ลำปาง - กฟผ.นำนักวิชาการ-สื่อ ร่วมถอดบทเรียนโรงไฟฟ้าลิกไนต์กลางชุมชนเกาหลีใต้ พบไร้ปัญหาแรงต้านจากชาวบ้าน แม้ใช้ถ่านหินเกรดเอ จาก ตปท.แค่ 30% ที่เหลือเป็นลิกไนต์คุณภาพต่ำ หลังรัฐดูแลชุมชนรอบโรงไฟฟ้าทุกด้าน ขณะที่โรงไฟฟ้าไทย ยังเต็มไปด้วยปัญหา
รายงานข่าวจากจังหวัดลำปาง แจ้งว่า ท่ามกลางปัญหาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ จนเกิดความขัดแย้งมาอย่างต่อเนื่องยาวนา และโรงไฟฟ้าในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งยังคงถูกต่อต้านจากประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง เนื่องจากปัญหามลพิษจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าเมื่อ 20 กว่าปีก่อนหน้านี้ ยังคงเป็นฝันร้ายของคนในพื้นที่
ขณะที่ กฟผ.ได้วางแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทน โรงไฟฟ้าแม่เมาะ 4-7 ที่ถูกทุบทิ้ง โดยจะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 600 เม็กกะวัตต์ จึงยังคงต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่และให้ประชาชนมั่นใจว่าเมื่อสร้างแล้วจะต้องไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดิมอีก
ล่าสุดกระทรวงพลังงาน ได้เชิญนักวิชาการจากสถาบันวิจัยพลังงาน, สถาบันการศึกษา, ตุลาการศาลปกครองกลาง, สื่อมวลชน และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าถ่านหินมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก แม้จะไม่มีพลังงานเป็นของตนเอง แต่ก็สามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงานได้โดยประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับและสนับสนุน
“ปุ๋ย” ล่ามจากสถานทูตไทยในเกาหลีใต้ อธิบายว่า ได้นำคณะเข้าชมกิจการของโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดสองแห่ง คือโรงไฟฟ้า Yeongheung (ยองฮึง) ในเขตเมืองอินชอน ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 3,340 เมกะวัตต์ มีโรงไฟฟ้า 6 โรง ใช้ถ่านหินวันละ 35,000 ตัน และโรงไฟฟ้า Dangjin Coal Power Plant (ดังจิน) ในเขตเมือง Chungcheongnam-do (ซุงซอนนัม) มีกำลังการผลิตรวม 4,000 เมกะวัตต์ มีโรงไฟฟ้าทั้งหมด 8 โรง และกำลังก่อสร้างอีก 2 โรง หากก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ 6,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันใช้ถ่านหินวันละ 40,000 ตัน
โดยโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งนำเข้าถ่านหินมาจากต่างประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย แคนนาดา อเมริกาใต้ เป็นถ่านหินเกรดเอเพียง30% เท่านั้น ที่เหลือจะเป็นถ่านหินคุณภาพต่ำ แล้วนำมาผลิตรวมกัน แต่เนื่องจากเทคโนโยยีในการเผาใหม่มีคุณภาพทำให้สามารถควบคุมก๊าซต่างๆได้ดี และเป็นไปตามมาตรฐาน
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการก่อสร้างทางโรงไฟฟ้ายอมรับว่า ประชาชนบางส่วนได้ออกมาต่อต้านเนื่องจากเกรงปัญหามลพิษ แต่ทางโรงไฟฟ้าและรัฐบาลเกาหลีใต้ ได้เข้ามาเจรจา ซึ่งก็ใช้เวลาหลายปี โดยเชิญชาวบ้านในพื้นที่ ที่เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าทุกคน ไม่ได้เลือกเฉพาะตัวแทนชาวบ้านแต่ต้องทุกคนมาร่วมทำความเข้าใจตกลงกัน จนทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ และยินยอมให้ตั้งโรงไฟฟ้า
หลังจากนั้นการดูแลประชานก็ถือว่า สำคัญ เนื่องจากเกาหลีใต้ มีกฎหมายในการดูแลประชาชนอย่างเต็มที่โดยเฉพาะด้านสุขภาพ คือ เน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ไข รัฐจะกำหนดให้มีการตรวจสุขภาพประชาชนในที่ตั้งโรงไฟฟ้า ทุก 6 เดือน ใน 6 โรค ขณะที่ประชาชนนอกพื้นที่จะได้รับสวัสดิการตรวจสุขภาพ 2 ปีใน 3 โรคเท่านั้น ส่วนผู้ที่อายุเกิน 40 ปี ตรวจสุขภาพฟรี อายุมากกว่า 60 ปี รัฐดูแลด้านสุขภาพฟรีทั้งหมด
นอกจากนนี้ คนในพื้นที่ยังได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษา โดยเด็กเล็กระดับอนุบาลถึงประถมปีที่ 3 เรียนฟรี ตั้งแต่ ม.1 ขึ้นไป จะสนับสนุนให้มีคอมพิวเตอร์ไว้ประจำทุกบ้าน และหากเด็กคนไหนมีการเรียนดีระดับเกรด 3 ขึ้นไป ก็จะได้รับทุนการศึกษาถึงระดับปริญญา และส่งเรียนต่อในต่างประเทศ ส่วนค่าไฟฟ้าคนในพื้นที่ จะจ่ายเพียง 50%เท่านั้น ขณะที่คนนอกพื้นที่จ่ายเต็ม 100%
ขณะที่สัดส่วนคนทำงานในโรงไฟฟ้า จะเป็นคนพื้นที่มีประมาณ 8% ของพนักงานทั้งหมด โดยใช้เกรดการศึกษาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก
นอกจากนั้น ทางรัฐบาลและโรงไฟฟ้ายังได้สนับสนุนการก่อสร้างสาธารณะประโยชน์อีกหลายอย่าง อาทิ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ตลาดสด โรงเรียน ห้องประชุม ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนจะเป็นผู้เสนอ และเป็นสาธาณะประโยชน์ที่ใช้ร่วมกัน จนทำให้ชาวบ้านในพื้นที่พอใจและยอมรับได้
ล่ามจากสถานทูตไทยในเกาหลีใต้ บอกอีกว่า ที่สำคัญคือ การป้องกันฝุ่นละอองจากถ่านหิน ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งขนส่งมาทางเรือ โรงไฟฟ้าจำเป็นต้องมีสถานที่เก็บถ่านหิน ดังนั้นจึงต้องมีวิธีป้องกันแบบ 2 ชั้น คือ มีการปลูกต้นสนโดยรอบ และมีการใช้สเปรย์น้ำ ซึ่งผสมน้ำยาในการควบคุมไม่ให้ฝุ่นกระจายออกนอกพื้นที่
ในแต่ละปีก็จะมีปัญหาบ้างเพียงเล็กน้อยคือ ในช่วงที่มีพายุแรงๆ และลมพัดฝุ่นของถ่านหินออกนอกพื้นที่ แต่ชาวบ้านก็จะได้รับผลกระทบเพียงภายนอกคือ เขม่าขี้เถ้า ที่ลอยออกไปทำให้เสื้อผ้า-บ้านเรือนเป็นฝุ่นบ้าง แต่ก็กินเวลาเพียง 4-5 วันเท่านั้น ซึ่งชาวบ้านสามารถยอมรับได้
ส่วนระบบการควบคุมมลพิษทางโรงงานทุกแห่งจะต้องมีการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณไปยังรัฐบาล เพื่อตรวจสอบและควบคุมมลพิษหากเกินมาตรฐาน 3 ครั้ง รัฐบาลก็จะให้โรงงานนั้นหยุดการผลิตและทำการแก้ไขจนพิสูจน์ได้ว่า การทำงานทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ค่าทุกอย่าง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จึงจะสามารถผลิตต่อได้
ซึ่งเมื่อดูมาตรฐานการทำงานและการดูแลประชาชนในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าถ่านหินในเกาหลีใต้แล้วจะเห็นว่ากว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาได้แต่ละแห่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากแต่ทางโรงงาน รัฐบาล ได้ใช้ความพยายาม และใช้ความจริงใจเปิดกว้างในการที่จะให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าตรวจได้ทุกเวลาเมื่อมีข้อสงสัยและเอาใจใส่ต่อผล กระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นและความต้องการอย่างเต็มที่
แต่กรณีของไทย โรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่ง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กลับเกิดปัญหาความขัดแย้งกันชุมชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
นายพลฤทธิ์ เศรษฐกำเนิด ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้า 2 โรงไฟฟ้าแม่เมาะ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าที่เกาหลีต่างจากของประเทศไทย เนื่องจากเกาหลี ไม่มีถ่านหิน การนำเข้าจึงสามารถเลือกคัดเกรดได้ จึงทำงานได้ง่ายกว่า ส่วนของไทยโดยเฉพาะที่แม่เมาะ ถ่านหินที่มีอยู่เป็นถ่านหินเกรดต่ำ ดังนั้นการดำเนินงานโดยเฉพาะเทคโนโลยีจึงต้องมีคุณภาพสูงกว่าของเกาหลี
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการนำเข้าพลังงานภายใน 4-5 ปีนี้ ก็ยังไม่มีปัญหา และหากประเทศไทยในอนาคตไม่มีการใช้ไฟเพิ่มขึ้นอีก ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม แต่ความเป็นจริงไม่ใช่เนื่องจากปัจจุบัน และในอนาคต ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ไม่เช่นนั้นก็ต้องมีปัญหาพลังงานไม่เพียงพอ
ซึ่งโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่จะมีการสร้างขึ้นทดแทนก็จะสร้างในกำลังผลิตเท่าเดิม แต่ใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิม รวมถึงกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ก็เข้มข้นกว่าเดิม เพื่อที่จะรองรับการใช้พลังงานไปได้อีกประมาณ 45-50 ปี
นายพลฤทธิ์ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการทำงานของ กฟผ.กับประชาชนในพื้นที่ไม่ราบรื่น แต่ก็ได้พยายามทำให้ดีขึ้น และพยายามให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเดิมให้ดีที่สุด
ขณะที่ ผศ.ดร.ดุลยพงศ์ วงศ์แสวง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจะสร้างโรงไฟฟ้าไม่ใช่ว่าจะใช้ความเห็นจากทางโรงไฟฟ้าอย่างเดียวว่าจะสร้างก็ต้องสร้าง แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ด้วย เปิดโอกาสให้เขาเสนอว่าอยากได้อะไร ต้องการอะไร แล้วหาข้อตกลงร่วมกัน และที่สำคัญคือความจริงใจในการหาทางออกและแก้ไขปัญหาร่วมกัน จึงทำให้โรงไฟฟ้าเกาหลีใต้ไม่มีปัญหา และสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งประเทศไทยก็ควรใช้แนวทางนี้เช่นกัน