ASTVผู้จัดการ - เปิดปูมบริษัท “กิจการค้าร่วมเทคทีวี” เป็นใครมาจากไหน อาจหาญเขี่ย “สามารถ-ล็อกซเล่ย์” ก้าวไปหยิบชิ้นปลามันเครื่องส่งทีวีดิจิตอลของ อสมท มูลค่า 440 ล้านบาท พบ กิจการที่มาร่วมค้า “โรเดอร์ แอนด์ ชวาร์ส” จากเยอรมนีมีอดีตผู้บริหาร “กลุ่มชิน” ร่วมทีม
ภายหลังจากที่บริษัท กิจการค้าร่วม เทคทีวี จำกัด (TEQTV and Rohde&Schwarz) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาในโครงการจัดหาเครื่องส่งสัญญาณทีวีดิจิตอล มูลค่า 440 ล้านบาทของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่ง อสมท เป็น 1 ใน 4 ของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น (อ่าน : ฉาวตามคาด แฉ อสมท ล็อกสเปกผู้ชนะเครื่องส่งทีวีดิจิตอล-3 บ.เอกชนเล็งยื่นศาล ปค.) โดยกิจการค้าร่วมเทคทีวีสามารถเอาชนะยักษ์ใหญ่ของวงการเทเลคอม เช่น บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) (Loxley) บริษัท สามารถเทเลคอม จำกัด (มหาชน) (Samart) อย่างน่ากังขา
ว่ากันว่า ตั้งแต่เริ่มต้นกิจการค้าร่วมเทคทีวี ก็มีคะแนนนำโด่งเหนือคู่แข่งขันรายอื่นที่เสนอตัวเข้ายื่นประกวดราคา ได้เปรียบทั้งสเปกในทีโออาร์ที่เขียนเอื้อประโยชน์ และแรงหนุนจากฝ่ายการเมืองผ่านคณะกรรมการ อสมท จึงน่าสนใจว่า กิจการค้าร่วมเทคทีวี เป็นใครมาจากไหน?
จากการตรวจสอบของ ASTVผู้จัดการ พบว่าบริษัท กิจการค้าร่วมเทคทีวี TEQTV and Rohde & Schwarz เป็นการร่วมทำธุรกิจกันระหว่าง บริษัท เทคทีวี จำกัด และ บริษัท โรเดอร์ แอนด์ ชวาร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช ที่มีบริษัทแม่อยู่ประเทศเยอรมนี
จากฐานข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า บริษัท เทคทีวี จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจการให้บริการระบบบอกรับสมาชิก จัดจำหน่าย นำเข้าอุปกรณ์ สิ่งของ หรือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องต่อการใช้หรือให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก
ผู้ถือหุ้นประกอบไปด้วย นางสาวสริตา วัฒนะจันทร์ ถืออยู่ทั้งสิ้น 99.2% ที่เหลือ นายชูชัย ชาญสง่าเวช และ นางสาวณัชฌารีย์ ณัฐณิชาพัฒน์ ถือเท่ากันคนละ 0.40%
นั่นหมายความว่า นางสาวสริตา ถือเป็นบุคคลสำคัญของบริษัท เทคทีวี เป็นทั้งผู้มีอำนาจทำการ และกรรมการแต่เพียงผู้เดียวในบริษัท
หลังจากก่อตั้งเริ่มดำเนินธุรกิจ กิจการของบริษัท เทคทีวี ถือเป็นกิจการที่มีขนาดเล็ก เห็นได้จากงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม ปี 2554 มีสินทรัพย์เพียง 250,000 บาท หนี้สิน 4,000 บาท ปิดงบกำไรขาดทุนปรากฏว่าขาดทุนอยู่ 4,000 บาท
ปี 2555 วันสิ้นปี 31 ธันวาคม สินทรัพย์ลดลงเล็กน้อยเหลือเพียง 244,000 บาท หนี้สินเพิ่มขึ้นมา 1,000 บาท รวมเป็น 5,000 บาท ผลประกอบการไม่กระเตื้อง ขาดทุนอีก 7,000 บาท รวมสองปีที่ทำธุรกิจ ขาดทุนสะสมอยู่ 11,000 บาท
วันนี้ บริษัทที่มีสินทรัพย์สองแสนกว่าบาทและขาดทุนหมื่นกว่าบาทกำลังได้งานที่มีมูลค่า 440 ล้าน และอาจจะเพิ่มสูงขึ้นไปตามเฟสของงานได้จาก อสมท
นอกจากบริษัทนี้แล้ว ความน่าสนใจของนางสาวสริตา เธอยังถือหุ้น และเป็นกรรมการอีกหลายบริษัทที่เกี่ยวข้องเทคทีวี เช่น บริษัท โซเซียล วีเดีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัทเบบี้ส์ โพลก้า จำกัด, บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด, บริษัท ฟาร์ม เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด, บริษัท วิง เวิลด์ จำกัด และ บริษัท แอพโซลูท เพลย์
บริษัทเหล่านี้ที่น่าสนใจ และเป็นที่รู้จักกันในแวดวงทั่วไป คือ บริษัท เพลย์เวิร์ค ซึ่งถ้ายังจำกันได้ก่อนหน้านี้ตกเป็นข่าวใหญ่ เคยเป็นคู่ค้ากับ อสมท เพื่อให้บริการทีวีแบบบอกรับสมาชิกเป็นคลื่นความถี่เอ็มเอ็มดีเอส แต่ถูกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติลงความเห็นว่า เป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สั่งให้ อสมท ปรับให้ถูกต้อง และคืนคลื่นความถี่ให้ กสทช. หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ซึ่งปัจจุบันคลื่นเอ็มเอ็มดีเอสถูกใช้งานกับสัญญาบริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด ที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้
ขณะที่อีกหนึ่ง บริษัท แอพโซลูท เพลย์ ผู้ผลิตแอปพลิเคชันแต่งภาพ “ติ๊กเก้อ” ที่ลอกเลียนแบบแนวคำคมจากสติกเกอร์รถสิบล้อจนได้รับนิยมอย่างแพร่หลายหลายในหมู่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเมื่อปีที่แล้ว
ตัวตนของนางสาวสริตา น้อยคนที่จะรู้จัก แต่จากการที่เคยให้สัมภาษณ์สื่อในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท เพลย์เวิร์ค ถึงแนวคิดในการทำธุรกิจไอทีของเธอเองเอาไว้ว่า การจะทำธุรกิจเทคโนโลยีต้องรู้ตัวไปอยู่ในจุดไหนในปัจจัยพื้นฐาน 3 อย่าง ได้แก่ ดีไวซ์ (Device) อุปกรณ์รับแปลสัญญาน อย่าง โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์พกพา หรือ โทรทัศน์ ซึ่งปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อกันได้แล้ว ส่วนที่สองคือ เน็ตเวิร์ก (Network) และส่วนที่สามอย่าง แอปพลิเคชัน คอนเทนต์ และ แพลตฟอร์ม (Application Content and Platform) ระบบปฏิบัติการที่โปรแกรมประยุกต์
“สองอย่างแรก รู้ตัวดีว่า ไม่ถนัด เพราะมันเป็นส่วนของฮาร์ดแวร์ ต้องให้มืออาชีพทำ แต่เราเห็นความเร็วของ Network และประสิทธิภาพของ Device เกิดเป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ในสังคม คนใช้เวลากับพวกมันมากขึ้นแต่ยังขาดโปรแกรมบริการที่ตอบสนองการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ นั่นเป็นเหตุให้เรามาโฟกัสที่ Platform” นางสาวสริตา เคยกล่าวไว้ โดยหากเทียบกับวันนี้ เมื่อชนะประมูลเครื่องส่งทีวีดิจิตอลของอสมท เท่ากับว่า บริษัท เทคทีวี ของเธอ กำลังจะทำในสิ่งที่ไม่ถนัดเข้าแล้ว
จากตรงนี้ บริษัท เทคทีวี ดูเหมือนจะยังใหม่ต่อเทคโนโลยีทีวีดิจิตอล แต่การผนวกรวมกับบริษัทอย่างบริษัท โรเดอร์ แอนด์ ชวาร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช ของเยอรมนี นับเป็นการอุดจุดอ่อนของตัวเองได้ และก็สอดคล้องกับความเห็นของคนวงการเทเลคอมที่มองว่า ชัยชนะของ กิจการค้าร่วมเทคทีวี โรเดอร์ แอนด์ ชวาร์ส คือตัวสำคัญมากกว่า เทคทีวี ของนางสริตา
โรเดอร์ แอนด์ ชวาร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช เป็นนิติบุคคลต่างด้าว โดยที่เข้ามาทำมาหากินในบ้านเรามากว่า 27 ปีแล้ว มาถึงปี 2544 ได้ตั้งเป็นบริษัทในไทย มี นายหาญยุทธ สรไกรกิติกูล เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรก และยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทมาถึงทุกวันนี้
บริษัทแม่ โรเดอร์ แอนด์ ชวาร์ส ที่เยอรมนีถือเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง ผลิตเครื่องมือวัดความถี่ย่าน 750 เมกะเฮิรตซ์ ครั้งแรกของโลกในปี พ.ศ. 2475 ที่เมืองมิวนิก ต่อมาได้สร้างเครื่องส่งวิทยุคลื่นสั้น 1 กิโลวัตต์ เครื่องแรกของโลก สร้างเครื่องส่งกระจายเสียงวิทยุระบบ FM เครื่องแรกในยุโรป และในปี 2523 ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์สีเครื่องแรกระบบ PAL เป็นต้น
ในไทย โรเดอร์ แอนด์ ชวาร์ส มีผลงานเด่นๆ คือ ผลิตและส่งมอบเครื่องส่งโทรทัศน์ให้กับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (ช่อง 3) ระบบ UHF ผลิตและส่งมอบระบบซ่อมมือถือ ให้กับร้านเทเลวิซ AIS และ ร้านดีแทค
ต้นทุนของความเป็นผู้เชี่ยวชาญ และผู้ผลิตเทคโนโลยีเครื่องส่งเองได้ หากพิจารณาด้านนี้จะเห็นว่า โรเดอร์ แอนด์ ชวาร์ส มีความได้เปรียบคู่แข่งขันรายอื่นๆ อยู่พอสมควร และเมื่อรวมกับทีมผู้บริหารที่หลายคนเคยเป็นอดีตผู้บริหาร “กลุ่มชินวัตร” มาก่อน
นี่ต่างหากที่คนในวงการมองว่า เป็นจุดแข็งของ กิจการค้าร่วม เทคทีวี อย่างแท้จริง!
เนื่องเพราะต่างทราบกันดี ธุรกิจกลุ่มชินวัตร ของทักษิณ ชินวัตร มีอิทธิพลบารมีทางการเมืองแค่ไหน คนในตระกูลชินวัตร วันนี้ยังยึดครองอำนาจรัฐอย่างเหนียวแน่น ขณะที่ประธานกรรมการ อสมท อย่างนายสุธรรม แสงประทุม ก็เป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงของทักษิณ นายจักรพันธุ์ ยมจินดา กรรมการอีกคนที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิด
ยิ่งในรายของนายหาญยุทธ สรไกรกิติกูล กรรมการผู้จัดการคนแรก และปัจจุบันคือผู้มีอำนาจทำการตามกฎหมายใน โรเดอร์ แอนด์ ชวาร์ส ยิ่งคุ้นเคยกับ อสมท จนน่าตกใจ เพราะในสเตตัสเฟซบุ๊กของเขาแสดงแหล่งที่ทำงานว่า “โมเดิร์นไนน์ ทีวี”
ดังนั้น ระหว่างกิจการค้าร่วมเทคทีวี กับ อสมท ล้วนเป็นคนกันเอง ภายใต้เงื่อนไข ข้อสังสัยเรื่องความโปร่งใสที่ดำเนินไปแบบแดนสนธยา จึงไม่แปลกประมูลร้อยครั้งจะชนะทั้งร้อยครั้ง