ลำปาง - เครือข่ายผู้ป่วยแม่เมาะนัดรวมตัวเดินทางเข้ากรุงคืนนี้ ก่อนร่วมฟังความเห็นตุลาการเจ้าของคดีประวัติศาสตร์ยื่นฟ้อง กฟผ.ชดใช้ผลกระทบซัลเฟอร์ฯ จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
วันนี้ (10 มี.ค.) นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ เปิดเผยว่า คืนนี้เครือข่ายผู้ป่วยฯ ส่วนหนึ่งจากจำนวน 131 ราย ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กฟผ.ต่อศาลปกครองเชียงใหม่เพื่อให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายและเยียวยา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร้องขอความเป็นธรรม
นาอกจากนี้ จะร่วมรับฟังการให้ความเห็นของตุลาการเจ้าของคดี ที่ศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับกรณีกลุ่มผู้ป่วยยื่นฟ้อง กฟผ.เมื่อปี 2546 ก่อนที่จะมีการพิพากษาในอีก 1 เดือนข้างหน้า หลังจากศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาเมื่อปี 42 ให้ กฟผ.ชดใช้เงินแก่ราษฎรนับร้อยรายที่ได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) โดยกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าเสื่อมสุขภาพอนามัย และจิตใจแก่ราษฎรที่อยู่ในพื้นที่จริงตามพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำ ตามปริมาณและจำนวนครั้งที่ กฟผ.ปล่อย SO2 โดยส่วนใหญ่จะได้รายละ 246,900 บาท พร้อมดอกเบี้ย และมีคำพิพากษาให้ กฟผ.อพยพราษฎรและให้ปลูกป่าแทนสนามกอล์ฟ
แต่หลังจากนั้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งตามกำหนดนายสุชาติ มงคลเลิศลพ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการเจ้าของสำนวนคดีจะได้แถลงความเห็นต่อศาล โดยมีเนื้อหาในการแก้อุทธรณ์ ซึ่งได้พิจารณาบทกฎหมายและกฎที่สำคัญคือ
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มีวัตถุประสงค์หลักในการผลิต จัดให้ได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้า ผู้ถูกฟ้องคดีทำเหมืองแร่ลิกไนต์เพื่อใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงกระแสไฟฟ้าและสร้างโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยได้เริ่มสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กกำลังการผลิต 12.5 เมกกะวัตต์ จำนวน 2 โรง ในปี พ.ศ. 2503
ต่อมาได้ดำเนินการก่อสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 13 โรงดังนี้ ระหว่างปี พ.ศ. 2521-2524 ก่อสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้าที่ 1-3 กำลังการผลิต 75 เมกะวัตต์ มีปล่องระบายก๊าซสูง 80 เมตร
ปี 2527-2528 ก่อสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้าที่ 4-7 กำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ มีปล่องระบายก๊าซสูง 150 เมตร ปี พ.ศ. 2532-2535 ก่อสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้าที่ 8-11 กำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ มีปล่องระบายก๊าซสูง 150 เมตร ปี พ.ศ. 2538 ก่อสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้าที่ 12-13 กำลังการผลิต 300 เมกกะวัตต์ มีปล่องระบายก๊าซสูง 150 เมตร
หลังจากใช้งานโรงไฟฟ้าที่ 1-3 แล้ว ก็ได้เลิกใช้งานโรงไฟฟ้าขนาดเล็กทั้งสองโรงดังกล่าว
ในการควบคุมและกำจัดฝุ่นละอองจากใช้งานโรงไฟฟ้านั้น ผู้ถูกฟ้องคดีได้ติดตั้งเครื่องกำจัดฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต Electrostatic Precipitator หรือ ESP ทุกโรงตั้งแต่เริ่มใช้งาน ส่วนการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์นั้น เดิม กฟผ.(ผู้ถูกฟ้องคดี)ใช้วิธีกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยการทำปล่องระบายสูง เพื่อให้ก๊าซดังกล่าวกระจายไปในบรรยากาศ
ต่อมาปี 2538 ได้ติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซ Flue Gas Desulphurization หรือ FGD จำนวน 8 เครื่องที่เครื่องผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า 10 โรง เริ่มใช้งานที่โรงไฟฟ้าที่ 12 และ 13 และทยอยติดตั้งและใช้งานที่โรงไฟฟ้าที่ 4-11 จนแล้วเสร็จในปี 2543 ส่วนโรงไฟฟ้าที่ 1-3 ไม่ได้ติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซ เนื่องจากได้หยุดใช้งานเมื่อปี 2542
ส่วนการตรวจสอบสภาวะอากาศในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตรวจวัดระดับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฝุ่น กลิ่น เสียง และความสั่นสะเทือน โดยมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จำนวน 4 สถานี คือ สถานีบ้านสบป้าด สถานีบ้านสบเติ๋น สถานีประปาส่วนภูมิภาค และสถานีบ้านท่าสี
นอกจากนี้ กฟผ.ยังมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศจำนวน 12 สถานี คือ สถานีตรวจอากาศหลัก สถานีบ้านกอออ สถานีบ้านห้วยคิง สถานีศูนย์ราชการรวม สถานีบ้านสบเมาะ สถานีบ้านสบป้าด สถานีบ้านแม่จาง สถานีบ้านหัวฝาย สถานีบ้านท่าสี สถานีค่ายประตูผา สถานีบ้านใหม่รัตนโกสินทร์ และสถานีบ้านท่าเสด็จ
ซึ่งหลังจากที่ได้มีการติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซที่โรงไฟฟ้าโรงที่ 11-13 แล้วปรากฏว่าเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2541 โรงไฟฟ้าแม่เมาะเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 11 โรง โดยเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่ 7 และ 12 หยุดซ่อมตามวาระ และหยุดซ่อมอุปกรณ์เครื่องกำจัดก๊าซของโรงไฟฟ้าที่ 8, 10, 12 และ 13 เหลือเพียงเครื่องกำจัดก๊าซของโรงไฟฟ้าที่ 9 และ 11 สามารถใช้งานได้ปกติ จึงทำให้เกิดการสะสมของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศในปริมาณสูงในช่วงระหว่างวันที่ 17-20 ส.ค. 2541
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีราษฎรได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้ารับการรักษาพยาบาลจำนวน 868 ราย เป็นผู้ป่วยนอก 865 ราย ผู้ป่วยใน 3 ราย
ต่อมาจังหวัดลำปางได้มีคำสั่งจังหวัดลำปางที่ 2014/2541 ลงวันที่ 8 ก.ย. 2541 แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการแพทย์กรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และ กฟผ.ได้จ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบกรณีผู้ป่วยในเป็นค่าสินไหมทดแทน 8,200 บาท ค่าขาดประโยชน์ในการทำงานคนละ 131 บาทต่อวัน กรณีผู้ป่วยนอก เป็นค่าสินไหมทดแทน 3,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ในการทำงานคนละ 131 บาทต่อวัน
โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายยื่นบัญชีความเสียหายภายในวันที่ 4 ต.ค. 2541 แต่ยังคงมีชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ยื่นบัญชีความเสียหายภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ฟ้องคดีให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อศาลจังหวัดลำปางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1945/2542 หมายเลขแดงที่ 431/2547 และคดีหมายเลขดำที่ 1960/2542 หมายเลขแดงที่ 354/2547 ซึ่งศาลจังหวัดลำปางมีคำพิพากษาให้ กฟผ.ชดใช้ค่าเสียหายแก่พืชผัก ผลไม้ของโจทก์
ขณะที่ผู้ที่ยื่นฟ้องทั้ง 19 สำนวน ได้เข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ซึ่งให้ความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีป่วยเป็นโรคนิวโมโคนิโอซิส (โรคปอดอักเสบจากฝุ่นหิน) และโรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก็ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเป็นคดีนี้ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 19 สำนวน
นางมะลิวรรณ บอกว่า มาถึงตอนนี้เราคงต้องรอฟังความเมตตาจากศาล หลังจากที่รอและต่อสู้กันมานาน จนมีผู้ป่วยที่ร่วมยื่นฟ้องเสียชีวิตไปแล้วถึง 12 ราย