xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 11-18 พ.ค.2557

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“วุฒิสภา” ยังรอ รมต.เปิดทางตั้งนายกฯ -ครม.คนกลาง ด้าน “สุเทพ” ไม่รอ ชวน ปชช.ลุกฮือครั้งใหญ่ 23-25 พ.ค. ลั่น ถ้าไม่ชนะ จะมอบตัว!
(บน) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.นำมวลชนชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อ 12 พ.ค. (ล่าง) นายสุเทพแถลงหลังหารือกับแกนนำสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ซึ่ง สรส.มีมตินัดหยุดงานเพื่อเคลื่อนไหวกับ กปปส.ตั้งแต่ 22 พ.ค.เป็นต้นไป
ความคืบหน้ากรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) เรียกร้องให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และว่าที่ประธานวุฒิสภา รีบปรึกษาหารือกับประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อดำเนินการให้มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมาบริหารประเทศ และทำการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลรักษาการหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว ประกอบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีอีกนับสิบคนถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญกรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) โดยไม่ชอบ

ปรากฏว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ออกมาโต้แนวคิด กปปส.เป็นการใหญ่ โดยย้ำว่า การสรรหานายกฯ คนใหม่โดยประธานวุฒิสภาและประธานศาลต่างๆ นั้น ขัดหลักการประชาธิปไตย เพราะนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง พร้อมดักคอแกมข่มขู่ว่า ประธานศาลคงไม่เอาด้วยกับเรื่องนี้

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาสอนมวยพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช.ว่า ในอดีตเคยมีการแต่งตั้งนายกฯ คนกลางที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็ไม่เห็นมีใครบอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย พร้อมยกตัวอย่างว่า วันที่คนไทยออกมาต่อสู้ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2535 หลังเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากนายกฯ ระหว่างมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง “เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเคยสนับสนุน พล.อ.สุจินดา หันมาสนับสนุน พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ให้เป็นนายกฯ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประชาชนที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย วันนั้น นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่าทางตันด้วยการทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส.ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ เข้ามาสะสางปัญหาจากเหตุการณ์ความไม่สงบและยุบสภา เมื่อรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ วิกฤตจึงคลี่คลายลง นายอาทิตย์ได้รับการขนานนามว่า เป็นวีรบุรุษประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ท่านเสนอชื่อบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง”

ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา ได้นัดหารือ ส.ว.นอกรอบเพื่อหาทางออกประเทศเมื่อวันที่ 12 พ.ค. พร้อมยืนยันว่า จำเป็นต้องแก้ปัญหา บ้านเมืองจะอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ถ้าจะต้องเจ็บตัวแต่บ้านเมืองอยู่รอดก็พร้อม จากนั้นนายสุรชัยได้ประสานเพื่อหารือกับองค์กรต่างๆ เพื่อฟังแนวคิดของทุกฝ่าย รวมทั้งส่งสัญญาณต้องการหารือกับฝ่ายรัฐบาลและ นปช.ด้วย โดยยืนยันว่า การทำงานของวุฒิสภาไม่มีใบสั่งจากใครทั้งสิ้น จะทำงานโดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง พร้อมย้ำ การทำงานของวุฒิสภาจะให้เสร็จในวันที่ 16 พ.ค.

ด้านแกนนำพรรคเพื่อไทยไม่พอใจที่นายสุรชัยจะเดินหน้าหารือกับฝ่ายต่างๆ เพื่อหาทางออกให้ประเทศ จึงได้พยายามหาทางเล่นงานนายสุรชัย เช่น ไปยื่นหนังสือต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ให้ดำเนินคดีนายสุรชัยกับพวก ฐานสนับสนุนให้ข้อเสนอของนายสุเทพที่ต้องการให้มีการตั้งนายกฯ ตามมาตรา 7 บรรลุผลสำเร็จ จึงเข้าข่ายล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ได้ออกมากล่าวหาว่านายสุรชัยมีจุดยืนเคียงข้างอำมาตยาธิปไตยมาโดยตลอด พร้อมขู่ หากวันที่ 16 พ.ค. นายสุรชัยประกาศข้อสรุปและเสนอนายกฯ มาตรา 7 ทั้งที่ไม่มีอำนาจ นปช.จะยกระดับการต่อสู้ทันที

ทั้งนี้ นายสุรชัยได้หารือกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งองค์กรเอกชนและองค์กรตามรัฐธรรมนูญรวม 12 องค์กรเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ก่อนได้ข้อสรุปว่า ทุกองค์กรพร้อมสนับสนุนการทำหน้าที่ของวุฒิสภาอย่างเต็มความสามารถ และเสียงส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าจะปล่อยให้บ้านเมืองเดินไปอย่างนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ควรมีรัฐบาลอำนาจเต็มมาบริหารราชการโดยเร็ว แต่เป็นรัฐบาลที่ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกิจตามที่มีการกำหนด คือการปฏิรูปและจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อยในเวลาจำกัด 6-12 เดือน โดยจะนำเรื่องนี้หารือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งรัฐบาลด้วย หากเห็นพ้องต้องกันว่าให้วุฒิสภาดำเนินการ ก็จะเดินไปสู่เป้าหมายนั้น พร้อมย้ำว่า ส.ว.ไม่ได้ตั้งธงว่าจะต้องเสนอนายกฯ มาตรา 7 แต่จะแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ

วันต่อมา(15 พ.ค.) นายสุรชัย ได้ประชุมหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) เพื่อหาทางออกให้ประเทศ โดยมีอธิการบดีและตัวแทนมหาวิทยาลัย 21 แห่งเข้าร่วม ก่อนได้ข้อสรุปว่า ทปอ.เห็นว่ารัฐบาลรักษาการมีอำนาจหน้าที่จำกัด จึงเห็นด้วยว่าควรมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มีอำนาจเต็ม โดยอยู่ภายใต้กลไกที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทั้งนี้ วันเดียวกัน(15 พ.ค.) วุฒิสภาได้หารือกับหัวหน้าส่วนราชการและตัวแทนเหล่าทัพ 25 หน่วยงาน โดยที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ควรมีนายกฯ ที่มีอำนาจเต็มมาแก้ปัญหา

จากนั้นวันต่อมา(16 พ.ค.) นายสุรชัยได้เรียกประชุมวุฒิสภานอกรอบอีกครั้ง เพื่อสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กรอิสระ ศาล ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย รวมถึงสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน ซึ่งเห็นตรงกันว่า ควรช่วยกันหาทางออกเพื่อแก้วิกฤตชาติ โดยได้ข้อสรุป 3 แนวทาง คือ 1.เพื่อให้การแก้ปัญหาบรรลุเจตนารมณ์ในการคืนความสงบสุขและความสมานฉันท์ของคนในชาติ ต้องเร่งจัดให้มีการปฏิรูปประเทศในทุกด้านให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งต้องมีนายกฯ และ ครม.ที่มีอำนาจเต็ม 2.ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรี ผู้ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี และรัฐบาล รวมทั้งพรรคการเมือง ให้ความร่วมมือกับวุฒิสภาในการหาทางออกประเทศภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชาติอย่างเต็มกำลัง เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและลดเงื่อนไขความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น 3.วุฒิสภาจะนำความเห็นและข้อแนะนำจากทุกภาคส่วนมาพิจารณาในการประชุมตามข้อบังคับของวุฒิสภาเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ได้มาซึ่งนายกฯ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระดับสากล และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยเร็ว ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ วุฒิสภาได้นัดหารือกับนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนรักษาการนายกฯ ในวันที่ 19 พ.ค. เพื่อหาทางออกประเทศ หลังการนัดหมายถูกเลื่อนจากเมื่อวันที่ 17 พ.ค.มาเป็นวันที่ 19 พ.ค.

ส่วนท่าทีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ที่นำมวลชนไปลุ้นฟังข้อสรุปของวุฒิสภาเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่หน้ารัฐสภานั้น หลังทราบมติที่ประชุมวุฒิสภาว่า ยังไม่หานายกฯ คนกลางในทันที แต่ยังรอความร่วมมือจากรัฐมนตรีและพรรคการเมือง จึงออกอาการเหมือนน้อยใจ “เราได้ยินคำตอบแล้วรอต่อไป...ขอบคุณที่ช่วยแถลงให้ทราบว่าในที่สุดคุณก็ยังเกรงใจคนมากเหลือเกิน จากนี้เราจะคิดหาวิธีของเรา ทำตามประสาเรา เป็นไงเป็นกัน ไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้า”

อย่างไรก็ตาม ช่วงค่ำวันเดียวกัน นายสุเทพ ยืนยันว่า ตนไม่โกรธ ส.ว.เพราะ ส.ว.คิดอ่านเหมือน กปปส. แต่ทำช้า พร้อมแฉว่า “ฝ่ายทักษิณพยายามถ่วงเวลา ซื้อทุกอย่าง แม้กระทั่ง ส.ว. มวลชนต้องเข้าใจอุปสรรค เราไม่เคยกดดัน ส.ว.เพราะเราเคารพในดุลพินิจของวุฒิสภา” ทั้งนี้ นายสุเทพ ได้เรียกประชุมแกนนำ กปปส.ทุกภาคส่วนทั่วประเทศเมื่อวันที่ 17 พ.ค. เพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหว ก่อนได้ข้อสรุปว่า วันที่ 19 พ.ค. จะแยกย้ายกันไปทวงคืนอำนาจอธิปไตยจากรัฐมนตรีที่เหลือ 24 คน โดยขอให้ลาออก และในวันเดียวกัน ขอให้แต่ละกระทรวง ทบวง กรม ขึ้นป้ายหน้ากระทรวงปฏิเสธอำนาจรัฐมนตรีเถื่อน จากนั้นวันที่ 22 พ.ค. จะประชุมหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เพื่อล้างคนของระบอบทักษิณที่อยู่ในกระทรวง ทบวง กรม ให้หมดสิ้นไป “วันที่ 23-25 พ.ค. เป็นการลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชนทั้งประเทศ ชัยชนะจะรู้กันในวันที่ 26 พ.ค. ถ้าประชาชนไม่ออกมาเป็นล้านๆ คน วันที่ 27 พ.ค.ผมจะสลายการต่อสู้ แล้วมอบตัว เพราะสู้มากกว่านี้ไม่ไหว จะแพ้ชนะก็ต้องทำใจ เราได้ทำถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 18-26 พ.ค. จะทุ่มเทภารกิจทั้งหมดให้เต็มที่และจบกันวันที่ 27 พ.ค.”

ล่าสุด(18 พ.ค.) นายสุเทพ ได้ประกาศว่า การชุมนุมแสดงพลังครั้งใหญ่ของมวลมหาประชาชนในวันที่ 23-25 พ.ค.นั้น จะชุมนุมบนถนนสองสายหลัก คือถนนราชดำเนิน จากลานพระบรมรูปทรงม้าจนถึงท้องสนามหลวง และถนนสุขุมวิท ตั้งแต่ซอยอ่อนนุชจนถึงปทุมวัน จากนั้นวันที่ 26 พ.ค. จะมีพิธีที่ท้องสนามหลวง ปฏิบัติการขั้นสุดท้าย เวลา 1 ทุ่มตรง จะประกาศอย่างเป็นทางการว่า บัดนี้อำนาจอธิปไตยได้กลับมาเป็นของปวงชนชาวไทยเรียบร้อยแล้ว เป็นการปิดเกมการต่อสู้ของมวลมหาประชาชน จากนั้นวันที่ 27 พ.ค. ฉลองชัยชนะของมวลมหาประชาชนด้วยกันทั้งประเทศ

2.คนร้ายยิงเอ็ม 79 ใส่ กปปส.อนุสาวรีย์ ปชต. ดับ 3 เจ็บ 22 ด้าน ผบ.ทบ. เตือน ถ้ายังไม่หยุดทำร้าย ปชช. กองทัพจะออกมาระงับเหตุเต็มรูปแบบ!

ส่วนหนึ่งของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์คนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 และกราดยิงเอ็ม 16 ใส่การ์ดและผู้ชุมนุม กปปส.บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย(15 พ.ค.)
เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 14 พ.ค. ล่วงเข้าวันที่ 15 พ.ค. เวลา 02.50น. ได้มีคนร้ายลอบยิงระเบิดเอ็ม 79 และกราดยิงปืนเอ็ม16 เข้าใส่ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.ที่อยู่ระหว่างนอนพักผ่อนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอีก 22 ราย ผู้เสียชีวิต คือ นายนรายศ จันทร์เพชร อายุ 21 ปี ชาวสุราษฎร์ธานี เป็นการ์ด กปปส. โดยถูกยิง 2 นัดที่หน้าอกและท้อง ,นายสมควร นวนขนาย อายุ 51 ปี ชาวชุมพร ถูกยิงที่หน้าอกและขา ส่วนอีกคนเป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ ถูกสะเก็ดระเบิดที่ศีรษะ ด้านศูนย์เอราวัณ รายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เหตุที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2556 จนถึงขณะนี้มีผู้บาดเจ็บ 783 คน เสียชีวิต 25 คน รวมเป็น 808 คน โดยมีผู้บาดเจ็บที่ยังพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 14 คน

ด้านตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ เผยว่า จากการสอบปากคำพยานที่เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า ขณะนอนหลับอยู่บริเวณฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ใกล้กับเวทีชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.)ได้ยินเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้น 2 นัด โดยกระสุนตกบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และหลังคาโรงแรมบ้านดินสอ ทั้งนี้ ตำรวจสันนิษฐานว่า คนร้ายน่าจะยิงระเบิดเอ็ม 79 มาจากบริเวณแยกคอกวัว และในเวลาใกล้เคียงกัน ได้พบรถกระบะสีขาว ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 กราดยิงใส่การ์ด กปปส.บริเวณแยกคอกวัว จนการ์ดเสียชีวิต

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกแถลงการณ์ 7 ข้อ โดย พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ได้อ่านแถลงการณ์ดังกล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 สรุปความว่า ขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายที่กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง ทั้งด้วยวิธีการทางกฎหมาย หรือการพูดคุยเจรจา หรือสันติวิธีอื่นๆ และว่า จากสถานการณ์การใช้อาวุธเมื่อคืนวันที่ 14 พ.ค. ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ไม่ว่าฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ ล้วนเป็นการทำผิดกฎหมาย จึงขอให้ประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ช่วยกันประณามทุกฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง และใช้อาวุธสงครามต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ หากผู้ใดทราบเบาะแสขอให้แจ้งกองทัพบกทันที

แถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเตือนกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงด้วยว่า หากยังไม่หยุดใช้อาวุธสงครามต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทหารอาจจำเป็นต้องออกมาระงับเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างเต็มรูปแบบ หรือหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นจนมีแนวโน้มถึงขั้นจะเกิดการจลาจล กองทัพอาจจำเป็นต้องใช้กำลังทหารเข้าคลี่คลายสถานการณ์ เมื่อถึงขั้นนั้น หากมีกลุ่มบุคคลหรือกองกำลังติดอาวุธตอบโต้กองทัพ หรือทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์อีก บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นจะต้องถูกเจ้าหน้าที่ใช้มาตรการทางกฎหมายปราบปรามอย่างเด็ดขาด โดยผู้ที่กระทำผิดดังกล่าวอาจไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ได้ เช่นเดียวกับกลุ่มบุคคลที่มีความคิดจะบุกรุกหรือปิดล้อมหน่วยทหาร ขอให้ยุติแนวคิดการกระทำดังกล่าวทันที

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ปราศรัยบนเวทีที่ถนนอักษะถึงแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า “เรียนถาม พล.อ.ประยุทธ์ว่า ต้องการที่จะใช้กฎอัยการศึกใช่หรือไม่ การใช้อาวุธเพื่อดำเนินการขั้นเด็ดขาด เป็นการนำทหารมาอย่างเต็มรูปแบบ ท่านต้องการจะสื่ออะไร เหตุการณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ว่าใครทำ ก็ไม่ควรนำมาเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้เริ่มต้นจะไม่ใช่การรัฐประหาร แต่การประกาศกฎอัยการศึกก็เท่ากับว่าเป็นการทำรัฐประหาร” นายจตุพร ยังเหน็บ พล.อ.ประยุทธ์ด้วยว่า นายกฯ คนกลางที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ใช่หรือไม่ เป็นคำถามในฐานะประชาชน ไม่ได้ดูถูกหรือหมิ่นเกียรติแต่อย่างใด

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบโต้นายจตุพรเรื่องการทำรัฐประหาร และการเป็นนายกฯ คนกลาง โดยบอก ไม่อยากสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้นมาอีก แต่ขอฝากสื่อมวลชนไปถามนายจตุพรว่า ถ้าไม่เป็นจริงตามที่พูดนั้น นายจตุพรจะรับผิดชอบหรือไม่ เพราะคนที่ถูกพาดพิงได้เสียหายไปแล้ว ส่วนที่ออกแถลงการณ์มา พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า เพื่อเตือนทุกฝ่ายไม่ให้ใช้ความรุนแรง ไม่ได้เจาะจงถึงฝ่ายใด และไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องทำรัฐประหาร เพราะทหารจะทำอะไรก็ต้องยึดตามกฎหมาย และอย่าคิดว่าตนเป็นคนเลือกข้าง อย่าคิดว่าทหารลำเอียง อย่ามัวแต่จับผิดทหาร ต้องดูด้วยว่าที่ผ่านมาใครทำอะไร เหตุการณ์เมื่อปี 2553 เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงไม่พูดกันบ้าง ทหารออกไปดูแลความเรียบร้อย แต่กลับต้องกลายเป็นจำเลย จึงขอให้สื่อมวลชนช่วยนำเสนอบ้างว่าใครทำอะไร และให้ความเป็นธรรมกันบ้าง

3.วงประชุม กกต.-รัฐบาล ล่มไม่เป็นท่า ผวา กปปส.บุก ด้าน ส.ว.จี้ชะลอกำหนดวันเลือกตั้ง เหตุ “นิวัฒน์ธำรง” ไม่ใช่นายกฯ !

(บน) มวลชน กปปสเข้าไปในบริเวณโรงเรียนนายเรืออากาศ ระหว่างที่ กกต.-รัฐบาลกำลังหารือเรื่องเลือกตั้ง (ล่าง) นายสุเทพ เข้าหารือ กกต. (15 พ.ค.)
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เชิญรัฐบาลมาปรึกษาหารือเกี่ยวกับเงื่อนไขการจัดการเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่า ก่อนหน้าจะถึงเวลาที่นัดไว้ 2 ชั่วโมง กกต.ได้รับแจ้งจากรัฐบาลขอย้ายสถานที่ประชุมจากสำนักงาน กกต. ที่ศูนย์ราชการไปเป็นหอประชุมโรงเรียนนายเรืออากาศ ย่านดอนเมือง ซึ่ง กกต.ยืนยันขอหารือที่ศูนย์ราชการตามเดิม เพราะแจ้งเปลี่ยนสถานที่กระทันหันเกินไป สุดท้ายรัฐบาลจึงขอเลื่อนการประชุมไปเป็นวันที่ 15 พ.ค. ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ

ซึ่งเมื่อถึงกำหนด ทั้งสองฝ่ายต่างเดินทางไปร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยฝ่าย กกต.นอกจาก กกต.ทั้ง 5 คนแล้ว ยังมีนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.ด้วย ส่วนฝ่ายรัฐบาล นำทีมโดยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในการหารือ กกต.ได้ขอให้รัฐบาลประเมินสถานการณ์ทางการเมือง เนื่องจาก กกต.มองว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่สามารถทำให้จัดการเลือกตั้งตามที่พูดคุยกันไว้ในวันที่ 20 ก.ค.ได้ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล เชื่อว่า กกต.จัดการเลือกตั้งได้

อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมดำเนินไปได้ไม่เท่าไหร่ ปรากฏว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ได้นำมวลชนเดินทางมาถึงด้านหน้าหอประชุมกานตรัตน์ โรงเรียนนายเรืออากาศ เพื่อขอพบ กกต. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารจัดการการเลือกตั้ง จึงถามที่ประชุมว่า ผู้ชุมนุมมาถึงด้านหน้าหอประชุมแล้ว จะประชุมต่อไปหรือจะยุติการประชุม ด้านนายนิวัฒน์ธำรง ได้สั่งให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ไปเจรจา แต่ยังไม่ทันที่ พล.ต.อ.อดุลย์จะไปเจรจา ปรากฏว่า สารวัตรทหารอากาศได้เข้ามาแจ้งว่า ผู้ชุมนุมเข้าประตูมาแล้ว พร้อมขอให้รัฐมนตรีออกจากห้องประชุมไปก่อน จากนั้นสารวัตรทหารได้พารัฐมนตรีไปขึ้นรถเพื่อออกจากหอประชุมทันที

ทั้งนี้ ระหว่างที่รถนำขบวนของนายนิวัฒน์ธำรงกำลังเคลื่อนออกจากด้านหลังหอประชุม ได้ขับชนรถจักรยานยนต์ของการ์ด กปปส.ด้วย และลากรถจักรยานยนต์ไปไกลกว่า 10 เมตร ก่อนที่คนขับรถนำขบวนจะทิ้งรถหลบหนีไป โดยผู้ชุมนุมได้ล้อมรถคันดังกล่าวไว้ ต่อมา สารวัตรทหาร กองทัพอากาศ ได้เดินทางมาที่รถคันดังกล่าว แล้วย้ายสิ่งของภายในรถไปไว้ที่รถอีกคัน ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าสิ่งของดังกล่าวใช่อาวุธหรือไม่ ก่อนขับรถออกจากพื้นที่ไป สร้างความไม่พอใจให้ผู้ชุมนุมเป็นอย่างมาก

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเดินทางออกจากโรงเรียนนายเรืออากาศ นายนิวัฒน์ธำรงได้เก็บตัวอยู่ในเซฟเฮาส์แห่งหนึ่ง โดยไม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถ.แจ้งวัฒนะ ตลอดทั้งวัน ก่อนเดินทางไปเชียงรายในวันรุ่งขึ้น(16 พ.ค.) อย่างไรก็ตาม นายนิวัฒน์ธำรงได้พูดถึงการนัดหารือกับ กกต.ครั้งต่อไปว่า เคยคุยกันไว้ว่าจะนัดคุยในสัปดาห์หน้า โดยจะพูดคุยกันตรงๆ หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ก็ได้ เพราะเรื่องคุยไม่ยุ่งยาก ต้องกำหนดวันเลือกตั้งว่าวันไหน ซึ่ง กกต.เสนอว่าใน พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง หากมีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนวันเลือกตั้ง ขอให้ทำได้ด้วย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสบายใจ ซึ่งรัฐบาลเห็นด้วย ถ้าตกลงกันได้ ก็เสนอ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งได้

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว. สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการชะลอการกำหนดวันเลือกตั้งออกไปก่อน เพราะส่วนตัวมองว่านายนิวัฒน์ธำรงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีได้ทุกประการ โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.เลือกตั้งร่วมกับประธาน กกต. เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วว่า การกำหนดวันเลือกตั้งเป็นหน้าที่ร่วมกันของนายกรัฐมนตรีและประธาน กกต. เท่านั้น ส่วนตัวจึงคิดว่านายนิวัฒน์ธำรงไม่อาจทำหน้าที่ตรงนี้ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีความพยายามจะกำหนดวันเลือกตั้งโดยที่ยังมีปัญหาในข้อกฎหมาย ตนจะฟ้องดำเนินคดีต่อไป

นายไพบูลย์ ยังชี้ด้วยว่า คณะรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ในขณะนี้ ไม่มีความสมบูรณ์ทางกฎหมาย เพราะ รัฐธรรมนูญมาตรา 171 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน ดังนั้นเมื่อคณะรัฐมนตรีขณะนี้ไม่มีนายกรัฐมนตรี ย่อมเท่ากับว่าคณะรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการแผ่นดินได้ เพราะถือว่าคณะรัฐมนตรีไม่มีความสมบูรณ์ทางกฎหมาย


4.กรมควบคุมมลพิษ สั่ง “วัฒนา-ทายาทยิ่งพันธ์” และผู้เกี่ยวข้องชดใช้ค่าเสียหายโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน 2 หมื่นล้าน!

(ซ้าย) นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย (ขวา) นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (เสียชีวิตแล้ว)
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกหนังสือคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องชดใช้ค่าสินไหมกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายจากโครงการออกแบบก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษคลองด่าน จ.สมุทรปราการ จำนวน 14 คน ประกอบด้วย นายวัฒนา อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากกรณีมีการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่จัดซื้อในโครงการดังกล่าว เนื่องจากเป็นการออกโฉนดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มูลค่า 912 ล้านบาท โดยนายวัฒนาจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 80 หรือประมาณ 729.6 ล้านบาท

คำสั่งของ คพ.ยังระบุด้วยว่า นายวัฒนามีพฤติกรรมทำให้โครงการออกแบบก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของโครงการ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดซื้อที่ดินในโครงการ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย ดังนั้นต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 30 ของความเสียหายทั้งหมด หรือประมาณ 6,637 ล้านบาท

นอกจากนายวัฒนาแล้ว ยังมีนายยิ่งพันธ์ มนะสิการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ผู้เสนอโครงการเพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งเอื้อให้เกิดการทุจริต ส่งผลให้ราชการได้รับความเสียหาย จึงให้นายยิ่งพันธ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 25 ของความเสียหายทั้งหมด หรือประมาณ 4,770 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษอีก 3 คนที่ต้องร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ประกอบด้วย นายปกิต กิระวานิช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร้อยละ 20 หรือประมาณ 3,816 ล้านบาท ,นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ในฐานะรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร้อยละ 10 หรือประมาณ 1,908 ล้านบาท และนางยุวรี อินนา ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร้อยละ 10 หรือประมาณ 1,908 ล้านบาท

สำหรับผู้เกี่ยวข้องคนอื่นๆ ที่ต้องร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในโครงการดังกล่าว ได้แก่ นายณรงค์ ยอดศิรจินดา ประธานกรรมการองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) คลองด่าน ,นายชะเอม ปู่มิ้ม ประธานสภา อบต.คลองด่าน และนายบุญลือ โพธิ์อรุณ สมาชิก อบต.คลองด่าน ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 5 หรือประมาณ 954 ล้านบาท ไม่เท่านั้น ยังให้คณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคาโครงการดังกล่าว ร่วมรับผิดชอบในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอีกคนละ 313 ล้านบาท ประกอบด้วย นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ,นายแคล้ว ทองสม ,นายสมิทธิ์ ปาลวัฒน์วิไชย ,นายณรงค์ แก้วเศวตพันธ์ ,นายชนินทร์ ทองธรรมชาติ ,นายชวนนท์ ติรณะรัตน์

ทั้งนี้ คำสั่งของกรมควบคุมมลพิษ ยังระบุด้วยว่า แม้ในการสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง จะยังไม่ได้สอบปากคำหรือให้โอกาสเจ้าหน้าที่บางคนได้ชี้แจง แต่เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้เคยชี้มูลความผิดทางอาญาผู้เกี่ยวข้องแล้ว เช่น นายวัฒนา อัศวเหม ,นายณรงค์ แก้วเศวตพันธ์ ,นายชะเอม ปู่มิ้ม,นายบุญลือ โพธิ์อรุณ ,นายปกิต กิระวานิช ,นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ และนางยุวรี อินนา ดังนั้นกรมควบคุมมลพิษจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่กรมควบคุมมลพิษต่อไป โดยขณะนี้ได้ส่งหนังสือคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนทราบว่าต้องชดใช้ค่าสินไหมแล้ว ส่วนกรณีนายยิ่งพันธ์ มนะสิการที่เสียชีวิตแล้วนั้น ได้ส่งให้อัยการสั่งฟ้องเอากับญาติและผู้รับมรดกเรียบร้อยแล้ว

ด้านนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เผยว่า ขณะนี้บุคคลที่ถูกกรมควบคุมมลพิษสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมในโครงการบัดน้ำเสียคลองด่านยังมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ส่วนกรณีนายวัฒนา ซึ่งเป็นบุคคลที่ยังตามตัวไม่พบนั้น ยังไม่แน่ใจว่าต้องดำเนินการอย่างไร กรมควบคุมมลพิษอาจต้องยื่นฟ้องให้ผู้รับมรดกชดใช้แทนหรือไม่ ต้องปรึกษาฝ่ายกฎหมายก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น