xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุดยืน ทอท.ผิดสัญญาจ้าง “พล.อ.อ.เทอดศักดิ์”ให้จ่ายสินไหมทดแทน 25 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลอากาศเอกเทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์ (ภาพจากแฟ้ม)
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน ทอท.ผิดสัญญาจ้าง “พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์” ให้จ่ายสินไหมทดแทนรวมดอกเบี้ยกว่า 25 ล้านบาท กรณี ทอท.เลิกจ้างเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ก่อนครบกำหนด เมื่อปี 46 ด้วยข้ออ้างทำให้ ทอท.เสื่อมเสีย ศาลระบุชัดผู้ฟ้องไม่ผิดที่ให้สัมภาษณ์สื่อว่าถูกการเมืองกลั่นแกล้งและ พนง.แต่งดำประท้วง

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2556 เวลา 14.30 น.ที่ศาลปกครองกลาง ห้องพิจารณาคดี 7 ชั้น 3 พลอากาศเอกเทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์ ครอบครัว เพื่อนสนิท พร้อมด้วยทนายความ นายวิเชียร ศิริมงคล ได้เดินทางไปฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยนายอิทธิพร จิระพัฒนากุล ตุลาการศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.179/2553 คดีหมายเลขแดงที่ อ.663/2556 ลงวันที่ 12 กันยายน 2556 คดีระหว่าง พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์ ผู้ฟ้องคดี บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน ผู้ถูกฟ้องคดี เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางให้ ทอท.จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่พลอากาศเอกเทอดศักดิ์ ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวมกันถึงปัจจุบันเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท ส่วนคำขออื่นๆ ตามอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีและ ทอท.นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าฟังไม่ขึ้นและไม่อาจกำหนดค่าเสียหายให้ได้ตามคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีและของ ทอท.

มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจาก เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 คณะกรรมการของ ทอท.ซึ่งขณะนั้นมี นายศรีสุข จันทรางศุ เป็นประธานกรรมการ และมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้กำกับดูแลและควบคุมการบริหารกิจการของ ทอท.ได้มีมติเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีก่อนกำหนดอายุของสัญญาจ้างเป็นผู้บริหาร ฉบับลงวันที่ 29 ตุลาคม 2544 ซึ่งมีกำหนดการจ้าง 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นไป โดยให้เหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีได้ให้ข่าวต่อพนักงาน ทอท.ที่ห้องประชุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2546 ว่าถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจทางการเมือง ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงานจ้างปรับปรุงทางวิ่งทางอากาศยานภูเก็ตและเชียงใหม่ โดยใช้วิธีพิเศษโดยมิชอบ ปล่อยให้พนักงาน ทอท.จัดชุมนุมและแต่งชุดดำไว้ทุกข์และมีพนักงาน ทอท.บางส่วนเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับผู้ฟ้องคดีในเรื่องที่ยังไม่ส่งผลกระทบและเกิดขึ้นกับตัวผู้ฟ้องคดีที่ทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2546 โดยที่ผู้ฟ้องคดีได้ทราบเหตุการณ์ดังกล่าวล่วงหน้าแล้ว แต่ก็มิได้มีการป้องกันหรือห้ามการชุมนุมแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวข้างต้นเป็นการผิดเงื่อนไขสัญญาจ้างเป็นผู้บริหารฯ เป็นเหตุให้คณะกรรมการ ทอท.ได้รับความเสียหาย โดยเสื่อมเสียชื่อเสียง อาจถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากพนักงาน ทอท.หรือประชาชนทั่วไป ทอท.และกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ได้รับความเสียหาย เกิดความเข้าใจว่าเป็นองค์กรที่ขาดการบริหารจัดการที่ดี กระทบต่อชื่อเสียงขององค์กร ขาดความเชื่อถือจากสาธารณชน และส่งผลกระทบต่อการจะนำหุ้นของ ทอท.เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ดังนั้น ทอท.จึงมีสิทธิเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือจ่ายค่าสินไหมทดแทนใดๆ ตามเงื่อนไขสัญญาจ้างเป็นผู้บริหาร ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการ ทอท.ครั้งพิเศษที่ 2/2546 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 คณะกรรมการ ทอท.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้เลิกจ้างผู้ฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2546 เป็นต้นไป ซึ่งข่าวการถูกปลดกลางอากาศ หรือถูกเลิกจ้างของ พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์ นั้นได้ปรากฏแพร่หลายตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วไปในช่วงเวลาดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2546 พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ จึงได้นำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลปกครองกลางฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก ทอท.กับพวก และคดีได้มีการพิจารณากันทั้งที่ศาลปกครองกลาง, ศาลแพ่ง และท้ายสุดคดีได้ถูกโอนสำนวนจากศาลแพ่งมาพิจารณาที่ศาลปกครองกลาง

ต่อมามาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 ศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้น) ได้มีคำพิพากษาว่า การที่ ทอท.เลิกจ้างพลอากาศเอกเทอดศักดิ์ ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้บริหารก่อนครบกำหนดสัญญาจ้าง จึงเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้าง ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามกฎหมาย จึงมีคำพิพากษาให้ ทอท.ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จ่ายค่าสินไหมทดแทนจากการบอกเลิกสัญญาจ้างให้แก่ พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์ ผู้ฟ้องคดี เป็นเงิน 15,786,666.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คือคณะกรรมการ ทอท. และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือกระทรวงการคลัง และยกคำขออื่นนอกจากนี้ ทั้งนี้ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลแก่ผู้ฟ้องคดีตามส่วนของการชนะคดีเป็นเงิน 32,962.14 บาท

ผู้ฟ้องคดี และ ทอท.ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าวข้างต้น ซึ่งหมายความว่า ทอท.จะต้องชำระค่าสินไหมทดแทน, ค่าธรรมเนียมศาลตามจำนวนที่ศาลปกครองกลางพิพากษานั้นให้แก่พลอากาศเอกเทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์ ซึ่งคิดเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงปัจจุบันจะเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท

อนึ่ง เกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดโดยย่อนั้น ศาลฯได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคดีพิพาทดังกล่าวโดยสรุปข้อเท็จจริงในประเด็นสำคัญได้ว่าการที่ ทอท.เลิกจ้าง พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ ผู้ฟ้องคดีก่อนครบกำหนดสัญญาจ้างนั้น ทอท.เป็นฝ่ายผิดสัญญา ทั้งนี้เพราะศาลฯ เห็นว่าจากพยานหลักฐานต่างๆ ที่นำเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีนี้นั้น มีเหตุผลที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีเชื่อว่าตนถูกกลั่นแกล้ง กล่าวหา และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกสอบสวนเกี่ยวกับงานจ้างปรับปรุงทางวิ่งท่าอากาศยานภูเก็ต และเชียงใหม่ เพราะเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นภายในองค์กรของ ทอท.ได้ปรากฏเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับติดต่อกัน ตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคม 2546 ต่อเนื่องมาถึงประมาณกลางเดือนมีนาคม 2546 และยังปรากฏว่าข่าวการแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงผู้ฟ้องคดีในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับลงวันที่ 28 และ 29 มีนาคม 2546 และหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2546 และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ก็ได้ทราบเรื่องดังกล่าวและยังได้มีหนังสือถึงประธานกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความเป็นธรรมให้แก่พนักงาน จึงเป็นเรื่องที่เป็นที่รับรู้กันในหมู่พนักงานและสมาชิกสหภาพแรงงาน ทอท.มาก่อนแล้ว ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีได้ให้ข่าวต่อพนักงาน ทอท. จึงมิใช่เป็นการไม่รักษาความลับของ ทอท.ตามที่ถูกกล่าวหา ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยโดยการทุจริตคอรัปชั่นซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง และถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน ย่อมเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของพนักงานฯ การที่ผู้ฟ้องคดีนำข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไปเล่าให้พนักงานและสมาชิก สร.ทอท.ฟังเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2546 จึงมิใช่เป็นการไม่รักษาความลับของ ทอท.ตามข้อ 6 ของสัญญาจ้างแต่ประการใด ที่จะถือว่าเป็นการจงใจทำให้ ทอท.ได้รับความเสียหาย อีกทั้งการเล่าดังกล่าวก็เป็นข้อเสนอส่วนบุคคลที่มิได้แสดงให้เห็นว่าองค์การของ ทอท.มีเหตุทุจริตที่จะทำให้ ทอท.ขาดการบริหารจัดการที่ดีอันจะเป็นอุปสรรคต่อการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของ ทอท.แต่ประการใด ซึ่งศาลปกครองกลางได้เคยวินิจฉัยข้อเท็จจริงในข้อนี้และเชื่อว่าเป็นความพยายามของผู้ฟ้องคดีที่จะปกป้องชื่อเสียง เกียรติยศ และศักดิ์ศรีของตนเองจากการถูกกล่าวหาที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม การกระทำของผู้ฟ้องคดี จึงไม่ได้เป็นการให้ข่าวโดยจงใจกระทำให้เกิดความเสียหายต่อ ทอท.ตามเหตุผลที่ถูกเลิกจ้างแต่อย่างใด

ส่วนเหตุผลในการเลิกจ้างของ ทอท.เป็นประการที่สองที่ว่าผู้ฟ้องคดีปล่อยให้พนักงานจัดชุมนุมแต่งชุดดำและเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่กระทรวงคมนาคมและทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2546 โดยที่ผู้ฟ้องคดีทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าแต่มิได้ป้องกันหรือห้ามปราบการชุมนุมแต่อย่างใดนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าในวันดังกล่าว เวลาเช้า สร.ทอท.ได้รวมตัวกันที่ทีทำการของสหภาพแรงงานฯ โดยพร้อมใจกันแต่งชุดดำไว้ทุกข์ภายใต้การนำของประธาน สร.ทอท.และเดินทางโดยสงบไม่มีอาวุธใดๆ ไปยังทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเมื่อผู้ฟ้องคดีทราบก็ได้โทรศัพท์ไปขอร้องให้พนักงานเดินทางกลับ อย่ากระทำการใดๆ อันเป็นการไม่สงบ เพราะจะทำให้องค์กรเสียหาย แต่ประธาน สร.ทอท.แจ้งว่าเป็นเรื่องของ สร.ทอท.ที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิห้ามปราม ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือรับรองข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ทำหนังสือยืนยันข้อเท็จจริงว่าได้เข้าพบและหารือเรื่องการปฏิบัติงานกับผู้ฟ้องคดี โดยในระหว่างการสนทนาได้ยินผู้ฟ้องคดีรับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่พูดกับบุคคลอื่นพอจับใจความได้ว่าขอให้ยกเลิกการเดินขบวน จึงเห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้พยายามห้ามปรามสมาชิก สร.ทอท.ตั้งแต่ต้น ทั้งการชุมนุมของพนักงานภายใต้การนำของประธาน สร.ทอท.ใช่เกิดจากการกระทำของผู้ฟ้องคดีจนทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนดังที่ ทอท.กล่าวอ้างแต่อย่างใด นอกจากนี้ ทอท. ก็มิได้แสดงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใดๆ ว่าได้รับความเสียหาย โดยเสื่อมเสียชื่อเสียง อาจถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จากพนักงาน ทอท.หรือประชาชนทั่วไป และกระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย

ภายหลังจากทราบผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์ ได้ให้ให้สัมภาษณ์ว่าต้องขอขอบคุณศาลปกครองสูงสุดที่ได้ให้ความเป็นธรรม และพอใจในผลคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ตนถูกกล่าวหาและเลิกจ้างด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และกลั่นแกล้งให้ตนได้รับความเสียหาย อีกทั้งเท่ากับเป็นการลบล้างข้อกล่าวอ้าง กล่าวหา ดูหมิ่น ดูแคลน ของคณะกรรมการ ทอท. ทั้งหมดที่เลิกจ้างตนโดยเหตุผลอันไม่ชอบด้วยกฎหมายและสัญญาจ้างเป็นผู้บริหาร ทำให้ตนเองสามารถกอบกู้เกียติยศ ศักดิ์ศรี ชื่อเสียง และวงศ์ตระกูลกลับคืนมาได้แม้จะต้องถูกเลิกจ้างมาตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2546 และใช้เวลาอดทนต่อสู้คดีในศาลตลอดมาเป็นเวลานานถึง 10 ปี 6 เดือนเศษก็ตาม อีกทั้งคดีนี้จะเป็นอุทาหรณ์และเป็นบรรทัดฐานสำหรับผู้บริหารสูงสุดในองค์กรของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ที่จะได้รับการว่าจ้างหรือปฏิบัติโดยไม่ถูกกลั่นแกล้งจากอำนาจทางการเมืองของผู้ใดอีกด้วย

อนึ่ง ก่อนที่พลอากาศเอก เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์ (ผู้ฟ้องคดี) จะได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาของ ทอท. และกระทรวงการคลังให้เข้าทำงานตามสัญญาจ้างเป็นผู้บริหารกับ ทอท.เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 นั้น ผู้ฟ้องคดีเป็นนายทหารอาชีพ รับราชการในกองทัพอากาศมาตลอด และมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองผู้บัญชาการทหารอากาศ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดี จึงมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจและการบริหารเกี่ยวกับการบิน, การท่าอากาศยานมาโดยตลอด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องถูกเลิกจ้างก่อนครบกำหนดอายุตามสัญญาโดยเหตุที่ไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบและสัญญาจ้างฯ ของผู้ถูกฟ้องคดีฯ และถูกกลั่นแกล้งจากนักการเมืองผู้มีอำนาจในขณะนั้น ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องสูญเสียโอกาสในการทำงาน และรายได้ที่จะพึงได้รับตามเงื่อนไขของสัญญาจ้างจนถึงวันครบกำหนดสัญญาจ้างฯ ตลอดจนต้องขาดรายได้และผลประโยชน์อื่นๆ จากการเป็นกรรมการในบริษัทในเครือของ ทอท.หรือบริษัทที่ ทอท.ถือหุ้นอยู่ด้วย นอกจากนั้น ผลจากการบอกเลิกสัญญาจ้างที่ผิดกฎหมายและผิดสัญญา ก็ยังเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงที่สร้างสมมาเป็นเวลานาน ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่เคยมีประวัติมัวหมองหรือด่างพร้อยทั้งส่วนตัวและในหน้าที่การทำงานมาก่อนแต่อย่างใด รวมทั้งต้องเสียศักดิ์ศรี วงศ์ตระกูล เกียรติยศ และทางทำมาหาได้อย่างอื่นในอนาคต เพราะข่าวการถูกเลิกจ้างด้วยข้อความที่เป็นเท็จของผู้ถูกฟ้องคดีได้แพร่สะพัดไปยังสื่อสารมวลชน หนังสือพิมพ์ และบุคคลภายนอกติดต่อกันมาตั้งแต่ต้นปี 2546 จนถึงกลางปี 2546 โดยตลอดทั้งในช่วงก่อนถูกเลิกจ้างและภายหลัง ทำให้บุคคลภายนอกที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงอาจเข้าใจผิดว่าผู้ฟ้องคดีเป็นคนไม่ดี ประพฤติชั่ว เป็นผู้กระทำผิดสัญญาจ้าง จึงเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้าง ทั้งๆ ที่ความจริงผู้ฟ้องคดีเป็นผู้บริสุทธิ์ ถูกกลั่นแกล้งจากอำนาจที่ไม่เป็นธรรมทางการเมือง และจากการสมคบกันของผู้ถูกฟ้องคดีที่หาเหตุเลิกจ้างโดยไม่ชอบ ผู้ฟ้องคดีจึงจำเป็นต้องฟ้องต่อศาลฯ เพื่อขอบารมีศาลฯ บังคับและประสาทความยุติธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี
กำลังโหลดความคิดเห็น