xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 8-15 ธ.ค.2556

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“ยิ่งลักษณ์” ประกาศยุบสภาแต่ไม่ลาออก ขณะที่ พท.ชูนั่งนายกฯ อีกสมัย ด้าน “สุเทพ” ลั่น สู้ไม่ถอย เตรียมชุมนุมใหญ่อีก!
มวลมหาประชาชนที่สื่อต่างประเทศรายงานว่าน่าจะหลายล้านคน ออกมาเดินขบวนกับ กปปส.เพื่อต่อต้านรัฐบาลและระบอบทักษิณที่ทำเนียบรัฐบาล(9 ธ.ค.)
ความคืบหน้าการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ หลังประกาศชุมนุมใหญ่ถนนทุกสายมุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 9 ธ.ค. เพื่อทวงอำนาจอธิปไตยคืนจากรัฐบาลที่หมดความชอบธรรมแล้ว หากชนะก็เป็นไท หากแพ้ก็ก้มหน้าเป็นขี้ข้าระบอบทักษิณ หากประชาชนออกมาน้อย พร้อมจะเข้ามอบตัวติดคุกฐานกบฏ

ปรากฏว่า ก่อนหน้าจะถึงวันที่ 9 ธ.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงผ่านทีวีพูลในวันที่ 8 ธ.ค. โดยอ้างว่า การจัดตั้งสภาประชาชนและการขอนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ตามข้อเรียกร้องของ กปปส.นั้น ไม่มีกฎหมายรองรับ พร้อมย้ำว่า รัฐบาลพร้อมยุบสภา หากเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ แต่หากผู้ชุมนุมและพรรคการเมืองใหญ่ไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง ก็จะเป็นแค่การยืดเวลาความขัดแย้งออกไป จึงเสนอให้ตั้งเวทีหารือ หากหาข้อยุติไม่ได้ เสนอให้ทำประชามติเพื่อให้เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

ทั้งนี้ วันเดียวกัน ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติเอกฉันท์ว่า ส.ส.ทุกคนของพรรคจะลาออกตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.เป็นต้นไป เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลนี้หมดความชอบธรรมแล้ว และไม่แสดงความรับผิดชอบต่อการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อล้างผิดคนโกงและหนีคดี รวมทั้งการไม่ยอมรับอำนาจศาล และยังไปแจ้งความกับดีเอสไอให้ดำเนินคดีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ และรัฐบาลแสดงความรับผิดชอบโดยคืนอำนาจให้ประชาชน

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มีมติลาออกทั้งพรรค ปรากฏว่า นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ได้ประกาศลาออกจาก ส.ส.เช่นกัน โดยเป็นไปตามที่ได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่า หาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ลาออกทั้งพรรค ตนก็จะลาออกด้วย

ด้านที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ได้ออกมาชี้ทางออกอีกครั้งให้รัฐบาลยุบสภาและตั้งรัฐบาลรักษาการที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะหากรอให้มีการเดินขบวนในวันที่ 9 ธ.ค. อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันได้

แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะไม่สน เพราะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลต่างออกมาประสานเสียงว่า แม้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะลาออก สภาก็ยังทำงานได้ เพราะยังมีพรรคฝ่ายค้านบางพรรคเหลืออยู่ อย่างไรก็ตาม เช้าวันรุ่งขึ้น(9 ธ.ค.) ซึ่งเป็นวันที่นายสุเทพนัดเดินขบวนไปยังทำเนียบฯ ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ประกาศยุบสภาผ่านทีวีพูลในเวลา 08.40น. โดยอ้างว่า ขณะนี้ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อถึงจุดที่ความคิดขัดแย้งอาจนำไปสู่ความแตกแยกของคนในชาติจนอาจเกิดความสูญเสียขึ้น การคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นคนตัดสินด้วยการยุบสภา จึงเป็นไปตามหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตย

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะประกาศยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มีการลาออก เพื่อให้มีการตั้งรัฐบาลรักษาการตามที่ ทปอ.เสนอแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของ กปปส.ที่ต้องการให้นายกฯ ลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งรักษาการนายกฯ และตั้งสภาประชาชน เพื่อปฏิรูปประเทศก่อนมีการเลือกตั้ง ดังนั้น แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะประกาศยุบสภาแล้ว แต่ประชาชนจำนวนมากยังคงออกมาร่วมเดินขบวนกับ กปปส.เพื่อมุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.

ทั้งนี้ วันดังกล่าว แกนนำ กปปส.ได้นำขบวนประชาชนเดินเท้าจาก 9 จุด ไปยังทำเนียบรัฐบาลใน 9 เส้นทาง โดยขบวนที่เดินไกลสุดคือ ขบวนนายสุเทพที่เดินจากศูนย์ราชการฯ มายังทำเนียบฯ เป็นระยะทางกว่า 20 กม.ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่ประชาชนทุกภาคส่วนออกมาร่วมเดินขบวนกับ กปปส. ในวันนั้น ส่งผลให้ท้องถนนใน กทม.คราคร่ำไปด้วยประชาชนที่เดินขบวน โดยหลายภาคส่วนยืนยันว่า จำนวนประชาชนที่ออกมาร่วมเดินขบวนครั้งนี้มากกว่าสมัย 14 ต.ค.2516 และมากกว่ามวลมหาประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุมกับ กปปส.เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ขณะที่สื่อต่างประเทศบางสำนักรายงานว่า ผู้ชุมนุมที่ออกมาเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ใน กทม.เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.มีจำนวนหลายล้านคนและเป็นไปด้วยความสงบ

ด้านนายสุเทพ ได้อ่านแถลงการณ์ กปปส.ในช่วงเย็นวันดังกล่าวหลังนายกฯ ประกาศยุบสภาแต่ยังเป็นรัฐบาลรักษาการว่า เมื่อรัฐบาลทรยศประชาชนด้วยการใช้อำนาจเสียงข้างมากของรัฐสภาโดยไม่ชอบและละเมิดรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง ประชาชนจึงไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลอีกต่อไป จึงอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ใช้สิทธิเรียกคืนอำนาจการปกครองแผ่นดินสู่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ เป็นการประชาภิวัฒน์เพื่อปฏิรูปประเทศ ให้การเมืองเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกภาคส่วน โดยจะมีการแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกฯ มีรัฐบาลของประชาชน มีสภาของประชาชนเพื่อปฏิรูปวางหลักเกณฑ์ในเรื่องต่างๆ ก่อน แล้วจึงค่อยมีการเลือกตั้ง เช่น ต้องป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง การให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การกำหนดให้คดีทุจริตไม่มีหมดอายุความ การปฏิรูปตำรวจให้เป็นตำรวจของประชาชน

ทั้งนี้ นายสุเทพ ได้อ่านคำสั่ง กปปส.ให้นายกฯ หยุดทำหน้าที่รักษาการ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่สน อ้างว่าตนต้องปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และรอ ครม.ชุดใหม่ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ พร้อมขอให้ผู้ชุมนุมหยุดชุมนุม และไปใช้กลไกการเลือกตั้ง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างแถลงข่าวหลังประชุม ครม.ที่สโมสรทหารบกเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ช่วงหนึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้พูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอ โดยยืนยันว่า ตนถอยไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้ว เราเป็นคนไทยด้วยกัน จะถึงขนาดไม่ให้เหยียบอยู่ในแผ่นดินไทยเลยหรือ ขอความเป็นธรรมด้วย จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้จบการแถลงข่าวและเดินกลับไปยังห้องรับรองทันที แต่ระหว่างเดินไปนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับหันมายิ้ม ทั้งที่ก่อนหน้าเพียงไม่กี่วินาที น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังพูดเหมือนจะร้องไห้ระหว่างแถลงข่าว ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างกว้างขวางว่ากำลังเล่นละครตบตาประชาชนหรือไม่

ด้านนายสุเทพ ได้ออกมายืนยันว่า พวกตนไม่เคยไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกนอกประเทศ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณหนีออกไปเอง ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถ้าไม่เลิกนิสัยแบบนี้ อีกไม่นานต้องหนีไปอยู่ด้วยกัน “ที่บอกว่าถอยหมดแล้ว แต่ถอยไม่พอ ต้องถอยอีก ถ้าไม่อยากให้ประชาชนรู้สึกเกลียดชังมากกว่านี้ ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ลาออกจากนายกฯ เดี๋ยวนี้ เพราะต้องเปิดทางให้คนดีมาเป็นนายกฯ เปลี่ยนแปลงประเทศชาติ การที่นายกฯ บอกว่าถอยแบบที่ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เพื่อมาอยู่บัญชีรายชื่อเบอร์ 1 แล้วมากินต่อโกงต่อ อย่างนี้ไม่เอา อย่ามาไร้เดียงสา แม่ทูนหัวช่วยลาออกเสียที”

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่สน และเลี่ยงอยู่ กทม. ด้วยการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ จ.เชียงราย และเชียงใหม่ ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทย ส่งสัญญาณให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557

เป็นที่น่าสังเกตว่า นายสุเทพพยายามติดต่อขอเข้าพบผู้บัญชาการเหล่าทัพเพื่อชี้แจงข้อเรียกร้องของ กปปส.ที่ต้องการให้มีสภาประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง แต่มีรายงานว่าทางผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่พร้อมให้เข้าพบ เพราะกลัวว่าจะถูกมองไม่เป็นกลาง ประกอบกับผู้บัญชาการเหล่าทัพอยากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าหารือด้วย แต่มีรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องการหารือ สุดท้าย เมื่อนายสุเทพทำหนังสือขอชี้แจง ทางกองทัพจึงจัดให้มีการเสวนา เพื่อให้หลายภาคส่วนได้ร่วมเสนอแนะหาทางออกด้วย โดยจัดขึ้นที่กองทัพไทย ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.

ทั้งนี้ นายสุเทพ ได้ย้ำบนเวทีเสวนาว่า นี่เป็นโอกาสเดียวที่ประเทศจะอยู่รอดปลอดภัย ต้องตั้งรัฐบาลประชาชน ซึ่งเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อทำประเด็นสำคัญ เช่น เร่งปฏิรูปการเลือกตั้ง แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ยอมรับอำนาจประชาชน และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หากไม่เร่งดำเนินการ ประชาชนจะออกมาอีกมากอย่างแน่นอน “ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งจะไม่มีวันเกิดขึ้นและไม่สำเร็จ ผมพร้อมจะเจรจาต่อรองกับทุกฝ่าย ยกเว้นระบอบทักษิณ และไม่ยอมรับข้อเสนอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะมองว่าเป็นการซื้อเวลาให้รัฐบาล”

ด้านรัฐบาลได้จัดเสวนาระดมความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ เช่นกันที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมเป็นฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล ขณะที่ กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมแต่อย่างใด ซึ่งฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลยืนยันว่า ต้องมีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. พูดเชิงข่มขู่ว่า ถ้าไม่มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ประเทศจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่ใหญ่อย่างไม่เคยประสบมาก่อน

อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่เห็นว่าควรเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน เช่น นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี โดยเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป 1 ปี เพื่อปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ทุกภาคส่วนเกิดความมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเที่ยงธรรม

ขณะที่ 7 องค์กรภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ฯลฯ ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นหาทางออกให้ประเทศเช่นกันเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. โดยเห็นว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการเมืองใน 4 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาคอร์รัปชั่น เศรษฐกิจ ความเป็นธรรม และกติกาการเลือกตั้ง โดยจะจัดเวทีระดมสมองเพิ่มเติมอีก คาดว่าจะสรุปข้อคิดเห็นได้ภายในสิ้นเดือนนี้

ส่วนที่หลายฝ่ายจับตาท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.หรือไม่นั้น นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า พรรคจะมีการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีในวันที่ 16-17 ธ.ค.นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ โดยมีวาระสำคัญคือ รับรองข้อบังคับพรรคใหม่ ซึ่งจะทำให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันหมดวาระลงทันที จากนั้นที่ประชุมจะเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรคตามโครงสร้างใหม่ 25 คน ซึ่งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางการทำงานของพรรค รวมทั้งตัดสินใจว่าจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.หรือไม่

ด้านนายสุเทพ แย้มบนเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อช่วงค่ำวันที่ 15 ธ.ค.ว่า จะมีการชุมนุมใหญ่อีกครั้ง ขอเวลาตัดสินใจอีกนิดแล้วจะมาปรึกษากับพี่น้อง แต่ยืนยันว่าจะสู้อย่างเด็ดเดี่ยวไม่มีถอย แล้วต้องชนะด้วยมือของพวกเราให้ได้

2.ป.ป.ช. เริ่มไต่สวนคดี 383 ส.ส.-ส.ว. แก้ รธน.ที่มา ส.ว.ไม่ชอบ ยัน ไม่มีธง และไม่รับปากจะรู้ผลก่อน 2 ก.พ.หรือไม่!

นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการและรองโฆษก ป.ป.ช. ยัน ไม่มีการตั้งธงในการไต่สวนคดีถอดถอน 383 ส.ส. ส.ว.กรณีแก้ รธน.ที่มา ส.ว.ไม่ชอบ
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมพิจารณากรณีมีผู้กล่าวหาสมาชิกรัฐสภากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกรัฐสภา 312 คนออกจากตำแหน่งจากกรณีเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ทั้งเนื้อหาและกระบวนการพิจารณาร่างดังกล่าวเป็นไปด้วยความฉ้อฉลทุจริต ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เข้าข่ายกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550

หลังประชุม นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการและรองโฆษก ป.ป.ช. แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเพิ่มสำนวนคำร้องเกี่ยวกับการถอดถอน ส.ส. ส.ว. 312 คนที่ร่วมเสนอ พิจารณา และลงมติร่างแก้ไขที่มา ส.ว. จากเดิม 5 เรื่อง เป็น 8 เรื่อง โดยแบ่งเป็นคดีอาญา 3 เรื่อง คดีถอดถอน 5 เรื่อง โดยมีเรื่องที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มายื่นถอดถอน ส.ส. ส.ว. เพิ่มจากเดิม 312 คน เป็น 383 คนด้วย

นอกจากนี้ในการประชุม คณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะองค์คณะไต่สวนที่มีนายวิชา มหาคุณ ,นายใจเด็ด พรไชยา และนายภักดี โพธิศิริ เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน ประธาน ป.ป.ช.ได้ลงนามคำสั่งแจ้งไปยังผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดแล้ว หลังจากนี้จะให้ทางผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ขณะเดียวกันจะเชิญผู้ร้องเรียนมาให้ถ้อยคำเพิ่มด้วย

ทั้งนี้ วันต่อมา(13 ธ.ค.) นายสำราญ นาบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านคดีและวิชาการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับมอบหมายจากนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ให้เดินทางมาชี้แจงต่อ ป.ป.ช. หลัง ป.ป.ช.ร้องขอเอกสารและข้อมูลเกี่ยวกับคำวินิจฉัยกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68

จากนั้นช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช.ได้เข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อ ป.ป.ช. โดยก่อนเข้าชี้แจง นายวิรัตน์ยืนยันว่า เรื่องนี้หลักฐานชัดเจนทั้งการเสียบบัตรแสดงตนและลงคะแนนแทนกันของสมาชิกรัฐสภา การปลอมญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. การตัดสิทธิผู้อภิปราย ถือว่าผิดทั้งวิธีบัญญัติและสารบัญญัติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการลงมติรับหลักการในวาระ 1 ส่วนการลงมติรับหลักการในวาระ 3 ขอให้ ป.ป.ช. เรียกคลิปวิดีโอการประชุมร่วมรัฐสภาที่มีการลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ด้วยวิธีขานชื่อมาตรวจสอบ

นายวิรัตน์ บอกด้วยว่า อยากให้ ป.ป.ช.พิจารณาเรื่องนี้ให้เร็ว แต่ต้องไม่กระทบต่อประมวลวิธีพิจารณาของ ป.ป.ช. ยิ่งเสร็จก่อนวันที่ 2 ก.พ.2557 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปได้ยิ่งดี เพราะจะได้ชัดเจนว่าใครควรจะทำหน้าที่อะไร ซึ่งหาก ป.ป.ช.ชี้มูลเมื่อใด ผู้ถูกชี้มูลจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ส่วนการถอดถอนจะต้องส่งไปยังวุฒิสภา ซึ่งผู้ที่ถูกชี้มูล จะไม่สามารถร่วมลงมติถอดถอนได้ เนื่องจากเข้าลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยตามกฎหมาย การถอดถอนต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของ ส.ว.เท่าที่มีอยู่ ส่วนการดำเนินคดีอาญา ป.ป.ช.จะส่งเรื่องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ด้านนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. บอกว่า ป.ป.ช.จะพยายามเร่งพิจารณาเรื่องนี้ โดยมีการตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายเข้ามาช่วยดู ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร และยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะทันก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.หรือไม่ และว่า หลังจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีการประชุมต่อเนื่อง โดยในส่วนของผู้ถูกร้องที่เป็นสมาชิกรัฐสภา ทาง ป.ป.ช.จะแจ้งให้ทั้ง 383 คนยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหามาเป็นลายลักษณ์อักษร

ขณะที่นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการและรองโฆษก ป.ป.ช. เผยว่า วันที่ 16 ธ.ค. องค์คณะไต่สวนฯ จะเรียกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิ ษฏ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.มาชี้แจง ส่วนวันที่ 17 ธ.ค.จะเชิญนางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหามาชี้แจงตามลำดับต่อไป “ยืนยันว่า การพิจารณาของ ป.ป.ช.อยู่บนความถูกต้อง ไม่มีการตั้งธงล่วงหน้า ไม่มีมติว่าจะชี้มูลเมื่อใด ไม่มีการเต้นไปตามกระแส จะทำด้วยความเที่ยงตรง ยืนยันว่าต้องไต่สวน จะไม่ไต่สวนไม่ได้ ถ้าหากมีมูลก็ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกร้องทั้ง 383 คนชี้แจง ถึงเวลานั้นจะรู้ว่าใครบ้างที่ผิด”

3.อัยการ ส่งฟ้อง “อภิสิทธิ์” คดีสลายเสื้อแดงแล้ว ด้านศาลให้ประกัน แต่ห้ามออกนอก ปท. ขณะที่ “สุเทพ” ขอเลื่อนส่งฟ้องเป็น 16 ม.ค.!

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาศาลอาญา ตามที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษนัดส่งฟ้องคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 53(12 ธ.ค.)
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมทีมทนายความ ได้เดินทางไปยังศาลอาญา ตามที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษนัดส่งฟ้องในคดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากเหตุสลายการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เมื่อปี 2553 ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ผู้ต้องหาร่วม ได้ส่งทนายความมาขอเลื่อนการส่งฟ้องออกไปเป็นวันที่ 16 ม.ค.2557 เนื่องจากติดภารกิจ

ด้านศาลได้สอบคำให้การ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 24 มี.ค.2557 เวลา 09.00น. โดยทนายความนายอภิสิทธิ์ได้ยื่นหลักทรัพย์มูลค่า 1.8 ล้านบาท เพื่อขอประกันตัว ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมเมื่อปี 2553 ยื่นคำร้องคัดค้านการประกันตัว ด้านศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 6 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจากศาล

ทั้งนี้ หลังศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว นายอภิสิทธิ์ได้เดินทางกลับทันที ก่อนจะโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในเวลาต่อมาว่า “ขอบคุณสำหรับกำลังใจจากทุกๆ ท่านครับ เมื่อเช้าอัยการได้สั่งฟ้องและนำตัวผมส่งฟ้องศาล คดีฆาตกรรม 12 ศพ จากเหตุการณ์ปี 2553 ศาลให้ประกันตัววงเงิน 6 แสนบาท ขอบคุณพี่น้องที่ต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้ผมมีโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ผมเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมครับ”

ด้านนายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า นายสุเทพได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นหนังสือขอเลื่อนนัดส่งฟ้องศาลออกไปเป็นวันที่ 16 ม.ค.2557 โดยอ้างว่า ติดภารกิจการเคลื่อนไหวทางการเมือง คณะทำงานอัยการพิจารณาแล้วให้เลื่อนนัดไปก่อน แต่ให้นายสุเทพยื่นเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับการมอบอำนาจภายในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ เพื่ออัยการจะมีคำสั่งที่ชัดเจนว่า จะนัดให้นายสุเทพมาพบอัยการเพื่อส่งตัวฟ้องศาลเมื่อใดต่อไป

4.ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้จำคุกอดีต ส.ส.เพื่อไทย “พร้อมพงศ์-เกียรติอุดม” 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีหมิ่นอดีตประธานศาล รธน.!

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมิ่นนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ(12 ธ.ค.)
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย และนายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ อดีต ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยที่ 1-2 ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

คดีนี้ โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2553 ว่า จำเลยได้ร่วมกันแถลงข่าวกล่าวหานายวสันต์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าประพฤติตนไม่เหมาะสม ไม่น่าเชื่อถือ ขัดต่อจริยธรรมของตุลาการ ขาดความยุติธรรม และขาดความเป็นกลาง ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2555 ว่า การที่จำเลยทั้งสองแถลงข่าวดังกล่าว ย่อมเล็งเห็นผลจากการแถลงข่าวผ่านสื่อมวลชนว่าโจทก์จะต้องได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์วางตัวไม่เป็นกลาง ขาดความยุติธรรม การกระทำของจำเลยเป็นการกล่าวหาโดยที่ไม่มีมูลความจริง ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดจริงฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา พิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 1 ปี และปรับ 50,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญา 2 ปี ซึ่งต่อมา จำเลยยื่นอุทธรณ์สู้คดี

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานเบิกความยืนยันว่า วันเกิดเหตุ จำเลยได้พาสื่อมวลชนไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยจำเลยที่ 1 แถลงข่าวและทำใบปลิวแจกสื่อมวลชน จากนั้นสื่อมวลชนได้นำคำแถลงข่าวไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับ ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะไม่ได้เป็นผู้แถลงข่าว แต่เดินทางไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 ย่อมมีเจตนาเดียวกัน ซึ่งข้อความที่อยู่ในใบปลิวเป็นข้อความเท็จ ศาลจึงเห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาว่า ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยทั้งสองนั้นเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่า สังคมในปัจจุบันมีการยุยง ปลุกปั่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ไม่คำนึงถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งจำเลยที่ 1 จบการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต และเป็นอาจารย์หลายสถาบัน ส่วนจำเลย 2 จบปริญญาตรี เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.อุดรธานี เป็นกรรมาธิการและรองกรรมาธิการหลายคณะ จำเลยทั้งสองเป็นคนมีเกียรติ มีความน่าเชื่อถือ ควรทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีให้สังคม แต่กลับร่วมกันใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่อโจทก์ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยเจตนาไม่สุจริต ต้องการให้ข้อความที่แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแพร่กระจายไปทั่วราชอาณาจักร ทำให้ประชาชนจำนวนมากรู้สึกดูหมิ่นดูแคลน ไม่เชื่อถือว่าศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม และเป็นการลดความน่าเชื่อถือของศาลอย่างร้ายแรง หากปลุกปั่นต่อไปจะทำให้ประชาชนไม่เคารพกฎหมาย และหลังถูกฟ้อง จำเลยทั้งสองยังไม่รู้สึกสำนึก แม้จะเป็น ส.ส.ไม่เคยต้องโทษจำคุกก่อน แต่เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ที่ศาลลงโทษจำคุก 1 ปี จึงเห็นสมควรไม่รอการลงโทษ และเห็นควรไม่ต้องลงโทษปรับจำเลย

หลังฟังคำพิพากษา นายพร้อมพงศ์และนายเกียรติอุดม ได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างสู้คดีในชั้นฎีกา โดยเตรียมหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 150,000 บาท ด้านศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยตีราคาประกัน 100,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น