาระเข้ามาที่ กสท.

4.ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ยกฟ้อง “อมเรศ-วิชรัตน์” คดี ปรส.ขายสินทรัพย์ 56 ไฟแนนซ์!

(ซ้าย) นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธาน ปรส. (ขวา)  นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อดีตเลขาธิการ ปรส.
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายอมเรศ ศิลาอ่อน อายุ 81 ปี อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน(ปรส.) ,นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อายุ 67 ปี อดีตเลขาธิการ ปรส., บริษัท เลแมน บาเดอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ จำกัด โดยนายชาร์ล เจสัน รูบิน ผู้รับประโยชน์ ,บริษัท เลแมน บาเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายชาร์ลส เจสัน รูบิน ที่ปรึกษา ปรส. ,กองทุนรวมโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ ผู้รับสิทธิจากการประมูลสินทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ผู้จัดตั้งกองทุน เป็นจำเลยที่ 1-6 ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 จากกรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเกี่ยวกับการขายสินทรัพย์สถาบันการเงิน 56 แห่ง

ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.-1 ต.ค.2541 จำเลยที่ 1-2 มีมติให้มีการจำหน่ายสินทรัพย์หลักการเช่าซื้อที่อยู่อาศัยเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2541 รวมทั้งได้ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมหลายประการซึ่งเอื้อประโยชน์ให้บริษัท เลแมน บาเดอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ จำกัด จำเลยที่ 3 เข้าร่วมประมูล แต่เมื่อถึงวันทำสัญญา กลับมีการวางแค่เงินประกัน 10 ล้านบาท โดยยังไม่ได้ชำระเงินงวดแรก จึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย และยังทำให้เกิดการยกเว้นภาษี ส่งผลให้เกิดความเสียหายมูลค่า 2,304 ล้านบาท

ซึ่งคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2555 ว่าจำเลยที่ 1-2 กระทำผิดตามฟ้อง จึงให้จำคุกนายอมเรศ และนายวิชรัตน์ คนละ 2 ปี และปรับคนละ 2 หมื่นบาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาคนละ 3 ปี เนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ ส่วนจำเลยที่ 3-6 พิพากษายกฟ้อง แต่ต่อมาจำเลยที่ 1-2 ยื่นอุทธรณ์สู้คดีว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่มีผู้ใดได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ด้านศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1-2 นำสืบต่อสู้ทำนองเดียวกันว่า การปฏิบัติหน้าที่ในการประมูลขายสินทรัพย์ประเภทสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นการทำตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต มิได้มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และมิได้ทำให้รัฐเสียประโยชน์จากการเรียกเก็บภาษีแก่บริษัท เลแมน บาเดอร์ส โฮลดิ้ง จำกัด โดยจำเลยที่ 3 เห็นว่า ก่อนการขายสินทรัพย์ของ ปรส.ทุกรายการ ได้ร่วมมือกับทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ตามนโยบายรัฐ เมื่อจำเลยที่ 3 ชนะการประมูลก็ประสงค์โอนสิทธิการทำสัญญาขายให้กับกองทุนรวม โดยทาง ปรส.ได้หารือบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย 2 บริษัท ซึ่งได้แนะนำวิธีการทีนิยมใช้กันในทางธุรกิจ คือ ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินงวดแรกแก่ ปรส.และให้จำเลยที่ 3 รับรองว่าจะรับผิดชอบชำระราคาประมูลในส่วนที่เหลือของสัญญาชำระหนี้ที่ไม่อาจเพิกถอนได้ ทาง ปรส.จึงทำตามคำแนะนำโดยไม่มีเจตนาช่วยเหลือผู้ใด

และวิธีการดังกล่าวไม่ได้ทำให้ ปรส.เสียหายที่ไม่ได้รับเงินจำนวน 2,304 ล้านบาท หรือร้อยละ 20 ของราคาประมูล ตามประกาศและข้อสนเทศของ ปรส. โดย ปรส.ได้ทำตามคำแนะนำเรื่องภาษีอากรของกรมสรรพากรและกระทรวงการคลังก่อนขายสินทรัพย์ทุกรายการแล้ว ด้วยเหตุนี้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1-2 ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-2 นอกนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3-6

หลังฟังคำพิพากษา นายอมเรศ กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม โดยยืนยันว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ ปรส.ไม่ได้ทำให้เอกชนหรือรัฐได้รับความเสียหาย เพราะสินทรัพย์ที่เอามาขาย เป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาแล้ว และการจัดประมูลขาย ก็ไม่ได้มีการกำหนดเทคนิคหรือเลี่ยงการจัดเก็บภาษีที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนตามที่มีการกล่าวหา ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ นายอมเรศ ยืนยันว่า ไม่มีใบสั่งทางการเมืองแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น