xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 27 ม.ค.- 2 ก.พ. 2557

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.เลือกตั้ง 2 ก.พ. คนใช้สิทธิบางตา 18 จว. กว่าหมื่นหน่วย ยังลงคะแนนไม่ได้ ด้าน พท.จี้ กกต.จัดเลือกตั้งใหม่ใน 7 วัน!
 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และ รมว.กลาโหม กำลังหย่อนบัตรเลือกตั้งลงหีบ ซึ่งภายหลังพบว่า มีการหย่อนบัตรผิดหีบ(2 ก.พ.)
ความคืบหน้าหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า การเลื่อนวันเลือกตั้งสามารถทำได้ โดยอยู่ในอำนาจและความรับผิดชอบร่วมกันของนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จากนั้น กกต.ได้นัดหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 28 ม.ค. ซึ่งแม้ทาง กกต.จะเสนอให้ เลื่อนวันเลือกตั้ง เพราะหวั่นเกิดเหตุรุนแรงซ้ำรอยเมื่อวันที่ 26 ม.ค. แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่รับข้อเสนอ ยืนยันเดินหน้าให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ. โดยอ้างว่า การเลือกตั้งล่วงหน้ามี 66 จังหวัดสามารถจัดการเลือกตั้งได้ มีเพียง 10 จังหวัดและ กทม.เท่านั้นที่ยังมีปัญหา จึงขอให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง หากพื้นที่ใดมีปัญหา ก็ให้ลงคะแนนเลือกตั้งใหม่

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง พูดถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง 2 ก.พ.ว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน จะยังไม่สามารถประกาศได้ เนื่องจากต้องรอการนับคะแนนจากทุกหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งมีประมาณ 99,000 หน่วย ซึ่งคาดว่าจะมีหน่วยเลือกตั้งจำนวนมากที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ และจะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ คาดว่าอาจต้องใช้เวลา 4-6 เดือน ส่วน ส.ส.เขต 375 คน ก็จะไม่สามารถประกาศได้แม้แต่รายเดียว เนื่องจากการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเมื่อวันที่ 26 ม.ค. มีผู้ที่ไม่สามารถมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้ประมาณ 2 ล้านคน ดังนั้นต้องจัดให้มีการเลือกตั้งนอกเขตใหม่ใน 83 เขต ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 23 ก.พ. ดังนั้นจะนับคะแนนได้ ก็ต่อเมื่อคะแนนไปถึงแต่ละหน่วยเลือกตั้งแล้ว ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลา 3-4 เดือน นอกจากนี้ นายสมชัย ยังชี้ด้วยว่า หลังเลือกตั้ง 2 ก.พ. อาจมีผู้ฟ้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะจากหลายสาเหตุ เช่น การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องทำในวันเดียว

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้แต่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลยังเชื่อว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ. จะโมฆะแน่ โดยนายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย บอกว่า หลังการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ถ้าไม่สามารถเลือกตั้งใน 28 เขตที่มีปัญหาได้ และไม่สามารถเปิดสภาได้ ก็จะมีผู้ร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะตีความว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะล้านเปอร์เซ็นต์แน่นอน โดยอ้างว่าไม่ได้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวทั่วราชอาณาจักร

ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะแล้ว เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังเตรียมไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ

สำหรับบรรยากาศในวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.ที่ผ่านมา นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.เผยว่า ภาพรวมของการใช้สิทธิ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี แต่มีผู้มาใช้สิทธิบางตา และว่า หลังปิดหีบ จะมีการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง แต่จะไม่ประกาศผลการนับคะแนน จากนั้นจะเก็บบัตรไว้ในที่ที่ปลอดภัย โดยต้องรอผลการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้ารอบ 2 และผลการลงคะแนนนอกราชอาณาจักร สำหรับปัญหาอุปสรรคที่พบ คือ มีมวลชนไปปิดล้อมสถานที่เก็บอุปกรณ์ที่ใช้ในการเลือกตั้ง และกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง(กปน.) ไม่มาปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ กปน.ไม่ครบ ขณะที่หลายหน่วยเลือกตั้งมีการลาออกของ กปน.

ขณะที่ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รายงานข้อมูลผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งใน กทม.อย่างไม่เป็นทางการ จาก 6,155 หน่วย ใน 47 เขตของ กทม.ไม่รวมเขตหลักสี่ เขตราชเทวี และเขตดินแดงที่ประกาศระงับการเลือกตั้ง เนื่องจากมีผู้ชุมนุมปิดที่ทำการเขต พบว่า มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนทั้งสิ้น 1,143,667 คน หรือคิดเป็น 26.18% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,369,120 คน

ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.เผยว่า ยอดรวมหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศที่เปิดลงคะแนนได้ 83,669 หน่วย ไม่เปิดลงคะแนน 10,823 หน่วย มีจังหวัดที่สามารถเลือกตั้งได้ 59 จังหวัด จังหวัดที่ประกาศงดลงคะแนน 18 จังหวัด โดยมี 9 จังหวัดที่งดลงคะแนนทั้งจังหวัด ส่วนอีก 9 จังหวัดงดลงคะแนนบางเขต

ขณะที่พรรคเพื่อไทย พยายามจี้ให้ กกต.จัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปในเขตที่ยังไม่สามารถลงคะแนนได้ภายใน 7 วัน แต่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ยืนยันว่า ไม่สามารถเลือกตั้งใหม่ได้ใน 7 วัน เพราะมีงานด้านธุรการที่ต้องใช้เวลา เช่น การพิมพ์บัตรเลือกตั้งใหม่ ซึ่งต้องใช้มากถึง 10 ล้านใบ เพราะคาดว่ามีผู้ที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิประมาณ 10 ล้านคน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งโรงเรียนคลองลำเจียก ย่านนวมินทร์ แต่ปรากฏว่า หลังลงคะแนนแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ หย่อนบัตรผิดหีบ โดยนำบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หย่อนใส่หีบบัตรแบบแบ่งเขต แล้วนำบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หย่อนใส่หีบบัตรบัญชีรายชื่อ ซึ่งภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างเหตุแห่งความผิดพลาดว่า ตนทำตามที่เจ้าหน้าที่บอก

สำหรับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา นอกจากแกนนำ กปปส.และผู้ชุมนุมจะไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือโนโหวตแล้ว ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเช่นกัน ได้แก่ เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ,นักวิชาการ ,ศิลปินดารานักร้อง ฯลฯ ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ประกาศไม่ไปเลือกตั้ง ขณะที่อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เช่น นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็ประกาศโนโหวตเช่นกัน

2.กปปส.-เสื้อแดงปะทะเดือดที่แยกหลักสี่ เจ็บ 7 สาหัส 1 ด้านแกนนำ กปปส.มีมติยุบเวทีลาดพร้าว-อนุสาวรีย์ชัยฯ เพื่อความปลอดภัย!

(ซ้าย) ชายชุดดำพร้อมอาวุธ ซุ่มอยู่บริเวณแยกหลักสี่ ขณะเกิดการปะทะเมื่อวันที่ 1 ก.พ. (ขวา) 1 ในผู้บาดเจ็บ
ความเคลื่อนไหวการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด เน้นไปที่การปิดสำนักงานเขตหรือที่ทำการไปรษณีย์ซึ่งเป็นที่เก็บหีบบัตรและบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่สามารถนำออกมาใช้ในการเลือกตั้งได้ ซึ่งบางจุดเกิดเหตุรุนแรงจากการที่กลุ่มผู้สนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง นำโดยแกนนำคนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวจนเกิดการปะทะกับกลุ่ม กปปส. จนมีผู้บาดเจ็บหลายราย เช่น กรณีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่บริเวณแยกหลักสี่ หลังกลุ่มเสื้อแดง นำโดยนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำคนเสื้อแดง จ.ปทุมธานี นำมวลชนเคลื่อนมาที่วัดหลักสี่ เพื่อจะไปเปิดสำนักงานเขตหลักสี่ให้เจ้าหน้าที่สามารถนำหีบบัตรและบัตรเลือกตั้งออกมาได้ หลังหลวงปู่พุทธะอิสระ ได้นำมวลชน กปปส.จากเวทีแจ้งวัฒนะ ไปปักหลักชุมนุมปิดสำนักงานเขตหลักสี่ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. เพื่อไม่ให้มีการนำหีบบัตรและบัตรลงคะแนนออกมา

ด้าน พ.ต.อ.เจริญ ศรีศศลักษณ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 ได้เข้าเจรจากับนายวุฒิพงศ์ ไม่ให้นำมวลชนมายังสำนักงานเขตหลักสี่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุเผชิญหน้ากับกลุ่ม กปปส. แต่นายวุฒิพงศ์ไม่ยอม โดยยืนยันมาในฐานะพิทักษ์สิทธิคนหลักสี่

ขณะที่นายณรงค์ จงแจ่มฟ้า ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเทศกิจ หวั่นเกิดความรุนแรง จึงได้เข้าพบหลวงปู่พุทธะอิสระ เพื่อแจ้งว่า กลุ่มเสื้อแดงประมาณ 300 คน กำลังเดินทางมายังสำนักงานเขตหลักสี่แล้ว ขอให้หลวงปู่พุทธะอิสระนำมวลชนเข้าไปอยู่ภายในบริเวณสำนักงานเขต เพื่อความปลอดภัย ซึ่งหลวงปู่พุทธะอิสระได้ทำตามคำแนะนำ

ต่อมา ตำรวจได้เข้าสกัดกลุ่มเสื้อแดงบริเวณสะพานแยกหลักสี่ เพื่อไม่ให้เข้ามายังสำนักงานเขตหลักสี่ได้ จากนั้นได้เกิดเสียงดังคล้ายระเบิด 4 ครั้ง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย ในจำนวนนี้มีผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ด้วย หลังจากนั้นได้มีเสียงดังคล้ายระเบิดและเสียงปืนดังเป็นระยะๆ

ด้านแกนนำ กปปส.ที่ลาดพร้าว ได้นำมวลชนเคลื่อนออกมาเพื่อไปสมทบกับหลวงปู่พุทธะอิสระที่สำนักงานเขตหลักสี่ แต่เมื่อมาถึงแยกหลักสี่ ได้เกิดการเผชิญหน้ากับกลุ่มคนเสื้อแดง จากนั้นได้มีเสียงดังคล้ายระเบิดดังขึ้น 3 ครั้ง ตามด้วยเสียงปืนอีก 2 นัด มีผู้บาดเจ็บเพิ่มอีก 1 ราย ด้านกลุ่ม กปปส.ลาดพร้าว พยายามเคลื่อนออกจากจุดดังกล่าว แต่เสียงปืนและเสียงคล้ายระเบิดก็ยังดังอย่างต่อเนื่อง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างเกิดเหตุ นักข่าวหลายคนต้องหลบวิถีกระสุนและระเบิดอยู่ภายในป้อมตำรวจบริเวณแยกหลักสี่ และพยายามติดต่อเพื่อนจากภายนอกให้ทราบว่าติดอยู่ในจุดดังกล่าว กระทั่งภายหลัง พ.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ได้นำกำลังทหารเข้าเคลียร์พื้นที่ ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ สงบลง

ด้านศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กทม. รายงานว่า เหตุการณ์ปะทะที่แยกหลักสี่ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 ราย เป็นชาย 4 หญิง 2 และชาวต่างชาติ 1 ราย โดยมี 1 รายที่อาการสาหัส คือ นายอะแกง แซ่ล้ำ อายุ 71 ปี ถูกยิงที่คอ ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ 1 วัน พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้เปิดแถลงโดยอ้างว่า กลุ่ม กปปส.เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงดังกล่าว และเป็นฝ่ายยิงกลุ่มเสื้อแดงฝ่ายเดียว พร้อมเตรียมออกหมายจับผู้ก่อเหตุ เป็นที่น่าสังเกตว่า คำแถลงของตำรวจครั้งนี้ ขัดแย้งกับที่ผู้สื่อข่าวหลายสำนัก รายงานว่า การปะทะกันที่แยกหลักสี่ มีการยิงจากทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายเสื้อแดงและ กปปส.ไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ด้านนายอิสสระ สมชัย แกนนำ กปปส.แถลงยอมรับว่า ที่มีภาพชายนอนหมอบตั้งท่ายิงปืนและผูกผ้าสีเขียวที่แขนมีคำว่า กปปส.ลาดพร้าวนั้น เป็นผู้ชุมนุมของ กปปส.ลาดพร้าว ซึ่งผู้ชุมนุมคนดังกล่าวต้องยิงป้องกันตัวตามสัญชาตญาณ หลังมีการระดมยิงเข้ามา ส่วนภาพชายชุดดำสวมหมวกไหมพรมสีดำคลุมหน้า ที่แขวนบัตรการ์ดการ์ด กปปส.นั้น นายอิสสระ ปฏิเสธว่า ไม่ใช่การ์ดของ กปปส. เพราะบัตรมีลักษณะแตกต่างจากบัตรการ์ดของ กปปส.

ขณะที่นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำคนเสื้อแดง จ.ปทุมธานี ได้ออกมาอ้างว่า เหตุการณ์ปะทะที่แยกหลักสี่ ตนไม่ได้เป็นคนนำมวลชนไปที่บริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงมีความพยายามคุกคามและทำร้ายผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. อย่างต่อเนื่อง ทั้งการยิงด้วยอาวุธปืน ไปจนถึงยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่จุดที่ชุมนุม หรือแม้แต่การส่งคนเข้ามาแทรกซึมในที่ชุมนุมเพื่อก่อเหตุ เช่น เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ระหว่างที่กลุ่ม กปปส.เคลื่อนไปชุมนุมที่หน้าสโมสรทหารบก ปรากฏว่า ได้มีตำรวจปลอมเป็นคนขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง เข้ามาสอดแนมผู้ชุมนุม เมื่อผู้ชุมนุมเห็นว่าชายดังกล่าวมีปืน จึงพยายามเข้าควบคุมตัว แต่ชายดังกล่าวได้ยิงปืนใส่ผู้ชุมนุมจนมีผู้บาดเจ็บ 1 ราย ด้านผู้ชุมนุมจึงเข้ารุมประชาทัณฑ์ ก่อนควบคุมตัว พบว่าเป็นตำรวจ ทราบชื่อคือ ด.ต.คงเพชร เพชรกันหา เป็นผู้บังคับหมู่ กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ด้าน พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยอมรับว่า ด.ต.คงเพชร เป็นตำรวจจริง แต่อ้างว่า เป็นชุดสืบสวนที่ถูกส่งให้ไปถ่ายภาพ แต่ถูกการ์ด กปปส.รุมทำร้าย จึงต้องยิงป้องกันตัว

อย่างไรก็ตาม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ได้ออกมาแฉว่า จากการค้นประวัติ ด.ต.คงเพชร พบว่า เคยเปลี่ยนชื่อ เพราะต้องคดีพยายามฆ่า จึงถูกออกราชการ แต่มีนายช่วยให้กลับเข้ารับราชการ คือ พ.ต.อ.จรูญเกียรติ ปานแก้ว เดิมชื่อนพดล เคยถูกข้อหาในคดีอุ้มฆ่าทนายสมชาย นีละไพจิต เป็นลูกน้องคนสนิทของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นายสุเทพ ยังเชื่อด้วยว่า การส่ง ด.ต.คงเพชร เข้ามาที่ชุมนุม ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน

ทั้งนี้ หลังมีผู้พยายามก่อความรุนแรงกับกลุ่ม กปปส.ตามเวทีต่างๆ ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ประชุมแกนนำ กปปส.ได้มีมติให้ย้ายเวทีลาดพร้าว และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปรวมกับเวทีสวนลุมพินี เพื่อความปลอดภัย โดยนายสุเทพจะนำผู้ชุมนุมจากเวทีลาดพร้าวและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังสวนลุมพินีด้วยตนเองในวันที่ 3 ก.พ. นอกจากนี้นายสุเทพยังจะเจรจาขอให้หลวงปู่พุทธะอิสระย้ายเวทีแจ้งวัฒนะไปอยู่ด้วยกันที่เวทีสวนลุมพิธีด้วย แต่ถ้าหลวงปู่ไม่ย้ายคงจะไปบังคับไม่ได้

3.ป.ป.ช. มีมติตั้งคณะไต่สวนถอดถอน-ดำเนินคดีอาญา “ยิ่งลักษณ์” คดีจำนำข้าว ด้าน รบ. แห้ว แบงก์ไม่อยากปล่อยกู้ 1.3 แสนล้าน!

นายยรรยง พวงราช รักษาการ รมช.พาณิชย์ คุยโว รัฐบาลไม่จนปัญญาในการหาเงินมาจ่ายจำนำข้าวชาวนาแน่นอน
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้แถลงผลประชุมเกี่ยวกับความคืบหน้าการตรวจสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโครงการรับจำนำข้าวว่า ป.ป.ช.เตรียมตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินคดีอาญามาตรา 157 กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากนโยบายรับจำนำข้าว ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับดำเนินการผิดพลาดและมีความเสียหายใหญ่หลวงเกิดขึ้น โดยมีข้อสงสัยว่านายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ละเว้นและไม่ระงับยับยั้งโครงการที่เกิดความเสียหายอย่างชัดเจน ทั้งที่ ป.ป.ช.ได้เตือนแล้วถึง 2 ครั้ง

นอกจากนี้ที่ประชุมยังพิจารณากรณีที่ประธานวุฒิสภาได้ส่งเรื่อง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 146 คน ร้องขอให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อครั้งยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า การดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะรัฐมนตรี ส่งผลให้เกิดการขาดทุนการส่งออกข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ป.ป.ช.จึงมีมติให้รวมทั้ง 2 เรื่อง เพื่อไต่สวนในคราวเดียวกัน โดย ป.ป.ช.ชุดใหญ่ทั้งชุดจะเป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริง ทั้งในเรื่องการถอดถอนและคดีอาญาไปพร้อมกัน โดยมีนายวิชาและนายประสาท พงศ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน ทั้งนี้ นายวิชา บอกว่า จะเร่งไต่สวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่า พร้อมชี้แจง เพราะความจริงเป็นเรื่องของระดับนโยบาย และหวังว่าคงจะได้รับความเป็นธรรม ขณะที่พรรคเพื่อไทย ไม่พอใจที่ ป.ป.ช.เดินหน้าไต่สวนกรณีถอดถอนและดำเนินคดีอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงออกมาโจมตี ป.ป.ช.ว่ามุ่งตรวจสอบเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช่หรือไม่ เพราะคดีของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่อยู่ในมือ ป.ป.ช.ยังไปไม่ถึงไหน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียงพรรคเพื่อไทยจะดิสเครดิต ป.ป.ช. แต่ยังได้มีการยื่นหนังสือถึง ประธาน ป.ป.ช.เพื่อคัดค้านไม่ให้นายวิชา มหาคุณ เป็นองค์คณะในการไต่สวนและรับผิดชอบสำนวนคดีถอดถอนและดำเนินคดีอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยอ้างว่า นายวิชาไม่เป็นกลาง นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อประชาชน 2 หมื่นชื่อเพื่อยื่นถอดถอนนายวิชาออกจากตำแหน่งด้วย โดยคาดว่าจะสามารถยื่นถอดถอนต่อประธานวุฒิสภาได้ในวันที่ 15 ก.พ.นี้

สำหรับความเคลื่อนไหวของชาวนาทั่วทุกภาคที่มีการประท้วงปิดถนนและล้อมศาลากลางจังหวัด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินจำนำข้าวนั้น ล่าสุด ชาวนาหลายจังหวัดได้เตรียมเคลื่อนเข้ากรุงเทพฯ แล้ว เช่น ชาวนา จ.พิษณุโลก โดยจะเข้ามาร่วมกับกลุ่ม กปปส.เพราะคิดว่าขณะนี้ไม่สามารถพึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้อีกต่อไป จึงหวังว่ากลุ่ม กปปส.จะสามารถช่วยเหลือชาวนาได้ รวมทั้งจะร่วมขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่สามารถช่วยเหลือชาวนาได้ด้วย

ขณะที่แกนนำกลุ่มชาวนาภาคตะวันตก 6 จังหวัด ประกอบด้วย ราชบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม และสมุทรสงคราม ได้ประชุมและมีมติว่า วันที่ 3 ก.พ.นี้ จะยกระดับการชุมนุมจากปัจจุบันที่ปิดแค่ถนนพระราม 2 จะเปลี่ยนเป็นปิดถนนทุกสายทั้งฝั่งขาขึ้น และขาล่อง ถนนสายรอง รวมทั้งสายเลี่ยงเมืองทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้การจราจรเป็นอัมพาต พร้อมชี้ว่า เมื่อรัฐบาลใจดำทำกับชาวนาที่เปรียบเสมือนเป็นกระดูกของชาติได้ลงคอ ชาวนาก็จะใจดำทำทุกอย่างให้ถึงที่สุดเหมือนกัน

สำหรับความเคลื่อนไหวของรัฐบาลที่พยายามหาเงิน 1.3 แสนล้านมาจ่ายหนี้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวนั้น หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ไม่รับวินิจฉัยว่ารัฐบาลสามารถกู้เงินดังกล่าวได้หรือไม่ โดยชี้ว่า ไม่อยู่ในอำนาจ กกต. แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องพิจารณาดำเนินการเอง พร้อมเตือนว่า หากรัฐบาลเดินหน้ากู้ แล้วภายหลังมีองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ถูกต้อง รัฐบาลต้องรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและการเมือง ปรากฏว่า รัฐบาลได้หาทางออกด้วยการทำเรื่องสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาว่ารัฐบาลสามารถกู้เงินได้หรือไม่ ซึ่งภายหลัง รัฐบาลได้ออกมาอ้างว่า คณะกรรมการกฤษฎีกายืนยันแล้วว่ารัฐบาลสามารถกู้ได้

อย่างไรก็ตาม นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ท้าให้รัฐบาลนำจดหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกามาเปิดเผย เพราะเชื่อว่ามีคนลักไก่เรื่องนี้ เนื่องจากตนได้เอกสารมาแล้ว พบว่า เป็นเพียงความเห็นของนายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเท่านั้น ไม่ใช่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา

ด้านรัฐบาลไม่สน เดินหน้าหาทางกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ โดยนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในหนังสือชี้ชวนให้สถาบันการเงินเข้าร่วมปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลวงเงิน 1.3 แสนล้าน โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันตามที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เสนอ ซึ่ง สบน.เปิดให้สถาบันการเงินเสนอวงเงินกู้เข้ามาในวันที่ 30 ม.ค. โดยก้อนแรกจำนวน 20,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า การเปิดให้สถาบันการเงินเสนอวงเงินกู้ดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะธนาคารพาณิชย์ต่างยื่นข้อเสนอเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราตลาดมาก เนื่องจากเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวมีความเสี่ยงด้านความเชื่อมั่นสูง ด้านนายยรรยง พวงราช รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่พอใจที่ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยเงินกู้สูง จึงออกมาตำหนิว่าธนาคารพาณิชย์เห็นแก่ตัว ไม่เห็นใจชาวนา พร้อมคุยโวว่า รัฐบาลไม่จนปัญญาแน่นอน โดยขณะนี้กำลังคุยกับธนาคารพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ เชื่อว่าจะหาเงินมาให้ชาวนาได้ในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ทาง สบน.ได้มีหนังสือเชิญธนาคารพาณิชย์ที่ไม่เข้าร่วมประมูลปล่อยกู้ให้รัฐบาลรอบแรกเมื่อวันที่ 30 ม.ค.มาหารือถึงเหตุผลที่ไม่เข้าร่วมประมูลในวันที่ 3 ก.พ. สำหรับธนาคารที่ไม่ได้เข้าร่วมประมูลปล่อยกู้ให้รัฐบาลเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ,ธนาคารทหารไทย ,ธนาคารกรุงไทย ฯลฯ

4. ศาลแพ่ง สั่งยึดทรัพย์ “สุพจน์” อดีตปลัดคมนาคม(ที่ถูกโจรปล้นบ้าน) 46 ล้าน ฐานร่ำรวยผิดปกติ!

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ศาลแพ่งได้อ่านคำสั่งคดียึดทรัพย์ที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2555 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์ของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม กับพวก ซึ่งเป็นเครือญาติ 7 คน โดยทรัพย์ดังกล่าวมีทั้งเงินสด ,เงินฝากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ 9 บัญชี ,เงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์กรมทางหลวง ,โฉนดที่ดินใน กทม.และต่างจังหวัด ,บ้านพัก ,รถยนต์ ,ห้องชุด รวมมูลค่าทั้งสิ้น 64,998,587 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 และมาตรา 80(2) เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตรวจสอบทรัพย์สินแล้วชี้มูลความผิดว่า นายสุพจน์มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์ต่างๆ ได้

ซึ่งนายสุพจน์ อ้างว่า การที่ ป.ป.ช.ขอให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลให้ทรัพย์ของตนและเครือญาติที่มีมาแต่เดิมและได้มากว่า 10 ปี ตกเป็นของแผ่นดินนั้น เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทำให้ตนและเครือญาติได้รับความเสียหาย พร้อมอ้างว่า ได้เคยยื่นบัญชีแสดงต่อ ป.ป.ช.แล้ว แต่ ป.ป.ช.ไม่แสดงความเห็นคัดค้านแต่อย่างใด

สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากคดีอาญาที่มีคนร้าย 8 คน บุกเข้าปล้นบ้านนายสุพจน์ ที่ซอยลาดพร้าว 64 เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2554 และถูกตำรวจจับได้ พร้อมเบิกความยืนยันในทิศทางเดียวกันว่า ทรัพย์ที่ปล้นจากบ้านนายสุพจน์ ประกอบด้วยเงินสด 18,121,000 บาท และทองรูปพรรณหนัก 10 บาท ซึ่งตำรวจได้อายัดของกลางไว้ ขณะที่ ป.ป.ช.มีมติว่าเงินของกลางบางส่วนจำนวน 568,000 บาท เป็นเงินรับไหว้ตามที่นายสุพจน์ระบุ ด้านอัยการสูงสุดจึงขอให้ศาลสั่งให้เงินที่เหลืออีก 17,553,000 บาท และทองรูปพรรณหนัก 10 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ขณะที่นายสุพจน์ ต่อสู้ว่า เงินของกลาง 13 ล้านบาทเศษ ที่เหลือจากการหักเงินรับไหว้และเงินของญาติ 2 คน จำนวนกว่า 5 ล้านบาทนั้น ไม่ใช่ของตน ซึ่งศาลเห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ และขัดต่อเหตุผล หากเงินจำนวนดังกล่าว ไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้จากการปล้นบ้านนายสุพจน์ ก็ไม่น่าที่ตำรวจจะรวบรวมทรัพย์สินจำนวนมากดังกล่าวมาจากคนร้าย และนำมาเก็บรวบรวมไว้เป็นทรัพย์ของกลาง อีกทั้งยังไม่มีความจำเป็นที่ตำรวจและคนร้ายจะร่วมมือกันบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์ของกลาง ศาลจึงเชื่อว่า ทรัพย์ของกลางดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้จากการปล้นทรัพย์

นอกจากนี้ ศาลยังเห็นว่า จากการรับฟังการไต่สวนพยานฝ่ายนายสุพจน์กับพวกแล้ว ล้วนแล้วแต่เป็นพยานที่ใกล้ชิดและมีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การโต้แย้งและคัดค้านของนายสุพจน์ก็ไม่อาจรับฟังได้ เช่น การที่นายสุพจน์อ้างว่า ตนรับราชการตั้งแต่ พ.ศ.2520 กระทั่งถึงวันที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินครั้งแรกเมื่อปี 2545 เมื่อคิดคำนวณแล้วจะเป็นเงินประมาณ 5 ล้านบาท และยังน่าเคลือบแคลงสงสัยมากขึ้นกว่าเดิมว่า เพราะเหตุใดนายสุพจน์จึงมีทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และมีทรัพย์สินรวมกันจนถึงวันที่ ป.ป.ช.ลงมติว่าร่ำรวยผิดปกติเมื่อปี 2555 มีมูลค่าสูงถึง 46 ล้านบาทเศษ

ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า ลำพังเงินเดือนที่รับราชการ ย่อมไม่เพียงพอที่จะนำมาซื้อทรัพย์สินจำนวนมาก ข้ออ้างของนายสุพจน์จึงเป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย ปราศจากหลักฐานยืนยัน จึงถือว่านายสุพจน์ไม่ได้นำสืบให้รับฟังได้ว่า ตนไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติตามภาระหน้าที่ ศาลจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ ป.ป.ช.มีมติและนำสืบไว้ แต่จากการไต่สวนนายสุพจน์และเครือญาติทั้ง 7 สามารถพิสูจน์ทรัพย์สินได้บางส่วน ศาลจึงพิพากษาให้ทรัพย์สิน 19 รายการ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 46,141,038.83 บาท ของนายสุพจน์กับพวก พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้น ตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้นายสุพจน์ส่งมอบทรัพย์สินและเอกสารที่เกี่ยวข้อง พร้อมดอกผลให้แก่แผ่นดิน โดยผ่านกระทรวงการคลัง หากไม่ดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าว ให้นายสุพจน์ชดใช้เป็นเงินหรือโอนทรัพย์สินตามจำนวนมูลค่าที่ยังขาดอยู่แก่แผ่นดินจนครบ
กำลังโหลดความคิดเห็น