ASTVผู้จัดการ – เปิดข้อมูล “ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” โครงการเร่งด่วนของ คสช. เผยอยู่เป็นโครงการต่อเนื่องในแผนบริหารจัดการน้ำ 1.2 แสนล้าน เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยของ รบ.เพื่อไทย ไม่ให้ซ้ำรอยมหาอุทกภัย 54 ขณะที่ใกล้ฤดูฝน-ฤดูน้ำหลากเต็มที ชี้ปัญหาคุณภาพการก่อสร้างตั้งแต่สมัย รบ.ปู ยังน่าสงสัย
ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี คณะรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการเชิญหลายหน่วยงานเข้าหารือ เรื่องแนวนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศไทย นอกจากมีความเป็นห่วงเรื่อง ในช่วงงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ข้าราชการจะไม่มีเงินเดือน จึงต้องตัดสินใจแก้ปัญหาเพื่อประเทศชาติ โดยร่วมกันบูรณาการประเทศร่วมกัน ลดปัญหาความขัดแย้ง จึงต้องใช้ระบบทหารในการปกครอง เพื่อให้เห็นทุกอย่างเป็นรูปธรรมนำไปสู่การพัฒนา ซึ่งภายหลังจากที่ประเทศชาติอยู่ในความสงบก็จะคืนอำนาจ และพร้อมที่จะให้ประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยเน้นย้ำทุกภาคส่วนไม่ให้มีกระบวนการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ที่น่าสนใจนอกจากจะให้เงินค่าข้าวชาวนา ใน 15-20 วันแล้ว ยังมีการนำ “โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำ มาเป็นโครงการเร่งด่วนอีกด้วย
ผู้สื่อข่าว ASTV ผู้จัดการ ตรวจสอบพบว่า “โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” น่าจะเป็นโครงการต่อเนื่องที่ยังค้างอยู่ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ในการเสริมความสูงของถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ต้นปี 2555 ใช้งบประมาณบริหารจัดการน้ำก้อนแรก 1.2 แสนล้านบาท ในช่วงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง 2 อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกำกับดูแล เป็นโครงการยกระดับถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาใน จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัย โดยมีพื้นที่ ทางหลวงหมายเลข 306 ตอนสะพานคลองบ้านใหม่ บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 ทางหลวงหมายเลข 3309 และทางหลวงหมายเลข 32 ตอนบางปะอินนครหลวง
เริ่มการก่อสร้างโครงการยกระดับถนน ให้สูงขึ้น 80 เซนติเมตร และ ทำคันเครื่องกั้นน้ำอีก 80 เซนติเมตร แนวถนนกั้นน้ำจะมีความสูง 1 เมตร 60 เซนติเมตร ระทางยาว 570 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นโครงการสำคัญในการสร้างแนวถนนป้องกันอุทกภัยในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ตามนโยบายของรัฐบาล พบว่า มีความคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 40-50 กรมทางหลวงจะเป็นผู้จัดหางบประมาณในการจัดทำโครงการป้องกันน้ำท่วมถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง
กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้สำรวจเส้นทางถนน ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ไล่ตั้งแต่จังหวัดกรุงเทพฯ อยุธยา อ่างทอง ถึงชัยนาท เพื่อสร้างถนนยกระดับ สูงประมาณ 1 เมตร เหมือนเป็นเขื่อนกั้นน้ำยกระดับตลอดทั้งแนว มีความยาวประมาณ 300-400 กิโลเมตร เพื่อเป็นแนวทางป้องกันน้ำท่วม โดย ทล. ได้มีการประเมินราคาค่าก่อสร้างเบื้องต้นประมาณกิโลเมตรละ 5-8 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ปัญหาคุณภาพการก่อสร้างของโครงการดังกล่าวในมือรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นที่น่าสงสัย เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 57 ที่ผ่านมา ชาวบ้านหมู่ 5 ต.ไชโย อ.ไชโย จ. อ่างทอง ได้ร้องเรียนว่ากำลังได้รับความเดือดร้อนหลังถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาสูงประมาณ 1 เมตรเกิด พังทลายลงไปในแม่น้ำ บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 69 หมู่ 5 ต.ไชโย ระยะทางเกือบ 100 เมตร และมีรอยร้าวยาวกว่า 100 เมตร พร้อมที่จะพังทลายลงมาอีก ทำให้ชาวที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวหวั่นว่าถนนคอนกรีตที่กว้างประมาณ 3.50 เมตร จะหักพังลงมา เนื่องจากใต้พื้นถนนเป็นโพรงลึก มีเพียงพื้นถนนที่ลอยตัวอยู่ แต่ยังมีชาวบ้านใช้เป็นทางสัญจรอยู่ อาจได้รับอันตรายหากเกิดยุบตัวกะทันหัน
ทั้งนี้ หลังถนน และกำแพงพังทลายลง ทางเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลไชโย ได้เข้ามาทำการตรวจสอบและรายงานผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวของแล้ว แต่ที่เป็นห่วงคือ อาจไม่มีงบประมาณซ่อมแซม เนื่องจากรัฐบาลยังมีปัญหาการเมือง ขณะที่ช่วงนี้ก็ย่างเข้าฤดูฝน ใกล้ฤดูน้ำหลากแล้ว หากซ่อมแซมล่าช้าอาจทำให้น้ำเอ่อล้นริมตลิ่งเข้าท่วมหมู่บ้าน ได้รับความเดือดร้อน โดยภาพหลอนของมหาอุทกภัยในปี 2554 ก็อาจจะกลับมาอีกครั้ง (อ่านข่าว : เขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา พังทลายลงแม่น้ำยาวเกือบ 100 เมตร)
อย่างไรก็ตามขณะนี้มีพื้นที่บางส่วนบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดปทุมธานี ถึงอยุธยา ได้ก่อสร้างถนนยกระดับ เป็นเขื่อนไปแล้วประมาณ 10 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้าง 150 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ของคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กยน.)
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็เคยบรรจุโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ว่ามีโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 17 กม.ในทำนองเดียวกัน แต่ก็พับไปก่อนเพราะผู้สมัครสอบตก ส่วนฝั่งประชาธิปัตย์โครงการดังกล่าวในสมัย พันเอกวินัย สมพงษ์ เป็น รมว.คมนาคม ในรัฐบาลชวน 1 และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็เคยผลักดันโครงการนี้ จากบทให้สัมภาษณ์ไว้ ในเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ที่ระบุตอนหนึ่งว่า
“ผมยอมรับว่า ฝันอยากสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา อันที่จริงหลาย ๆ ประเทศ หลาย ๆ เมืองก็มีถนนเลียบแม่น้ำ คนไทยที่เคยไปต่างประเทศ เห็นแล้วก็ชอบ อยากให้กรุงเทพฯ ซึ่งมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางเมืองมีถนนเลียบมาน้ำเจ้าพระยาบ้างสำหรับผมนอกจากอยากมีถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนคนอื่นๆ ( บางคนก็ไม่อยากมี ) ผมยังอยากทำถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อแก้ปัญหาการจราจรให้คนกรุงเทพฯ เป็นสำคัญ
“ลักษณะถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มโครงการจากเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ( แถวๆ สนามหลวง ) ฝั่งกรุงเทพไปจนถึงปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ฝั่งธนบุรีเริ่มจากเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าถึงเชิงสะพารพระนั่งเกล้า การทำถนนเลียบ แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ต้องเวนคืนที่ดินริมแม่น้ำเพราะตอม่อเสาและคาน สร้างลงในน้ำ (เหมือนเอาถนนดอนเมืองโทลเวย์จุ่มลงริมน้ำ) ลักษณะถนนเป็น 6 เลน ไหล่ทางด้านริมตลิ่งจะเป็นทางจักรยาน ไหลทางอีกด้านหนึ่ง ( ด้านนอก ) จะเป็นทางเดิน Walk way ระยะทางทั้งสองฟากฝั่งประมาณ 25 กม . ค่าก่อสร้างประมาณ 25,000 ล้านบาท (ราคาเมื่อปี พ.ศ.2536-2537)” พ.อ.วินัยระบุ อย่างไรก็ตามโครงการนี้ก็ถูกคัดค้าน
อีกด้านถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยานี้ ผู้บริหารเทศบาลนครนนทบุรี และเทศบาลนครปากเกร็ด ก็ร่วมกันผลักดัน โดยฝันที่จะเห็นการเชื่อมถนนต่อจากถนนจรัญสนิทวงศ์ยาวไปถึง จ.ปทุมธานี
“ถนนสายนี้นอกจากเป็นคันกั้นน้ำถาวรริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังจะช่วยระบายการจราจรในเส้นทางที่ผ่านอีกด้วย รถไม่ต้องข้ามสะพานพระราม 7 สะพานพระนั่งเกล้าทั้งใหม่และเก่าหรือสะพานพระราม 4 และอีกหลายสะพาน ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ยังจะช่วยชาวสวนจังหวัดนนทบุรี ฝั่งบางบัวทอง บางใหญ่ บางกรวยอีกด้วย เพราะสภาพปัจจุบันไม่สามารถทำคันกั้นได้เลย เนื่องจากพื้นที่มีแต่ร่องสวน ไม่รู้จะเริ่มตั้งแนวกั้นตรงไหน พอมหาอุทกภัยเข้ามาทางนี้ เลยจมมิดหายห่วง สวนทุเรียนนนทบุรีซึ่งขึ้นชื่อลือชาเรื่องรสชาติ ลูกละเป็นหมื่นหายไป” ผู้บริหารของเทศบาลนครนนทบุรี ระบุไว้ในเว็บไซต์ของเทศบาลนครนนทบุรี