xs
xsm
sm
md
lg

"เทือก"ลั่นยกระดับชุมนุม เล่ห์พท.บีบตุลาการศาลรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เทือก"ประกาศยกระดับจัดการกับรัฐบาล 6 โมงเย็นวันนี้ "เพื่อไทย" ปูด 2 ตุลาการศาลรธน. ดอดพบ "เทือก"วางแผนล้มรัฐบาลในการตัดสินคดีแก้รธน.ที่มา ส.ว. วันที่ 20 พ.ย.นี้ ลั่นระดมเสื้อแดงเรือนแสนชุมนุมใหญ่กดดัน 18-20 พ.ย. นี้ ด้านตุลาการ ศาลรธน.ไม่หลงกล แฉเป็นแผนขุดบ่อล่อตุลาการให้พ้นจากองค์คณะวินิจฉัยคดี ปชป.แฉมีชายคล้ายทหารปะปนในกลุ่มเสื้อแดง "ประชา"ตอกกลับ การข่าวระบุม็อบมีการขนคนที่ไม่ประสงค์ดีจากตจว.เข้ากรุง หวังสร้างสถานการณ์ยกระดับการชุมนุม คปท.บุกหน้า สตช.จี้ปลด"คำรณวิทย์"ปลดพ้น ผบช.น. กรณีออกคำสั่งจับรถติดธงชาติไทย

เมื่อเวลา 20.00 น.วานนี้ (14 พ.ย.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำม็อบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขึ้นเวทีปราศรัย ถึงกรณีที่ประกาศมาตรการอารยะขัดขืน ซึ่งวันที่ 15 พ.ย.นี้ จะเป็นวันสุดท้ายแล้ว ใครที่ทำแล้วก็แล้วไป ใครที่ยังไม่ได้ทำ ก็ให้ทำ และในวันนี้ (15 พ.ย.) ตนจะประกาศยกระดับการชุมนุมต่อไป ซึ่งขณะนี้มีหลายกลุ่ม หลายสถาบัน ได้แจ้งมาว่า วันนี้ 50 องค์กร 50 สถาบัน จะแห่มาเป็นกำลังใจสมทบกับการชุมนุมที่ราชดำเนิน จะคึกคัก คึกครื้นมาก แล้วเราจะได้ปรึกษาร่วมกันว่า เราจะจัดการอย่างไรกับพวกรัฐบาล

" ผมกราบเรียนแล้ว เราประชาชน พลเมืองดี เราไม่ใช่ขี้ข้าทักษิณ เราจะมาคอยรบกับมันทั้งปีทั้งชาติไม่ได้ ดังนั้น จะต้องจบโดยเร็ว วันนี้เป็นวันสำคัญอีกวัน ประชาชนต่างจังหวัด ถ้าสะดวกก็มา เพื่อได้ฟังว่าที่ประชุมแห่งนี้ตัดสินใจอย่างไร ขอเชิญต่างจังหวัดเดินทางมา มาสมทบกับพี่น้องราชดำเนิน แล้วเราจะตัดสินอนาคตประเทศด้วยหัวใจทุกดวง" นายสุเทพ กล่าว และยืนยันว่า จะปฏิบัติกับมวลชนอย่างเข้มแข็ง จริงจัง จนกว่าจะได้ชัยชนะ หลัง 6 โมงเย็นวันนี้ เป็นวาระสำคัญอีกวาระหนึ่ง ให้ประชาชนได้ตัดสินใจร่วมกัน

**พท.ปูด 2 ตุลาการดอดพบ"เทือก"

วานนี้ (14 พ.ย.) ที่รัฐสภา ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดย นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายพหล วรปัญญา ส.ส.ลพบุรี ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายสมคิด กล่าวยืนยันว่า ส.ส. 42 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย จะทำตามมติพรรค และพรรคร่วมรัฐบาล ที่ลงสัตยาบัน จะไม่หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาอีก ดังนั้นการชุมนุมจึงไม่ควรหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไขอีก

ขณะที่นายวรชัย กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะมีนัยยะสำคัญ คล้ายกับการขับไล่รัฐบาล สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน

นายวรชัย กล่าวว่า ล่าสุดตนทราบมาว่า มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน หนึ่งในนั้นมีอักษรย่อ ‘ช’ ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่ล้มรัฐบาลสมัย นายสมชาย ได้นัดพบกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่พรรคประชาธิปัตย์ จังหวะเดียวกับการที่กลุ่มส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 9 คน ลาออก จึงเห็นว่า เรื่องดังกล่าวอาจมีการวางแผนที่จะล้มรัฐบาลหรือไม่ โดยใช้ประเด็นการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ 312 ส.ส.- ส.ว. ที่ร่วมลงชื่อ ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มา ส.ว.มาเป็นเงื่อนไข ทั้งที่ศาลไม่มีอำนาจรับเรื่องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 จะต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อน และหากศาลรับเรื่อง ก็จะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง

ดังนั้น เราก็ยอมรับศาลไม่ได้เหมือนกัน และหากเป็นเช่นนั้นจริง จะถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองโดยศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะไม่ยอมรับเด็ดขาด ขณะเดียวกัน ในวันที่ 18-20 พ.ย. ที่คนเสื้อแดงจะนัดชุมนุม เพื่อฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่เมืองทองธานี นั้น คาดว่าอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ เพราะเชื่อว่าจะมีผู้มาร่วมชุมนุมกว่า 1 แสนคน

** แฉแผนสกัด 2 ตุลาการไม่ให้ลงมติ

ด้าน แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันกรณี นายวรชัย ออกมาระบุว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน หนึ่งในนั้นอักษรย่อ “ช”ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่ล้มรัฐบาล นายสมชาย ได้นัดพบ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อหวังวางแผนที่จะล้มรัฐบาล ว่าไม่เป็นความจริง และเชื่อว่ากระบวนการดังกล่าว ต้องการดิสเครดิต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะสังเกตได้ว่า ทุกครั้งที่ศาลฯ จะมีการวินิจฉัยคดีสำคัญ ก็จะมีข่าวในลักษณะนี้ออกมา เพื่อลดความน่าเชื่อถือของศาลในการวินิจฉัยคดีนั้นๆ

นอกจากนี้ในการพูดคุยของตุลาการฯ ยังมองจุดประสงค์ของ นายวรชัย ว่า ต้องการที่ให้ตุลาการเกิดความรู้สึกว่าเสียหายที่ถูกกล่าวหา แล้วไปแจ้งความดำเนินคดี เมื่อถึงเวลาพิจารณาคดีสำคัญ ตุลาการคนนั้นก็จะถูกร้องคัดค้านไม่ให้เป็นองค์คณะพิจารณา เพราะถือว่าเป็นคู่ความกันในดคีอาญา ทำให้ตุลาการคนนั้นต้องถอนตัว เหมือนในอดีตที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีเงินบริจาค 258 ล้าน แล้วนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่า นายทศพล เพ็งส้ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นทีมกฎหมายสู้คดีดังกล่าว ได้ไปพบกับ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ทำให้นายวสันต์ ฟ้องนายพร้อมพงศ์ ฐานหมิ่นประมาท และถูกคัดค้านจนต้องถอนตัวในการเป็นองค์คณะพิจารณาคำร้องดังกล่าว ซึ่งการถอนตัวของตุลาการฯ ก็จะทำให้มีผลต่อเสียงชี้ขาดในการวินิจฉัยคดีเหลือเพียง 8 เสียง และมีโอกาสที่เสียงลงมติจะเท่ากันได้

ด้านนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานฯ ยังไม่ได้มีการเพิ่มกำลังดูแลรักษาความปลอดภัย เนื่องจากสถานการณ์ยังคงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนสัปดาห์หน้า ที่ศาลจะนัดอ่านคำวินิจฉัยในคดีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มา ส.ว. ในวันที่ 20 พ.ย.นั้น ก็จะต้องประเมินสถานการณ์กันอีกครั้งหนึ่งว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัยหรือไม่ ทั้งนี้ เชื่อว่าภาพรวมเหตุการณ์จะเป็นไปด้วยความปกติ

ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นแผนของฝ่ายรัฐบาล ที่อยากให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกกล่าวอ้างถึง ซึ่งจะใช่ หรือไม่ก็ไม่รู้ แต่อยากให้ตุลาการทั้ง 2 ท่าน ออกมาพูด หรือให้สัมภาษณ์ จะได้กลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีทันที เพื่อจะได้นำไปเป็นข้ออ้าง บีบให้ถอนตัว ไม่สามารถตัดสินคดีใน วันที่ 20 พ.ย.ได้ อีกทั้งนายสุเทพ ก็อยู่กับผู้ชุมนุม 24 ชม. หากมีการนัดพบใคร หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาพบจริง คงถูกบันทึกภาพแล้วนำไปเผยแพร่ตามอินเตอร์เน็ตหมดแล้ว เรื่องนี้จึงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน แต่เป็นความต้องการ ยั่วให้ตุลาการ 2 คนออกมาพูด เพื่อให้เข้าทางฝ่ายเขา

**ปูดภาพชายคล้ายทหารแฝงตัวกลุ่มเสื้อแดง

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ นายเจ๊ะอามิง โต๊ะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กระทู้สดถามนายกรัฐมนตรี เรื่องสถานการณ์การชุมนุมประท้วง สืบเนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ผ่านสภาว่า ขณะนี้การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นทั้งประเทศที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษให้กับคนที่ทำผิด แม้นายกฯ จะออกมายืนยันว่า ไม่เดินหน้าผลักดันแล้ว และมีการถอนร่าง 6 ฉบับ ออกไปจากวาระสภาแล้ว แต่ร่างที่มีปัญหายังค้างอยู่ในขั้นตอนกฎหมาย 180 วัน ถามว่าจะดำเนินการแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะการชุมนุมอาจจะนำไปสู่วิกฤตของประเทศได้

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงแทนนายกฯว่า กลไกตามรัฐธรรมนูญ เมื่อถูกยับยั้ง ในระหว่าง180 วันนี้ไม่มีผู้ใดจะไปกระทำการใดได้ ไม่เปิดช่องทาง แม้หลังจากนั้นสภาจะหยิบยกมายืนยันได้ แต่พรรคร่วมรัฐบาล 4 พรรคได้ทำสัตยาบัน แถลงต่อประชาชนชัดเจนแล้วว่า จะไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีก และคิดว่าส.ส.พรรคอื่นที่ไม่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล จะไม่หยิบยกขึ้นมาเสนอเช่นกัน ก็เป็นที่แน่นอนว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะไม่มีการใช้บังคับแน่นอน

นายเจ๊ะอามิง ถามต่อโดยได้แสดงภาพถ่ายชายฉกรรจ์ ลักษณะคล้ายทหารนับสิบคน ลงจากรถบัสที่เมืองทองธานี เดินไปรวมตัวกันใต้ทางด่วนในเมืองทองธานี ใกล้กับที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง สอดคล้องกับคำพูดแกนนำเสื้อแดง เกรงว่าหากพวกคุณไม่ยอมหยุด พวกผมจะบังคับให้คุณหยุด ถามว่าภาพนี้ใช่หรือไม่ ที่จะบังคับให้ผู้ชุมนุมที่ราชดำเนินหยุด ตนเป็นห่วงว่าสถานการณ์จะบานปลาย อาจมีกลุ่มคนแฝงตัวเข้ามากระทำการใดๆ ต่อกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นมา ปัญหาจะลุกลามใหญ่โตไปทั่วประเทศ ถามว่าการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลอย่าดื้อตาใส เพราะถ้าทำอย่างนี้ปัญหาจะเกิดอารยะขัดขืน รัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขปัญหาและยุติปัญหาลักษณะนี้อย่างไร

**แฉกลับกลุ่มคนไม่หวังดีจากตจว.เข้ากทม.

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คนที่ไม่เชื่อรัฐบาล ถือเป็นความเชื่อของบุคคล แต่รัฐบาลยืนยันว่า จะดูแลผู้ชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย การให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแล เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลาย โดยใช้วิธีที่ละมุนละม่อม ไม่ใช้ความรุนแรง และปฏิบัติตามหลักสากลในการควบคุมฝูงชน

ส่วนภาพนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่มีที่มาที่ไป แต่ทางตำรวจได้รับการข่าวว่า ในช่วง 2-3 วันนี้ มีกลุ่มคนที่ไม่ประสงค์ดีจากต่างจังหวัด เดินทางเข้ามาในกทม.ส่วนหนึ่ง จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามว่า มาจากที่ไหน จะได้เข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้เกิดเหตุขึ้น ส่วนประเด็นการติดธงชาตินั้น ยืนยันว่า ไม่มีการสั่งการดังกล่าว

**จับตาสร้างสถานการณ์ยกระดับชุมนุม

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า การชุมนุมในวันนี้( 15 พ.ย.) จะต้องจับตาใกล้ชิด เพราะใกล้วันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นกลยุทธ์ของฝ่ายเคลื่อนไหวที่เน้นใกล้ๆวันหยุดสุดสัปดาห์ เท่าที่มีการสืบสภาพพบว่า มีความพยายามจูงมวลชนจากหลายกลุ่มต่างๆ รวมกันที่ราชดำเนิน จะเน้นปริมาณให้ได้จำนวนมากเพื่อยกระดับ แต่คงจะรอดูจำนวนผู้ชุมนุมก่อนจากนั้นคงจะคิดกลยุทธ์ แต่การยกระดับของม็อบยังไม่แข็งแรงพอ ขึ้นมาสูงสุดแล้วถอยกลับลงมาใหม่ ต้องดูจะยกระดับขึ้นมาได้หรือไม่ ยังเชื่อมั่นว่าควบคุมสถานการณ์ได้ แกนนำที่จูงมวลชนมายืนยันไม่ประสงค์ให้เกิดเหตุรุนแรง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการชุมนุม จะยืดเยื้อถึงประมาณสิ้นเดือน เลี้ยงกระแสมวลชนไว้จนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ต้องดูตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.เป็นต้นไป จะเป็นวันที่ประชาชนถูกเชื้อเชิญมามากแค่ไหน ถ้ามาตามเป้า เขาคงจะมีกลยุทธ์ขยายผลต่อ ส่วนท่อน้ำเลี้ยงเท่าที่ตรวจสอบยังไม่กังวลใจ เพราะยังเป็นภาคการเมืองเป็นหลักอยู่ สิ่งที่กังวลคือภัยแทรกซ้อนมือที่ 3 ที่อาจจะทำให้เกิดเหตุรุนแรง ซึ่งเขาจะใช้เหตุนี้ยกระดับการชุมนุมต่อไป ทำให้ตกเป็นภาระรับผิดชอบของรัฐบาล

ฉะนั้นต้องเฝ้าระวัง ณ ตอนนี้มีเค้าลาง เท่าที่ ผบ.ตร.แถลงไปก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ ที่เสื้อแดงประกาศจะชุมนุมตั้งแต่ 18-20 พ.ย.เพื่อรอฟังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องที่มาส.ว พล.ท.ภราดร ตอบว่า เราต้องดูแล 2 ฝ่ายไม่ให้เผชิญหน้า และไม่กังวลเพราะเสื้อแดงก็พูดคุยกันได้

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และแกนนำนปช. กล่าวว่า ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ ได้ใช้เครือข่ายการระดมผู้คนจากภาคใต้ในหลายจังหวัดขึ้นมากทม. เพื่อร่วมเคลื่อนไหวในวันที่ 15 พ.ย.นี้ โดยจะมีการยกระดับ ปิดกั้นการจราจรในหลายพื้นที่ จึงอยากให้ทบทวน และอยากให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เลิกแสดงเป็นแขกรับเชิญ ถอดหน้ากากตัวเองให้คนเห็นชัดๆว่า สมคบคิดกันมาตั้งแต่ต้น คาดว่าวันที่ 15 พ.ย. หากเป็นไปที่พรรคประชาธิปัตย์คิด กทม.คงโกลาหล มีผู้คนมามากกว่าปกติ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ดูแลใกล้ชิด

นอกจากนี้ วันที่ 20 พ.ย. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว.นั้น ไม่ว่าจะพิจารณาจากแง่มุมไหน การแก้ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งไม่ได้หมายความว่า เป็นการล้มล้างการปกครองแน่นอน เชื่อมั่นว่า ศาลจะวินิจฉัยไม่เป็นลบต่อรัฐบาล แล้วเราจะผ่านสถานการณ์ของศาลรัฐธรรมนูญไปได้ แต่หากมีทฤษฎีสมคบคิด เรื่องวางแผนร่วมกันหลายๆ ฝ่าย จึงอาจต้องดูอีกที

**ปากบอกถอยแต่ไปปลุกม็อบแดง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-20 พ.ย.นี้ ว่า ตนไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรบ้าง แต่มีข้อสังเกตว่าในภาวะซึ่งรัฐบาลบอกว่า ทุกอย่างจบแล้ว ควรเลิกกันได้แล้ว แต่มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในเชิงสังคม คือ 1. ความรับผิดชอบอยู่ตรงไหน 2. ถอยจริงหรือเปล่า ทำไมยังมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และ 3. ทำไมยังมีการสั่ง หรือการขึ้นป้ายในลักษณะสนับสนุน เชียร์สิ่งที่อยู่ในกฎหมายนิรโทษกรรม ถึงขั้นระบุเลยว่า ต้องให้พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน

“มีความพยายามบอกว่า คนที่ไม่เห็นด้วย หยุดเคลื่อนไหวชุมนุมได้แล้ว แต่รัฐบาลกำลังเดินหน้า ประชาสัมพันธ์กับสังคมอยู่ตลอดว่า ต้องปรองดอง ซึ่งความหมายคือ ต้องสนับสนุนกฎหมาย ถามว่า แล้วรัฐบาลหยุดอย่างไร ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยจะชุมนุมแสดงออกในขอบเขตแค่ไหน อย่างไรที่เหมาะสม ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ที่เห็นอีกอย่างคือ การปฏิบัติของตำรวจ ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ว่าจะเอาผิดกับคนติดธงชาติ ขณะเดียวกันการชุมนุมเสื้อแดง รถตำรวจขนเก้าอี้มาตั้งให้ ถามว่าตำรวจไทยตกลงติดธงชาติจะเป็นความผิดใช่หรือไม่ แต่ ติดธงแดงคือสัญลักษณ์ว่า ต้องอำนวยความสะดวกให้”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่ราชดำเนินประกาศว่า เขาต้องการที่จะเป็นการชุมนุมที่ไม่ก่อความวุ่นวาย ไม่ใช้ความรุนแรง โดยดำเนินการอย่างอารยะชน ในขณะที่การชุมนุมเสื้อแดง มีการพูดว่า ถ้าอีกฝ่ายไม่หยุด เราจะไปบังคับให้หยุด ซึ่งเพียงพอที่จะพิจารณาได้ว่า ตกลงกลุ่มไหนกำลังมุ่งสู่ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ก็ต้องไปจัดการกับกลุ่มนั้น ไม่ใช่มาคิดว่า ฝ่ายนี้เข้าข้างรัฐบาล ฝ่ายนั้นไม่เข้าข้าง แต่ต้องดูว่า กลุ่มไหนจะมีพฤติกรรมในลักษณะไหนอย่างไร แล้วก็ต้องไปรักษาความสงบเรียบร้อย

ส่วนกรณี ตำรวจจะขอคืนพื้นที่ถนนราชดำเนิน ในสมัยรัฐบาลตนได้มีการไปร้องต่อศาลว่า การชุมนุมนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ และรัฐบาลทำอะไรได้บ้าง ซึ่งศาลได้ชี้ว่า เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย และรัฐบาลมีสิทธิ์ มีอำนาจในการที่จะดำเนินการ เพื่อให้ทุกอย่างกลับมาสู่สภาวะปกติ แต่ขณะนี้ที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวเลย

**คาดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 22-24พ.ย.

นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่าคาดว่าฝ่ายค้านจะยื่นญัตติดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้ และคาดว่าจะอภิปรายได้ วันที่ 22-24 พ.ย. เพราะวันที่ 25 พ.ย. นายกรัฐมนตรี มีภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ แต่ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล มีความพร้อมในการชี้แจง แต่งานต่างๆ ที่มอบหมายให้รองนายกฯดูแล ก็ต้องให้รองนายกฯที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ชี้แจง

ส่วนกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เรียกร้องให้ถอน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนครบ 180 วัน ตามรัฐธรรมนูญกำหนดนั้น เห็นว่าก่อนหน้านี้ได้เชิญฝ่ายกฎหมายสภาผู้แทนราษฎรมาหารือแล้ว ยืนยันว่าไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นกระบวนการรัฐสภา แต่ยืนยันได้ว่าจะไม่มีการนำขึ้นมาพิจารณาอีก เพราะประชาชนยังไม่พร้อมกับกฎหมายฉบับนี้

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่ กลุ่ม นปช. จะออกมาเคลื่อนไหว นัดชุมนุมในช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เข้าข่ายเป็นการชุมนุมกดดันศาล ซึ่งส่วนตัวกังวลว่า อาจเกิดการเผชิญหน้า ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม 2 ฝ่าย จึงขอให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาดูแลเรื่องนี้ด้วย เพราะหากเกิดเหตุวุ่นวาย นายกรัฐมนตรี ถือเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

ส่วนการยื่นญัตติการอภิรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะยื่นขอเปิดอภิปรายวันใด แต่คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้า และจะอภิปรายทันในสมัยประชุมนี้อย่างแน่นอน

**“ปู”นำติดเข็มกลัดยุติความรุนแรง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึง กรณีฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า ต้องขอดูเนื้อหาที่ฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายก่อน ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของสภา ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นวีถีทางที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายนั้น ทุกอย่างเป็นงานที่เราทำ อะไรที่ตอบได้ ก็ยินดีที่จะให้ข้อมูลอยู่แล้ว แต่ขอความกรุณา อยากให้การอภิปรายเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เพราะต้องกรให้พี่น้องประชาชนได้รับฟังอย่างเต็มที่ บนข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง

เมื่อถามว่า อยากจะเรียกร้องให้ยุติการเคลื่อนไหวนอกสภา และให้กลับเข้ามาในสภา หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เราอยากเห็นอย่างนั้น เพราะกลไกต่างๆในสภา มีให้ตรวจสอบอยู่แล้ว วันนี้พี่น้องประชาชนต้องเดือดร้อน เราไม่อยากให้มีผลต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว และที่ได้พูดคุยกับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวพบว่าวันนี้เรายังสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ แต่มีอีกหลายประเทศเริ่มประกาศเตือนแล้ว แต่หากเราชุมนุมนานขึ้น ตนเกรงว่าจะมีผกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อวานนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมทั้งรัฐมนตรี ทีมงาน และทีมรักษาความปลอดภัยนายกฯ ทุกคน ได้ติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาว สัญลักษณ์การรณรงค์ยุติความรุนแรง ที่หน้าอกด้านซ้าย

ทันทีที่นายกฯ เห็นสื่อมวลชนได้ชี้นิ้วไปที่ติดเข็มกลัดดังกล่าวที่ติดอยู่ที่หน้าอกเสื้อ โดยไม่ได้พูดอะไร และช่วงเย็นวันเดียวกัน หลังนายกฯให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ตึกสันติไมตรี ได้ชี้ไปยังเข็มกลัดที่ติดหน้าอกอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับบอกว่า “ต้องการรณรงค์ยุติความรุนแรง”ก่อนจะเดินกลับขึ้นห้องทำงาน ตึกไทยคู่ฟ้า

** คปท. บุกสตช. จี้ปลด"คำรณวิทย์"

เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ได้เดินทางไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) โดยส่งตัวแทนมวลชน 10 คนทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ในการนำธงชาติไทยปักด้านหน้าประตู สตช.

นายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงาน คปท. กล่าวบนเวทีปราศรัย ว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสำนึกถึงตราโล่ห์ ที่อยู่บนหมวกว่าเป็นตราของแผ่นดิน โดยที่มา สตช.ในวันนี้เพื่อมาแสดงพลัง กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจโดย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. สั่งการให้จับกุมประชาชนที่ติดธงชาติไทยที่รถ สร้างความปั่นปวน กีดขวางการจราจร จึงขอเรียกร้อง ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ถึงการออกคำสั่งดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้ สตช.ดำเนินการปลดให้พ้นจากตำแหน่ง ผบช.น. เนื่องจากไม่รู้จักทดแทนบุญคุณแผ่นดิน หากจะมาจับพี่น้องประชาชนที่แสดงความจงรักภักดีด้วยการติดธงชาติ ก็ควรจะไปจับนักโทษที่หนีคดี อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

"หากเจ้าหน้าที่ตำรวจนายใดที่ดำเนินการจับกุม พี่น้องประชาชนที่ติดธงชาติไทย ก็พร้อมจะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนายนั้นเช่นกัน และกรณีเจ้าหน้าที่กล่าวหาผู้ชุมนุมเป็นผู้สร้างสถานการณ์ให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายนั้น แท้ที่จริงแล้วผู้ที่มาสร้างสถานการณ์คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลต่างหาก และ คปท. ไม่ได้เป็นผู้ที่สร้างความวุ่นวาย หากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับใช้ประชาชน ประชาชนก็พร้อมจะปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย" นายอุทัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น